ในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19 นับเป็นรุ่งอรุณทางความคิดว่าด้วยทัศนานิยม (visualism) ในการสร้างองค์ความรู้อันได้แก่วิทยาศาสตร์และสาขาวิชาต่างๆ เพื่อการทำความเข้าใจสังคม งานศิลปะถูกแยกออกจากงานฝีมือ เพราะถือว่างานช่างเป็นของชนชั้นต่ำที่เน้นประโยชน์ใช้สอยมากกว่าสุนทรียศาสตร์ และนี่ก็มาพร้อมกับการพัฒนาอุตสาหกรรมในระบบทุนนิยมที่เน้นการแสดงสินค้ากระตุ้นเร้าใจให้คนอยากจับจ่ายใช้สอย
การควบคุมการมองเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นภายใต้บริบทการสร้างสถาบันและระเบียบวินัย (discipline) นับตั้งแต่โรงเรียน โรงพยาบาล พิพิธภัณฑ์ ไปจนถึงองค์กรต่างๆ กฎระเบียบของการควบคุมผัสสะอื่นๆ นอกเหนือไปจากการมองจึงถูกสร้างขึ้น ไม่ว่าจะเป็นห้ามกินอาหาร ห้ามสัมผัส ห้ามส่งเสียงดัง การควบคุมผัสสะอื่นๆ (รส กลิ่น เสียง และอื่นๆ) นอกจากการนั่งเงียบเป็นระเบียบในห้องเรียน การอยู่นิ่งๆ เพื่อให้แพทย์ตรวจร่างกาย หรือมารยาทบนโต๊ะประชุมจึงเป็นสิ่งที่ตามมาหลังจากโลกที่ได้ยึดเอาการมองเป็นศูนย์กลาง (occularcentrism)
คอนสแตนซ์ คลาสเซน ได้เสนอไว้ว่าการใช้ดวงตาจับจ้องวัตถุเพื่อหวังจะค้นหาความรู้เชื่อว่ามีอยู่ สามารถย้อนกลับไปได้ถึงในช่วงการล่าอาณานิคม รวมถึงการสร้างภาพลักษณ์ของสังคมที่ไม่ใช่ตะวันตก (non-Western) ว่าป่าเถื่อน มีชนชั้นต่ำกว่า In Comparison (2009) ของ Harun Farocki ได้พาเราสำรวจและจ้องมองที่แม้เราจะใช้สายตาเป็นหลักในการรับรู้ผ่านผัสสะ แต่ Farocki ก็ได้วิพากย์การจ้องมองนั้นได้อย่างน่าสนใจ
เขาเปรียบเทียบภาพของการสร้างอาคารต่างๆ นับตั้งแต่คลินิกรักษา โรงเรียน ตึกสำนักงาน โรงนา และการทดลองทางสถาปัตยกรรมของนักศึกษาด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์จากอังกฤษ ในพื้นที่ต่างๆ ไล่เรียงและตัดสลับไปมาระหว่างประเทศในยุโรปเปรียบเทียบกับอดีตอาณานิคมใต้การปกครองของเจ้าอาณานิคมย้อนกลับไปเมื่อศตวรรษที่ 18-19 ได้แก่ บูร์กินาฟาโซ และอินเดีย โดยภาพทั้งหมดถูกจับจ้องผ่านการผลิตก้อนอิฐที่เป็นชิ้นส่วนสำคัญในการก่อร่างและบ่งบอกว่าวิวัฒนาการมนุษย์ได้เข้าสู่สังคมที่เริ่มหยุดนิ่ง (sedentary life) ในช่วงยุคหินใหม่ (Neolithic) ย้อนไปราว 3,500 ปีก่อนคริสตกาล
จุดที่น่าสังเกตใน In Comparison ถึงแม้ว่าทั้งหมดจะเป็นเรื่องราวการก่อร่างสร้าง “สถาบัน” ที่หมายถึงตัวอาคารสถานที่ และมีอีกความหมายก็คือการส่งออกกระบวนการสร้างองค์ความรู้ที่มีศูนย์กลางที่ยุโรปไปที่อาณานิคมจนเกิดเป็น “สถาบัน” แต่การสร้างสถาบันในอดีตประเทศในอาณานิคมกลับยังหลงเหลือสำนึกของความเป็นหมู่คณะและเครือญาติ (kinship) มากกว่าในโลกตะวันตกที่ผู้คนแตกสลายเป็นปัจเจกบุคคล (individualism) เห็นได้จากการก่ออาคารที่สตรีพื้นเมืองจะมาร่วมด้วยช่วยกันโบกดินก่อกำแพงหรือถุบพื้นดินให้แน่นอย่างพร้อมเพรียงด้วยการร้องเพลงไปพร้อมๆกัน
จุดที่น่าสังเกตใน In Comparison ถึงแม้ว่าทั้งหมดจะเป็นเรื่องราวการก่อร่างสร้าง “สถาบัน” ที่หมายถึงตัวอาคารสถานที่ และมีอีกความหมายก็คือการส่งออกกระบวนการสร้างองค์ความรู้ที่มีศูนย์กลางที่ยุโรปไปที่อาณานิคมจนเกิดเป็น “สถาบัน” แต่การสร้างสถาบันในอดีตประเทศในอาณานิคมกลับยังหลงเหลือสำนึกของความเป็นหมู่คณะและเครือญาติ (kinship) มากกว่าในโลกตะวันตกที่ผู้คนแตกสลายเป็นปัจเจกบุคคล (individualism)
ในขณะที่สังตะวันตกหรืออินเดียที่ใช้คอนกรีตในการสร้างอาคารซึ่งเป็นมรดกจากวิทยาการของโลกตะวันตก แรงงานจะถูกแบ่งกันให้ทำหน้าที่ของตนเอง (division of labour) เป็นปัจเจค แต่ก็รอยปริแตกให้เห็น เช่น สตรีอินเดียแอบคุยหัวเราะกันระหว่างทำงาน ซึ่งภาพของมนุษย์ที่มีความไม่สมบูรณ์แบบได้หายไปเรื่อยๆ จนถึงจุดสูงสุดที่การผลิตอิฐในยุโรปซึ่งถูกคำนวนออกแบบมาเป็นอย่างดี มีรูโปร่งเพื่อลดการใช้ต้นทุนในการผลิตให้ต่ำที่สุด รูปร่างทางเรขาคณิตที่ถูกคิดคำนวนให้แข็งแรงที่สุด ต่างจากอิฐที่ถูกปั้นขึ้นด้วยมือและแบบไม้ในอินเดียและแอฟริกาที่รูปร่างจะบิดเบี่ยว การใฝ่หาความสมบูรณ์แบบในสังคมตะวันตกนี่เองถูกขับเน้นอย่างชัดเจนด้วยการก่ออิฐด้วยหุ่นยนต์ที่ถูกโปรแกรมให้ก่อร่างอาคารตามแบบในคอมพิวเตอร์
อิฐถูกทำให้สมบูรณ์และทำให้ความใหญ่เทอะทะที่ถูกมองว่าสิ้นเปลืองเพรียวบางและประหยัดคุ้มค่า ไม่ต่างจากมนุษย์ในโลกตะวันตกที่ต้องใฝ่หาความสมบูรณ์แบบ แนวความคิดลัทธิจุลนิยม (Minimalism) ดูจะทำให้เห็นภาพได้ดี เมื่อห้องหับถูกออกแบบให้ลดทอนรายละเอียดออกไป เหลือเพียงส่วนที่สำคัญที่สุด บ้านที่ดูไม่มีอะไรจึง “มีอะไร” อย่างมาก เหมือนที่ ธเนศ วงศ์ยานนาวากล่าวว่า “คนที่รวยจริงๆ จะต้องไม่ถืออะไรเลย จะต้องไม่มีอะไรติดตัวเลย” ซึ่งแนวคิดนี้เองก็ได้รับอิทธิพลส่วนหนึ่งจากช่วงฟื้นฟูศิลปะวิทยาการซึ่งศิลปินจะให้ความสำคัญกับวิทยาศาสตร์กายวิภาค สัดส่วน เรขาคณิตที่คำนวนมาแล้วว่าจุดไหนคือจุดรวมสายตาของภาพ แน่นอนว่านี่ก็นำไปสู่แนวความคิดที่เน้นความบริสุทธ์ ไม่ว่าจะเป็นพุทธแบบเซน หรือคริสตศาสนาที่เน้นการขจัดสิ่งแปลกปลอม สิ่งที่ไม่บริสุทธิ์ หรือลูกผสม (hybridity) ผลผลิตที่สำคัญของแนวคิดนี้ก็คงเป็นความเชื่อเรื่องชาติอารยันของนาซี
In Comparison ยังชี้ให้เห็นถึงผัสสะที่นอกเหนือไปจากการมอง แม้อิฐจะถูกนำไปสร้างเป็นองค์กรสถาบันที่เป็นต้นกำเนิดและผลิตซ้ำวัฒนธรรมการมอง แต่การสร้างอิฐในอดีตอาณานิคม แม้แต่ในอินเดียก็ยังใช้มือเป็นหลัก มือนี่เองเป็นอุปกรณ์ที่ Donna Haraway อธิบายถึงเกมชักมือ (cat’s cradle) ซึ่งนักมนุษยวิทยาอเมริกันในช่วงสงครามเย็น รวมถึงนักมนุษยวิทยาชาวยุโรปได้ไปสร้างองค์ความรู้ในประเทศอาณานิคมช่วงศตวรรษที่ 19-20 เกมชักมือ (string figure) นี่เองมีการเล่นก่อนหน้าชาวยุโรปมาช้านานแล้วและยังมีหลากหลายรูปแบบมากกว่าด้วย เกมนี้จึงทำให้เหล่านักวิชาการได้รู้ถึงความคล้ายและต่าง วัฒนธรรมที่ถ่ายโอนผสมกัน (เชื่อว่าเกมชักมือเข้าไปในยุโรปผ่านการค้าจากเอเชีย) การทักทอประสานกันระหว่างมือและสมอง ถ่ายทอดออกมาเป็นรูปแบบของเกมด้ายของคนพื้นเมืองและตะวันตก
เช่นเดียวกันกับการสร้างก้อนอิฐโดยเฉพาะอย่างยิ่งในชุมชนที่ถูกมองว่าล้าสมัย การทำอิฐเป็นการประสานกันระหว่างมือและสมอง พร้อมๆกันก็เป็นการสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นของคนในชุมชน ไปจนถึงการเชื่อมต่อระหว่างมนุษย์และสรรพสิ่ง ทั้งผืนดิน แม่น้ำ หรือแม้แต่เทพเจ้าแห่งธรรมชาติ ผิดกับก้อนอิฐในโลกตะวันตกที่ถูกประดิษฐ์คิดค้นโดยมนุษย์ประหนึ่งเป็นพระเจ้าเมื่อวิทยาศาสตร์เข้าแทนที่ศาสนาหลังการปฏิรูปศาสนาในคริสต์ศตวรรษที่ 16 ก้อนอิฐถูกทำให้เป็นผลผลิตของวิชาความรู้ เป็นวัตถุที่ไร้เรื่องราวและตัดขาดจากมนุษย์โดยสมบูรณ์ ก้อนอิฐมีหน้าที่เป็นเพียงชิ้นส่วนหนึ่งของอาคารที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นสถาบันส่งเสริมและประกาศความยิ่งใหญ่ของมนุษย์
ทั้งนั้นทั้งนี้หุ่นยนต์ในตอนท้ายเรื่อง เสียงการเคลื่อนไหวของแขนจักรกลดังสนั่นบริเวณก่อสร้าง แทนที่เสียงหัวเราะและเสียงกระซิบนินทาของคนงาน แขนกลหยิบก้อนอิฐขึ้นไปแตะกับซีเมนต์พิเศษก่อนจะวางก้อนอิฐเรียงเป็นแถวตามเรขาคณิต ภาพการทำงานของจักรกลก็ตั้งคำถามให้กับเราพอๆ กับการแสดงให้เห้นเรื่องราว (storytelling) ของก้อนอิฐที่ถูกทำให้ไร้ชีวิตและวงศาวิทยา (Genealogy) จักรกลดูมีชีวิตชีวาแม้จะถูกป้อนคำสั่งโดยมนุษย์และเข้ามาแทนที่งานซ้ำซากแบบฟอร์ด (Fordism) จักรกลจึงเป็นผู้ทำงานที่น่าเบื่อหน่ายให้กับเราแทน นั่นจึงทำให้มนุษย์และหุ่นยนต์มีวิวัฒนการร่วมกัน (co-creation)
แม้โลกทุนนิยมหลังทศวรรษที่ 1960-1970 จะเข้าสู่ยุคสมัยแห่งทุนนิยมความรับรู้ (cognitive capitalism) แต่แรงงานคอปกขาวก็ใช่ว่าจะหมดสิ้นไป งานสกปรกที่ไม่มีใครอยากทำก็ยังมีอยู่ พร้อมๆ กับความหมายของแรงงานได้เคลื่อนขยายไปทั่วทั้งสังคม มุ่งเน้นการพัฒนาระบบเศรษฐกิจแห่งความหลากหลาย (economy of variety) และแบ่งแยกชนชั้นแรงงานอย่างไม่มีขีดจำกัด ผ่านเครือข่ายเชื่อมต่อข้อมูลข่าวสาร ความคิดที่ว่าหุ่นยนต์มาแทนที่และงานกำลังจะหมดไปจึงเป็นมายาคติ เพราะชนชั้นแรงงานไม่ได้หายไปไหน และกลับทำให้ถูกเข้มข้นขึ้นและแพร่กระจายในโรงงานสังคม (social factory) นี้
ศิลปะแบบงานฝีมือซึ่งเป็นมรดกของโลกก่อนสมัยใหม่ ถูกกลับมาให้ความสำคัญอีกครั้งหลังจากถูกเย้ยหยันว่าไม่เป็นศิลปะ เพราะโลกทุนนิยมความรับรู้ปฏิเสธสิ่งที่ผลิตออกมาเยอะๆ ปริมาณมากๆ วัฒนธรรมมวลชน (mass culture) ที่เน้นขายให้คนได้เยอะจึงถูกมองว่าเป็นของคนจน ในทางตรงกันข้ามยิ่งสินค้าแปลกแหวกแนวมากเท่าไหร่ สร้างภาพลักษณ์ให้สินค้าได้มากเท่าไหร่ก็ยิ่งราคาดีมากเท่านั้น นี่จึงนำไปสู่การนำฟิล์ม 16 มิลลิเมตรกลับมาถ่ายใน In Comparison ซึ่งให้กรอบภาพเหมือนก้อนอิฐ ภาพยนตร์ที่กลับมาถ่ายด้วยฟิล์มก็ยิ่งเป็นที่น่าสนใจ ให้ความรู้สึกย้อนไปถึงอดีต (nostalgia) และเป็นหนังทรงคุณค่าและราคา ภาพยนตร์รวมถึง In Comparison ที่มักจะถูกนำไปเป็นจัดแสดงในแกลอรี่ก็ยิ่งสร้างคุณค่าทางศิลปะมากกว่าจะถูกนำไปฉายทั่วไปตามจอหนังกางแปลงในทุ่งนาให้คนจนดู
แม้ตัวภาพยนตร์จะวิพากย์วัฒนธรรมแห่งการมอง ไม่ว่าจะเป็นคนดูมองภาพยนตร์ เห็นภาพชาวบูร์กินาฟาโซด้วยความรู้สึกดูแคลนและปะปนไปด้วยความตื่นตาตื่นใจ (exotic sensation) หรือจะนั่งดูอย่างวิเคราะห์วิจารณ์สาปส่งจักรวรรดินิยมที่ไม่สิ้นซากไปเสียที แถมยังถูกขับเน้นพลังอำนาจให้แพ่ไพศาลกว่าที่เคยมีมาผ่านทุนนิยมความรับรู้และการกลายเป็นแรงงานอวัตถุ กิจกรรมนั่งดูหน้าจอก็ยังอยู่ในกรงขังของการยึดเอาการมองเป็นศูนย์กลางอยู่หรือไม่ หรือผัสสะอื่นๆ ก็ยังถูกลดทอนพลังลงอยู่หรือไม่
คำถามนี่นำไปสู่ข้อเสนอของ Matthew Fulkerson จากวลีที่ว่า สัมผัสโดยมิได้สัมผัส (Touch Without Touching) คล้ายกับที่ Jacques Derrida เสนอถึง การละเล่นหรือความหลากเลื่อนที่ผลิตหรือสร้างพื้นที่ของการกำลังจะเกิด การกำลังจะเป็น (A becoming space) ซึ่งทำให้เกิดความเป็นไปได้ในลักษณะต่าง ๆ ที่เป็นไปไม่ได้กับการเป็นคู่ตรงกันข้าม เช่น การปรากฏที่ไม่ปรากฏ
แม้ตัวภาพยนตร์จะวิพากย์วัฒนธรรมแห่งการมอง ไม่ว่าจะเป็นคนดูมองภาพยนตร์ เห็นภาพชาวบูร์กินาฟาโซด้วยความรู้สึกดูแคลนและปะปนไปด้วยความตื่นตาตื่นใจ (exotic sensation) หรือจะนั่งดูอย่างวิเคราะห์วิจารณ์สาปส่งจักรวรรดินิยมที่ไม่สิ้นซากไปเสียที แถมยังถูกขับเน้นพลังอำนาจให้แพ่ไพศาลกว่าที่เคยมีมาผ่านทุนนิยมความรับรู้และการกลายเป็นแรงงานอวัตถุ กิจกรรมนั่งดูหน้าจอก็ยังอยู่ในกรงขังของการยึดเอาการมองเป็นศูนย์กลางอยู่หรือไม่ หรือผัสสะอื่นๆ ก็ยังถูกลดทอนพลังลงอยู่หรือไม่
Fulkerson เสนอว่าการสัมผัสเช่น การมองหรือได้ยิน เราก็รับรู้ได้ถึงการมีอยู่และคุณสมบัติของวัตถุถึงแม้เราจะได้ไม่ได้ใช้ร่างกายของเราสัมผัสวัตถุโดยตรง ซึ่งแตกต่างจากผัสสะอื่นๆ ประสบการณ์การสัมผัสต้องการการเชื่อมต่อที่เราคุ้นเคยระหว่างพื้นผิวสัมผัสกับวัตถุในความทรงจำ เช่นเดียวกับที่ กรกฤต อรุณานนท์ชัย ได้อธิบายถึงวิดีโอ No History In A Room Filled With People With Funny Names 5 (2018) ว่าเลเซอร์รวมถึงภาพจากโปรเจคเตอร์ก็สร้างการสัมผัสโดยที่เราไม่ได้อาจจะไม่ได้หรือได้สัมผัสแสงเหล่านั้นจริงๆ นั่นเพราะในทางประสาทวิทยาแล้ว เราจะกล่าวได้หรือไม่ว่าลำแสงก็ตกกระทบและสะท้อนเขาไปสัมผัสกับเซลล์ประสาทที่กระจกตาของเรา
สุดท้ายแล้วการยึดเอาการมองเป็นศูนย์กลาง (occularcentrism) จึงอาจจะมิได้หมายถึงการใช้ตามองจริงๆ (หรืออาจจะใช่ก็ได้) หากแต่หมายถึงกระบวนทัศน์ประหนึ่งว่ามนุษย์กระทำตนเสมือนพระเจ้าสร้างองค์ความรู้เป็นแสงสาดส่องลงบนพื้นที่ที่เคยมืดมิด ในโลกสมัยใหม่ที่มนุษย์เชื่อว่าเวลาดำเนินเป็นเส้นตรงและมีจุดจบของประวัติศาสตร์ เชื่อว่าวันพรุ่งนี้ต้องดีกว่านี้แน่ แต่ความย้อนแย้งคือเราก็ยังต้องการสิ่งที่ผ่านไปแล้ว
จึงอาจกล่าวได้ว่า In Comparison ก็คือการรื้อถอน (deconstruct) โครงสร้างของอาคารสภาวะสมัยใหม่ สำแดงให้เราเห็นถึงสรรพสิ่งกำลังกลายเป็นสิ่งที่ดูเหมือนจะหาย แต่ก็ยังอยู่ เช่น ในขณะที่เรามีซีเมนต์ที่แข็งแรง แต่ต้องการบ้านเก๋ๆ ที่ทำโชว์อิฐเปลือย เรามีเทคโนโลยีที่ถ่ายภาพดิจิตอลได้เสมือนจริง แต่เราก็ต้องการภาพยนตร์ถ่ายด้วยฟิล์ม เรามีหุ่นยนต์แต่เราก็ยังเป็นแรงงาน (ที่เราอาจจะไม่รู้ตัวว่าเป็น) ทุนนิยมที่ต้องการสิ่งแปลกใหม่เอ็กซคลูซีฟ แต่ก็ยังต้องการอะไรที่ขายทำกำไรให้มวลชนได้มากๆ หรือแม้แต่ระบอบการปกครองที่บอกว่าจะไปข้างหน้า แต่ย้อนกลับไปหาสิ่งเก่าๆ In Comparison จึงเน้นย้ำถึงการรื้อสร้างที่ไม่ต่างอะไรจากการหาจุดศูนย์กลางใหม่ๆ ไปเรื่อยๆ
ดูหนังเรื่องนี้ได้ที่ (สมัครสมาชิกก่อน) dafilms
หรือ ดูฟรีแบบบจำกัดเวลา (ตสองสัปดาห์นับจากศุกร์ที่ผ่านมา) ได้ที่ arsenal
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับหนังที่ Harun Farocki
อ้างอิง :
– Matthew Fulkerson. 2012. Touch Without Touching. FEBRUARY 2012, VOLUME 12, NO. 5, PP. 1-15
– อารีรัตน์ ภิราษร. สมหวัง แก้วสุฟอง. 2019. แนวคิดเรื่องความหลากเลื่อนของ ฌากส์ แดร์ริดา. วารสารปณิธาน: วารสารวิชาการด้านปรัชญาและศาสนา
– ธเนศ วงศ์ยานนาวา. การรวมศูนย์ศิลปะของการกระจายตัวของศิลปะและการเมือง: จากสภาวะสมัยหลังใหม่สู่สภาวะสมัยใหม่
– เก่งกิจ กิติเรียงลาภ. “เราทุกคนคือศิลปิน”: อวัตถุศึกษาว่าด้วยแรงงาน. วารสารสังคมวิทยามานุษยวิทยา 33(2): กรกฎาคม – ธันวาคม 2557
– ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ. การจัดแสดงในฐานะพื้นที่ทางการเมือง. วารสารสังคมศาสตร์ ปีที่ 27 ฉบับที่ 1/2558 (มกราคม-มิถุนายน)