พ่อของผมตัวหดเล็กลงทุกครั้งที่ได้พบกัน
พวกเราเจอกันแค่ปีละไม่กี่ครั้ง บางคราวก็เจอกันเพียงครั้งเดียวในรอบสองสามปี
ทุกครั้งที่พบกัน ผมสังเกตเห็นว่าพ่อหดเล็กลงกว่าคราวก่อน
กล่าวกันว่า มนุษย์เรานั้นตายได้สองครั้ง ครั้งแรกคือเมื่อสิ้นลมหายใจ ส่วนอีกครั้งคือเมื่อไม่มีใครจดจำเขาหรือเธอคนนั้นได้อีกแล้ว
ชีวิตของเราจบลงได้สองครั้งจริงหรือ
Dick Johnson is Dead ผลงานสารคดีเรื่องใหม่ของเคียร์สเตน จอห์นสัน (ผู้สร้างชื่อจาก Cameraperson) ท้าทายกับความตายทั้งสองครั้งที่ว่า ด้วยการจับเอาดิค จอห์นสัน คุณพ่อผู้กำลังเข้าสู่ภาวะความจำเสื่อมถอยจากโรคอัลไซเมอร์ มาถ่ายจำลองฉากการตายหลากหลายรูปแบบเก็บไว้ ในทางหนึ่งแล้วการกระทำเช่นนี้กวนตีนอย่างเหลือเชื่อ ในอีกทางหนึ่งมันก็ตั้งคำถามชวนคิดขึ้นมาอีกว่า เมื่อวันที่เขาไม่อาจจดจำอะไรได้มาถึง เราจะเรียกว่านี่คือความตายของดิค จอห์นสันได้หรือไม่
ผมไม่ทันสังเกตว่าพ่อเริ่มหดตัวลงเมื่อไร
ไม่มีสัญญาณชัดเจน บางคราวพ่อดูโมโหร้ายเหลือเชื่อ บางคราวแกก็อ่อนไหวจนร้องไห้ออกมาง่ายๆ เราเข้าใจกันไปเองว่าอาจเป็นเพราะสังขารที่เริ่มไม่สะดวกสบาย คนแข็งแรงอย่างพ่อคงไม่ชอบใจ
พ่อรถล้มขาหักเมื่อปีก่อน ทั้งๆ ที่รถคันนั้นจอดอยู่เฉยๆ
ดิค จอห์นสัน ดูสงบและอารมณ์ดีเหลือเชื่อเมื่อเทียบกับผู้สูงอายุหลงๆ ลืมๆ ทั่วไป เขายินยอมขายบ้าน เซ้งออฟฟิศ สละรถยนต์คันเดียวที่ใช้มานานเพื่อย้ายเข้าไปอยู่กับลูกสาวที่นิวยอร์คในฐานะ ‘น้องชายคนเล็ก’ หนังฉายให้เห็นว่าแม้จะเข้าอกเข้าใจเพียงไร จิตแพทย์เกษียณคนนี้ก็ยังอดไม่ได้ที่จะหลั่งน้ำตาออกมาด้วยความเศร้า “เราต้องขายรถจริงๆ ใช่ไหม พ่อคงไม่ได้ขับรถอีกแล้วใช่ไหม” ตัวตนของเขาหดเล็กลง อิสรภาพบางส่วนหายไปอย่างช่วยไม่ได้ เพื่อแลกกับการประกันว่าจะไม่ก่ออุบัติเหตุทางรถยนต์ด้วยตัวเอง เขายิ่งหดลงเรื่อยๆ ตลอดความยาวของภาพยนตร์
ไม่ใช่ครั้งแรกที่เคียร์สเตนได้ประจักษ์การต่อการหดเล็กลงของบุคคลอันเป็นที่รัก ไม่กี่ปีก่อนหน้านี้ แม่ของเธอ แคทเธอรีน จอย จอห์นสัน จากไปด้วยโรคเดียวกันกับที่พ่อกำลังประสบ สิ่งที่ทำให้เธอเสียใจที่สุดคือเธอบันทึกภาพช่วงปลายชีวิตของแม่เอาไว้น้อยมาก หนังเรื่องนี้จึงเป็นความพยายามกอบกู้ความรู้สึกเศร้าหมองนี้เอาไว้ ทั้งในฐานะนักทำสารคดีและในฐานะลูกผู้ประสงค์จะบันทึกช่วงเวลาสำคัญของผู้เป็นที่รักเอาไว้
“สิ่งที่ผมไม่ชอบที่สุดในอาการหลงลืมนี้คือ ผมทำให้บรรดาคนรอบตัวเสียใจ” เพื่อนของดิคหลายคนปรากฏตัวในฉากงานศพที่ถูกจำลองขึ้นมาเป็นฉากหนึ่งในหนัง พวกเขาหัวเราะเฮฮาไปกับความเพี้ยนพิลึกช่วงก่อนเข้าพิธีและร้องไห้ออกมาราวกับว่าความตายของมิตรสหายมาถึงแล้วจริงๆ ระหว่างพิธีหลอกดำเนินไป สถานการณ์ประหลาดนี้ชวนให้นึกถึงข้อความส่วนหนึ่งจากหนังสือ ตาย-เป็น (Being Mortal: Medicine and What matters in the end พิมพ์ในฉบับภาษาไทยโดยสำนักพิมพ์ Openbooks) ของนายแพทย์อาทูล กาวานดี ข้อความนั้นกล่าวว่า “คนที่มีอายุมากบอกผมว่าพวกเขาไม่ได้กลัวความตาย แต่พวกเขากลัวสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนที่จะตาย ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียการได้ยิน ความจำเสื่อม การเสียเพื่อนที่ดีที่สุด รวมทั้งสูญเสียวิถีดำเนินชีวิตของพวกเขา” การซ้อมตายสารพัดวิธีของผู้เฒ่าดิ๊กยิ่งขับสารนี้ออกมาอย่างชัดเจน
สิ่งสำคัญที่ช่วยไม่ให้การสบตากับความตายครั้งนี้ไม่หดหู่จนเกินไปนักคือการที่ผู้กำกับเลือกที่จะขยิบตาให้มันเสียหน่อยด้วยอารมณ์ขันร้ายกาจ เหล่าผู้คนที่ปรากฏตัวในหนังเรื่องนี้มีปริมาณความตลกเจือปนอยู่สูงอย่างไม่น่าเชื่อ ส่วนหนึ่งที่ทำให้เธอเลือกพิจารณาความตายด้วยวิธีน่าจะมาจากการที่เธอได้รับอิทธิพลความเชื่อทางศาสนามาจากพ่อผู้ศรัทธาในนิกาย Seven Days Adventist ความเชื่อที่ว่าความตายไม่ใช่ปลายทางของชีวิต เป็นเพียงจุดพักผ่อนสำหรับรอขึ้นสวรรค์ในวันพิพากษา
ฉากที่ผู้เขียนประทับใจที่สุดคือฉากจำลอง “สวรรค์ของพ่อ” ความตายในจินตนาการมอบนิ้วเท้าที่สมบูรณ์ให้ดิคผู้มีนิ้วเท้าผิดรูปแต่กำเนิด ปลดเปลื้องความทุกข์ใจตลอดชีวิตของเขา เขาอนุญาตให้ตัวเองได้เดินเท้าเปล่าอย่างสบายใจ และร้องรำทำเพลงกับเหล่าผู้ล่วงลับที่เขาปรารถนาจะได้พบมานาน อาทิ บัสเตอร์ คีตัน, ฟาราห์ ฟอว์เซต, ฟรีดา คาห์โล, ซิกมุนด์ ฟรอยด์ และที่สำคัญ เขายังได้เต้นรำสุดเหวี่ยงกับภรรยา (นิกายแอดเวนทิสต์ถือว่าการเต้นรำจะทำให้พวกเขาไม่ได้ไปสวรรค์) ภาพความงามตื่นตาตื่นใจในฉากนี้เป็นการสังสรรค์ที่น่าสนใจระหว่างลีลาทางภาพของผู้กำกับและมุมมองต่อศาสนาและความตายที่เธอมี
พ่อของผมหดลงอีกแล้ว
แกผอมลงไปมาก ลืมวิธีดำเนินชีวิตปกติไปหลายอย่าง
คงลืมวิธีสื่อสารไปแล้วด้วย ทุกคนยอมรับกันอย่างเงียบๆ วันนั้นน่าจะมาถึงในไม่ช้า
ไม่มีใครพูดออกมาตรงๆ
“พ่อมีความสุขแล้วที่เราได้มาอยู่ด้วยกันอย่างนี้” ดิคพูดกับเคียร์สเตน เขาอยู่กับปัจจุบันได้เก่งกาจทีเดียว “อยู่แบบนี้ไปเรื่อยๆ ก็ไม่เลว พ่อโอเคนะกับการุณยฆาต ลูกตัดสินใจได้เต็มที่เลย แต่รับปากหน่อยได้ไหม ว่าถ้าวันนั้นมาถึง เราจะมาคุยกันก่อน”
“วันนั้นที่ว่ามันวันไหนล่ะพ่อ หนูจะไปรู้ได้ยังไง” เธอตอบ พ่อของเธอเงียบไป แม้แต่คนที่ดูเข้าอกเข้าใจที่สุดก็ยังตอบไม่ได้ว่าจุดที่เหมาะสมในการตายอยู่ตรงไหน
ในหนังสือ Being Mortal ยังมีอีกข้อความหนึ่งที่เข้ากับเรื่องราวในสารคดีเรื่องนี้อย่างดี
“ไม่ว่าเราต้องเผชิญกับอะไร เราต้องการรักษาความเป็นอิสระหรือเสรีภาพที่จะเป็นผู้ประพันธ์
ชีวิตของเราเอง นี่คือแก่นแท้ของความเป็นมนุษย์” สารคดี Dick Johnson is Dead บรรลุถึงแก่นแท้ที่ว่าเอาไว้ได้อย่างงดงาม
เคียร์สเตนบันทึกเสียงบรรยายสารคดีทั้งเรื่องนี้ด้วยโทรศัพท์ “วันนั้น (วันที่ถ่ายทำฉากงานศพ) เรามีความสุขกันมาก เราคิดว่าบางทีเราอาจจะหยุดสิ่งที่กำลังจะมาถึงได้ ว่าเราค้นพบวิธีที่จะรักษาสิ่งที่เป็นอยู่เอาไว้ หรือเกือบๆ จะพบวิธีทำอย่างนั้น”
“เราจะพูดอะไรได้เมื่อเราต้องสูญเสียเพื่อนคนสำคัญในชีวิตไป
เท่าที่ฉันรู้คือดิค จอห์นสันตายแล้ว…” เธอพูดซ้ำๆ ในตู้เสื่อผ้าที่ทำการอัดเสียง
“และสิ่งที่ฉันอยากพูดก็คือ ขอให้ดิค จอห์นสันจงมีอายุยืนยาว”
ตายนับครั้งไม่ถ้วนของพ่อเฒ่าดิค จอห์นสัน มอบชีวิตที่ยืนยาวให้เขาในรูปแบบภาพยนตร์
พ่อของผมหดเล็กลงเรื่อยๆ
ผมสงสัยเหลือเกินว่าครั้งหน้าจะหดลงไปเหลือแค่ไหน
ผมจะยังมองเห็นพ่อด้วยตาได้หรือเปล่า
Dick Johnson is Dead มีให้รับชมแล้วบน Netflix