“…แต่ว่าเราที่เป็นคนผลิตคอนเทนต์ก็คิดว่า ควรจะผลิตเนื้อหาแบบอื่นด้วยไหม คือพอเราไปคุยกับเพื่อนที่เป็นชาวต่างชาติ พอบอกว่า เมืองไทย เขาก็จะนึกถึง ‘ชายหาดที่สวย’ ‘สิ่งร้ายๆ ที่เกิดขึ้น’ แล้วก็ ‘ความยากจน’ ทำให้เขาดูเราเหมือนเราด้อยกว่า ไม่เท่าเทียมกัน ก็เลยอยากจะผลิตอะไรให้เขาเห็นด้วยว่า ‘เมืองไทยก็มีนักวิทยาศาสตร์’ ‘เมืองไทยก็มีคน upper middle class’ ‘เมืองไทยก็มีคนรักลูก’ ‘เมืองไทยก็มีคนที่คิดถึงปรัชญาความเป็นความตาย’ นะ…”
Hope Frozen: A Quest to Live (ความหวังแช่แข็ง: ขอเกิดอีกครั้ง) ภาพยนตร์สารคดีจาก Netflix โดยผู้กำกับและนักข่าว ไพลิน วีเด็ล เป็นสารคดีใที่ได้รับรางวัลในสาขาภาพยนตร์สารคดีนานาชาติยอดเยี่ยม (Best International Feature Documentary) จากเทศกาล Hot Docs Canadian International Documentary Festival ในปี 2019 นำเสนอเรื่องราวของครอบครัวเนาวรัตน์พงษ์ โดยมี ดร.สหธรณ์ และ ดร.นารีรัตน์ เนาวรัตน์พงษ์ คู่สามีภรรยาเจ้าของบริษัทวิจัยและผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ ตัดสินใจนำสมองของน้องไอนส์ หรือ ด.ญ.เมทรินทร์ เนาวรัตน์พงษ์ ลูกสาวในวัย 2 ขวบซึ่งเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งสมองชนิด Ependymoblastoma ไปเข้าสู่กระบวนการไครออนิกส์ (Cryonics)
เรื่องราวเริ่มขึ้นเมื่อ ดร.สหธรณ์ ไปบุกเบิกงานที่หัวหิน เมทริกซ์ เนาวรัตน์พงษ์ พี่ชายกลายเป็นผู้ดูแลหลักของน้องสาวคนเล็ก (ในเวลานั้น) คืนหนึ่ง ดร.สหธรณ์ ฝันไม่ดีจึงโทรบอกให้เมทริกซ์ไปปลุกน้องตอนเช้า ก่อนจะพบว่าน้องไม่ตื่น ไอนส์ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลรามาธิบดีและถูกวินิจฉัยในเวลาต่อมาว่ามีเนื้องอกมะเร็งขนาดใหญ่ในสมองของไอนส์ Ependymoblastoma เป็นเนื้องอกสมองที่พบน้อยมาก (rare) เจริญมาจากเซลล์ค้ำจุนชนิดหนึ่งซึ่งพบได้ในระบบประสาท ซึ่งเป็นเยื่อบุที่โพรงสมองและโพรงของไขสันหลัง มักเกิดในเด็กอายุประมาณ 3 ปี มะเร็งชนิดนี้ถือเป็นหนึ่งในมะเร็งสมองที่รุนแรงที่สุด หลังวินิจฉัยผู้ป่วยมักจะมีชีวิตอยู่ได้ประมาณ 8.1 เดือน
ก่อนเสียชีวิต ไอนส์ ถูกผ่าตัด 12 ครั้ง ได้เคมีบำบัด 20 ครั้ง ฉายรังสีรักษา 20 ครั้ง ดร.สหธรณ์วางแผนการเก็บรักษาลูกสาวไว้แม้จะได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไม่เห็นด้วยในตอนแรก แต่ก็ค่อยๆ ยอมรับได้ในเวลาต่อมา ครอบครัวเนาวรัตน์พงษ์อัดวิดีโอไว้ตลอดช่วงเวลาการเติบโต เจ็บป่วย และดับขัยของไอนส์ “…ไอนส์ เรามาถึงสุดทางของมนุษย์แล้วนะ ไม่มีอะไรจะเกินกว่านี้อีกแล้ว มนุษย์ไม่สามารถข้ามขีดจำกัดนี้ไปได้ หนูจะอยู่ในใจของเราเสมอ ถ้าหากหนูตื่นขึ้นมาในอีกหลายร้อยปี ก็ขอให้รู้ว่าพ่อกับแม่รักหนู…” ดร.สหธรณ์ และ ดร.นารีรัตน์ อัดวิดีโอส่งข้อความถึงไอนส์ พูดคุยกับลูกสาวกับการรักษาครั้งสุดท้าย
หนึ่งในฉากที่งดงามและแสนเศร้าที่สุดของสารคดีคือภาพของเวลาสลัวที่ไม่รู้ว่ากลางวันหรือกลางคืน เมฆหมอกปกคลุมอยู่ทั่ว ดวงดาวส่องสว่างอยู่กลางท้องฟ้า โดยมีเสียงของหมู่ญาติเป็นฉากหลัง พวกเขาสวดมนต์ให้กับไอนส์ก่อนที่เธอจะเสียชีวิตที่บ้านท่ามกลางรักและอาลัยของครอบครัว ดร.นารีรัตน์จะมีชุดสีขาวของไอนส์เป็นเครื่องเตือนใจแทนความรักที่เธอมีต่อลูกสาว เธอจะเข้ามากอดและหอมชุดนั้นเมื่อเธอมีเรื่องทุกข์ใจ
ความน่าสนใจของ Hope Frozen: A Quest to Live คือการพาเราไปพบเรื่องราวของครอบครัวชีวิตชนชั้นกลางระดับสูงที่มีทางเลือกในการอำลาสมาชิกในครอบครัวด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัย มีเวลาเพียงน้อยนิดในสารคดีที่ถ่ายภาพอื่นนอกเหนือจากชีวิตของเนาวรัตน์พงษ์และภาพธรรมชาติที่ใช้ในการประกอบเรื่องเล่า ได้แก่ภาพการจราจรติดขัดบนท้องถนน ชีวิตคนที่ต้องดิ้นรนบนถนนที่แออัด เมทริกซ์เดินข้ามสะพานลอยเพื่อไปห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์ ภาพเพียงไม่ถึงหนึ่งนาทีในสารคดีนั้นตอกย้ำโอกาสที่แตกต่างกันมากเหลือเกินในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูงเช่นรัฐไทย
ธุรกิจยื้อชีวิต ยืดเวลาทุนนิยม เศรษฐกิจของความหวัง
Tiffany Romain นักศึกษาระดับปริญญาเอกสาขามานุษยวิทยาที่ Stanford University เสนอไว้ว่าอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ (ไบโอเทค) เช่น วิศกรรมตัดต่อยีน งานวิจัยสเต็มเซลล์ (Stem Cell) และ เวชชศาสตร์ฟื้นฟูภาวะเสื่อม (Regenerative medicine) ล้วนแต่มีพื้นฐานอยู่บนความหวังเพื่ออนาคตของนวัตกรรม หรือถูกเรียกว่า “จินตนาการแห่งชีวการแพทย์” ซึ่งดึงดูดนักลงทุนที่หวังผลกำไรและรายได้ที่น่าดึงดูดใจจากการยืดอายุขัยมนุษย์ ความหวัง (hope) ถูกสร้างขึ้นบนเครือข่ายของผู้คนที่กว้างขวาง ความหวังเป็นปัจจัยสำคัญในการเคลื่อนของเงินทุนและการสนับสนุนจากองค์กรเพื่อทำให้อนาคตเหล่านี้เป็นรูปเป็นร่าง ความหวังเป็นองค์ประกอบที่สร้างเงินทุนให้บริษัทไบโอเทค อนาคตเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน พวกเขาจินตนการ ต่อสู้เพื่อให้ได้มา ขัดขืน และโอบรับอนาคต เพื่อวาดอนาคตให้มาสู่เวลา ณ ปัจจุบัน
แต่ไครโอนิกส์ (คือ การเก็บรักษาศพของมนุษย์หรือหัว ด้วยความหวังว่า ในอนาคตจะมีเทคโนโลยีที่สามารถทำให้ฟื้นคืนชีพและกลับมามีชีวิตได้อีกครั้ง โดยอุณหภูมิที่ใช้ในการแช่แข็งร่างกาย หรือสมอง จะอยู่ที่ -196 องศาเซลเซียส หรือ 77.1 เคลวิน) แตกต่างจากไบโอเทคอื่นๆตรงที่ไม่ได้รับเงินสนับสนุนจากภาครัฐมากเช่นเทคโนโลยีอื่นๆ เนื่องจากมีคนจำนวนน้อยที่มองเห็นถึงความสมเหตุสมผล ส่วนมากเงินทุนจึงมาจากการบริจาคและลงทุนจากกลุ่มผู้เชื่อในไครโอนิกส์ และด้วยไครโอนิกส์เองที่สร้างบนพื้นฐานของความหวัง Tiffany Romain เสนอว่าไครโอนิกส์คือสิ่งชี้วัดระบบเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ (neoliberal) ที่เข้าไปสู่วงการแพทย์ที่ซึ่งปัจเจกบุคคลจะต้องรับความเสี่ยงและการมีคุณภาพชีวิตของตนเองด้วยตนเอง
Abou Farman อาจารย์สาขาสาขามานุษยวิทยา ที่ New School for Social Research มองว่าไครโอนิกส์ หรือการแช่แข็งบุคคลอยู่ระหว่างความจริงและเสมือน ระหว่างการมีขีดจำกัดและไม่มีขอบเขต ระหว่างความตายที่ยึดโยงกับโลกและความก้าวหน้าของเทคโนโลยีล้ำยุค ซึ่งแสดงถึงว่ามนุษย์และเวลาไม่เคยยึดโยงกับสภาวะที่อยู่ภายใน (immanent) โดยเฉพาะสังคมโลกวิสัยที่พยายามหลบหนีไปสู่อนาคตของความไม่รู้ ไครโอนิกส์ได้ลดรูปเรือนร่างของมนุษย์ให้จำกัดเพื่อที่จะหลบหนีสู่ภาวะไร้ขีดจำกัดในเชิงโลกวิสัย
ไครโอนิกส์มุ่งสนใจแต่ภาวะปัจเจกและความศรัทธาในตลาดเสรีซึ่งใช้ประโยชน์จากกรอบแนวคิดเสรีนิยมใหม่ที่เน้นเสนอขายอนาคตที่สดใส ไครโอนิกส์เสนอความเป็นไปได้ในการยืดขยายอายุขัยมนุษย์ในเป็นอมตะ Romain ยังย้ำว่าการลงทุนในไครโอนิกส์คือการอ้างอำนาจอธิปัตย์ (sovereignty) เหนือร่างกายของคนคนหนึ่งผ่านการมองโลกในแง่ดีและความพยายามในการท้าทายศีลธรรม จินตนาการทางการเมืองและความเชื่อทางศาสนาด้วยการสร้างปัจเจกอย่างสุดขั้ว ผ่านการสร้างภาพของไบโอเทคที่ก้าวหน้า และความศรัทธาในตลาดเสรี
นอกจากนี้ไครโอนิกส์ยังทำให้เห็นว่าเวลาถูกเปลี่ยนให้เป็นสินค้าและขายได้ เสนอให้ลูกค้าซื้อเวลาผ่านการลวงด้วยจินตนาการ ความฝัน ความหวังถึงอนาคตที่เป็นไปได้ และนี่เองได้กลับมาสร้างตัวตนใหม่ของมนุษย์ในปัจจุบัน นับตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม เวลาและเงินถูกจับมาคู่กันผ่านค่าแรงรายชั่วโมง เวลายังถูกแยกออกเป็นเวลาทำงานและเวลาพักผ่อน เวลากลายมาเป็นสิ่งที่ต้องสะสมไว้เพื่อเอาไว้พักผ่อนในภายหลัง ไครโอนิกส์ได้เสนอความเป็นไปได้ว่า “เวลาอีกจำนวนมาก” สามารถถูกนำมาขายได้แม้ว่าเราจะไม่รู้อนาคตที่เป็นนามธรรมว่าจะเป็นอย่างไร ด้วยความคิดว่าเวลาจะไม่สัมพันธ์กับความตายอีกต่อไปเพราะความตายจะถูกกำจัดด้วยเทคโนโลยี Romain ชี้ว่าไครโอนิกส์ก็เหมือนกับกองทุนบำนาญที่ไม่ได้จ่ายเป็นเงินหากแต่เป็นเวลา
จะเห็นได้ว่าไครโอนิกส์ได้ตอกย้ำความเหลื่อมล้ำของเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ที่แตกสลายความเป็นชุมชนให้กลายเป็นปัจเจก และมีเพียงไม่กี่ครอบครัวที่ได้รับทางเลือกในวาระสุดท้ายของชีวิต ดังที่เมทริกซ์บอกว่ามีเพียง 200 กว่าคนที่ถูกเก็บไว้ที่องค์กร The Alcor Life Extension Foundation ที่ครอบครัวเนาวรัตน์พงษ์เลือกเก็บสมองของไอนส์ไว้ จุดน่าสนใจที่สารคดีเน้นให้เห็นคือกระบวนการสร้างความทรงจำของแต่ละบุคคล ดร.สหธรณ์ มุ่งใช้วิทยาศาสตร์ในการแก้ปัญหาชีวิต รวมถึงการสร้างตัวตนของลูกผ่านสิ่งต่างๆ เช่นเสื้อผ้าสีขาว แท็งก์เก็บสมอง หรือการกำเนิดของลูกสาวคนใหม่
การแพทย์แบบประคับประคองในผู้ป่วยระยะสุดท้าย การควบคุมร่างกายมนุษย์
ในระยะเวลานับตั้งแต่ไอนส์ถูกช่วยชีวิตหลังจากเมทริกซ์พบว่าน้องอยู่ในอาการโคม่า เมื่อถูกวินิจฉัยโดยแพทย์ศัลยกรรมระบบประสาท และไอนส์ถูกนำเข้าสู่กระบวนการรักษามะเร็งด้วยเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์เท่าที่โรงพยาบาลชั้นนำของประเทศจะมี นี่เองคือสิ่งที่ Eric L. Krakauer อาจารย์แพทย์ที่ Yale University มองว่าเป็นเทคโนโลยีของการยื้อชีวิต (life-sustaining technologies) ได้แก่ การฟอกไต การกู้ชีวิตด้วยการกดหน้าอก (CPR) การใส่ท่อช่วยหายใจ การให้สารอาหารเทียม
Krakauer มองว่าเมื่อเทคโนโลยีเหล่านี้มีอยู่ทั่วไปในโรงพยาบาล การไม่ใช้เทคโนโลยีเหล่านี้กลายเป็นเรื่องที่อาจผิดจริยธรรมทางการแพทย์ และสิ่งที่เกิดขึ้นตามาจากการใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ไม่เพียงผลประโยชน์แต่ยังรวมไปถึงภาระผูกพันด้วยเช่นกัน เช่น การสร้างภาระให้ผู้ดูแลจนผู้ดูแลกลายเป็นคนป่วยไปด้วย หรือยังรวมไปถึงความทรมานจากการยื้อชีวิต มีคนกระทั่งมองว่าการละเว้นหรือหลีกเลี่ยงการใช้เทคโนโลยียื้อชีวิตเหล่านี้ต่างหากคือสิ่งที่ดีที่สุด
Krakauer ชี้ให้เห็นว่าการคิดแบบเทคโนโลยี (technological thinking) คือการมองสิ่งต่างๆในสถานะ “วัตถุ” (object) ที่ถูกรู้จนหมดจดได้และควบคุมได้ เช่นเดียวกับการมองว่าร่างกายถูกควบคุมด้วยจิตใจ จิตใจคือ thinking subject หรือองค์ประธานผู้คิด และร่างกายเป็นเพียงวัตถุ แต่ Krakauer กลับมองว่าร่างกายเป็นสิ่งที่มีมาก่อนและสัมพันธ์กับจิตใจอย่างลึกซึ้งจนแยกจากกันไม่ออก
Krakauer อธิบายว่าความฝันแบบคาร์ทีเซียนคือความฝันที่พยายามควบคุมความตายโดยผ่านองค์ประธานผู้คิดที่ควบคุมทุกสิ่งได้มีอิทธิพลอย่างมากในวงการแพทยศาสตร์ศึกษา การวิจัย และการปฏิบัติทางการแพทย์ ซึ่งนำการแพทย์ไปยุ่งกับความตาย (medicalization of death) หรือทำให้ความตายกลายเป็นปัญหาทางการแพทย์และเทคโนโลยี ความตายถูกทำให้ต้องการปฏิบัติการทางการแพทย์อยู่เสมอ เช่น ผู้ป่วยโรคระยะสุดท้ายมักถูกพามาโรงพยาบาลและเสียชีวิตที่โรงพยาบาล
ความน่าสนใจคือ Krakauer บอกว่าครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 สถานที่เสียชีวิตของชาวตะวันตกเปลี่ยนจากบ้านมาเป็นโรงพยาบาล ความฝันแบบคาร์ทีเซียนแสดงออกมาในรูปของการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะและเทคโนโลยียื้อชีวิตที่ถูกนำไปใช้กับผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่โอกาสการดีขึ้นจากโรคมีน้อยมาก การแพทย์ตะวันตกสามารถยื้อความตายได้เป็นเวลาสิบปี แต่ในไม่กี่สิบปีที่ผ่านมาเพิ่งมีการตระหนักถึงความทุกข์ทรมานจากการใช้เทคโนโลยีเหล่านี้
Krakauer ผู้เป็นแพทย์อายุรกรรมได้เสนอทางออกของความทุกข์ทรมานจากเทคโนโลยียื้อชีวิต ซึ่งเขาเสนอให้ยุติการคลั่งไคล้ในเทคโนโลยี (fetishism of technology) ที่ทำให้การยื้อชีวิตมีความสำคัญมากกว่าการเตรียมตัวทางจิตวิญญาณและชีวิตหลังความตาย เทคโนโลยีกลายเป็นสิ่งที่สำคัญมากกว่าการร่ำลากับคนรัก การไกล่เกลี่ยกับปัญหาที่ยังค้างคา หรือการได้อยู่ที่บ้าน
สำหรับ Krakauer แล้ว Palliative medicine หรือ การแพทย์แบบประคับประคอง คือการตอบสนองและรับฟังต่อเสียงของความทุกข์ทรมานที่แนวคิดแบบคาร์ทีเซียนได้ละเลยและผลิตซ้ำ Palliative medicine ไม่ได้หลีกเลี่ยงเทคโนโลยี หากแต่ “ใช้” เทคโนโลยีอย่างมีความรับผิดชอบ และไม่ได้ถูกกำหนดโดยเทคโนโลยีทั้งหมด หากแต่ปล่อยให้เทคโนโลยีเป็นดังที่มันเป็น และปล่อยให้ความตายเป็นดังที่ควรเป็น นอกจากนี้ Palliative medicine ไม่ได้มีเป้าหมายอะไรชัดเจน ไม่มีแผนการที่แน่ชัด หรือคาดหวังว่าผู้ทรมานจะการสิ่งใด หากแต่เน้นย้ำถึงการฟังเสียงของเขาที่มักหายไปในขั้นตอนของการจัดการทางสุขภาพที่เน้นเหตุเป็นผลแบบวิทยาศาสตร์ (rationalized) และแตกแขนงตามความเฉพาะ (subspecialized)
เสียงของผู้ทรมานมักไม่ไหลผ่านออกมาจากเรือนร่าง หากแต่มาจากความรู้สึกของการสูญเสีย ที่ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียของสุขภาพ ความสามารถในการทำงานได้เหมือนเดิม คนรัก ความสัมพันธ์ การมีความหมาย หรือการสูญเสียตัวตนเมื่อเผชิญหน้ากับความตาย Palliative medicine จึงเป็นการตระหนักถึงขีดจำกัดของเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยหันมายอมรับความตายที่ไม่อาจเลี่ยงได้
Krakauer มองว่าการคิดแบบเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์คล้ายกับ speculum หรือคีมปากเป็ดที่แพทย์ใช้ในการตรวจส่องหาความผิดปกติ แต่คีมปากเป็ดเองก็เป็นเหมือนกระจกที่ thinking subject หรือองค์ประธานการคิดก็จะรับรู้ได้แต่ความเป็นวัตถุ (object) ที่องค์ประธานคิดเอาเองว่าประกอบด้วยสิ่งใด ดังนั้นการคิดแบบวิทยาศาสตร์ในทางหนึ่งก็คือการเห็นเพียงแค่ตนเอง และอาจหลงลืมไปว่าสิ่งตนเองรับรู้ได้นั้นได้บดบังบางสิ่งที่แตกต่างจากที่ตนเองรับรู้ได้อย่างมาก
Palliative medicine จึงเป็นการตระหนักรู้ว่าการคิดแบบวิทยาศาสตร์เป็นการเปิดเผยและทำให้สิ่งต่างชัดเจนแจ่มแจ้ง นั้นเป็นทั้งการปกปิดไปพร้อมๆกัน Palliative medicine พยายามที่ไม่ปกปิดหรือซ่อนสิ่งต่างๆ หากแต่เผยให้เห็นถึงสิ่งที่ถูกปกปิด และตระหนักความสำคัญของการนิยามด้วยการวินิจฉัยโรคและควบคุมอาการ แต่ก็เน้นย้ำถึงความเสี่ยงที่จะปกปิดความทุกข์ของบุคคล โดยกล่าวให้ง่าย Palliative medicine ก็คือการปล่อยให้สิ่งที่ควบคุมไม่ได้เป็นอย่างที่มันเป็น โดยการตระหนักได้ว่ามันไม่อาจควบคุมได้
จากสารคดีเราจะได้เห็นกระบวนการ Palliative medicine เช่น ฉากการสวดมนต์ตอนช่วงเวลาสุดท้ายของไอนส์ ควบคู่ไปกับการรักษาด้วยเทคโนโลยียื้อชีวิต ที่ ดร.สหธรณ์ ทราบพยากรณ์โรคของมะเร็งดีว่าไม่มีใครรอดชีวิตจาก Ependymoblastoma แต่ด้วยแนวคิดวิทยาศาสตร์เขาก็เลือกจะสู้เต็มที่กับเรือนร่างของไอนส์ผ่านการผ่าตัด ฉายแสงและคีโม จนกระทั่งร่างกายของไอนส์บอบช้ำไม่สามารถนำไปบริจาคอวัยวะได้ ซึ่งแน่นอนว่าแนวคิดวิทยาศาสตร์การแพทย์ก็ไปได้ดีกับทุนนิยมเสรีนิยมใหม่ และการเปลี่ยนแปลงความตายให้เป็นไปได้ ทุน ความหวัง และความฝัน
Mary-Jo DelVecchio Good นักมานุษยวิทยาการแพทย์ที่ Harvard Medical School เรียกสิ่งนี้ว่า “biotechnical embrace” หรือการโอบรัดโดยไบโอเทคที่ร้อยประสบการณ์ของผู้ป่วยและเศรษฐศาสตร์การเมืองทางการแพทย์ด้วยมิติทางจินตนาการและอารมณ์ความรู้สึก จินตนาการทางการแพทย์นี่เองที่เร่งพลังของธุรกิจการแพทย์ที่หมุนวนผ่านวัฒนธรรมป๊อป แพทย์และคนไข้ต่างถูกครอบงำด้วยระบอบความจริงทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ รวมถึงผู้ป่วยด้วยโรคร้ายแรงรวมถึงญาติก็มีความรู้สึกไวต่อความหวังที่ถูกสร้างโดยอำนาจทางวัฒนธรรมของจินตนาการทางการแพทย์
Palliative medicine ที่เราให้เห็นในสารคดีที่ชัดเจนอาจเป็นช่วงเวลาท้ายของไอนส์ที่เสียชีวิตท่ามกลางกำลังใจจากเครือญาติที่พร้อมใจกันสวดมนต์ตามความเชื่อทางศาสนา ช่วงเวลาที่ไอนส์ไม่ต้องทรมานจากเทคโนโลยียื้อชีวิตอีกต่อไป แต่ Palliative medicine เองก็อาจรวมไปถึงการจัดการกับความรู้สึกของพ่อ แม่และพี่ชายของไอนส์ด้วยเช่นกัน กล่าวคือการเตรียมตัวพร้อมรับกับความตายที่กำลังมาถึงอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
“…โอกาสที่น้องจะกลับมาด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบัน ไม่สามารถทำให้น้องกลับมาได้ คนถามว่าเสียเงินฟรีมั้ย มีคนถามเยอะมาก ถึงแม้ว่าจะน้อยขนาดไหนได้ทำที่สุดแล้ว เพื่อที่จะคว้าโอกาสนั้น เหมือนซื้อหวย ถ้าถูกคือโชคดี น้องได้มีโอกาสชีวิตใหม่…”
– เมทริกซ์ เนาวรัตน์พงษ์ ให้สัมภาษณ์ในรายการแฉ วันที่ 1 ตุลาคม 2563
ในทางหนึ่ง Palliative medicine ก็เป็นการเลือกปิดฉากชีวิตโดยไม่ทรมาน แต่ในขณะเดียวก็กลบทับความเหลื่อมล้ำของการรักษาด้วยภาพฝันของแพทย์ในฐานะเทพเจ้าผู้ดลบันดาลความสุขให้คนไข้และญาติในวาระสุดท้าย เพราะสำหรับครอบครัวเนาวรัตน์พงษ์ Palliative medicine ในช่วงท้ายคือการยอมรับต่อความตายที่วิทยาศาสตร์ไม่อาจต่อกรได้สำเร็จ แต่สำหรับครอบครัวคนจนส่วนใหญ่ของประเทศที่ถือสิทธิบัตรทอง Palliative medicine ก็อาจจะเป็นการหลุดพ้นออกจากความทุกข์ยาก การไม่ต้องเป็นภาระทางการเงินให้ลูกหลาน ไปจนถึงการท้อใจในชะตากรรมชีวิต และเลือกจบชีวิตลงเสียดีกว่าอยู่ไปโดยที่รู้สึกไร้ค่าหรือเป็นภาระของลูกหลาน
ดังนั้นแล้ว Palliative medicine ก็อาจเป็นการเน้นย้ำสถานะของแพทย์ที่สูงส่ง ผู้สามารถเลือก “ใช้” เทคโนโลยีมาอำนวยความสุขให้ผู้ป่วยไปถึงปรโลก นี่จึงตอกย้ำว่า Palliative medicine ก็ยังหมกมุ่นและหนีไม่พ้นกับการแยกสถานะมนุษย์กับเทคโนโลยี และยังมองว่าเทคโนโลยี รวมถึงยาเป็นวัตถุที่แพทย์สามารถหยิบฉวยมาใช้อย่างไรก็ได้ กล่าวคือมนุษย์เป็นนายเหนือเทคโนโลยี
พร้อมๆ กัน Palliative medicine ก็โหมเร้าความโรแมนติกของช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิต มากกว่าที่จะเผยให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำภายในความเจ็บป่วยและการรักษา เช่น ครอบครัวเนาวรัตน์พงษ์ ผู้เป็นชนชั้นกลางระดับสูง สามารถส่งลูกเรียนโรงเรียน King’s College International School Bangkok ที่ค่าเล่าเรียน เริ่มต้นที่ 500,000-1,000,000 บาท ครอบครัวเนาวรัตน์พงษ์ผู้มีฐานะสามารถเลือก การรักษาได้หลากหลายแม้จะรู้ว่าโรคของไอนส์โอกาสหายน้อยมากแต่ก็มีทุนมากพอในการสู้กับโรค รวมถึง Palliative medicine ในช่วงสุดท้ายก็เป็นทางเลือกสุดท้ายมากกว่าจะเป็นทางเลือกแรก
นี่ยังไม่รวมถึงกระบวนการหลังการเสียชีวิตของไอนส์ที่ครอบครัวเนาวรัตน์พงษ์สามารถเลือกจะเก็บสมองของลูกไว้ด้วยค่าใช้จ่ายอย่างน้อยสองล้านบาท ในขณะที่ผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่ผู้เขียนพบเจอ เช่น ผู้สูงอายุที่ป่วยด้วยไตวายระยะสุดท้าย หลายคนก็เลือกจะไม่ฟอกไต และเลือกจะเสียชีวิตหากเวลานั้นมาถึง หากเป็นเพราะการฟอกไตสำหรับสิทธิ์สามสิบบาทต้องฟอกทางหน้าท้องซึ่งเป็นกระบวนการที่ยุ่งยากและต้องมีผู้ดูแลตลอดเวลา ซึ่งผู้สูงอายุส่วนใหญ่ในต่างจังหวัดก็อยู่คนเดียว หรือกับสามี-ภรรยา ลูกมักไปทำงานในเมืองใหญ่ ไม่สามารถมาดูแลเรื่องการฟอกไตได้ ดังนั้นแล้วสำหรับคนจน Palliative medicine จึงอาจเป็นทางเลือกแรกมากกว่าทางเลือกสุดท้าย และมองว่าชีวิตตนเองดำเนินมาถึงเท่านี้ก็เพียงพอแล้ว
ความฝันแบบคาร์ทีเซียน การติดแหง็กอยู่กับสภาะวะคู่ตรงข้าม และการอยู่กับปัญหา
นี่เองทำให้เรากลับมาเพ่งมองความฝันแบบคาร์ทีเซียนที่แยกจิตใจออกจากร่างกายมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นแนวคิดที่สำคัญของวิทยาศาสตร์หลังยุคภูมิธรรม Franziska von Verschuer เสนอแนวคิดของการประกอบสร้างตัวตนที่สัมพันธ์กับวัตถุ (materiality of being) โดยการวิเคราะห์ผ่านไครโอนิกส์มักใช้ลักษณะทวิลักษณ์ (Dualism) ขององค์ความรู้สมัยใหม่ ที่มีรากฐานจากแนวคิดทางปรัชญาของ René Descartes ที่มีการแยกระหว่างร่างกายกับจิตใจ ซึ่งได้แบ่งแยก “องค์ประธาน” (subject) ออกจาก “สิ่ง” (object) และยกระดับมนุษยขึ้นในฐานะองค์ประธาน
Jerry Lemler อดีต CEO ของ Alcor กล่าวว่าร่างกายของเรา (ความเป็นวัตถุ) เปลี่ยนไปทุกๆ วัน แต่เราก็ยังคงเป็นเรา เราคือข้อมูล ไม่ใช่วัตถุ เราคือสิ่งชีวิตข้อมูล (information beings) นี่เองเห็นได้ว่าแนวคิดไครโอนิกส์ยืนยันถึงการแยกขาดระหว่างร่างกายและจิตใจ โดย Grant Shoffstall มองไครโอนิกส์ว่าวางอยู่บนแนวคิดว่าอัตลักษณ์ของมนุษย์เปรียบเสมือนกับซอฟต์แวร์ที่ทำงานอยู่บนร่างกายที่เปรียบกับฮาร์ดแวร์ที่จะเสื่อมสลายไป แต่ซอฟต์แวร์จะยังคงอยู่ เช่นเดียวกับแนวคิดของ ดร.สหธรณ์ ที่เก็บสมองของไอนส์ไว้และหวังว่าสมองของเธอซึ่งเปรียบเสมือนตัวสร้างซอฟต์แวร์จะใช้งานได้อีกครั้งบนเรือนร่างในอนาคต
แต่ความย้อนแย้งก็คือแหล่งเก็บความทรงจำหรือตัวตนของมนุษย์ก็คือสมองซึ่งเสื่อมสลายได้ เราจะเห็จากช่วงท้ายของสารคดีเมื่อเมทริกซ์ได้พบกับนักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานด้านไครโอนิกส์ผู้เผยความจริงกับเขาว่าด้วยวิธีการเก็บสมองในปัจจุบันมีโอกาสน้อยมากๆ ที่สมองจะยังอยู่ในสภาพเดิมหรือกลับมาทำงานได้ เพราะการแช่แข็งทำให้สภาพของสมองถูกทำลายจนอาจนำกลับมาใช้ใหม่ไม่ได้ เมทริกซ์วิดีโอคอลไปหาพ่อแม่ของเขาและแจ้งข่าวนี้ว่าถึงแม้น้องจะฟื้นขึ้นมาไม่ว่าจะในรูปร่างของอะไร แต่น้องจะยังเป็นน้องไอนส์หรือไม่ เขาจะยังจำใครได้ ความทรงจำเขาจะยังเหลือเหมือนเดิมตอนที่เธอ 2 ขวบหรือไม่
นี่เองคือสิ่งที่ Richard Doyle นักวิทยาศาสตร์ศึกษาที่ Penn State University ย้ำเตือนถึงความลักลั่นของความฝันแบบคาร์ทีเซียนว่าจริงๆ แล้วสิ่งที่ถูกชุบชีวิตในกระบวนการไครโอนิกส์ไม่ใช่จิตในรูปอวัตถุที่เก็บไว้ในร่างกายที่เสื่อมสลายได้ แต่หากเป็นเรือนร่างที่มีการสร้างอัตวิสัยอยู่อย่างต่อเนื่อง (ongoing subjectivity) ข้อมูลที่ใช้ในการประกอบสร้างบุคคลขึ้นมานั้นเกินขอบเขตของร่างกาย เพราะครอบครัวที่เลือกวิธีไครโอนิกส์ก็ไม่ได้เก็บความทรงจำไว้เพียงแค่สมองของไอนส์ หากแต่ยังเก็บผ่านวิดีโอที่ถ่ายอยู่ตลอด เพื่อรอคอยไอนส์กลับมาได้ดูวิดีโอเหล่านี้ หรือผ่านเสื้อผ้า รวมถึงแท็งก์เก็บสมอง ความทรงจำยังถูกเก็บไว้ในสิ่งอื่นๆ นอกจากร่างกายของไอนส์ด้วย ร่างกายจึงเป็นกระบวนการที่จิตมีปฏิสัมพันธ์กับโลก กล่าวคือร่างกายและจิตต่างประกอบสร้างกันและกันอย่างแยกขาดจากกันไม่ได้
สำหรับ Tiffany Romain แล้ว เธอเสนอให้แยกจิตออกจากสมองและโครงข่ายระบบประสาท แต่ขยับขยายความหมายออกไปที่ข้อมูลที่ประกอบสร้างเรือนร่างบุคคลขึ้นมา เธอให้ความสำคัญกับประสบการณ์ในชีวิตประจำวันของบุคคลกับโลก (worlding) มากกว่าการให้คุณค่ากับการเก็บข้อมูลเช่นผู้เชื่อในไครโอนิกส์ แต่ Abou Farman เสริมว่านอกจากความฝันแบบคาร์ทีเซียนจะเป็นมรดกของยุคภูมิธรรมแล้ว ยุคภูมิธรรมยังส่งผลต่อพัฒนาการการคิดแบบโลกวิสัยสองประการ คือวัตถุนิยมวิทยาศาสตร์ซึ่งก่อให้เกิดแนวคิดธรรมชาตินิยมที่แยกชีวิตและความตายออกจากกัน และแนวคิดความเป็นเหตุเป็นผลทางการเมือง เช่น สติสัมปชัญญะ (consciousness) และการเป็นตัวของตัวเอง (autonomy) ซึ่งนำไปสู่แนวคิดมนุษยนิยมแบบโลกวิสัย (secular humanism) ที่พยายามสร้างโลกในฝันแบบวิทยาศาสตร์ เช่น เทคโนโลยีไครโอนิกส์
Franziska von Verschuer นักสังคมวิทยาที่ Goethe University Frankfurt ได้เสนอคำว่า living-dying เพราะเธอมองว่าความตายและชีวิตไม่อาจแยกขาดออกจากกันได้เหมือนกับแนวคิดธรรมชาตินิยม ไครโอนิกส์พยายามที่จะหลีกหนีการย่อยสลายในหลุมศพ หรือการกลายเป็นปุ๋ย เธอได้นำแนวคิด bios and zoe ของ Rosi Braidotti นักสตรีนิยมที่ Utrecht University มาพิจารณาไครโอนิกส์ ซึ่งมองว่า การตรรกะที่ผลักดันแนวคิดมนุษยนิยมที่มียุโรปเป็นศูนย์กลางนั้นหมกมุ่นอยู่กับการแยกระหว่างตนเองและผู้อื่นที่ต้อยต่ำกว่า
Bios จึงเป็นวาทกรรมเกี่ยวกับชีวิตที่แยกระหว่างมนุษย์ผู้สูงส่งออกจากสัตว์และสิ่งอื่นๆที่ไม่ใช่มนุษย์ (zoe) กล่าวอีกแบบ Bios เป็นแนวคิดที่ใช้เทคโนโลยีในการปลดปล่อยตนเองออกจากความตาย หรือออกจากความเป็น-ความตาย (living-dying) เช่น ไครโอนิกส์ที่พยายามแยกมนุษย์เป็นอิสระออกจากสิ่งที่นอกเหนือจากมนุษย์ (zoe) ความคิดที่พยายามรักษาจิตและคุณลักษณะของมนุษย์ไว้ แม้ว่าร่างกายจะย่อยสลายไปก็คือการยกมนุษย์เป็นองค์อธิปัตย์เมื่อเทียบกับโลกที่เราอาศัยอยู่ นี่จึงแสดงให้เห็นถึงความหวาดกลัวของการเปลี่ยนผ่านจากมนุษย์ (human) เป็นปุ๋ย (humus)
ความพยายามในการสร้างเทคโนโลยีไครโอนิกส์จึงเป็นสิ่งที่ Franziska von Verschuer หยิบยืมแนวคิดของ Donna Haraway นักสตรีนิยมสายสังคมนิยม ผู้มีภูมิหลังเป็นนักชีววิทยาและนักปรัชญา มามองว่าเป็นความลุ่มหลงในตนเองของนักมนุษยนิยมผู้คลั่งไคล้เทคโนโลยี (humanist technophiliac narcissism) ซึ่งหมายถึงว่าคือแนวคิดที่มนุษย์พยายามสร้างเทคโนโลยีมาเอาชนะความเอาแน่เอานอนไม่ได้ของธรรมชาติ หรือ zoe ซึ่งการมโนทัศน์นี้แสดงถึงความพิเศษสุดยอดของมนุษย์นั่นเอง (human exceptionalism)
Zoe คือชีวิตที่ท้ายที่สุดคือความตาย ความตายถูกกำหนดไว้แล้วตั้งแต่จุดเริ่มต้นของชีวิต การเก็บรักษาร่างของมนุษย์เป็นความพยายามในการเก็บมนุษย์ หรือ bios ที่แยกขาดออกจากสิ่งที่นอกเหนือจากมนุษย์ ไครโอนิกส์จึงเป็นความพยายามในการทำลายความเป็นสัตว์ของมนุษย์ (dezoefication) ซึ่งกระบวนการดังกล่าวหากมองในมุมของ Franziska von Verschuer วิธีการดังกล่าว เต็มไปด้วยอำนาจของความเป็นชาย การให้กำเนิดด้วยตนเอง (autopoiesis) ด้วยการที่เพศชายสร้างอุปกรณ์ของเขาขึ้นมาให้กำเนิดสิ่งมีชีวิตได้
ในความหมายของ Braidotti แล้ว zoe จึงเป็นมากกว่าสิ่งที่นอกเหนือจากมนุษย์ เพราะยังหมายถึงเรือนร่างที่แสดงถึงความแตกต่าง เช่น ผู้หญิง เพราะในทางหนึ่ง การกลายเป็นปุ๋ยคือการสร้างความอุดมสมบูรณ์ผ่านการแลกเปลี่ยนระหว่างเรือนร่างของมนุษย์และสรรพสิ่ง (symbiotic reproduction) Robert C. W. Ettinger บิดาแห่งไครโอนิกส์เคยกล่าวไว้อย่างเหยียดเพศหญิงว่า “การผสมพันธุ์ในหลอดทดลองจะทำให้ต่อไปความเป็นแม่ก็จะถูกทำลายล้าง เด็กไม่มีความจำเป็นต้องเกิดจากพ่อและแม่อีกต่อไป หากแต่จะมีพ่อสองคน”
ความน่าสนใจคือสารคดีใช้เวลาส่วนใหญ่ในการนำเสนอความมุ่งมั่นของเพศชายได้แก่ ดร.สหธรณ์ และเมทริกซ์ในการไล่ล่าเพื่อเติมเต็มความฝันของตัวเองที่จะชุบชีวิตหรือยืดอายุขัยของไอนส์ แต่เมื่อสารคดีนำเสนอภาพของความเป็นแม่อย่าง ดร.นารีรัตน์ เรากลับรู้สึกได้ถึงสายสัมพันธ์ที่ไม่ได้ต้องการอะไรมากไปกว่าพิธีกรรมทางศาสนาและการระลึกถึงลูกตนเองผ่านสิ่งของต่างๆ เท่านั้นเอง
อาจกล่าวได้ว่าไครโอนิกส์คือหนึ่งในการเคลื่อนไหวแบบข้ามพ้นมนุษย์ (transhumanism) ที่มุ่งเน้นการพามนุษย์ให้พ้นขีดจำกัดของความเป็นมนุษย์ในทางชีวภาพ แม้ Braidotti จะเน้นให้มองถึงสิ่งที่นอกเหนือจากมนุษย์ (zoe) ที่ดูดซับความแตกต่างหลากหลาย แต่สิ่งที่ขาดหายไปในการวิเคราะห์ของ Braidotti คือประสบการณ์เชิงอัตวิสัยของความเป็นปัจเจกที่ถูกเชื่อมร้อยเข้าด้วยกัน (bounded individual) Franziska von Verschuer ได้นำเอาแนวคิดการอาศัยร่วมกันของสปีชีส์ที่หลากหลายของ Haraway มาวิเคราะห์ไครโอนิกส์
Haraway มองว่ากระบวนการของการกลายเป็นสิ่งอื่นนั้น เป็นการการกลายเป็นสิ่งอื่นร่วมกับสิ่งอื่นๆ (becoming-with) เธอมองว่าการกลายเป็นปุ๋ยไม่เคยเป็นอันตรายต่อมนุษย์เพราะมนุษย์เป็นปุ๋ยอยู่แล้ว เพราะตามข้อเท็จจริงคือเรืองร่างของมนุษย์นั้นแท้จริงแล้วคือการเกิดและตายของเซลล์ที่มีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งมีชีวิตมากมาย เธอเล่าในหนังสือ When species Meet ว่าจีโนมที่พบบนร่างกายมนุษย์ที่เป็นของมนุษย์มีเพียงร้อยละ 10 อีกร้อยละ 90 เป็นของสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ดังนั้นแล้วเราต่างสร้างและย่อยสลายกันและกันกับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ
เธอเสนอให้เราอยู่ร่วมกับปัญหา (stay with the trouble) มากกว่าที่จะจำนนกับอนาคตนิยมเทคโนโลยี เธอมองว่าเทคโนโลยีที่พยายามจะลดความเป็นสัตว์ในมนุษย์นั้นได้ทำให้เราไม่สามารถจะคิดร่วมกับสิ่งอื่นๆ ได้ (think-with) การอยู่ร่วมกับปัญหาจึงเป็นการยอมรับความตายอันเป็นส่วนหนึ่งของวงจรชีวิต ซึ่งเป็นจุดสิ้นสุดขององค์ประธานที่หมกมุ่นกับการคิดเรื่องของตัวเองแบบปัจเจก
ความตายไม่ได้ถูกอธิบายแยกขาดจากชีวิต แล้วค่อยเอากลับเข้ามาในกระบวนการของชีวิตในภายหลัง แต่ความตายเป็นปัญหาที่จะกระตุ้นเตือนให้เราเห็นถึงความอ่อนแออันเป็นสิ่งพื้นฐานของมนุษย์ กระบวนเกิดและตาย (living-dying) จึงเป็นพลังที่เหนือพ้นไปจากความเป็นปัจเจก (supra-individual) ที่ผลิตสร้างอย่างต่อเนื่อง ความตายจึงนำไปสู่การรวมกลุ่ม (collective) เช่น ญาติมารวมตัวกันสวดมนต์ร่ำลาในวาระสุดท้ายของไอนส์ หรือช่วงที่ครอบครัวไประลึกถึงไอนส์ที่แท็งก์ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าภาพเหล่านั้นก็ยังเป็นการรวมกลุ่มที่หมกหมุ่นอยู่ในกลุ่มของครอบครัวชนชั้นกลางระดับสูง ต่างจากความตายของผู้สูญหายทางการเมืองที่ปลุกเร้าสำนึกของการรวมกลุ่มจากหลากหลายชนชั้น
Haraway ประกอบสร้างความเข้าใจต่อความสัมพันธ์กันกับความแตกต่างหลากหลาย (heterogeneity) ที่เราไม่เพียงสัมพันธ์กันผ่านปฏิบัติการกับโลก แต่เรายังทั้งสร้าง ทำลาย ย่อยสลายร่วมกัน ดังนั้นสำหรับ Haraway ความตายจึงไม่ถูกอธิบายผ่านกระบวนการของชีวิตที่ปราศจากแสดงให้เห็นถึงการเสื่อมสลายของมนุษย์ (de-generative)
นี่จึงเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ (relational) ที่เกี่ยวโยงกับการอยู่อาศัยอย่างโต้ตอบ (responsively) ในฐานะสิ่งที่ความเป็นความตายเกิดขึ้นอยู่พร้อมๆ กัน ที่ซึ่งความตายและการฆ่าไม่ใช่ “ทางเลือก” โดยที่การอยู่อาศัยอย่างโต้ตอบ หมายถึงการมีความรับผิดชอบ (responsible) และความสามารถในการมีปฏิกิริยาตอบสนอง (response-able) ต่อสิ่งอื่นๆ (non-human beings) นี่จึงหมายถึงการยอมรับความจริงว่าสิ่งต่างๆ ล้วนปรากฏ ดำรงอยู่ และตายอยู่ภายในการพัวอันอันยุ่งเหยิงกับสิ่งอื่นๆ มากกว่าที่จะลุ่มหลงหมกมุ่นอยู่กับวิทยาศาสตร์ที่เป็นกระจกเงาของตนเอง หรือแม้แต่สร้างภาพการบริจาคที่กลบเกลื่อนความเหลื่อมล้ำ
ไครโอนิกส์ช่วยทำให้เราเห็นถึงความสัมพันธ์ของการดำรงอยู่และตายที่ท้าทายมุมมองแบบวิทยาศาสตร์การแพทย์มนุษยนิยมผู้เปราะบางต่อความตาย การตระหนักถึงความเป็นปัจเจกที่แยกขาดอาจกลายเป็นปัญหาที่เราต้องเผชิญ เมื่อถึงตอนนั้นจึงเป็นการตอบโต้และสร้างความสัมพันธ์ของความสามารถในการตอบสนอง มากกว่าที่จะหลบหนีปัญหา
ตะวันตก-ตะวันออก: วิทยาศาสตร์หลังอาณานิคม และการขยายความหมายของ “ความห่วงใย”
“…เราไม่ได้เชื่อวิทยาศาสตร์อย่างเดียว ทุกๆ วันเกิดของเค้า ตรงกับน้องสาวคนเล็ก 29 กุมภาพันธ์ ห่างกันสี่ปี ครอบครับของเราเชื่อในพระพุทธศาสนามาก สอนน้องคนเล็กสวดมนต์ รำลึกถึงพี่สาวของเค้า เราก็มีการอัดวิดีโออยู่บ้างเผื่อในอนาคตน้องจะกลับมามีชีวิตจะได้เห็น…”
“…บ้านของเรามีความขัดแย้งเรื่องความเชื่อกับวิทยาศาสตร์มากๆ ผมจะเป็นชอบตั้งคำถามกับพ่อ เช่น ตายแล้วไปไหน พ่อพูดถึงอจินไตยสี่ขึ้นมา เป็นสี่เรื่องที่ปุถุชนทั่วไปไม่ควรเอามาคิด ตรรกะคนทั่วไปไม่ควรคิด อาจทำให้เป็นบ้าได้ พุทธวิสัย ฌานวิสัย กรรมวิสัย โลกวิสัย ตายแล้วไปไหน จะอยู่ในข้อสี่ ตายแล้วไปไหนไม่ได้เป็นการสนทนาที่ยาว ตราบใดที่เราไม่ได้บรรลุธรรมในขั้นที่สูงขึ้นไป ก็อย่าเอามาคิดเลย…”
“…มีคนจำนวนน้อยมากที่เข้าถึงเทคโนโลยี หรือตัดสินใจใช้เทคโนโลยีนี้มีน้อยมาก เพื่อนร่วมแท็งก์ของน้อง ที่อยู่ที่บริษัทนี้ประมาณ 200 คน ซึ่งน้อยมากเมื่อเทียบกับประชากรโลก เราไม่ควรจะไปสนใจตรงนั้นเลย ที่เราควรจะสนใจมากกว่าคือผู้ป่วยมะเร็ง ครอบครัวเราเลยตั้งกองทุนเพื่อผลักดันให้น้องเป็นไอคอน เป็นนักสู้เพื่อให้กำลังใจคนอื่นๆ สนับสนุนการวิจัยเพื่อให้ครอบครัวอื่นๆ ที่คนในครอบครัวป่วยเป็นมะเร็ง จะได้ไม่เสียใจที่จะเสียคนในครอบครัวไป เหมือนกับที่ครอบครัวเราเป็น…”
– เมทริกซ์ เนาวรัตน์พงษ์ ให้สัมภาษณ์ในรายการแฉ วันที่ 1 ตุลาคม 2563
สารคดีช่วยให้เราเห็นถึงการปะทะระหว่างแนวคิดวิทยาศาสตร์จากตะวันตกที่ดร.สหธรณ์ และเมทริกซ์ศรัทธา กับแนวคิดทางศาสนาพุทธ วิญญาณนิยม และความเชื่อเรื่องโลกหน้า เช่น การมีลูกคนใหม่แล้วเชื่อว่าเป็นไอนส์กลับชาติมาเกิด การสวดมนต์ การที่เมทริกซ์บวชเพื่อทำบุญให้น้องสาว ความน่าสนใจของครอบครัวเนาวรัตน์พงษ์คือการผสานกันของวิทยาศาสตร์ ศาสนาพุทธ และวิญญาณนิยม อันเป็นลักษณะของรัฐศาสนาอย่างรัฐไทย ครอบครัวชนชั้นกลางระดับสูงที่สารคดีจับจ้อง พวกเขาตั้งกองทุนผู้ป่วยมะเร็งซึ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งที่เหล่าผู้มีเงินมักทำเพื่อให้ตนเองรู้สึกดี และโดยที่อาจไม่ได้ตั้งใจ มันได้กลบเกลื่อนปัญหาความเหลื่อมล้ำของวงการสาธารณสุข
จุดที่น่าคิดคือ การหวนกลับมาของเวลาอันไม่มีขีดจำกัดผ่านไครโอนิกส์ เพราะหลังจากยุคภูมิธรรม เวลาก็เป็นสิ่งแน่นอน มีขอบเขตจำกัด คล้ายกับเวลาในคริสต์ศาสนา เมื่อมนุษย์เสียชีวิต เวลาก็สิ้นสุด ซึ่งขัดแย้งกับเวลาในโลกก่อน-สมัยใหม่หรือในทางศาสนาที่มีโลกหลังความตาย และการกลับชาติมาเกิด นี่เองทำให้ไครโอนิกส์เป็นการยืดขยายเวลาให้ยาวออกไปจนเหมือนว่าวิทยาศาสตร์และศาสนามีจุดร่วมกันคือความหวังในอนาคต เช่น การทำบุญเพื่อหวังชีวิตที่ดีในโลกหน้า เช่นเดียวกับการแช่ร่างไว้เพื่อหวังเทคโนโลยีในอนาคต แต่สิ่งที่เหมือนกันของเวลาในศาสนาพุทธและวิทยาศาสตร์คือการยึดโยงตนเองกับภาวะเหนือโลก (transcendence) นั่นคืออนาคต
Astrid Schrader อาจารย์วิชาสังคมวิทยาและปรัชญา University of Exeter เสนอว่า ความหมายโดยกว้างของคำว่าการห่วงใย (care) ควรถูกทำความเข้าใจ ความหมายแรกคือ caring for หรือ “การสนใจแต่ตัวเอง” มักเป็นการห่วงใยที่มีเป้าหมายเพื่อที่ต้องการจะเข้าไปจัดการปรับปรุงสถานการณ์ของผู้อื่น ซึ่งถูกนำไปใช้เป็นโมเดลในการบริการสุขภาพทั้งมนุษย์และนอกเหนือจากมนุษย์ในปัจจุบัน ผู้รับการดูแลมักจะถูกมองว่าไม่มีความสามารถ อ่อนแอ หรือไม่มีอำนาจในการตัดสินใจของตนเอง “การสนใจแต่ตนเอง” ก็คือการกังวลว่าจะมีสิ่งใดมากระทบหรือเปลี่ยนแปลงขอบเขตของ “ผู้ห่วงใย”
ส่วน caring about หรือ “สนใจในบางสิ่ง” มักเป็นการเปลี่ยนแปลงขีดจำกัดของบางสิ่งที่ทำให้ถูกละทิ้งหรือไม่ได้รับการห่วงใย ในระบบขององค์กรหรือสถาบันมักเป็นแบบ caring for นั่นแปลว่า “การห่วงใย” ไม่จำเป็นว่าจะหมายถึงการรับรู้ถึงความรู้สึกหรือเห็นอกเห็นใจ caring about ไม่ได้จำเป็นที่จะตั้งเป็นประเด็นจากความต้องการ และไม่จำเป้นที่จะต้องแปรเปลี่ยนความต้องการนั้นให้การเป็นการกระทำอะไรบางอย่าง
จึงอาจกล่าวได้ว่าไครโอนิกส์ การทำกองทุนทางการแพทย์ การแพทย์แบบประคับประคอง และวิทยาศาสตร์ที่มีรากฐานอันเหนียวแน่นกับศาสนา ล้วนแต่เป็นการหลีกเลี่ยงที่จะเผชิญหน้ากับปัญหาที่ทุนนิยมและรัฐสร้างขึ้น ในท้ายที่สุดสารคดี Hope Frozen: A Quest to Live จึงชวนเรากลับไปตั้งคำถามถึงการห่วงใย (care) ที่การแพทย์สมัยใหม่และวิทยาศาสตร์สถาปนาความหมายบดบังมิติเชิงชุมชนนิยมในความหมายที่การห่วงใยมีความหมายคับแคบเช่นในปัจจุบัน
อ้างอิง
- Tiffany Romain (2010). Extreme Life Extension: Investing in Cryonics for the Long, Long Term. MEDICAL ANTHROPOLOGY, 29(2): 194–215
- Mary-Jo DelVecchio (2007). The Medical Imaginary and the Biotechnical Embrace: Subjective Experiences of Clinical Scientists and Patients. Subjectivity: Ethnographic Investigations
- Eric L. Krakauer (2007). “To Be Freed from the Infirmity of (the) Age” Subjectivity, Life-Sustaining Treatment, and Palliative Medicine. Subjectivity: Ethnographic Investigations
- Franziska von Verschuer (2019). Freezing lives, preserving humanism: cryonics and
- the promise of Dezoefication
- Prepanod Nainapat (2019). Hope Frozen : สารคดีไทยว่าด้วยเด็กหญิงผู้ถูกครอบครัวแช่แข็งไว้ และอาจไปไกลถึงออสการ์. Thematter.co
- Abou Farman (2018). Cryonic Suspension as Eschatological Technology in the Secular Age. A Companion to the Anthropology of Death