Home Review Anime & Game Review Kotaro Lives Alone โคทาโร่ไม่ได้อยู่เพียงลำพังเพียงลำพัง

Kotaro Lives Alone โคทาโร่ไม่ได้อยู่เพียงลำพังเพียงลำพัง

Kotaro Lives Alone โคทาโร่ไม่ได้อยู่เพียงลำพังเพียงลำพัง

เรื่องราวทั้งหมดเริ่มต้นในวันธรรมดาวันหนึ่งที่ห้างค้าปลีก เด็กชายวัยอนุบาลคนหนึ่งเลือกซื้อกระดาษทิชชู่ตามลำพัง ไม่ใช่เรื่องแปลกนักในประเทศที่เคยมี Old Enough รายการติดตามเด็กน้อยไปจ่ายตลาดตามคำสั่งของผู้ใหญ่ออกอาการให้ดูเมื่อหลายปีก่อน หากจะมีอะไรที่ดูแปลกไปก็คงจะเป็นท่าทางของเจ้าหนูที่ดูจะพิถีพิถันในการเลือกคุณภาพกระดาษเกินธรรมดากับคำพูดคำจาที่ดูเป็นผู้ใหญ่เกินตัว เด็กชายออกจากห้างพร้อมกล่องกระดาษทิชชู่ใส่ถุงเต็มสองมือ

มีข้อสังเกตที่น่าสนใจประการหนึ่งที่เพื่อนผู้ทำงานในหน่วยงานพัฒนาเยาวชนเล่าให้ผมฟัง เขาบอกว่าถ้าเจอเด็กที่ “ดูแก่เกินวัย” ให้ตั้งใจสังเกตเอาไว้ดีๆ ยิ่งปูมหลังของเด็กคนนั้นยากลำบาก ความแก่กร้านของเด็กก็ยิ่งปรากฏให้เห็นเด่นชัด

เด็กชายเคาะประตูอพาร์ตเมนต์ของคาริโนะ นักเขียนการ์ตูนที่อาศัยอยู่ในอพาร์ตเมนต์ห้องข้างๆ เด็กชายโค้งคำนับ ส่งกระดาษทิชชู่ที่บรรจงเลือกมาเป็นของขวัญแก่เพื่อนบ้านคนใหม่ด้วยมารยาทอันดี พร้อมแนะนำตัวว่าชื่อซาโต โคทาโร่ จากนี้ไปจะเป็นเพื่อนบ้านของพวกเขา

ด้วยภาษาและสำเนียงของขุนนางโบราณ

เจ้าเด็กคนนี้คงลำบากมามากทีเดียว

Kotaro Lives Alone เป็นแอนิเมชั่นซีรีส์ที่สร้างจากหนังสือการ์ตูนตลกชื่อเดียวกัน (ชื่อตามภาษาต้นทางคือ Kotarō wa Hitori Gurashi – โคทาโร่อาศัยอยู่ตามลำพัง) จากปลายปากกาของมามิ ทสึมุระ ตีพิมพ์ตอนแรกในนิตยสารการ์ตูนรายปักษ์ Big Comic Superior ฉบับเดือนมีนาคมปี 2015 เรื่องราวของมันว่าด้วยบรรดาผู้คนที่และสิ่งละอันพันละน้อยที่อยู่รายรอบตัวโคท่าโร่ เด็กชาย 4 ขวบผู้มีบุคลิกล้ำเกินวัย เขาพูดจาด้วยสำนวนของชนชั้นสูง ใส่ใจกับมารยาทพิธีรีตอง ใส่ใจกับการดูแลรูปลักษณ์จนถึงขั้นหมกมุ่น แสดงอารมณ์น้อยเกินเด็กอนุบาลทั่วไป และอาศัยอยู่ในอพาร์ตเมนต์หนึ่งห้องนอนหนึ่งห้องน้ำตามลำพัง ไร้วี่แววของพ่อแม่ผู้ปกครอง

ทั้งคนดู คาริโนะและผู้อาศัยรายอื่นๆ ในอพาร์ตเมนต์ต่างเข้าใจได้ในทันทีว่าโคทาโร่ไม่ธรรมดา เมื่อเรื่องราวดำเนินต่อไปอีกสักหน่อย เราก็จะได้พบความจริงว่าความไม่ธรรมดาของเด็กชายโคทาโร่มันดูสมจริงเอามากๆ โดยเฉพาะเมื่อเราเริ่มตระหนักได้ว่าวัตถุดิบของการ์ตูนเรื่องนี้คือเรื่องที่ไม่ตลกเอาเสียเลยอย่างปัญหาการละเลยทอดทิ้งเด็ก หนึ่งในปัญหาใหญ่ของหลายประเทศที่มีปัญหาเรื่องความวิตกของประชากรที่มีต่อความมั่นคงในชีวิต

สำนักงานตำรวจแห่งชาติญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ในปี 2021 มีการแจ้งเหตุละเลยทอดทิ้งเด็กถึง 8,270 ครั้ง ส่วนในไทย กองทุนเพื่อความเท่าเทียมทางการศึกษาพบว่าในปีการศึกษา 2561 (ปี 2020) มีเด็กที่ถูกทอดทิ้งหรือเด็กกำพร้าถึง 15,173 คน (จากจำนวนเด็กที่ด้อยโอกาสทางการศึกษากว่า 3.62 ล้านคน) และในรายงานเดียวกันนี้พูดถึงสาเหตุของการทอดทิ้งเด็ก ได้แก่ การขาดความรู้ความเข้าใจในการเลี้ยงดู ปัญหาครอบครัว ปัญหาเศรษฐกิจ การตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์และความพิการโดยกำเนิดของเด็ก

ไม่ปรากฏว่ามีสาเหตุใดมาจากตัวเด็กเอง

จึงอาจพูดได้ว่าเด็กอย่างโคทาโร่นั้น ไม่ได้อยู่ห่างไกลจากความเป็นจริงในชีวิตของพวกเรานัก เขาอาจไม่ใช่เด็กคนเดียวที่คุณรู้จักในฐานะเด็กที่ไม่มีพ่อแม่คอยดูแลอย่างที่ควรจะเป็น โคทาโร่ไม่ได้อยู่ตามลำพังตามลำพัง

วิธีการนำเสนอของ Kotaro Lives Alone ไม่มีอะไรหรือหวา ออกจะธรรมดาค่อนไปทางจำเจ โครงสร้างของแต่ละตอนมักจะเริ่มต้นด้วยเหตุการณ์ปกติธรรมดาในชีวิตอย่างการดูโทรทัศน์ ทานอาหาร ไปโรงเรียน พูดคุยเรื่องราวทั่วไปกับเพื่อนบ้าน (ซึ่งมักจะเป็นคาริโนะที่อยู่ห้องข้างๆ) ก่อนจะตบมุกด้วยพฤติกรรมเหนือการคาดเดาของโคทาโร่ และคลี่คลายเหตุการณ์พร้อมกับเผยเรื่องราวที่อยู่เบื้องหลังความประหลาดของเด็กชายออกมาทีละนิด มีเพียงสิ่งนี้ที่เหนือความคาดมหายและประคองให้ผมอยู่กับเรื่องราวของโคทาโร่ไปได้เรื่อยๆ ราวกับถูกจูงให้สังเกตอากัปกิริยาของโคทาโร่ที่มีต่อสิ่งต่างๆ และค้นพบว่าพฤติกรรมกร้านโลกกร้านลมของเขานั้นล้วนตั้งอยู่บนความไร้เดียงสาแบบเด็ก และความพยายามอย่างยิ่งที่จะหนีให้พ้นความเดียวดาย แม้จะต้องเลือกวิถีทางที่ต้องอยู่ตามลำพังก็ตาม

ยกตัวอย่างเช่น ในตอนหนึ่งคาริโนะไขปริศนาความจู้จี้เรื่องกระดาษทิชชู่ของโคทาโร่ได้จากการสัมภาษณ์ประสบการณ์วัยเด็กของคนในโทรทัศน์ ผู้ชายในทีวีเล่าว่าตอนเด็กๆ เขาเคยถูกทิ้งให้ต้องกินกระดาษทิชชู่เพื่อประทังความหิวโหย เขาจำได้ว่ากระดาษทิชชู่มีรสหวานอ่อนๆ คำพูดนี้ทำให้คาริโนะนึกถึงคำของโคทาโร่ที่เคยพูดออกมาว่ากระดาษทิชชู่ที่ราคาสูงมักจะ “หอมหวาน” เรื่องของกระดาษทิชชู่ไม่เคยหลุดไปจากใจของโคทาโร่เลย แม้ว่าทุกวันนี้เขาจะไม่ลำบากเรื่องการหุงหาอาหารกินด้วยตัวเองแล้ว

หรือตอนที่ว่าด้วยพฤติกรรมการรับหนังสือพิมพ์วันละ 5 หัวของเด็กชาย สิ่งนี้สะกิดใจคนส่งหนังสือพิมพ์หน้าใหม่เกิดสงสัยว่าทางหนังสือพิมพ์กำลังหลอกขายบริการให้กับเด็กที่ไม่รู้เรื่องรู้ราวหรือเปล่า จนได้รับความกระจ่างจากโคทาโร่ในภายหลังว่าเขาจงใจรับหนังสือพิมพ์จำนวนมากเหล่านั้นเอง และหากวันใดที่คนส่งหนังสือพิมพ์พบว่ามีหนังสือพิมพ์เป็นสิบฉบับเสียบอยู่หน้าประตูโดยไม่มีใครแตะต้อง ก็ขอให้เข้าใจเอาไว้ว่าเขากำลังตกอยู่ในภาวะฉุกเฉินจนไม่อาจออกมาเก็บหนังสือพิมพ์ได้ ขอรบกวนให้คนส่งหนังสือพิมพ์ไปตามคนมาช่วยเขาด้วย

ทั้งสองตอนที่ยกมานี้เป็นเพียงส่วนเล็กๆ จากหลายเรื่องราวที่ถูกนำเสนอใน Kotaro Lives Alone ที่สนับสนุนข้อสังเกตเรื่องเด็กที่เผชิญกับความยากลำบากตั้งแต่เล็ก แท้จริงแล้วพฤติกรรมเหนือสำนึกปกตินั้นมาจากสิ่งที่เป็นปกติมากๆ นั่นคือการพยายามเอาตัวรอดทุกวิถีทางที่ทำได้ ในกรณีของโคทาโร่ วิธีเอาตัวรอดของเอาอิงมาจากวิธีการจริงๆ ของคนที่อยู่อย่างโดดเดี่ยว (การรับหนังสือพิมพ์เป็นวิธีการที่นิยมมากในหมู่ผู้ที่กังวลเกี่ยวกับการอยู่คนเดียว โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ) มองในแง่ร้ายกว่านี้สักหน่อย ถ้าเรื่องนี้ไม่อยู่ในกรอบของการ์ตูนตลก ก็มีความเป็นไปได้ที่เด็กชายจะเลือกเอาตัวรอดด้วยวิธีการที่เป็นปัญหากว่านี้ เช่นการก่ออาชญากรรมเล็กๆ อย่างการหลอกลวงหรือขโมยข้าวของ

โชคดีของโคทาโร่ เขาอยู่ในการ์ตูนตลก อยู่ในฐานะที่ยังเลือกเข้ารับการศึกษาตามปกติได้ ไม่มีปัญหาด้านการเงิน และผู้คนที่อยู่รายรอบตัวเขาเป็นคนที่จิตใจดี (หรืออย่างน้อยที่สุดก็เป็นคนไม่ดีที่กลับใจได้) เรื่องราวของเขาจึงเป็นการรับ – ส่งลูกบอลทางความคิดกับคนอื่นๆ เกี่ยวกับความโดดเดี่ยวและความเข้มแข็งที่ใช้ยืนหยัดเพื่อตัวเองอยู่ตลอดเวลา โคทาโร่จึงไม่ได้มีชีวิตอยู่อย่างเดียวดาย แม้ว่าเขาจะอาศัยอยู่คนเดียว

สิ่งที่อาจจะเป็นได้ทั้งจุดแข็งและจุดอ่อนของเรื่องนี้คือการที่แทบทุกคนในเรื่องมองเห็นไปในทางเดียวกันว่าโคทาโร่ควรได้กลับไปอยู่กับพ่อแม่ ผู้ซึ่งเป็นทั้งผู้ปกครองคนแรก เป็นบ้านที่เด็กชายหวังอย่างยิ่งที่จะกลับไปหาเมื่อเขาพร้อม และเป็นทั้งต้นเหตุแห่งบาดแผลที่ฝังลึกอยู่ในใจเด็กชาย ความเห็นใจที่มีต่อโคทาโร่มักจะมาพร้อมกับความกังขาที่ว่าการได้กลับไปอยู่กับคนที่ทำให้เขาหวาดกลัวและหนีออกมาแต่แรกนั้นดีจริงๆ แล้วหรือ ยิ่งดูก็ยิ่งรู้สึกว่าอีกอย่างที่ผู้ใหญ่อย่างเราควรทำเพื่อเด็กคือสร้างโลกที่ทำให้เขารู้สึกปลอดภัย รู้สึกแปลกแยกน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ไม่ว่าเด็กๆ จะต้องอาศัยอยู่กับใครหรือไม่อยู่กับใครเลยก็ตาม แต่หากจะมองว่ามันเป็นการขับเน้นให้เราตระหนักว่าการป้องกันปัญหาการทอดทิ้งเด็กนั้นควรเริ่มที่ครอบครัวก็ไม่ได้ผิดแต่อย่างใด

บนโลกยังมีเด็กอย่างโคทาโร่อีกมากมาย ขณะที่พวกเขาพยายามมีชีวิตอยู่รอดให้ได้ตัวเอง พวกเขาก็อยู่ร่วมกับเราในสังคมนี้ด้วย ต่อให้คุณไม่ใช่คนรักเด็กอะไรนักก็น่าจะพอมองเห็นว่าปัญหาการทอดทิ้งเด็กนั้นไม่ใช่แค่ปัญหาที่ครอบครัวจะต้องรับผิดชอบอยู่ฝ่ายเดียว แม้ว่าเด็กๆ ที่ถูกทอดทิ้งจะไม่ได้มีเจตนาร้าย แต่เขาก็ต้องเรียนรู้ที่จะเอาตัวรอดโดยไม่สนวิธีการ ไม่มีอะไรรับประกันว่าวิธีการของพวกเขาจะไม่เป็นปัญหา 

และไม่มีอะไรรับประกันว่าปัญหานั้นจะไม่ตกมาถึงคุณ ถึงเรา ถึงทุกคน

โคทาโร่ไม่ได้อยู่เพียงลำพัง อย่าให้เขาอยู่เพียงลำพัง


ดู Kotaro Lives Alone ได้ที่ Netflix


อ้างอิง

https://www.tcijthai.com/news/2015/08/scoop/5269

https://mainichi.jp/english/articles/20220203/p2a/00m/0na/007000c#:~:text=There%20were%2019%2C185%20physical%20abuse,than%20in%20the%20previous%20year.

https://research.eef.or.th/orphans-in-thailand-education-system/

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here