แมมมี่จ๋า : การเหยียดผู้หญิงผิวดำผ่านรากประวัติศาสตร์การสร้างภาพเหมารวม

หลายคนที่ชมภาพยนตร์อเมริกัน อาจคุ้นตากับตัวละครผู้หญิงผิวดำ รูปร่างท้วม มีหน้าที่ทำงานบ้าน คอยดูแลครอบครัวคนขาวในหนังหลายเรื่อง ตัวอย่างเช่น บทของออคตาเวีย สเปนเซอร์ ใน The Help (2011) หลุยส์ บีเวอร์สใน Imitation of Life (1934) หรือบท ‘แมมมี่’ ของ แฮตตี แม็กแดเนียลใน Gone with the Wind (1939)

รวมถึง เฟ ริชาร์ดส์ ผู้ที่ถูกคนหลงลืมในหน้าประวัติศาสตร์หนังฮอลลีวูดยุคแรก เธอรับบทเป็นแม่บ้านผิวดำในเรื่อง Plantation Memory (1937) กำกับโดยมาร์ธา เพจ ผู้กำกับหญิงซึ่งมีข่าวลือหนาหูว่าเธอเป็นคู่รักของเฟ ฟังดูน่าสนใจไม่น้อย แต่ก่อนเราจะไปพูดถึงเธอ มาทำความรู้จักกับตัวละครในลักษณะนี้ หรือที่ถูกเรียกว่า ‘แมมมี่’ กัน


1830: กำเนิดจิม โครว์ และการล้อเลียนคนผิวดำ

ซ้าย: ภาพปกจากชีตเพลง Jump Jim Crow (1832)
ขวา: ภาพจากเอ็มวี This Is America (2018) ที่โดนัลด์ โกลเวอร์ ทำท่าทางเลียนแบบจิม โครว์

ในสหรัฐอเมริกา ประมาณปี 1830 เกิดลักษณะการแสดงประเภทมินสเตรล (Minstrel show) ขึ้น คนขาวแต่งหน้าให้ดำ (Blackface) แล้วเล่นเป็นตัวละครคนผิวดำในลักษณะล้อเลียนขบขันเกินจริง ขับร้องเต้นรำด้วยกิริยาท่าทางโง่เง่า เพื่อดูถูกเหยียดหยามคนผิวดำ มีหลายคณะออกทัวร์ไปทั่วประเทศ รวมถึงคณะของโทมัส ไรซ์ เขาแสดงเป็นตัวละครผิวดำชื่อ จิม โครว์ (รูปด้านล่าง) ซึ่งมาจากเพลง Jump Jim Crow (1828) ที่ตัวละครนี้ร้องและเต้นประกอบ1ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ. กบฏวรรณกรรม. กรุงเทพฯ: สมมติ, 2556. หน้า 292. ไรซ์ออกแสดงในชื่อ “แดดดี้ จิม โครว์” แม้เขาจะไม่ได้เป็นนักแสดงผิวขาวคนแรกที่ทำการแสดงในลักษณะนี้ แต่เขาคือคนที่ทำให้คำว่าจิม โครว์เป็นภาพแทนคนผิวดำในสายตาคนอเมริกัน ขณะออกแสดงในประเทศระหว่างช่วงปี 1850 ถึง 18702https://www.britannica.com/story/what-is-the-origin-of-the-term-jim-crow

การแสดงลักษณะนี้ได้รับความนิยมอย่างมากโดยเฉพาะช่วงหลังสงครามกลางเมืองอเมริกัน (1861 – 1865) ก่อนจะลดความโดดเด่นลงในช่วงกลางทศวรรษที่ 18903http://cuir.car.chula.ac.th/dspace/bitstream/123456789/44816/1/worawut_kr.pdf

ป้ายตามที่สาธารณะเพื่อ ‘แบ่งแยก’ คนผิวดำออกจากคนขาว หนึ่งในผลกระทบจากกฎหมายจิม โครว์ – ภาพจากพิพิธภัณฑ์จิมโครว์

อย่างที่ทราบกันว่า หลังสิ้นสุดสงครามกลางเมืองอเมริกาในปี 1865 ทาสผิวดำถูกปลดปล่อยจากสถานภาพทาส ต่อมาก็ตกเป็นเป้าการกล่าวโทษของคนผิวขาว เกิดความขัดแย้ง และกระบวนการแบ่งแยกสีผิว (Racial Segregation) ก็เริ่มต้นขึ้น หลายรัฐทางใต้เริ่มออก ‘กฎหมายจิม โครว์’ เพื่อควบคุมคนผิวดำ ทำให้คนผิวดำถูกปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียม โดยประเด็นสำคัญคือการยึดหลักแนวคิดแบ่งแยกแต่เสมอภาค (seperate but equal) ซึ่งเป็นการกระทำที่ย้อนแย้ง ตัวอย่างเช่น แม้ว่ามีการแยกโรงเรียนคนดำและคนขาว แต่โรงเรียนของคนผิวดำก็มีคุณภาพต่ำกว่ามาก4https://filmclubthailand.com/film-review/murder-in-mississippi/

จูดี้ การ์แลนด์ทาหน้าดำ (blackface) ใน Babes in Arms (1938)

1852: เธอหุ่นท้วม ผิวดำ ทำงานบ้าน ดูแลเจ้านายผิวขาว เธอคือ “แมมมี่”

ภาพแมมมี่ในโชว์มินสเตรล แสดงโดยคนขาวทาหน้าดำ ช่วง 1880s (Photograph by Miss Libby of Norway, Maine)

ตั้งแต่ยุคการค้าทาสมาจนถึงยุคจิม โครว์ (คำที่ใช้เรียกช่วงระหว่างการบังคับใช้กฎหมายจิม โครว์ ในหลายรัฐทั่วอเมริกา ตั้งแต่ปี 1877-1966) เกิดภาพเหมารวม (สเตอริโอไทป์) “แมมมี่” ขึ้น เธอเกิดจากโชว์มินสเตรลที่คนขาวทาหน้าดำล้อเลียน ลักษณะของตัวละครนี้คือหญิงผิวดำผู้มีความสุข ยิ้มกว้าง หัวเราะอิ่ม หุ่นท้วม มีความเป็นแม่ ยอมรับสถานะอันด้อยกว่าของตน มีความสามารถในการทำงานบ้าน และเลี้ยงดูเด็กๆ ของครอบครัวเจ้านายคนขาวซึ่งเป็นโลกทั้งใบของเธอ จงรักภักดีต่อนาย5https://nmaahc.si.edu/blog-post/popular-and-pervasive-stereotypes-african-americans เธอไม่มีเพื่อนคนผิวดำ และถึงแม้จะมีครอบครัวของตนเอง แต่เธอก็ปฏิบัติกับพวกเขาไม่ดีเท่าไรนัก6https://www.ferris.edu/jimcrow/mammies/

แต่ในความเป็นจริง พบหลักฐานระหว่างช่วงเวลา 50 ปีแรกหลังการปฏิวัติอเมริกา (1783 – 1833) จนถึงช่วงก่อนการเลิกทาส (1863) ว่ามีทาสหญิงจำนวนน้อยมากๆ ที่ช่วยเจ้านายผิวขาวทำงานในบ้าน เพราะมีเพียงเจ้านายผิวขาวที่รวยมากๆ เท่านั้นจึงจะจ้างหญิงผิวดำทำงานบ้าน แทนที่จะทำงานในไร่ ทั้งนี้ หญิงผิวดำที่ทำหน้าที่นี้ ส่วนใหญ่มีรูปร่างผอม (ได้รับอาหารอย่างจำกัดจำเขี่ย) สีผิวไม่ดำเข้ม และอายุน้อย (เพราะสภาพความเป็นอยู่และการถูกใช้งานอย่างหนัก ทำให้ทาสหญิงผิวดำกว่า 90% ตายก่อนจะอายุครบ 50 ปี) ซ้ำร้ายทาสหญิงยังถูกปฏิบัติอย่างโหดเหี้ยม โดนข่มขืน และมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 32 ปี แมมมี่ในภาพแทนที่ลดทอนความเป็นเพศ และไร้พิษภัยใดๆ7https://iforcolor.org/mammy-sean-smith/ จึงเป็นแค่ภาพที่คนขาวทางใต้สร้างขึ้นเพื่อไถ่ความผิดบาป เพราะถูกฝ่ายเหนือโจมตีประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างทาสหญิงผิวดำกับชายผิวขาวในสังคมการค้าทาส8Catherine Clinton, The Plantation Mistress: Woman’s World in the Old South (New York: Pantheon Books, 1982), p. 201–203. และเป็นภาพหวนรำลึกถึง ‘วันวานอันหวานชื่น’ ทางตอนใต้ในยุคแอนเทเบลลัม หรือช่วงปลายศตวรรษที่ 18 จนถึงก่อนสงครามกลางเมืองในปี 1861 ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจทางตอนใต้ถึงจุดพีคจากการใช้แรงงานทาสอย่างหนัก (ปัจจุบันคำนี้ถือว่าละเอียดอ่อน อย่างล่าสุดวงเลดีแอนเทเบลลัม ก็เปลี่ยนชื่อเป็น เลดีเอ แล้ว9https://www.nytimes.com/2020/06/11/arts/music/lady-antebellum-name-change-lady-a.html)

ในปี 1836 ซึ่งเป็นช่วงที่คำว่าแมมมี่เริ่มถูกใช้อย่างแพร่หลายทางตอนใต้แล้ว ปรากฏบทความชื่อ Diary of an Invalid ใน Southern Literary Messenger มีคนชนชั้นสูงทางตอนใต้คนหนึ่งในรัฐเซาท์แคโรไลนา พูดถึงมาร์กาเร็ต ที่แม่ของเขาจ้างมาดูแลครอบครัว ซึ่งภายหลังเขาเรียกเธอว่า ‘แมมมี่มาร์เก็ต’ และเธอเป็น “หญิงรับใช้ผู้ทุ่มเทและซื่อสัตย์ที่สุดเท่าที่ผมเคยพบเจอ ผมรักและเคารพเธอที่สุด รองจากแม่ของผม”

ซ้าย: ภาพ Please Mammy ไม่ทราบผู้ถ่าย (1899) – the Library of Congress Prints and Photographs Division.
ขวา: ภาพถ่ายปลายศตวรรษที่ 19

มิกกี แม็กเอลยา พูดในหนังสือ Clinging to Mammy: The Faithful Slave in Twentieth-Century America ว่า ปัญหาของการเล่าเรื่องในภาพของทาสรับใช้ผู้จงรักภักดีนี้ เป็นการลดประเด็นของความรุนแรงที่นายทาสมีต่อทาส และด้วยสถานภาพทาส การจงรักภักดีจึงเป็นเรื่องที่ทาส ‘ต้อง’ ทำ10Micki McElya, Clinging to Mammy: The Faithful Slave in Twentieth-Century America (Massachusetts: Harvard University Press, 1982), p. 5–6.

คิมเบอร์ลี วอลเลซ-แซนเดอร์ส เขียนในหนังสือ Mammy: A Century of Race, Gender, and Southern Memory ถึงการใช้คำว่า “แมมมี่” เพื่อพูดถึงทาสหญิงที่ดูแลเด็กผิวขาวทางตอนใต้ของอเมริกา ซึ่งโผล่ครั้งแรกๆ ในปี 1810 เป็นคำที่ใช้หมายถึงแม่ (ma’am + mamma) พอถึงปี 1820 คำนี้มักถูกใช้กับคนผิวดำผู้มีหน้าที่ดูแลเด็กๆ ผิวขาว แซนเดอร์สค้นคว้านิยายและบันทึกที่ถูกเขียนขึ้นทางตอนใต้ของอเมริกาในยุคแอนเทเบลลัม พบว่าตัวละครที่ทำหน้าที่นี้มีความหลากหลาย มีทั้งเพศชายและหญิง ไม่ได้มีรูปร่างใหญ่หรืออ้วนท้วม หรือรูปแบบพฤติกรรมเฉพาะ จนกระทั่งการมาถึงของนิยาย Uncle Tom’s Cabin (กระท่อมน้อยของลุงทอม) เขียนโดย แฮเรียต บีชเช่อร์ สโตว์ ในปี 185211Kimberly Wallace-Sanders, Mammy: A Century of Race, Gender, and Southern Memory (Michigan: University of Michigan Press, 2008), p. 4.

นิยาย Uncle Tom’s Cabin เขียนโดย แฮเรียต บีชเช่อร์ สโตว์ (1852) (แปลไทยโดย อ. สนิทวงศ์ในชื่อ กระท่อมน้อยของลุงทอม)

ตัวนิยายพูดถึง ครอบครัวของ ‘ลุงทอม’ ทาสผิวดำ ผู้เลื่อมใสในพระเจ้า และจงรักภักดีต่อนายอย่างมาก ตอนแรกเขาทำงานอยู่ในไร่ของตระกูลเชลบีซึ่งเมตตาต่อทาสทุกคน แต่ต่อมาต้องตัดสินใจขายลุงทอมเพื่อใช้หนี้ ลุงทอมและครอบครัวต้องผจญวิกฤติแสนสาหัส และเจ้านายคนใหม่ผู้โหดเหี้ยมในเวลาต่อมา

ในนิยายของสโตว์ ป้าโคลอี คือภาพแทนของแมมมี่ผู้รับผิดชอบงานบ้านให้ครอบครัวเชลบี คอยดูแลและปกป้องครอบครัวคนขาว ‘ของเธอ’ มากกว่าลูกแท้ๆ ของเธอเอง อุทิศตน อ้วนท้วม ไม่ฝักใฝ่ทางเพศ มีอารมณ์ขัน เป็นคนดูแลบ้านและทำอาหารผู้จงรักภักดี และเป็นกึ่งสมาชิกในครอบครัว12https://iforcolor.org/mammy-sean-smith/

ในฐานะคนผิวขาวผู้อาศัยอยู่ทางตอนเหนือของอเมริกา สโตว์เขียนนิยายเรื่องนี้เพื่อต่อต้านการค้าทาส เน้นให้เห็นใจทาสผิวดำทางตอนใต้ที่ต้องเผชิญกับความโหดร้ายทารุณ ตัวนิยายขายดีล้นหลาม ส่งผลกระทบนำไปสู่การถกเถียงอภิปรายกันอย่างกว้างขวางในหมู่ชนคนอเมริกัน ก่อนจะเกิดสงครามกลางเมืองระหว่างรัฐฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้ในเวลาต่อมา (1861)

หนังเรื่องแรกที่ดัดแปลงมาจากนิยาย Uncle Tom’s Cabin (1903, เอดวิน เอส. พอร์เตอร์) ใช้นักแสดงผิวขาวทาหน้าเล่นเป็นคนดำ

ในขณะเดียวกัน ก็เกิดเสียงวิพากษ์ถึงตัวนิยายว่าไม่ได้บรรยายสิ่งที่เกิดขึ้นจริงทางในตอนใต้ พูดถึงทาสในภาพของ ‘ทาสผู้จงรักภักดี’13http://www.uncletomscabindvd.com/uncle-toms-cabin-blog/whos-your-mammy และตัวผู้เขียนก็ไม่เคยเดินทางไปตอนใต้มาก่อน รวมถึงเป็นบ่อเกิดภาพเหมารวมของคนผิวดำในมุมมองคนผิวขาวที่ถูกทำให้ชัดเจนมากขึ้น เช่น ตัวลุงทอม และ โคลอี้ ภรรยาของลุงทอม ซึ่ง โดนัลด์ โบเกิล จำแนกตัวละครภาพเหมารวมของคนผิวดำในหนังไว้ในหนังสือ Toms, Coons, Mulattoes, Mammies and Bucks: An Interpretative History of Blacks in Films ว่า ‘ทอม’ คือคำที่ใช้เรียกตัวละครที่มีบุคลิกอบอุ่นใจดีแบบลุง และอยากรับใช้คนอื่น ส่วน ‘แมมมี่’ คือหญิงรูปร่างอ้วนท้วม ผิวสีดำเข้ม (แบบโคลอี้ในนิยาย)

เนื่องจากตัวนิยายได้รับความนิยมอย่างมาก โดยเฉพาะในหมู่ผู้อ่านทางตอนเหนือ ทำให้ภาพเหมารวมนี้แพร่หลายมากขึ้น แมมมี่อยู่ในบันทึกความทรงจำของคนตอนใต้มากที่สุดในช่วงระหว่างปี 1906 ถึง 1912 หลายทศวรรษหลังการเลิกทาส เป็นตัวแทนของการหวนหาความทรงจำในอดีต และเพื่อ ‘สร้างภาพเหมารวม’ ชุดหนึ่ง ให้กับคนแอฟริกัน-อเมริกัน เพื่อยกตัวจากความผิดในการค้าทาสในอดีต14https://www.bbc.com/culture/article/20190530-rom-mammy-to-ma-hollywoods-favourite-racist-stereotype

ภาพการล้อเลียนแบบ ‘แมมมี่’ นั้น ยังส่งผลต่อทัศนคติของคนขาวที่มีต่อคนดำ โดยเฉพาะในยุคจิมโครว์ ที่คนดำได้แต่งานต่ำต้อย ค่าตอบแทนน้อยนิด หญิงผิวดำพบว่าตนเองถูกให้ทำงานประเภทเดียวคือ งานแม่บ้าน

ภาพเหมารวม ‘แมมมี่’ ยังปรากฏให้เห็นทั้งในโน้ตเพลง งานวิจิตรศิลป์ โชว์มินสเตรล โวเดอวีล (Vaudeville – การแสดงเพื่อความบันเทิงในลักษณะผสม มีการร้องเต้นผสมกายกรรมและการล้อเลียน) ละครเวที ภาพยนตร์ วิทยุ โทรทัศน์ สิ่งของในชีวิตประจำวัน เช่น ที่เขี่ยบุหรี่ ของเล่น ฉลากสินค้า กระปุกเกลือ/พริกไทย แป้ง รูปปั้น สิ่งปลูกสร้าง ฯลฯ

ซ้าย: แป้งอบตรา Aunt Sally ประมาณปี 1870-190015https://www.americanheritage.com/mammy-her-life-and-times (Boston Public Library) / กลาง: ที่ห้อยกระดาษโน้ต / ขวา: โฆษณาสบู่ลักซ์ (ประมาณปี 1916-1920)
Scrub Me Mama with a Boogie Beat การ์ตูนปี 1941 สร้างจากเพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับหญิงจากฮาร์เล็มผู้มีวิธีซักผ้าอย่างอัศจรรย์ จนทุกคนต่างก็มาดูเธอซักผ้า ขณะที่การ์ตูนพูดถึงการมาของหญิงผิวขาวที่ทำให้คนผิวดำในเมืองขี้เกียจตื่นตัว “Listen, Mammy. That ain’t no way to wash clothes! What you all need is rhythm!”

1889: ป้าจาไมม่ากับสูตรแพนเค้กแสนอร่อย

ซ้าย: แนนซี่ กรีน กับการสวมบทบาทเป็นป้าจาไมม่าคนแรก ตั้งแต่ปี 1893-1923
ขวา: โฆษณาแป้งแพนเค้กของป้าจาไมม่าใน New-York Tribune ปี 1909 แถมฟรีตุ๊กตาผ้าป้าจาไมม่ากับครอบครัว (Image by Davis Milling Company)

ในโชว์มินสเตรล (รวมถึงโวเดอวีล) มีตัวละครคนดำคนหนึ่งถูกนำมาล้อเลียนซ้ำๆ ตัวละครนี้มีพื้นฐานมาจากภาพเหมารวมแบบ ‘แมมมี่’ เธอมีสีผิวดำเข้ม รอยยิ้มสีขาว สวมผ้าโพกหัว ใส่ชุดลายจุด โพกผ้าพันคอสีขาว เธอคือ ‘ป้าจาไมม่า’ เธอมาจากเพลง Old Aunt Jemima ในปี 1875 แต่งโดย บิลลี่ เคอร์แซนด์ส (1842-1915) นักแสดงโชว์มินสเตรลผิวดำ เขาแต่งหญิงร้องเพลงนี้ ตัวละครนี้ได้รับความนิยม และมีนักแสดงชายผิวขาวทาหน้าดำแสดงในโชว์มินสเตรลทั่วไป

ปี 1889 คริส แอล. รัตต์ และ ชาร์ลส์ จี. อันเดอร์วูด คิดค้นสูตรผงแป้งที่แค่ใส่น้ำก็สามารถเอามาทำเป็นแพนเค้กได้ง่ายๆ ที่บ้าน และเรียกมันว่าเป็นสูตรของ ‘ป้าจาไมม่า’ (ได้แรงบันดาลใจมาจากการแสดงที่เขาเคยเห็น) แต่โชคร้ายที่พวกเขาไม่มีเงินทุนโฆษณาเพียงพอ จึงจำเป็นต้องขายสูตรต่อให้กับ อาร์.ที. เดวิส ในปีถัดมา

‘ป้าจาไมม่า’ (แนนซี่ กรีน) ในงานเวิลด์แฟร์ที่ชิคาโก ปี 1893 ภาพจาก 10 Everyday Items Brought To Us By the 1893 Chicago World’s Fair
แอนนา โรบินสัน ในบทป้าจาไมม่า เธอปรากฏตัวครั้งแรกในงานเวิลด์แฟร์ที่ชิคาโก จนกระทั่งเสียชีวิตในปี 1951

บริษัทอาร์.ที. เดวิส ปรับปรุงสูตรแพนเค้ก และสิ่งสำคัญคือพวกเขามีแผนในการโฆษณาสินค้า โดยการนำคนจริงๆ มาเล่นเป็น ‘ป้าจาไมม่า’ ผู้ที่ถูกจ้างมาสวมบทบาทนี้คือแนนซี่ กรีน (1834-1923) อดีตทาสจากเคนตักกี เธอปรากฏตัวในงานเวิลด์แฟร์ที่ชิคาโก ปี 1893 ทำแพนเค้ก ร้องเพลง และเล่าเรื่องราวแสนสุขทางตอนใต้ในสมัยก่อนให้ผู้คนที่มาร่วมงานฟัง ‘ป้าจาไมม่า’ ถูกจดเป็นทะเบียนการค้า เธอได้รับความนิยมอย่างมากในอเมริกา ถูกเอาไปทำเป็นซีรีส์วิทยุและบรอดเวย์แสดงโดยคนผิวขาวทาหน้าดำ และแม้จะถูกขายต่อให้กับอีกบริษัท เปลี่ยนคนสวมบทบาท และขยายสายผลิตภัณฑ์ แต่ภาพของเธอก็ยังเป็นที่จดจำสำหรับคนอเมริกามาจนถึงปัจจุบัน

ต่อมาบริษัทเปลี่ยนรูปผู้หญิงบนตราสินค้าให้หลุดจากภาพเหมารวมแบบ ‘แมมมี่’ มากขึ้น ทั้งเอาผ้าโพกหัวออก ผิวดำน้อยลง ผอมลงในปี 1968 เพิ่มต่างหูมุกกับปกเสื้อผ้าลูกไม้ในปี 198916http://www.diningchicago.com/blog/2013/06/20/chicago-mixed-it-up-at-worlds-columbian-exposition/ 17https://www.nytimes.com/2020/06/17/business/aunt-jemima-racial-stereotype.html

และล่าสุด บริษัทเควกเกอร์ โอ๊ตส์ เจ้าของผลิตภัณฑ์ ‘ป้าจาไมม่า’ ตัดสินใจยกเลิกการใช้ตัวละครนี้ และจะเปลี่ยนชื่อบรรจุภัณฑ์ใหม่ภายในช่วงปลายปี เพื่อสร้างความรับรู้ถึงปัญหาที่มาของ ‘ป้าจาไมม่า’ ซึ่งมีพื้นฐานจากภาพเหมารวมทางสีผิว หลังมีคลิปวิดีโอพูดถึงประวัติของแบรนด์ถูกแชร์อย่างแพร่หลายในโลกโซเชียล


1915: แมมมี่’ คนแรกในภาพยนตร์

แมมมี่ ใน The Birth of a Nation (1915)

ภาพยนตร์เรื่องแรกที่ ‘แมมมี่’ ปรากฏตัวคือ The Birth of a Nation (1915, ดี. ดับเบิลยู. กริฟฟิท) ภาพยนตร์เอพิคแห่งการเหยียดผิว สร้างจากนิยายปี 1905 เล่าถึงครอบครัวคนขาวสองครอบครัวในช่วงสงครามกลางเมือง ถ่ายทอดภาพคนผิวดำชั่วร้าย และคูคลักซ์แคลน (KKK) ในคราบอัศวินผดุงคุณธรรม18https://womenintheology.org/2013/02/20/the-movie-django-unchained-is-not-about-slavery/ เจนนี่ ลี คือคนขาวผู้ทาหน้าดำเพื่อรับบทแมมมี่ในเรื่อง เธอมีหน้าที่ปกป้องบ้านของเจ้านายผิวขาวจากการรุกรานของทหาร

รวมถึงภาพยนตร์เสียงเรื่องแรกอย่าง The Jazz Singer (1927, อลัน ครอสแลนด์) ก็มีฉากที่ชายผิวขาวทาหน้าดำ (รับบทโดยเอล จอลสัน) ร้องเพลง ‘แมมมี่’ เช่นกัน

Laddie Cliff คือคนสหราชอาณาจักรที่ไปสหรัฐอเมริกาในปี 1907-1916 เขาประพันธ์เพลง Coal-Black Mammy ออกแสดงในลอนดอน ซึ่งต่อมาถูกนำไปแสดงในฝรั่งเศส19https://blog.imagesmusicales.be/the-mammy-stereotype/
(ซ้าย) ปกโน้ตเพลง ประพันธ์โดย Francis Salabert วาดโดย Roger de Valerio (1921) แสดงให้เห็นว่าคนในยุโรปรู้จักคำคำนี้บ้างแล้ว แม้ว่าผู้วาดชาวฝรั่งเศสคนนี้อาจยังไม่เข้าใจสังคมอเมริกันทางใต้ดีพอ
(กลาง) ปกโน้ตเพลง Carolina Mammy ประพันธ์โดย Billy James วาดโดย Dorothy Dullin (1922) นักวาดชาวอเมริกัน ที่ดูเข้าใจความหมายของแมมมี่มากกว่าภาพซ้าย
(ขวา) ปกโน้ตเพลง My Mammy ประพันธ์โดย Walter Donaldson ขับร้องโดย Al Jolson (ผู้เคยร้องสองเพลงด้านบน) อยู่ในหนัง The Jazz Singer (1927) ภาพปกโดย L. R. Deléage (1929)
Al Jolson ร้องเพลง Mammy ในหนัง The Jazz Singer (1927)

ต่อมา ‘แมมมี่’ โผล่ในเรื่อง Imitation of Life (1934, จอห์น เอ็ม. สตาห์ล) สร้างจากนิยายปี 1933 ในชื่อเดียวกัน (ถูกรีเมคอีกครั้งในปี 1959 โดยดักลาส เซิร์ก) เล่าเรื่องของบี พูลแมน (โกลแด็ต กอลแบร์) แม่หม้ายลูกหนึ่ง กับ ดีไลลาห์ (หลุยส์ บีเวอร์ส) แม่เลี้ยงเดี่ยวผิวดำ ดีไลลาห์มีหน้าที่เป็นแม่บ้านให้บี ทั้งคู่เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว และมีลูกสาวหนึ่งคน ทุกคนในบ้านต่างชอบแพนเค้กจากฝีมือของดีไลลาห์ ซึ่งทำจากสูตรลับของเธอเอง ดีไลลาห์แอบบอกสูตรลับให้กับบีรู้เพียงคนเดียวเท่านั้น ต่อมาบีนำสูตรแพนเค้กนี้ไปทำแป้ง ตัวสินค้าขายดีเทน้ำเทท่า จนบี ‘ใจดี’ เสนอส่วนแบ่งให้ดีไลลาห์ ‘ถึง’ 20%

หลุยส์ บีเวอร์ส ใน Imitation of Life (1934)

มีประเด็นหนึ่งเกิดขึ้นในเรื่อง นั่นคือพีโอลา (เฟรดี วอชิงตัน) ลูกสาวของดีไลลาห์ ซึ่งเป็นคนแอฟริกัน-อเมริกัน แต่มีผิวค่อนข้างขาว (light-skinned) เริ่มปฏิเสธแม่ผู้มีผิวสีดำเข้ม และถือว่าตัวเอง ‘pass for white’ หรือได้รับการยอมรับจากคนขาวว่าเป็น ‘คนขาว’ แล้ว

แม้จะถูกยกย่องว่าเป็นหนังเรื่องแรกที่พูดถึงหนึ่งในปัญหาทางสีผิวที่เกิดขึ้น ณ ตอนนั้น แต่ตัวละครแม่บ้านอย่างดีไลลาห์ ก็ยังไม่หลุดพ้นภาพเหมารวม ‘แมมมี่’ ซึ่งมีต้นแบบมาจาก ‘ป้าจาไมม่า’ อย่างชัดเจน รวมถึงท่าทีที่มีต่อหญิงคนขาว แม้สูตรแพนเค้กของดีไลลาห์ (ซึ่งมีภาพเธอเป็นแบรนด์สินค้าเหมือน ‘ป้าจาไมม่า’) จะทำให้นายจ้างคนขาวรวย แต่เธอไม่แสดงความสนใจในทรัพย์สมบัติ ลองมาดูบทสนทนาระหว่างแม่บ้านผิวดำ (ดีไลลาห์) ผู้อ่อนน้อมถ่อมตน กับเจ้านายผิวขาว (คุณบี) ในหนังเรื่องนี้กัน

“เธอจะมีรถของตัวเอง บ้านของตัวเอง”

“บ้านของตัวเองเหรอคะ คุณจะไล่ฉันไปไกลๆ เหรอคะ คุณบี ฉันอยู่กับคุณไม่ได้หรือ โอ้ กรุณาอย่าไล่ฉันไปเลยนะคะ”

“ฉันจะดูแลคุณกับแจสซี (ลูกของบี) ได้อย่างไรเล่าคะ ถ้าดิฉันไม่ได้อยู่ที่นี่ ทำอาหารให้พวกคุณรับประทาน”

หลุยส์ บีเวอร์ส กับ โกลแด็ต กอลแบร์ ใน Imitation of Life (1934)

หลุยส์ บีเวอร์ส (1902-1962) เริ่มแสดงภาพยนตร์ในช่วงยุค 20 เธอเป็นที่จับตามองหลังรับบทคนใช้ผิวสีผู้คอยปลอบโยนเจ้านายผิวขาว (แมรี พิกฟอร์ด) ใน Coquette (1929) (เกร็ดน่ารู้คือ ในชีวิตจริง หลุยส์เด็กกว่าแมรีถึง 10 ปี!) ซึ่ง Imitation of Life (1934) เป็นผลงานที่โด่งดังที่สุดของเธอ หลุยส์แสดงเป็น ‘แมมมี่’ ในภาพยนตร์อีกหลายต่อหลายเรื่อง แม้บางเรื่องจะไม่ได้รับเครดิต ได้เครดิตว่าเป็น แม่บ้าน หรือ ‘แมมมี่’ และโผล่ออกมาเพียงไม่ฉากก็ตาม20https://www.colorado.edu/gendersarchive1998-2013/2010/07/02/everybody-has-mammy-productive-discomfort-louise-beavers-movie-maids

หลุยส์ บีเวอร์ส กับ แมรี พิกฟอร์ด ใน Coquette (1929)

การตกอยู่ในภาพเหมารวม ‘แมมมี่’ ทำให้เธอได้เล่นบทในลักษณะนี้เกือบตลอดชีวิตการแสดง และยังถูกเตือนให้รักษาหุ่นแบบนี้ไว้ หลุยส์บอกกับสื่อว่า “ฉันต้องอ้วนเข้าไว้ … ใช่ พวกเขาต้องการให้ฉันท้วม ฉันคงไม่ได้เล่นเป็นดีไลลาห์หากไม่ได้อ้วนตุ๊ ต่อมาระหว่างถ่ายหนัง น้ำหนักฉันลดไป 12 ปอนด์กว่า แต่ฉันต้องเล่นเป็นคนอ้วนที่สุดตอนแก่ในฉากสุดท้ายของเรื่อง พวกเขาต้องให้ฉันใส่กระโปรงชั้นในเพื่อให้ดูอ้วนแทน”

หลุยส์บรรยายลักษณะตัวละครที่เธอเล่นว่า “แม่บ้านนิโกรผู้น่าคบหา รูปร่างอ้วนท้วม มีความสุข และหัวเราะง่าย”

แมมมี่ (แฮตตี แม็กแดเนียล) กับ สการ์เล็ตต์ (วิเวียน ลีห์) ใน Gone with the Wind (1939)

แต่บท ‘แมมมี่’ ซึ่งเป็นที่จดจำของผู้คนมากที่สุดน่าจะมาจากภาพยนตร์ Gone with the Wind (1939, วิคเตอร์ เฟรมมิ่ง) สร้างจากนิยายชื่อเดียวกันปี 1936 รับบทโดยแฮตตี แม็กแดเนียล (หลุยส์ บีเวอร์สพลาดบทนี้ไป) นักแสดงผู้เคยรับบทแม่บ้านมาก่อนบ้างในหนังเหล่านี้ ซึ่งมีพระเอก-นางเอกเป็นดาราชื่อดัง อย่าง Alice Adams (นำแสดงโดยแคทารีน เฮปเบิร์น), China Seas (จีน ฮาร์โลว์21https://www.facebook.com/watch/?v=1977899142243136 กับคลาร์ก เกเบิล), Show Boat 22Carlos E. Cortés, Multicultural America: A Multimedia Encyclopedia (California: SAGE Publications, 2013), p. 1936. (ไอรีน ดันน์), I’m No Angel (แม เวสต์ กับ แครี แกรนต์) The Little Colonel (เชอร์ลีย์ เทมเปิล) Blonde Venus (มาร์เลเนอ ดีทริช กับ แครี แกรนต์) และ Saratoga (จีน ฮาร์โลว์ กับ คลาร์ก เกเบิล) เป็นต้น คุณสมบัติอันโดดเด่นของเธอคือเสียงเลื่อนลั่นทรงพลัง ลักษณะของตัวละครที่เธอเล่นจึงชัดเจน นั่นคือ มั่นใจ แน่วแน่ และแกร่ง ไม่ใช่ในลักษณะโอนอ่อนยอมทำตามคนอื่นง่ายๆ23Donald Bogle, Hollywood Black: The Stars, the Films, the Filmmakers (New York: Running Press Adult, 2019), p. 74. ซึ่งเป็นคนละบุคลิกกับหลุยส์ บีเวอร์ส ที่มีบุคลิกอ่อนน้อม ปลอบโยนผู้อื่น ไม่เคยสร้างปัญหา และยอมทำงานด้วยใจรัก24https://www.americanheritage.com/mammy-her-life-and-times#3

(จากซ้ายไปขวา) แถวบน: แฮตตี แม็กแดเนียล ใน Blonde Venus (1932), I’m No Angel (1933) และ Alice Adams (1935)
แถวล่าง: แฮตตี แม็กแดเนียล ใน China Seas (1935), The Little Colonel (1935) และ Saratoga (1937)

แฮตตีสวมชุดแม่บ้านเพื่อไปออดิชันในบท ‘แมมมี่’ ใน Gone with the Wind (มีบางข่าวบอกว่าคลาร์ก เกเบิล ผู้เคยร่วมงานกับแฮตตี บอกโปรดิวเซอร์ เดวิด โอ. เซลซนิก ว่าแฮตตีคือแมมมี่ที่เขาชอบที่สุด25Donald Bogle, Hollywood Black: The Stars, the Films, the Filmmakers (New York: Running Press Adult, 2019), p. 172.) ก่อนจะได้บทแม่บ้านนิสัยดุดันต่อกรกับคุณหนูสการ์เล็ตต์ (วิเวียน ลีห์) ไป แม้จะพูดจาโต้เถียง แต่เธอก็ยังจงรักภักดีต่อนาย ทำคลอด และอยู่กับเจ้านายแม้ว่าทาสคนอื่นๆ จะหนีไปหมดแล้ว

นอกจากแฮตตีแล้ว ยังมีบทพริสซี่ สาวใช้ผิวดำเสียงแหลมผู้โง่เขลา รับบทโดยบัตเตอร์ฟาย แม็คควีน เธอเคยให้สัมภาษณ์ว่าเธอเกลียดบทนี้ “ฉันนึกว่าหนังจะแสดงให้เห็นความก้าวหน้าของคนดำ แต่พริสซี่เป็นตัวละครที่ขี้เกียจ โง่ และถอยหลังลงคลอง”26https://lwlies.com/articles/butterfly-mcqueen-gone-with-the-wind-black-trailblazer/

พริสซี่ (บัตเตอร์ฟาย แม็คควีน) กับ สการ์เล็ตต์ (วิเวียน ลีห์) ใน Gone with the Wind (1939)

แม้โปรดิวเซอร์จะพยายามตัด ‘บาง’ ประเด็นที่มีปัญหาในหนังสือ อย่างการใช้ n-word หรือเลี่ยงการเอ่ยถึงคูคลักซ์แคลนและเปลี่ยนผู้บุกรุกผิวดำเป็นคนผิวขาวแทน แต่ตัวหนังก็ถูกวิจารณ์จากคนผิวดำว่าเป็นการ ‘เฉลิมฉลองให้กับระบบทาส’ และ ‘สร้างภาพอันสวยงามเกินจริง’ ให้กับตอนใต้ ซึ่งเป็นปัญหาที่มีมาตั้งแต่ในหนังสือของมาร์กาเร็ต มิตเชลล์

โดนัลด์ โบเกิล นักประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ ตั้งข้อสังเกตว่า หนังไม่เล่าถึงมุมส่วนตัวของแมมมี่และตัวละครผิวดำคนอื่นๆ พวกเธอพักที่ไหนในบ้าน? หรือในที่พักของทาส? (ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีใน Gone with the Wind) และความสัมพันธ์ระหว่างแมมมี่กับตัวละครผิวดำคนอื่นๆ เป็นอย่างไร

แฮตตีกลายเป็นคนแอฟริกัน-อเมริกันคนแรกที่ชนะรางวัลออสการ์สาขานักแสดงสบทบหญิงยอดเยี่ยมในปี 1940 กับบทบาท ‘แมมมี่’ หรือคนรับใช้ (เช่นเดียวกับคนผิวดำส่วนใหญ่ในหนังยุค 20 ถึง 50) และแม้ทุกคนจะชื่นชมกับความสามารถในการแสดงของแฮตตีกับบัตเตอร์ฟาย แต่ทั้งคู่ก็ถูกติจากการเล่นหนังเรื่องนี้ ซึ่งเป็นการซ้ำเติมภาพเหมารวม ‘แมมมี่’ ยิ่งขึ้นไปอีก ขณะที่แฮตตีโต้ว่า “ทำไมฉันต้องบ่นเรื่องได้เงินสัปดาห์ละ 7,000 ดอลลาร์เพื่อเล่นเป็นแม่บ้านล่ะ เพราะถ้าฉันไม่เล่น ฉันคงต้องเป็นแม่บ้านจริงๆ ที่ได้เงินสัปดาห์ละ 7 ดอลลาร์แทน”

แฮตตี แม็กแดเนียล คนแอฟริกัน-อเมริกันคนแรกที่ชนะรางวัลออสการ์ในปี 1940

แม้จะชนะรางวัลออสการ์ แต่เบื้องหลังนั้น แฮตตีก็ยังถูกเลือกปฏิบัติเพราะเป็นคนผิวดำ ตั้งแต่โดนไม่ให้เข้าร่วมงานพรีเมียร์หนังที่แอตแลนตา ไปจนถึงในงานออสการ์ที่เธอต้องนั่งแยกโต๊ะกับเพื่อนผิวดำของเธอที่มาด้วยกัน ตลอดอาชีพการแสดงของแฮตตี เธอเล่นเป็นแม่บ้านถึง 74 ครั้ง27https://artafricamagazine.org/making-mammy-a-caricature-of-black-womanhood-1840-1940

แมมมี่ในโลกภาพยนตร์เริ่มลดน้อยลงในช่วงยุค 50 และในยุค 60 ซึ่งการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิพลเมืองในอเมริกากลับมาอีกครั้งหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เนื่องจากคนผิวดำเข้าร่วมรบสงคราม และต้องการมีสิทธิเลือกตั้ง28https://www.historyonthenet.com/authentichistory/diversity/african/1-mammy

ตัวอย่างแมมมี่ช่วง 30s-60s ในภาพยนตร์ฮอลลีวูด

(จากซ้ายไปขวา) แถวบน: เทเรซา แฮร์ริส ใน Hold Your Man (1933), ลิลเลียน แรนโดล์ฟ ใน It’s Wonderful Life (1946) และ รูบี แดนดริดจ์ ใน Dead Reckoning (1947)
แถวล่าง: อีเธล วอเตอร์ส ใน The Member of the Wedding (1952), คลอเดีย แมคนีล ใน A Raisin in the Sun (1961) และ เอสเตลล์ อีแวนส์ ใน To Kill a Mockingbird (1962)

ตัวอย่างแมมมี่ในสื่อโทรทัศน์

ซ้าย: ‘แมมมี่’ ในการ์ตูนทอมกับเจอร์รี่ ออกอากาศทางโทรทัศน์ครั้งแรกปี 1940 เธอคือหญิงวัยกลางคนผิวดำ รูปร่างใหญ่ ดูแลบ้าน และคอยดุทอม เรามักเห็นแค่ส่วนล่างของเธอ ทำให้ตัวละครนี้ถูกเรียกว่า ‘แมมมี่ทูชูวส์’ (แมมมี่กับรองเท้าสองข้าง)
ขวา: แฮตตี แม็กแดเนียล กับ รูบี แดนดริดจ์ ใน Beulah ซีรีส์คอเมดีทางโทรทัศน์สร้างจากละครวิทยุยุค 50s ที่ย้ำเตือนภาพเหมารวมแบบแมมมี่อีกครั้ง

1996: ออกตามหา เฟ ริชาร์ดส์

ยังจำ เฟ ริชาร์ดส์ ตอนต้นบทความได้ไหม เธอเป็นอย่างไรท่ามกลางภาพเหมารวมในฮอลลีวูดยุค 30s ที่กล่าวมา

เวลาผ่านมาถึงปี 1996 เชอรีล ดันเย ก็สงสัยเช่นเดียวกับเรา เธอเป็นพนักงานร้านเช่าวิดีโอเทป และรับจ้างถ่ายวิดีโอตามงานต่างๆ ในฐานะผู้หญิงผิวดำ เธออยากถ่ายหนังสักเรื่อง เล่าเรื่องราวของหญิงผิวดำ เชอรีลเริ่มดูหนังยุค 30-40 (ส่วนมากนำแสดงโดย แฮตตี แม็กแดเนียล และ หลุยส์ บีเวอร์ส) มีหนังจำนวนนึงในยุคนั้นที่นักแสดงหญิงผิวดำไม่ได้รับเครดิต รวมถึง Plantation Memory ภาพยนตร์ปี 1937 (โดยผู้กำกับหญิงผิวขาวชื่อมาร์ธา เพจ) ซึ่งเชอรีลประทับใจการแสดงของหญิงผิวดำในบทแม่บ้านชื่อเอลซี่มาก แต่ชื่อเธอขึ้นในเครดิตเพียงว่า ‘The Watermelon Woman’

การออกค้นหาว่าเธอเป็นใครจึงเริ่มต้นขึ้น…

“อ่อ เธอคือต้นแบบของป้าจาไมม่าตามขวดไซรัปใช่มั้ย”

“ฟังจากชื่อแล้วน่าจะมาจากหนังฮอลลีวูดเก่าๆ นะ”

“ใช่ผู้หญิงที่ใส่ชุดผลไม้นั่นมั้ยนะ”

“ไม่รู้จัก”

เหล่านี้คือคำตอบที่เธอได้หลังจากถามผู้คนตามถนนในฟิลาเดลเฟีย และหลังจากค้นคว้าสักระยะ เชอรีลก็พบว่า ‘เฟ ริชาร์ดส์’ หรือ ‘เฟธ ริชาร์ดสัน’ คือชื่อจริงของเธอ

เชอรีลค้นลึกลงไปอีก จนพบว่าเฟนั้นมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับมาร์ธา เพจ เธอตกใจกับความจริงข้อนี้ เหตุผลเพราะเธอก็เป็นเลสเบี้ยนผิวดำที่กำลังคบกับ ไดแอนา สาวผิวขาว ขณะค้นคว้าโปรเจกต์นี้ ภาพของเฟ-มาร์ธาทับซ้อนกับชีวิตจริงๆ ของเธออย่างน่าประหลาด

ระหว่างกำลังค้นคว้าข้อมูล เชอรีลค้นพบว่า ข้อมูลของคนผิวดำในหนังยุคเก่ามีน้อยมาก โดยเฉพาะผู้หญิงผิวดำ หลายครั้งที่ชื่อของ มาร์ธา เพจ โผล่ในบันทึกข้อมูลตามที่ต่างๆ แต่ไม่มีชื่อของเฟเลย ยิ่งข้อมูลเรื่องความสัมพันธ์นั้นมีน้อยมาก ทุกอย่างมาจากการบอกเล่าจากคนรู้จัก และภาพถ่ายที่ปรากฏให้เห็นอยู่บ้างประปราย

ที่เล่าถึงเฟ ริชาร์ดส์มาด้านบนทั้งหมดนั้น คือส่วนหนึ่งจากหนังฟิกชันปี 1966 ชื่อ The Watermelon Woman ผลงานกำกับของเชอรีล ดันเย ถือเป็นหนังยาวเรื่องแรกโดยผู้กำกับหญิงเลสเบี้ยนผิวดำ เชอรีลค้นคว้าเกี่ยวกับประวัติศาสตร์หนังคนผิวดำ เน้นไปที่นักแสดงหญิงผิวดำในหนังยุคแรกๆ และพบว่าหลายครั้งที่ผู้หญิงเหล่านี้ไม่มีชื่ออยู่ในเครดิต เธอจึงตัดสินใจสร้างหนังเรื่องนี้ขึ้นมา เพื่อปั้นเรื่องของผู้หญิงผิวดำในหนังยุคแรกๆ ด้วยสองมือของตัวเอง

ใช่แล้ว… เฟ ริชาร์ดส์ เป็นตัวละครที่ เชอรีล ดันเย แต่งขึ้นมาเอง ไม่มีอยู่จริง!


1996: ออกตามหา เฟ ริชาร์ดส์ ประวัติศาสตร์ที่สร้างขึ้นเอง

“ในบางครั้ง คุณก็ต้องสร้างประวัติศาสตร์ของตัวเองขึ้นมา
The Watermelon Woman คือหนังฟิกชัน”

— เชอรีล ดันเย, 1996

หนังเปิดด้วยภาพวิดีโองานแต่งงานที่เชอรีล (ซึ่งเป็นทั้งชื่อของผู้กำกับเองกับชื่อตัวละครในเรื่อง) โดนจ้างไปให้ถ่าย มีคนมองกล้อง เชอรีลใช้ภาพวิดีโอนี้บันทึกตัวเองพูดถึงการค้นคว้าหนังคนดำของเธอ ขณะเดียวกันก็มีพาร์ตฟิกชันชัดเจน อย่างการถ่ายฉากในร้านเช่าวิดีโอ ซึ่งถ่ายจากฟิล์มที่ชัดกว่า คนดูทราบว่ามีการจัดวาง ตั้งมุมกล้อง และส่วนสุดท้ายคือภาพ found footage ของเฟ ริชาร์ดส์กับหนังยุคเก่า

ผู้เขียนขอสารภาพว่า ไม่รู้ข้อมูลของหนังมาก่อน ทราบเพียงว่านี่เป็นหนังที่กำกับโดยผู้หญิงผิวดำชื่อเชอรีล ดันเย ในขณะที่ดูหนัง ด้วยประสบการณ์การรับรู้ที่ผ่านมา ผู้เขียนเกิดความสับสนในความจริง-ไม่จริงของหนัง เพราะผู้เขียนมั่นใจว่าภาพวิดีโอนั้นมีทั้งส่วนจริงและไม่จริง ขณะที่ภาพเฟ ริชาร์ดส์นั้นเป็นของจริงแน่นอนเพราะอยู่ใน found footage ส่วนพาร์ตฟิกชันผู้เขียนมั่นใจว่าเป็นเรื่องแต่งอย่างแน่นอน

แต่ขณะเดียวกัน ผู้เขียนก็ไม่เคยได้ยินชื่อของ เฟ ริชาร์ดส์ หรือแม้แต่ มาร์ธา เพจ มาก่อน (ผู้เขียนเคลือบแคลงเพราะเป็นไปได้ยากที่ฮอลลีวูดในยุคนั้นจะมีผู้กำกับเพศหญิงมีชื่อ) และคาดว่าเธอน่าจะถูกหลงลืมในประวัติศาสตร์ จึงค้นหาชื่อของเธอในโลกออนไลน์ ซึ่งหลังจากดูผ่านๆ รอบแรกก็ไม่เห็นประวัติศาสตร์บันทึกเรื่องราวของเธอเอาไว้เลย นอกจากความเชื่อมโยงกับหนังเรื่องนี้

ระหว่างดูหนัง ผู้เขียนสนุกกับแนวทางตลกของหนัง และลุ้นให้เชอรีลรู้เรื่องราวของเฟ ริชาร์ดส์ มากขึ้น จนกระทั่งตอนจบ ที่เชอรีลออกมาเผยไต๋ (ในรูปแบบของตัวหนังสือ) ว่าทั้งหมดที่เล่ามาคือเรื่องแต่ง! และ found footage ที่เกี่ยวกับเฟ ริชาร์ดส์ มาร์ธา เพจ หรือหนังเรื่อง Plantation Memory ก็เป็นสิ่งที่เชอรีลสร้างขึ้นมาเองทั้งหมด!

แต่แม้เรื่องจะจบและทุกอย่างเป็นเพียงภาพลวง ผู้เขียนก็เข้าข่าย ‘รู้เขาหลอกแต่เต็มใจให้หลอก’ เพราะแม้เฟ ริชาร์ดส์จะไม่ถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ของภาพยนตร์จริงๆ และเชอรีล (ในหนัง) จะออกมาแสดงความผิดหวังที่เธอไม่ได้พบปะและพูดคุยต่อหน้าเฟหรือคนใกล้ชิดกับเฟ (ซึ่งอาจเป็นความผิดหวังเดียวกับตอนที่เชอรีลค้นคว้าเรื่องผู้หญิงผิวดำในหนังฮอลลีวูดยุคแรกๆ แล้วไม่พบ ‘เสียง’ ของผู้หญิงกลุ่มนี้) เพราะสำหรับเชอรีลในฐานะเลสเบี้ยนผิวดำแล้ว เฟคือ “ความหวัง แรงบันดาลใจ ความเป็นไปได้ และคือประวัติศาสตร์” ประวัติศาสตร์ที่เชอรีลในหนังค้นพบ ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์ที่เชอรีลสร้างขึ้นมาในโลกภาพยนตร์ วินาทีที่เชอรีลสร้างเฟขึ้นมา ผู้เขียนมั่นใจว่าทั้งเฟและเชอรีลจะเป็นต้นแบบและแรงบันดาลใจให้กับคนทำหนังในรุ่นต่อๆ ไป โดยเฉพาะกับคนทำหนังเลสเบี้ยนผิวดำอย่างแน่นอน

เพราะแม้ ‘เฟธ ริชาร์ดสัน’ จะแสดงเป็น แมมมี่ เหมือนนักแสดงผิวดำในยุคนั้น แต่เชอรีลใส่ ‘เสียง’ และ ‘ชีวิต’ ให้กับเธอ เชอรีลเล่าชีวิตของเฟธ ที่มีชีวิตเป็นของเธอเอง มีคนรัก มีคู่มีชีวิต เหมือนกับคนดำที่รับบทแมมมี่ในฮอลลีวูดทุกคน (แฮตตีแต่งงานถึง 4 ครั้ง) ไม่ใช่ในภาพแมมมี่ หรือแม่บ้านผู้คอยห่วงใยรับใช้เจ้านายผิวขาวที่ฮอลลีวูดและผู้คนยัดเยียดให้เธอเท่านั้น

ดังที่กล่าวไป หนังมาจากการค้นคว้าเกี่ยวกับคนดำในหนังยุคแรกๆ ของเชอรีลขณะกำลังเรียนอยู่ เธอสร้างเฟขึ้นมา หลังจากค้นหาคนเลสเบี้ยนผิวดำในโลกฮอลลีวูดไม่พบแม้แต่คนเดียว (ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลว่าไม่มีจริงๆ หรือว่าไม่ถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ก็ตาม29https://www.youtube.com/watch?v=2coQxUf6YCg) และแม้แต่พาร์ตฟิกชันในหนังก็มีแง่มุมความสัมพันธ์ส่วนตัวของเชอรีลเอง เพราะเธอกำลังคบกับ อเล็กซ์ แฟนผิวขาว ซึ่งเป็นโปรดิวเซอร์ของหนัง และยังเล่นเป็นมาร์ธา เพจ ด้วย! ดังนั้น เรื่องราวที่ถูกเล่นในอดีต (เฟ และมาร์ธา ที่เล่นโดยอเล็กซ์ ซึ่งทั้งสองถูกเชอรีลตัวจริงสร้างขึ้น) ก็กำลังถูกเล่นในปัจจุบัน (เชอรีลที่กำลังตามหาเฟในหนัง มีไดแอนาเป็นแฟน) และในชีวิตจริงๆ (เชอรีลในชีวิตจริง ซึ่งกำลังคบกับอเล็กซ์) ด้วย!

หลายคนสันนิษฐานว่าต้นแบบของตัวละครมาร์ธา เพจมาจาก โดโรธี อาซเนอร์ หนึ่งในผู้กำกับหญิงไม่กี่คนในฮอลลีวูดยุค 20-40 แถมยังมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้หญิงในชีวิตจริงอีก30Michael Bennett, Vanessa D. Dickerson – Recovering the Black Female Body: Self-representations by African American Women (New Jersey: Rutgers University Press, 2000), p. 238.

ด้วยงบอันจำกัด เชอรีลต้องร่วมมือกับ ซู ลีโอนาร์ด เพื่อนช่างภาพชาวนิวยอร์กของเธอ ถ่ายภาพเฟ ริชาร์ดส์ (ลิซ่า มารี บรอนสัน) แล้วขายรูปภาพในราคาเพียงครึ่งดอลลาร์เพื่อสนับสนุนเป็นทุนหนัง (ปัจจุบันรูปเหล่านี้มีค่าหลักพันดอลลาร์ในนิทรรศการถาวร และสามารถหาซื้ออัลบั้มรูปได้ใน amazon)

Desert Hearts (1985, ดอนน่า เดตช์) และ Go Fish (1994, โรส โทรเช) สองหนังโดยผู้กำกับเลสเบี้ยนและเป็นแรงกระเพื่อมสำคัญให้เชอรีลและคนทำหนังเลสเบี้ยน

ในยุคนั้น โดยเฉพาะในกลุ่มนิวเควียร์ซีเนมา (คำที่เกิดขึ้นในปี 1992 เพื่อใช้เรียกการทำหนังอินดี้ที่มีประเด็นเกี่ยวกับเควียร์ในช่วงต้นยุค 90) ทุกคนต่างกระเสือกกระสนสร้างผลงานที่สื่อตัวตนออกมา เชอรีลอยากลองทำอะไรใหม่ๆ โดยเฉพาะกับการเล่าเรื่อง เธอชอบเรื่อง Go Fish (1994, โรส โทรเช) (และดึงเกรเนเวียร์ เทอร์เนอร์ มาเล่นเป็น ไดแอนาในเรื่องด้วย) งานของทอดด์ เฮย์ส และงานของทอม คาลิน เพื่อนของเธอ ผู้ที่สามารถนำเรื่องส่วนตัวมาผสมกับการเมืองได้อย่างบันเทิงในเรื่อง Swoon (1992) ที่สร้างจากคดีจริงปี 1924 ว่าด้วยชายหนุ่มฐานะดีสองคนที่ลักพาตัวเด็กชายคนหนึ่งมาแล้วฆ่า ตัวหนังเน้นภาพความเป็นโฮโมเซ็กช่วลของฆาตกรมากกว่าหนังเรื่องอื่นๆ ที่อิงจากคดีนี้ เชอรีลอยากทำแบบเรื่องนี้ ที่มีแนวคิดของการผสานภาพจริงเข้ากับภาพในหนัง31https://www.interviewmagazine.com/film/cheryl-dunye#slideshow_48918.2 (นอกจากกำกับหนัง ทอม คาลินยังเป็นนักกิจกรรมรณรงค์เรื่องเอดส์ในชีวิตจริง เขาเล่า Swoon โยงกับภาพของความกลัวเกี่ยวกับเอดส์ ความโกรธแค้นที่รัฐบาลเพิกเฉย และการฆาตกรรมซึ่งมีนัยเปรียบถึงเอดส์ เขานำการรณรงค์ของเขาซึ่งเกิดขึ้นนอกอุตสาหกรรมหนังมาผสานใส่ในหนังเรื่องนี้)

เชอรีลกล่าวว่ารูปแบบก็สำคัญ ต้องลองเล่นกับแบบแผนการเล่าเรื่องดู ไม่ใช่แค่ย่ำตามรอยเดิม แต่ควรต้องลองเสาะหารูปแบบใหม่ในการเล่าเรื่องด้วย “สิ่งที่ฉันเคยทำกับ The Watermelon Woman และยังทำอยู่ คือไม่ใช่แค่ตั้งใจสร้างงานที่มอบความบันเทิงและน่าติดตามเท่านั้น แต่ยังต้องพยายามสร้างสรรค์สิ่งใหม่ด้วย ฉันว่านั่นคือสิ่งที่ฉันชอบทำ ทั้งในฐานะศิลปินและคนทำหนัง”

เรื่องน่าขันหลังหนังออกฉายคือ มีผู้แทนฯ ของสหรัฐออกมาวิพากษ์ องค์การกองทุนเพื่อศิลปะแห่งชาติ (เอ็นอีเอ) ที่ให้ทุนส่วนหนึ่งกับหนัง ว่าเอาภาษีประชาชนไปลงทุนกับ ‘หนังโป๊’ (หนังมีแค่ฉากเลสเบี้ยนบนเตียงอยู่ซีนเดียว) และทำให้องค์การตัดสินใจเปลี่ยนกฎการให้ทุนในเวลาต่อมา

ป.ล. หนังได้รับแรงบันดาลใจในการตั้งชื่อมาจาก Watermelon Man (1970, เมลวิน แวน พีเบิลส์) หนังเล่าเรื่องชายผิวขาวหัวรั้นที่วันหนึ่งตื่นขึ้นมาแล้วพบว่าตนกลายเป็นคนผิวดำ ซึ่งเป็นหนังตลกพูดถึงปัญหาสีผิวที่เชอรีลค้นพบและชื่นชอบ


2020: แมมมี่ยังคงอยู่?

(จากซ้ายไปขวา) วูปี โกลด์เบิร์ก ใน Corinna, Corrina (1994), ไทเลอร์ เพอร์รี ในบท มาเดีย และ ออคตาเวีย สเปนเซอร์ ใน The Help (2011)

เกิดเหตุการณ์มากมายขณะผู้เขียนกำลังเขียนบทความนี้ ทั้งช่องสตรีมมิ่ง HBO Max เอาเรื่อง Gone with the Wind (1939) ออกชั่วคราว หลังจอห์น ริดลีย์ (มือเขียนบท 12 Years a Slave) ออกมาเขียนบทความพูดถึงหนังที่เล่าความน่ากลัวของระบบทาสในลักษณะสวยงามกว่าความเป็นจริง และเรียกร้องให้ทางช่องถอดหนังออก32https://www.latimes.com/opinion/story/2020-06-08/hbo-max-racism-gone-with-the-wind-movie (เป็นเรื่องบังเอิญที่เหตุการณ์เกิดใกล้กับช่วงวันคล้ายวันเกิดของแฮตตี แม็กแดเนียลพอดี) หรือหลายเรื่องที่เกิดมานานแล้วแต่มีกระแสขึ้นมาอีกครั้ง หลังเหตุการณ์จอร์จ ฟลอยด์ อย่างการวิพากษ์หนังคนผิวดำที่มีลักษณะ “ประนีประนอมทางเชื้อชาติ” (racial reconciliation) รวมถึงหนังอย่าง The Help (2011, เทต เทเลอร์) หรือในชื่อไทย ‘คุณนายตัวดี สาวใช้ตัวดำ’ เรื่องของสาวใช้ผิวดำในยุค 60 ทางตอนใต้ ที่ต้องเจอกับปัญหาทางสังคม เรื่องราวของเธอถูกนำมาเสนอต่อสาธารณะหลังหญิงสาวผิวขาว เพื่อนของเจ้านายเล็งเห็นปัญหา ซึ่งหนังให้ความสำคัญกับการเล่าถึงผู้หญิงผิวขาวมากกว่าชีวิตของสาวรับใช้

หนังส่งให้นักแสดงผิวดำอย่าง ออคตาเวีย สเปนเซอร์ ชนะรางวัลนักแสดงสบทบหญิงยอดเยี่ยมในงานออสการ์ กับบท มินนี่ แจ็กสัน แม่บ้านผิวดำในบ้านคนผิวขาว ซึ่งเป็นภาพเหมารวมแบบ ‘แมมมี่’ ที่ปรากฏขึ้นอีกครั้ง เหมือนกับแฮตตี แม็กแดเนียล ผู้ชนะรางวัลเดียวกันเมื่อ 72 ปีที่แล้ว

ออคตาเวีย สเปนเซอร์ ใน Ma (2019)

อีกเรื่องที่คนพูดถึงคือ Ma (2019, เทต เทเลอร์) หรือในชื่อไทย ‘แม่_ร้าย’ กำกับโดยเทต เทเลอร์ มีออคตาเวีย สเปนเซอร์แสดงเช่นเดียวกับใน The Help เล่าเรื่องของซู แอน หญิงวัยกลางคนที่ชักชวนเด็กวัยรุ่นให้มาปาร์ตี้ที่ชั้นใต้ดินของบ้านตัวเอง ด้วยเงื่อนไขว่า พวกเธอจะต้องไม่ขึ้นไปชั้นบนของบ้าน และต้องเรียกเธอว่า ‘มา’ (Ma – Mammy? แมมมี่?) ก่อนกลุ่มวัยรุ่นจะพบว่ามีบางอย่างผิดปกติกับซู และเกิดเหตุสะพรึงขวัญขึ้น

โปสเตอร์ Ma กับวัยรุ่นผิวดำที่ถูกทาหน้าขาว(?)

มีผู้ตั้งข้อสังเกตตั้งแต่ตัวอย่างแรกถูกปล่อย วัยรุ่นเจอซูในเสื้อคลุมพยาบาล เด็กวัยรุ่นเจอหน้ากากแอฟริกันที่อยู่บนบ้าน ส่วนที่ซูไม่อนุญาตให้ขึ้นไป หรือการทาหน้าขาวให้ตัวละครวัยรุ่นคนดำ33https://www.hollywoodreporter.com/heat-vision/is-ma-trailer-a-reaction-octavia-spencers-help-1186279

มา รับบทโดย ออคตาเวีย สเปนเซอร์ ผู้เล่นเป็นแม่บ้าน พยาบาล และคนทำความสะอาดมากกว่า 20 ครั้งในหนัง รวมถึง 2 ใน 3 ของการแสดงที่ได้เข้าชิงออสการ์ และส่วนใหญ่ตัวละครเหล่านี้ดำรงอยู่เพื่อทำหน้าที่รับใช้การเล่าเรื่องให้ตัวละครหลักซึ่งเป็นคนผิวขาว พวกเธอมักให้คำแนะนำอันเรียบง่าย หรือมอบกำลังใจแสนยิ่งใหญ่ให้คนผิวขาว ออคตาเวียเคยให้สัมภาษณ์ถึงระยะห่างระหว่างบทบาทที่ถูกเสนอ กับเรื่องที่ว่าเธอมองตัวเองอย่างไร ว่า “มันยากเหมือนกัน เพราะพวกเขาต้องการให้คุณเล่นแค่บทบาทแบบเดียว ฉันไม่มีลูก ไม่ได้เป็นแม่ใคร ถ้าคุณถามเพื่อนฉัน พวกเขาจะตอบว่า ‘เธอเป็นคนสุดท้ายที่ควรเป็นแม่คน’ ”

ถ้าแมมมี่คือ “ภาพแทนของความเป็นแม่ แต่ไม่ได้ดูแลลูกของตัวเอง ความรัก คำแนะนำสั่งสอนถูกสงวนไว้ให้แค่กับหญิงและเด็กๆ ผิวขาวเท่านั้น” ดูเผินๆ แล้วเหมือน Ma จะพลิกภาพเหมารวมนี้ไปอีกทาง เพราะซูคือหญิงผิวดำรูปร่างท้วม แต่ไม่ได้ ‘ดูแล’ เด็กผิวขาวอีกต่อไป ซึ่งในบทดั้งเดิม ตัวละคร ‘มา’ คือคนผิวขาว แต่เทตเปลี่ยนภายหลังเพื่อให้สเปนเซอร์เล่นโดยเฉพาะ

หลายคนตั้งข้อสงสัยว่านี่คือจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงภาพ แมมมี่ หรือไม่? มิกกี แม็กเอลยา ยังกังขากับเรื่องนี้อยู่ “ถ้าอะไรจะเกิดขึ้นล่ะก็ หนังคงเติมเชื้อไฟให้กลุ่มนิยมประชานิยมเพื่อคนขาว (white populist) ในการเมืองอเมริกันมากขึ้น คนขาวหลายรุ่นที่ไม่เห็นว่าตัวเองได้ประโยชน์อะไรจากอุดมการณ์เหยียดผิวด้วยโครงสร้างทางสังคม (structural racism) และอภิสิทธิ์ทางเชื้อชาติ… กลุ่มคนที่บอกว่า ‘ฉันไม่ได้เป็นนายทาส ฉันไม่ต้องรับผิดชอบกับอะไรพวกนี้’ จะผูกตัวเองกับกลุ่มเด็กที่ถูกทำร้ายโดยผู้หญิงผิวดำซึ่งอาฆาตแค้นในสิ่งที่พวกเขาไม่ได้ทำมากกว่า”

มาร์ติน ลอว์เรนซ์ ใน Big Momma’s House 2

มีตัวละครแบบแมมมี่ในยุคปัจจุบันที่ถูกเอามาทำเป็นแนวตลก หรือ ‘mammy in drag’34https://surface.syr.edu/cgi/viewcontent.cgi?article=1195&context=thesis (p.7) เช่น มาร์ติน ลอว์เรนซ์ ใน Big Momma’s House (เอฟบีไอพี่เลี้ยงต่อมหลุด) หรือตัวละคร มาเดีย ของไทเลอร์ เพอร์รี่ ซึ่งทั้งคู่เป็นหญิงรูปร่างใหญ่ ลักษณะภายนอกคล้าย ‘แมมมี่’ ปรากฏในหนังและทีวีคอเมดีหลายต่อหลายเรื่อง

เบ็ตตี กาเบรียล กับบท จอร์จีน่า ใน Get Out (2017)

‘แมมมี่’ ยังอยู่ใน Get Out (2017) กับบท จอร์จีน่า ซึ่งอาจมองได้ว่านี่คือการยั่วล้อของ จอร์แดน พีล กับภาพเหมารวม ทั้งการแต่งตัวชุดแม่บ้านด้วยปกเสื้อสีขาว การหัวเราะอย่างขมขื่น และบทพูดที่ชมเจ้านายคนขาว (ซึ่งมีที่มาถ้าเรารู้ twist ของหนัง) อย่างซีนนี้

แมมมี่ เป็นเพียงภาพเหมารวมของคนผิวดำอันหนึ่งที่อยู่ในสื่อมากมาย ส่งผลต่อความคิดและสังคมอย่างฝังลึก และเกิดภาพเหมารวมอื่นๆ ตามมามากมาย ยกตัวอย่างบุคลิกของผู้หญิงผิวดำรูปร่างอ้วนท้วมที่คนมองว่าจะต้อง ‘sassy’ หรือภาพของ ‘Sassy Mammy’35https://www.ferris.edu/HTMLS/news/jimcrow/antiblack/sapphire.htm ที่ถูกเล่าในวัฒนธรรมป๊อบตั้งแต่ยุค 1800s จนถึงกลางยุค 1900s (ซึ่งถูกจัดให้อยู่ในภาพเหมารวมประเภท Sapphire หรือภาพของ ‘หญิงผิวดำขี้โมโห’ มีนิสัยหยาบคาย เสียงดัง หัวแข็ง และเจ้ากี้เจ้าการ) ผู้เขียนขอให้ลองนึกภาพแมมมี่ใน Gone with the Wind (1939) มาเดีย ของไทเลอร์ เพอร์รี่ หรืออาจย้อนกลับไปได้ถึงแมมมี่ใน The Birth of a Nation (1915) เลยทีเดียว ภาพเหมารวมของหญิงผิวดำรูปร่างท้วม เท้าสะเอวและส่ายคอเมื่อไม่เห็นด้วย หรือภาพส่ายนิ้วกลอกตาของพวกเธอที่ทำให้คนอื่นหัวเราะ

เนล คาร์เตอร์ ในซีรีส์โทรทัศน์ Gimme a Break! หนึ่งในบุคลิกแบบ Sassy Mammy

ในฐานะผู้หญิงผิวดำรูปร่างท้วม บริตต์นี คูเปอร์ เล่าว่า พอเป็นหญิงผิวดำ คนอเมริกันจะไม่ตระหนักว่า ความ sass นั้น แม้จะดูเป็นกันเอง แต่จริงๆ แล้วคือความโกรธ เธอพบว่าคนคาดหวังความ sass ของเธอ จากรูปร่างภายนอก36https://time.com/5191637/sassy-black-woman-stereotype/ หรืออย่างทันย่า ฮอลแลนด์ เชฟชาวอเมริกันที่รายการทีวีคาดหวังให้เธอ sassy แต่เธอไม่ได้มีบุคลิกแบบนั้น37https://www.grubstreet.com/2012/03/tanya-holland-food-network-black-chefs.html 38https://blogs.scientificamerican.com/food-matters/not-gone-with-the-wind-the-perpetuation-of-the-mammy-stereotype/ แสดงให้เห็นว่าภาพเหมารวมนี้ตีกรอบให้มีลักษณะนิสัยแบบเดียว เพียงแค่ภาพลักษณ์ภายนอกของคนคนนั้น แทนที่จะมองแยกเป็นรายบุคคล


เห็นแล้วตั้งคำถาม ศึกษาอดีตเพื่อเข้าใจ

ผู้เขียนมองว่าการศึกษาประวัติศาสตร์เป็นเรื่องสำคัญ มิใช่วิธีการท่องจำตามตำรา แต่คือการคิดวิเคราะห์พร้อมมองบริบทโดยรอบ ว่าช่วงเวลานั้นเป็นอย่างไร ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น แม้เราจะเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ไม่ได้ แต่เราสามารถทำความเข้าใจกับมันและไม่ผลิตมันซ้ำอีก

ร้านอาหาร Mammy’s Cupboard ข้างถนนในรัฐมิสซิสซิปปี ตัวร้านถูกสร้างตามแบบภาพของแมมมี่

แมมมี่เป็นเพียงหนึ่งในภาพเหมารวมของคนดำ ซึ่งถูกล้อเลียนมาตั้งแต่โชว์มินสเตรล คนขาวทาหน้าดำเร่โชว์ทั่วอเมริกา สู่ภาพเหมารวมติดในความคิด คิดไปว่าคนดำต้องเป็นแค่แบบนี้ๆ และยิ่งแพร่หลายมากขึ้นเมื่อปรากฏในที่ต่างๆ และมีคนเสพมันต่อไปเรื่อยๆ ทั้งจากสื่อหนังสือพิมพ์ บันทึกการเดินทาง นิยาย ผ่านภาพยนตร์ วิทยุ ละครเวที สิ่งของประจำวัน กระทั่งโลกออนไลน์ในปัจจุบัน ถูกฝังอยู่ในความคิด สร้างความเคยชินให้สังคม ตัดโอกาสคนที่ถูกมองอยู่ในภาพเหมารวมนี้ เราควรเปลี่ยนจากความคิดแบบ “เรื่องแค่นี้เอง ไม่มีอะไรหรอก พวกนี้คิดมากไปเรื่อย” หรือ “เปลี่ยนสิ่งนี้ทำไม มันอยู่มานานแล้วนะ แบบนี้ก็ต้องเปลี่ยนอาคาร เปลี่ยนชื่อเมือง เปลี่ยนหนังสือ เปลี่ยนชื่อถนนด้วยสิ” หรือลดทอนการเน้นความสำคัญของอีกฝ่ายลงอย่าง “ทุกชีวิตมีค่านะ ไม่ใช่แค่คนดำ คนขาวล่ะ คนเอเชียล่ะ คนพื้นเมืองล่ะ คนละตินอเมริกาล่ะ ฯลฯ” มาเป็น “เอ๊ะ ทำไมเขาถึงทำแบบนี้นะ มันเคยมีอะไรเกิดขึ้นหรือเปล่า เราจะมองมันอย่างไร”

ครั้งหนึ่ง เดวิด พิลกริม เคยปากระปุกเกลือรูปแมมมี่แบบนี้ทิ้ง

อย่างข่าวล่าสุดคือ ภาพยนตร์เรื่อง Gone with the Wind จะกลับมาฉายใน HBO Max ใหม่ในไม่ช้า พร้อมกับข้อความเกริ่นนำด้านประวัติศาสตร์โดยแจ็คเกอลีน สจวร์ต39https://www.nytimes.com/2020/06/14/movies/gone-with-the-wind-battle.html 40https://edition.cnn.com/2020/06/12/opinions/gone-with-the-wind-illuminates-white-supremacy-stewart/index.html (ในขณะที่ผู้เขียนเห็นคำโปรยหนังสือฉบับแปลไทยว่า “ทำให้เราได้เห็นวิถีชีวิตของคนอเมริกัน วัฒนธรรม ค่านิยม พฤติกรรม และสัมพันธภาพของคนผิวขาวเจ้าของทาสผิวดำ”)

หรือการถือกำเนิดของพิพิธภัณฑ์จิมโครว์ในปี 2012 ที่เก็บสะสมคอลเลคชั่นสิ่งของสะท้อนการเหยียดผิวที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกา พิพิธภัณฑ์นี้ก่อตั้งโดยเดวิด พิลกริม จุดประสงค์เพื่อมุ่งหวังให้ผู้คนเข้าใจการแสดงออกถึงการเหยียดผิวในประวัติศาสตร์ ตั้งแต่อดีต ลากยาวมาจนถึงปัจจุบัน และทำหน้าที่เป็นแหล่งข้อมูลให้องค์กรสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมือง และต้องการให้เกิดบทสนทนาของผู้คนหลังเสร็จสิ้นการชมพิพิธภัณฑ์41https://www.theatlantic.com/national/archive/2012/04/new-racism-museum-reveals-the-ugly-truth-behind-aunt-jemima/256185/ 42https://themomentum.co/museums-now-jim-crow-museum-of-racist-memorabilia/ ตอนอายุ 12 ขวบ เขาซื้อกระปุกเกลือรูปแมมมี่ เพียงเพื่อปามันทิ้ง เพราะเขาเกลียดมันมาก แต่ต่อมาอาจารย์ในวิทยาลัยได้เล่าเรื่องหนึ่งให้เขาฟัง เรื่องของคนดำชนชั้นกลางต้องใส่หมวกคนขับรถผ่านทางตอนใต้ เพราะไม่ต้องการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจหรือคนขาวคิดว่ารถเป็นของพวกเขา “ผมจำเรื่องนี้ได้แม่น ทุกวัตถุไม่มีความหมายอะไร นอกจากเราให้ความหมายกับมัน แต่จากเรื่องที่อ.เล่า ดูผิวเผินสิ่งของอย่าง หมวก ไม่น่ามีนัยข้องเกี่ยวกับการเหยียดผิว แต่มันกลับสื่อความหมายถึงในอีกบริบทนึงได้อย่างไม่น่าเชื่อ”

RELATED ARTICLES