The Price of Democracy : รุ่งโรจน์และแตกดับในความฝันที่ยังไม่สลาย

(2019, Liao Jian-Hua)

ในบรรดาภาพยนตร์หลายสิบเรื่องที่ฉายในเทศกาลภาพยนตร์สารคดีไต้หวันในไทยช่วงหลายปีมานี้ มีหลายเรื่องที่เข้าข่ายข้องเกี่ยวกับการเมืองไต้หวันและการเมืองโลก ไม่นับเรื่องอื่นๆ ที่ไม่ว่าจะเกี่ยวกับอะไร ก็ส่องสะท้อนถึงความเป็นการเมืองในเรื่องนั้นเสียหมดสิ้น ส่วน The Price of Democracy (2019, LIAO Jian-hua) อาศัยอยู่ในทั้งสองวงโคจรนั้น

หนังสารคดีเรื่องนี้พูดถึงสถานการณ์ทางการเมืองไต้หวันตลอดครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา เริ่มตั้งแต่ช่วงที่พรรคคอมมิวนิสต์ไต้หวันสิ้นอายุขัยและเจียงไคเช็คหมดอำนาจในปี ค.ศ. 1975 จนถึงยุคที่ไช่อิงเหวินก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีในปี ค.ศ. 2016 มันไม่ได้ขมวดทุกปมปัญหาในประวัติศาสตร์การเมืองร่วมสมัยของไต้หวันเข้ามาไว้ในหนึ่งชั่วโมงครึ่ง แต่มันใช้เวลาหนึ่งชั่วโมงครึ่งคลายปมปัญหาในชีวิตของนักเคลื่อนไหวสองคนที่ทำงานการเมืองมาตั้งแต่ยุค ’80 ให้แผ่ออกมาอย่างเรียบง่ายแต่ทรงพลัง และสิ่งที่เราเห็นคือการเดิมพันด้วยทุกอย่างเพื่ออุดมการณ์ประชาธิปไตยและความเท่าเทียมในสังคม อุดมการณ์ที่เราก็ยังไม่แน่ใจว่ามันกินได้ไหม แต่เธอและเขาแน่ใจ กินไม่ได้ก็ช่างปะไร ขอแค่ได้ทำอะไรเพื่อมัน

เธอกำเนิดเกิดจากวรรณกรรมเพื่อชีวิตและเติบโตท่ามกลางมวลชน เขากำเนิดเกิดขึ้นบนท้องถนนและคลี่คลายตัวเองในสายหนังสือพิมพ์ นักเคลื่อนไหวทั้งสองเดินทางมาถึงจุดตัดผ่านการตั้งพรรคการเมืองและลงเลือกตั้ง ก่อนที่ผลการเลือกตั้งจะทำให้พวกเขารู้สึกว่าความพยายามอาจเทียบได้กับความล้มเหลว ทั้งสองพรรคไม่ได้มีประชาชนหนุนหลังมากเท่าที่จินตนาการไว้ และชีวิตในสภาก็ได้จบลงตั้งแต่ยังไม่เริ่ม แต่นั่นไม่ได้ทำให้พวกเขาคิดว่าการเคลื่อนไหวตลอดหลายสิบปีนั้นไร้ความหมาย พวกเขาไม่เคยเสียดาย ไฟที่จุดไว้ พวกเขาเชื่อว่าจะไม่มีวันดับ แม้หัวใจจะดับสลายไปนานแล้ว

สิ่งใดกันที่จะทำให้หัวใจของคนหนึ่งคนดับสลาย? ความตายของคนสำคัญ ความผิดหวังครั้งยิ่งใหญ่ หรือความช้ำใจจากการถูกลืม? เราอาจคิดว่าความคุกรุ่นรุนแรงของสถานการณ์การเมืองลิขิตให้ชีวิตพวกเขาต้องทำสิ่งเหล่านี้และรับผลเช่นนี้ แต่ผิดขนัด พวกเขาเป็นคนลิขิตชีวิตทางการเมืองของตัวเอง และยอมรับการเสื่อมสลายตายลงของหัวใจเพราะการตัดสินใจที่ว่า

เธอตัดสินใจเดินลงถนนในวัยสามสิบเพราะรู้สึกว่าการต่อสู้ผ่านวรรณกรรมเห็นผลช้าเกินไป เธอกลายเป็นผู้กล่าวปราศรัยที่ขึ้นชื่อว่าก้าวร้าว หัวรุนแรง และไม่โอนอ่อนผ่อนตามที่สุดคนหนึ่ง เธอเชื่อเรื่องความเท่าเทียมในการเข้าถึงทรัพยากรและสวัสดิการของรัฐ และต่อสู้เพื่อสิทธิของคนรากหญ้าในทุกกลุ่มสังคม เธอมีครอบครัวเหมือนคนทั่วไป แต่ไม่มีใครมองเธอในแง่ดีรวมถึงแม่สามี ลงเอยที่ครอบครัวของเธอถูกพรากไปอีกฟากโลก ความทรงจำสุดท้ายของเธอเกี่ยวกับลูกสาวกลับกลายเป็นเพียงความฝัน เพราะความเป็นจริงนั้นช่างบอบบางจางหาย เหมือนภาพวาดสีไม้ซีดๆ ที่เธอวาดใส่กรอบติดไว้ที่ผนังห้องนอน 

ยังไม่นับการจากไปของคนสำคัญในชีวิต ซึ่งหนึ่งในนั้นตายจากอย่างสลดหดหู่ด้วยการราดน้ำมันจุดไฟเผาตัวเองในการประท้วงใหญ่ และเบื้องหลังของการตายก็ทำให้เธอเจ็บปวดถึงขีดสุด เธอตั้งใจเขียนหนังสือเพื่อเขาคนนั้น และวางแผนเดินทางลงใต้เพื่อหาข้อมูลเป็นเวลาราวห้าวัน แต่สุดท้ายกลับลงเอยที่ห้าปี หนังไม่ได้เล่าว่าระหว่างนั้นเธอทำอะไร แต่เรารู้แน่ชัดว่าไม่มีอะไรเปลี่ยนไปจากเดิม เธอใจสลายเหมือนกับก่อนหน้า แต่ก็ยังสู้เพื่ออุดมการณ์ ราวกับเป็นสิ่งเดียวที่หลงเหลือตกค้างอยู่ในครึ่งหลังของชีวิต

ส่วนเขาเป็นฝ่ายซ้ายวัยสามสิบที่ซื่อสัตย์กับแนวทาง ประโยคหนึ่งที่เขาใช้อธิบายการเคลื่อนไหวของตัวเองบ่งบอกถึงวิถีชีวิตของเขา นั่นคือเขาหาเงินเพื่อพอใช้จ่ายรายวัน “ไม่จำเป็นต้องหาให้ได้มาก เอาเวลาที่ทำงานหาเงินมาทำงานเคลื่อนไหว มันมีค่ายิ่งกว่าอะไรดี” เขาเชื่อเช่นนั้นและใช้ชีวิตเยี่ยงมีมันเป็นหลักค้ำยันเวลาล้ม

เขาใช้ชีวิตในวัยกว่าหกสิบในห้องเช่าเล็กๆ ที่แบ่งกันอยู่กับเพื่อนวัยเดียวกันอีก 3-4 คน เขาแบกค่าใช้จ่ายบางส่วนแทนเพื่อนๆ เพราะไม่อยากให้พวกเขาลำบาก เขามีครอบครัว แต่เป็นครอบครัวที่เขาทอดทิ้ง เขาเห็นการเคลื่อนไหวสำคัญกว่า เพราะขณะที่ไม่มีอะไรทำให้เขารู้สึกเข้าใกล้ความสำเร็จ การขึ้นเวทีปราศรัยและต่อสู้เรียกร้องเพื่อคนรากหญ้าทำให้เขารู้สึกถึงมัน

พวกเขาเป็นเพียงคนธรรมดาสองคนในอีกเป็นร้อยเป็นพันคนที่มีเรื่องราวชีวิตคาบเกี่ยวและพันผูกกับขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในไต้หวันตลอด 40 ปีที่ผ่านมา เป็นคนที่ถูกหลงลืมโดยผู้คน กาลเวลา และการต่อสู้ทางการเมืองที่พวกเขาทุ่มเททุกอย่างให้ คนธรรมดาเหล่านี้ตกอยู่ในหล่มของประวัติศาสตร์และเรื่องเล่ากระแสหลัก เป็นฟันเฟืองที่ทำให้ประชาธิปไตยเคลื่อนไปข้างหน้า แต่คนทั่วไปมองเห็นแค่ผลผลิตที่ออกมาจากเครื่องจักรนั้น

สารคดีเรื่องนี้หยิบเอาฟันเฟืองสองชิ้นนี้ออกมาปัดฝุ่นให้เห็นร่องรอยการใช้งานและขัดมันจนขึ้นเงา เป็นเงาที่สะท้อนให้เห็นฟันเฟืองชิ้นอื่นๆ ที่ปรากฏอยู่ในเส้นเรื่องเดียวกัน ตั้งแต่เพื่อนที่ร่วมหัวจมท้ายช่วยกันก่อตั้งพรรคและวางแผนหาเสียง รุ่นพี่นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของเกษตรกรรากหญ้า สหายนักเคลื่อนไหวที่จุดไฟเผาตัวเองตายกลางม็อบ และตัวคนดูที่ยืนกระต่ายขาเดียวอยู่บนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยที่ดำเนินไปได้แบบครึ่งๆ กลางๆ

นั่นหมายความว่า สารคดีเรื่องนี้ไม่ได้นำเสนอแค่เรื่องราวของเขาและเธอ แต่ยังเล่าถึงคนรอบๆ และตัวคนดูเอง ในฐานะจุดที่เชื่อมต่อกันจนเผยภาพใหญ่ ที่บอกว่าไม่มีการเคลื่อนไหวใดจะสร้างแรงกระเพื่อมได้ด้วยคนเพียงหยิบมือ ผู้สร้างเชิดชูและสรรเสริญคนตัวเล็กจ้อยเหล่านี้ รู้ดีว่าพวกเขามีหัวใจที่อ่อนโยนเปราะบาง และนำเสนอความละเอียดอ่อนที่สุดเท่าที่มนุษย์คนหนึ่งจะมีได้ออกมา ผ่านบทบันทึกการเดินทางของพวกเขาไปยังสถานที่ต่างๆ

—การเดินทางไปงานศพของเธอนำไปสู่การเกิดใหม่ของผู้ตายในนามรัฐบุรุษเมื่อไช่อิงเหวินมานำคำนับศพ การเดินทางไปโรงพยาบาลของเขาในตอนท้ายสร้างความหมายใหม่เมื่อเรารู้ว่าเหตุใดเขาจึงต้องไปที่นั่น และการเดินทางไปม็อบเล็กๆ ครั้งหนึ่งในช่วงเวลาปัจจุบันนั้นสร้างแรงสั่นสะเทือนในหัวใจ เมื่อรู้ว่าพวกเขาไม่ได้เป็นฟันเฟืองที่ขับเคลื่อนเครื่องจักรอีกต่อไป หากแต่สิ่งที่พอจะทำได้คือการจ้องมองอยู่ห่างๆ อ้าปากตะโกนตามคำกล่าวของเหล่าลูกหลาน และสนับสนุนพวกเขาด้วยอุดมการณ์ที่ไม่เคยตาย

สารคดีเรื่องนี้มีชีวิตอย่างยิ่ง เพราะผู้สร้างไม่ชี้นำให้เราต้องรู้สึกเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือได้ข้อสรุปเดียวแบบเสียงไม่แตกว่า ช่างเป็นเรื่องน่าเศร้าที่คนเหล่านี้ถูกหลงลืมและสุดท้ายมีแต่แกนนำที่ถูกจดจำ เพราะเรื่องน่าเศร้าไม่ใช่ว่าพวกเขาได้เป็นดาวเด่นค้างฟ้าหรือไม่ หรือชีวิตพังพินาศเพียงใดหลังประเคนลมหายใจให้การต่อสู้ แต่เรื่องเศร้าคือการที่ประชาชนคนธรรมดาต้องออกมาเรียกร้องสวัสดิการของชนชั้นแรงงาน ความเป็นอยู่ที่ดีโดยถ้วนหน้า และเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเขาควรจะได้มาตั้งแต่แรกโดยไม่ต้องยื้อแย่งเอาจากรัฐ

เหนือไปกว่านั้น ผู้สร้างไม่ได้นำเสนอแค่ช่วงเวลาที่พวกเขารุ่งโรจน์หรือแตกดับเพียงอย่างเดียว แต่ขับเน้นทั้งสองอย่างขนานกันไป จนสองเส้นนั้นละลายเคลื่อนย้ายเข้าหากันเป็นเส้นเดียว มันคือเส้นเรื่องที่เรียกว่าชีวิต ชีวิตของคนธรรมดาที่มีความทุกข์ได้ในช่วงเวลาอันรุ่งโรจน์ และมีความสุขได้ในช่วงเวลาที่กำลังจะแตกดับ เราเห็นว่าดาวปราศรัยในวัยสามสิบทั้งสองทุกข์ใจเป็นล้นพ้นกับเหตุการณ์ใด และในวัยกว่าหกสิบที่ไม่เหลือใครในชีวิต พวกเขายิ้มทั้งน้ำตาได้เพราะอะไร

นี่คือความซับซ้อนทางอารมณ์ของเธอและเขาผู้ไม่เคยอยู่และไม่ได้อยากอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์กระแสหลัก เป็นความซับซ้อนที่ผู้สร้างมองเห็น บันทึกไว้ และทำให้เราเข้าใจว่า นี่เองก็คือการขีดเขียนประวัติศาสตร์อีกรูปแบบหนึ่ง ประวัติศาสตร์ที่ไม่มีพระเอกหรือนางเอก ไม่มีศัตรูหรือผู้ชนะ มีแต่คนตัวเล็กตัวน้อยที่พ่ายแพ้เพราะถูกชีวิตกระทำอย่างเท่าเทียมถ้วนหน้า แต่การถูกกระทำโดยชีวิตนั้นควรและจำเป็นจะต้องถูกบอกเล่าสู่ผู้คนในวงกว้าง เพื่อเน้นย้ำว่า ในสังคมที่ไร้ความยุติธรรม ไม่ว่าจะตัดสินใจต่อสู้หรือไม่ทำอะไรเลย เราทั้งมวลต่างเป็นผู้แพ้ให้กับชีวิตด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น

นี่เองก็คือการขีดเขียนประวัติศาสตร์อีกรูปแบบหนึ่ง ประวัติศาสตร์ที่ไม่มีพระเอกหรือนางเอก ไม่มีศัตรูหรือผู้ชนะ มีแต่คนตัวเล็กตัวน้อยที่พ่ายแพ้เพราะถูกชีวิตกระทำอย่างเท่าเทียมถ้วนหน้า แต่การถูกกระทำโดยชีวิตนั้นควรและจำเป็นจะต้องถูกบอกเล่าสู่ผู้คนในวงกว้าง เพื่อเน้นย้ำว่า ในสังคมที่ไร้ความยุติธรรม ไม่ว่าจะตัดสินใจต่อสู้หรือไม่ทำอะไรเลย เราทั้งมวลต่างเป็นผู้แพ้ให้กับชีวิตด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น

จริงอยู่ หากการเมืองดี สังคมคงมีความเสมอภาค ไม่มีความเหลื่อมล้ำระหว่างนายทุนกับคนรากหญ้า ไม่มีใครถูกเอารัดเอาเปรียบ และพวกเขาก็คงไม่ต้องลงถนนหรือจ่ายราคาค่างวดใดๆ แต่ในเมื่อความจริงคือสิ่งตรงกันข้าม และมนุษย์ล้วนมีอำนาจตัดสินใจ เราจะกล้าทุบความหวังและความฝันให้แตกสลายไหม เราพร้อมจะรุ่งโรจน์และแตกดับไปพร้อมกับมันหรือเปล่า นี่อาจเป็นสิ่งที่คนดูต้องถามตัวเอง

แต่สำหรับนักเคลื่อนไหวทุกคนที่ปรากฏตัวในสารคดีเรื่องนี้ คำตอบของพวกเขานั้นชัดเจนยิ่งแล้ว


หมายเหตุ : เช่า The Price of Democracy พร้อมกับหนังในเทศกาลภาพยนตร์สารคดีไต้หวันเรื่องอื่นได้ที่ Doc Club on Demand (เปิดให้เช่าถึงวันที่ 10 ธ.ค. และมีระยะเวลาในการดู 1 สัปดาห์นับตั้งแต่วันเช่า)

วรรษชล ศิริจันทนันท์
ชอบเขียนถึงภาพยนตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม เรียนจบด้านประวัติศาสตร์ยุโรป ความฝันในวัยเกือบ 30 คือการได้ย้ายออกจากประเทศ

LATEST REVIEWS