วันที่ 20 มกราคม 2557 เกิดการชุมนุมของกลุ่มนักเรียนชั้นมัธยมต้นและมัธยมปลายจำนวนมากที่โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย พวกเขาพากันหยุดเรียนและเดินออกมารวมตัวกัน ที่บริเวณหน้าอาคาร พร้อมเป่านกหวีดเพื่อประท้วงขับไล่ นายเฉลิมศักดิ์ ภาระธัญญา ผู้อำนวยการโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย และอาจารย์บางคน โดยอ้างว่าถูกบังคับไปร่วมรณรงค์เลือกตั้ง จนนำไปสู่กระแสติดแฮชแท็ก #shutdownAYW ในทวิตเตอร์ และมีการแชร์ภาพนักเรียนถือป้าย “บังคับกูมา” กลางงานรณรงค์ด้วย
สาเหตุของการประท้วงเริ่มจากความไม่พอใจที่มีการจัดให้นักเรียนไปรวมตัวกันที่หน้าศาลากลางจังหวัดหลังเก่าเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2557 เพื่อไปถือป้ายรณรงค์ขอให้มีการเลือกตั้ง สส.ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 และขอให้มีการยุติการใช้ความรุนแรงในสังคม
นักเรียนจำนวนมากไม่เห็นด้วยกับกิจกรรมดังกล่าว ผู้ปกครองไม่ได้เต็มใจให้บุตรหลานไปรณรงค์ เนื่องจากมีการแบ่งพวกแบ่งฝ่ายแบ่งสี นักเรียนบางคนให้ความเห็นว่าต้องการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง สส. จึงอยากให้ผู้บริหารโรงเรียนให้อิสระในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง และอย่าบังคับให้นักเรียนทำสิ่งที่ฝืนใจ
วันต่อมา นายเฉลิมศักดิ์ ภาระธัญญา ผู้อำนวยการโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย ได้ทำความเข้าใจกับนักเรียนโดยชี้แจงว่ากิจกรรมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการการรณรงค์การเลือกตั้งของศูนย์การเรียนรู้การเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่ 2 สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ทางโรงเรียนได้ส่งอาจารย์ 2 ท่านไปอบรมเพื่ออบรมและมารณรงค์การเลือกตั้ง โดยไม่หวังผลทางการเมืองว่าเป็นแบบใด และกิจกรรมนี้ได้ทำมาทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว.
สองวันถัดมา (วันที่ 23 มกราคม 2557) บริเวณหน้าโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย มีกลุ่มเสื้อแดงราว 50 คนเดินทางมาชุมนุมมาให้กำลังใจผู้อำนวยการโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย และไม่พอใจที่นักเรียนโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัยประท้วงผู้อำนวยการโรงเรียน
From Now On (2019) หนังสั้นจบการศึกษาของคัชฑา หิรัญญปรีชา นักศึกษามหาวิทยาลัยกรุงเทพ เล่าเรื่องคิณ อดีตนักเรียนโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย เขากลับมาเป็นผู้ช่วยผู้กำกับทำหนังสั้นเกี่ยวกับชีวิตนักเรียนโดยเลือกใช้ฉากหลังเป็นโรงเรียนที่เขามีความหลังทั้งความรักและอดีตตัวแทนนักเรียนผู้ต่อต้านผู้อำนวยการโรงเรียน
เอาจริงๆแล้วคิณ เรียนที่โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัยไม่ถึงหนึ่งภาคการศึกษาด้วยซ้ำ เขาย้ายที่เรียนอย่างไม่ทราบสาเหตุ แม้กระทั่งนับดาว หญิงสาวที่ชอบพอกันก็ไม่ทราบว่าเขาจะย้ายที่เรียน หนังเล่าเทียบเคียงกับอดีตของคิณ เขาและเพื่อนๆ เป็นแกนนำสนับสนุนกปปส. (คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) ที่กำลังชุมนุม “ชัตดาวน์กรุงเทพฯ” ในขณะนั้นเพื่อขับไล่รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร คิณอาจะย้ายที่เรียนเพราะเขาเป็นส่วนหนึ่งของการประท้วงขับไล่ผู้อำนวยการโรงเรียนก็เป็นได้
เขากลับมาเจอนับดาว หญิงสาวที่ไม่ได้ติดต่อกันนานกว่า 5 ปี จู่ๆเขาก็ย้ายไปโรงเรียนใหม่โดยไม่ร่ำลา แต่เขาและเธอก็ดูจะกลับมาสานสัมพันธ์กันได้อย่างง่ายดาย หนังเล่าเทียบเคียงกับนักเรียนชายหญิงอีกคู่ดูเหมือนฝ่ายหญิงจะชอบฝ่ายชายบนความสัมพันธ์ฉันเพื่อนแต่คิดเกินเลยและไม่ชัดเจน หนุ่มสาวไร้ชื่อผู้ไขว่คว้าหาเส้นทางชีวิตที่จะเลือกเดินในอนาคต ฝ่ายชายได้เรียนต่อสาขาภาพยนตร์ (ซึ่งอาจเป็นผู้กำกับที่มาทำหนังสั้นที่โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัยก็เป็นได้) ส่วนฝ่ายหญิงยังไม่รู้ว่าเธอจะได้เรียนต่อที่ไหน
หนังยังเล่าคู่ไปกับเรื่องของพิมและหนุ่ม ซึ่งคราวนี้ดูจะเป็นเรื่องของฝ่ายชายที่แอบชอบฝ่ายหญิง หนุ่มไม่ได้ไปเรียนต่อเหมือนเพื่อนๆ เพราะต้องช่วยกิจการร้านชำของแม่และยังต้องรับจ้างทั่วไปเท่าที่แรงจะไหว ส่วนพิม เรียนกราฟิกดีไซน์และไม่สนใจข่าวการเมือง แม้ว่าหนุ่มจะพยายามทายว่าเธอทำงานแบบไหนอยู่ก็ไม่ถูกกับนิยามที่เธอกำหนดไว้ เธอดูเหินห่างจากหนุ่ม แม้ว่าเขาจะทักทายและเป็นมิตรกับเธอ
พิมลางานกลับมาอยุธยาฯ เพื่อมางานศพอาจารย์เชษ เธอบอกกับหนุ่มว่าอาจารย์มาเข้าฝันบอกกับเธอว่าอาจารย์เสียชีวิตแล้ว เธอฝันถึงเหตุการณ์ที่ในอดีตได้ไปร่วมประท้วงไล่ผู้อำนวยการโรงเรียน เช่นเดียวกับหนุ่มที่ก็ไปประท้วงแต่เขาก็บอกว่าตอนนั้นไปก็ไปตามๆกัน ไม่เข้าใจด้วยซ้ำว่าทำไปทำไม
งานศพไร้ญาติของอาจารย์เชษผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจและไม่มีครอบครัว เขาถูกไล่ออกจากโรงเรียนเพราะถูกใส่ร้ายเรื่องที่เขาเป็นคนพานักเรียนไปรณรงค์การเลือกตั้ง งานศพของเขามีเพียงพวงหรีดสองชิ้นจากศิษย์และคุณครู และไม่มีค่อยมีคนมาร่วมงาน อาจารย์เชษจึงเป็นผู้ที่ไม่มีใครคิดถึง มีเพียงเพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้เคียงเท่านั้นมาช่วยกันจัดงานศพขึ้น
ในช่วงหนึ่งของหนังมีส่วนที่เป็นสารคดีถ่ายการประท้วงของนักเรียนโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย พวกเขาแสดงออกด้วยการถวายบังคมพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 5 ซึ่งตั้งอยู่กลางโรงเรียน ก่อนจะตะโกนขับไล่และเป่านกหวีดใส่ผู้อำนวยการโรงเรียน
ธงชัย วินิจจะกุล เสนอว่า ลัทธิพิธีเสด็จพ่อ ร.5 หรือราชาชาตินิยมของกระฎุมพีไทย เป็นการสร้าง ผลิตซ้ำ กระจายความทรงจำโดยประชาชนด้วยกันเองจนเกิดเป็นตลาดสินค้าเพื่อ Populist King หรือกษัตริย์ประชานิยม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งการแสวงหาทางออกของสังคมในภาวะที่พึ่งระบอบการเมืองปัจจุบันไม่ได้
ราชาชาตินิยมใหม่ (neo-royalism) เป็นส่วนหนึ่งของตัวตนกระฎุมพีไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการรื้อฟื้นความสำคัญของสถาบันกษัตริย์ท่ามกลางการปฏิวัติ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งถือเป็นการปลดปล่อยพลังของมหาชนและพลังพระมหากษัตริย์ในสถานะสูงส่งนับจากสวรรคตของรัชกาลที่ 5 พ.ศ. 2453 การปฏิวัติ 14 ตุลาคม เกิดจากกลุ่มกระฎุมพีนักวิชาการต่อต้านระบบทหารซึ่งมองว่าการปฏิวัติ 2475 เป็นต้นกำเนิดของระบอบเผด็จการทหารและรับเอาทัศนะของฝ่ายกษัตริย์นิยมซึ่งมองว่ากษัตริย์เป็นราชานักประชานักประชาธิปไตย (โดยเฉพาะอย่างยิ่งของรัชกาลที่ 9) ไปด้วย
ราชาชาตินิยมใหม่ได้รับอิทธิพลอย่างสูงจากทัศนะของฝ่ายกษัตริย์นิยมหรือความทรงจำของเจ้ากรุงเทพฯ ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ซึ่งถูกประกอบเป็นรูปเป็นร่างในช่วงทศวรรษที่ 1910 นี่เอง และส่วนหนึ่งเป็นเพราะประวัติศาสตร์ชาตินิยมหลัง 2475 ก็มิได้ผลักไสความทรงจำแบบเจ้ากรุงเทพฯ ออกไป แต่เป็นเพียงการท้าท้ายรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์มุ่งต่อต้านกษัตริย์ที่ครองอำนาจและระบอบการเมืองในขณะนั้นเท่านั้น เช่น กรณี ร.ศ. 112 ซึ่งถูกผู้นำยุคชาตินิยมโฆษณาลงสู่สาธารณชนว่าชาติไทย “เสียดินแดน”
ธงชัย เสนอว่า “คณะราษฎรเห็นความล้มเหลวของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในรัชกาลที่ 6 และ 7 แต่พวกเขาไม่เห็นด้วยซ้ำไปว่ารัชกาลที่ 5 คือจุดเริ่มต้นของสิ่งที่พวกเขาต้องการเปลี่ยนแปลงอย่างถอนรากถอนโคน ผู้นำคณะราษฎรแทบทุกคนถือเอาพระปิยมหาราชเป็นแบบอย่างกษัตริย์และผู้นำที่พึงปรารถนา”
ดังนั้นแล้วภาพการบูชารัชกาลที่ 5 ของนักเรียนก่อนจะเป่านกหวีดไล่ผู้อำนาจโรงเรียนผู้ยืนยันในระบอบประชาธิปไตยจึงแสดงให้เห็นถึงว่าหนุ่มสาวเหล่านั้นเป็นผลผลิตของกระฎุมพีที่ติดอยู่ในวงวนของราชาชาตินิยมใหม่ซึ่งเป็นผลมาจากโฆษณาของกระฎุมพี โดยกระฎุมพี เพื่อกระฎุมพีกันเอง และส่วนหนึ่งก็มาจากการไม่ตัดขาดของอุดมการณ์ราชาชาตินิยมเดิมและความทรงจำเจ้ากรุงเทพฯ ที่ถูกสร้างโดยฝ่ายกษัตริย์นิยมแต่ก็ยังถูกเชิดชูโดยผู้ที่นำเข้าแนวคิดประชาธิปไตยรุ่นแรกๆ ของรัฐไทย
จุดน่าสังเกตอีกอย่างคือขบวนการนักเรียนและนักศึกษาหลายๆแห่งทั่วประเทศที่ลุกขึ้นมาต่อต้านเผด็จการทหารในปัจจุบันก่อนจะหยุดเคลื่อนไหวไปเพราะการระบาดของไวรัสโคโรน่า 2019 ก็ยึดเอาคณะราษฎรเป็นต้นแบบ ซึ่งกระแสการกลับมาของการรำลึกคณะราษฎรอาจกล่าวได้ว่ามาพร้อมกับขบวนการเสื้อแดงต่อต้านรัฐประหารนายทักษิณ ชินวัตร เช่น ผู้ชุมนุมเสื้อแดงหลายกลุ่มร่วมจัด “ทวงคืนประชาธิปไตย ตามหาวันชาติไทย” พื่อรำลึกการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2549
แต่สิ่งที่ขบวนการนักศึกษาเน้นย้ำเช่นเดียวกับคณะราษฎรคือประวัติศาสตร์ชาตินิยมแบบหลัง 2475 ซึ่งไม่ได้ท้าทายราชาชาตินิยมอย่างถึงราก แต่ทำอย่างอย่างดีที่สุดคือเสนอให้ “ชาติ” เป็นจุดหมายของประวัติศาสตร์ซึ่งกษัตริย์ในอดีตก็เชิดชูรับใช้ ปรากฏออกมาเป็นกิจกรรมยืนเคารพธงชาติก่อนการประท้วง (ผู้เขียนมีโอกาสได้เข้าสังเกตการณ์กิจกรรม “ขอนแก่นพอกันทีครั้งที่ 2”) หรือการผลิตคำพูดที่เชิดชูชาติ เช่น ชาติคือประชาชน
แต่สิ่งที่ขบวนการนักศึกษาเน้นย้ำเช่นเดียวกับคณะราษฎรคือประวัติศาสตร์ชาตินิยมแบบหลัง 2475 ซึ่งไม่ได้ท้าทายราชาชาตินิยมอย่างถึงราก แต่ทำอย่างอย่างดีที่สุดคือเสนอให้ “ชาติ” เป็นจุดหมายของประวัติศาสตร์ซึ่งกษัตริย์ในอดีตก็เชิดชูรับใช้ ปรากฏออกมาเป็นกิจกรรมยืนเคารพธงชาติก่อนการประท้วง (ผู้เขียนมีโอกาสได้เข้าสังเกตการณ์กิจกรรม “ขอนแก่นพอกันทีครั้งที่ 2”) หรือการผลิตคำพูดที่เชิดชูชาติ เช่น ชาติคือประชาชน
หลังการล่มสลายของรัฐกษัตริย์ รัฐประชาชาติก็ได้ขึ้นมาเป็นเป้าหมายของกระฎุมพีที่ใช้ในการขับเคลื่อนกิจกรรมทางการเมือง ชาติได้กลายเป็นสิ่งที่เข้ามาแทนที่กษัตริย์และพระเจ้าในทางศาสนา แต่สำหรับรัฐไทยแล้วก็ยังคงเป็นที่ถกเถียงว่าชาติคือประชาชนหรือกษัตริย์ แม้ในกลุ่มนักศึกษาที่เคลื่อนไหวทางการเมืองบางส่วนก็ยังคงยึดเอารัชกาลที่ 9 เป็นต้นแบบ หรือใฝ่ฝันถึงกษัตริย์ประชาธิปไตยแบบรัชกาลที่ 9 หรือชื่นชมกษัตริย์ประเทศอื่นๆ ราวกับว่าฉันต้องการมีกษัตริย์แบบประเทศนั้น เช่น กรณี “ควีนเอลิซาเบธ ที่ 2” ทรงมีพระราชดำรัสพิเศษ ปลุกขวัญชาวอังกฤษ สู้โควิด-19 จึงย้อนไปสู่คำถามเดิมว่าแล้วชาติคือของใคร หรืออำนาจอธิปไตยเป็นของใคร อยู่ที่รัฐ อยู่ที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรืออยู่ที่คนแต่ละคน
อย่างไรก็ตาม From Now On ได้สำรวจปัจจุบันของอดีตแกนนำนักเรียนที่อาจเข้าได้กับวลีที่ว่า “พี่เลิกสนใจการเมืองแล้ว” หรือ “ชีวิตดีๆ ที่ไม่สนใจการเมืองแล้ว” คิณทิ้งนับดาวไปไม่บอกกล่าวแต่ก็กลับมาสานสัมพันธืได้อย่างง่ายดายราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น เช่นเดียวกับชีวิตของเขาที่ไม่ได้รู้สึกผิดหรือเรียนรู้อดีตเท่าไรนัก เขาก็แค่ทำให้คุณครูคนหนึ่งถูกไล่ออกและอาจย้ายโรงเรียนเพื่อหนีความรู้สึกผิด ชีวิตของคิณและนับดาวก็ดำเนินต่อไปอย่างดงาม ต่างคนต่างมีงานทำ มีชีวิตที่ดี มีเงินมาทำหนังสั้นงานศิลปะจรรโลงใจ
แต่สำหรับหนุ่มและพิม ทั้งคู่มีงานทำเช่นกันแต่พวกเขาก็ดูไม่ได้มีความสุขกับชีวิตขนาดนั้น หนุ่มยังต้องการความรักจากพิม เขาก็คือคนที่เข้าร่วมชุมนุมประท้วง แม้เขาจะไม่รู้ว่าการประท้วงจะทำให้ครูเชษจะต้องออกจากงาน ชีวิตหลังจากรัฐประหาร 2557 ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าทุกตัวละคร แม้กระทั่งนับดาวที่ไม่ได้สนใจการเมือง ไม่ได้เข้าร่วมประท้วง มีส่วนทำให้เกิดขึ้นไม่ว่าจะทางตรงทางอ้อม เขาก็ต้องใช้ชีวิตต่อไปภายใต้โครงสร้างที่ ธงชัย วินิจจะกุล เรียกว่า สังคมอินทรียภาพแบบพุทธ (Buddhist Organic Society)
แต่สำหรับหนุ่มและพิม ทั้งคู่มีงานทำเช่นกันแต่พวกเขาก็ดูไม่ได้มีความสุขกับชีวิตขนาดนั้น หนุ่มยังต้องการความรักจากพิม เขาก็คือคนที่เข้าร่วมชุมนุมประท้วง แม้เขาจะไม่รู้ว่าการประท้วงจะทำให้ครูเชษจะต้องออกจากงาน ชีวิตหลังจากรัฐประหาร 2557 ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าทุกตัวละคร แม้กระทั่งนับดาวที่ไม่ได้สนใจการเมือง ไม่ได้เข้าร่วมประท้วง มีส่วนทำให้เกิดขึ้นไม่ว่าจะทางตรงทางอ้อม เขาก็ต้องใช้ชีวิตต่อไปภายใต้โครงสร้างที่ ธงชัย วินิจจะกุล เรียกว่า สังคมอินทรียภาพแบบพุทธ (Buddhist Organic Society)
คิณกับนับดาวก็อาจไม่ได้ทุกร้อนอะไร หนุ่มก็ต้องเหนื่อยต่อไปในฐานะชนชั้นแรงงาน แต่พิมอาจเป็นคนที่ได้ใช้เวลาคิดถึงอดีตมากที่สุด แม้ว่าเธอจะบอกว่าวันๆ ทำงานก็เหนื่อยแล้ว กลับห้องก็นอน เธอทบทวนตัวเองผ่านความฝันและคติวิญญาณนิยม อย่างน้อยในฉากสุดท้ายเธอก็ไม่ได้เลือกจะนั่งทิวทัศน์มุมที่รถขับหน้าไป แต่เธอขอหนุ่มว่าจะนั่งหลังกระบะ ราวกับว่าเธอได้มองย้อนไปในอดีต พอๆกับผู้กำกับหนังที่ได้ทำหนังเพื่อรำลึกถึงการกระทำของตัวเอง
แต่คนอย่างครูเชษ คงไม่ต่างจากที่ เสาวนีย์ ตรีรัตน์ อเลกซานเดอร์ เสนอว่า อัตลักษณ์ของ “คนเสื้อแดง” มาพร้อมกับความเสี่ยงและการตีตราจากสังคม คนจำนวนมากกลัวว่าตนจะถูกรังควานกลั่นแกล้งหากยอมรับอย่างเปิดเผยว่าตนเป็นแดง ทั้งนี้เพราะถูกป้ายสีคุณสมบัติบางประการ เช่น ต่อต้านเจ้า ต่อต้านรัฐบาลทหาร ครูเชษจึงเป็นคนที่ไม่มีใครอยากยุ่ง ไม่มีใครอยากจดจำ ไม่มีใครยังรัก แม้กระทั่งในวาระสุดท้าย งานศพของเขาก็มีเพียงพวงหรีดที่ไม่ระบุชื่อเพราะไม่มีใครอย่างเกี่ยวข้องด้วย มีเพียงพิมที่ยังจดจำเขาเพราะวิญญาณครูเชษมาหา และนั่นทำให้เธอได้ทบทวนตัวเอง แต่สำหรับคนอื่นๆ ก็ไม่มีใครอยากจะนึกถึง แม้แต่อยากจะลบลืมไปจากความทรงจำ
แต่คนอย่างครูเชษ คงไม่ต่างจากที่ เสาวนีย์ ตรีรัตน์ อเลกซานเดอร์ เสนอว่า อัตลักษณ์ของ “คนเสื้อแดง” มาพร้อมกับความเสี่ยงและการตีตราจากสังคม คนจำนวนมากกลัวว่าตนจะถูกรังควานกลั่นแกล้งหากยอมรับอย่างเปิดเผยว่าตนเป็นแดง ทั้งนี้เพราะถูกป้ายสีคุณสมบัติบางประการ เช่น ต่อต้านเจ้า ต่อต้านรัฐบาลทหาร ครูเชษจึงเป็นคนที่ไม่มีใครอยากยุ่ง ไม่มีใครอยากจดจำ ไม่มีใครยังรัก แม้กระทั่งในวาระสุดท้าย งานศพของเขาก็มีเพียงพวงหรีดที่ไม่ระบุชื่อเพราะไม่มีใครอย่างเกี่ยวข้องด้วย มีเพียงพิมที่ยังจดจำเขาเพราะวิญญาณครูเชษมาหา และนั่นทำให้เธอได้ทบทวนตัวเอง แต่สำหรับคนอื่นๆ ก็ไม่มีใครอยากจะนึกถึง แม้แต่อยากจะลบลืมไปจากความทรงจำ
นอกจากพิมแล้วก็มีเพียงชาวบ้านที่อาจเป็นกลุ่มชนชั้นล่างที่มีอุดมการณ์เดียวกันกับครูเชษที่คอยดูแลจัดงานศพให้ นั่นเพราะหลังจากคำพูดของทักษิณในวาระครบรอบสองปีเหตุการณ์ราชประสงค์ในปี 2555 ที่บอกว่า “ถึงเวลาที่เขาต้องไปต่อแล้ว” ร่วมกับการกวาดล้างแกนนำเสื้อแดงระดับท้องถิ่นหลังรัฐประหาร 2557 เคลาดิโอ โซปรานเซ็ตติ เสนอว่านี่ทำให้ขบวนการเสื้อแดงแตกกระจาย เสื้อแดงรู้สึกว่าถูกทิ้ง “ไม่มีใครผ่านเข้ามาช่วยจัดตั้งขบวนการ ไม่มีความช่วยเหลือใดไปถึงพวกเขา”
งานศพของครูเชษจึงไม่เหลือความทรงจำของเสื้อแดง ไม่เหลือเรื่องราวของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ไม่มีใครจดจำถึงการยืดหยัดในอำนาจอธิปไตยของคนเสื้อแดงอีกต่อไป ทุกคนพยายามลบลืม แม้กระทั่งคนเสื้อแดงเองก็ตาม นักประชาธิปไตยจึงไปอยู่ที่รัชกาลที่ 9 หรือรัชกาลที่ 5 หรือคณะราษฎร ไปอยู่ที่ชนชั้นนำประชานิยมหรือกระฎุมพีนักวิชาการ แต่ประชาธิปไตยไม่เคยเป็นของชนชั้นล่าง เพราะสำหรับชนชั้นกลางแล้ว คนจนก็คือพวก “เห็นแก่เงินไม่กี่บาท”
From Now On (จากนี้เป็นต้นไป) จึงทำให้เราได้ขบคิดถึงปัจจุบันของพลังหนุ่มสาว (แม้การเคลื่อนไหวจะหายไปเพราะเชื้อไวรัส) เสื้อแดง และชนชั้นกลาง ที่เราต่างป็นผลผลิตของสังคมอินทรียภาพแบบพุทธ อดีตที่รัฐและหนุ่มสาวรวมถึงเสื้อแดงเองพยายามจะลบลืมและทำให้สูญหาย (ไม่ว่าจะลบเพราะอับอายในฐานะ “สลิ่ม” หรือลบเพราะเป็นตราบาปในฐานะ “เสื้อแดง”) และอนาคตที่มองไม่เห็นของรัฐไทย
อ้างอิง
Somkid Puttasri. 2020. เคลาดิโอ โซปรานเซ็ตติ: เมื่อ ‘ประชาธิปไตยแบบไทยๆ’ ไม่ได้ก่อให้เกิดผู้นำคนใหม่. The101.world
SAOWANEE T. ALEXANDER. 2020. อัตลักษณ์ในอีสานและการกลับมาของ “คนเสื้อแดง” ในการเลือกตั้งปี 2562 และอนาคตข้างหน้า. Kyotoreview.org
ธงชัย วินิจจะกูล: มรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในปัจจุบัน. 2011. Prachatai.com
ธงชัย วินิจจะกูล. 2559. โฉมหน้าราชาชาตินิยม. ฟ้าเดียวกัน
ดูหนังได้ที่ vimeo