แม้จะขึ้นชื่อว่าสร้างโดยทีมงาน ‘ไทบ้าน เดอะซีรีส์’ ที่ทำเงินทั้งจักรวาลรวมกันทั้งประเทศได้ราว 200 ล้านบาท จนทำให้ ‘รักหนูมั้ย’ ได้รับความคาดหวังว่าจะสร้างความคึกคักให้กับโรงหนังอีกครั้ง โดยเฉพาะที่อีสานซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์ของทีมไทบ้านฯ แต่หลังจากฉายไปร่วมสัปดาห์แล้วมันกลับไม่เปรี้ยงอย่างที่คิด
ในกรุงเทพฯ ‘รักหนูมั้ย’ น่าจะปิดสัปดาห์แรกที่ราว 3 ล้านบาทเท่านั้น ส่วนที่อีสานนั้นก็ทำเงินต่ำกว่าที่ผู้จัดจำหน่ายคาดการณ์ไว้ (รายได้หนังนอกกรุงเทพฯ ไม่เป็นที่เปิดเผย เนื่องจากยังซื้อขายผ่านระบบสายหนัง) คมกฤช พิพัฒน์ภานุกูล กรรมการผู้จัดการ บ.มูฟวี่ พาร์ทเนอร์ จำกัด ผู้ร่วมลงทุนและจัดจำหน่ายหนังเผยว่า “รายได้หนังก็ถือว่าดีแบบกลางๆ แต่ถามว่าผิดจากที่คาดการณ์มั้ย ก็ผิด ส่วนรายได้ในกรุงเทพฯ นี่ผิดไปเยอะเลย ตอนนี้ผมยังตอบไม่ได้ว่าเป็นเพราะอะไร การรับรู้ของคน, โควิด หรือเพราะคนไม่มีเงินจริงๆ”
คมกฤชยอมรับว่าไม่ได้คาดหวังให้ ‘รักหนูมั้ย’ จะทำเงินถล่มทลายแบบ ‘ไทบ้าน เดอะซีรีส์’ แต่ก็ไม่คิดว่าหนังจะถูกเมินจากผู้ชมขนาดนี้ “หนังมันค่อนข้างเปลี่ยนการรับรู้ต่อหนังอีสานเยอะ มันไม่ได้นำเสนอภาพท้องทุ่งท้องนา กินกบกินเขียด แบบหนังอีสานทั่วไป มันว่าด้วยชีวิตคนอีสานในเมือง พูดกับคนดูรุ่นใหม่ เพราะฉะนั้นมันเลยไม่ได้จำกัดตัวเองอยู่แค่ในอีสานเท่านั้น ซึ่งดีที่หนังได้รับฟี้ดแบ็กค่อนข้างบวกจากผู้ชม ก็ได้แต่หวังว่ามันจะมีก๊อกสองตามมา”
หนังอีสานที่ผลิตหลังจากความสำเร็จของ ‘ไทบ้านฯ’ มักศึกษาสูตรสำเร็จของมันเป็นแนวทางเสมอ แต่เมื่อที่อาศัยเครื่องมือการประชาสัมพันธ์และการการันตีโดยทีมไทบ้านฯ เอง ยังไม่สามารถก้าวข้ามขีดจำกัดของความซบเซาในธุรกิจโรงหนังไปได้ จึงทำให้ผู้ลงทุนต้องกลับมาทบทวนทิศทางการทำหนังไทยอย่างจริงจังอีกรอบ
“อย่างที่บอกว่าผมยังตอบไม่ได้ว่าเป็นเพราะอะไรถึงทำให้คนยังไม่กลับมาที่โรงหนังกัน สมมติถ้าเพราะโควิดจริง ถ้าทุกอย่างกลับสู่ภาวะปกติก็ต้องกลับมาเหมือนเดิม ถ้าคนไม่มีเงินก็ไม่ต้องอะไรมาก เราลดค่าตั๋วคนก็ควรจะกลับมา หรือเป็นเพราะหนังไม่น่าสนใจรึเปล่า? ผมก็ไม่รู้ ลองย้อนกลับไปมองทั้งปีน่าจะมีแค่ Mulan กับ Peninsula เท่านั้นที่ได้ แต่มันก็ยังได้ไปแค่ประมาณ 50 ล้านบาทในกรุงเทพฯ เท่านั้น
“ผมอยากจะขอลองดูผลลัพธ์ของ ‘อีเรียมซิ่ง’ กับ ‘อ้ายคนหล่อลวง’ หลังจากนั้นทุกอย่างมันคงชัดขึ้น เพราะถ้าหากเบอร์ระดับนี้ยังไม่ได้ ก็เป็นเรื่องที่น่ากลัวว่า หรือที่จริงแล้วเพราะพฤติกรรมคนดูเปลี่ยนไปจริงๆ ในที่นี้ไม่ใช่ว่าไม่เข้าโรงหนังแล้วไปดู Netflix ด้วยนะ แต่คือเอาเวลาดูหนังไปให้ความสนใจกับสิ่งอื่นหรือทำอย่างอื่นไปเลย ถ้าเป็นแบบนี้ความเร่งด่วนที่แท้จริงคือเราจะเรียกศรัทธาของคนให้กลับมาดูหนังได้อย่างไรมากกว่า”