กลุ่มคนทำหนังไทยรุ่นใหม่ที่เพิ่งเข้าฉายเป็นโปรแกรมพิเศษที่ Lido Connect เปิดใจหลังหนังฉายจบถึงอนาคตในวงการหนังไทยในอุดมคติ ว่ากระแสหนังสั้นช่วงนี้ที่มักพูดถึงความแปลกแยกกับครอบครัวและเรื่องการเมือง จะเป็นเรื่องตกยุคในอนาคต
เมื่อวันอาทิตย์ที่ 22 พ.ย. 2563 ที่ Lido Connect ฉายหนังสั้นไทย 3 เรื่องในโปรแกรม LIDO Sho(R)t อันประกอบไปด้วย Now here, Nowhere โดย ธนรัมน์ เปรมบุญ (คนซ้ายจากรูป) ‘พญาวัน’ โดย ศุภมาส บุญนิล (คนกลาง) และ ‘ไกลบ้าน’ โดย ธีรพันธ์ เงาจีนานันต์ (คนขวา) โดยสองเรื่องแรกพูดถึงการ ‘กลับบ้าน’ เพื่อไปเผชิญหน้ากับครอบครัวที่ทำให้พวกเธอรู้สึกแปลกแยกกับวิธีคิด ความเชื่อ และวัฒนธรรมเฉพาะตัว ส่วน ‘ไกลบ้าน’ เป็นสารคดีที่ติดตามชีวิตและครอบครัวของ วัฒน์ วรรลยางกูร ผู้ลี้ภัยทางการเมือง
หนังสั้นทั้งสามเรื่องสามารถบอกยุคสมัยได้อย่างดี โดยเฉพาะในกลุ่มหนังจบการศึกษาของหลายสถาบันในช่วงนี้ ที่มักเล่าเรื่องถึงวัยรุ่นกับการตั้งคำถามต่อคนในครอบครัว สภาวะแปลกแยกกับสิ่งรอบข้าง รวมถึงเรื่องการเมืองที่เล่าอย่างตรงไปตรงมา Now here, Nowhere กับ ‘พญาวัน’ เป็นหนังจบการศึกษาทั้งคู่ซึ่งต่างก็เล่าว่ามาจากเรื่องราวส่วนตัวของธนรัมน์กับศุภมาส ส่วน ‘ไกลบ้าน’ ก็มาจากความอึดอัดคับข้องใจของสถานการณ์การเมืองในปี 2018 ที่ทำให้ธีรพันธ์เริ่มทำหนัง
ทั้งสามคนเป็นคนรุ่นใหม่ที่กำลังเริ่มต้นในสถานะคนทำหนังในปีที่วงการหนังกำลังซบเซาด้วยปัจจัยรุมเร้ารอบด้านพอดี เมื่อตั้งคำถามถึงอนาคตการทำหนังท่ามกลางสภาวะเช่นนี้ พวกเขาเผยความในใจไว้ว่า
ธนรัมน์ – “ผมว่าช่วงเวลานี้น่าจะมีหนังออกมาเยอะๆ ด้วยซ้ำ มันควรจะมีคนออกมาพูดในสิ่งที่ตัวเองตั้งคำถาม ทั้งเรื่องการเมือง เรื่องสังคม ผมอยากให้เราพูดทุกอย่างได้ ตอนนี้เราโดนห้ามพูดอยู่ ทั้งที่มันเป็นช่วงเวลาสำคัญทางการเมือง สมมติในอีก 20 ปีข้างหน้าเราสามารถพูดอะไรก็ได้แล้ว แต่เราเก็บเอาไปพูดในตอนนั้นมันจะได้อะไรขึ้นมา ทุกวันนี้ผมได้เขียนบทในหนังไทยสตูดิโอ ผมรู้ว่ามันก็ยังไม่สามารถพูดได้อยู่ดี แต่ผมก็พยายามที่สุดเท่าที่ทำได้ที่จะใส่บทพูดหรือหมัดฮุคเพื่อสื่อสารกับคนในยุคนี้บ้าง”
ศุภมาส – “อนาคตของหนังไทยสำหรับหนู ไม่อยากให้มีหนังที่มีฉากพ่อแม่นั่งถามลูกว่าอยากเรียนหรือจบแล้วอยากทำอะไร พอบอกว่าอยากเป็นคนทำหนังพ่อแม่ก็ไม่เห็นด้วย อะไรพวกนี้อยากให้มันหมดไปได้แล้ว แต่ทุกวันนี้มันยังอยู่ก็เพราะปัญหามันยังอยู่ วงการหนังมันยังไม่ได้รับการสนับสนุนที่ดีพอ มันไม่ได้รับค่าตอบแทนที่สมน้ำสมเนื้อกับที่ลงแรงไป คนทำหนังบ้านเรามีศักยภาพ แต่การให้คุณค่ากับงานศิลปะยังไม่ดี …อยากให้ในอนาคตเรามองย้อนกลับมาแล้วสิ่งที่มันเป็นปัญหาต่างๆ ที่เราทำในหนังสั้นกันอยู่ทุกวันนี้ มันหลุดพ้นไปได้แล้ว”
ธีรพันธ์ – “คนทำหนังไทยมีวิบากกรรมเยอะมาก ในการทำหนังหนึ่งเรื่องเราต้องแลกกับอะไรเยอะมาก ถ้าอนาคตการเป็นคนทำหนังของตัวเองก็อยากทำหนังฟิกชั่น เรายังคิดถึงการทำงานกับนักแสดง ผมทำสารคดีจนเริ่มคิดแบบหนังฟิกชั่นไม่เป็นแล้ว แต่ถ้าให้มองเป็นภาพรวม ผมอยากให้การทำหนังมันเป็นอาชีพได้จริง อย่างน้อยมีเงินทำงานที่เมคเซนส์ มีเงินเลี้ยงชีพได้จริง อยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี ทุกวันนี้มันเหมือนว่ามีเราหรือไม่มีเราอยู่ก็ได้ ขาดไปก็ไม่มีผลอะไร คุณค่าเราก็ไม่มี ถ้าถามถึงอนาคตในหนังไทยเราก็อยากให้การทำหนังมันอยู่รอดได้จริง”