วันที่ 19 กันยายน 2563 เป็นวันชุมนุมใหญ่ที่ท้องสนามหลวง และมีข้อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ สร้างความหวังให้กับผู้คนที่ต้องการเห็นความเท่าเทียมเกิดขึ้นบนที่แห่งนี้ แต่การถูกจับกุม และการไม่ให้ประกันตัวของแกนนำทั้ง 3 คนในวันนั้นอย่าง ไผ่ – จตุภัทร บุญภัทรรักษา, ไมค์ – ภาณุพงศ์ จาดนอก และ รุ้ง – ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา และล่าสุดในวันที่ 12 มีนาคม เมื่อมีคำร้องขอการประกันตัวของทั้งสามคน รวมทั้ง โตโต้ – ปิยรัฐ จงเทพ ที่ถูกฝากขังไว้ ก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลงคำสั่งแต่อย่างใด โดยที่ไม่ได้มีการบอกสาเหตุอย่างชัดเจนจากศาล
เหตุการณ์ทั้งหมดนั้นได้สร้างความแค้นและหมดหวังต่อระบบความยุติธรรมที่มีต่อประเทศนี้สำหรับใครหลายคน ยังไม่รวมแกนนำคนอื่นที่ถูกจำคุกไปแล้วก่อนหน้า ในการต่อสู้กับกฎหมายที่เล่นงานกับผู้ที่ไม่ยอมอ่อนข้อให้กับสิ่งที่อยู่บนหิ้งบนบ่า พวกเขาเข้าคุกและออกมาราวกับว่านั่นคือบ้านหลังใหม่ที่จองจำความคิดและความเป็นอิสระ ข้อความที่พวกเขาส่งมาถึงผู้ที่ชุมนุมอยู่ทุกครั้งนั้นบอกได้ว่าอย่าเพิ่งหมดหวัง นี่คือราคาที่พวกเขายอมจ่ายมากกว่าคนทั่วไป และพวกเขาจะยอมทนเพื่อให้เห็นปลายสายรุ้งที่ยังไม่รู้วันเวลาที่จะส่องแสง แต่พวกเขาไม่ใช่ใครเลย เป็นเพียงแค่มนุษย์ธรรมดาเฉกเช่นเรา นั่นหมายความว่าสิ่งนี้อาจเกิดขึ้นกับเราได้ทุกคน และนั่นเป็นเหตุผลที่เพียงพอที่มีคนกลุ่มหนึ่งที่โกรธแค้นลุกขึ้นมาต่อสู้กับความอยุติธรรม การลดทอนความเป็นมนุษย์เมื่อคิดเห็นต่างจากมายาคติเดิมที่เคยปลูกสร้างไว้มาหลายรุ่นหลายสมัย และมันต้องใช้เวลาอีกยาวนาน
ความโกรธแค้นของมนุษย์ผู้โหยหาอิสรภาพจะไม่ได้ถูกบันทึกแค่ไว้ในประวัติศาสตร์อย่างแข็งกระด้าง แต่มันยังถูกจารึกไว้ในภาพยนตร์ในฐานะเครื่องมือที่แสดงให้เห็นถึงการต่อสู้ และชัยชนะที่พวกเขาได้มา หรือภาพเหตุการณ์ของบาดแผลความเจ็บปวดของผู้ถูกกระทำที่ไม่อาจส่งเสียง จะถูกส่งต่อไปรุ่นสู่รุ่นอย่างไม่มีวันลืม ภาพยนตร์จะแสดงให้เห็นถึงภาพของความโหดร้าย หรือความเลวร้ายของภาครัฐที่จะกระทำต่อเพื่อนมนุษย์ร่วมโลกได้อย่างไร้หัวจิตหัวใจที่สุด ถึงกระนั้นภาพยนตร์ยังคงเคลื่อนไปอย่างไม่รู้จบ ราวกับรอคอยจุดจบของเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่สิ้นสุด และเมื่อนั้นภาพยนตร์จะสรุปให้ทุกคนได้รับทราบ มันจะกลายเป็นเครื่องมือที่ไว้แซ่ซ้องความแข็งแกร่งของประชาชนคนธรรมดา หรือกลายเป็นเพียงแค่อำนาจของรัฐที่ใช้ควบคุมปิดบังแสงธรรมชาติไม่ให้เล็ดลอดกระทบกับคนอย่างเรา ไฟแห่งการต่อต้านของทุกคนนี้จะเป็นเครื่องพิสูจน์
และนี่คือ 1+12 ที่จะแสดงให้เห็นประวัติศาสตร์ของความเย็นชาที่ผู้ปกครองจะกระทำต่อผู้ที่อยู่ภายใต้การปกครอง และเมื่อประชาชนเพียงจำนวนหนึ่งเริ่มลุกฮือต่อต้าน สิ่งต่างๆ รอบตัวจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร และนี่เป็นเพียงแค่จำนวนหนึ่งของหนังทั้งหมดทั่วโลกเท่านั้น
Hunger (2008, Steve McQueen)
สร้างจากเรื่องจริงจากการประท้วงของกลุ่มกองกำลังสาธารณรัฐไอร์แลนด์ (IRA: Irish Republican Army) ที่ถูกจองจำในคุกเมื่อปี 1981 Bobby Sands หนึ่งในสมาชิกกลุ่ม IRA ถูกจับกุมจากความขัดแย้งที่พวกเขามีต่อสหราชอาณาจักร เขาอยู่ในเรือนจำที่มีความเป็นอยู่ย่ำแย่ และมีการปราบปรามนักโทษด้วยความรุนแรง จนเขาและกลุ่มก่อการประท้วงภายในคุก เริ่มจากการไม่สวมชุดนักโทษ ไม่อาบน้ำ จนเริ่มทำให้ห้องขังสกปรกด้วยปัสสาวะ อุจจาระ และจนสุดท้ายพวกเขายอมอดอาหาร จนมีผู้ประท้วงเสียชีวิต
ผลงานเปิดตัวของผู้กำกับ Steve McQueen นำแสดงโดยนักแสดงที่กลายเป็นเพื่อนร่วมงานคู่บุญในเวลาถัดมาอย่าง Michael Fassbender ซึ่งเขายอมลงทุนลดน้ำหนักจนผ่ายผอมเพื่อให้ได้สภาพร่างกายและความกดดันที่สมจริง
A Twelve Year Night (2018, Álvaro Brechner)
หนังสร้างจากเรื่องจริงในปี 1973 ที่อุรุกวัยถูกปกครองโดยรัฐบาลทหาร สมาชิกกลุ่มกองโจรฝ่ายซ้ายทูปามาโรถูกจับเข้าคุกเพื่อทำการต่อรองไม่ให้กลุ่มกองโจรโจมตีรัฐบาล นำโดยสมาชิกหลักสามคน หนึ่งในนั้นคือ José Mujica ที่ต่อมาจะเป็นประธานาธิบดีคนที่ 40 ของอุรุกวัย พวกเขาถูกขังในคุกเป็นเวลา 12 ปี ต้องฟันฝ่าความทรมาน การทำร้ายทั้งร่างกายและจิตใจ เพื่อกลับไปหาครอบครัวและใช้ชีวิตด้วยความคิดที่อิสระและเสรี
หนังเป็นตัวแทนของประเทศอุรุกวัยในการเข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม ซึ่งน่าเสียดายที่ไม่ได้ผ่านรอบเสนอชื่อ แต่สามารถหาดูได้ใน Netflix
Nasrin (2020, Jeff Kaufman)
สารคดีที่ติดตามชีวิตของ Nasrin Sotoudeh ทนายความและนักสิทธิมนุษยชนชาวอิหร่านที่ต่อสู้เพื่อสิทธิของสตรี เยาวชน ชาว LGBTQ+ ผู้นับถือศาสนาชนกลุ่มน้อย และศิลปินที่รัฐบาลกำลังตามตัวที่อาจได้รับโทษถึงการประหารชีวิต เธอถูกจับเมื่อเดือนมิถุนายนปี 2018 ต้องรับโทษจำคุกทั้งหมด 38 ปี และถูกเฆี่ยนอีก 148 ครั้ง แต่ถึงแม้เธอจะอยู่ในคุก เธอก็ยังไม่หยุดต่อสู้เพื่อความถูกต้อง
หนังเรื่องนี้มีการถ่ายทำอย่างลับๆ จากคนในอิหร่านที่ยอมเสี่ยงถูกจับกุมเพื่อให้ได้หนังเรื่องนี้ บรรยายโดย Olivia Colman นักแสดงผู้ที่ได้รับรางวัลออสการ์สาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมจากเรื่อง The Favourite และเป็นที่รู้จักของใครหลายๆคนในปัจจุบันจากซีรี่ส์เรื่อง The Crown
The Company You Keep (2012, Robert Redford)
Ben Shepard นักข่าวท้องถิ่นที่เห็นข่าวหนึ่งในสมาชิกอดีตกลุ่ม Weather Underground กลุ่มกองกำลังฝ่ายซ้ายถูก FBI จับ จึงตามสืบเรื่องราวเพิ่มเติมเพื่อหาโอกาสในการไต่เต้าทางหน้าที่การงาน จนทำให้เขาได้ไปเจอกับ Jim Grant ทนายความในเมืองอัลบานี ของนิวยอร์ก ที่ใช้ชีวิตดูแลลูก สาววัย 11 ขวบ หลังจากภรรยาเสียชีวิต ก่อนจะพบว่าเขาคืออดีตหน่วย Weather Underground ที่สามารถหลบหนีการจับกุมของตำรวจมาได้อย่างยาวนานถึง 30 ปี จากการก่อเหตุปล้นแบงค์ แต่พอยิ่ง Ben สืบสาวเรื่องราวมากขึ้นเท่าไหร่ก็ยิ่งพบกับความไม่ชอบมาพากลมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วน Jim นั้นต้องหลบหนีจากการตามล่าของ FBI หลังจากที่เขาถูกเปิดเผยตัว ไม่อย่างนั้นเขาจะถูกพรากจากลูกสาวที่รักของเขาไปตลอดกาล
สร้างจากนิยายในชื่อเดียวกันของ Neil Gordon และ Robert Redford รับหน้าที่กำกับและทำการแสดงเป็น Jim Grant เอง
National Security (2012, Ji-yeong Jeong)
หนังดัดแปลงมาจากชีวิตจริงของ Kim Geun-tae นักเคลื่อนไหวที่ได้กลายมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสวัสดิการและสาธารณสุขในปี 2004 และเสียชีวิตในปี 2011 ว่าด้วยในช่วงรัฐบาลของประธานาธิบดี Chun Doo-hwan ที่ขึ้นมาดำรงตำแหน่งจากการยึดอำนาจจากประธานาธิบดีคนก่อนและสร้างรัฐบาลทหารที่กวาดล้างพวกที่คิดเห็นต่างจนเกิดเหตุการณ์ 18 พฤษภา 1980 ที่มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ในปี 1985 Kim Jong-tae นักเคลื่อนไหวทางการเมืองถูกลักพาตัวในย่าน Nam-yeong-dong ใจกลางกรุงโซล เขาถูกยัดเยียดให้กลายเป็นคอมมิวนิสต์ และฝักใฝ่ในประเทศเกาหลีเหนือ
หนังมุ่งเน้นไปที่ประสบการณ์และวิธีการทรมานนักโทษอย่างโหดเหี้ยม ตั้งแต่ทุบตี บังคับให้อดนอนอดอาหาร กดหัวให้จมน้ำ เทน้ำใส่ที่หน้าผ่านผ้ากั้นบางๆ เพื่อให้หายใจไม่ออก ไปจนถึงรัดคอและช็อตไฟฟ้า การถ่ายทอดมันอย่างสมจริงนั้นเลวร้ายจนผู้กำกับ Chung Ji-young ออกมาบอกว่านี่คือประสบการณ์การทำหนังที่ทรมานที่สุดในชีวิตการเป็นผู้กำกับของเขา
Super Citizen Ko (1994, Wan Jen)
หนังเล่าสลับเป็นสองช่วง ระหว่างช่วงปัจจุบัน ชายแก่คนหนึ่งที่เคยเป็นอดีตนักโทษทางการเมืองที่เคยถูกจองจำที่กรีนไอส์แลนด์เป็นเวลา 30 ปี ในช่วง White Terror ยุค 50’s ที่รัฐบาลก๊กมินตั๋งต่างกวาดล้างผู้ที่เห็นต่าง มีความคิดเอนเอียงไปในทางฝั่งซ้าย ด้วยการกักขังหรือสังหาร เป้าหมายที่เหลืออยู่ในชีวิตของเขาคือการตามหาหลุมศพของเพื่อนนักโทษการเมืองที่ถูกสังหารต่อหน้า ด้วยความกลัวและรู้สึกผิดต่อบาป และช่วงในยุค White Terror ที่เขาถูกกักขังในกรีนไอส์แลนด์ ความรู้สึกผิดและความทรมานทั้งร่างกายและจิตใจที่ส่งผลให้เขากลายเป็นคนแบบนี้ในปัจจุบัน จะปรากฏให้เห็นในส่วนนี้
กำกับโดยว่านเจิน หนึ่งในผู้กำกับที่สำคัญที่สุดของกลุ่ม New Wave Cinema ของไต้หวัน ควบคู่ไปกับ โหวเสี่ยวเฉียน และ เอ็ดเวิร์ด หยาง ส่วนใหญ่หนังของเขาจะมุ่งไปที่ประเด็นทางสังคมที่ถูกปิดบังความโหดร้ายไว้
หนังจะฉายในโปรแกรมของหอภาพยนตร์ ในวันที่ 8 และ 18 เมษายน 2564 ติดตามเพิ่มเติมที่ https://fapot.or.th/assets/upload/newsmail/1613983829_153652833@2x.pdf
ทุกคนที่บ้านสบายดี (2019, ธนกฤต ดวงมณีพร)
หนิง พา เก่ง ลูกชายวัยประถมไปเยี่ยมพ่อของเขา ในงานวันพบญาติประจำปีของเรือนจำ ในตอนแรกพ่อของเก่งจะได้ออกจากเรือนจำจากการอภัยโทษ แต่เมื่อเกิดเหตุรัฐประหารในปี 2557 จึงทำให้การพิจารณาโทษของเขาถูกเลื่อนออกไป ความหวังที่พวกเขาจะได้พบกันพร้อมหน้าพร้อมตาที่โลกภายนอกจึงถูกแยกห่างกันออกไปอีกครั้ง หนังเรื่องนี้ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ รางวัลช้างเผือก ในเทศกาลภาพยนตร์สั้น ครั้งที่ 21 โดย หอภาพยนตร์ฯ
หมายเลขคดีแดง (2019, เสฏฐวุฒิ เมืองแก้ว, ณัฐพล ต. รุ่งเรือง, ปรินทร์ จริยาสิริสุข, พีรพัฒน์ รักงาม, วิศรุต ศรีพุธสมบูรณ์)
สารคดีสั้นที่สัมภาษณ์เพื่อนของคนทำซึ่งกำลังเรียนอยู่มหาวิทยาลัย แม่ของเขานั้นเป็นนักโทษคดีมาตรา 112 แต่เขายังคงเล่าเรื่องชีวิตของเขาด้วยน้ำเสียงที่เฮฮา ผ่อนคลาย แต่ยังแฝงไปด้วยความเศร้าและความโกรธที่เจือปนอยู่ในนั้น สารคดีเรื่องนี้ได้รับรางวัลรองชนะเลิศในสาขาดุ๊ก (รางวัลภาพยนตร์สารคดีขนาดสั้น) ของเทศกาลภาพยนตร์สั้นครั้งที่ 23 ที่ทางหอภาพยนตร์ฯ จัดขึ้น
Mr. Zero (2016, นัชชา ตันติวิทยาพิทักษ์, ชวัลรัตน์ รุ้งแสงเจริญทิพย์)
บัณฑิต อาร์ณีญาญ์ นักเขียนหนังแปลผู้ถูกจับกุมในมาตรา 112 ถึง 4 ครั้ง ได้รับการปล่อยตัว 2 ครั้งโดยเหตุผลว่าเขามีปัญหาทางจิต อีก 2 คดียังคงอยู่ในชั้นศาล สารคดีใช้วิธีการเล่าโดยนำงานเขียนของบัณฑิตในชื่อเดียวกับเรื่อง (คนหมายเลขศูนย์) เรื่องราวที่อ้างอิงมาจากเหตุการณ์ที่เดวิด แชปแมน สังหาร จอห์น เลนนอน มาเป็นตัวตั้งต้นในการผสมผสานเข้ากับเรื่องราวชีวิตของบัณฑิตเอง ปัจจุบันศาลได้ยกฟ้องคดี 112 ของบัณฑิตแล้วเมื่อวันที่ 26 ม.ค. 2564 ที่ผ่านมา สารคดีสั้นเรื่องนี้ได้รับรางวัลชนะเลิศในสาขาดุ๊ก จากเทศกาลภาพยนตร์สั้นครั้งที่ 20 สามารถดูได้ที่ Doc Club On Demand
Olympic Garage (1999, Marco Bechis)
ในยามปกติ Maria เป็นครูสอนอ่านและเขียนหนังสือให้กับเด็กๆ ย่านชานเมืองของ Buanos Aires เธออาศัยอยู่กับแม่เพียงแค่สองคน แต่อีกด้านหนึ่งเธอคือนักเคลื่อนไหวที่ต่อต้านรัฐบาลทหารในอาร์เจนตินา วันหนึ่ง Maria ถูกทหารนอกเครื่องแบบจับตัวไปต่อหน้าแม่ของเธอ เธอถูกพาไปที่โรงรถ Olimpo ซึ่งจริงๆ แล้วที่นี่เป็นหนึ่งในสถานที่จับกุมตัวและทรมานนักโทษทางการเมือง Tigre หัวหน้าผู้คุมสถานที่แห่งนี้ส่ง Felix ซึ่งเป็นหนึ่งในคนที่พักอาศัยห้องที่แม่ของเธอเป็นเจ้าของมาทรมานเธอ แต่ Felix คนนี้นั้นแอบชอบ Maria อยู่ และเขาเป็นความหวังหนึ่งเดียวที่จะทำให้เธอหนีรอดไปจากที่แห่งนี้
หนังเรื่องนี้อ้างอิงจากเหตุการณ์ Dirty War เริ่มขึ้นหลังการรัฐประหารในเดือนมีนาคม 1976 นำโดยพลตรี Jorge Rafael Videla ด้วยการอุ้มนักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ถูกสงสัยว่าเป็นฝ่ายซ้าย หรือบังคับให้สูญหาย ระบุว่าในช่วงเวลาเพียง 3 ปี พวกเขานับจำนวนคนที่เสียชีวิตและสูญหายได้ถึง 22,000 คน หนังเรื่องนี้ได้เข้าร่วมเทศกาลมากมาย รวมกระทั่งเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโตรอนโต และเข้าใน section ของ Un Certain Regard ของเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ในปีนั้นด้วย สามารถเช่าหรือซื้อได้ที่ vimeo
Sophie Scholl – The Final Days (2005, Marc Rothemund)
หนังเล่าเรื่องของ Sophie Scholl วัย 21 ปี และพี่ชายของเธอ Hans Scholl วัย 24 ปี ผู้ก่อตั้งกลุ่ม White Rose กลุ่มนักศึกษาเยอรมันที่เคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลนาซีเยอรมันในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง พวกเขาแสดงการต่อต้านด้วยการแจกจ่ายใบปลิวต่อต้านนาซีตามที่ต่างๆ เขียนข้อความบนกำแพงและผนังทั่วเมืองเบอร์ลิน พวกเขาถูกตำรวจเกสตาโปจับได้ระหว่างกำลังเอาใบปลิวไปโปรยในมหาวิทยาลัย เรื่องราวในหนังดำเนินไปตอนช่วงเวลาที่เธอถูกสอบสวนและดำเนินคดีในศาล ซึ่งใช้เวลารวบรัดเพียงแค่ 5 วัน สุดท้ายนั้นศาลตัดสินว่าเธอและพี่ชายก็โดนตัดสินประหารชีวิตด้วยเครื่องกิโยตินด้วยข้อหาทรยศชาติ ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 1943
และเรื่องราวอันกล้าหาญของเธอและกลุ่ม White Rose นั้นก็ได้ถูกถ่ายทอดออกมาผ่านสื่อหลากหลายรูปแบบ รวมถึงหนังเรื่องนี้ หนังเปิดตัวในเทศกาลภาพยนตร์เบอร์ลินเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี 2005 และคว้ารางวัล Silver Bear สาขาผู้กำกับยอดเยี่ยม และนักแสดงหญิงยอดเยี่ยม รวมทั้งเป็น 1 ใน 5 หนังชิงรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม
The Woman Who Left (2016, Lav Diaz)
ในปี 1997 Horacia ถูกปล่อยตัวหลังจากจำคุกมานาน 30 ปี ด้วยความผิดที่ตัวเองไม่ได้ก่อ หลังจากที่เพื่อนนักโทษหญิงของเธอยอมสารภาพว่าเป็นผู้ที่ก่อความผิดแล้วป้ายความผิดให้เธอ จากคนรักเก่าที่พรากทุกอย่างในชีวิตของเธอไป Horacia ออกเดินทางตามหาครอบครัวที่ยังเหลืออยู่ จนพบกับลูกสาว แต่เธอบอกว่าอย่าให้ใครรู้ว่าเธอออกมาจากคุกแล้ว เธอต้องตัดพันธะทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับเธอ เพื่อเป้าหมายในชีวิตที่เหลือเพียงแค่สองอย่าง การตามหาลูกชายที่หายไป และการล้างแค้นที่ทำให้เธอต้องทุกข์ทรมาน
Lav Diaz ผู้กำกับที่ชึ้นชื่อของฟิลิปปินส์ในแง่การทำหนังที่ยาวมากกว่าสามชั่วโมง และการสร้างหนังจากเหตุการณ์อันเลวร้ายในประวัติศาสตร์ คราวนี้เขานำเอานิยาย God See the Truths, But Waits ของ Leo Tolstoy มาตีความในรูปแบบใหม่ให้เข้ากับสภาพสังคมของฟิลิปปินส์ ซึ่งเขาบอกว่าปี 1997 นั้นถือว่าเป็นปีที่ซับซ้อนและมืดหม่นมากของประวัติศาสตร์ ทั้งเหตุการณ์เลวร้ายในและนอกประเทศต่างกดทับและทับซ้อนกันเป็นโยงใยเดียวกัน ซึ่งเรื่องนี้ได้รับรางวัลสิงโตทองคำ จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเวนิซในปีนั้น
Lost in the Fumes (2017, Nora Lam)
สารคดีที่ติดตามชีวิตของ Edward Leung หนึ่งในแกนนำคนสำคัญที่เคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในฮ่องกง และสมาชิกพรรค Hong Kong Indigenous ที่มีการต่อต้านรัฐบาลจีนอย่างรุนแรง ผู้สร้างคติประจำใจ “ทวงคืนฮ่องกง – ถึงยามเราปฏิวัติ” ให้ม็อบที่ฮ่องกงใช้ขับเคลื่อน ตัว Leung นั้นอยู่ในกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ดำเนินแนวทางแบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน ภายหลังเมื่อปี 2016 เขาถูกตัดสิทธิจากการเล่นการเมือง และถูกจับในข้อหาก่อการจลาจลในมงก๊ก ซึ่งศาลกล่าวว่า การกระทำของ Edward Leung มีเจตนาในการสร้างความรุนแรง ซึ่งเป็นการกระทำที่ร้ายแรงและวุ่นวายเท่าที่เคยมีมา เขาต้องรับโทษด้วยการจำคุกเป็นเวลา 6 ปี
นอกจากจะตามชีวิตในด้านการเมืองของ Edward Leung สารคดียังเปิดเผยชีวิตในด้านอันอ่อนไหวของเขาที่ต้องต่อสู้กับโรคซึมเศร้าที่เขาต้องเผชิญอยู่ด้วย