ปลดแอกอาณานิคมสยามและแรงปรารถนา ใน มะลิลา

(2017, Anucha Boonyawatana)

มะลิลา ชวนให้ผู้เขียนนึกถึง การเกิดและแตกดับ ตามแนวคิดของ Arnika Fuhrmann ใน Ghostly Desires: Queer Sexuality and Vernacular Buddhism in Contemporary Thai Cinema ที่พูดเรื่อง Buddhist melancholia หรือ โศกาดูรแบบพุทธ โดยเฉพาะบทที่เธอวิเคราะห์นางนาก (1999) ของ นนทรีย์ นิมิบุตร ว่าในขณะที่สถาบันทางสังคม เช่น วัด มักใช้เรือนร่างของเพศหญิงในการสอนเรื่องความไม่จีรังยั่งยืน แต่หนังไทยร่วมสมัยหลายๆ เรื่องกลับปฏิเสธ และพูดถึงการหลอกหลอน และการเลื่อนโมงยามแห่งการระทมกับความสูญเสียออกไป เช่น แม่นาก (1997) ของ พิมพกา โตวีระ

ชัยรัตน์ พลมุข เขียนวิเคราะห์ มะลิลา ผ่านแนวคิด Buddhist melancholia ได้อย่างดีเยี่ยม จากแนวคิดของ Fuhrmann เสนอว่าหนังเรื่องนางนาก (1999) ของ นนทรีย์ นิมิบุตร เราจะพบว่ามีฉากที่เรือนร่างของแม่นากสลับสับเปลี่ยนระหว่างร่างที่สวยงาม กับร่างที่เป็นศพที่ผุสลาย การเปลี่ยนแปลงของร่างกายแบบนี้ตรงกับแนวคิดคำสอนของศาสนาพุทธเถรวาท ที่บอกว่าร่างกายของผู้หญิงไม่จีรังยั่งยืน ร่างสตรีที่เป็นวัตถุของความปรารถนาก็สามารถกลายเป็นร่างที่สิ้นสุดแรงปรารถนาได้เช่นกัน 

ในทางศาสนาพุทธ ความปรารถนาเป็นใจกลางของความทุกข์และการยึดติดผ่านแนวคิดปฏิจจสมุปบาท สำหรับชาวพุทธแล้วระหว่างความปรารถนาและการยึดติดจำเป็นที่จะต้องแยกขาดออกจากกัน พระและผู้ปฏิบัติธรรมจะแยกระหว่างความปรารถนา การยึดติด และความทุกข์ ออกจากกันได้ ด้วยการเผชิญหน้ากับซากศพ นั่นคือ อสุภกรรมฐาน เพื่อให้ค้นพบภาพลวงตาของความปรารถนาและความไร้ประโยชน์ของการยึดติดผ่านการใช้เรือนร่างเพศหญิง

แต่ใน แม่นาก ของ พิมพกา โตวีระ กลับพบว่าช่วงเวลาการปิดกั้นทางพุทธ (น่าจะหมายถึงการพยายามแยกปรารถนาออกจากความทุกข์) กับถูกปฏิเสธชั่วคราว แต่กลับถูกใช้เป็นช่วงเวลาเพื่อความอีโรติคถวิลหา การยืดเวลาออกไปของความพยายามแยกแรงปรารถนาออกจากความทุกข์ ได้สร้างพื้นที่ของความเป็นไปได้ใหม่ๆ ความปรารถนาที่ยังตกค้างในเขตขัณฑ์ของความสูญเสียได้สร้างจินตนาการใหม่ๆ ขึ้น การเผชิญหน้ากับความตาย และประสบการณ์ทางผัสสะของอนิจจัง ไม่ได้นำไปสู่การแยกขาดปรารถนากับความทุกข์ ในทางตรงกันข้าม กลับสร้างการเคลื่อนไหวของการโหยหาอาลัยต่อการสูญเสีย และได้จัดระเบียบทิศทางของการยึดติดแบบใหม่ขึ้น นี่จึงเป็นการสร้างการเพ่งพินิจด้วยความรื่นรมย์และโหยหารายรอบโศกาดูรแบบพุทธ 

สุนทรภู่และเชน กับการยึดโยงกับสภาวะเหนือโลก

คราวนี้เรากลับมาที่ มะลิลา ซึ่งหนังทั้งเรื่องแทบจะพูดถึงการเปลี่ยนผ่านระหว่างความเป็นและความตาย หนังแบ่งครึ่งเรื่องแบบในสัตว์ประหลาดและแสงศตวรรษ เป็นพื้นที่ในชุมชนและในป่า เป็นพื้นที่เมืองและบ้านนอก เป็นช่วงเวลายังมีชีวิตและตายไปแล้วของคนรัก หนังเริ่มต้นด้วยตอนหนึ่งใน รำพันพิลาป ของ สุนทรภู่ ถูกแต่งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2385 สมัยรัชกาลที่ 3 

รำพันพิลาปมีเนื้อความเล่าเรื่องราวความหลังอันระทมทุกข์ของสุนทรภู่ นับตั้งแต่ออกจากราชการตั้งแต่ต้นสมัยรัชกาลที่ 3 ในปี พ.ศ. 2367 จนได้มาอยู่วัดเทพธิดารามซึ่งขณะนั้นพระภู่ประสบกับความทุกข์ยากต่างๆ นานา รำพันพิลาปเป็นนิราศเชิงกำสรวลที่พรรณนาถึงชีวิตของตัวเอง เนื่องจากเกิดนิมิตเป็นฝันร้ายว่าจะต้องสิ้นชีวิต สุนทรภู่ตกใจตื่นจึงแต่งนิราศบรรยายความฝัน และเล่าเรื่องราวต่างๆ ในชีวิตของตนไว้ หลังจากนั้นก็ลาสิกขาบท 

ตรีศิลป บุญขจร วิเคราะห์ไว้ว่า รำพันพิลาปแสดงให้เห็นความไม่แน่นอนของชีวิตของสุนทรภู่เมื่อครั้งมีบุญวาสนา ผู้คนก็ยกย่อสรรเสริญ เชิดชูว่ามีคุณค่า มีประโยชน์ ครั้นเมื่อหมดบุญวาสนา ไม่เป็นประโยชน์ต่อเขาแล้ว ก็ถูกทอดทิ้ง ไร้คุณค่า ความเปรียบนี้ยังเตือนให้ตระหนักว่าสิ่งสมมติต่างๆ ล้วนไม่จีรัง เมื่อปราศจากสมมติก็กลับคืนสู่สภาพเดิม ใบตองเมื่อปรุงแต่งก็เป็นบายศรีในพิธีศักดิ์สิทธิ์ เมื่อจบพิธีก็ถูกทิ้งเป็นใบตองในสภาพเดิม

รำพันพิลาปของสุนทรภู่ถูกค้นพบหลังจากสุนทรภู่เสียชีวิตไปเกือบร้อยปี วรรณกรรมเรื่องนี้ เปรียบเสมือนอัตชีวประวัติของสุนทรภู่ เผยให้เห็น ชีวิตของสุนทรภู่ในหลายแง่มุมที่อาจแตกต่างจากที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงนิพนธ์ไว้ เช่น การออกบวชและต้องระเหเร่ร่อนไปอย่างยากลำบาก ภาวะทางอารมณ์ในยามที่ชีวิตตกต่ำ ความหวาดหวั่น ไร้เสถียรภาพ เพราะเจ้านายผู้อุปถัมภ์

ความน่าสนใจเบื้องหลัวของรำพันพิลาปก็คือเรื่องชีวิตของกวีที่ขึ้นกับเจ้านายผู้อุปถัมภ์ พอเปลี่ยนเจ้านายชีวิตเขาก็ตกอับ การมาบวชของเขาจึงชวนให้นึกถึงเรื่องเชน ที่เขาบวชให้กับพิช เพราะหวังว่าจะให้พิชมีอาการดีขึ้นจากมะเร็งปอดระยะสุดท้าย แต่การบวชก็ทำให้เขาไม่ได้อยู่กับพิชในวาระสุดท้าย เขามาพบพิชอีกทีก็สิ้นลมแล้ว เช่นเดียวกับที่เขามาพบศพลูกสาวหลังจากที่เขาเมา เป็นพ่อที่ไม่เอาไหน และเลิกกับเมียในที่สุด 

จะสังเกตว่าชีวิตของเชนและสุนทรภู่ต่างหวังเอาไปฝากกับสิ่งที่อยู่นอกพ้นไปจากตนเอง หรือในมโนทัศน์ของเดอเลิซเรียกว่า transcendence ซึ่งตรงข้ามกับสภาวะในโลกแบบ Plane of immanence สิ่งที่อยู่เหนือโลกแบบนี้ก็ได้แก่ ศาสนาพุทธ หรือระบบแนวคิดแบบชนชั้น หรือระบบกษัตริย์ที่สุนทรภู่ยึดชีวิตตัวเองไว้ มะลิลาทำให้เรากลับมามองถึงสภาวะในโลกแบบเดอเลิซ หรือมองถึงช่วงเวลาในการเพ่งซากศพที่ อนุชา บุญยวรรธนะ ได้นำโมงยามแบบโศกาดูรแบบพุทธ มาตีความให้กว้างไกลออกไปจาก Fuhrmann ที่พูดถึงเรือนร่างเพศหญิง 

มะลิลา ขยับขยายความหมายของพื้นที่และเวลาของความปรารถนาในการเพ่งพินิจซากศพ ความปรารถนาแบบชาย-หญิง ให้กลายเป็นความปรารถนาแบบเควียร์ที่ข้ามพ้นเพศสภาพ มะลิลาได้ท้าทายการมองมนุษย์แบบมีแก่นสาร (human essence) และเปิดพื้นที่แบบความหลากหลาย (multiplicity) ที่ปฏิเสธระบบวิธีคิดแบบรัฐและต้นไม้ใหญ่ที่เน้นความเป็นเอกภาพหรือองค์รวม การเพ่งศพได้ก่อให้เกิดพื้นที่และเวลาของความเป็นไปได้ โมงยามที่ถูกกดทับโดยศาสนาพุทธได้ถูกปลดปล่อยให้เป็นอิสระ เหมือนสภาวะจิตเภทและไรโซมที่ปฏิเสธเอกภาพและอัตลักษณ์ ท่ามกลางกระแสของการเมืองเชิงอัตลักษณ์ที่เน้นย้ำถึงการเมืองที่เรียกร้องให้คนอื่นยอมรับความแตกต่าง โดยเฉพาะขบวนการของ LGBTQ หลังทศวรรษที่ 1960

หันหลังเข้าป่า ความบ้าคลั่ง ป่าเถื่อน มึนงง และสับสน ในพื้นที่แห่งความเป็นไปได้

โมงยามแห่งความเป็นไปได้และศักยภาพอันไม่มีที่สิ้นสุดนี่เองที่โศกาดูรแบบพุทธถูกนำมาใช้ใน มะลิลา ทำให้ผู้เขียนไปถึงหนังสือเล่มใหม่ของ Jack Halberstam ชื่อ Wild Things: The Disorder of Desire ซึ่งเขาเสนอมโนทัศน์เรื่อง anarchy หรือสังคมไร้รัฐที่ต่อต้านกับแนวคิดยูโทเปียที่ผ่านมาที่เน้นย้ำเรื่องของการสร้างพัฒนาโลก (building creating worlding หรือ imagining) แต่เราต้องเรียนรู้ถึงการ unmaking the world หรือทำลายล้างโลก (แบบเดิม) เสียบ้าง

Halberstam เสนอให้เรามองถึง bewilderment หรือสภาวะมึนงงสงสัย ซึ่งหมายถึงการกลายเป็นความไม่เชื่อง ความวุ่นวายปั่นป่วน (way of becoming wild) และยังหมายถึงการหลุดหลงไปในพื้นที่และเวลาอีกแบบ (lost in space and time) และเป็นคนละเรื่องกับ rewilding หรือการปล่อยสัตว์กลับสู่ป่าแบบที่ชนชั้นกลางชอบสำเร็จความใครให้ตัวเอง สำหรับ Halberstam แล้ว bewilderment เป็นทิศทางอย่างถาวรของการไปสู่การไม่รู้จัก ไม่ทำลาย และการไม่ต้องเป็นอะไร (unknowing unmaking และ unbecoming)

Wild หรือความป่าเถื่อนไม่เพียงถูกเข้าใจว่าเป็นจินตกรรมที่ถูกสร้างโดยการล่าอาณานิคม wild คือคนนอกเมื่อเทียบกับความศิวิไลซ์ และ wild ยังพื้นที่ที่เราสามารถหันหลังกลับไปสู่สังคมหลังความศิวิไลซ์แล้ว (post-civilizational state) เขาใช้มโนทัศน์ของมิเชล ฟูโกต์ที่มองว่าผลผลิตของโลกสมัยใหม่ในศตวรรษที่ 18 คือการแบ่งแยก (classification) แยกว่าประเภทของสัตว์ พืช และ (ประเภทของ) มนุษย์ออกจากกัน กล่าวคือการจัดประเภทของสิ่งต่างๆ Halberstam เสนอมุมมองของ disorder of things หรีอความสะเปะสะปะของสิ่งต่างๆ ขึ้นมาเพื่อต่อต้านแนวคิดสมัยใหม่

ในหนังสือ The Order of Things: An Archaeology of the Human Sciences ของ Michel Foucault บอกว่ามันสิ่งที่เรียกว่า untamed ontology หรือภววิทยาที่ไม่เชื่อง ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือการจัดระเบียบ การรับรู้ การถูกรู้ด้วยการใช้อำนาจของการศึกษา หรือไม่สามารถถูกจัดให้อยู่ในระเบียบการอ่านเขียน ซึ่ง Halberstam มองว่าภววิทยาแบบนี้ได้สร้างความหวังของความป่าเถื่อน ทำให้เราได้คิดถึงชีวิต อนาคตอีกแบบที่เป็นไปได้ นอกเหนือจากกรอบแบบอาณานิคมที่เราถูกส่งทอดให้คิดและเชื่อกันมา

เขามองว่าการมองในอนาคตอีกแบบก็คือการหันกลับไปมองซากปรักหักพัง แต่เราไม่ได้ทำเพียงการอาลัยโศกเศร้าแล้วผ่านไป แต่เรายังระลึกอาลัยถึงความฝันที่ผู้คนที่เคยฝันถึงอนาคตอีกแบบ อนาคตที่มากไปกว่าที่เราอยู่ในตอนนี้ เขาเสนอว่าการจะฝันได้ถึงโลกอีกแบบนั้นเรา เราต้อง unbuild unimagine unmake the current condition หรือต้องหยุดสร้าง เลิกลุ่มหลง และทำลายสภาพปัจจุบันได้แล้ว

Halberstam ยังขยายความของ bewilderment ไปสู่สถานะที่ไม่สามารถแทนด้วยภาพ หรือภาพแทน เขาบอกว่ามันคือ affective archive หรือจดหมายเหตุเชิงผัสสะ ที่เราจะเหลียวหันไปสู่พื้นที่ของการปลดเปลื้องมรดกอาณานิคม เขาหยิบยืมผลงานของ Kent Monkman ศิลปินเชื้อสายชาวครี ผู้เป็นชนพื้นเมืองบริเวณแคนาดา มาขยับขยายความหมายของ wild ในมุมของเควียร์

Kent Monkman วาดภาพ Seeing Red (2014) โดยมีสีแดงแทนถึงชนพื้นเมือง แต่ก็ยังแทนถึงความโกรธแค้น เกรี้ยวกราด และการปรับมโนทัศน์การมองผ่านการทำลายมรดกอาณานิคม เขาวาดภาพนี้ในงานครบรอบ 150 ปี การสถาปนารัฐแคนาดาเพื่อเป็นการประชดแดกดัน ภาพของเขาแสดงถึงความโกลาหล การฆ่าล้าง ฝูงกระทิงที่ล้อเลียนภาพชาวตะวันตกแบบปิกาซโซ่ การรักษาโดยชาวพื้นเมืองด้วยสมุนไพรล้อเลียนภาพของมาเนต์ และอัตตะที่สองของผู้เขียนที่แต่งตัวแบบแดรกในชุดมาธาดอร์ถือผ้าของนักล่าอาณานิคม 

ภาพของ Monkman ได้ย้ำเตือนถึงภาพจำที่ว่าศิลปะของชนพื้นเมืองคือความต่ำช้าเลวทราม ศิลปะสมัยใหม่ (modern art) เป็นตัวแทนของความซับซ้อนและสูงส่ง ภาพของเขาได้เผยให้เห็นการเผชิญหน้าและปลดปล่อยจินตนการของชนพื้นเมืองเพื่อทำลาย (unmake) ศิลปะสมัยใหม่ โปรเจกต์ของเขาจึงเต็มไปด้วยการอ้างถึงผลงานศิลปะสมัยใหม่มากมายที่ทำให้เรามึนงง สับสน ถึงมิติพื้นที่เวลาและอำนาจ ผลงานของเขาจึงเป็นการต่อกรกับโลกศิลปะสมัยใหม่ ประกอบสร้างอีกครั้ง ถอนทำลายพลังอำนาจ และจินตนการถึงโลกแบบอื่นๆ

มองย้อนกลับมาที่ มะลิลา การเพ่งศพแบบพุทธจึงได้เปิดเผยพื้นที่และเวลาอีกแบบ พระเชนได้มองศพของทหารไร้นาม เช่นเดียวกับพระลูกพี่อดีตทหารที่มองศพแล้วร้องไห้ ศพไร้นามกลายเป็นสิ่งอื่นๆ เป็นมากกว่าศพ ศพกลายเป็นพื้นที่ที่ถูกยืดขยายออก เป็นพื้นที่แห่งความป่าเถื่อนไร้ระเบียบ เป็นพื้นที่แห่งเควียร์ที่ข้ามพ้นอัตลักษณ์และแก่นสารของมนุษย์ ศพได้กระตุ้นเร่งเร้าความปรารถนาที่ถูกกดทับจากคำสอนของศาสนาพุทธ ศพเร่งปฏิกิริยาของการเผยตัวของการยึดติดและอาลัยในคนรักที่จากไป

บายศรี การกลืนกลายและประกอบสร้างโดยอาณานิคม

หากเราลองทำความเข้าใจการบายศรีสู่ขวัญให้มากขึ้น จะพบว่านิยมทำกันในแทบทุกโอกาสทั้งในคราวประสบโชคและประสบเคราะห์ คราวที่ต้องพลัดพรากจากไกล คราวกลับมาสู่ถิ่นฐานบ้านเกิด คราวที่เจ้านายหรือพระสงฆ์ผู้ใหญ่มาเยือน คราวที่มีการเปลี่ยนแปลงสำคัญในชีวิต เช่น การบวช การแต่งงาน การเข้ารับราชการทหาร การได้งานใหม่ การได้เลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งที่สูงขึ้นตลอดทั้งคราวเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นต้น

นอกจากนี้ ขวัญเองเป็นสิ่งที่ไม่มีตัวตนแต่เชื่อว่ามีอยู่ประจำตัวของคนและสัตว์มาแต่กำเนิด ถ้าขวัญของผู้ใดอยู่กับเนื้อกับตัว ผู้นั้นจะมีแต่ความสุขกายสบายใจ แต่ถ้าขวัญของผู้ใดหลบลี้หนีหาย ผู้นั้นจะมีลักษณะอาการตรงกันข้าม ขวัญจึงมีหน้าที่รักษาประคับประคองชีวิตและติดตามเจ้าตัวไปทุกหนทุกแห่งการทำพิธีสู่ขวัญจึงเป็นการเชิญขวัญให้อยู่กับเนื้อกับตัวซึ่งนอกจากจะทำให้อยู่ดีมีสุขแล้วยังจะส่งเสริมให้มีกำลังใจที่เข้มแข็ง มีสติไม่ประมาท

ชาวอีสานเองยังมีความเชื่อถือต่อผีมาก เพราะเชื่อว่าเหตุที่เกิดเภทภัยเจ็บไข้ได้ป่วย น้ำท่วม ฝนแล้งนาล่ม หรือพืชพันธุ์ ธัญญาหารเหี่ยวแห้ง เป็นสิ่งที่เกิดมาจากอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ของผีสางเทวดาทั้งสิ้น พวกเขาจึงเซ่นไหว้บวงสรวงผีต่างๆ และมีสิ่งที่หน้าสังเกตคือ ทุกครั้งที่มีการเซ่นไหว้เป็นประจำทุกๆ ฤดูกาล แล้วจะเกิดแต่ความสุขไปทั่ว ผู้ที่เจ็บไข้ได้ป่วยก็หาย ข้าวกล้าในนาก็อุดม สมบูรณ์ดี และการที่มีคติความเชื่อดังกล่าวนี้ ก็ทำให้เกิดประเพณีพิธีกรรมที่เกี่ยวกับผีหลายลักษณะ และพีธีบูชา ผีฟ้า ก็เป็นอีกพิธีหนึ่ง 

ชาวอีสานมีความเชื่อว่า พญาแถน หรือผีฟ้า หรือผีแถนนั้น เป็นเทวดามากกว่าเป็นผี ผีฟ้าจึงเป็นผีที่อยู่ระดับสูงกว่าผีชนิดอื่นๆ ส่วนแถนนั้น มีความเชื่อว่าเป็นคำเรียกรวมถึงเทวดา และแถนที่ใหญ่ที่สุดคือ “แถนหลวง” ซึ่ง เชื่อว่าเป็นพระอินทร์ ผีฟ้าหรือผีแถนนั้นแต่ละพื้นที่มีการเรียกที่แตกต่างกันไป และมีความเชื่อว่าผีฟ้านั้นสามารถที่จะ ดับยุคเข็ญหรือทำลายล้างอุปสรรคทั้งปวงได้ และสามารถที่จะช่วยเหลือมนุษย์ที่เดือดร้อนได้ 

การที่มนุษย์เกิดการเจ็บป่วยนั้นเนื่องจากไปละเมิดต่อผี การละเมิดต่อบรรพบุรุษ ความเชื่อของชาวอีสานเชื่อว่าผีฟ้าสามารถที่จะกำหนดการเกิดการตายของมนุษย์ได้ การที่มนุษย์ตายไปขวัญจะออกจากร่างเพื่อไปพบบรรพชน แต่ขวัญจะไม่แตกดับเหมือนร่าง เป็นเพียงการจากไปของร่างแต่วิญญาณยังคงอยู่กับผู้มีชีวิต

ทอดน่องบนสายน้ำ ทลายมรดกอาณานิคม เพ่งซากศพ กลายเป็นอื่น และความเป็นไปได้อีกอนันต์

ย้อนกลับไปมองที่ฉากสุดท้ายพระเชนเปลื้องสบง แก้ผ้าเหมือนกับร่างของพีทที่เขามากอดอาลัยลา การเปลือยและลงไปในลำธารของสายน้ำกลางป่าในตอนท้าย ปลดเปลื้องสิ่งที่ปรุงแต่งภายในตนแบบสภาวะเหนือโลกของเดอเลิซ จึงเป็นการพาตัวตนของเชน (และพระพี่เลี้ยง) ให้ก้าวพ้นไปจากตัวตนเดิมที่ยึดติดกับการสูญเสียของลูกสาว คนรัก ศาสนาพุทธ และเครื่องแบบทหาร 

การนั่งบนลำธารจึงคล้ายกับการเข้าสู่สังคมแบบไร้รัฐ ไร้แก่นสาร และมุ่งสู่ความป่าเถื่อนแบบ Halberstam เหมือนกับป้าอร มิน และรุ่งใน สุดเสน่หา (2002) หรือเก่งและโต้ง ใน สัตว์ประหลาด (2004) เพราะการเข้าป่าของพระเชน และลงเล่นน้ำหลังจากที่บอกลาพีท นั่นเท่ากับได้ทลายอัตลักษณ์ และกลายป็นสิ่งอื่นๆ เขานั่งนิ่งทอดกายอย่างสงบบนลำธาร กระแสน้ำไหลผ่านตัวเขาไม่ต่างจากพานบายศรีที่ใช้รวบรวมขวัญหลังจากพิธีกรรมเสร็จสิ้นลง 

เมื่อพานผ่านเวลาไปก็แห้งเหี่ยว บายศรีก็ถูกเอามาลอย บายศรีเป็นแนวคิดดั้งเดิมของคนในแถบอีสานก่อนการเข้ามาของศาสนาพุทธในพุทธศตวรรษที่ 11-19 การนับถือผีบรรพบุรุษเป็นเรื่องปกติในพื้นที่นี้ (โปรดฟังเรื่องการบวชนาค การเข้ารีตของคนพื้นเมืองภายใต้ศาสนาพุทธโดย สุจิตต์ วงษ์เทศ) ศาสนาพุทธเข้ามาในแถบอีสานราวพุทธศตวรรษที่ 12-15 และมีอิทธิพลต่อระบอบการปกครองและธรรมเนียมประเพณีโดยผ่านมาทางเวียดนามและกัมพูชา ผ่านการอพยพของชาวมอญและเขมรมาในแถบนี้ในพุทธศตวรรษที่ 13 ก่อนที่ชาวลาวจะเข้ามาราวพุทธศตวรรษที่ 23 

ตามหลักฐานโบราณคดีที่ขุดพบตั้งแต่กาญจนบุรี บ้านเชียง จ.อุดรธานี และโนนชัย จ.ขอนแก่น ค้นพบว่ามีการฝังศพไว้ระยะหนึ่งแล้วจึงนำมาเผาและเก็บใส่ภาชนะดินเผา จึงนำไปสู่แนวคิดว่าคนเป็นและคนตายอาศัยอยู่ด้วยกัน ไม่ได้แยกขาดออกจากกันเช่นแนวคิดแบบพุทธที่ต้องแยกโลกคนเป็นและคนตาย หรือผีส่วนผีคนส่วนคน กระบวนการฝังศพสองรอบชวนให้นึกถึงคล้ายกับการทำอสุภกรรมฐานที่แสดงถึงความผูกพันธ์ระหว่างผีกับคนมากกว่าการปลงและละทิ้งความปรารถนา

พญาแถนที่แต่เดิมดูเหมือนจะเป็นจุดรวมของขวัญมากมายของมนุษย์และสัตว์บนท้องฟ้า ไม่ได้อยู่ไกลออกไปจากสภาวะในโลก เพราะแถนก็ประกอบด้วยขวัญจากสิ่งที่อยู่ข้างล่าง แถนเป็นเสมือนจุดรวมของขวัญของผู้ที่จากไปและปกปักรักษาผู้ที่ยังมีชีวิต แต่เมื่อศาสนาพุทธและพราหมณ์มาถึง แถนก็ถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นเทพ เทพที่ถูกแยกขาดออกจากสิ่งต่างๆ ที่อยู่เบื้องล่าง แถนถูกเปลี่ยนแปลงความหมายให้ห่างไกลและอยู่นอกพ้นจากโลกออกไป กลายเป็นสภาวะเหนือโลกแบบที่เดอเลิซเรียก 

และแน่นอนว่าแถนก็ถูกกดทับด้วยเทพอื่นๆ และระบบกษัตริย์จากส่วนกลางอีกที มะลิลา กลายเป็นหนังที่พูดลาวบ้างพูดไทยกลางบ้าง เชน ชนชั้นกลางเจ้าของไร่มะลิ ที่สื่อสารกับคนงานด้านภาษาพื้นถิ่น แต่พิช พูดไทยกลาง มีคนบอกว่าแม่เขาเป็นปอบ ถูกทำพิธิไล่ปอบก่อนจะเสียชีวิต พิชจึงถูกมองว่าเป็นลูกปอบ เป็นคนนอกของชุมชน เป็นตัวแปลกประหลาด น่าสนใจว่าครอบครัวของพิชอาจไม่ได้เป็นคนในพื้นที่ เป็นคนแปลกหน้าที่เข้ามาในชุมชน ซึ่งกลุ่มคนที่เข้ามาใหม่ในชุมชนและมีพฤติกรรมแปลกแตกต่างก็อาจถูกกล่าวหาว่าเป็นปอบได้ง่ายๆ 

พิชผู้ใช้ชีวิตในช่วงท้ายไปกับการทำบายศรี เขาอาจมีเงินเก็บอยู่พอสมควรที่จะไม่ต้องทำอะไรนอกจากทำงานอดิเรก และรอคอยการกลับมาของเชน รอคอยการได้ไกล่เกลี่ย และพูดคุยหลังจากเชนทิ้งพิชไปเมืองใหญ่ ความเป็นเควียร์ของพิชก็อาจหมายถึงความเป็นปอป หรือลูกปอบ ความเชื่อเรื่องปอบในแถบอีสานได้แก่ ปอบเชื้อซึ่งมักสืบทอดทางสายเลือดและส่งต่อให้ลูกสาว ส่วนปอบมนต์เกิดจากการที่คนเล่นของอาคมและไม่สามารถรักษาของไว้ได้ 

นอกจากนี้ยังมีปอบอื่นๆ ที่เกิดขึ้นตามเหตุการณ์ทางสังคมเช่น ปอปโลภ คือคนที่บุกรุกที่ดิน ไม่เห็นแก่ประโยชน์สาธารณะ คนที่ร่ำรวยไม่มีน้ำใจ หรือปอบคอมฯ หมายถึงกลุ่มคนที่ถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามต่อแผ่นดิน อาศัยอยู่ตามป่า ดังนั้นแล้วแนวคิดปอบจึงเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับศาสนาพุทธที่ยกย่องเชิดชูความเป็นเพศชาย โดยมองว่าปอบมักเข้าสิ่งผู้หญิงที่มีร่างกายอ่อนแอ ศาสนาพุทธที่มองว่าเดรัจฉานวิชาเป็นสิ่งที่ไม่ควรปฏิบัติ ปอบจึงเป็นด้านกลับของผู้ที่ออกนอกลู่นอกทางศาสนาพุทธและอำนาจรัฐ

มะเร็งที่กัดกินเรือนร่างจากภายในตัวพิชไม่ต่างจากวิญญาณปอปที่กัดกินมนุษย์ เควียร์ ปอบ และมะเร็ง กลายเป็นสิ่งที่อยู่ในระนาบเดียวกันของการถูกกดทับ เป็นจำพวกป่าเถื่อน ล้าหลังที่ถูกจัดจำแนกโดยแนวคิดอาณานิคมไม่ว่าจะผ่านศาสนาพุทธ พราหมณ์ หรือผีที่มีลำดับชนชั้น (transcendent animism) และวิญญาณที่ไม่เท่าเทียม (unequal souls) ที่ปรากฏเด่นชัดในผู้คนแถบที่ราบของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

ตรงกันข้ามกับ immanent animism หรือวิญญาณนิยมแบบเท่าเทียม เช่นสังคมเข้าป่าล่าสัตว์ (Hunter-gatherer) ซึ่งพบน้อยในเขตนี้ Kaj Århem เสนอว่าวิญญาณนิยมแบบลำดับชั้นมีความหลายหลายเชิงสังคมและการเมือง นับตั้งแต่ระดับปานกลาง เช่นลำดับอำนาจในชนเผ่าบนภูเขา ไปจนถึงสังคมลำดับชั้นเช่นระบบอาณาจักร (kingdom)

ท้ายที่สุดมะลิลา ได้ทำในสิ่งที่คล้ายกับ Kent Monkman สำแดงให้เห็น คือการปลดเปลื้องและระเบิดความปรารถนาของสิ่งที่ถูกกดทับจากการล่าอาณานิคม และชี้ชวนให้เราเห็นถึงความเป็นไปได้ของพื้นที่ใหม่ๆ ศักยภาพอันไร้ขอบเขต และการเพ่งพินิจร่างไร้วิญญาณที่หนังได้ย้ำเตือนว่าเรานั้น เช่นเดียวกับแนวคิด “ขวัญ” เราต่างอยู่ในระนาบเดียวกัน 

สิ่งใดที่เสแสร้งแกล้งทำว่าอยู่เหนือพ้นบนเศียรเกล้า ขอให้จงรู้ว่า พวกเขานั้นหลอกลวง


ดู มะลิลา ได้ที่ Netflix

กฤตภัทธ์ ฐานสันโดษ
ทำงานด้านสาธารณสุขอยู่แถบอีสานใต้ งานอดิเรกคือเขียนถึงงานศิลปะและภาพยนตร์

LATEST REVIEWS