ตลอดชีวิตการเป็นศิลปินและคนทำหนัง เดเร็ก จาร์แมนสร้างผลงานเข้มข้นชวนฮือฮาไว้มากมาย แต่ในช่วงเวลาสุดท้ายก่อนจากโลกนี้ไปด้วยอาการป่วยที่เกี่ยวข้องกับเอดส์ในปี 1994 สิ่งที่ปลอบประโลมใจให้เขาผ่านช่วงวิกฤตไปได้อย่างงดงาม คือ “การทำสวน” ❤️🌳☘️🍁
จาร์แมนเป็นคนทำหนังชาวอังกฤษคนสำคัญของวงการศิลปะอาวองการ์ดในลอนดอนช่วงทศวรรษ 1970-90 เขาสร้างงานโด่งดังหลายเรื่องที่นำเสนอประเด็นโฮโมอีโรติก เช่น Sebastiane (1976), Caravaggio (1986), Edward II (1991), Wittgenstein (1993), หนังวิพากษ์สังคมอย่าง Jubilee (1978), The Last of England (1987) กับยังเคยทำเอ็มวีให้ศิลปินดังๆ อย่าง เดอะสมิธส์, เพ็ตช็อปบอยส์ เป็นต้น
ในปี 1986 เขาพบว่าตนเองติดเชื้อเอชไอวี และแม้ทั้งโลกจะกำลังหวาดกลัวไวรัสนี้แบบบ้าคลั่ง จาร์แมนก็ยังตัดสินใจออกมาเปิดเผยอาการและเรียกร้องเพื่อผู้ป่วยอย่างกล้าหาญ ปีเดียวกันนั้นเขาไปเที่ยวชายหาดดันจีเนสส์ในมณฑลเคนต์แล้วพบกระท่อมชาวประมงยุควิกตอเรียหลังนี้เข้า จึงซื้อมันไว้ในราคา 32,000 ปอนด์ แล้วตั้งชื่อมันว่า Prospect Cottage หรือกระท่อมแห่งความหวัง และเปลี่ยนมันให้กลายเป็น “ที่หลบภัย” เพื่อทำงานศิลปะที่เขารัก
เป็นที่แห่งนี้นี่เองที่พลังแห่งการสร้างสรรค์ช่วงสุดท้ายของจาร์แมนพุ่งขึ้นถึงจุดสูงสุด เขาทำหนังเรื่อง The Garden ที่นี่ (รูปด้านล่างภาพบน), เขียนหนังสือ Modern Nature ที่นี่, วาดภาพ ทำงานประติมากรรม และเขียนบทกวีมากมายที่นี่ กระทั่งเมื่อเอดส์ทำให้เขาสูญเสียการมองเห็น เขาก็ยังปลงประสบการณ์นั้นเป็นหนังเรื่อง Blue (1993) ซึ่งใช้เสียงบรรยายประกอบกับภาพสีฟ้า สื่อสารถึงความตายที่ใกล้เข้ามาและสีเพียงสีเดียวที่ตาของเขายังเห็นอยู่ (รูปด้านล่างภาพล่าง)
อย่างไรก็ตาม ผลงานน่าทึ่งที่สุดที่จาร์แมนสร้างที่นี่แม้ร่างกายจะป่วยไข้ ก็คือการทำสวนที่แสนงดงาม …มันไม่ธรรมดาเพราะแท้จริงแล้วภูมิทัศน์ของดันจีเนสส์นั้นแทบไม่มีอะไรเอื้อ ที่นี่มีทั้งโรงงานนิวเคลียร์, รางรถไฟ และชายหาดที่เต็มไปด้วยกรวด มองไปทางไหนเห็นแต่หิน แทบหาสีดินไม่เจอ …ต้นไม้น้อยสีสันสดใสที่ค่อยๆ ผุดขึ้นท่ามกลางสภาพแห้งแล้ง รวมเข้ากับการจัดวางสิ่งของที่เก็บมาได้จากชายหาดอย่างประณีตบรรจง จึงกลายเป็นงานศิลปะยิ่งใหญ่ชวนอิ่มใจชิ้นสุดท้ายที่เขาฝากไว้ให้แก่โลกใบนี้
จาร์แมนเสียชีวิตในปี 1994 โดยยกกระท่อมให้ คีธ คอลลินส์ พาร์ตเนอร์ของเขา ซึ่งดูแลมันต่อมาจนปี 2008 ที่เขาเสียชีวิตตามไป องค์กรการกุศลของอังกฤษคือ Art Fund จึงประกาศขอระดมทุนจากสาธารณชนเพื่อซื้อไว้ก่อนที่มันจะตกเป็นของเอกชนรายอื่น
แคมเปญนี้มีเพื่อนๆ มากมายของจาร์แมนเข้ามาช่วย โดยเฉพาะ ทิลด้า สวินตัน นักแสดงสาวคู่บุญซึ่งช่วยโปรโมทเต็มที่ ส่งผลให้ระดมได้ถึง 3.6 ล้านเหรียญจากผู้บริจาคกว่า 8,100 ราย ในเวลาแค่ 10 สัปดาห์ (สองคนในนั้นคือ เดวิด ฮ็อคนีย์ ศิลปินชื่อดัง และ แซนดี้ พาวเวลล์ -คอสตูมดีไซเนอร์ที่เริ่มงานอาชีพนี้ครั้งแรกในหนัง Caravaggio – ซึ่งนำชุดที่เธอสวมไปงานออสการ์, งาน Critics Choice Awards และงานบาฟต้า มาล่าลายเซ็นคนดังแล้วประมูลได้เงินมา 2 หมื่นเหรียญ)
หลังจากนี้ Creative Folkestone องค์กรศิลปะของเคนต์จะเป็นผู้เข้ามาดูแล Prospect Cottage พร้อมแผนจะใช้มันเป็นสถานที่ฝึกอบรมและที่พักสำหรับศิลปิน, นักวิชาการ, นักเขียน, คนทำหนัง, คนทำสวน และวิชาชีพอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานที่จาร์แมนสนใจ กับยังจะเปิดบ้านให้นักท่องเที่ยวนัดหมายขอเข้าชมได้ด้วย
ส่วนข้าวของสำคัญๆ ที่จาร์แมนเคยเก็บไว้ในกระท่อม (เช่น สมุดโน้ต, สมุดสเก็ตช์ภาพ, ภาพวาด, ภาพถ่าย, รางวัลเชิดชูเกียรติจากบาฟตาที่เขาได้รับในปี 1992, กล้องซูเปอร์ 8 และสมุดจดที่อยู่ซึ่งเขาแปะภาพถ่ายเพื่อนๆ ไว้ จะนำไปจัดแสดงที่ Tate Britain ต่อไป)
ในไดอารี่ เดเร็ก จาร์แมนบันทึกถึงสวนของเขาไว้ว่า “การได้อยู่ท่ามกลางพืชที่ใช้เป็นยา, ลาเวนเดอร์, แดฟโฟดิล, เคลทะเล และผึ้งป่า ช่วยเยียวยาผมได้อย่างวิเศษ”
และ โอลิเวีย แลง นักเขียนที่เคยเขียนถึงสวนแห่งนี้ไว้ กล่าวส่งท้ายว่า “สวนเป็นดังดินแดนไร้กาลเวลา มันสามารถเชื่อมต่อเราไปสู่อนาคต …โดยเฉพาะเมื่อเราไม่รู้ว่าเรายังมีเวลาเหลือในชีวิตอีกมากแค่ไหน การปลูกต้นไม้ด้วยความรู้สึกว่ามันจะออกดอกในฤดูร้อนถัดไปนั้นเป็นการประคับประคองจิตใจที่มีพลังอย่างแท้จริง”