วันผู้ลี้ภัยโลก: 5 หนังว่าด้วยผู้ลี้ภัยในแผ่นดินที่ไม่มีใครอ้าแขนรับ

“เราปักหมุดหมายให้วันผู้ลี้ภัยโลกในปีนี้ ไม่เป็นแค่เพียงการต่อกรกับวิกฤติโลกอย่างเดียวเท่านั้น และไม่ใช่แค่จำนวนผู้คนที่ถูกบังคับให้ต้องจากบ้านเกิด แต่โลกนี้ก็กำลังต่อสู้กับโควิด-19 อันเป็นโรคภัยที่ส่งผลกระทบต่อพวกเราทั้งปวง ยังให้เกิดปัญหาเรื่องสุขภาพที่ขยายตัวไปทั่ว รวมถึงกับผู้คนซึ่งแสนจะเปราะบางอย่างผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่น ที่ยังต้องเผชิญหน้ากับความข้นแค้นซึ่งแพร่ระบาดอยู่ก่อนแล้วอีก”

ข้างต้นคือส่วนหนึ่งของแถลงการณ์วันผู้ลี้ภัยโลก (World Refugee Day) ของปี 2020 ซึ่งตรงกับวันที่ 20 มิถุนายนของทุกปี จากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ท่ามกลางสถานการณ์ของผู้พลัดถิ่นที่ยังพุ่งขึ้นสูงเพิ่มมากขึ้นทุกปี อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากปัญหาการเมืองและความอยุติธรรมในแต่ละประเทศ

บ้านเราเองก็เช่นกัน มิหนำซ้ำยังอาจเลวร้ายเพราะจนถึงนาทีนี้ ข่าวคราวของ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ หนึ่งในผู้ลี้ภัยจากผลทางการเมืองของไทยยังหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย ปราศจากการติดตามหาจากภาครัฐหรือแม้แต่องค์กรที่ทำหน้าที่ด้านนี้โดยเฉพาะ

การลี้ภัยมันไม่ใช่เพียงแค่การจากบ้านออกเดินทางไปยังที่แห่งใดแห่งหนึ่ง หากแต่มันหมายความถึงการโดนบังคับให้พลัดถิ่น ให้ออกห่างจากบ้านเกิด ครอบครัวและคนที่รัก หลายครั้งยังมีหวังจะได้กลับมาพบกันอีก และอีกหลายครั้งเช่นกันที่มันหมายความถึงการจากกันตลอดกาล

และนี่คือหนังที่ว่าด้วยผู้ลี้ภัยที่เราอยากแนะนำให้คุณได้ดู


Human Flow (2017, อ้ายเหว่ยเหว่ย)

สารคดีความยาวเกือบสองชั่วโมงครึ่งของเสด็จพ่อ อ้ายเหว่ยเหว่ย ที่ภายหลังทำหนังวิพากษ์สังคมอันตึงเครียดของจีนใน Fairytale (2008) และ Disturbing the Peace (2009) ทั้งยังวิจารณ์นโยบายและการปกครองของรัฐบาลจีนอย่างออกรสออกชาติจนถูกมองว่าเป็นศัตรูตัวฉกาจของทางการ ทั้งยังเป็นต้นเหตุให้เขาโดนริบพาสปอร์ตการเดินทาง ติดคุกในจีนและเมื่อพ้นออกมาได้ก็ยังไม่วายกลายเป็นผู้พลัดถิ่นเสียเองตรายจนได้พาสปอร์ตคืน หนังจึงเริ่มขึ้นผ่านสายตาของอ้ายทั้งในฐานะคนทำหนังและในฐานะอดีตผู้ลี้ภัยที่มองเข้าไปยังกลุ่มคนพลัดถิ่น แน่นอนว่าหลายล้านชีวิตไม่อาจโชคดีอย่างเขา (หากเราจะเรียกว่านั่นเป็น ‘โชค’ ได้) ที่ยังได้หวนคืนกลับบ้านเกิด กว่าครึ่งของผู้ลี้ภัยเหล่านี้ลงเอยที่ค่ายผู้อพยพและอยู่ยาวเช่นนั้นตราบสิ้นอายุขัย

อ้ายเริ่มสนใจถ่ายทำหนังที่ว่าด้วยผู้ลี้ภัยครั้งแรกเมื่อคราวที่เขาออกเดินทางไปยังเกาะเลสบอส ประเทศกรีก ซึ่งมีผู้อพยพจำนวนมากใช้ชีวิตอยู่บนเรือ ลอยห่างออกไปจากแถบชายฝั่ง เขาจึงเริ่มต้นถ่ายทำและเก็บฟุตเตจด้วยกล้องไอโฟน ซึ่งในเวลาต่อมาได้ขยับขยายเป็นโปรเจ็กต์ยักษ์ของเขาด้วยการใช้ทีมงานกว่าร้อยชีวิต กล้องอีกนับร้อยตัวในการเดินทางไปยังแต่ละประเทศ เพื่อจะถ่ายทำผู้ลี้ภัยไร้ชื่อเสียงเรียงนามที่พลัดถิ่นจากบ้านเกิด ทั้งยังไม่มีพรมแดนใดจะต้อนรับ หลายคนตกอยู่ในสภาวะใช้ชีวิตอยู่บนเรือ ล่องไปตามน่านน้ำไกลสุดลูกหูลูกตา

สิ่งที่ทรงพลังมากที่สุดของ Human Flow จึงเป็นงานภาพอลังการที่อ้ายบรรจงถ่ายผู้คนมหาศาล ทะลักเข้าไปอยู่ในเรือลำน้อยและออกเดินทางไปยังเวิ้งทะเล แน่นอนว่าหนังอาจไม่ได้มุ่งมั่นนำเสนอ หาทางแก้ไขความขัดแย้งอันเป็นต้นตอของการลี้ภัย หากแต่จุดประสงค์สำคัญของอ้ายคือการบอกเล่าเรื่องราวของผู้คนที่ถูกลิดรอนสิทธิความเป็นมนุษย์อย่างเลือดเย็นโดยรัฐบาลในบ้านเกิดของพวกเขาเอง

อ้ายกล่าวถึงหนังเรื่องนี้ไว้เมื่อคราวที่มันออกฉายในงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองเวนิซว่า “นี่คือการพยายามทำความเข้าใจเรื่องราวของมนุษยชาติในยุคสมัยของเรา ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างขึ้นมาโดยเชื่อมั่นในคุณค่าของสิทธิมนุษยชนเป็นที่สุด ในห้วงเวลาแห่งความไม่แน่นอนนี้ เราต้องอดกลั้นให้มากขึ้น เห็นอกเห็นใจกันให้มากขึ้น และเชื่อมั่นในตัวกันและกันให้มากขึ้นว่าเราล้วนเป็นหนึ่งเดียว มิเช่นนั้นแล้ว มนุษยชาติคงได้เผชิญกับวิกฤติที่หนักหนาว่านี้อย่างแน่นอน”


Seeking Refuge Ali’s Story: A Journey From Afghanistan (2013, แอนดี กลินน์)

แอนิเมชั่นขนาดสั้นความยาวเพียงสามนาทีครึ่งของช่อง BBC โดยเป็นหนึ่งในมินิซีรีส์เรื่อง ‘Seeking Refuge’ ที่ว่าด้วยการสำรวจชีวิตผู้ลี้ภัยในสหราชอาณาจักร ในเรื่องนี้จับจ้องไปยังชีวิตของ อาลี เด็กชายชาวอัฟกานิสถานที่ต้องลี้ภัยจากบ้านเกิดกับคุณย่า โดยทิ้งพ่อแม่ไว้ท่ามกลางจลาจลและสงครามที่บ้านเกิด และแม้เขาจะได้พบประสบการณ์ใหม่ๆ อันน่าตื่นตาตื่นในในสหราชอาณาจักร แต่บาดแผลสำคัญที่ไม่เคยได้รับการเยียวยาคือความรู้สึกที่เขาถูกบังคับให้ออกห่างจากพ่อแม่ ทั้งยังทิ้งสมาชิกในครอบครัวคนอื่นๆ ไว้ท่ามกลางอันตราย

Ali’s Story: A Journey From Afghanistan เป็นเพียงแอนิเมชั่นขนาดสั้นที่เล่าถึงห้วงอารมณ์แตกสลายของอาลี รวมทั้งโลกแห่งความวุ่นวายและสงครามของผู้ใหญ่ภายในสายตาของเด็กซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรง ฉากที่น่าสะเทือนใจมากที่สุดคือเมื่อพ่อแม่ของอาลีถูกกักตัวที่ด่านตรวจและไม่ได้รับอนุญาตให้ ‘ข้ามฝั่ง’ เพื่อออกเดินทางไปยังดินแดนแห่งใหม่ อาลีจึงต้องทนมองดูพ่อแม่อยู่ท่ามกลางซากปรักหักพังของอัฟกานิสถานซึ่งเขาจำต้องจากมาเพื่อ “ไปอยู่ในสถานที่ที่ปลอดภัยต่อชีวิตเรามากกว่านี้” ในยุโรป

ดูหนังได้ด้านล่าง


Fire at Sea (2016, จิอันฟรังโก โรซี)

สารคดีร่วมทุนสร้างสองสัญชาติ (อิตาลี-ฝรั่งเศส) ส่งผู้กำกับ จิอันฟรังโก โรซี คว้ารางวัลหมีทองคำจากเทศกาลหนังนานาชาติเบอร์ลิน ทั้งตัวหนังยังเข้าชิงออสการ์สาขาสารคดียอดเยี่ยมด้วย

“มันเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้โดยแท้ในการจะต้องเห็นเพื่อนมนุษย์เราล้มตายขณะออกเดินทางข้ามทะเลเพื่อหนีให้พ้นจากโศกนาฏกรรมที่บ้านเกิดของตัวเอง” จิอันฟรังโกกล่าวปิดท้ายเมื่อเขาขึ้นรับรางวัลหมีทองคำ

มีอยู่หลายเหตุผลที่ทำให้ Fire at Sea กลายเป็นสารคดีสำรวจชีวิตผู้อพยพที่นักวิจารณ์ชื่นชอบมากที่สุดเรื่องหนึ่งของปี หนึ่งในนั้นคือการที่มันไม่ได้เล่าเรื่องของผู้อพยพแต่เพียงฝั่งเดียว หากยังเล่าถึงผู้คนที่รายล้อมพวกเขาด้วย โดยหนังปักหลักที่เกาะลัมเปดูซา, อิตาลี อันเป็นป้อมปราการแรกที่จะเปิดรับผู้อพยพเข้าสู่ทวีปยุโรป เกาะจึงท่วมท้นไปด้วยชาวพื้นเมืองและผู้อพยพที่ต้องเรียนรู้และอยู่ด้วยกันทั้งในระยะสั้นและระยะยาว  โดยใจกลางของเรื่องคือนายแพทย์ชาวเกาะที่ต้อนรับและดูแลผู้อพยพจากแอฟริกาเหนือ ควบคู่กันไปกับเส้นเรื่องที่มองจากสายตาของ ซามูเอล พูคิลโล เด็กชายที่พบเจอและผูกสัมพันธ์กับผู้อพยพชาวไนจีเรีย

หนังสำรวจประเด็นข้อพิพาททางการเมืองในแอฟริกาไม่ลึกนัก และนั่นก็ไม่ใช่หัวใจสำคัญของหนังด้วย เนื่องจากประเด็นหลักของมันคือการตั้งใจจะชี้ให้เห็นสภาพความเป็นอยู่และความเป็นมนุษย์ที่ถูกริบเอาไปอย่างเลือดเย็นของเหล่าผู้อพยพกว่าแปดร้อยชีวิต -ที่ล่องเรือมาไกลลิบ เสบียงร่อยหรอ กระหายน้ำและในบางรายยังได้รับบาดเจ็บรุนแรง- ขณะที่พวกเขาครวญเพลงถึงบ้านเกิดตัวเองในวันที่พายุโหมกระหน่ำเกาะลัมเปดูซา


กระเบนราหู (2018, พุทธิพงษ์ อรุณเพ็ง)

“แด่ชาวโรฮิงญา” คือข้อความเปิดเรื่องของหนังไทยเรื่องแรกที่คว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในสาย Orizzonti จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเวนิซอย่าง ‘กระเบนราหู’ หนังเรื่องแรกของ พุทธิพงษ์ อรุณเพ็ง

แก่นหลักของเรื่องก็ดังเช่นข้อความแรกที่ปรากฏในหนัง นั่นคือการสำรวจปัญหาและชีวิตของผู้อพยพชาวโรฮิงญาในประเทศไทย ผ่านเรื่องราวของชายชาวประมงที่เข้าไปช่วยเหลือชายอีกคนที่ถูกน้ำซัดพัดเข้ามายังเกาะแห่งหนึ่ง ก่อนจะค่อยๆ ‘กลาย’ เป็นคนในเกาะนั้นเสียเอง โดยตลอดทั้งเรื่อง เขาไม่เคยแม้ได้ปริปากพูดแสดงความรู้สึกนึกคิดของตัวเองเลยแม้แต่ครั้งเดียว ไปพร้อมกันนั้น พุทธิพงษ์ยังถ่ายทอดความเป็นมนุษย์ของตัวละครหลักทั้งคู่ผ่านงานภาพแสนวิจิตร

‘กระเบนราหู’ ไม่ได้วางตัวเองเป็นหนังที่สำรวจข้อเท็จจริงหรือความเป็นอยู่อันแร้นแค้นในเชิงข้อมูลของชาวโรฮิงญา หากแต่มันมุ่งหน้าเล่าถึงสุ้มเสียงอันเงียบเชียบและไร้อำนาจของคนพลัดถิ่น ที่ไม่ว่าจะในบ้านเกิดของตัวเองหรือในที่แห่งใหม่ ก็ไม่มีโอกาสได้เอ่ยปากแสดงความเห็นหรือตัวตน อัตลักษณ์ใดๆ ให้ใครได้ยิน มันจึงเป็นหนังที่เล่าถึงความเป็นมนุษย์ได้อย่างละเมียดและชวนหัวใจสลายถึงความเปราะบางและความเลือดเย็นของเราเองไปพร้อมๆ กัน

ดูหนังได้ใน vimeo on demand หรือสั่งซื้อแผ่นทางเพจของหนัง


After Spring (2016, เอลเลน มาร์ติเนซ กับ สเตฟ ชิง)

สารคดีที่จับจ้องไปยังคนที่ได้รับผลกระทบจากสงครามกลางเมืองในซีเรีย นับตั้งแต่กลางปี 2011 ที่การต่อสู้ปะทุขึ้น ประชากรชาวซีเรียกว่าสี่แสนคนอพยพไปจอร์แดนและต้องอาศัยอยู่ในเต้นท์หรือรถบ้าน จนมันขยับมาเป็นสังคมอย่างเต็มรูปแบบในเวลาต่อมา

แม้ว่าด้านหนึ่ง After Spring หาได้เป็นอะไรไปมากกว่าบทบันทึกช่วงเวลาที่ผู้อพยพต้องใช้ชีวิตในรถบ้าน และสร้างสังคมของพวกเขาขึ้นมาเองในเวิ้งกว้างสุดลูกหูลูกตาที่มีแต่ผู้อพยพแห่งนั้น แต่ในอีกด้าน มันก็ได้บันทึกเสี้ยวเวลาชีวิตของผู้คนมากมาย ทั้งผู้อพยพใหม่ที่ดวงตายังเรื่อแดงด้วยความชอกช้ำ คนที่พิการหรือบาดเจ็บสาหัสเพราะสงคราม เรื่อยไปจนคนที่อยู่มานานเสียจนแววตาชินชาและไม่ไยดีในการจะออกกล้องหรือแม้แต่มองหาความหวัง สีหน้าเหนื่อยหน่ายของเหล่าวัยรุ่นที่ฆ่าเวลาด้วยการออกเดินไปรอบๆ ลานกว้าง คอยมองดูเหล่าเด็กเล็กซึ่งสมควรจะอยู่ในรั้วโรงเรียนวิ่งเล่นอยู่ห่างออกไป พวกเขาไม่รู้จะจัดวางตัวเองอย่างไรกับโลกใหม่ที่ไม่มีพื้นที่ให้พวกเขา หลายคนล้มเลิกความตั้งใจจะไปโรงเรียน และอีกมากที่ใช้พลังงานของคนหุ่มสาวไปกับการก่อปัญหาและต่อยตี

After Spring มันอาจหมายถึงความปรารถนาของชาวซีเรียที่อยากย้ายถิ่นฐานจากค่ายผู้ลี้ภัยในจอร์แดนกลับไปสู่บ้านเกิดหลังฤดูใบไม้ผลิ พวกเขาทำได้เพียงเฝ้ารอสถานการณ์ในบ้านเกิดสงบลงเพื่อจะได้กลับไปมีชีวิตอยู่ที่นั่น -แต่ดูเหมือนฤดูใบไม้ผลิจะยังมาไม่ถึง- และไม่เคยมาถึงพวกเขาสักทีในโลกสมัยใหม่ ในสายตาสหประชาชาติ และในสายตาประชาคมโลกที่เฝ้ามองพวกเขาล้มตายเงียบเชียบในแต่ละวัน

ดูหนังได้ที่ Doc Club On Demand

RELATED ARTICLES