อนินทรีย์แดง (Red Aninsri, or Tiptoeing on the Still Trembling Berlin Wall) : The Next Voice You Hear

(2020, Ratchapoom Boonbunchachoke)

มีจุดเล็กๆ ที่แทบจะมิได้มีส่วนขับเคลื่อนหนังเท่าไหร่ อยู่ช่วงกลางๆ เรื่องที่ตัวเอก ‘อังค์’ เข้าไปตีสนิทกับนักเคลื่อนไหวผู้ซึ่งเป็นที่ต้องการตัวของรัฐบาล ในขณะนั้น ‘อังค์’ ได้แปลงโฉมตัวเองเป็นชายหนุ่ม (โดยใข้ชื่อ ‘อิน’) มีบทสนทนาบนเตียง (ซึ่งมีแค่นั้นจริงๆ ครับ) ที่สองคนเขาถกกันถึงสิ่งที่อเมริกาปฏับัติกับญี่ปุ่นด้วยการไม่จับองค์จักรพรรดิ แต่เก็บไว้ เพื่อไม่ต้องการให้ญี่ปุ่นเป็นคอมมิวนิสต์ (ซึ่งอันนี้ไม่เคยรู้มาก่อนเลย)

(เพราะเท่าที่เคยได้ยินมาคงมีแค่) หลังอเมริกาทิ้งบอมบ์ไปสองลูก ก็เข้าไปปลดอาวุธญี่ปุ่น โดยยกเลิกกองทัพซะ ด้วยความที่วิตกว่าสาเหตุอันเป็นสารตั้งต้นของ ‘แนวคิดวงศ์ไพบูลย์แห่งภาคพื้นเอเชียอาคเนย์’ ด้วยการแผ่ขยายกำลังทางทหาร ล้วนเกิดจากลัทธิบูชิโดกับมายาคติเรื่องคนในชาติทุกคนคือลูกพระอาทิตย์ ขณะที่ในความเป็นจริงของสิ่งที่เกิดขึ้น อุดมการณ์สังคมนิยมแทบจะไม่เข้ามาสร้างแรงสั่นสะเทือนต่อโครงสร้างทางการเมืองเสียด้วยซ้ำ ยิ่งกว่านั้นยังมีการก่อตั้งพรรคสังคมนิยมญี่ปุ่น ซึ่งที่ถูกแล้ว (ตัวละคร)จิตรน่าที่จะตกเป็นที่ต้องการตัวของขบวนการตามล่า(แม่มด)จากรัฐบาลญี่ปุ่นมากกว่า (ใช่ป๊ะ) แต่เท่าที่เห็นกัน จิตรกลายเป็นเป้าหมายการตามล่าของอีก(รัฐ)ชาติไปซะแทน

‘ญี่ปุ่น’ (และองค์จักรพรรดิ) มิได้เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องหรือรู้เห็นอะไร (ตามความเห็นของ ‘จิตร’) เพียงแค่ถูกยืมชื่อมาอ้าง นอกเสียจากส่วนที่เปราะบางและอ่อนไหวพอกัน ก็ดันมาเกิดกับอีกชาติซึ่งบังเอิญมีโครงสร้างที่ใกล้เคียงกันอีก ซึ่งถ้าเปลี่ยน(ถ้อยคำในไดอะล็อกนิดเดียว)เป็นอีกชาติหนึ่ง ความอ่อนไหวถึงขั้นต้องส่งสปายมาตามล่าหัว ‘นักกิจกรรม’ (ซึ่งคงไม่มีแค่แค่จิตรแน่) จะชัดเจนขึ้น นี่ยิ่งถ้าเราอ่าน ‘ขุนศึก ศักดินาฯ’ จะเก๊ตเองว่าที่อเมริกาเข้ามาหนุนหลัง(   ) เพื่อไม่ให้(    )ตกเป็นคอมมิวนิสต์นั่น มันเรื่องของอีกประเทศต่างหาก

ขณะที่ภาพจำอันดับแรกของ ‘อนินทรีย์แดง’ มักเป็นเรื่องของการสร้างตัวตนใหม่ไปพร้อมๆ กับการกลบเกลื่อนเสียงเดิม ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของหนังในยุคสิบหกมม.ซึ่งผูกติดกับการพากย์เป็นหลัก ซึ่งนี่ก็เป็นกับดักอีกหลุมที่ผกก.รัชฏ์ภูมิใช้เบี่ยงเบนความสนใจ ซึ่งถ้าคนดูจับทางถูก+ไม่หลง (คือไม่ยอมให้รัชฏ์ภูมิหลอก) หนังเรื่องนี้จะยิ่งสนุกมาก หากมองด้วย ‘ดวงตาที่สาม’ คือก้าวข้ามทั้งสิ่งที่เห็นด้วยตาและเสียงที่ได้ยิน (ในสิ่งที่คนที่ต้องการจะให้เราฟัง)

หนังอย่าง ‘อนินทรีย์แดง’ จึงถูกสร้างในยุคที่บริบททางสังคมเข้าไปใกล้กับยุคสงครามเย็น ยกเว้นการสนองตอบของคนที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เมื่อคนเลิกเชื่อในสิ่งที่ได้รับการบอกเล่า (อะไรที่มาจากทางการกลายเป็นสิ่งที่ไร้ความน่าเชื่อถือ มิหนำซ้ำยังดูปลอมแปลงเกินกว่าจะเห็นค่าความเป็นจริง) 

ตลอดทั้งเรื่อง รัชฏ์ภูมิยั่วล้อกับขนบของการ (ใส่เสียง)พากย์ = dubbed โดยให้คู่ขนานไปกับความสงสัยเคลือบแคลงไปจนกระทั่งถึงความไม่ไว้วางใจ (doubt) ไปกับภาพที่เห็น, ข้อมูลที่ได้รับ กับการสัมผัสจริงด้วยตัว: อังค์ค้นพบด้านที่ทางการไม่เห็น (หรือถ้าเห็น ก็คงปิดบังหรือไม่ก็ให้ข้อมูลไม่ครบ) เกี่ยวกับตัวจิตร จนกระทั่งอังค์เองกลายเป็นคนที่สร้างภาพซึ่งซ้อนทับกันชนิดพหุเลเยอร์ส: อังค์ยอมถอดวิกผมทองที่สวมมาตลอดจนมั่นใจว่า identity ที่แท้จริงคือตัวตนตรงนี้ โดยแสดงตัวต่อจิตรในร่างของเพศชาย+พูดจาด้วย ‘เสียงพระเอก’ จนในที่สุดคนที่ ‘ปลอม’ และเสแสร้งกลายเป็นตัวเธอเอง

ส่วนที่น่าคลางแคลงกว่ากลายเป็นตัวละครลับซึ่งมีวี่แววว่ามีส่วนเชื่อมโยงทั้งอังค์|อินและจิตรเข้าไว้ด้วยกัน เป็นชาวต่างชาติซึ่งลอยวนเป็น vibe ให้คน(ดู)สงสัยเล่น ระหว่าง ‘ผัว’ เก่าซึ่งมีเชื้อสายแอฟริกัน (โดยหนังได้เสริมย้ำในส่วนของการพากย์-ใช้เสียงคนอื่นมาพากย์ไทยทับ = dubbed) แล้วมีชื่อเรียกว่า Josh กับสายเรียกเข้ามือถือของจิตร ปรากฏชื่อในเม็มฯ รู้สั้นๆ คล้ายเป็นโค้ดแค่ ‘Miiss: J’ ซึ่งสมมติว่า หาก J จะย่อมาจาก ‘Josh’ จริง คู่ของคนสองคน (ที่คนดูมองไม่เห็น) คือคนคนเดียวกัน

(หรือถ้าจะเป็นข้อสมมติฐานที่ worse case scenario ขึ้นมาอีก ก็คงได้ความว่า ถ้าชื่อสองชื่อเป็นคนละคนกัน ก็จะออกมาในรูปที่ว่าทั้ง Josh, หนุ่มผิวสีกับ ‘Miiss J’ นั่นมีความเกี่ยวพันกัน นั่นก็หมายความว่าคู่ของแต่ละฝ่าย (อังค์|อิน และ จิตร) เมื่ออยู่ลับหลังจะคบหากันเอง ซึ่งไม่มีข้อสรุป (นี่ก็เป็นอีก doubt ที่ไม่มีคำเฉลย) หรือถ้าาาา ที่เราเห็นว่าเป็น ‘Miiss’ สมมติไม่มีตัวตนอยู่จริง ทว่าเป็นแค่รหัสที่ใช้แทนคำว่า mission ธรรมดาๆ

องค์ประกอบที่คาใจเกี่ยวกับเป้าหมายของการตามจับคือจิตร ทั้งการแคสต์ตัวนักแสดง + การสร้างตัวละคร (ทำไม)ถึงได้กระเดียดไปทาง Joshua Wong ซึ่งฝ่ายที่ต้องการมากกว่าน่าจะเป็นทางการจีน ทว่ายังมี ‘คนรุ่นใหม่’ ของอีกชาติแถวๆ นี้ ยังมีอีกคนซึ่งมีเค้าหน้าละม้าย Joshua (ยิ่งกว่านั้นด้วยความเคลื่อนไหวของคนซึ่งหน้าเหมือนโจชัว หว่องแถวๆ นี้… การที่จะส่งสายลับเข้าทาบประกบดูจะมีความสมเหตุสมผลกว่า) ขณะที่การได้อยู่ใต้ร่มเงาของ ‘ความเป็นอังค์’ ด้วยการสวมวิกผมทอง, พูดด้วย ‘เสียงสอง’ ของความเป็นหญิง ดูจะตอบสนองได้ทั้งความสุขและความปลอดภัยของการได้หยิบยืม identity ของหลินชิงเสีย/Brigitte Lin จากหนัง Chungking Express ซึ่งผู้กำกับนามสกุลเดียวกับ Joshua ทางนู้นนนคือ Wong (Kar Wai) ว่าแล้วทั้งอังค์|อินและจิตรต่างก็สลัดคราบแล้วเปลือยตัวตนของตัวเองในทันทีที่เชื่อมต่อเข้าหากันจนติด

หนังมีการใช้ภาษาที่เป็นการเปล่งออกมาจากความรู้สึกธรรมชาติ คือคำหยาบซึ่งเป็นรูปแบบของการแสดงออกที่ไร้ความเสแสร้งอย่าง ‘อีหน้า-ี’ ในไดอะล็อกของ Josh (ซึ่งจังหวะการปากไม่สัมพันธ์กับคำพูดตามประสาการพากย์เสียงภาษาไทยทับภาษาอื่น)

จนกระทั่งเรื่องเข้าสู่องก์ที่สาม (ท้ายเรื่อง) ซึ่งเป็นการจับอิน|อังค์เข้ารับการเวิร์คช็อป ‘การเปล่งเสียงด้วยวัจนภาษา’ การ doubt ในความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์, การปลอมแปลงอัตลักษณ์ตัวตน จนเสียงคุยฟังเหมือนเสียงพากย์ได้กลายเป็นเสาหลักสองต้นที่ช่วยพยุงความอยู่รอดทางธุรกิจสายลับมาตลอด ขณะเดียวกันภายใต้บรรยากาศสงครามเย็นยังมีอีกตัวแปรหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องของการนำชุดความคิด, ความเชื่ออุดมการณ์ชุดใหม่เข้าไปแทนที่และทับสิ่งที่มีอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ขั้นสูงสุดของการครอบงำคนในสังคม… ‘การล้างสมอง’

บรรยากาศห้องเวิร์คช็อป ซึ่งเป็นการเวิร์คช็อปเฉพาะชื่อเรียก รวมๆ แล้วกลับดูค่อนไปทาง group therapy มากกว่า ผกก.รัชฏ์ภูมิใช้ตัวละครคนนอกแบบเดียวกับที่ใส่หนุ่มเชื้อสายแอฟริกัน (พากย์ไทย) ในช่วงก่อนหน้า พอเข้าซีเควนซ์ ‘ห้องเวิร์คช็อป’ คนดูก็ได้รู้จัก ‘สมาชิกใหม่’ เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเป็นหนุ่มนักอนุรักษ์ป่า (เดียวกัน), ในเรื่องชื่อม่อน (ธีระพันธ์ุ เงาจีระนนท์) โดยถ่ายทอดประสบการณ์ด้วยภาษาใน level เดียวกับ Josh คือบรรยายความใหญ่ของ-วยในเวลาที่อยู่ในปากของกันและกันซึ่งไม่ว่าจะเป็นการใช้ภาษา (ที่ทั้งไม่พากย์, ไม่ต้องหาคำเพราะมาสร้างจริต ทว่าปล่อยให้ออกมาดิบๆ ตามความรู้สึก) และการสร้างตัวละครซึ่งเป็นคนนอก ทว่าทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมต่อให้สองคนได้เข้ามาหากัน ซึ่งถ้าไม่มีตัวละคร ‘สองดวงใจ’เข้ามา เรื่องเล่าของม่อนก็คงเป็นแค่การถ่ายทอดประสบการณ์ประกอบ self-criticism ธรรมดา นอกเสียจากว่าคนสองคนที่หวาดระแวง (doubt) ซึ่งกันและกันจะอยู่ที่ตรงนั้นด้วย… ‘ม่อน’ ได้กลายเป็น ‘นักพากย์’ แทนความรู้สึกลึกๆ ของคนสองคนโดยไม่ต้องปริปากพูด

คือถ้าาา ไม่มีคนสองคนเข้ารับการบำบัด group therapy (เอ๊ย! ‘เวิร์คช็อปการออกเสียง’) เรื่องของม่อนก็คงเป็นแค่การระบายเพื่อประโยชน์สุขทางอารมณ์ของตัวม่อนเอง แล้วเรื่องของอังค์|อินและจิตรก็จะเหลือแค่ความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจและการหลอกใช้ที่กระทำกันเป็นทอดๆๆ (ที่ไม่จำเพาะแค่คนสองคน ทว่าตัวองค์กร + หน่วยเหนือเองก็ได้ประโยชน์จากความสัมพันธ์ของคนสองคนตามไปด้วย)

ใช่ครับ ทั้งจิตรก็เจ็บ, อังค์|อินเองก็เจ็บซึ่งเป็นความเจ็บที่เกิดขึ้นหลังสองคนยอม ‘เปลือย’ อารมณ์ความรู้สึกให้กันและกันโดยไม่ต้องมามิบเม้มอำพรางหรือเก๊กเสียงหล่อซึ่งหนังเขาใช้โค้ด (ที่ไม่ค่อยเป็นโค้ดซักเท่าไหร่คือชัดแจ้งแบเบอร์ปานนั้น) ระหว่างคำว่า’สาย-ลับ’, ‘สาย-รับ’ แล้วตลอดเรื่องเราก็มักเห็นโทรศัพท์มิสส์คอลล์มาเข้ามือถือของจิตร โดยที่จิตรก็มิได้ ‘รับ-สาย’ นอกจากปล่อยให้คลุมเครือกันเล่นๆ ว่าที่เห็น ‘Miiss J’ นั่น ควรจะเป็นใคร ในเมื่อจิตรก็ต้องคอยเฝ้า + พูดคุยโต้ตอบกับคู่สาย ซึ่งก็ไม่แน่ชัดว่าจะใช่เจ้านายต้นสังกัดหรือเปล่า..แล้วนี่ถ้าสมมติว่า คู่สายปลายทางฝั่งเรียกเข้าเครื่องของจิตร (‘Miiss J’) อะไรนั่น เกิดเป็นหัวหน้าต้นสังกัดจริง เรื่องซึ่งไม่ได้รับการบอกเล่าก็จะออกมาในรูปที่ว่า แล้ว’มิสส์ เจ’ๆ อยากพูดอะไรกับจิตร ซึ่งรวมถึง กำลังจะมีคำสั่งอะไรมาไหว้วานจิตร สรุปแล้วในโลกของสปาย อีกฝ่ายก็ยังคงไม่แคล้วเป็นสปาย (‘สาย-ลับ’) เหมือนกัน สุดท้าย ‘ผีก็ย่อมเห็นผี’ ด้วยกันเสมอซึ่งนั่นก็ตรงกับสำนวนวาทกรรมเป็นที่รู้กันเฉพาะผู้มีรสนิยมทั้งสายรับและสายรุก

และในโลกของจารชนเองก็ยังคงมีความพร่ามัวระหว่างสายลับกับเป้าหมาย เมื่อต่างคนต่างสืบ, ต่างฝ่ายต่างเป็นที่ต้องการตัวของฝั่งตรงข้าม ขณะที่หนังทำให้เราเห็นเพียงครึ่งเดียว แต่ฝั่งของอังค์|อิน (โดยทำหน้าที่แทนคนดูในการประกอบภารกิจตามรอยและตามจับจิตร) ขณะที่ ‘โลกซึ่งอยู่ลับสายตาของคนดู’ (ฝั่ง dark side of the moon) ของจิตร กลายเป็นส่วนที่ไม่มีใครเห็น เสียงของ ‘ม่อน’ จึงเข้ามาทำหน้าที่ ‘พากย์’ ในสิ่งที่ทั้งอังค์|อินและจิตรพูดออกมาไม่ได้เท่าๆ กับที่โลกนี้ก็ยังต้องพึ่งบริการของสปาย-สายลับ-จารชน ที่ต้องทำครบหมดทั้งหาข่าว, ป้อนข้อมูล ในสิ่งที่ต้นสังกัดยังอยู่ในอาการ ‘ใบ้’ และไร้เสียงโต้ตอบ

LATEST REVIEWS