The Trial of the Chicago 7 : ม็อบจุดฝัน ในวันที่ตาชั่งเอียงข้าง

ถ้าพูดถึงคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะรุ่นมิลเลนเนียลลงมา สิ่งที่นิยามตัวตนของพวกเขาก็คือความกล้า ความเป็นตัวของตัวเอง การเป็นพลเมืองโลก การไม่ละทิ้งกลุ่มชายขอบ (inclusiveness) และการเชื่อมต่อกัน ดูเหมือนค่านิยมเหล่านี้จะสะท้อนออกมาอย่างชัดเจนในการชุมนุมช่วงกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งทำให้หลายคนเห็นถึงความต้องการส่งเสียงของเหล่าคนรุ่นใหม่ ความน่าสนใจอยู่ที่ คนรุ่นใหม่มักจะเป็นพลังขับเคลื่อนการชุมนุม ทั้งในและต่างประเทศมาตั้งแต่อดีตแล้ว อย่างที่ปรากฏในหนัง The Trial of the Chicago 7 ที่ลงแพล็ตฟอร์ม Netflix ไปไม่นาน และดูเหมือนมาได้ตรงจังหวะเวลาสถานการณ์การเมืองไทยและการเมืองโลกพอดี

The Trial of the Chicago 7 เล่าถึงเรื่องราวในปี 1968 แกนนำม็อบนักศึกษาอเมริกันทั้ง 7 คน (บวกกับชายผิวดำอีกหนึ่งที่ถูกรวมเข้ามาในการพิจารณาคดีอย่างงง ๆ) ได้พาคนหนุ่มสาวจำนวนมากเดินทางไปชิคาโก เพื่อประท้วงให้สหรัฐฯถอนกำลังออกจากสงครามเวียดนาม  จุดมุ่งหมายของพวกเขาคือการชุมนุมใกล้กับการประชุมพรรคเดโมแครต เพื่อแย่งพื้นที่สื่อและทำให้คนทั้งอเมริกาหันมาสนใจพวกเขา

ตัวแทนผู้ประท้วงหลักมาจากพรรคเยาวชนนานาชาติ (Youth International Party) หรือ Yippy ซึ่งได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมแบบบุปผาชน (หรือฮิปปี้) และคณะกรรมการเคลื่อนไหวเพื่อยุติสงครามเวียดนามแห่งชาติ (National Mobilization Committee to End the War in Vietnam) มีตัวแทนอยู่ทั้งหมด 7 คน ถูกตั้งข้อหาก่อจลาจล ทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ และวางแผนสมคบคิด ทั้งที่กิจกรรมส่วนใหญ่ในการชุมนุมคือการปราศรัยและดนตรีในสวน ตำรวจได้ส่งสายสืบจำนวนหนึ่งปลอมเป็นผู้ชุมนุมและให้การกล่าวหาเหล่าแกนนำ ทำให้พวกเขาตกที่นั่งลำบากในการพิจารณาคดี

ด้วยบทพูดที่เฉียบคม จากผู้กำกับและผู้เขียนบท แอร์รอน ซอร์คิน (ผู้เขียนบท The Social Network) ทำให้การโต้ตอบภายในห้องพิจารณาคดีที่มีความเสี่ยงจะดูน่าเบื่อ กลายเป็นการจิกกัดระบบศาลสหรัฐฯอย่างแสบสันและน่าติดตาม และทำให้ภาพฝันเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมที่โปร่งใสพังทลาย การเลือกนักแสดงเป็นอีกจุดแข็งในหนังเรื่องนี้ ตัวละครสำคัญที่หลายคนทำใจให้ชอบไม่ลง ก็คือผู้พิพากษาจูเลียส ฮอฟแมน รับบทโดย แฟรงค์ แลงเกลลา เป็นชายอเมริกันผิวขาวตามขนบที่ดูยังไงก็ห่างไกลจากคำว่ามีความยุติธรรมเสียเหลือเกิน เขาได้สั่งให้บ็อบบี ซึล ชายผิวดำผู้เป็นแกนนำพรรคแบล็คแพนเธอร์ มานั่งในการพิจารณาคดี และควบรวมการพิจารณาคดีฆาตกรรมของเขารวมเข้ากับผู้ชุมนุม ซึ่งเป็นการเล่นการเมืองแบบหนึ่ง เจตนาคือทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมดูน่ากลัว และชี้นำอารมณ์ของเหล่าลูกขุนผิวขาวให้ไม่เข้าข้างผู้ชุมนุม ซึ่งทนายฝ่ายจำเลยอย่างวิลเลียม คุนส์เลอร์ ได้โต้แย้งไปแล้วแต่ฮอฟแมนปัดตกข้อกล่าวหาทิ้งไป

สิ่งที่ผู้ชมจะรู้สึกเป็นส่วนใหญ่ตลอดการรับชมกระบวนการยุติธรรมครั้งนี้ ก็คือความไม่ยุติธรรม และอาจถึงขั้นรู้สึกเดือดดาลต่อผู้มีอำนาจที่ไร้หลักการและเพียง “ทำตามนายสั่ง” ผู้พิพากษาฮอฟแมนเป็นตัวแทนของผู้มีอำนาจนั้น ซึ่งใช้กฎหมายเข้าข้างตนเองและกดทับคนตัวเล็ก ๆ ที่ไม่ได้คลุกคลีกับเครื่องมือของรัฐมากเท่าเขา มีครั้งหนึ่งที่ฝ่ายผู้ชุมนุมคิดไม้เด็ดออกและได้พยานคนสำคัญขึ้นให้การ แต่ผู้พิพากษาฮอฟแมนกลับเล่นกลโกงด้วยการไม่ให้ลูกขุนอยู่ฟังคำให้การนั้น และนั่นเท่ากับเป็นการตัดไพ่ใบสำคัญของผู้ชุมนุมทิ้งอย่างสกปรก

ในสังคมที่คนตัวเล็ก ๆ ต้องต่อสู้กับผู้มีอำนาจนั้น เราอาจต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่ยุติธรรมเสมอไป และเหล่าผู้ชุมนุมใน The Trial of the Chicago 7 ต่างพยายามแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เพื่อท้าทายผู้มีอำนาจ ผ่านการแต่งตัวหรือไม่ทำตามกฎ ซึ่งแม้พวกเขาจะถูกลงโทษภายหลัง แต่ก็ได้สื่อสารอะไรบางอย่างออกไปให้สังคมฉุกคิด การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เช่นนี้อาจไม่ต่างจากการชูสามนิ้ว หรือการฝังหมุดคณะราษฏร์ 2020 ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ซึ่งมันได้ทำงานกับผู้คนในระดับที่ลึกกว่าการจดจำ นั่นคือสามารถกระตุ้นการกระทำบางอย่างได้นั่นเอง ดังวลีที่บอกว่า “หมุดนี้ได้ฝังแล้วในใจของคนไทย”

ในสังคมที่คนตัวเล็ก ๆ ต้องต่อสู้กับผู้มีอำนาจนั้น เราอาจต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่ยุติธรรมเสมอไป และเหล่าผู้ชุมนุมใน The Trial of the Chicago 7 ต่างพยายามแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เพื่อท้าทายผู้มีอำนาจ ผ่านการแต่งตัวหรือไม่ทำตามกฎ ซึ่งแม้พวกเขาจะถูกลงโทษภายหลัง แต่ก็ได้สื่อสารอะไรบางอย่างออกไปให้สังคมฉุกคิด การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เช่นนี้อาจไม่ต่างจากการชูสามนิ้ว หรือการฝังหมุดคณะราษฏร์ 2020 ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ซึ่งมันได้ทำงานกับผู้คนในระดับที่ลึกกว่าการจดจำ นั่นคือสามารถกระตุ้นการกระทำบางอย่างได้นั่นเอง ดังวลีที่บอกว่า “หมุดนี้ได้ฝังแล้วในใจของคนไทย”

การเป็นผู้มีอำนาจนั้นอาจแบ่งออกได้เป็น 2 แบบ แบบแรกคือการครอบครองอำนาจที่ไม่เป็นทางการ (หรือ de facto) ซึ่งเป็นขั้นแรกของการใช้อำนาจ นั่นคืออำนาจนั้นได้รับการยอมรับจากสังคมในระดับหนึ่ง ส่วนขั้นที่สอง คือการที่อำนาจนั้นได้รับการยืนยันว่าถูกต้องตามกฎหมาย (หรือ de jure) ซึ่งผู้มีอำนาจทุกคนต่างพยายามอ้างว่าตนเองมีอำนาจแบบ de jure อยู่เสมอ  น่าเชื่อว่า การแสดงการแข็งขืนต่ออำนาจของเหล่าผู้ชุมนุม เป็นการพยายามทำให้อำนาจนั้นไม่ผ่านเกณฑ์ขั้นแรก หรือไม่ผ่านขั้นที่เรียกว่าเป็นที่ยอมรับของสังคม ซึ่งถ้าพวกเขาหาแนวร่วมได้มากพอ ก็อาจมีส่วนกดดันให้เกิดการแก้กฎหมาย หรือแก้ในขั้น de jure ซึ่งจะเป็นการลบล้างอำนาจของผู้มีอำนาจไปได้อย่างแท้จริง

สถาบันศาลอย่างที่ปรากฏในหนังนั้น เป็นผู้ถืออำนาจ de jure ไว้อย่างเบ็ดเสร็จเสมอ และเป็นการยากที่จะแก้ไขข้อบังคับเกี่ยวกับการใช้อำนาจในส่วนนี้ หลายครั้งที่ความศักดิ์สิทธิ์ของศาลได้พังทลายลง (เหมือนกับในบางประเทศ) ซึ่งหมายความว่าอำนาจแบบ de facto หมดไปแล้ว แต่ศาลยังสามารถทำงานต่อไปได้อีกยาวนาน ยังพิจารณาคดีและดำเนินคดีกับบุคคลได้ต่อไป นี่อาจเป็นความไม่ยุติธรรมในเกมระหว่างผู้มีอำนาจและประชาชนตัวเล็ก ๆ ที่แท้จริง เพราะตั้งแต่เราเป็นพลเมือง เราก็ได้มอบสิทธิส่วนหนึ่งให้แก้ผู้มีอำนาจ เพื่อให้บ้านเมืองมีผู้ปกครองและสามารถดำเนินไปได้ภายใต้กฏเกณฑ์บางชุด นี่จึงเป็นเงื่อนไขที่ไม่ยุติธรรมนัก แต่ทุกคนต้องยอมรับ และพยายามผลักดันให้มีเครื่องมือตรวจสอบให้ได้มากที่สุด

สังคมที่ยุติธรรม 100% อาจไม่สามารถเป็นไปได้ เพราะเงื่อนไขที่เรามอบอำนาจบางส่วนของเราไว้ในมือผู้มีอำนาจ แต่ภายใต้ระบบประชาธิปไตย มันก็ได้เพิ่มโอกาสที่จะทำให้เกิดความยุติธรรมมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะความต้องการของปัจเจกบุคคลถูกสะท้อนมาจากการเลือกผู้แทน ซึ่งจะกลายเป็นผู้มีอำนาจต่อไป อย่างน้อยกระบวนการทางประชาธิปไตยก็เป็นเรื่องของการตรวจสอบและทำให้เผยแพร่แก่ประชาชน ดังบทสรุปของ The Trial of the Chicago 7 ที่แม้ว่ากลุ่มผู้ชุมนุมจะถูกลงโทษ แต่พวกเขาบางคนก็มีอนาคตทางการเมืองที่สดใสกว่าคนทั่วไปหลังพ้นโทษ เพราะมีประชาชนที่ “เห็น” พวกเขา และพร้อมจะยืนอยู่ข้างพวกเขานั่นเอง

ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง แม้จะมีคนแพ้จากเกมที่ไม่ยุติธรรมระหว่างเขาและผู้มีอำนาจ แต่พวกเขาก็สามารถยืนหยัดได้หลังความพ่ายแพ้ ก็น่าตั้งคำถามอย่างยิ่งว่า ในสังคมของเรานั้น ได้มีที่ยืนให้กับคนตัวเล็ก ๆ ที่ต่อสู้กับผู้มีอำนาจด้วยมือเปล่ามากพอแล้วหรือไม่

The Trial of the Chicago 7 ได้เข้ามาในช่วงที่การเมืองไทยและการเมืองโลกกำลังปรับบริบทอย่างมีนัยสำคัญ คือมีการตั้งคำถามกับผู้ถืออำนาจ de jure สูงสุดของประเทศ และต้องการแก้ไขเงื่อนไขในการใช้อำนาจดังกล่าวนั้น ผนวกกับทางฝั่งอเมริกาที่การเลือกตั้งใกล้เข้ามา และมีการตั้งคำถามถึงการใช้อำนาจอย่างเกินขอบเขตของประธานาธิบดี โดนัล ทรัมป์ อีกทั้งยังมีกระแสประท้วง Black Lives Matter ที่คุกรุ่น หนังเรื่องนี้จึงเป็นเหมือนกระบอกเสียงของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการเรียกร้องความยุติธรรมและไม่จำนนให้แก่ผู้มีอำนาจง่าย ๆ 

อาจเห็นได้ว่าจิตวิญญาณการปฏิรูป ปฏิวัติในสายเลือดของคนรุ่นใหม่ในอดีตนั้นไม่ได้แตกต่างจากปัจจุบันมากนัก พวกเขาล้วนเป็นพลังบริสุทธิ์ และอยากได้สังคมหรืออนาคตที่ดีกว่าเพื่อเติบโตต่อไป พวกเขามีพลังและความทะยานอยากซึ่งไม่อาจถูกมองข้าม และมีอำนาจในการขับเคลื่อนสังคม หรือแม้กระทั่งทำให้ผู้ใหญ่ในสังคมต้องหันมามอง และมารับฟัง สิ่งที่ม็อบรุ่นนี้ต่างจากปี 1968 อาจเป็นเครื่องมือในการสื่อสาร อย่างเช่น โซเชียลมีเดีย และการผลิตสื่อที่เป็นปัจเจกมากกว่าเท่านั้น

ไม่แปลกที่ The Trial of the Chicago 7 ได้เรตติ้งดีมากใน Rotten Tomatoes (92%) และ IMDB (8/10) และน่าจะเป็นหนังขึ้นหิ้งอีกเรื่องของแอรอน ซอร์คิน ที่ปล่อยออกมาได้ในช่วงเวลาอันเหมาะเจาะ


ชม The Trial of the Chicago 7 ได้ที่ Netflix

นภัทร มะลิกุล
จบการศึกษาจากเอกปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ปัจจุบันเป็นนักวิจารณ์หนังและหนังสือให้กับสื่อออนไลน์ และยังเป็น co-founder ของบล็อกคุยเรื่องหนัง afterthescene.com เธอชอบเรียนรู้เรื่องมนุษย์ผ่านสื่อและศิลปะ และมีเป้าหมายอยากเป็นนักเรียนรู้ตลอดชีวิต

LATEST REVIEWS