สรุปความคึกคักของหนังไทย 2021 ในเวทีโลก

แม้ว่าปีนี้โรงหนังในเมืองไทยจะปิดภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ในเวทีโลกแล้วนับเป็นปีทองของหนังไทย โดยเฉพาะเมื่อมองว่าเราเพิ่งเข้าสู่เดือนที่ 7 แต่หนังไทยก็เดินทางไปสร้างชื่อเสียงไปแล้วหลายเรื่อง ดังนี้…

เริ่มกันที่ 3 เทศกาลหลักของโลกอย่าง คานส์ เวนิซ และเบอร์ลิน

Memoria ได้เข้าสายประกวดที่เทศกาลหนังเมืองคานส์ ผลงานเรื่องล่าสุดของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล และเป็นหนังเรื่องแรกของเขาที่ถ่ายทำทั้งยังพูดภาษาต่างประเทศ นำแสดงโดย ทิลด้า สวินตัน เล่าเรื่องของหญิงชาวสกอตต์แลนด์ที่เดินทางไปยังโคลอมเบียและได้ยินเสียงลึกลับ เธอจึงค้นหาว่าที่มาของเสียงนั้นคืออะไร หนังได้รับเสียงปรบมือยาวนาน 14 นาทีหลังฉายจบ พร้อมคว้ารางวัล Jury Prize มาครองได้ นับเป็นรางวัลที่ 4 ของอภิชาติพงศ์ที่ได้รับจากเทศกาลหนังเมืองคานส์ ซึ่งในปีเดียวกันนี้ The Year of the Everlasting Storm หนังรวมหนังสั้นจองผู้กำกับหลายๆ ประเทศ ที่ทำในช่วงล็อกดาวน์ ยังได้ฉายโชว์ในเทศกาลด้วย

ที่เทศกาลหนังเบอร์ลินเมื่อตอนต้นปี มีหนังไทย 2 เรื่องได้รับเลือกให้ไปฉายด้วยเช่นกัน นั่นคือ ใจจำลอง ผลงานของ อโนชา สุวิชากรพงศ์ (‘เจ้านกกระจอก’ และ ‘ดาวคะนอง’) ได้ฉายในสาย Forum มีรายชื่อนักแสดงดังๆ อย่าง สายป่าน-อภิญญา สกุลเจริญสุข, ทู-สิราษฎร์ อินทรโชติ และ เอม-ภูมิภัทร ถาวรศิริ กับ Ploy หนังยาว 51 นาทีของ ประพัทธ์ จิวะรังสรรค์ หนังกึ่งสารคดีที่เล่าเรื่องของหญิงสาวค้าบริการผู้ดั้นด้นไปทำงานกลางป่าในสิงคโปร์ เรื่องของเธอเป็นจุดเริ่มต้นของการสำรวจชีวิตแรงงานต่างด้าวในอาเซียน หนังเข้าฉายในสาย Forum Expanded ซึ่งทั้งสองสายเป็นการเปิดมิติการเล่าเรื่องแบบใหม่ๆ ผ่านสื่อภาพเคลื่อนไหว

เวลา (Anatomy of Time) กำกับ: จักรวาล นิลธำรงค์

ล่าสุดที่เพิ่งประกาศสดๆ ร้อนๆ คือเทศกาลหนังเวนิซ เทศกาลหนังที่เก่าแก่ที่สุด ก็มีหนัง เวลา ของ จักรวาล นิลธำรงค์ (Vanishing Point) เล่าเรื่องของหญิงชราที่ต้องอยู่กับสามีในช่วงสุดท้ายของชีวิต ทำให้ได้ทบทวนเรื่องราวในอดีตอันขมขื่น (ภาพในโพสจากหนังเรื่องนี้) หนังได้รับเลือกให้เข้าประกวดในสาย Orizzonti ซึ่งก่อนหน้านี้ ‘กระเบนราหู’ ของ พุทธิพงษ์ อรุณเพ็ง ก็คว้ารางวัลมาแล้ว ขณะเดียวกัน ผิดปกติใหม่ หนังสั้นของ สรยศ ประภาพันธ์ ก็ได้เข้าฉายในสาย Orizzonti Short Films ด้วย ทั้งสองสายจัดขึ้นเพื่อนำเสนอมิติใหม่ๆ ของการเล่าเรื่อง ซึ่งก่อนหน้านี้สรยศเคยเข้าถึง Orizzonti มาแล้วจาก ‘อวสานซาวด์แมน’

ที่ซันแดนซ์ เทศกาลหนังที่ทรงอิทธิพลต่อวงการหนังอินดี้อเมริกัน ซึ่งไม่เคยมีผู้กำกับไทยย่างกรายไปถึง แต่ในปีนี้ นัฐวุฒิ พูนพิริยะ (‘ฉลาดเกมส์โกง’) ได้ไปบุกเบิกมาด้วย One For The Road ผลงานอำนวยการสร้างของ หว่องกาไว มีนักแสดงชื่อดังร่วมงานมากมาย ทั้ง ต่อ-ธนภพ ลีรัตนขจร, ไอซซึ-ณัฐรัตน์ นพรัตยาภรณ์ และ วี-วิโอเลต วอเทียร์ เป็นเรื่องของเพื่อนเก่าสองคนที่แยกกันไปอยู่คนละซีกโลกแล้ว แต่ต้องกลับมาร่วมทางกันอีกครั้งเมื่อคนหนึ่งกำลังจะตาย หนังคว้ารางวัล World Dramatic Special Jury Award: Creative Vision ติดมือกลับบ้านมาด้วย

ที่เทศกาลหนังร็อตเทอร์ดัม พญาโศกพิโยคค่ำ ผลงานของ ไทกิ ศักดิ์พิสิษฐ์ ก็สามารถคว้ารางวัล FIPRESCI Award มาครองได้ด้วย ผลงานของศิลปินวิดีโออาร์ตที่ทำหนังยาวเป็นครั้งแรก โดยเล่าถึงชีวิตผู้หญิงสามรุ่นผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ทางการเมืองครั้งใหญ่ นำแสดงโดย โดนัท-มนัสนันท์ พันเลิศวงศ์สกุล และ ชลัฏ ณ สงขลา

ร่างทรง หนังสยองของ บรรจง ปิสัญธนะกูล และอำนวยการสร้างโดย นาฮงจิน ทำสถิติเปิดตัวโค่น Black Widow และสร้างความฮือฮาในกลุ่มผู้ชมเกาหลี จากเรื่องของความเชื่อของผู้คนในชนบทภาคอีสาน ซึ่งไม่เคยมีหนังไทยเรื่องไหนขึ้นอันดับ 1 บ็อกซ์ออฟฟิศเกาหลีมาก่อนหน้านี้เลย

ก่อนหน้านี้ ‘ร่างทรง’ ได้รับเลือกให้ฉายที่เทศกาลหนังปูชอน ก็เป็นปีเดียวกับที่ Dark World ‘เกม ล่า ฆ่า รอด’ ได้รับเลือกให้ไปฉายด้วยเช่นกัน หนังกำกับโดย โน้ต จูเนียร์-จิตต์สินธ์ ผ่องอินทรกุล ที่ฉีกแนวตลกมาทำหนังดิสโทเปียเป็นครั้งแรก นำแสดงโดย ดิว-อริสรา ทองบริสุทธิ์ และ น้ำหวาน-รักษ์ณภัค วงศ์ธนทัศน์

ในฝั่งหนังสั้นยังมี อนินทรีย์แดง ผลงานของ รัชฏ์ภูมิ บุญบัญชาโชค เข้าฉายและคว้ารางวัลใหญ่สุดจากเทศกาลหนังสั้นกลาสโกว์มาครอง (หนังมีแผนจะฉายโรงเร็วๆ นี้) ส่วน ยายนิล สารคดี 13 นาที ของ แชมป์ เอ็นซมิงเกอร์ ที่ตามถ่ายชีวิตคุณยายเจ้าของกิจการแหนมและหมูยอในเชียงใหม่ ก็คว้ารางวัล สารคดีสั้นยอดเยี่ยม จาก Seattle Asian American Film Festival ส่วนที่ โลการ์โน ก็มีหนังสั้นไปฉายสองเรื่อง Reincarnated Light ของ จักรพันธ์ ศรีวิชัย กับ E-po ของ ป๋อม บุญเสริมวิชา และ ภาริณี บุตรศรี ในสาย Open Doors ส่วน Squished! หนังสั้นของ ตุลพบ แสนเจริญ ยังได้ฉายที่โลการ์โน ในสาย Concorso Internazionale

ทั้งหมดนี้คือความคึกคักของหนังไทยที่สวนทางกับสภาพปางตายของธุรกิจภาพยนตร์ในประเทศโดยสิ้นเชิง เป็นที่น่าจับตาว่าในขณะที่คนทำหนังไทยออกไปสร้างผลงานระดับสากลโดยพร้อมเพียงในปีเดียวกันนี้ จะมีการต่อยอดอย่างไรในภาคส่วนต่างๆ ที่ทำงานด้านศิลปวัฒนธรรม องค์กรวิชาชีพของหนังไทย รวมถึงภาครัฐเพื่อผลักดันให้เกิดมูลค่างอกเงยกลับมาเยียวยาประเทศได้บ้าง 

Related NEWS

LATEST NEWS