She Dies Tomorrow

(2020, Amy Seimetz)

นี่ก็เป็นตุเป็นตะ ซะ แต่ก็ต้องนับว่าเป็นการฉีกรูปแบบการจัดรอบสื่อเท่าที่เคยมีมาในดินแดนแหลมสุวรรณภูมิ (ซึ่งจริงๆแล้วน่าจะใช้คำว่าอีเวนท์น่าจะเหมาะกว่า)

เริ่มจากสถานที่จัดฉายซึ่งก็ไม่ใช่โรงหนังด้วยครับ แต่เป็นคาเฟ่แบบเข้าไปแล้วกะจะให้รำลึกถึงวันตาย พอเข้างานปุ๊บ ทางเจ้าภาพทักทายก่อนประโยคแรก ‘คุณเอมี่ไม่ได้มาด้วยนะครับ’ (แหงเน่าะ เอ-ม่ง, เอ-มี่มีตัวตนอยู่จริงที่ไหน, ถ้าหมายถึงตัวดารา คือคุณ Kate Lyn Sheil นักแดง เค้าคงมาอยู่หร่อก) ประเดี๋ยวก็มีเลี้ยงอาหารประจำตามงานศพ ต่อด้วยทางเจ้าภาพมีการพาทัวร์สี่สถานีหลัก ว่าไปตามวงจรชีวิตคนเราตามคติพุทธ มีเกิด-แก่-เจ็บ-ตาย

บรรยากาศรวมๆ ของคาเฟ่คัลท์ที่ว่านี้ มีส่วนผสมระหว่างคาเฟ่บวกธีมปาร์ค (แล้วลบออกด้วยสถานปฏิบัติธรรม) คือหลังจากที่ตอนเด็กๆ รร. พาไปทัศนศึกษาวัดไผ่โรงวัวแล้วก็เพิ่งจะมีหนนี้แหละครับกับคาเฟ่ ที่ได้รับสัมผัสบรรยากาศกับความตายกันชนิดใกล้ตัว เหมือนกับเอาโลกใน The Addams Family กับบ้าน Beetlejuice เมื่อทุกอย่างเชื่อมร้อยเข้าไว้ด้วยกับมรณานุสติ

ที่นี้ก็มาถึง main attraction กันจริงๆ ซะที ก็คือตัวหนัง She Dies Tomorrow (2020, Amy Seimetz – เหม่งๆ มั้ยครับที่ตัวผกก.กะบทนำมีชื่อเหมือนกัน) โดยแถวที่นั่งคนดูมีการจำลองแบบมาจากพิธีฟังสวดพระอภิธรรม (ทั้งๆ ที่ตัวละคร Amy เป็นแหม่มนะ) ทีนี้พอตัดพิธีสงฆ์ปั๊บ พอหนังฉายขึ้นจอ (ซึ่งก็ไม่ได้มาจากโปรเจกต์เตอร์อะไร แต่เป็นแอลดีทีวีขนาด 80 นิ้ว) กลับโอเคแฮะ ตรงที่ สามารถเอามาใช้แทนพระสวดได้เลย แถมเวลาที่ใช้ก็ใกล้เคียงกับฟังพระสวดสามจบซึ่งถ้าจะมีใครนำไปประยุกต์ใช้กับงานสวดจริงๆ ก็น่าจะได้ แถมยังออกแนวอินดี้ๆ ไม่เบา

ไม่แปลกอะไรครับ เพราะทางเมืองนอกเองก็ไม่หวังฉายโรงอยู่แล้ว คือจะยิงตามโรงพวกไดรฟ์-อินก่อน เสร็จแล้วก็ลงสตรีมมิงเลย เพราะด้วยความยาวพอสัณฐานประมาณเท่ากันนี้ หนังคัลท์ฟิล์มเกรดบีที่อยู่คู่กับจอกลาง

แปลงของฝรั่งก็สร้างออกมาไม่ถึงชั่วโมงครึ่งเหมือนกัน

หลายฝ่ายพยายามทั้งลากทั้งจูงแล้วโยงหนัง She Dies Tomorrow นี้ให้เข้ากับบรรยากาศช่วงการแพร่ระบาดของโควิด19 (ซึ่งก็ได้อยู่), เนื้อหาในเรื่องก็มีเรื่องของการผ่องถ่ายความรู้สึกของคนที่รู้ตัวว่ากำลังจะตายในอีกหนึ่งวันข้างหน้า (โดยไม่ต้องมีสาเหตุว่ารู้ได้ไง) ก็แพร่ระบาดไปยังคนใกล้ชิดข้างเคียง เหมือนมีคลื่นลับถ่ายทอด (นี่ก็ฟังขึ้น) และในทางกลับกันก็อาจแย้งต่อไปได้อีกว่า เป็นการทำงานของอาการอุปทานหมู่ (mass hysteria) ก็ยังพอไหว, ครั้นจะมองให้เป็นวิทย์คือท้ายๆ เรื่องมีภาพคล้ายๆ ตัวจุลินทรีย์กำลังแบ่งตัวของมันออกซึ่งก็เป็นได้ทั้งไวรัสแล้วก็แบคทีเรีย ซึ่งนั่นก็เป็นความพยายามที่จะให้คำตอบในทางวิทยาศาสตร์ว่าอะไรที่ทำให้เอมีประหวั่นพรั่นพรึงไปกับความคิดที่แว่บเข้ามาในหัว คือลองถ้ามีคนเชื่อ แล้วมีคนคล้อยตามกัน ก็เรียกได้ว่าเข้าไปใกล้กับการเกิดของ ‘ลัทธิ’ (cult)

หนังที่พูดเรื่อง (เตรียมตัวก่อนจะถึง) ‘วันตาย’ เคยมีคนทำมาก่อนแล้ว และที่สำคัญคือพอมีใครมาจับเรื่องนี้มักได้หนังที่ได้รับการยกย่องไปกันหมดอย่างมหาเทวะ Godard ก็เคยทำมาแล้ว (Vivre Sa Vie, 1962), พอ Kurosawa ทำ Ikiru(生きる, 1952) ก็กลายเป็นมาสเตอร์พีซ หรืออย่างที่ Bob Fosse ทำ All That Jazz (1979) ออกมาแล้วเหมือนรู้ตัวว่ากำลังจะตาย (แม้ในอีกหลายปีให้หลัง) ก็กลายเป็นซิกเนเจอร์ประจำตัวไปเลย, อย่างของไทยก็มี ‘ลูกบ้าเที่ยวล่าสุด’ (2536/1993, อิทธิสุนทร วิชัยลักษณ์) ที่ล่าสุดก็ขึ้นทะเบียนมรดกฯ เรียบร้อย ขนาดเต๋อ นวพลเองก็ทำกับเขาอยู่เรื่อง (ขนาดชื่อหนังยังมีกลิ่น aspire+inspire ไงๆ ชอบกลคือตัด She ทิ้ง ชะรอยว่าตัวต้นทางที่ปล่อยเชื้อน่าจะอยู่แถวนี้ไม่ไกล)

คือถ้าโปะเรื่องของ Amy เข้าไปท้ายหนัง Die Tomorrow (2017) จะได้อีก segment ที่ต่อกันเนียนๆ ส่วนที่ออกมาเป็นหนังสือกันไปแล้ว เคยมีงานเขียนอยู่เล่มใช้ชื่อว่า “ฉันจึงเลือกเอาความตาย” (นิรนาม นิรันดรซึ่งออกมาก็หลายปีอยู่ แต่ผมมารู้จักเอาเมื่อราวปี 2532) โดยทำออกมาในรูปแบบที่คล้ายหนังสืองานศพซึ่งคนเขียนก็ไม่ประสงค์เปิดเผยชื่อหรือตัวตน ขนาดรูปถ่ายยังใช้พื้นที่สีดำซึ่งตอนนั้นเราก็ซื่อ+หัวอ่อนซะ (ตอนนี้ก็ยังเป็นอยู่, ฮา-ฮา-ฮา) คือเพ่งมองไปที่พื้นที่ดำมืดผืนนั้น ในใจหวังจะมองให้เป็นหน้าคน (ผู้เขียน) กับเขาขึ้นมา กลับพบความสยดสยองในอีกรูปแบบไปเลย (และคล้ายๆ ว่ามีบางแว้บมองเป็นหน้าคนได้จริงด้วยนะเออ) 

สำหรับรูปแบบของหนังสือเล่มที่ว่านี้ ผู้แต่งต้องการจดบันทึกวาระวินาทีช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่างความเป็นกับความตาย โดยลงทุนดื่มยาพิษแล้วทำการจดบันทึกด้วยลายมือไปเรื่อย ด้วยข้อความในหนึ่งหน้ากระดาษ แรกๆ ก็อ่านได้ใจความดีๆ อยู่ พออ่านไปๆๆ ตัวเริ่มโย้เย้ อ่านจับความไม่ได้ก่อน เขยิบต่อไปอีกเริ่มไม่ป็นตัว สุดท้ายก็เหลือลายเส้น ที่ลากยาวลงจนสุดหน้ากระดาษ แต่กับ She Dies Tomorrow นี่ไม่ ตัวเอกเอมี่พร่ำเพ้ออยู่กับความคิดที่ว่าตัวเธอจะตายๆๆ โดยบอกสาเหตุที่แน่ชัดไม่ได้เอาเลย (อันเนื่องมาจากโรคร้าย – รู้ตัวว่ากำลังติดเชื่อโควิด – หรือไม่ก็เป็นเรื่องของ ‘ใจ-สั่ง-มา’) แต่ที่น่าเอะใจกว่า ตรงที่เธอดันเผื่อแผ่ความรู้สึก (mind-setting) ที่ว่านี้ไปยังคนอื่นรอบข้างด้วย นี่ซิ

เมื่อ Seimetz ให้คำตอบคนดูไม่ได้ ขณะที่ในหนัง สิ่งที่ลุกลามอยู่ตลอดเวลากลายเป็นคนที่คิดว่าตนเองกำลังจะตาย กลับเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วเหมือนโรคติดต่อ ข้างคนดูเองก็เริ่มจะมีปฏิกริยาโต้ตอบกลับไปบ้าง นั่นคือสิ่งที่กำลังคุกคามเอมี่ กลายเป็นว่าไม่ใช่ตัวความตายซะแล้ว ทว่าเรากลับพบภาวะอาการที่โน้มเอียงไปทางโรคซึมเศร้า (depress) แทนซะแล้วซิ เมื่อคนคนหนึ่งกำลังหมกมุ่น, obseesed กับเรื่องอะไรบางอย่าง หนำซ้ำยังส่งต่อไปถึงผู้อื่นแบบยื่นไม้ผลัดวิ่งสี่คูณร้อย ขณะที่ตัวต้นลำธาร + คนแพร่เชื้ออย่างเอมี่ ก็เริ่มเข้าสู่ภาวะของการหลุดพ้น, ดวงตาเริ่มเห็นสัจธรรม (epiphany) หรือมองภาพเริ่มจะไม่เหมือนกับเราเข้าทุกขณะ 

ความรู้สึกในบางช่วงอาจดูเหมือนหนังอยู่กับที่ไม่ยอมไปไหนไกล ทว่าในทางกลับกันกลับพบการผสมผสานกันระหว่างภาวะซึมเศร้า (บวก) อุปทานหมู่ และเผลอๆ อาจมีการผสมโรงจากอาการระบาดของเชื้อที่ยังพิสูจน์อัตลักษณ์ตัวตนหรือยังไม่เคยเป็นที่รู้จักมาก่อนประกอบกันซึ่งถ้าแพร่กระจายกว้างออกไปอีก รูปการณ์ก็คงไม่ต่างจากการเผชิญภัยพิบัติบางอย่างร่วมกัน แบบเดียวกับมีดาวเคราะห์น้อยที่เตรียมจะพุ่งเข้าชนโลก ทว่ามิใช่เกิดจากการปะทะ (impact) แบบตรงตัวทางวัตถุหรือกายภาพ (แบบใน Melancholia หรือ Greenland) ทว่าเป็นเชื้อประหลาดที่สร้างผลกระทบทางจิตใจและภาวะอารมณ์ซึ่งมีความเป็นวิทยาศาสตร์ (ตามตำรับของหนังคัลท์ฟิล์มเกรดบี)

(เอาเป็นว่าไม่สปอยล์แล้วกันครับ แต่มาจากตัวใดตัวหนึ่งจากตัวอย่างที่กล่าวมาย่อหน้าบนๆ นี้) ที่มีอยู่เรื่องหนึ่งสร้างความหวังในการใช้ชีวิต คือที่เคยหวั่นวิตกว่าจะตายในอีกชั่วโมงครึ่ง แต่ตัวหนังจริงกลับยาวเกินเงื่อนเวลาที่กำหนด หมายความว่าตัวเอกก็ยังคงมีชีวิตต่อไป เช่นเดียวกับที่คำว่า ‘tomorrow’ เองก็ว่าจะมีอยู่กะเขาจริง เพราะไม่ว่าจะตื่นมากี่เช้า ชีวิตก็ยังจะต้องเจอแต่วันนี้ๆๆๆ อยู่ร่ำไป

ช่วงต้นเรื่องของ She Dies Tomorrow นี่อีกเช่นกันที่มีการอ้างถึงหนังเรื่องหนึ่ง (ติ๊ต่างว่ามีคนในเรื่องกำลังจะดูดี/ไม่ดูดี) แล้วกล่าวต่ออีกว่ายาว (แค่) ชั่วโมงครึ่ง เอ๊ะ นี่เค้ากำลังหมายถึงตัวหนัง (she dies tomorrow) เอง หรือว่าเรื่องอื่น

LATEST REVIEWS