“แด่ มิตรสหายผู้ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ผู้ถูกคุมขังอย่างไม่เป็นธรรม”
แม้คนจะยกย่องหนังเรื่องนี้กันมากมายในประเด็นของการเรียกร้องสิทธิสตรีด้วยวรรคทองอย่าง “ผู้หญิงเป็นควาย ผู้ชายเป็นคน” แต่จากการกลับไปดูอีกครั้ง พบบางอย่างระหว่างบรรทัด ที่คิดว่าจะต้องเขียนถึง
อำแดงเหมือนกับนายริด (2537) เป็นหนังยุคท้ายๆ ของเศรษฐกิจยุคทองของไทย หากมองผ่านสภาพแวดล้อมทางการเมืองก็จะเห็นว่าเกิดขึ้นหลังพฤษภาทมิฬ 2 ปี ซึ่งหลายคนคงจำภาพจุดจบของเหตุการณ์นี้ได้ดีว่า ถูกยุติด้วยการเรียกคนสำคัญเข้าเฝ้า
หนังอำแดงเหมือนฯ เปิดฉากมาด้วยพายุที่โหมซัดจนเรือล่ม อีเหมือน (จินตหรา สุขพัฒน์) ตกน้ำ แล้วก็ได้พระริด (สันติสุข พรหมศิริ) ที่ว่ายน้ำเข้าไปช่วย หน้าอกหน้าใจของอีเหมือนปรากฏกระจ่างตาต่อพระสงฆ์วัยฉกรรจ์ จนกลายเป็นภาพติดตา และนั่นคือจุดเริ่มต้นของเรื่อง
นม หรือเรือนร่างของนางเอกถูกแสดงในฐานะวัตถุทางเพศที่ยั่วยวนจนพระหนุ่มอยู่ไม่สุข หลับตาก็เห็นสองเต้าลอยขึ้นมา การเข้าไปบริกรรมกับกระดูกในป่าช้าก็เพื่อระงับความปรารถนาทางเพศ ส่วนอีเหมือนเองก็รู้สึกว่าตัวเองจะมีใจให้พระ แต่ก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่า พระนั้นหนีความใคร่หรือหนีความรักไปด้วย
อีเหมือนเห็นว่าพระริด อาศัยอยู่วัดใกล้ๆ หวังใจว่าจะได้ใกล้ชิด จึงนำไปสู่การขอเรียนหนังสือกับสมภาร (ส.อาสนจินดา) เพื่อไม่ให้น่าเกลียด จึงต้องกระเตงย่าจัน (บรรเจิดศรี ยมาภัย) เข้าไปเรียนด้วย ย่าผู้รักหลานเป็นนักหนา ตามใจแทบทุกเรื่อง มีอดีตที่ขมขื่นคือ เป็นเมียน้อยถูกปฏิบัติเยี่ยงทาสถูกเฆี่ยนถูกโบยจนเหลือร่องรอยแผลเป็นมาจนวัยนี้ การได้เรียนหนังสือของเหมือน ทำให้เธอเติบโตขึ้นทางความคิดและจิตวิญญาณ พลังของเหมือนเคลื่อนจากนมมาอยู่ที่ปาก เมื่อเหมือนรู้จักตั้งคำถาม และมักจะยอกย้อนด้วยเหตุและผลของตนเองที่ผิดกับยุคสมัยอยู่เสมอ
ความสงบสุขของชีวิตสามัญชนอย่างอีเหมือนอยู่ได้ไม่นาน เมื่อภัยที่คุกคามชีวิตของอีเหมือนและครอบครัวคือ วงจรอุบาทว์โง่ จน เจ็บ มีพ่อ (สมศักดิ์ พงษ์ธีระพล) ที่อยู่ในนิยามจน เครียด กินเหล้า (และเล่นพนัน) สำหรับราษฎรในหนัง การจะหลุดพ้นวงจรนี้ได้คือ การที่ลูกสาวได้ผัวที่ดี ลูกสาวในยุคนั้นถือเป็นทรัพย์สมบัติของพ่อแม่ การขายลูกสาว เรียกเอาเงิน เป็นสิ่งที่พบเห็นกันได้ไม่ยาก นี่คือ ภาพแรกของความเลวร้าย
ภาพที่สองคือ นายภู (รณฤทธิชัย คานเขต) ผู้เป็นเศรษฐีโรงหล่อพระ ที่ทำบุญบังหน้า แต่ผลิตพุทธรูปด้วยเลือด เนื้อและชีวิตของแรงงานที่เขาใช้ขูดรีดอย่างหนัก เมียน้อยและลูกของนายภูเองก็อยู่อย่างลำบากด้วยการกดขี่ทำร้ายของเมียแต่ง นายภูเห็นเรือนร่างของอีเหมือนจนอยากจะได้เป็นเมีย ก็ใช้ทั้งเงินทองและการดูแลเอาใจใส่ครอบครัวอีเหมือนเป็นอย่างดี หลังจากย่าจันตายไปก็ไม่มีคนขวาง นายภูจึงฉุดลากอีเหมือนไปยังเรือน โดยที่พ่อและแม่ไม่ห้ามอะไร นายภูเป็นตัวแทนอย่างดีของคนร่ำรวยในยุคทองทางเศรษฐกิจที่ดูใจบุญสุนทานภายนอก แต่โดยเนื้อแท้แล้วเลวทราม
อย่างไรก็ตาม อีเหมือนที่ไม่อยากถูกจองจำในฐานะเมียน้อย ก็หนีออกมาท่ามกลางการไล่ล่าของบ่าวบ้านนายภู จนนึกว่าอีเหมือนจมน้ำตายไปแล้ว ส่วนอีเหมือนก็หนีไปอยู่กับบ้านพ่อและแม่พระริด ตัวพระริดเองก่อนหน้านั้นก็ได้เจอเหมือนอีกครั้ง เหมือนใช้ปากเป็นอาวุธในการโจมตีด้วยการบอกรัก แม้จะกลัวตกนรก แต่ก็ไม่มีอำนาจหักห้ามความรักได้ อาวุธนั้นได้ส่งผลในเวลาต่อมา นั่นคือ พระริดตัดสินใจสึก และทั้งคู่ก็ได้กลับมาเจอกันอีกครั้งทิดริดกลับบ้านมาเจอเหมือน และได้อยู่กินกัน
เรื่องมันควรจะจบตรงนี้แบบมีความสุข แต่ด้วยธรรมเนียมคือ อ้ายริดจะต้องกลับไปขอขมาพ่อแม่เหมือนเสียก่อน เมื่อส่งข่าวไป นายภูรู้เรื่องจึงในที่สุดก็ทำเรื่องฟ้องไปยังตระลาการ ตำแหน่งพระนนทบุรีศรีมหาสมุทร (รุจน์ รณภพ) แสดงให้เห็นว่า ท้องเรื่องอยู่แถบริมน้ำนนท์และย่านเรือกสวนไร่นาแถบนั้น พื้นที่แห่งนี้เปิดโอกาสให้เหมือนได้ใช้อาวุธที่ตนเองถนัดที่สุดนั่นก็คือ ปาก
การต่อปากต่อคำของเหมือนในศาล ไม่เพียงจะมีผลต่อการถกเถียงด้วยเหตุผลและผลในเชิงคดีแล้ว พบว่า เหมือนยังต่อสู้เชิงอุดมการณ์ ด้วยการตั้งคำถามกลับต่อตระลาการ เมื่อเจอตัวบทที่กล่าวว่า กฎหมายทาสว่าไว้ พ่อแม่สามารถยกลูกหรือขายลูกให้ใครก็ได้ เป็นการชำระหนี้สินแทนเงิน ด้วยเหตุนี้เหมือนจะต้องตกเป็นทาสคนหรือทรัพย์แก่นายภู เหมือนก็โต้ว่าเป็นกฎหมายไม่ยุติธรรม และพยายามยกประเด็นความไม่เป็นธรรมทางกฎหมายที่ลำเอียงไปทางผู้ชาย จนตระลาการต้องเตือนว่า “มึงพูดนอกเรื่องกูไม่รับฟัง”
อีเหมือนร้องขอว่า “ได้โปรดเถิดเจ้าค่ะใต้เท้า ให้โอกาสผู้หญิงได้พูดบ้าง” อ้างถึงย่าของตนที่ตายไปโดยไม่มีโอกาสได้ร้องขอความเห็นใจในความเป็นคนของแก “ผู้หญิงถูกกดให้ต่ำลงด้วยน้ำมือของผู้ชาย ทั้งๆ ที่เกิดมาเป็นคนเหมือนกัน ใต้เท้าคะ มันไม่ใช่ความผิดของอิชั้นหรือผู้หญิงคนไหนที่ต้องเกิดเป็นผู้หญิง เราเลือกเกิดเองไม่ได้ แล้วทำไมเราต้องถูกกระทำราวกับเราไม่มีหัวจิตหัวใจ เป็นอย่างสัตว์เดรัจฉาน เป็นเหมือนวัวควายที่ต้องทำทุกอย่างตามแต่ที่เจ้าของจะสนตะพายลากจูงเฆี่ยนตี” ตระลาการได้ยินเช่นนั้นก็ยิ่งมีอารมณ์ และตวาดไปว่า “อีเหมือน ถ้ามึงยังไม่หยุดพูดตระลาการจะลงโทษ” นายริด นายภู และแม่ก็เตือนเหมือนว่าไม่ให้พูด
อีเหมือนตัดสินใจแน่วแน่แล้วว่าจะต้องสู้ให้ถึงที่สุดจึงกล่าวต่อไปว่า “ฉันต้องพูด ตระลาการมีแต่ผู้ชายที่สุมหัวกันตีราคาให้ผู้หญิงเป็นควาย ผู้ชายเป็นคน ทำไมผู้ชายไม่ยกตัวเองให้เป็นเทวดาซะเลยล่ะ”
ตระลาการแทบจะทนไม่ไหวกล่าวอีกว่า “กูขอสั่งเป็นครั้งสุดท้าย ให้หยุดพูด” “ไม่หยุด” เหมือนท้าทายต่อไปว่า “ผู้ชายก็ดีแต่สั่ง สั่งเพราะขี้ขลาดตาขาว กลัวสูญเสียอำนาจ กลัวสูญเสียความเป็นเจ้านาย จะทำทุกอย่าง
เพื่อรักษาอำนาจให้เหนือผู้หญิง กดขี่ทุกๆ ทางให้ผู้หญิงไม่มีโอกาสโงหัวขึ้น กดให้จบปลักอยู่อย่างควาย”
ในที่สุดตระลาการก็ใช้อำนาจจัดการปิดปาก “อีเหมือน มึงหมิ่นประมาทตระลาการซ้ำสอง และขัดคำสั่งตระลาการด้วยทำให้เสียขบวนการพิจารณา พระธำมรงค์ เอาตัวไปคุมขังจนกว่ามันจะได้สำนึก”
ถ้าถือว่า ตระลาการยึดมั่นในหลักกฎหมายและเกียรติยศของตนแล้ว ตัวละครอีกตัวคือ พระธำมรงค์ (ชลิต เฟื่องอารมย์) ก็ถือว่าเป็นผู้ดูแลนักโทษผู้ฉ้อฉล รับสินบนจากนายภู ทั้งตระลาการและพระธำมรงค์นับเป็นตัวแทนของระบบราชการ และอาจรวมถึงนักการเมืองด้วย ในสังคมไทยยุคนั้นที่ข้าราชการ นักการเมืองและพรรคการเมืองเชื่อถือไม่ได้
เมื่อถูกจับเข้าตาราง อีเหมือนถูกใช้แรงงานอย่างหนักในเรือนจำ ถูกเหยียดหยามต่างๆ นานา มีฉากหนึ่งที่พระธำมรงค์ด่าอีเหมือนว่าชั่วช้า “มันถือว่ามันรู้หนังสือ มันเลยอวดดี หัวแข็ง พ่อแม่หรือใครๆ ก็ปกครองมันไม่ได้ มีผัว แล้วก็ไปมีชู้ ประพฤติผิดประเพณี ทำผิดกฎหมายบ้านเมือง แล้วยังกล้าขัดคำสั่งต่อศาล ดูถูก ดูหมิ่นศาล” แล้วยุให้คนในคุกด่า-ถ่มน้ำลายรด มีเสียงสาบแช่งสารพัด “อีดอก” “เลว” “ชั่ว” “สารเลว” “ผ่าเหล่าผ่ากอ” “คนอย่างมึงเนี่ย มันต้องเอาไปตัดหัวเสียบประจาน” เสียงก่นด่าพร้อมเสียงถ่มน้ำลายเป็นเสมือนการตัดสินประชาทัณฑ์ของศาลเตี้ยไปก่อนตระลาการจะตัดสินคดีเสียอีก
อ้ายริดรู้ข่าวว่า อีเหมือนถูกกลั่นแกล้งมากกว่านักโทษชายที่ฆ่าคนตายเสียอีก โทษทัณฑ์และการทรมานที่หนักหนาแบบไม่ได้สัดส่วนยังปรากฏอยู่ในกฎหมายยุคหลังของไทยทุกวันนี้
อีเหมือนคุยกับแม่ (ดวงดาว จารุจินดา) ที่มาเยี่ยมว่า ยอมติดตะราง “ขอต่อสู้” ด้วยตัวเอง และโต้แย้งไปว่า ถ้าแม่ไม่สู้ก็อย่ามาบอกให้งอมืองอเท้า จนแม่ด่ากลับไปว่าไม่น่ายอมให้เรียนหนังสือเลย “เรียนแล้วหัวแข็ง ปกครองไม่ได้”
อีเหมือนไม่ยอมสำนึกและไม่ยอมเป็นของนายภู จึงถูกทรมานให้หนักขึ้นไปอีกด้วยการจับขังในบ่อน้ำลึก นายริดรู้เรื่องจึงไปช่วยหนีออกมา ระหว่างทางที่หนีไป พบว่ามีขบวนพยุหยาตราชลมารคผ่านมา อีเหมือนจึงเห็นว่าจะ ทางรอดสุดท้ายก็คือ การถวายฎีกาในหลวงเพื่อเรียกร้องความยุติธรรม
เมื่อตัดสินใจถวายฎีกาไปแล้ว อีเหมือนได้ถูกจองจำไว้ตามธรรมเนียมที่กฎหมายเกรงว่า คนถวายฎีกาอาจกราบทูลความเท็จ หรือความอันเป็นโทษแก่ผู้อื่น จึงต้องกักตัวไว้ก่อนจนกว่าจะชำระความแล้วเสร็จ
เมื่อเรื่องไปถึงฝ่ายตระลาการผู้ใหญ่ ก็ให้เกิดบทสนทนากัน พระนนทบุรีศรีมหาสมุทรก็เป็นหนึ่งในนั้น ตามเนื้อคดีก็ดูจะเป็นใจให้กับอีเหมือน อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ขุนนางเหล่านั้นรับไม่ได้ก็คือ เรื่องที่นอกเหนือจากคดี นั่นคือ การเสียดสีตระลาการเรื่องเทวดา-เรื่องกลัวเสียความเป็นเจ้านาย เพราะเชื่อว่านี่คือการหมิ่นตระลาการและหมิ่นกฎหมาย ขุนนางผู้ใหญ่กล่าวย้ำว่า จะยกเลิกกฎหมายคู่บ้านคู่เมืองเพื่อคนคนเดียวนั้นไม่ได้ และเห็นว่า อ้ายริดแม้จะมีข้อหาลักนักโทษหนี แต่ก็ไม่ถึงตาย แต่อีเหมือนจะไม่พ้นโทษตัดหัวเสียบประจาน เรื่องได้หันหัวมาจนถึงปลายที่เป็นความชิบหายของอีเหมือนโดยแท้
แต่การตัดจบของเรื่องนั้น มาแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย นั่นคือ ไม่กี่นาทีก่อนจบ ได้ตัดภาพมาที่ฉากฝนตก นายริดนั่งเหม่ออยู่ใต้เพิง แล้วก็ตัดภาพมาที่ธงของกษัตริย์แล้วมีเสียงบรรยายถึงพระบรมราชโองการให้ประกาศแก่ลูกขุนตุลาการ โรงศาล และราษฎรในกรุงและหัวเมือง ให้ทราบทั่วกันว่า ให้อำแดงเหมือน ผุ้ร้องฎีกาพ้นผิด และตกเป็นภรรยาของนายริดตามความสมัครใจ ให้ยกเลิกกฎหมายที่ให้อำนาจบิดามารดาและสามีขายบุตร ขายภรรยาได้ตามอำเภอใจ
เราไม่รู้เลยว่า ขุนนางและตระลาการเหล่านั้นจะคิดเห็นเช่นไร หลังจากที่ตนเป็นโกรธเป็นแค้นขนาดนั้น การต่อสู้ระหว่างอีเหมือนกับระบบกฎหมายและความฉ้อฉลของขุนนางได้ถูกทำให้เงียบลงไป
ความเลวร้ายอย่างคนในครอบครัว คืออำนาจของพ่อและแม่ อำนาจของนายทุนหน้าเลือด ข้าราชการและนักการเมืองผู้โสมม อยู่ๆ ก็ถูกลบออกไป ทั้งที่ความจริง อำนาจเหล่านี้แค่ถูกทำให้หายไปชั่วคราว เป็นการแก้ไขเฉพาะหน้า
การยุติด้วยพระราชอำนาจของ รัชกาลที่ 4 ในเรื่อง ทำให้ผู้เขียนนึกถึงเหตุการณ์ก่อนหนังฉายเมื่อ 2 ปีก่อน
สำหรับผู้เขียน เรื่องสิทธิสตรีในเรื่องนี้เป็นสิ่งที่โดดเด่นอย่างยิ่ง แต่กระนั้นความยิ่งใหญ่กว่าเรื่องสิทธิสตรีคือ การเปล่งเสียงพูด ตั้งคำถามต่อความไม่สมเหตุสมผลของอีเหมือน ไม่ใช่เฉพาะกับคนในครอบครัว ไม่ใช่กับสมภารเท่านั้น แต่ยังเผชิญหน้ากับอำนาจรัฐ โดยไม่หวั่นเกรงการลงโทษทัณฑ์ใดๆ บทสนทนาเหล่านี้มันทำให้นึกถึงการท้าทายดันเพดานของคนรุ่นใหม่ที่พยายามเดินหน้าอย่างกล้าหาญ
ภาพเหมือนที่อยู่หลังลูกกรงของอีเหมือน ทำให้ผู้เขียนนึกถึง เนื้อเพลงท่อนหนึ่งที่ร้องว่า “ในกรงขังยังมีดวงดาว ส่องแสงท้าทายฟากฟ้า บอกฟ้าว่าถึงเวลา”