Home Article Cinema Nostalgia Where Is the Friend’s Home? (Iran, 1987, Abbas Kiarostami)

Where Is the Friend’s Home? (Iran, 1987, Abbas Kiarostami)

Where Is the Friend’s Home? (Iran, 1987, Abbas Kiarostami)

มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับเพื่อนคนหนึ่งสมัยเรียน ป.1 ครับ ซึ่งโรงเรียนที่ผมเรียนอยู่ตอนนั้นใกล้บ้านมากคือแค่มองจากฝั่งรั้วโรงเรียนก็เห็นหลังคาแล้ว ทีนี้มีวันหนึ่งก็ได้ยินเสียงเคาะประตูหลังบ้าน พอเปิดรับถึงได้พบว่ามีเพื่อนมาเยี่ยม พูดด้วยเสียงสั่นๆ ปนเหนื่อยหอบ ‘หม่ะ-โน๊-ธั่ม-ๆ-ลืม-คัด-ไทย-ไว้-ที่-โรง-เรียน’

โถ ตกลงวีรกรรมของเพื่อนวันนั้นที่นอกจากยังสำนึกในบุญคุณไม่รู้ลืมแล้ว เรื่องของ (ขออนุญาตเอ่ยนาม) ‘ปิยะชาติ’ วันนั้น ตั้งแต่บัดนั้นเรื่อยมายังมีผลตามมาอีกยาวไกลตามมาอีกตลอดชีวิต คือทุกครั้งเวลาลืมนู่นลืมนี่ หน้าของเพื่อนปิยะชาติจะลอยเข้ามาแม้ในตอนนั้นเราก็รับไว้ด้วยความขอบคุณ แต่อยากจะบอกว่าจริงๆ แล้ว สมุดเล่มนั้นเราใช้จนหมดเล่มแล้ว ขี้เกียจใส่กระเป๋ากลับบ้าน ก็เลยทิ้งมันไว้ใต้โต๊ะอย่างนั้นแหละ ความสำคัญอยู่ที่มีแรงผลักอะไรที่ทำให้ ‘ปิยะชาติ’ ต้องหอบตัวโยนมาหาถึงบ้าน (เรียกให้เข้ามาเล่นก็ไม่เข้า, ด้วยมั้ง) 

ผลจากเย็นวันนั้น ตกลงจบลงด้วยความปลื้มปิติแน่นอนครับ แม้ว่ายังมีตะกอนตกค้างอีกยาวไกล คือคนหนึ่งเก็บไว้เป็นภาพจำ (ทุกๆ ครั้งเวลาลืมของ ทั้งๆ ที่โดยข้อเท็จจริง ก็เปล่าลืมด้วยซ้ำ, 555) ส่วนอีกคน ถ้าอับบาส เคียรอสตามีไม่มาติดต่อทาบทามขอเอาไปสร้างเป็นหนัง (ปิยะชาติ)ก็คงส่งสัญญาณทิพย์ไปถึงประเทศอิหร่าน กลายเป็นตัวละครหลักในหนัง (ที่แม้จะเก่า ต่อให้เป็นเวลาที่กำลังสร้าง วันเวลาของช่วงวัยเด็กก็ผ่านพ้นไปเนิ่นนานหลายปีแล้ว) ทว่าใกล้ตัวจนรู้สึกได้ถึงความรู้สึกของเพื่อนในเวลานั้น

แม้เรื่องราวระหว่าง ‘ปิยะชาติ’ และ ด.ช.อาหมัดในหนังจะมีความใกล้เคียงกันมาก แต่ก็มิได้มีตอนจบที่เหมือนกันแน่นอนครับ (ฉะนั้นตัดเรื่องสปอยล์ทิ้งไปได้) สำคัญที่มีอะไรมาหลอกหลอน(ปิยะชาติ)ให้ต้องเอาสมุดเล่มนั้นมาคืนให้ถึงบ้าน กับสอง เมื่อ(ปิยะชาติ)คืนสมุดให้แล้ว เจ้าตัวรู้สึกอย่างไร (โล่งกาย + สบายใจ + หมดภาระกูแล้ว เหมือนได้ทำความดี) แล้วสมมติว่าถ้าเปลี่ยนสมุดแบบฝึกหัด (สมมติคัดลายมือภาษาฟาร์ซีของอิหร่านก็ได้) เป็นอย่างอื่นแทน ค่าของสมุดก็มองได้ยาวไกลเกินกว่าเอากระดาษมาเย็บเป็นเล่มๆ หลายเท่าเป็นแน่

ยุคหนึ่งหนังอิหร่าน (จะเรียกว่าเพื่อการส่งออกจะได้มั้ย) มักมีลีลาการเดินเรื่องและวิธีนำเสนอเหมือนชวนคนดูร่วมเล่นเกมที่พบเห็นได้บ่อยเวลาจัดสัมมนาหรือทำกลุ่มสัมพันธ์ (ประเภทเดินมินิมาราธอน) ที่มักเดินภายใต้โจทย์หรือกติกาบางอย่างซึ่งกว่าจะบรรลุเป้าหมาย มักมีการให้ผ่านด่านสิบแปดก่อน และโดยมากชอบใช้ตัวละครเด็ก ทีนี้ด้วยวัยขนาดน้องอาหมัดมักหัวอ่อน, เชื่อฟัง, อยู่ในโอวาท และกระตือรือร้นที่จะทำความดี ซึ่งจะทำให้ ‘สมุด’ เล่มเดียวจะมีค่าเกินกว่าที่เห็นด้วยตาแน่ๆ อย่างน้อยก็ได้ผ่านการพิสูจน์แล้วว่าให้คุณให้โทษอย่างไร ซึ่งเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตัวกระดาษ เพราะสิ่งที่คนอื่นเห็นก็คงเป็นแค่สมุดการบ้านธรรมดา แต่สำหรับอาหมัด (หรือเจ้าเนมัทห์ซาเดห์’, ตัวเจ้าของ) ค่าของสมุดเล่มเดียวอาจครอบคลุมเกินกว่าที่ชาวบ้านในละแวกจะเข้าใจหรือแลเห็นคุณค่าของมัน

บางที สิ่งหนึ่งที่คาดว่าถูก(อับบาส)นำ ‘สมุดการบ้าน’ มาใช้วิพากษ์บางอย่างที่ไกลกว่านั้นอย่างซ่อนรูปและแยบยล จนผกก.อับบาสรอดพ้นจากการการตรวจจับโดยเรดาร์ขององค์กรทางศาสนา สมมติว่าสมุดและเส้นทางการดั้นด้นเพื่อหาเจ้าของ ล้วนแล้วแต่ใกล้เคียงกับมรรควิธีเพื่อการค้นพบความจริงบางอย่างซึ่งถ้าสำหรับด.ช.วัยแปดขวบอย่างอาหมัดจะมีความยิ่งใหญ่มาก แม้การแสวงหาความจริงจะสิ้นสุดลงด้วยเวลาเพียงหนึ่งวัน (หรือมากกว่านั้นเล็กน้อย) นั่นคือ(อาหมัด)ออกค้นหาบ้านเพื่อน(เนมัทซาเดห์)ด้วยศรัทธาล้วนๆ นั่นคือ มีทั้ง goal, objective ซึ่งขับเคลื่อนโดย ‘Faith’ ภายใต้ความเชื่อ (believe) นั่นคือบ้านของเนมัทซาเดห์ต้องมีอยู่จริง และ(ต้อง)ตั้งอยู่ในแถบปอชเตห์ (Poshteh) แน่ๆ เลย

นั่นคือเส้นทางของอาหมัดอาจมองดูเล็กน้อย แต่ถ้าขยายสเกลออกนิดเดียว มันก็จะเข้าไปใกล้มหากาพย์โอดิสซีหรือไม่ก็เส้นทางสู่ชมพูทวีปใน ‘ไซอิ๋ว’ แต่เปลี่ยนปีศาจอสุรกายมาเป็นตัวขัดขวางเส้นการเดินทาง (สู่ปอชเตห์ เพื่อตามหาบ้านเพื่อนเนมัทซาเดห์ซึ่งได้ยินข้อมูลที่ทั้งหลวมแและลอยว่าเป็นแถวนั้นละแวกนั้นแน่) มาเป็นป้าๆ ข้างทางที่ทำผ้าที่ตากไว้ตกลงมาลงพื้น นั่นคืออาหมัดออกเดินทางด้วยความมุ่งมั่น ด้วยเป้าหมายเพียงหนึ่งเดียวแบบรวมศูนย์ ครั้นเริ่มออกเดิน(เท้า) ไม่ทันไร ก็มักพบตัวแปรที่มีแต่จะแยกอาหมัดให้เฉไฉออกนอกเส้นได้เกือบตลอดทางซึ่งมีความหลากหลาย

นั่นคือชุดข้อมูลที่มีอยู่ มีความรัดกุมพอหรือยัง เพราะลำพังรู้แค่บ้านอยู่ละแวกปอชเตห์อย่างเดียว คงช่วยอะไรอาหมัดไม่ได้มาก จนแทบจะเหมือนไม่ได้ช่วยอะไรเอาเลย การได้พบร่องรอยบางอย่างที่พอจะชี้ไปถึงตัว ‘เนมัทซาเดห์’ ได้ ไม่ว่าจะเป็นกางเกง (ต่อให้มีขนาดเข้ากับเด็กชายวัยเดียวกัน), การได้พบกับนายช่างทำหน้าต่างเหล็กซึ่งก็ชื่อ ‘เนมัทซาเดห์’ ตรงกันเสียอีก ในแง่หนึ่งรายละเอียดเหล่านี้ น่าจะไม่ต่างอะไรกับ ‘ความหวัง’ (hope) ซึ่งจูงใจให้คนที่เชื่ออยู่แล้ว เพิ่มแรงศรัทธาให้แก่กล้าเข้าไปอีก จนกระทั่งพบว่า ร่องรอยที่ว่า(ซึ่งบังเอิญแม็ทช์กับข้อมูล) ล้วนแล้วแต่เป็นกระแสลวงให้หลง(ทาง)ตลอด

ที่น่าสังเกตอีกอย่าง คงเป็นเรื่องของการให้เรื่องราวไปเกิดในวันหยุด (ซึ่งไม่แน่ใจว่าเป็นวันอาทิตย์กับเขาด้วยหรือเปล่า) ซึ่งคาดว่าเป็นเวลาซึ่งถ้าเป็นคนอื่นที่เขามีศรัทธาและเชื่อ(ว่าพระเจ้ามีจริง, ถ้าเชื่อในพระเจ้า แล้วจะมีชีวิตที่นิรันดร์ในดินแดนศักดิ์สิทธิ์, อะไรก็ว่าไป) วันวันเดียวกันก็น่าจะเป็นช่วงเวลาของการประกอบศาสนพิธีตามความเชื่อ แต่สำหรับด.ช.อาหมัด วันวันเดียวกันคือวันแห่งการวิ่งๆๆๆ และวิ่งเพื่อค้นหาล้วนๆ เพราะลำพังการแค่ได้ยื่น(สมุด) ให้ถึงมือเนมัทซาเดห์ได้ ก็แปลว่าเพื่อนก็จะปลอดภัย + ไม่ต้องโดนครูทำโทษหรือเฆี่ยนตี ซึ่งการจะไปให้ถึงหลักและหมุดหมาย เพื่อการหลุดพ้นและไถ่ถอนบาป คือสิ่งที่ทำได้หรือเป็นไปได้จริงมากน้อยแค่ไหน 

ไม่เถียงครับว่าบ้านของเนมัทซาเดห์ (เพื่อน) อยู่ในละแวกปอชเตห์จริง แล้วก็ลุงช่างทำหน้าต่างเหล็กก็ใช้นามสกุลเนมัทซาเดห์เหมือนกัน ซึ่งแทนที่จะพาด.ช.อาหมัดเข้าไปใกล้สัจธรรม ความจริง หรืออะไรก็ตามที่มีความสูงส่งยิ่งกว่านั้น ทว่ากลายเป็นตัวแปรที่ยิ่งมีแต่จะฉุดรั้งให้อาหมัดห่างไกลการหลุดพ้นหรือแม้แต่จะได้ชื่อว่าเป็นผู้กระทำความดี และด้วยความมุ่งมั่นที่มีต่อความเชื่อในศรัทธาก็ได้กลายมาเป็นตัวเบี่ยงเบนความสนใจ (distraction) ให้ไกลจากลู่ทางเข้าทุกที (สมมติว่าคำกล่าวอ้างของเนมัทซาเดห์ที่ว่ามีบ้านอยู่ละแวกปอชเตห์เป็นแค่ข้ออ้างของการมาโรงเรียนสาย เนื่องจากตั้งอยู่ในที่ห่างไกล ข้อมูลที่อาหมัดรับมาก็กลายเป็นข้อมูลเท็จ) ฉะนั้นข้อเท็จจริงอย่างเดียวกันก็อาจเปลี่ยนเป็น ‘สิ่งยั่วยุ’ (temptation) ให้คนหลงทางหรือเดินทางผิดในทันที ตกลงจะเหลืออะไรให้ผ้าขาวอย่างอาหมัดมีศรัทธาอะไรได้อีกบ้าง เริ่มตั้งแต่สมุดที่ถือไว้กับมือ ก็พลันถูกฉีกออก ตามคำขอของพวกลุงๆ เพื่อใช้ร่างสัญญาทำหน้าต่าง ประกอบกับสภาพความเป็นอยู่จริงจริงในย่านปอชเตห์มีแต่เส้นทางที่สลับซับซ้อน ประกอบกับเมื่อไปถึงที่หมายก็มืดค่ำลงเรื่อยๆ แล้วไหนอาหมัดยัง (ทั้งหลงทั้ง)เชื่อยอมเดินตามลุงแปลกหน้าอีกซึ่งในใจก็อดไม่ได้ที่จะพลั้งเผลอออกมาว่าไม่นะๆๆๆ

แม้บทสรุปจะจบลงด้วยคำพูดในใจ(อีกเช่นกัน)ว่า ‘นิสัยฯ’ การบอกเล่า (ที่เกือบจะเทียบได้กับ ‘คำสั่งสอน’) กลายเป็นชุดข้อมูลที่ขาดการพิสูจน์ยืนยันหรือแม้แต่มีความน่าเชื่อถือ แก่คนที่พร้อมจะปฏิบัติตามด้วยศรัทธาว่าสิ่งที่ได้ยินได้ฟังมาคือความจริง ถ้าเป็นอย่างนั้นจริงก็เท่ากับว่างานนี้อับบาสได้ปรุงแกงหม้อใหญ่พร้อมเสิร์ฟ ทว่าเนียนเสียจนถึงรู้ ก็ไม่มีใครเอาผิดเอาความและที่สำคัญ ผกก.อับบาสก็มิได้เจาะจงด้วยว่า ถ้ากำลังหมายถึงศาสนาจริง ศาสนาที่ว่าคือศาสนาอะไร เนื่องจากโมเดลเดียวกันยังมองได้ทั้งกว้างและครอบคลุม จนยากที่จะชี้นิ้วระบุตัวตนได้อย่างถนัดชัดเจน

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here