Oasis: Supersonic …สภาวะ “เด็กชาย” นิรันดร์ กับวัฒนธรรมแบบร็อกๆ

ต้องยอมรับจริงๆว่า Oasic: Supersonic เป็นสารคดีที่ตีแผ่ชีวิตใต้ดินของสองพี่น้องกัลลาเกอร์แห่งวง Oasis ได้อย่างถึงพริกถึงขิง โดยเฉพาะพฤติกรรมห่ามๆ อย่างการทำให้คนทั้งวงการเหม็นขี้หน้าในการประกาศรางวัล Brit Awards การมีเรื่องวิวาทชกต่อยกันเองหรือกับคนอื่น หรือการยกย่องวัฒนธรรมยาเสพติดจนทำให้มีกระแสออกมาต่อต้านอย่างรุนแรงจากชาวอังกฤษ ยังไม่นับว่าสมาชิกวงบางคนทนพวกเขาไม่ได้จนต้องลาออกไปอีกนะ!

หากจะมีพฤติกรรมไหนที่แสดงให้เห็นความเป็น “อภิสิทธิ์” ของชายผิวขาว คงจะต้องยกให้การมีกิ๊กไม่ซ้ำหน้า แถมยังเป็นผลดีกับอาชีพของพวกเขาอีกด้วย ครั้งหนึ่ง โนล กัลลาเกอร์ ผู้พี่ สติแตกหลังคอนเสิร์ตที่เละไม่เป็นท่า เขาจึงจับเครื่องบินบินไปยังรัฐหนึ่งเพื่อไปหากิ๊ก ผลที่ได้กลับมาก็คือ เขาแต่งเพลงดังชื่อ “Talk Tonight” หากอยากรู้ว่าแสบแค่ไหนลองดูจากเนื้อเพลง

Sleepin’ on a plane, you know you can’t complain
(หลับใหลไปบนเครื่องบิน เธอรู้ว่าเธอเรียกร้องอะไรไม่ได้)

You took your last chance once again
(เธอขอโอกาสสุดท้ายอีกครั้ง)

I landed, stranded
(ฉันลงจากเครื่อง ไม่มีที่ไป)

Hardly even knew your name
(ไม่รู้จักแม้กระทั่งชื่อของเธอ)

I wanna talk tonight
(ฉันอยากพูดกับเธอคืนนี้)

Until the mornin’ light
(จนกว่าจะรุ่งสาง)

‘Bout how you saved my life
(เกี่ยวกับการที่เธอช่วยชีวิตฉันไว้)

You and me see how we are
(เธอและฉันรู้ดีว่าระหว่างเราเป็นอย่างไร)

และแน่นอนว่า โนลไม่เคยกลับไปเจอผู้หญิงที่ “ไม่รู้แม้กระทั่งชื่อของเธอ” อีกเลยหลังจากนั้น ทั้งๆ ที่เธอ “ช่วยชีวิต” เขาเอาไว้แท้ๆ หากเรื่องเป็นไปอีกทาง โดยให้โนลกลายเป็นผู้หญิงแทนและยุ่งกับเรื่องวิวาท ยาเสพติด หรือคบกับผู้ชายไม่เลือกหน้า เขาคงไม่สามารถอยู่ในวงการได้นาน แถมเพลงที่แต่งจากการไปหากิ๊กแค่คืนเดียวนั้นยังอาจจะกลายเป็นเพลงสุดอื้อฉาวอีกด้วย

สภาวะที่ผู้ชายได้รับการสนับสนุนจากผู้หญิง โดยไม่แม้กระทั่ง “เอ่ยชื่อ” ของเธอออกมานี้ ดูคล้ายกับการแช่แข็งสภาพที่ผู้ชายเป็น “เด็กชาย” อยู่ตลอดไป หรือผู้เขียนขอให้นิยามว่า “สภาวะเด็กชายนิรันดร์” อันที่จริงแล้วเหมือนเป็นตลกร้าย เพราะในสังคมแบบชายเป็นใหญ่ มักจะเป็นผู้หญิงต่างหากที่ถูกแช่แข็งไว้ในสภาวะ “เด็กหญิง” นิรันดร์ นั่นคือ การผลักให้ผู้หญิงอยู่ในขั้วของความอ่อนแอ อ่อนต่อโลก ใช้อารมณ์นำเหตุผล ไม่มีวุฒิภาวะ ตรงข้ามกับขั้วของเพศชายที่ต้องแข็งแกร่ง ทันโลก ใช้เหตุผลนำ และเป็นผู้ใหญ่ ข้ออ้างความเป็น “เด็กหญิง” นิรันดร์นี้เองนำมาซึ่งการให้ผู้ชายเป็นผู้ปกครอง หรือผู้มีอำนาจจัดการทรัพย์สมบัติของผู้หญิงในสมัยก่อน

สภาวะที่ผู้ชายได้รับการสนับสนุนจากผู้หญิง โดยไม่แม้กระทั่ง “เอ่ยชื่อ” ของเธอออกมานี้ ดูคล้ายกับการแช่แข็งสภาพที่ผู้ชายเป็น “เด็กชาย” อยู่ตลอดไป หรือผู้เขียนขอให้นิยามว่า “สภาวะเด็กชายนิรันดร์” อันที่จริงแล้วเหมือนเป็นตลกร้าย เพราะในสังคมแบบชายเป็นใหญ่ มักจะเป็นผู้หญิงต่างหากที่ถูกแช่แข็งไว้ในสภาวะ “เด็กหญิง” นิรันดร์ นั่นคือ การผลักให้ผู้หญิงอยู่ในขั้วของความอ่อนแอ อ่อนต่อโลก ใช้อารมณ์นำเหตุผล ไม่มีวุฒิภาวะ ตรงข้ามกับขั้วของเพศชายที่ต้องแข็งแกร่ง ทันโลก ใช้เหตุผลนำ และเป็นผู้ใหญ่ ข้ออ้างความเป็น “เด็กหญิง” นิรันดร์นี้เองนำมาซึ่งการให้ผู้ชายเป็นผู้ปกครอง หรือผู้มีอำนาจจัดการทรัพย์สมบัติของผู้หญิงในสมัยก่อน

เอ๊ะ! แล้วทำไมสภาวะ “เด็กชายนิรันดร์” ถึงชอบธรรมได้เมื่อมันเกิดขึ้น โดยเฉพาะในวัฒนธรรมแบบร็อกๆ ที่ผู้ชายจะห่ามแค่ไหนก็ไม่มีใครว่า?

ในจุดนี้จะขอยกตัวอย่างหนึ่งซึ่งจะทำให้เราเห็นภาพความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างชายหญิงชัดขึ้น เราคงได้เห็นมาบ้างว่า ผู้นำชายหลายคน เมื่อแสดงความแข็งกร้าวแบบผู้ชายก็มักจะได้รับความชื่นชมว่าพวกเขาสมชายชาตรี แต่เมื่อพวกเขาแสดงความอ่อนแอ อย่างเช่น การร้องไห้ ก็จะมีคนสร้างวาทกรรม “น้ำตาลูกผู้ชาย” ขึ้นมา เพื่อจุดประเด็นว่าผู้นำชายมีความอ่อนไหว น่าให้การสนับสนุน ในอีกฟาก ผู้นำหญิงคนหนึ่งแสดงความแข็งกร้าวแบบผู้ชาย แต่ถูกคนประณามว่าไม่มีความเป็นแม่และทำตัวแข็งกระด้างเกินไป แต่เมื่อเธอแสดงด้านที่เปราะบาง คนกลับหาว่าเธอควรกลับไปอยู่ในครัวและไม่ควรออกมาในพื้นที่สาธารณะที่เป็นของผู้ชาย เพราะเธอ “อ่อนแอ เจ้าน้ำตา และมีมารยา” เกินกว่าจะทำหน้าที่ผู้นำ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?

สิ่งที่อยู่เบื้องหลังท่าทีของสังคมที่ไม่เท่าเทียมนี้ก็คือ ผู้ชายที่แสดงความอ่อนแอและต้องการการสนับสนุน ลักษณะนี้ไม่ต่างจากนายทาสที่ลดตัวลงมาแสดงสถานะเดียวกับทาส และได้รับการยกย่องว่าเป็นบุคคลผู้อ่อนน้อม และกดขี่ทาสน้อยกว่าคนอื่นๆ ในขณะเดียวกัน ผู้หญิงนั้นอยู่ในชนชั้นของทาสอยู่แล้ว เมื่อเธอแสดงความแข็งกร้าวนั่นย่อมหมายความว่าเธอริอาจเทียบรัศมีกับนายทาส และเมื่อเธอแสดงลักษณะที่ถูกโยนให้เข้ากับความเป็นหญิง เช่น การร้องไห้ เธอก็ย่อมถูกประนามว่านำสันดานทาสออกมาแสดงอยู่นั่นเอง การที่ผู้ชายจะแสดงลักษณะของผู้หญิงจึงเป็นเรื่องที่ทำได้ และหลายครั้งคนกลับชอบด้วยซ้ำ เพราะเขา “อุตส่าห์ลดตัวลงมา” แสดงความอ่อนแอให้เห็นเชียวนะ

โอเอซิสกับการรับรางวัลในงาน Brit Awards ปี 1996

พฤติกรรมแบบเลียมและโนลซึ่งเป็นการแหกกรอบของสังคม จึงถูกมองว่า “ให้อภัยได้” “เป็นอารมณ์ชั่ววูบ” “เป็นความพลั้งเผลอชั่วครั้งชั่วคราว” หรือ “ให้พวกเขาได้สนุกบ้างเถอะน่า” ซึ่งเป็นการให้อภิสิทธิ์แก่ความเป็นผู้ชาย ว่าพวกเขานั้นเป็นผู้ใหญ่ที่ “แค่ทำตัวเด็ก” เพื่อปลดปล่อยอารมณ์หรือความตึงเครียดที่คนเป็นผู้ใหญ่ต้องเผชิญจากการใช้เหตุผลและความคิดในสังคมสาธารณะอย่างหนักหน่วง

ไม่เพียงเท่านั้น การที่โนลได้รับการสนับสนุนจากผู้หญิง โดยไม่แม้แต่จะจำหรือเอ่ยชื่อเธอออกมา ยังสะท้อน “การทำให้เป็นฉากหลัง (background)” ซึ่งอยู่ในวัฒนธรรมแบบทวินิยม (dualism) ที่แบ่งแยกคนออกเป็นสองฝ่ายขาดจากกัน นั่นคือด้านที่มีความเป็นชายเหนือกว่าความเป็นหญิง ความมีอารยะเหนือกว่าความป่าเถื่อน และเหตุผลเหนืออารมณ์ กระบวนการทำให้เป็นฉากหลังก็คือการไม่ให้ค่ากับประโยชน์ที่ฝ่ายที่ด้อยกว่า (ผู้หญิง) ทำ โดยทำให้ดูเป็นเหมือนสิ่งเล็กน้อยหรืองานชั้นต่ำ ตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือ การให้ค่างานบ้านที่ผู้หญิงทำเป็นเสมือนงานให้เปล่า โดยไม่คิดว่างานบ้านเป็นส่วนสนับสนุนให้ผู้ชายทำงานนอกบ้านได้อย่างราบรื่น

การที่โนลได้รับการสนับสนุนจากผู้หญิง โดยไม่แม้แต่จะจำหรือเอ่ยชื่อเธอออกมา ยังสะท้อน “การทำให้เป็นฉากหลัง (background)” ซึ่งอยู่ในวัฒนธรรมแบบทวินิยม (dualism) ที่แบ่งแยกคนออกเป็นสองฝ่ายขาดจากกัน นั่นคือด้านที่มีความเป็นชายเหนือกว่าความเป็นหญิง ความมีอารยะเหนือกว่าความป่าเถื่อน และเหตุผลเหนืออารมณ์

“ผู้หญิงที่ผมจำชื่อไม่ได้” จึงถูกทำให้เป็นฉากหลังโดยไม่มีใครคิดจะไปสืบค้นว่าเธอเป็นใคร และหน้าที่ของเธอก็เพียงให้การสนับสนุนเล็กๆน้อยๆแก่อัจฉริยภาพของโนล โดยไม่มีใครเห็นว่าเป็นสิ่งสลักสำคัญ สิ่งที่น่าคิดอย่างหนึ่งก็คือ ในระหว่างที่สารคดีเรื่องนี้ติดตามเส้นทางอาชีพของเลียมและโนล เราจะเห็นผู้หญิงที่ไม่มีชื่อปรากฏอยู่จำนวนมาก เป็นเสมือน “ฉากหลัง” ในความหมายที่ตรงกับตัวอักษรจริงๆ

หากจะมีวัฒนธรรมไหนที่ต้องถูกตั้งคำถาม ก็คงจะเป็นวัฒนธรรมแบบร็อกๆ ที่ให้ผู้ชายมีอิสระทำอะไรก็ได้อย่างเต็มที่ และเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากชีวิตแบบแหกขนบมาสร้างสรรค์ผลงาน ในขณะที่ผู้หญิงมีพื้นที่ให้ค้นหาตัวเองได้อย่างจำกัด และต้องทำตัวตามขนบจารีตเพื่อให้ตัวเองยังคงความเป็น “ผู้หญิงที่ดี” ที่จะไม่โดนประณามจากสังคมอยู่นั่นเอง ในแง่หนึ่ง มันยอมให้ผู้ชายโตขึ้นไปเป็น “เด็กชาย (Boy) ในร่างของชายหนุ่ม (Man)” ในขณะที่ผู้หญิงก็เป็นได้เพียงเพศที่สอง (the second sex) ที่ต้องสนับสนุนผู้ชายและถูกกดขี่ไม่ให้แสดงออกอย่างเต็มที่


*ชมสารคดี Oasis: Supersonic ได้ที่ Doc Club on Demand

นภัทร มะลิกุล
จบการศึกษาจากเอกปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ปัจจุบันเป็นนักวิจารณ์หนังและหนังสือให้กับสื่อออนไลน์ และยังเป็น co-founder ของบล็อกคุยเรื่องหนัง afterthescene.com เธอชอบเรียนรู้เรื่องมนุษย์ผ่านสื่อและศิลปะ และมีเป้าหมายอยากเป็นนักเรียนรู้ตลอดชีวิต

LATEST REVIEWS