แม้ว่าจะเกิดและเติบโตที่ประเทศมาเลเซีย ก่อนจะย้ายมาไต้หวันในวัย 20 แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ไฉ้หมิงเลี่ยง (Tsai Ming-liang) คือหนึ่งในผู้กำกับภาพยนตร์ที่มีอิทธิพลอย่างที่สุดต่อวงการภาพยนตร์ไต้หวัน
ภายหลังจากการจากไปของเจียงไคเชก ในปี ค.ศ. 1975 จนนำไปสู่การประกาศยกเลิกกฎอัยการศึกในปี ค.ศ. 1987 ที่ควบคุมไต้หวันมาอย่างยาวนานกว่า 38 ปี เสรีภาพที่ค่อยๆ เบ่งบานได้ส่งผลให้วงการภาพยนตร์ไต้หวันก้าวเดินเข้าสู่ยุคใหม่ ในช่วงเวลานั้น ชื่อของผู้กำกับอย่าง เอ็ดเวิร์ด หยาง (Edward Yang) และ โหวเสี่ยวเชี่ยน (Hou Hsiao-Hsien) ถูกจดจำในฐานะหัวหอกสำคัญผู้สร้างสุนทรียะแบบใหม่ๆ ให้กับวงการภาพยนตร์ไต้หวัน และแม้ว่าไฉ้หมิงเลี่ยงจะเข้ามาสมทบในทีหลัง แต่เอกลักษณ์ทางภาพยนตร์ของเขาก็เพียงพอที่จะส่งให้ชื่อเขากลายเป็นที่พูดถึงและจดจำ ท่ามกลางยักษ์ใหญ่ของวงการภาพยนตร์ไต้หวันอย่างแทบจะทันที
ภาพยนตร์ของไฉ้มักให้ความสำคัญกับความแปลกแยกและโดดเดี่ยวของคนเมือง เห็นได้จาก Rebels of the Neon God (1992) ภาพยนตร์เรื่องแรกของเขาที่ฉายภาพของ ‘เมืองไทเป’ ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วภายใต้ความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ผ่านภาพยนตร์เรื่องนี้ ไฉ้แสดงให้เห็นผลกระทบของการกระโดดเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่อย่างรวดเร็วของเมือง ได้นำมาซึ่งร่องรอยของความโดดเดี่ยวและแปลกแยกที่ปรากฏให้เห็นอย่างเนืองๆ ในชีวิตของคนเมือง สภาวะที่อยู่ๆ ก็เหม่อลอยและพริบตาที่สมาธิหลุดลอยไปจากปัจจุบันขณะ เพียงแต่อาการเหล่านี้จะพบเห็นได้ก็ต่อเมื่อเราจับจ้องอยู่ที่ปัจเจกบุคคลหนึ่งๆ นานพอที่เขาจะหลงลืมไปว่ากำลังถูกจับจ้องจากสายตาที่ไม่รู้จัก ด้วยเหตุนี้ ภาพยนตร์ของไฉ้จึงมักจะหมกมุ่นอยู่กับการทอดเวลาอย่างเอื่อยเฉื่อยและเชื่องช้า เพราะแม้คุณลักษณะของเมืองจะคือการเปลี่ยนแปลงที่ปุบปับ แต่เป็นภายใต้การจับจ้องอยู่กับปัจเจกบุคคลหนึ่งๆ นานๆ ที่เราจะรับรู้ได้ถึงความแปลกแยกและโดดเดี่ยวของคนเมือง
กล่าวได้ว่า พ้นไปจาก หลี่คังเซิง (Lee Kang-sheng) นักแสดงขาประจำที่ปรากฏในภาพยนตร์ของไฉ้แทบทุกเรื่องแล้ว ‘เมือง’ จึงคือตัวละครสำคัญ ที่ไม่เพียงบทบาทของมันจะเป็นฉากหลังของกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในหนัง แต่เมืองยังคือเงื่อนไขที่ขับเคลื่อนหนังของไฉ้อยู่เสมอ โดยที่แม้ว่า Goodbye, Dragon Inn (2003) จะเป็นหนังที่จับจ้องไปยังพื้นที่เพียงแห่งเดียว นั่นคือ ‘โรงภาพยนตร์ที่กำลังจะปิดตัวลง’ หากนั่นก็ไม่ได้แปลว่า คุณลักษณะของความเป็นเมืองจะไม่ปรากฏให้เห็นในภาพยนตร์เรื่องนี้
Goodbye, Dragon Inn ถ่ายทอดช่วงเวลาสุดท้ายของโรงภาพยนตร์แห่งหนึ่งในเมืองไทเป โดยที่ตลอดระยะเวลากว่า 1 ชั่วโมง 20 นาที ไฉ้ได้พาเราไปจับจ้องหลายชีวิตของผู้คนที่ตบเท้าเข้ามาในโรงด้วยจุดประสงค์ที่แตกต่างกันไป สายตาของกล้องจ้องค้างไปยังที่นั่งนับร้อยๆ ของโรงภาพยนตร์ที่แม้จะไม่ถึงกับว่างเปล่า แต่ก็มีคนดูนั่งแค่เพียงบางตา น่าเศร้ายิ่งกว่าคือ แทบจะไม่มีใครสนใจภาพยนตร์ที่ฉายอยู่บนจอ บ้างก็กินขนมจุกจิก และบ้างก็สนทนากันไปเรื่อยเปื่อย นานๆ ครั้ง หนังจะสับเปลี่ยนสายตาที่จับจ้องแค่กับคนดู มาสนใจชีวิตของคนตัวเล็กๆ ปราศจากชื่อผู้ทำงานอยู่ในโรงภาพยนตร์แห่งนี้ ชายหนุ่มผู้นั่งเบื่อหน่ายอยู่หลังม้วนฟิล์มที่หมุนไปเรื่อยๆ กับหญิงสาวขายตั๋วที่ก็ดูจะไม่สนใจภาพยนตร์ที่กำลังฉายอยู่สักเท่าไหร่ หนังดำเนินไปอย่างเชื่องช้า เฉื่อยชา เงียบเชียบ และเดียวดาย ก่อนที่หนังจะจบลงด้วยคนดูที่ค่อยๆ ลุกออกจากโรงไป ไม่มีใครอาวรณ์ หรือเศร้าใจ ต่อให้วันพรุ่งนี้พวกเขาจะไม่อาจกลับมายังสถานที่แห่งนี้ได้อีกแล้วก็ตาม
หนังดำเนินไปอย่างเชื่องช้า เฉื่อยชา เงียบเชียบ และเดียวดาย ก่อนที่หนังจะจบลงด้วยคนดูที่ค่อยๆ ลุกออกจากโรงไป ไม่มีใครอาวรณ์ หรือเศร้าใจ ต่อให้วันพรุ่งนี้พวกเขาจะไม่อาจกลับมายังสถานที่แห่งนี้ได้อีกแล้วก็ตาม
ยุคสมัยหลังจากการสิ้นสุดลงของกฎอัยการศึก ไทเปได้ก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งเขตใหม่ (re-zoning) ของพื้นที่ต่างๆ ในเมือง ปรับระดับพื้นที่ศูนย์กลางเมืองให้ราบเรียบ ยกระดับโครงสร้างสร้างต่างๆ ของเมือง รวมถึงการก่อสร้างตึกสูง และอาคารใหม่ๆ เช่น ตึกไทเป 101 กล่าวให้ชัดขึ้นคือ นับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1990 เป็นต้นมา ปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในกระบวนการพัฒนาเมืองไทเปได้สะท้อนให้เห็นถึงความสอดคล้องกับกระแสการพัฒนาเมืองต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลกภายใต้อิทธิพลของแนวคิดเสรีนิยมใหม่ ไม่ว่าจะเป็น กรณีที่พื้นที่ต่างๆ ในเมืองมีมูลค้าเชิงพาณิชย์ และกระแส gentrification นั่นคือ การปรับเปลี่ยนพื้นที่หนึ่งๆ ของเมือง เพื่อให้ตอบสนองกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของธุรกิจ หรือกลุ่มทุนใหม่ๆ โดยที่ชาวบ้าน และผู้อยู่อาศัยเดิมซึ่งมากำลังทางเศรษฐกิจน้อยกว่ามักจะได้รับผลกระทบจากการปรับเปลี่ยนพื้นที่ในลักษณะนี้ รวมไปถึงการเพิ่มขึ้นของ ‘generic architecture’ รูปแบบหนึ่งของสถาปัตยกรรมที่ให้ความสำคัญกับลักษณะการใช้งาน มากกว่าการสร้างตึกและอาคารที่ใหม่ หรือมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
ท่ามกลางกระแสของการพัฒนาเมืองที่ขับเคลื่อนไปอย่างไม่หยุดนิ่งภายใต้กระแสเสรีนิยมใหม่ ‘การรื้อถอน’ (demolish) จึงคือปรากฏการณ์หนึ่งที่มักจะพบเห็นอยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในพื้นที่เศรษฐกิจของเมืองใหญ่ ที่คุณสมบัติสำคัญของตึกและอาคารคือการสร้างมูลค่าให้กับนายทุน ผู้เช่า และพื้นที่รอบๆ ตึกและอาคาร ‘การทำลายสิ่งเก่าเพื่อสร้างสิ่งใหม่’ ย่อมจะสมเหตุสมผลกว่า ทว่าผ่านสายตาของไฉ้ เขากลับเปิดเผยให้เห็นรายละเอียดของชีวิตเล็กๆ ที่สายตาของนายทุนมองไม่เห็น หรือแม้ว่าจะมองเห็น ก็ไม่เห็นว่าจะเป็นประเด็นสำคัญ ในภาพยนตร์เรื่อง The Hole (1988) ไฉ้เคยพาเราไปสังเกตชีวิตของผู้คนที่กำลังจะถูกขับไล่จากอพาร์ตเมนต์แห่งหนึ่งในไทเป เรื่องราวของผู้คนในตึกเก่าๆ แห่งนี้สะท้อนให้เห็นว่า แม้ภายนอกอาคารหลังนี้จะดูเศร้าสร้อย ไร้จิตใจเพียงใด แต่หากลองทอดสายตาให้ลึกลงไป เรากลับจะรับรู้ได้ถึงรายละเอียดของชีวิตที่ผูกพันอยู่กับอพาร์ตเมนต์หลังนี้
ตรงกันข้าม ผู้คนที่ผ่านเข้ามาในโรงภาพยนตร์เก่าๆ ของ Goodbye, Dragon Inn กลับไม่มีท่าทีว่าจะผูกพันกับสถานที่เท่าไรนัก โดยในขณะที่เราอาจนิยามคุณค่าของอพาร์ตเมนต์ใน The Hole ได้ว่า คือพื้นที่สำหรับซุกหัวนอนของคนกลุ่มหนึ่ง แต่กับโรงภาพยนตร์ที่กำลังจะปิดตัวลง ไฉ้กลับแสดงให้เห็นว่า ความหมายที่ปัจเจกบุคคลเชื่อมโยงอยู่กับสถานที่แห่งนี้ล้วนแล้วแต่แตกต่างกันออกไป มันอาจเป็นสถานที่ทำงานของใครสักคนหนึ่ง เป็นสถานที่หลบฝนของใครอีกคน หรือไม่ก็เป็นสถานที่สำหรับงีบหลับ บ้างก็แอบมาร่วมรัก หรือบ้างก็แค่อยากจะมาดูหนังเก่าๆ สักเรื่องหนึ่ง ที่เอาจริงๆ ก็ไม่ใช่ว่าจะอินอะไร และแม้ว่า Goodbye, Dragon Inn จะเป็นภาพยนตร์ที่พูดถึงวันสุดท้ายของโรงหนัง แต่มันก็ไม่ได้นำเสนอการสิ้นสุดลงของอาคารหลังนี้อย่างโศกเศร้า หรือฟูมฟาย เพราะท้ายที่สุดแล้วมันก็แค่วันหนึ่งๆ เป็นเพียงวันธรรมดาวันหนึ่ง ที่การแตกดับของสถานที่แห่งหนึ่ง จะนำมาซึ่งการเกิดขึ้นของสถานที่แห่งใหม่
แม้ว่า Goodbye, Dragon Inn จะเป็นภาพยนตร์ที่พูดถึงวันสุดท้ายของโรงหนัง แต่มันก็ไม่ได้นำเสนอการสิ้นสุดลงของอาคารหลังนี้อย่างโศกเศร้า หรือฟูมฟาย เพราะท้ายที่สุดแล้วมันก็แค่วันหนึ่งๆ เป็นเพียงวันธรรมดาวันหนึ่ง ที่การแตกดับของสถานที่แห่งหนึ่ง จะนำมาซึ่งการเกิดขึ้นของสถานที่แห่งใหม่
สอดคล้องไปกับการหมดสิ้นอายุไขลงของโรงภาพยนตร์ Goodbye, Dragon Inn สะท้อนให้เห็นถึงการค่อยๆ เสื่อมคุณค่าลงของโรงภาพยนตร์ในฐานะ ‘สถาบัน’ กล่าวคือ ความไม่รู้สึกผูกพันกับสถานที่ของตัวละครในเรื่อง ก็เป็นเพราะในโลกทุกวันนี้ โรงภาพยนตร์ไม่ใช่พื้นที่เพียงแห่งเดียว ที่เราจะสามารถเข้าถึงประสบการณ์ทางภาพยนตร์ได้อีกต่อไป เราอาจนิยามยุคสมัยนี้ว่าคือ ‘post-cinematic age’ ในความหมายที่ว่า ช่องทางในการจะเข้าถึงภาพยนตร์ไม่เพียงแต่จะเพิ่มจำนวนขึ้น แต่ยังแพร่กระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ post-cinematic age ไม่ได้หมายถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างเฉียบพลัน หรือตัดขาดจากอดีตอย่างหุนหัน แต่ดำเนินไปในลักษณะของความสัมพันธ์ระหว่างสื่อเก่า กับสื่อใหม่ และเป็นกระบวนการที่ดำเนินไปเรื่อยๆ ในแง่นี้ post-cinematic age จึงไม่ได้หมายถึงแค่ bittorrent หรือ netfilx แต่ยังรวมถึงวิดีโอ และดีวีดี อันเป็นสื่อยุคก่อนหน้าที่ช่วยให้ผู้คนเข้าถึงประสบการณ์ทางภาพยนตร์มากขึ้น
ไม่เพียงแต่คุณค่าของโรงภาพยนตร์ในฐานะพื้นที่ของการดูหนังเท่านั้นที่ค่อยๆ หายไป แต่ยังรวมถึงการชมภาพยนตร์ในฐานะ ‘ประสบการณ์ร่วม’ ก็ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนความหมายไปสู่ภาพยนตร์ในลักษณะที่เป็นส่วนตัวมากขึ้น เราไม่จำเป็นต้องเดินทางมาโรงหนังเพื่อดูหนังอีกต่อไปแล้ว ในแง่นี้ ปรากฏการณ์ที่โรงภาพยนตร์ค่อยๆ เสื่อมความนิยมลงจึงเชื่อมโยงกับคุณลักษณะของเมืองสมัยใหม่ในหนังของไฉ้อย่างน่าสนใจ นั่นเพราะเมื่อวันหนึ่ง โรงภาพยนตร์ไม่ได้กลายเป็นสถานที่เพียงแห่งเดียวที่ผู้คนในเมืองจะสามารถดูหนังได้อีกต่อไป เมื่อมันไม่สามารถสร้างรายได้ และกำไรที่มากพอ การทำลายสิ่งเก่าเพื่อสร้างสิ่งใหม่จึงย่อมจะสมเหตุสมผลกว่าเป็นไหนๆ
ในช่วงที่ภาพยนตร์เรื่อง Stray Dogs (2013) ออกฉาย ไฉ้เคยกล่าวไว้ว่า “ความปุบปับของอิทธิพลจากโลกตะวันตกที่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเมืองในทวีปเอเชีย ทำให้ผมรู้สึกว่ากำลังตกอยู่ภายใต้สภาวะของความวิตกกังวล และความไม่แน่นอนตลอดเวลา ราวกับว่า เราเพียงแต่ล่องลอยไปเรื่อยๆ โดยปราศจากรากฐานที่มั่นคงไว้คอยยึดเกี่ยว ประหนึ่งว่า ชีวิตของเรากำลังดำเนินไปภายในพื้นที่ก่อสร้างขนาดใหญ่ ที่บ้าน ถนน และรถไฟใต้ดินจะถูกบูรณะ ทุบทำลาย และสร้างขึ้นใหม่ ยิ่งการพัฒนาดำเนินไปมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งมีสิ่งต่างๆ ถูกโยนทิ้งมากขึ้นเรื่อยๆ ภาพยนตร์ของผมมักจะแสดงให้เห็นพื้นที่ก่อสร้างอยู่เสมอ ที่ซึ่งอาคารคอนกรีตแห่งใหม่กำลังจะก่อร่างสร้างขึ้น หรือตึกเก่าๆ ก็ถูกละทิ้ง และปล่อยให้ผุพัง สิ่งเหล่านี้ย้ำเตือนให้เราตระหนักถึงราคาอันโหดร้ายที่จำเป็นจะต้องจ่ายให้กับกระแสการพัฒนาที่พัดพาไปอย่างฉับพลันของอารยธรรมสมัยใหม่ การแลกเปลี่ยนที่โน้มเอียงเข้าใกล้ความบ้า”
ความปุบปับของอิทธิพลจากโลกตะวันตกที่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเมืองในทวีปเอเชีย ทำให้ผมรู้สึกว่ากำลังตกอยู่ภายใต้สภาวะของความวิตกกังวล และความไม่แน่นอนตลอดเวลา ราวกับว่า เราเพียงแต่ล่องลอยไปเรื่อยๆ โดยปราศจากรากฐานที่มั่นคงไว้คอยยึดเกี่ยว ประหนึ่งว่า ชีวิตของเรากำลังดำเนินไปภายในพื้นที่ก่อสร้างขนาดใหญ่ ที่บ้าน ถนน และรถไฟใต้ดินจะถูกบูรณะ ทุบทำลาย และสร้างขึ้นใหม่ ยิ่งการพัฒนาดำเนินไปมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งมีสิ่งต่างๆ ถูกโยนทิ้งมากขึ้นเรื่อยๆ
ภาพยนตร์ของไฉ้หมิงเลี่ยงไม่ได้สนใจที่จุดเริ่มต้นหรือบทสรุป เขาไม่สนใจว่า ตึกหลังหนึ่งๆ ถือกำเนิดขึ้นอย่างไร ไม่ได้สนใจเลยว่า อาคารหลังหนึ่งๆ ที่กำลังบูรณะอยู่ จะสวยงาม และโดดเด่นขึ้นเพียงใด นั่นเพราะเขาให้ความสำคัญกับ ‘กระบวนการเปลี่ยนผ่าน’ อยู่เสมอ Goodbye, Dragon Inn ก็เช่นกัน เพราะแม้หนังจะฉายภาพช่วงเวลาสุดท้ายของโรงภาพยนตร์ก็จริง ทว่าหนังก็จบลงก่อนที่เราจะทันได้เห็นชะตากรรมของโรงภาพยนตร์แห่งนี้ว่าลงเอยเช่นไร
ภายใต้ราคาอันโหดร้ายของกระแสการพัฒนาเมืองสมัยใหม่ ปรากฏการณ์ที่เรารับรู้จึงคือกระบวนการเปลี่ยนผ่านที่หมุนเวียนอยู่เรื่อยไป อาคารหลังเก่าถูกเขี่ยออก แทนที่ด้วยอาคารหลังใหม่ ประวัติศาสตร์ชุดหนึ่งถูกลบออก แทนที่ด้วยประวัติศาสตร์ชุดใหม่ ชินชา และเป็นธรรมดา ไม่เห็นมีอะไรจะต้องตื่นตระหนกตกใจ ก็แค่สิ่งหนึ่งสูญหาย แต่เพียงพริบตาก็จะถูกแทนที่ด้วยอะไรใหม่ๆ ใหญ่โต ฟู่ฟ่า และตื่นตาตื่นใจ เพราะสุดท้ายก็ไม่มีใครคิดจะจดจำอดีตอย่างจริงๆ จังๆ นักหรอก
หมายเหตุ :
ภาพยนตร์เรื่องนี้จะเข้าฉายอย่างเป็นทางการในเทศกาล”เทศกาลภาพยนตร์สารคดีไต้หวัน ครั้งที่ 3 ปี 2020″ 4 – 8 พฤศจิกายน 2563 นี้ รายละเอียดเพิ่มเติมติดตามได้ที่ Taiwan Documentary Film Festival in Thailand