Home Article Film & Business “สายหนัง” คืออะไร (ตอน 2) : รู้จัก “สายหนังเมืองไทย”

“สายหนัง” คืออะไร (ตอน 2) : รู้จัก “สายหนังเมืองไทย”

“สายหนัง” คืออะไร (ตอน 2) : รู้จัก “สายหนังเมืองไทย”

หลังจากได้รู้จักที่มาของ “สายหนัง” ในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์โลก และระบบการแบ่งสายจัดจำหน่ายหนังในอินเดียไปแล้ว (ตอน 1) คราวนี้เราจะมาทำความเข้าใจเรื่องสายหนังของเมืองไทย (อย่างย่อๆ) ดูบ้างครับ

สายหนังเมืองไทย: นิยามและขอบเขต

พรสิทธิ์ พัฒธนานุรักษ์ จากม.สุโขทัยธรรมาธิราช อธิบายคำว่า “สายหนัง” ไว้ว่า คืกลุ่มนักธุรกิจที่ซื้อสิทธิ์ภาพยนตร์ทั้งไทยและต่างประเทศจากผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายหลักในกรุงเทพฯ ไปจัดจำหน่ายในภูมิภาคของตนเอง โดยระยะแรกเหตุผลที่จำเป็นต้องพึ่งสายหนังก็เพราะสภาพทางภูมิศาสตร์ของประเทศไทยไม่เอื้ออำนวยให้ผู้ผลิตหนังตระเวนนำฟิล์มไปฉายด้วยตัวเองได้ จึงติดต่อพ่อค้าคนกลางที่มีความชำนาญในภูมิภาคต่าง ๆ นำสำเนาฟิล์มหนังไปตระเวนฉายในพื้นที่

เงื่อนไขการตกลงส่วนใหญ่เป็นลักษณะของการขายขาด กล่าวคือ หลังจากจ่ายค่าสิทธิ์แก่เจ้าของหนังแล้ว สายก็สามารถนำหนังไปหาผลประโยชน์ต่อได้โดยไม่ต้องแจ้งรายละเอียดการจัดจำหน่ายให้เจ้าของหนังรู้ ซึ่งในช่วงทศวรรษ 2520 – ปลาย 2530 ที่อุตสาหกรรมหนังไทยเฟื่องฟู สายหนังไม่เพียงมีบทบาทในการซื้อสิทธิ์หนังไปฉายในพื้นที่ของตนเท่านั้น แต่ยังถือว่ามีส่วนกำหนดแนวทางของหนังอีกด้วย เพราะสายรู้ว่าหนังแบบใดที่คนในพื้นที่อยากดู คนทำหนังจำนวนหนึ่งที่มีทุนไม่มากนักจึงต้องทำหนังที่จะ “ขายสายได้” เพื่อจะได้มีเงิน (จากการขายให้สายล่วงหน้า) ไปใช้ในการสร้างหนังให้เสร็จสมบูรณ์

แม้ปัจจุบัน ระบบการจัดจำหน่ายหนังในเมืองไทยจะเปลี่ยนไป เพราะผู้สร้างและผู้จัดจำหน่ายสามารถติดต่อประสานกับโรงหนัง (โดยเฉพาะโรงเครือใหญ่ที่ขยายกิจการไปสู่แต่ละภูมิภาคมากกว่าสมัยก่อน) ได้โดยตรง แต่สายสัมพันธ์ระหว่างผู้สร้างจากกรุงเทพฯ กับสายหนังก็ยังคงมีอยู่

สำหรับสายหนังในเมืองไทย เดิมมี 5 สายประกอบด้วย 1. สาย 8 จังหวัด ครอบคลุมภาคกลางรอบกรุงเทพฯ ซึ่งในภายหลังได้มารวมเข้ากับสายเหนือ 2. สายเหนือ 3. สายอีสาน 4. สายตะวันออก และ 5. สายใต้ แต่ละสายมีผู้ประกอบกิจการหลายราย จนกระทั่งถึงยุควิดีโอรุ่งเรืองซึ่งส่งผลกระทบต่อกิจการโรงหนัง สายหนังจึงทยอยปิดตัวไป โดยรายที่ยังยืนหยัดถึงปัจจุบันได้แก่

1. สายเหนือ : ครอบคลุมจังหวัดทางทิศเหนือตอนบน ตอนล่าง และภาคกลาง ดำเนินกิจการโดยบริษัท ธนาเอนเตอร์เทนเมนท์

2. สายตะวันออก : ครอบคลุมจังหวัดด้านทิศตะวันออก ผู้ประกอบการมีรายเดียวคือ บริษัทเอสเอฟเอนเตอร์เทนเมนท์ หรือสมานฟิล์ม

3. สายอีสาน : ครอบคลุมจังหวัดในเขตอีสานทั้งหมด มีผู้ประกอบการ 3 รายคือ 1. ไฟว์สตาร์เนทเวิร์ค รับสิทธิ์จากค่ายหนังเมเจอร์สตูดิโออย่าง วอร์เนอร์บราเธอร์ส, โซนี่ พิคเจอร์ส และ ดิสนีย์ รวมถึงหนังไทยค่ายใหญ่เช่น ไฟว์สตาร์, จีดีเอช และเอ็มพิคเจอร์ส 2. มูฟวี พาร์ทเนอร์ รับสิทธิ์จากสหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชันแนล และโมโนฟิล์ม และ 3. เนวาดา เอนเตอร์เทนเมนท์ รับสิทธิ์ค่ายยูไอพี

4. สายใต้ : ครอบคลุมพื้นที่ภาคใต้ มีผู้ประกอบการรายเดียวคือ บริษัทโคลิเซียม เอนเตอร์เทนเมนท์

ความเหมือนและความต่างระหว่างสายหนังไทย – สายหนังอินเดีย

สิ่งที่คล้ายคลึงกันก็คือ

– ผู้จัดจำหน่ายภูมิภาคจะจัดฉายหนังในพื้นที่ของสายตัวเองเท่านั้น ไม่มีการข้ามพื้นที่
– การซื้อขายสิทธิ์ ส่วนใหญ่เป็นการซื้อขาด (ในบางกรณีของอินเดีย ผู้จัดจำหน่ายท้องถิ่นอาจต้องแบ่งผลประโยชน์กับผู้จัดจำหน่ายหลักหลังหนังฉายโรงแล้ว หากสัญญาที่ทำมีเงื่อนไขแบ่งผลประโยชน์ร่วมกัน ส่วนลักษณะการซื้อขายของสายหนังในไทยนั้น มีรูปแบบปรับเปลี่ยนไปตลอดเวลา จากในอดีตที่มีทั้งการซื้อล่วงหน้าก่อนหนังมีกำหนดฉาย ก็ปรับมาเป็นการตกลงซื้อขายกันล่วงหน้าไม่นานนัก ส่วนวิธีการกำหนดราคาในปัจจุบัน มีทั้งการกำหนดตัวเลขตายตัวไปเลยว่าจะซื้อขายเท่าไหร่ (Flat Rate), กำหนดราคาโดยอ้างอิงเปอร์เซ็นต์จากรายได้บ็อกซ์ออฟฟิศส่วนกลาง และการแบ่งรายได้กับเจ้าของสิทธิ์

ส่วนข้อแตกต่างที่สำคัญได้แก่

– สำหรับสายหนังไทย แต่ละภูมิภาคมีผู้ประกอบการรายเดียว (ยกเว้นสายอีสาน) ดูแลการจัดจำหน่ายทั้งหมดในภูมิภาคนั้นๆ แต่ในอินเดีย แต่ละสายอาจมีมากกว่าหนึ่งราย ซึ่งจะแข่งขันกันด้วยการเสนอผลประโยชน์ที่ดีที่สุดแก่เจ้าของสิทธิ์เพื่อให้ได้หนังมาจัดจำหน่ายในสายของตน
– สายหนังในอินเดีย ยังมักเป็นผู้ซื้อสิทธิ์หนังต่างประเทศเข้ามาจัดจำหน่ายเองด้วย ขณะที่สายหนังในเมืองไทยยังเพียงซื้อสิทธิ์หนังต่างประเทศต่อจากบริษัทตัวกลางในไทยเท่านั้น

แม้หลายคนอาจมองว่า สายหนังคือสัญลักษณ์ของความล้าหลังของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ เนื่องจากปัจจุบันสภาพภูมิประเทศไม่ได้เป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับเจ้าของหนัง (ในการนำหนังไปฉายให้ผู้ชมต่างภูมิภาคได้ชมกัน) จนต้องพึ่งสายหนังอีกต่อไปแล้ว แต่สำหรับบางประเทศ สายหนังไม่ได้เป็นเพียงช่องทางการการจัดจำหน่ายเท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงวัฒนธรรมการจัดจำหน่ายหนังที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวด้วย


อ้างอิง :
Film Distribution
– พรสิทธิ์ พัฒธนานุรักษ์. (2562). การบริหารงานสายภาพยนตร์. เอกลารสอนชุดวิชาการบริหารงานสายภาพยนตร์หน่วยที่ 10. นนทบุรี: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
– ชญานิน ธนะสุขธาวร. (2554). ในงานวิทยานิพนธ์เรื่อง ผลกระทบจากการขยายกิจการโรงภาพยนตร์มัลติเพล็กซ์ ต่อระบบสายหนังในประเทศไทย
– Mittal, Ashok. (1995) Cinema Industry in India. Indus Publishing; Delhi

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here