“แถวนี้แม่งเถื่อน บอกตรงๆ ถ้าไม่แน่จริงนะอยู่ไม่ได้” คำพูดนี้ของเชียร รถถัง โด่งดังเป็นอย่างยิ่งตั้งแต่สมัยหนังยังฉาย ทุกวันนี้นอกจากถูกตัดมาเป็นคลิปฉายซ้ำๆ กันแล้ว ยังเป็นมีมที่คนรุ่นใหม่รู้จักกันดี
ไม่ใช่เพียงวลีนี้ ผลงานเขียนบทภาพยนตร์ของวิศิษฐ์ ศาสนเที่ยง ยังได้ฝากลวดลายไว้ผ่านปากของตัวละครดังๆ ทั้งหลายอีกไม่น้อย ทีมงานผู้สร้างหนังเหล่านี้ มีพื้นฐานมาจากวงการโฆษณา เรารู้กันดีว่า วงการโฆษณาไทยนั้นเติบโตมหาศาลมาตั้งแต่ทศวรรษ 2520 และมาพีคสุดขีดในทศวรรษ 2530 ไม่แปลกอะไรที่ฉากไม่น้อยที่แทรกเข้ามา จะเป็นการเล่นกับภาพที่สวยราวกับถ่ายสารคดี เช่น ปลากัด งานบวช ฯลฯ องค์ประกอบเหล่านี้จะถูกปล่อยของออกมาเต็มๆ ในอีก 2 ปีข้างหน้าในหนังเรื่อง นางนาก ผู้กำกับคนเดียวกันที่ชื่อว่า นนทรีย์ นิมิบุตร
จากเดิมที่หนังที่หวังทำเงินจะต้องใช้ดาราหรือคนดังเป็นแม่เหล็กดึงดูด อย่างเช่น โลกทั้งใบให้นายคนเดียว (ปี 2538 – 55 ล้านบาท), สติแตกสุดขั้วโลก (ปี 2538-48 ล้านบาท), คู่กรรม (ปี 2538-44.5 ล้านบาท) กลายเป็นว่า ดาราใน 2499ฯ แทบจะเป็นดาราหน้าใหม่ทั้งหมด ตัวละครแต่ละตัวมีคาแรกเตอร์โดดเด่นเป็นที่น่าจดจำไม่ว่าจะเป็นแดง ไบเล่ (เจษฎาภรณ์ ผลดี), ปุ๊ ระเบิดขวด (ศุภกรณ์ กิจสุวรรณ), ดำ เอสโซ่ (ชาติชาย งามสรรพ์), เชียร รถถัง (อภิชาติ ชูสกุล) โดยเฉพาะปุ๊ จะกลายเป็นตัวละครสำคัญต่อไปในฟ้าทะลายโจร และมนต์รักทรานซิสเตอร์
หนังเริ่มฉายในเดือนเมษายน 2540 ก่อนหน้าที่รัฐบาลจะประกาศลอยค่าเงินบาทในเดือนกรกฎาคม หนังเรื่องนี้จึงถือว่าเป็นผลผลิตท้ายๆ ของยุคฟองสบู่ที่ยังไม่แตกโพละออกมาในอีก 3 เดือนต่อมา
บรรยากาศของหนังนั้นอยู่ในช่วงที่ประเทศไทยกำลังโกอินเตอร์ในฐานะเสือทะยานฟ้า ข่าวสารที่หมุนเวียนอยู่ในหน้าหนังสือพิมพ์นั้น เราพูดถึงไทเกอร์ วูดส์ เรายกย่องแทมมี่ที่เป็นนักเทนนิสที่ไปไกลถึงระดับโลก ไทยคม 3 ที่ทักษิณ ชินวัตรมีเอี่ยวก็กำลังจะถูกยิงขึ้นวงโคจร
ขณะที่เครือข่ายทางการเมืองก็กำลังผลักดันร่างรัฐธรรมนูญที่ต่อมาเราเชื่อกันว่าเป็น “ประชาธิปไตย” และประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด (มีข่าวด่าสสร.ที่ไปจัดประชุมในโรงแรมหรูด้วย!)
แต่ในทางกลับกัน wording ในหนังก็อาจสะท้อนความรู้สึกของยุคสมัยตอนนึงก็คือ “ในยุคสมัยที่นักการเมืองเอาแต่โกงกิน จนเศรษฐกิจตกต่ำอย่างนี้ คิดจะหางานทำ ยังยากกว่าหาปืนสักกระบอกซะอีก” เป็นที่บังเอิญว่าขณะนั้นมีข่าวลูกชายนักการเมืองชื่อดังยิงคนในผับ ก่อนหน้านั้นก็มีบางคนที่ประกาศกร้าวว่า กูเป็นลูกใครแล้วยิ่งใส่รถคู่อริ บางคนก็ร่วมกับพวกทำร้ายร่างกายในผับจนเหยื่อเสียชีวิต
เมื่อเปรียบกับบริบทของหนังแล้ว มันคือช่วงปี 2500 ก่อนสฤษดิ์จะทำการรัฐประหาร และจุดเปลี่ยนสำคัญก็คือ การกล่าวถึงศึกสิบสามห้างที่เกิดขึ้นในปี 2500 ที่เป็นหมุดหมายสำคัญของการปะทะและแตกหักกันระหว่างแก๊งไบเล่และแก๊งระเบิดขวด เมื่อเหตุการณ์จบลง ไม่นาน สฤษดิ์ก็ทำการรัฐประหารในเดือนตุลาคม 2501 สิ่งที่ตามมาก็คือ การกวาดล้างแก๊งค์อันธพาล และนักเรียนนักเลงทั้งหลาย ผลักดันให้พวกเขาออกนอกกรุงไปยังพื้นที่นอกกฎหมายแห่งใหม่นั่นคือ แถบอู่ตะเภาเพื่ออยู่รอดและหากินภายใต้ความเฟื่องฟูของย่านบันเทิงที่รองรับทหารจีไอที่มาทำสงครามเวียดนาม
2499ฯ เล่าเรื่องผ่านปากของเปี๊ยก วิสุทธิ์กษัตริย์ (อรรถพร ธีมากร) ในฐานะคนใกล้ตัวและเพื่อนสนิทคนหนึ่งของแดง ไบเลย์ พระเอกของเรื่อง เปี๊ยก คือ พยานสำคัญที่หลงเหลือมาเล่าชีวิตของแดงในฐานะที่อยู่ข้างๆ เขา ไม่ว่าจะสมัยวัยเรียน หรือสมัยที่ยิ่งใหญ่ในวงการนักเลง
แดง ไบเลย์ แม้ว่าจะเป็นนักเลง แต่ก็พูดจาสุภาพเรียบร้อย ผู้เขียนบทใช้สรรพนาม เรา-นาย ในบทสนทนา กระนั่นประวัติอาชญากรรมก็ได้บันทึกไว้ว่า แดงฆ่าศพแรกเมื่อเขาอายุได้เพียง 13 ขวบ เนื่องจากมีผู้ชายมารุ่มร่ามกับแม่ของเขา อาชีพของแม่ที่เป็น “ผู้หญิงหากิน” ดูจะเป็นปมในใจ จะเห็นว่า แดงโกรธเลือดขึ้นหน้า เมื่อเห็นว่า มีผู้หญิงถูกขังไว้เยี่ยงสัตว์ที่บ้านหมู่เชียร เพราะไม่ยอมไปทำงานขายตัว จนถึงกับซ้อมลูกน้องหมู่เชียรที่เป็นทอมจนสลบ แดงว่าไว้ “แม่งผู้หญิงด้วยกัน ทำกันได้ลงคอ”
เจมส์ ดีน (2474-2498) เป็นวัยรุ่นที่โด่งดัง แต่อายุสั้น เขาตายตั้งแต่วัยหนุ่มเพราะอุบัติเหตุทางรถยนต์ เป็นหนึ่งไอคอนที่วัยรุ่นสมัยนั้นคลั่งไคล้ ส่วนอีกคนก็คือ เอลวิส เพรสลีย์ที่นอกจากจะมีเพลงที่ยอดนิยมแล้ว ท่าเต้นทวิสต์อันลือลั่นของเขากลายเป็นท่าต้องห้ามในไทยอยู่ช่วงหนึ่ง ลักษณะขบถของวัยรุ่นไทยในยุคนั้น มิใช่เป็นการขบถต่อระบบการเมืองแบบฝ่ายซ้าย แต่เป็นขบถแบบขวาที่มีพลังชายเป็นใหญ่ ตัดสินกันด้วยกำลัง ว่ากันว่า ยุคนั้นเป็นยุคที่มีอันธพาลมากกว่าพระ
ศพที่สองของแดง เกิดขึ้นในคืนส่งท้ายปีเก่า ในปีเดียวกับชื่อหนังนั่นเอง แดงบุกสังหารเฮียหมา ขาใหญ่แถบนั้น หลังจากที่เขาถูกเรียกไปสั่งสอน เหยียดหยามและคุกคามอย่างไร้ทางสู้ อย่างไรก็ตามศัตรูตลอดกาลที่น่าหวาดหวั่นของแดง กลับเป็นอดีตเพื่อนของเขาอย่างปุ๊ ระเบิดขวด และดำ เอสโซ่ อันธพาลที่ถูกเขียนบทให้ร้ายสุดขั้ว นั่นคือ หยาบคาย กักขฬะ ไม่ให้เกียรติผู้หญิง บุ่มบ่าม นิยมความรุนแรงโดยไร้เหตุผล โดยมีจุดแตกหักอยู่ในสมรภูมิที่เรียกว่า “ศึกสิบสามห้าง” บางลำภู
จุดเปลี่ยนสำคัญของเรื่องคือ การรัฐประหารและนโยบายปราบอันธพาลของสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำให้แดงต้องระเห็จไปพึ่งหมู่เชียรที่อู่ตะเภา พระนครไม่ใช่แหล่งหากินที่ปลอดภัยของพวกเขาอีกต่อไปแล้ว ย่านนี้เติบโตขึ้นมาในฐานะรองรับความบันเทิงของทหารอเมริกันที่มาตั้งฐานทัพอยู่แถบนั้น ในช่วงสงครามเวียดนาม
และที่นั่น ปุ๊ กับ ดำก็ตามไปก่อเรื่องอีก อย่างไรก็ตามธุรกิจของหมู่เชียร รถถังที่ขยายตัวมากขึ้นกลับไปขัดแย้งกับผู้ใหญ่เต๊ก ผู้มีอิทธิพลประจำถิ่น ทำให้เขาถูกลอบสังหาร แล้วดูเหมือนว่า ปุ๊ กับ ดำจะมีส่วนกลายๆ แดงเคยเตื่อนหมู่เชียรว่า “ระวัง มันจะแว้งมากัดพี่” ความรุนแรงดังกล่าวไม่สิ้นสุด แดงและพรรคพวกได้ทำการฆ่าล้างแค้นให้
ตอนท้ายของเรื่องที่กลับมาบรรจบกับตอนเปิดเรื่องคือ ฉากที่แดงกำลังจะเข้าพิธีบวชนาคก่อนจะอุปสมบทเป็นพระ สุดท้ายแดงไม่ได้บวช เพราะถูกปุ๊และพรรคพวกเข้ามาก่อกวน ฉากยิงกันสนั่นวัด ให้อารมณ์หนังแก๊งสเตอร์ฮ่องกงแบบจอห์นวู
สุดท้าย แดงก็ถึงจุดจบ แต่ไม่ใช่เพราะถูกยิงหรือแก้แค้นใดๆ แต่เป็นเพราะสาเหตุคล้ายกับดีน คือ อุบัติเหตุทางรถยนต์ “เค้าตายแบบเดียวกับเจมส์ ดีน วีรบุรุษที่เค้าบูชา”
ปัญหาที่อาจไม่ใช่ปัญหาของ 2499ฯ ก็คือ ภาพยนตร์ย้อนยุคที่ผู้สร้างได้สร้างอดีตขึ้นชุดหนึ่งบนฉากและองค์ประกอบศิลป์ที่สมจริง ด้วยความสามารถของพวกเขาที่จัดเจนมากับงานโฆษณามาก่อน การเนรมิตกรุงเทพฯ อู่ตะเภา และฉากหลังของบ้านเมืองที่เหมือนราวกับวิดีโอสารคดีก็ทำให้หลายคนแยกไม่ออกว่านี่คือ ภาพยนตร์ที่มีสถานะเป็นเรื่องเล่าชนิดหนึ่งที่มีความบันเทิงเป็นตัวขับเคลื่อน
ดังนั้น จึงมิใช่เรื่องน่าประหลาดใจ กรณีที่คนที่อ้างตนว่า เป็นบุคคลในประวัติศาสตร์จะกล่าวโจมตีตัวหนัง ผู้สร้าง และสุริยัน ศักไธสง เจ้าของบทประพันธ์ “เส้นทางมาเฟีย” อันเป็นที่มาของหนังเรื่องนี้ (เดิมเคยเขียนลงเป็นตอนๆ ในมติชนสุดสัปดาห์ และตีพิมพ์มาก่อนหนังจะฉายเกือบสิบปี) ตัวละครต่างๆ ออกมาฉะอย่างไม่ไว้หน้า กระทั่งพิศาล อัครเศรณี ผู้กำกับนักแสดงฉายาตบจูบที่อ้างว่าเป็นเพื่อนซี้ของแดง ไบเล่ก็ออกมาร่วมวิจารณ์ โดยชี้ว่า บิดเบือน คนสมัยก่อนไม่ได้พกปืนไว้ยิงกัน เปี๊ยก วิสุทธิ์กษัตริย์ ผู้เป็นตัวละครสำคัญก็ไม่มีตัวตน ไม่มีใครรู้จัก ฯลฯ โดยเฉพาะปุ๊ กรุงเกษม (ที่ในหนังมีฉายาว่า ปุ๊ ระเบิดขวดและตายในท้ายเรื่อง) ย้ำว่า “เราต้องการเพียงแต่ความเป็นจริงกับเรื่องราวจริงๆ ที่เกิดขึ้นเท่านั้น ไม่ใช่เอาเรื่องโกหกมาสร้างขายคนดู ไม่ใช่เอาเรื่องโกหกมาสร้างเป็นประวัติศาสตร์” (ข่าวสด, 30 เมษายน 2540)
แต่ความเข้าใจผิดนี้ยิ่งกลับเป็นแรงหนุนให้ 2499ฯ มียอดจำหน่ายตั๋วสูงจนกลายเป็นหนังที่มีรายได้สูงสุดตลอดกาลที่ 75 ล้านบาท ต้องรออีก 2 ปีที่นางนากจะกลับมาแซงด้วยรายได้สูงเป็น 2 เท่า อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของ 2499ฯ นอกจากรายได้แล้ว ก็คือ ชื่อเสียงของหนังที่คว้ารางวัลทั้งในและต่างประเทศ การได้รางวัล Grand Prix ในเทศกาลหนัง International Festival of Independent Film ครั้งที่ 19 ที่เบลเยี่ยม ช่วยตอกย้ำสถานะของหนังเรื่องนี้ว่ามีการันตีระดับโลก รวมถึงการขอซื้อลิขสิทธิ์ไปฉายต่อที่อังกฤษ ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ ถือเป็นข่าวดีหลังจากที่ไทยเจอพิษเศรษฐกิจไปแล้ว