10 ธันวาคม 2020 กลุ่มผู้พิการในไทยรวมตัวกันชุมนุมที่กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อเรียกร้องให้รัฐรับรองข้อเรียกร้อง 6 ข้อ ว่าด้วยเรื่องการรับรองสิทธิในการเข้าถึงการศึกษา การเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ สวัสดิการอุปกรณ์ช่วยเหลือ การรับรองสถานประกอบอาชีพ และการอุดหนุนค่าเช่าสถานที่ประกอบอาชีพ ภายใต้กฎหมายภายใต้รัฐธรรมนูญในหมวดคนพิการ
ผมสับสนทุกครั้งที่ตัดสินใจเข้าช่วยเหลือผู้พิการในระบบรถไฟฟ้าว่าตัวเองกำลังรู้สึกอะไรกันแน่ เราทำไปเพราะเห็นใจเขาที่เดินเหินไม่สะดวกอย่างคนทั่วไปหรือเห็นใจที่โครงสร้างพื้นฐานนี้ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อทุกคน หรือจริงๆ สิ่งที่เขาต้องการไม่ใช่ความเห็นใจ ถ้าเป็นเรา เราจะชอบน้ำใจแบบนี้จริงๆ หรือเปล่า
เป็นน้ำจิตน้ำใจประเภทที่ชวนเวียนหัวแบบนี้เองที่เรียกว่า “อภิสิทธิ์”
ในช่วงรอยต่อทศวรรษ 70’s และ 80’s เคยมีกลุ่มคนพิการราวแปดสิบคนล้อมกรอบกันเป็นวงกลมเพื่อปิดถนนเส้นหนึ่งจนทำเอาการจราจรทั่วนิวยอร์คเป็นอัมพาต และแกนนำกลุ่มเดียวกันนี้เองเคยรวบรวมกลุ่มผู้พิการประท้วงรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข การศึกษาและสวัสดิการต่อเนื่อง 24 วันเพื่อกดดันให้มีการลงนามในข้อตกลงเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตผู้พิการทั่วสหรัฐอเมริกา
บางอย่างบอกพวกเขาว่าสิทธิขั้นพื้นฐานไม่ควรถูกจำกัดให้พอมีชีวิตรอด และคำอธิบายอย่าง “คนเราเกิดมาไม่เท่ากัน” ไม่ใช่สิ่งที่ยอมรับได้ เพลิงแห่งการปฏิวัติของพวกเขาก่อขึ้นจากกองไฟเล็กๆ
กองไฟในค่ายฤดูร้อนที่ชื่อว่า แคมป์เจเน็ด
“คนพิการ” คือ บุคคลซึ่งมีข้อจำกัดในการปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันหรือเข้าไปมีส่วนร่วมทางสังคม เนื่องจากมีความบกพร่องทางการเห็น การได้ยิน การเคลื่อนไหว การสื่อสาร จิตใจ อารมณ์ พฤติกรรม สติปัญญาและการเรียนรู้หรือความบกพร่องอื่นใด (พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550)
จิม เลอแบรคต์ พิการโดยกำเนิดเนื่องจากสภาพผิดปกติในกระดูกสันหลัง โลกของเขาเต็มไปด้วยกำแพงสูงที่ไม่อาจข้ามได้ด้วยวีลแชร์ พ่อของเขาสอนว่า ถ้าลูกไม่เข้าหาคนอื่นเสียบ้าง ก็ยากเหลือเกินที่ใครๆ เขาจะเดินเข้ามาหา พ่ออาจจะพูดถูก แต่ก็ถูกได้อย่างมากแค่ครึ่งหนึ่ง จิมไม่เคยรู้สึกเข้ากับใครได้ดีเลย เขาไม่เคยเจอคนที่เป็นแบบเขา
จนกระทั่งฤดูร้อนปี 1971 จิมลงชื่อเข้าร่วมค่ายฤดูร้อนที่จัดโดยกลุ่มนักศึกษาฮิปปี้ในสมัยนั้น แคมป์เจเน็ด ค่ายฤดูร้อนสำหรับ “ผู้พิการ”
ไม่มีอะไรเป็นพิเศษที่แคมป์เจเน็ด ทั้งพี่เลี้ยง ทั้งชาวค่ายประกอบกิจกรรมสุดธรรมดากันตลอดระยะเวลากิจกรรม พวกเขาเล่นเบสบอล ว่ายน้ำ ทำอาหาร ทำความสะอาด เล่นดนตรี ทำกิจกรรมรอบกองไฟ พบรักครั้งแรกกันที่นี่ ความธรรมดาสามัญถูกส่งถึงมือของชาวค่ายทุกคน พลังของแคมป์เจเน็ดคือการทำให้ทุกคนเข้าใจดีว่าพวกเขาไม่ต้องการจะพิเศษกว่าใคร
13 พฤษภาคม 2018 มานิตย์ อินทร์พิมพ์ ประธานภาคีเครือข่ายมหานครเพื่อทุกคน ทุบลิฟต์สถานีรถไฟฟ้า BTS เพื่อเรียกร้องสิทธิในการเข้าถึงบริการขนส่งสาธารณะแก่กลุ่มผู้พิการ หลังจากเรียกร้องผ่านศาลปกครองสูงสุดมาแล้ว 26 ปี
เมื่อไม่มีใครพิเศษกว่ากัน พวกเขาจึงคุยกันได้อย่างเปิดอกในฐานะวัยรุ่น จูดี้ ฮิวแมนน์ หนึ่งในชาวค่ายขณะนั้นยืนยันว่าสิ่งสำคัญที่สุดของพวกเขาคือการได้มีส่วนร่วมตัดสินใจแทบทุกเรื่อง “มันทำให้ทุกคนรู้สึกว่าตัวเองมีส่วนร่วมกับสังคม ความเป็นอิสระและเปิดกว้างแบบนี้แหละที่เราไม่ค่อยได้เจอในชีวิตข้างนอก”
หลายปีต่อมา หลังจากค่ายฤดูร้อนครั้งนั้นจบลง จูดี้กลายเป็นหนึ่งในนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของผู้พิการที่มีชื่อเสียงที่สุด ทั้งในฐานะรองผู้อำนวยการศูนย์พักพิงและช่วยเหลือคนพิการในแคลิฟอร์เนีย และหัวขบวนกลุ่มเคลื่อนไหว Disable in Action (DIA) เจ้าของวีรกรรมปิดถนน และเหตุการณ์ชุมนุมในกระทรวงเพื่อกดดันให้รัฐบาลยอมรับบัญญัติกฎหมาย 504 อันว่าด้วยการรับรองสิทธิขั้นพื้นฐานให้แก่ผู้พิการทั่วประเทศ
สะเก็ดไฟจากค่ายฤดูร้อนลุกเป็นเพลิงกองโตในที่สุด
สิ่งที่น่าเหลือเชื่อไม่แพ้แรงใจที่ส่งให้คนพิการลงทุนปักหลักกินนอนบนพื้นแข็งๆ ของสำนักงานราชการ คือความใจจืดของผู้มีอำนาจมือเท้าดีที่ปล่อยให้พวกเขาทำแบบนั้นอยู่ได้ถึงสามสัปดาห์เต็ม โดยที่ผู้ชุมนุมบางคนพลิกตัวเพื่อเปลี่ยนท่านอนไม่ได้ด้วยซ้ำ
ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 คนพิการจะได้เบี้ยคนพิการเพิ่มขึ้นจากเดิม 800 บาท เป็น 1,000 บาทต่อเดือนต่อคน เฉพาะคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 1,103,065 ราย และเด็กพิการทั่วประเทศที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี อีกจำนวน 126,032 ราย รวมจำนวน 1,229,097 ราย (ข้อมูล ณ เดือนสิงหาคม 2563) ซึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2563 เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่ค่าครองชีพต่างๆ เพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งยังเป็นการแบ่งเบาภาระของคนพิการ และช่วยยกระดับชีวิตให้ดีขึ้น (ประกาศจากกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ)
“ฉันเหนื่อยมากเลยที่ต้องมารู้สึกขอบคุณที่มีห้องน้ำคนพิการ สิ่งที่ฉันรู้สึกคือ ถ้าฉันต้องรู้สึกขอบคุณเรื่องนี้แล้วเมื่อไรกันที่ฉันจะเท่าเทียมกับคนในสังคมนี้เสียที” จู้ดี้พูดกับเพื่อนผู้ชุมนุมหลังจากที่พวกเขาได้รับชัยชนะในการต่อสู้ 504
สิ่งที่ Crip Camp ทำได้ยอดเยี่ยมมากในฐานะหนังสารคดี ไม่ใช่การจับเรื่องราวของผู้พิการมาเล่าเพื่อเรียกร้องความเห็นอกเห็นใจ แต่เป็นการที่มันพาเราไปยังจุดสำคัญที่สุดของหลักประชาธิปไตยที่ว่า “มนุษย์ทุกคนล้วนเท่าเทียม” และสะกิดให้เรารับรู้ถึงอภิสิทธิ์บางอย่างที่เราไม่ตระหนักถึงในฐานะมนุษย์ที่เดินเหินได้ตามปกติ ภาพของเหล่าผู้คนที่สิ่งวีลแชร์ไปเบื้องล่าง เพื่อพาตัวเองปีนขึ้นบันไดทำเนียบขาว พิสูจน์ว่านี่ไม่ใช่แค่เรื่องของคนพิการ ปัญหาความไม่เท่าเทียมเป็นเรื่องของพวกเราทุกคนโดยแท้จริง
สิ่งที่ Crip Camp ทำได้ยอดเยี่ยมมากในฐานะหนังสารคดี ไม่ใช่การจับเรื่องราวของผู้พิการมาเล่าเพื่อเรียกร้องความเห็นอกเห็นใจ แต่เป็นการที่มันพาเราไปยังจุดสำคัญที่สุดของหลักประชาธิปไตยที่ว่า “มนุษย์ทุกคนล้วนเท่าเทียม” และสะกิดให้เรารับรู้ถึงอภิสิทธิ์บางอย่างที่เราไม่ตระหนักถึงในฐานะมนุษย์ที่เดินเหินได้ตามปกติ
สิ่งที่ทำให้ผมเวียนหัวอาจไม่ใช่ความเห็นอกเห็นใจที่น่ากระอักกระอ่วนบนรถไฟฟ้า แต่เป็นความไม่ได้เรื่องของระบบที่ผลักภาระให้เรา “สงสาร” กันมากเกินไป
“เราตระหนักได้ว่าปัญหาจริงๆ มันไม่ได้มาจากคนพิการ แต่มันมาจากคนที่ไม่พิการต่างหาก นี่คือปัญหาของเรา และเราต้องเป็นคนลงมือเปลี่ยนแปลงมัน” เทปบันทึกเสียงสำเนียงเมาของแลรี่ อัลลิสัน ฮิปปี้ผู้อำนวยการแคมป์เจเน็ดยังคงเล่นซ้ำในหัวผมอีกหลายครั้ง
Crip Camp: A Disability Revolution มีให้รับชมได้แล้วบน Netflix