Home Review Film Review Antebellum อิสรภาพที่มิได้กล่าวไว้ในรัฐธรรมนูญ

Antebellum อิสรภาพที่มิได้กล่าวไว้ในรัฐธรรมนูญ

Antebellum อิสรภาพที่มิได้กล่าวไว้ในรัฐธรรมนูญ

หนังบางเรื่องถูกสร้างให้ดูซ้ำ (นับวันยิ่งเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ) แต่ก็มีบางเรื่องที่สร้างขึ้นเพื่อให้ดูหนเดียวพอ เพราะหลังจากนั้นมันจะวนเวียนตามหลอนหลอก เพื่อไม่ให้ลืม และแม้แต่ในเรื่องเรื่องเดียวกันนี้เองก็เถอะ ที่มีการสวิงตัวของความรู้สึก ให้เหวี่ยงไปมาได้หลายรูปแบบ (ซึ่งรวมการเข้าถึงตัวหนัง) ที่เปลี่ยนจากเฉยเป็นชอบๆ เป็นยี้ๆ แล้วสุดท้ายก็ต้องกลับมาทบทวนกับมันอย่างระมัดระวังและรอบคอบอีกครั้งหนึ่งว่าเราหลงลืมหรือมองข้ามอะไรไปบ้างรึเปล่าซึ่ง Antebellum (2020, Gerard Bush and Christopher Renz) ก็คือหนึ่งในนั้น

การจะเขียนรีวิวและทำความเข้าใจหนังอย่าง Antebellum บางทีก็มิใช่ว่าเขียนด้วยความรู้สึกหลังดูจบ (ซึ่งแน่นอนว่าตัว ‘ภาพรวม’ ของหนังเองซึ่งรวมคำเฉลยของทุกสิ่งที่เห็น ก็เป็นอีกหนึ่งที่มีส่วนชี้นำฉันทาคติชอบ-ชัง-ดี-เลว) ทว่าต้องย้อนกลับไปนั่งในใจตัวเองขณะดู ถึงได้พบว่าแต่ละภาค-แต่ละส่วนแทบไม่มีอะไรใหม่ นอกจากเป็นผลของการผลิตซ้ำ แล้วค่อยนำมาแตกในส่วนของรายละเอียดกันอีกที ซึ่งสุดท้ายภาพที่เห็น แทบไม่ต่างกับที่พวกเราเคยดู-เคยเห็นกันจนติดตา

เชื่อว่าพอเห็นซีนทรมานทาสในยุคสงครามกลางเมือง หลายคนคงนึกไปถึงพวก Django Unchained, 12 Years a Slave เท่าๆ กับที่สิ่งที่มาก่อน 12 Years ก็เคยมี Beloved (1998, Jonathan Demme) ขณะดู Beloved ก็นึกไปถึง The Color Purple (1987, Steven Spielberg) เท่าๆ กับที่ตัว The Color Purple เองก็พาคนดูเรโทรกลับไปหาทีวีซีรีส์, Roots เช่นเดียวกับที่ก่อนของก่อนหน้านี้ สายพันธ์ุหนังที่พูดถึงเรื่องการลุกฮือของทาสในเขตรัฐทางใต้ จนกระทั่งไปสุดเอาที่หนังเรื่องแรกๆ ที่ออกในยุคแนว blaxploitation กำลังบูมซึ่งเข้าไปแตะประเด็นเรื่องของทาสแรงงานเป็นหนังสองภาคต่อกันอย่าง Mandingo (1975, Tom Gries) + Drum (1976, Steve Carver) ซึ่งเป็นการพูดถึงทาสในแง่มุมที่ตรงกันข้ามกับ Gone with the Wind จนมาฉายเมืองไทยถึงมีชื่อว่า ‘วิมานเลือด’

การดิ้นรนและการดิ้นรนต่อสู้ของทาสได้ผ่านการผลิตซ้ำจนตัวของมันเกิดภาพมายาคติ เหมือนกับที่คนขาวมีคาวบอยบุกเบิกภาคตะวันตก ตัวเนื้อหาเองก็แทบจะเป็นร้อยเนื้อทำนองเดียว จนกระทั่งคนดูเกิดภาพจำและการคาดหวังว่าจะต้องเห็นสิ่งนี้ๆๆ กลายเป็น convention ทางการเล่าเรื่อง เหมือนกับคนดูกำลังถูกกล่อมและมอมเมาด้วย myth เมื่อถึงจุดอิ่มตัว คนทำถึงได้หาแนวทางใหม่ๆ มาใช้ในการนำเสนอ 

เมื่อเรื่องส่อแววว่าเริ่มจะเชย, cliche แล้ว ทันใดนั้นโครงเรื่องของ Gerald Bush ก็สวิงแบบไม่ต้องรู้สี่รู้แปด คือผลุนผลันก็เป็นเรื่องราวในยุคปัจจุบันซะยังงั้น แต่เค้าก็ยังอุตส่าห์ใส่ตัวบอกใบ้ว่าเค้าตั้งใจจะเล่าแบบแหวกขนบ ด้วยการใส่ตัวละครที่คนดูพอจะคุ้นหน้าจากองก์ที่หนึ่งอย่าง Janelle Monáe ซึ่งเป็นดาราดังเพียงคนเดียว เมื่อมีการใช้ตัวละครซ้ำหน้ากันได้ คนดูก็เริ่มตั้งคำถามแล้วว่านี่กำลังจะเล่าสองเหตุการณ์สลับกันระหว่างช่วงพีเรียด vs. ร่วมสมัยใช่เปล่า? โดยใช้นักแสดงชุดเดียวกัน คือเมื่อมีคนหนึ่งได้ คนที่เหลือจะตามมามีบทในยุคปัจจุบันด้วยมั้ย?

มุขคล้ายๆ กันนี้ เชื่อว่าถ้าไม่ผกก.สองคน ก็คนดูที่เป็นศิษย์สำนัก Kieślowski School เหมือนกับตอนคุณดู Blue เห็น White, ดู White เห็น Blue แล้วทั้ง Blue, ทั้ง White ก็ไปรวมตัวกันอยู่ใน Red พอมาถึง Antebellum บ้าง คนดูก็มีศูนย์รวมแห่งดวงใจอย่าง Janelle Monáe ที่เป็นคุณนายเมียนายพลในพาร์ตสงครามกลางเมือง มาโผล่เป็นซีเคร็ท แอ็ดไมเรอร์ นักเขียนใหญ่ที่เป็นปากเสียงต่อสู้เพื่อชนผิวสี (Veronica Hemmel) ในยุคปัจจุบัน ถึงตอนนี้คนดูก็เริ่มประกอบจิ๊กซอว์เงียบๆ ในใจว่า สาวคนนี้ต้องมีบทในองก์ที่ผ่านมาแน่ๆ แต่ตลอดเบี้ยใบ้รายทางที่ผ่านมา ก็ยังไม่วายเกิดข้อคำถามประเภทอิหยังหว่า โดยเฉพาะในส่วนของคนขาวอย่างเช่น

ก. ทหารหนุ่มแซวเพื่อนด้วยกันที่กำลังจะมีคู่นอนเป็นทาสสาวว่าพ่อโรมีโอ (เป็นไปได้เหรอที่ยุคศตวรรษที่สิบเก้าในสหรัฐจะเกิดกระแส Shakespeare ศึกษาในรัฐฝ่ายใต้ ซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ก็เป็นผลพวงมาจากฝั่งอังกฤษ ขณะที่กระแสทางอิทธิพลที่ย่านนี้รับมาเต็มๆ กลับมาจากสายฝรั่งเศส) คงไม่เท่ากับ

ข. สาเหตุของสงครามกลางเมือง : มาจากรัฐฝ่ายใต้ที่ต้องการมีทาสไว้ใช้แรงงานในไร่ ขณะที่ภาพจำพวก mindsetting บวกด้วยมายาคติของเรื่องในยุคนี้กลับนำมาดรามาไทซ์ด้วยการให้พวกเจ้าที่ดินกับทหารฝ่าย confederate พากันกระทำย่ำยีทาสแรงงานซึ่งเป็นผลประโยชน์ของตัวเองซะยังงั้น เหมือนกับว่าทหารสหพันธรัฐเห็นแรงงานทาสเป็นฝ่ายตรงข้ามกับราวกับเป็นข้าศึกอย่างทหารฝ่ายเหนือยังไงยังงั้น

ขณะที่เรื่องยังอยู่ในองก์แรก สิ่งเดียว (ซึ่งก็คงไม่ใหม่แล้ว) ที่ผุดขึ้นมาก็คือ แม้ในยุคปัจจุบัน รัฐทางใต้ยังคงมองตัวเองว่าเป็นรัฐอิสระ ไม่ขึ้นตรงกับทาง Washington แล้วใช่มั้ย? ธงสหพันธรัฐได้กลายเป็น hidden emblem และซึ่งมีไว้ใช้ส่งสัญญาณเรียกพวกพ้องสายเลือดเดียวกัน ก็เลยเกิดเป็น ‘อิหยังหว่า’ ในข้อถัดไป

ค. วาทกรรม patriot : เริ่มมีการใช้ในยุคสงครามกลางเมืองเนี่ยน่ะเหรอ ในเมื่อสงครามกลางเมืองในสหรัฐเริ่มต้นจากความขัดแย้งในภาคพลเรือน/civilของคนชาติเดียวกันธรรมดา จะมาแพ๊ททริอ่ง แพ็ทริอ็อตอะไรกันอีก (แถมในซับไทยยังใช้คำว่า ‘ชาตินิยมๆ’ ซึ่งความหมายจะยิ่งถูกพัดพาไกลหนักเข้าไปใหญ่) แต่ไม่ว่าจะรักชาติ, ชาตินิยมยังไง ในหนังมีการเอามาใช้ในซีนที่ Daniel ทหารฝ่ายใต้ปฏิเสธการมีเซ็กซ์กับทาสสาว (คือ แค่จะเสพย์เมถุนนี่ มันไปเกี่ยวยังไงกับเรื่องของ patriot จ้ะ)

จนกระทั่งมาพบกุญแจดอกสำคัญซึ่งมีความเสี่ยงในการสปอยล์ค่อนข้างสูง ก็คือคำว่า ‘เวลา’ ซึ่งในหนังมีการเล่นทั้งแบบพีเรียด แล้วก็ลำดับไทม์-ไลน์ (chronological) มาถึงนี้ได้ก็แตะปากเหวรำไรแล้วครับ คืออีกนิดก็จะกลายเป็นสปอยล์ทันที แต่ถ้าจำเป็นต้องพูด ก็คงต้องพูดถึง

ก. พีเรียด (period setting) : โดยเฉพาะยุคสงครามกลางเมือง ที่พออยู่ในหนัง จะดูเหมือนเอามาใช้มอมคนดูเหมือนยาเสพติด คือกล่อมซะคนดูไม่มีทางคิดเป็นอื่น โดยให้เวลานานพอที่ปักใจเชื่อ + ยอมรับว่าบรรยากาศความเป็นอยู่ หลังจากเคยผ่านสายตาจากเรื่องอื่นซึ่งใช้ period setting ในยุคเดียวกัน โดยลืมนึกถึงหรือมองข้ามส่วนที่หลุด (ทั้งที่ตั้งใจแล้วก็ไม่ตั้งใจ)

ถ้าคนดูเชื่อใน period setting พอเหวี่ยงมาเป็นยุคปัจจุบัน ลำดับต่อไป คนดูจะเริ่มหา ‘รอยต่อ’ ที่น่าจะมีความเป็นไปได้ (อย่างกลับชาติมาเกิดใหม่ ซึ่งเลอะเทอะ) หรือคนที่เห็นหน้าซ้ำๆ ทว่ามาต่างกาลเวลา เกี่ยวข้องทางสายเลือดหรือเปล่า (อันนี้ก็ใช้วิธี approaching แบบซีรีส์ Roots มากไป ยิ่งพอมาได้เห็น Veronica เป็นนักเขียนแบบเดียวกับ Alex Hailey (คนแต่งตัวนิยายที่ดั้นด้นไปสืบประวัติต้นตระกูลถึงประเทศแกมเบียในแอฟริกา) ซะอีก ภาพมายาคติเริ่มกลับมาทำงานต่อทันที แต่เส้นเรื่องเค้าจับแยกไว้เสร็จว่า ในยุคค้าทาสตัวละครของ Janelle Monáe ใช้อีกชื่อว่า Eden ไม่ใช่เหรอ)

ข. chronological : หนังแบ่งออกเป็นสามองก์ (ลองสมมติเป็นโค้ด Blue-White-Red ไปพลางๆ ก่อนครับ เพื่อความปลอดภัย) เอาเป็นว่าพอตัดเข้า White ปุ๊บ! คนดูจะเริ่ม question แล้ว (ว่านี่ชาติภพใหม่, หรือเป็นเรื่องของคนรุ่นทายาท แต่ก็ยังเชื่อว่าน่าจะมี audiences บางส่วนเริ่มระแคะระคายในใจว่า ลองนางเอก Veronica เป็นนักเขียน ส่วนที่เป็น Blue เอามาจากนิยายใช่ป้ะ, ครึ่งคะแนน 555)

ทีนี้พอเข้าพาร์ต (ที่ติ๊งต่างว่าเป็น Red) ข้อกังขาก็จะหนักข้อขึ้นไปอีกว่า นี่mng.กำลังเล่นอะไรของmng. จนกระทั่งไล่เรียงไปเรื่อยๆ รู้คำเฉลย ก็ต้องมา doubt กันอีกว่า แล้วที่ผ่านมาระหว่าง (ส่วนที่เป็น) Blue กับ White ถ้าเอามาเรียงตามลำดับไทม์ไลน์ อะไรมาก่อน-มาหลัง ซึ่งรวมๆ ความแล้ว ไม่ว่าจะ ‘น้ำเงิน’ – ‘ขาว’ – ‘แดง’, หรือความขัดแย้งระหว่างผิวสี vs. ผิวขาว เป็นเรื่องของความเชื่อใน myth ของแต่ละข้าง เป็นต้นว่ารัฐฝ่ายใต้มิได้เป็นผู้แพ้, สหพันธรัฐยังคง activate (อย่างน้อยๆ ก็ในความเชื่อและวิธีคิดของคน), คนผิวสีที่มองคนต่างผิวเป็นศัตรู ต่อให้เข้าสู่โลกยุคปัจจุบัน การต่อสู้ช่วงชิงก็ยังคงมีอยู่ต่อไป ความ (ที่เคย) เป็นผู้ถูกกดขี่ ได้ถูกผันมาใช้เป็นอาวุธ ทั้งในแง่ของการสร้างวาทกรรม, การเรียกร้องความเห็นใจและถูกนำมาใช้เป็น commodities ทางการตลาดผ่านสื่อ รูปแบบการต่อสู้ แม้จะไม่รุนแรง แต่ก็เพิ่มความซับซ้อนขึ้น การตั้งนามสกุลของตัวละคร Veronica Henley เองก็มีนัยให้เกิดการพ้องเสียงกับอเล็กซ์ Hailey ผู้แต่งนิยาย Roots ซึ่งปลุกกระแสเชิดชูการต่อสู้ของคนผิวสี เท่าๆ กับวางรากฐานให้คนย้อนกลับไปสืบรากเหง้าต้นตระกูล โดยเป็นการต่อสู้ซึ่งยืมกลไกจากสิ่งที่พวกนักคิดผิวขาวเคยวางรากฐานไว้อย่างสิทธิมนุษยชน, อิสรภาพ เพื่อก้าวล่วงเข้าสู่เกมในโลกทุนนิยม และการเห็นภาพการสู้รบในสงครามกลางเมืองกันในยุคปัจจุบัน (ผ่านสื่อ, ภาพยนตร์, สารคดี) ก็แทบไม่ต่างอะไรกับการลุกฮือโดยใช้กำลังเข้าปะทะเป็นระลอกๆๆ ขณะที่ชื่อหนังซึ่งตั้งกันเป็นภาษาบาลี (เอ๊ย! “ละติน” ครับ) ซึ่งมีความหมายถึงก่อนหน้า (ante) เอาเข้าจริงๆ (แม้แต่ในส่วนที่เป็น Blue, ในเรื่องคือองก์แรก) การสู้รบมีมานานแล้ว ขณะที่คำเดียวกัน มักมีการใช้เป็นคำคำเดียวคือเขียนติดกันคือ antebellum ซึ่งถ้าพอแปลก็มักถูกจำกัดให้มีความหมายเฉพาะ ‘(ก่อน) สงครามกลางเมือง’ แค่อย่างเดียว ขณะที่โลกภายนอกเค้าไปถึงไหนกันแล้ว พอผกก. คู่ดูโอ้ Bush + Renz เอามาทำเป็นหนัง ไหงถึงมีทั้ง ’สงคราม-ยัง-ไม่เกิด’ ซ้อนทับเข้าไว้ด้วยกันกับ ‘สงคราม-ยัง-ไม่-สิ้น’ ไปพร้อมๆ กัน

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here