ในขณะที่ออสการ์กำลังตื่นตัวกับความหลากหลาย ก็คงถึงเวลาของ โคลเอ้ จ้าว คนทำหนังชาวจีนที่โตในอเมริกา จนตอนนี้กลายเป็นตัวเต็งอันดับ 1 ผู้เข้าชิงออสการ์ปีหน้าไปแล้ว เพราะเธอเพิ่งพาหนัง Nomadland คว้ารางวัลสิงโตทองคำจากเทศกาลหนังเวนิซไปหมาดๆ ซึ่งยังถือเป็นการปูทางสู่โปรเจกต์ต่อไปอย่างการกำกับหนัง The Eternals แห่งจักรวาลมาร์เวล ที่มีนักแสดงนำอย่าง แองเจลิน่า โจลี่ และ ซัลม่า ฮาเย็ก แน่นอนว่า ฟ็อกซ์เสิร์ชไลท์ ผู้จัดจำหน่ายในอเมริกาที่อยู่ใต้ชายคาดิสนีย์ คงทำสุดความสามารถเพื่อดันจ้าวเข้าชิงออสการ์ให้ได้
จ้าวเป็นสาวจีนที่ข้ามน้ำข้ามทะเลมาจากปักกิ่ง เกิดเมื่อปี 1983 ในครอบครัวชนชั้นกลางค่อนสูง พ่อของเธอเป็นผู้จัดการบริษัทผลิตเหล็ก ส่วนแม่ทำงานในโรงพยาบาลและเคยเป็นนักแสดงในกองทัพปลดแอกประชาชน จนอายุ 15 จึงไปเรียนต่อที่อังกฤษ ก่อนจะข้ามไปเรียนรัฐศาสตร์ที่วิทยาลัยเมาท์โฮลโยกซึ่งเป็นวิทยาลัยเอกชนหญิงล้วนในแมสซาชูเซ็ตต์ ก่อนจะไปเรียนต่อด้านภาพยนตร์ที่มหาวิทยาลัยนิวยอร์ค (หนังเปลี่ยนชีวิตคือ Happy Together ของหว่องกาไว) การเป็นคนเอเชียชนชั้นกลางที่ไปเติบโตในต่างแดน ความแปลกถิ่นนำมาซึ่งความเปลี่ยวเหงา นั่นจึงเป็นที่มาของหนังทั้งสามเรื่องที่กรุยทางเธอจนมาถึงจุดที่ทั้งฮอลลีวูดกำลังจับจ้องในเวลาเพียงไม่กี่ปี
“เมื่อก่อน เวลาคนรู้สึกสูญสลายก็มักจะไปฝั่งตะวันตก นั่นคือสิ่งที่ฉันทำ ฉันโตในปักกิ่งก็จะมีแฟนตาซีถึงประเทศมองโกเลีย และพอฉันมาอยู่นิวยอร์ค ฉันก็คิดว่าเซาธ์ดาโกตาคือที่สำหรับฉัน”
Song My Brother Taught Me คือหนังเรื่องแรกของจ้าว เธอเล่าเรื่องของจอห์นนีและ จาชอน น้องสาวของเขา ที่อาศัยอยู่กับแม่เลี้ยงเดี่ยวในห้องเช่าที่เซาธ์ดาโกตา วันหนึ่งเมื่อพ่อของทั้งคู่เสียชีวิตลง จอห์นนีต้องไปแสวงโชคในแอลเอแต่ก็อดเป็นห่วงน้องสาวไม่ได้
จ้าวทุ่มสุดตัวกับการทำหนังเรื่องแรกโดยเธอใช้ชีวิตกับชาวบ้านนานแรมเดือน โดยใช้นักแสดงท้องถิ่นมารับบทนำ และการฝังตัวอยู่ที่นั่นทำให้เธอได้เจอกับ แบรดี จันโดร คาวบอยหนุ่มที่ประสบอุบัติเหตุและฝังบาดแผลลงในจิตใจของเขา เกิดเป็นหนังเรื่องที่สอง The Rider ที่จันโดรรับบทเป็นตัวเอง
The Rider ทำให้จ้าวกลายเป็นที่จับจ้องมากยิ่งขึ้น (เธอได้เข้าชิงผู้กำกับยอดเยี่ยม เวทีอินดี้สปิริต และเจิดจรัสมากๆ ในซันแดนซ์) ในฐานะที่เธอเป็นผู้หญิงเอเชีย แต่เล่าวิถีคาวบอยแบบผู้ชายได้ละเอียดอ่อนและเจ็บปวด ราวกับเติบโตมากับม้าและความเวิ้งว้างในใจกลางของอเมริกา
“หนังสองเรื่องแรกของฉันอาจดูคล้ายกันแต่มันต่างกันที่สภาพแวดล้อม ที่สร้างขึ้นมาให้คาวบอยและเด็กหนุ่มมีชีวิตโลดแล่นไม่เหมือนกัน มันเป็นวิธีเดียวกับการทำงานกับ ฟรานเชส แม็กดอร์แมน ใน Nomadland มันไม่ได้ทำงานเหมือนหนังสตูดิโอใหญ่ทั่วไป เราทำงานกันแบบกองโจรและเร่ร่อนไปเรื่อยเพื่อเป็นส่วนหนึ่งกับผู้คนและวิถีชีวิตของพวกเขา”
ใน Nomadland แม็กดอร์แมนรับบทแม่ม่ายที่เดินทางข้ามอเมริกาด้วยรถตู้บุโรทั่ง โดยเธอสลัดความเป็นนักแสดงสองรางวัลออสการ์ทิ้งไป แล้วร่วมตะลอนไปกับจ้าว พักในโรงแรมจิ้งหรีด และดูแลตัวเองอยู่นานนับเดือน เพื่อเข้าถึงตัวละคร เฟิร์น ที่เธอรับบท เป็นส่วนหนึ่งกับโลกอันถ่อมตัวของจ้าวอย่างไม่ขัดเขิน
รากจากชนชั้นกลางในปักกิ่ง จ้าวกลับสามารถเป็นส่วนหนึ่งกับบริบทอเมริกันชนชั้นกรรมาชีพ จริงอยู่ว่ามาจากการทำงานแบบกำซาบจิตวิญญาณอเมริกันเข้าไป แต่ก็ไม่เคยลืมว่าเธอมาจากไหน และนึกเสมอว่าหนังเล็กๆ ที่เธอทำจะได้สร้างบทสนทนากับครอบครัวของเธอที่อยู่ในอีกฟากโลก
“ฉันอยากให้ครอบครัวของฉันในปักกิ่งสามารถเชื่อมโยงกับหนังที่ทำ ฉันจึงต้องให้ความสำคัญกับความเป็นมนุษย์ ซึ่งนั่นคือความเป็นสากล”