Home Article Food & Film Pieces of a Woman : เศษซากของ ‘ผู้หญิง’ กับเศษเสี้ยวของ ‘แอปเปิล’ …มนุษย์เพศแม่ที่ยังคงงอกงาม แม้บนความเจ็บปวด

Pieces of a Woman : เศษซากของ ‘ผู้หญิง’ กับเศษเสี้ยวของ ‘แอปเปิล’ …มนุษย์เพศแม่ที่ยังคงงอกงาม แม้บนความเจ็บปวด

Pieces of a Woman : เศษซากของ ‘ผู้หญิง’ กับเศษเสี้ยวของ ‘แอปเปิล’ …มนุษย์เพศแม่ที่ยังคงงอกงาม แม้บนความเจ็บปวด

* บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาตอนจบของภาพยนตร์

“เธอมีกลิ่นเหมือนแอปเปิล”

หญิงสาวผู้มีแววตาเลื่อนลอยกล่าวถึงรายละเอียดเพียงหนึ่งเดียวที่เธอจดจำได้จากลูกสาวแรกเกิดในอ้อมกอดเมื่อครึ่งปีที่แล้ว ก่อนที่ทารกน้อยเนื้อตัวเปียกน้ำคร่ำจะสิ้นลมหายใจถัดจากการเปล่งเสียงร้องเพียงในนาทีแรก-และนาทีเดียว-ของชีวิต

เจ้าของคำพูดข้างต้นกำลังยืนอยู่ต่อหน้าศาลระหว่างให้การฟ้องร้องพยาบาลผดุงครรภ์ที่มีส่วนในโศกนาฏกรรมครั้งนี้ของเธอและลูก โดยพวกเธอทั้งหมดคือตัวละครจาก Pieces of a Woman (2020, กอร์เนล มุนดรักโซ) หนังดราม่าสะเทือนอารมณ์ที่พูดถึงชีวิตที่พลิกคว่ำคะมำหงายของ มาร์ธา (รับบทโดย วาเนสซา เคอร์บี้) เมื่อต้องสูญเสียลูกสาวของตนไปเพียงไม่ถึงนาทีหลังการคลอดภายในบ้าน ซึ่งถือเป็นฉาก ‘คลอดลูก’ ที่สามารถเรียกเสียงฮือฮาจากผู้ชมได้ผ่านการถ่ายทำแบบต่อเนื่องในเทคเดียว (Long Take) ยาวนานถึงยี่สิบกว่านาที!

กลิ่นของทารกผู้ล่วงลับที่มาร์ธาจดจำได้จากฉากนี้ช่วยตอกย้ำการถ่ายทอดภาพ ‘การรับมือกับความทุกข์จากการสูญเสีย’ ของมนุษย์-โดยเฉพาะเพศแม่-ผ่านการใช้ ‘แอปเปิล’ เป็นสัญญะเปรียบเทียบได้อย่างเรียบง่าย แต่ก็ยังน่าเศร้าสะพรึงใจ


1

กลิ่นที่เหมือนกับ ‘แอปเปิล’ คือสิ่งที่มาร์ธาใช้อธิบายลักษณะของอดีตลูกน้อยต่อหน้าศาล ซึ่งทำให้ผู้ชมอย่างเราหวนรำลึกนึกไปถึงเหตุการณ์อันน่าสะเทือนใจนี้ของเธอเมื่อหลายเดือนก่อน

ตอนนั้น ว่าที่คุณแม่มือใหม่ตั้งใจจะคลอดลูกสาวด้วยวิธีการตามธรรมชาติที่บ้านของเธอเอง แต่เนื่องจากคนทำคลอดที่มาร์ธาไว้ใจเดินทางมาไม่ทันเพราะติดภารกิจเร่งด่วน พยาบาลผดุงครรภ์อีกคนอย่าง อีวา (มอลลี พาร์คเกอร์) จึงต้องมารับหน้าที่แทน และเมื่อแผนที่วางไว้ไม่เป็นไปดั่งใจ อีกทั้งลูกที่คลอดออกมาก็ไม่แข็งแรงพอจะมีชีวิตอยู่ได้โดยปราศจากการยื้อยุดของแพทย์-ที่ลูกอาจได้รับหากหญิงสาวเลือกการคลอดในโรงพยาบาลตั้งแต่แรก

ด้วยเหตุนี้ ทารกน้อยจึงต้องลาโลกไปต่อหน้าต่อตาในอ้อมกอดของมาร์ธาเอง

หญิงสาวรับมือกับเหตุการณ์ครั้งนั้นอย่างเงียบงันด้วยการพยายามใช้ชีวิตปกติตามเดิม เธอพยายามมีเซ็กซ์กับสามี กลับไปทำงานที่ออฟฟิศ หรือแม้แต่ตัดสินใจเซ็นมอบร่างกายของลูกสาวเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ขณะที่คนรอบข้างของเธอกลับแสดงความโศกเศร้าออกมา ‘มากกว่า’ อย่างเห็นได้ชัด ทั้งสามี (ไชอา ลาบัฟ) ที่เริ่มทำตัวไม่อยู่กับร่องกับรอยและหันกลับไปพึ่งยาเสพติด-ซึ่งเขาเลิกมาได้แล้วหลายปี-เพื่อให้ลืมการสูญเสียแค่ชั่วคราวก็ยังดี และแม่ (เอลเลน เบอร์สตีน) ที่ต้องการผลักดันให้ลูกสาวลุกขึ้น ‘สู้’ ทุกวิถีทาง โดยเฉพาะกับการฟ้องร้องเอาผิดคนทำคลอดที่เธอมองว่าควรมีส่วนรับผิดชอบในความผิดพลาดนี้

ท่ามกลางความเสียใจอันท่วมท้นของผู้คนในครอบครัว มาร์ธาจึงถูกมองว่า ‘เย็นชาเกินไป’ กับโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้น ทั้งที่ภายในใจของผู้หญิง-ที่เกือบจะได้เป็น ‘แม่’ โดยสมบูรณ์-อย่างเธอนั้นก็ย่อยยับเพราะความเจ็บปวดทรมานไม่ต่างจากคนอื่น จนเธอเริ่มไม่แน่ใจว่าตัวเองต้องทำเช่นไรเพื่อให้สมกับการสูญเสียลูกไป และถึงขั้นยอมตามน้ำเข้าร่วมกระบวนการฟ้องร้องพยาบาลผดุงครรภ์นางนั้นในที่สุด

แต่ไม่ว่าคนในครอบครัว-รวมถึงมาร์ธาเอง-จะรู้ตัวหรือไม่, ถ้อยคำที่หญิงสาวเอื้อนเอ่ยออกมาในชั้นศาลว่าลูกสาวผู้ล่วงลับมี ‘กลิ่นเหมือนแอปเปิล’ นั้น ได้ส่งอิทธิพลกับชีวิตประจำวันของเธอมาเนิ่นนานแล้วนับจากการสูญเสีย…


2

‘แอปเปิล’ กับ ‘มนุษย์เพศหญิง’ ดูจะมีความเกี่ยวพันกันอย่างแน่นแฟ้นในโลกของเรื่องเล่าและศิลปะ นับจากเรื่องราวความเชื่อทางฝั่งคริสต์ศาสนาที่ อีฟ -มนุษย์เพศหญิงคนแรก- ฝ่าฝืนคำสั่งพระเจ้าและลิ้มลองแอปเปิลหรือ ‘ผลไม้ต้องห้าม’ ในสวนเอเดน จนต้องถูกขับไล่จากสรวงสวรรค์ ซึ่งข้อมูลบางแหล่งกล่าวอ้างว่า อีฟนี่เองที่เป็นตัวการชักชวนให้มนุษย์เพศชายคนแรกอย่าง อดัม ต้องทำตามเจ้าหล่อน — แอปเปิลจึงกลายมาเป็นภาพแทนของ ‘บาป’ อันเลวร้ายที่มนุษย์ต้องชดใช้ และเป็นสัญญะทางเพศที่เชื่อมโยงกับสรีระของ ‘อวัยวะเพศหญิง’ -หรือชี้ให้ชัดก็คือ ‘ช่องคลอด’- ที่ดูคล้ายกับแอปเปิลผ่าซีกไปโดยปริยายนับแต่นั้น ซึ่งเหล่าศิลปินมักนำมาใช้ถ่ายทอดถึง ‘แรงปรารถนา’ ของสตรีเพศผ่านงานศิลปะที่หลากหลาย จากภาพจิตรกรรมในอดีต มาจนถึงภาพยนตร์ในปัจจุบัน

หากแต่ใน Pieces of a Woman แอปเปิลมิได้หมายถึงแรงปรารถนาทางเพศ ทว่ามันอาจกำลังสื่อถึง ‘การเจริญพันธุ์ของมนุษย์ที่นำไปสู่การชดใช้บาป’ ผ่านการเปรียบให้ ‘ทารกหญิง’ ที่ถือกำเนิดออกมาจากช่องคลอดของมาร์ธาเป็นเสมือนผลไม้ต้องห้ามอย่าง ‘แอปเปิล’ ซึ่งสามารถสังเกตได้จากชื่อของทารก (อีเวตต์) และคนทำคลอดอย่าง (อีวา) ที่ชวนให้นึกไปถึงชื่อของอีฟ-มนุษย์เพศหญิงที่เข้าไปพัวพันกับผลไม้นั้น

ฉะนี้แล้ว การฝืนเด็ดแอปเปิลมากัดกินของอีฟจนถูกพระเจ้าขับไล่ จึงอาจเทียบเคียงได้กับการฝืนคลอดทารก-ผู้มีกลิ่นเหมือนแอปเปิล-ของมาร์ธาที่บ้านซึ่งจบลงด้วยความผิดพลาด และมันก็นำพาให้ ‘ผู้หญิง’ ที่เกี่ยวข้องทุกนางก้าวสู่หายนะครั้งใหญ่ในชีวิต

ข้อสันนิษฐานนี้ดูจะกระจ่างชัดยิ่งขึ้น เมื่อผู้ชมเคยได้มีโอกาสเห็นภาพชีวิตประจำวันของมาร์ธาก่อนการไต่สวนว่า หลังการจากไปของลูกสาว เธอที่กำลังหม่นเศร้าดูจะหมกมุ่นกับ ‘แอปเปิล’ อยู่ไม่น้อย ทั้งหยุดดมกลิ่นมันที่ร้านค้า, กัดกินมันระหว่างกำลังโต้เถียงกับแม่เรื่องการเซ็นบริจาคร่างกายลูกสาว หรือกำลังจ้องมองเด็กๆ ผู้เริงร่ากับพ่อแม่ของพวกเขาบนรถสาธารณะ ก่อนถ่มเมล็ดออกมาวางบนนิ้วมืออย่างครุ่นคิด และถึงขั้นออกไปหาซื้อหนังสือสอนวิธีการเพาะพันธุ์ นั่งแงะเมล็ดจนเกลื่อนโต๊ะ แล้วนำมาห่อแผ่นลำลีหมาดน้ำเก็บไว้ในตู้เย็นเพื่อรอดูความเปลี่ยนแปลง

การเฝ้าหมกมุ่นกับแอปเปิลจึงอาจแทนค่าได้กับ ‘ความทุกข์จากการสูญเสียลูก’ ที่ยังคงวนเวียนอยู่ภายในจิตใจของมาร์ธา ซึ่งการถือแอปเปิลขึ้นมาลิ้มรสอยู่เสมอก็ดูคล้ายกับเป็นการเก็บงำทุกข์นั้นเอาไว้กับตัวเรื่อยมา

แต่กระนั้น ความพยายามที่จะเพาะเมล็ดแอปเปิลของเธอก็สะท้อนถึงความจริงในอีกมุมหนึ่งด้วยว่า หญิงสาวคงยังต้องการที่จะกลับมามี ‘ความหวัง’ กับชีวิตให้ได้อีกครั้ง แม้ความทุกข์จากประสบการณ์การคลอดที่ล้มเหลวจะเจ็บปวดฝังลึกสักเพียงใด

เธอคงหวังแค่ว่า ทุกข์ที่ตนถือครองไว้และกัดกินมันเข้าไปทุกเมื่อเชื่อวัน-เหมือนผลแอปเปิลในมือ-จะถึงเวลาที่ต้องถูก ‘วาง’ ลงเสียที


3

“ถ้าแกทำตามวิธีที่แม่บอก ป่านนี้แกคงได้อุ้มลูกไปแล้ว”

แม่บอกกับมาร์ธาเช่นนั้น ในวันที่เธอเผยออกมาว่ารู้สึกอับอายที่ลูกสาวล้มเหลวกับการเลือกคลอดหลานที่บ้าน และพยายามให้ลูกสาวฟ้องร้องพยาบาลผดุงครรภ์อย่างอีวาเพื่อทวงคืนความยุติธรรมกลับมาให้ครอบครัว ซึ่งทั้งคำพูดและท่าทีเหล่านี้ก็ทำให้หญิงสาวรู้สึกเหลือทนกับความจุ้นจ้านไม่รู้จบของคนในครอบครัวจนต้องระเบิดอารมณ์ออกมา และทำให้มื้ออาหารรวมญาติที่ฝ่ายแม่ตระเตรียมไว้ต้องพังลงอย่างไม่เป็นท่า

แม่อาจไม่รู้ว่า มาร์ธาเองก็รู้สึกเจ็บปวดทรมานที่ต้องสูญเสียลูกไปจากหนทางที่เธอเลือก

แม่อาจไม่รู้ว่า เธอพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อเผชิญหน้ากับความเจ็บปวดนี้ในแบบของตน

และแม่อาจไม่รู้ว่า วิธีใช้ชีวิตสำหรับใครคนหนึ่งอาจไม่ใช่วิธีที่ ‘ได้ผล’ สำหรับใครอีกคนหนึ่ง

อย่างไรก็ดี การฟ้องร้องที่เธอยอมเข้าร่วมก็ถึงคราวสิ้นสุดลง เมื่อสุดท้าย เจ้าตัวก็ค้นพบวิธีการรับมือกับความทุกข์ครั้งนี้ในแบบของตน — เธอตัดสินใจบอกกับศาลอย่างแน่วแน่ว่าไม่ต้องการเอาผิดอีวา เพราะการทำเช่นนั้นไม่ได้ช่วยเปลี่ยนแปลงความตายของลูกสาวหรือความโศกเศร้าของเธอ แต่คนที่ต้องยอมรับและจัดการกับความสูญเสียครั้งนี้-อันเกิดจากวิถีทางที่ตนเลือก-ให้ได้ ก็คือ ‘ตัวเธอเอง’

ในเวลาต่อมา ‘สัญญะแห่งการถือกำเนิดใหม่’ ของมาร์ธาจึงปรากฏขึ้นในรูปของ ‘ต้นแอปเปิล’ ที่งอกเป็นใบอ่อนเล็กๆ ออกมาจากเมล็ดที่ถูกเธอเพาะเก็บไว้ในตู้เย็น ก่อนที่ในฉากสุดท้าย-อันเป็นเวลาอีกหลายปีถัดจากนั้น ผู้ชมจะได้เห็นต้นแอปเปิลที่เติบโตสูงใหญ่และแผ่กิ่งก้านสาขาออกไปทั่วอาณาบริเวณ อันเป็นที่ซึ่งเด็กหญิงผมบลอนด์หน้าตาน่ารักน่าชังคนหนึ่งกำลังป่ายปืนอยู่อย่างรื่นรมย์

โดยมีมาร์ธาเดินออกมาเรียกเด็กหญิง-ที่น่าจะเป็น ‘ลูกสาวคนใหม่’ พยุงเธอลงจากต้นไม้ แล้วพากันจูงมือกลับเข้าบ้านไป

การ ‘เกิดใหม่’ ของมาร์ธาถูกถ่ายทอดผ่านภาพการงอกเงยอย่างงดงามของต้นแอปเปิลหน้าบ้าน และมันก็เป็นหลักฐานชั้นดีถึงการก้าวข้ามความทุกข์ตรมในอดีตและเติบโตมาสู่ปัจจุบันขณะได้อย่างสง่างามในฐานะ ‘แม่’ ที่เธอเคยสูญเสียไปแล้วครั้งหนึ่ง

‘เศษซาก’ ของผู้หญิงคนหนึ่งสามารถฟื้นคืนมาได้ด้วย ‘เศษเสี้ยว’ ของแอปเปิลลูกแล้วลูกเล่าที่เธอเคยต้องกัดกินด้วยความเจ็บปวดแสนสาหัส ก่อนจะค้นพบเมล็ดและประคบประหงมให้มันแตกยอดขึ้นมาใหม่อีกครั้งด้วยความหวัง-ที่แม้จะดูริบหรี่เลือนราง

ด้วยเหตุนี้, ในตอนจบ แอปเปิลจึงไม่ใช่ภาพแทนของ ‘บาป’, ‘หายนะ’ หรือ ‘ความทุกข์’ สำหรับมาร์ธาอีกต่อไป

และก็ไม่ใช่เฉพาะเพศแม่อย่างเธอที่สามารถ ‘เกิดใหม่’ ได้ เพราะไม่ว่าจะเป็นใครหรือเพศไหน หากมนุษย์คนนั้นค้นพบวิธีการที่จะรับมือกับความทุกข์ตรงหน้าได้ในแบบของตน เขาก็สามารถกลับมามีชีวิตที่งอกงาม-เหมือนมาร์ธาและเมล็ดแอปเปิลของเธอ-ได้เสมอ


ชม Pieces of a Woman ได้ที่ Netflix

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here