Home Article Mirch Masala : รสชาติที่แผดแรงของ ‘พริก’ …ความทุกข์ที่ลุกโชนเป็นโกรธแค้นของ ‘สตรีเพศ’ และ ‘คนอื่น’

Mirch Masala : รสชาติที่แผดแรงของ ‘พริก’ …ความทุกข์ที่ลุกโชนเป็นโกรธแค้นของ ‘สตรีเพศ’ และ ‘คนอื่น’

Mirch Masala : รสชาติที่แผดแรงของ ‘พริก’ …ความทุกข์ที่ลุกโชนเป็นโกรธแค้นของ ‘สตรีเพศ’ และ ‘คนอื่น’

ณ แผ่นดินอันเวิ้งว้างร้างไกล ทหารหนุ่มหลายนายกำลังควบม้าไล่ล่าหญิงสาวนางหนึ่งอย่างเอาเป็นเอาตาย โดยมีหลากองค์ประกอบแวดล้อมในเหตุการณ์นี้ที่ช่วยขับเน้นให้ ‘ความทุกข์ตรมขมไหม้’ บนใบหน้าของหญิงสาวยิ่งกระจ่างชัดและทวีความเข้มข้นมากขึ้นทุกขณะ ไม่ว่าจะเป็นความร้อนระอุของอุณหภูมิที่มาจากแสงแดดเจิดจ้าในเวลากลางวัน หรือรายละเอียดอันแสนจัดจ้านของชุดส่าหรีที่ทั้งรัดรึงและพริ้วไหวอยู่บนเรือนกายของเธอ

รวมถึงสีแดงฉานของ ‘พริก’ จำนวนมหาศาลที่ถูกวางกองแผ่หราไว้บนลานกว้างสุดลูกหูลูกตานั้น …จนดูราวกับทะเลเพลิงที่กำลังลุกโชนแผดเผาไปทั่วทุกองคาพยพ

— ฉากดังกล่าวคือหนึ่งในภาพจำสุดคลาสสิกของ Mirch Masala หนังอินเดียภาษาฮินดีปี 1987 ของผู้กำกับ เคตาน เมห์ตา ที่ว่าด้วยการลุกฮือขึ้นของเหล่าหญิงสาวที่ถูกแนวคิด ‘ชายเป็นใหญ่’ กดขี่ข่มเหงในรัฐคุชราตยุค 40 ก่อนที่การประกาศอิสรภาพของชาวอินเดียจะมาถึง

และมันก็ยังเป็นหนังดราม่าน้ำดีที่ช่วย ‘เรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมในสังคมให้แก่สตรีเพศ’ ผ่านการใช้สีสันและคุณสมบัติของวัตถุดิบอาหารขึ้นชื่อประจำชาติอย่าง ‘พริก’ ได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจอีกด้วย


1

พริก คือหนึ่งในเครื่องเทศที่เข้ามามีบทบาทในครัวของอินเดียเป็นเวลากว่า 500 ปีแล้ว โดยมันเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลพร้อมชาวโปรตุเกสจากทวีปอเมริกาใต้มายังรัฐกัวของอินเดีย (ซึ่งในตอนนั้นยังเป็นอาณานิคมของโปรตุเกส) และมันก็เริ่ม ‘ถูกปาก’ ผู้คนมากขึ้นเรื่อยๆ จนสามารถ ‘ยืนหนึ่ง’ แทนที่วัตถุดิบรสเผ็ดรุ่นพี่อย่าง ‘พริกไทย’ กับ ‘ดีปลี’ ได้มาตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 ก่อนที่อินเดียจะขยับขยายกลายมาเป็นประเทศที่มีการผลิตและการส่งออกพริกเป็นอันดับต้นๆ ของโลก แถมพริกหลากหลายสายพันธุ์จากที่นี่ก็ยังถูกนำไปใช้กันอย่างแพร่หลายในทวีปเอเชียใต้อีกด้วย (อาทิ ศรีลังกา, ปากีสถาน, บังกลาเทศ, เนปาล) ในฐานะของเครื่องปรุงรสที่ช่วยสร้างสีสันและเพิ่มรสชาติเผ็ดร้อนให้แก่เมนูอาหารพื้นถิ่นต่างๆ

และก็เพื่อความสะดวกสบายในการเก็บไว้ใช้ปรุงอาหารภายในครัวเรือน พริกจึงถูกพัฒนาต่อยอดมาเป็น ‘ผงพริก’ -ตามชื่อของหนังอย่าง Mirch Masala- โดยเมื่อผลพริกเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีแดง พวกมันจะถูกเด็ดจากต้นออกมาตากแดดให้แห้ง แล้วนำไปป่นละเอียดจนกลายเป็นผงที่พร้อมใช้มากขึ้น

อย่างไรก็ดี ไม่เฉพาะแค่ผงที่ทำจาก ‘พริก’ (Mirch) เท่านั้น แต่ ‘มาซาลา’ (Masala) หรือ ‘ผงเครื่องเทศ’ ในอินเดียก็ยังถูกจำแนกแยกย่อยออกมาได้อีกหลายประเภท โดยส่วนใหญ่มักเป็นผงที่รวมเอาเครื่องเทศหลากชนิดเข้าไว้ด้วยกัน (เช่น ขิง, ขมิ้น, ลูกผักชี, กระวาน, กานพลู, อบเชย) และมักถูกนำไปปรุงร่วมกับเมนูอาหารจำพวกพืชผักและเนื้อสัตว์อย่างไก่หรือแพะเป็นหลัก (ไม่ใช่วัวหรือหมูที่ถือเป็น ‘วัตถุดิบต้องห้าม’ ของผู้ที่นับถือศาสนาฮินดูกับอิสลาม – ตามลำดับ)

แต่กระนั้น ถึงจะเป็นที่นิยมมากเพียงใด ทว่าเครื่องเทศรสจัดเหล่านี้กลับไม่สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในเมนูมังสวิรัติสำหรับผู้ที่นับถือศาสนาฮินดูอย่างเคร่งครัดได้ เพราะขัดแย้งกับความเชื่อทางศาสนาที่มองว่าของเผ็ดร้อนเป็น ‘ของไม่ดี’ ด้วยค่าที่มันสร้างความทุกข์ทรมานให้แก่คนกิน ดังนั้น ในงานเทศกาลหรือพิธีกรรมต่างๆ เราจึงได้เห็นอาหารรสหวานอย่างขนมหรือผลไม้บางชนิด-ซึ่งเชื่อกันว่าสามารถส่งมอบ ‘ความรัก/ความสุข’ ให้คนกินได้-ปรากฏอยู่อย่างหนาตา ขณะที่อาหารรสเผ็ดมักจะถูกนำไปถวายเทพระดับล่างหรือผีสางแทน

มาถึงตรงนี้, ‘สถานะของพริก’ จึงดูจะสอดคล้องเชื่อมโยงกับ ‘สถานะของผู้หญิง’ ในอินเดียอยู่ไม่น้อย เพราะทั้งคู่ล้วนถูก ‘กีดกันแบ่งแยก’ ด้วยบางความเชื่อ/ค่านิยมบางประการเฉกเช่นเดียวกัน


2

Mirch Masala (หรือชื่อภาษาอังกฤษของหนังคือ A Touch of Spice) เล่าถึงชีวิตของ ซอนไบ (รับบทโดย สมิตา ปาติล) หญิงสาวชาวบ้านแห่งรัฐคุชราตในยุค 40 -ผู้อยู่เพียงลำพังเพราะสามีต้องออกไปทำงานในเมือง- ที่ต้องเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่คนใหม่จากโลกอาณานิคม (นาซีรุดดิน ชาห์) ที่เดินทางพร้อมกองทหารเข้ามาปักหลักที่หมู่บ้านเล็กๆ ของเธอและเอาแต่หาเศษหาเลยกับหญิงชาวบ้านไปวันๆ จนเธออดรนทนไม่ไหวและลุกขึ้นขัดขืนด้วยการตบหน้าเขาไปเต็มแรง – การตอบโต้ดังกล่าวทำให้เธอต้องวิ่งหนีหัวซุกหัวซุนจากการไล่ล่าของบรรดาทหารเข้าไปในโรงงานผลิตมาซาลาที่เต็มไปด้วยคนงานหญิงหลากช่วงวัย

ซอนไบกลายมาเป็น ‘ตัวปัญหา’ ของชาวบ้านที่เหลือ เนื่องจากพวกเขาส่วนใหญ่ต้องการให้เธอออกมารับกรรมที่เจ้าตัวก่อไว้กับเจ้าหน้าที่หนวดงามใจทราม และให้เธอยอมถูกลวมลามไปเสีย เพื่อที่พวกเขาจะได้ไม่ต้องเดือดร้อนตามไปด้วย แม้ว่าในท่ามกลาง ‘ผู้ชาย’ -เช่น หัวหน้าหมู่บ้านผู้ร่ำรวย (สุเรศ โอเบรอย)- และ ‘ผู้หญิง’ -เช่น สาวโรงงานส่วนใหญ่- ที่คิดว่าปัญหานี้ ‘ไม่ใช่เรื่องของตน’ นั้น จะยังเหลือยามแก่ประจำโรงงาน (โอม ปุรี) ที่ลุกขึ้นมายืนหยัดปกป้องโดยคอยเฝ้าประตูเพื่อกีดขวางไม่ให้มีใครล่วงเกินเธอได้ รวมถึงชาวบ้านอีกบางส่วนที่ต่อต้านการส่งมอบตัวซอนไบให้แก่เจ้าหน้าที่ แต่ก็ดูท่าว่าพวกเขาจะไม่ใช่ ‘เสียงส่วนใหญ่’ เมื่อคนเกือบทั้งหมู่บ้านต่างเกรงกลัวอิทธิพลของผู้มีอำนาจ จนสามารถยอมแลกความสบายใจของตนกับ ‘ศักดิ์ศรีของผู้หญิงคนหนึ่ง’ ได้อย่างไร้มนุษยธรรม

หนังเรื่องนี้จึงสามารถสะท้อนถึงความตกต่ำของ ‘สถานะทางสังคมของผู้หญิง’ ในอินเดียได้อย่างถึงพริกถึงเครื่อง

เราอาจเคยได้ยินมาตั้งแต่ไหนแต่ไรว่า การเกิดเป็น ‘ผู้หญิง’ ในประเทศอินเดียคือเรื่องที่ทั้ง ‘น่าอับอาย’ และ ‘ไร้ราคา’ โดยเฉพาะในสายตาของคนเป็นพ่อเป็นแม่ เพราะสุดท้ายแล้ว ลูกสาวก็ต้องตกไปเป็น ‘สมบัติ’ ของครอบครัวอื่นผ่านการแต่งงานอยู่ดี แถมพวกเขายังต้องจ่ายค่าสินสอดให้บ้านเจ้าบ่าวด้วยเงินจำนวนมหาศาล เพื่อเป็น ‘ค่าธรรมเนียมแรกเข้า’ ให้อีกฝ่ายยอมรับลูกสาวไปเลี้ยงดู ก่อนช่วยขัดเกลาให้เธอกลายไปเป็นส่วนหนึ่งของวงศ์ตระกูลอันทรงเกียรติ (ซึ่งค่าสินสอดนั้นอาจสูงกว่ารายได้ต่อปีของบ้านฝ่ายหญิงด้วยซ้ำ) จึงมีหลายคนที่รังเกียจการมีลูกสาวจนเลือกตัดไฟแต่ต้นลมด้วยการหาทางขัดขวางไม่ให้เด็กในครรภ์มีโอกาสได้ออกมาลืมตาดูโลก หรือหากรอดไปได้ก็ต้องหาทางเลี้ยงดูแบบทิ้งๆ ขว้างๆ เพื่อให้ป่วยตายไปเอง…

และแม้ลูกสาวเหล่านั้นจะสามารถเติบใหญ่มามีชีวิตในฐานะ ‘ผู้ใหญ่’ ได้ ก็ใช่ว่าจะหลุดพ้นจากความทุกข์โศกรายวัน เพราะด้วยสถานะที่ถูกมองว่า ‘ต่ำชั้นกว่า’ ผู้ชายมาตั้งแต่เกิด ทำให้พวกเธอต้องคอยรับมือกับตรรกะที่บิดเบี้ยวในสังคมอินเดียอีกหลายประการ เช่น การถูกผู้ชายพร่ำบอกว่าเป็นผู้หญิงไม่จำเป็นต้องเรียนหนังสือให้รู้รอบนัก เพราะการศึกษาเป็นเรื่องสูงส่งที่คู่ควรกับพวกเขามากกว่า หรือการถูกผู้ชายแตะเนื้อต้องตัว-แม้ผู้หญิงจะไม่ยินยอม-ที่กลายมาเป็นพฤติกรรมธรรมดาในพื้นที่สาธารณะ และลุกลามบานปลายถึงขั้น ‘ข่มขืน’ กันอย่างอุกอาจโดยที่สังคมกลับมองว่าเป็นความผิดของตัวผู้หญิงที่แต่งตัวยั่วยวนเองเสียด้วยซ้ำ — ทั้งหมดนั้นเป็นผลมาจากคำสอนต่างๆ ของสังคมอินเดียนับจากยุคโบราณกาล ทั้งตำนานเรื่องเล่าอิงศาสนาฮินดูที่มักกำหนดให้ผู้หญิงทำตัวเรียบร้อยว่านอนสอนง่ายอยู่ใต้อาณัติของผู้ชาย (พ่อ, สามี, พ่อสามี) และธรรมเนียมโบราณอย่างการให้หญิงหม้ายกระโดดเข้ากองไฟตายตามสามีที่เสียชีวิตไปเพื่อพิสูจน์ความจงรักภักดี เป็นต้น

และแม้ลูกสาวเหล่านั้นจะสามารถเติบใหญ่มามีชีวิตในฐานะ ‘ผู้ใหญ่’ ได้ ก็ใช่ว่าจะหลุดพ้นจากความทุกข์โศกรายวัน เพราะด้วยสถานะที่ถูกมองว่า ‘ต่ำชั้นกว่า’ ผู้ชายมาตั้งแต่เกิด ทำให้พวกเธอต้องคอยรับมือกับตรรกะที่บิดเบี้ยวในสังคมอินเดียอีกหลายประการ

ทว่านับตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 19 ที่สังคมอินเดียเริ่มตื่นตัวในเรื่องการเรียกร้องให้สตรีได้รับสิทธิทางสังคมที่เท่าเทียมกับบุรุษ -อันเป็นหัวใจหลักของแนวคิด ‘สตรีนิยม’ หรือ เฟมินิสม์ (Feminism) จากโลกตะวันตก ที่เกิดขึ้นเพื่อคัดง้างกับระบบคิดอันกดขี่ของสังคมแบบ ‘ชายเป็นใหญ่’ หรือ ‘ปิตาธิปไตย’ (Patriarchy)– ไล่เลยมาจนถึงในช่วงต้นยุค 40 อันเป็นห้วงเวลาท้ายๆ ที่ มหาตมะ คานธี ขึ้นเป็นผู้นำประชาชนในการเรียกร้องให้อินเดียเป็นอิสระจากการตกเป็นประเทศอาณานิคมของอังกฤษด้วยสันติวิธีนั้น มีหลักฐานบ่งชี้ว่า พลเมืองเพศหญิง-ที่ได้รับการศึกษาสมัยใหม่เพิ่มมากขึ้น-มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการเรียกร้องเอกราชให้กับประเทศพอๆ กับพลเมืองเพศชายในยุคนั้น ทั้งการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง และการออกมาต่อสู้เรียกร้องที่หลายครั้งก็เสี่ยงต่อความปลอดภัยในชีวิต

เมื่ออินเดียได้รับเอกราชในปี 1947 และกลายเป็นประเทศประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้งครั้งแรกระหว่างปี 1951-1952 รัฐบาลก็เริ่มออกมาสนับสนุนสิทธิสตรีมากขึ้น ทั้งในบ้าน ในสถานศึกษา ในที่ทำงาน และในโลกการเมือง ทว่าด้วยความคิดความเชื่อเกี่ยวกับคุณค่า/บทบาทของผู้หญิง-ทั้งในเชิงสังคม วัฒนธรรม และศาสนา-ที่ฝังรากหยั่งลึกมายาวนาน รวมถึงปัญหาด้านความยากไร้-โดยเฉพาะครอบครัวที่มีลูกสาว-และการแบ่งแยกผู้คนผ่าน ‘ชนชั้นวรรณะ’ (Caste) ก็ทำให้การแก้ปัญหาดังกล่าวเป็นไปอย่างกระท่อนกระแท่นมาโดยตลอด แม้ว่าผู้หญิงที่เชื่อว่า ‘สตรีเพศสามารถทำทุกสิ่งได้’ อย่าง อินทิรา คานธี จะเคยขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกและคนเดียวของอินเดียในหลายช่วงเวลาระหว่างยุค 60-80 ก็ตาม

ที่ทางของผู้หญิงอินเดียในสังคมร่วมสมัยจึงยังคงถูกจัดวางให้ค้างเติ่งอยู่ที่ ‘บ้าน’ ในฐานะของแม่บ้านผู้ดูแลครอบครัว หุงหาอาหาร หรือซักล้างทำความสะอาด โดยปราศจากอำนาจโต้แย้งหรือแม้แต่อำนาจบริหารจัดการเม็ดเงินภายในครัวเรือน ขณะที่ในตลาดแรงงานของอินเดีย ผู้หญิงก็ไม่ได้เป็นที่ต้องการมากเท่าผู้ชาย ไม่ว่าพวกเธอจะทำงานได้ดีกว่าแค่ไหน และแม้ว่าสถานประกอบการบางแห่งจะเต็มไปด้วยผู้หญิง-เช่นเดียวกับโรงงานพริกที่ปรากฏใน Mirch Masala แต่นั่นก็เป็นเพราะมันคือ ‘งานไม่สลักสำคัญ’ ที่ผู้ชายไม่อยากแตะต้อง และพวกเธอก็ไม่ได้มีอำนาจมากไปกว่าการทำหน้าที่เล็กๆ ของตนให้ลุล่วงในแต่ละวัน

ความต้อยต่ำของผู้หญิงอินเดียจึงอาจเปรียบได้กับ ‘พริก’ ที่ถูกเมินจากโลกศาสนาในสังคมอินเดียเช่นกัน กล่าวคือนอกจากจะเป็นเพศที่ถูกกีดกันจากความเชื่อทางศาสนาในบางกรณีแล้ว (ผู้หญิงที่มีประจำเดือนจะถูกห้ามไม่ให้เข้าวัดและเข้าร่วมพิธีทางศาสนา) พวกเธอก็ยังเป็นลูกสาวที่พ่อ-แม่ไม่ต้องการ เป็นภรรยา/มารดาที่ต้องคอยปรนนิบัติสมาชิกครอบครัวอยู่แต่ในบ้าน และเป็นแรงงานที่ถูกกดขี่ในที่ทำงานตามที่ผู้ชายคอยชี้นิ้วสั่ง — เหล่านี้เป็นกรอบกฎเกณฑ์ที่คอยสุม ‘ความโกรธ’ ให้เกิดแก่ผู้หญิงอินเดีย จนพวกเธอต้องออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องอยู่เป็นระยะๆ ในทุกยุคทุกสมัย

และแน่นอนว่าความโกรธนี้ก็ลุกลามมายัง ‘โลกภาพยนตร์’ ด้วย


3

บอลลีวูด (Bollywood) คือชื่อเรียกของวงการหนังอินเดียกระแสหลักที่ใช้ภาษาฮินดี (ซึ่งวงการหนังในภาษาอื่นๆ ของอินเดียอีกราว 20 ภาษา ก็จะมีชื่อเรียกที่ต่างกันออกไป) ซึ่งดูจะยั่วล้อกับชื่อวงการหนังกระแสหลักของสหรัฐอเมริกาอย่าง ฮอลลีวูด (Hollywood) โดยทั้งสองวงการนี้ต่างเป็นอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่ทรงอิทธิพลอันดับต้นๆ ของโลก

และทั้งสองวงการนี้ก็ยัง ‘กดขี่สตรีเพศ’ -ทั้งในและนอกจอ- มาอย่างยาวนานไม่ต่างกัน

ผู้ชายที่มีอำนาจในวงการหนังหลายแห่งมักยึดกุมอำนาจแห่งการสร้างสรรค์ผลงานมาตั้งแต่ยุคแรกเริ่ม พวกเขาพร้อมที่จะใช้ความคิดของตนชี้เป็นชี้ตายในทุกสิ่งทุกอย่าง แถมยังลุกลามไปถึงการใช้อำนาจในการหาประโยชน์ทางเพศกับผู้หญิงโดยที่พวกเธอไม่เต็มใจอีกด้วย ซึ่งการสังคายนาการกดขี่ผู้หญิงผ่านการใช้อำนาจบาตรใหญ่ในวงการหนังได้ค่อยๆ เพิ่งถูกตรวจสอบและชำระสะสางในช่วงปีหลังๆ มานี้เอง นับจากปรากฏการณ์ #MeToo ที่ผู้หญิงทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังในวงการฮอลลีวูดออกมาแฉพฤติกรรมการล่วงละเมิดทางเพศที่พวกเธอต้องเผชิญตลอดหลายทศวรรษ-จากนักแสดง/ผู้บริหารเพศชาย-กันอย่างกว้างขวาง จนส่งผลสั่นสะเทือนไปสู่วงการหนังในฟากฝั่งอื่นๆ ทั่วโลก ซึ่งก็รวมถึงการเคลื่อนไหวของผู้หญิงในบอลลีวูดที่กลายเป็นกระแส #MeTooIndia ในเวลาต่อมาด้วย

หากมองกันเฉพาะแค่ในบอลลีวูด ทัศนคติเหยียดหยามผู้หญิง (Misogyny) ทั้งการมองว่าเป็นเพศที่ด้อยกว่าและเป็นได้เพียงวัตถุทางเพศสำหรับผู้ชาย รวมถึงการกีดกันผู้หญิงที่ ‘ต่าง’ ไปจากกรอบความงามตามมาตรฐานนั้น มีมาตลอดจนกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดา ผู้หญิงทำงานในโลกภาพยนตร์จึงไม่ได้ถูกคนวงในให้ความสำคัญกับบทบาทหน้าที่ของพวกเธอมากพอ รวมถึงบรรดาตัวละครหญิงจำนวนมากที่มักถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้คนดูเพศชายได้เชยชมและยังตอกย้ำสถานะที่ต่ำต้อยกว่าเรื่อยมา จากแม่ผู้เสียสละ, สตรีแสนดีผุดผ่อง, เหยื่อผู้อ่อนแอ, สาวทรวดทรงเซ็กซี่ จนถึงหญิงยากจนที่น่าสงสาร ซึ่งแม้ในปัจจุบัน หนังหลายเรื่องจะพยายามพูดถึง ‘ชีวิตในโลกความจริง’ ของผู้หญิงมากขึ้น ทว่าบุคลากรหลายรายในวงการ-แม้กระทั่งผู้หญิงด้วยกันเอง-ก็กลับไม่ยินดีที่จะข้องเกี่ยวกับการผลักดันสิทธิในการพูดเรื่องจริงเหล่านี้ แถมยังมองว่ามันเป็นเรื่องที่ ‘ไม่จำเป็น’ เสียด้วยซ้ำ แถมหนังภาษาฮินดีปี 1990 อย่าง Ghar Ho To Aisa -ที่เล่าถึงผู้หญิงที่ออกมาตั้งองค์กรสนับสนุนเพศหญิงให้ใช้ชีวิตเป็นอิสระจากผู้ชาย- ก็ยังทำให้คนมองว่าแนวคิดเฟมินิสม์ ‘เป็นพิษ’ และ ‘ทำลายสถาบันครอบครัว/การแต่งงานอันดีงาม’ ไปเสียอีก อย่างไรก็ดี ในท่ามกลางข้อถกเถียงที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะจบสิ้นนี้ ความทุกข์เกี่ยวกับสถานะทางสังคมของผู้หญิงใน Mirch Masala ของเมห์ตา ก็ดูจะเป็นประเด็นถกเถียงที่ ‘ร่วมสมัย’ อย่างน่าตกใจ เพราะมีหลายบทหลายตอนในหนังที่ยังทำให้เราเห็นว่าผู้หญิงเป็นเพศที่ถูกทำร้ายด้วย ‘ทัศนคติติดลบ’ แบบเดียวกับความขัดแย้งที่เราสามารถพบเจอได้ในหน้าข่าวทุกวันนี้ โดยเฉพาะการถูก ‘คาดโทษ’ เมื่อพวกเธอทำผิดกรอบจารีตดั้งเดิม

เห็นได้จากในฉากที่ผู้หญิงอย่างซอนไบต้องวิ่งหลบหนีการจับกุมของทหารในลานตากพริกสีสันร้อนแรง ซึ่งในที่นี้อาจเป็นภาพแทนที่สะท้อนถึงความทุกข์ทนที่เริ่มกลายเป็นความโกรธเกรี้ยวของหญิงสาวก็ย่อมได้ ทั้งตัวซอนไบเองที่แข็งขืนต่อขนบความเชื่อในแบบเดิมๆ และกลุ่มผู้หญิงในหมู่บ้านที่ถูกลดทอนคุณค่าในทุกมิติของสังคม โดยการสื่อสารผ่าน ‘สีแดง’ -ที่ตามหลักการทั่วไปในโลกแห่งการเล่าเรื่องอาจหมายถึงได้ทั้งแรงปรารถนา, ความโกรธเคือง, อันตราย หรือแม้แต่การลุกฮือขึ้นในทางการเมืองของผู้คน- จากพริกและองค์ประกอบอื่นๆ ในหนัง ที่ถ้าผู้ชมสังเกตให้ดีก็จะพบว่ามันค่อยๆ แทรกซึมไปทั่วทั้งเมืองนี้มาตั้งแต่แรกแล้ว

แต่ถึงตัวหนังจะเต็มไปด้วยความความโกรธขึ้งที่ผู้หญิงมีต่อความอยุติธรรมที่ตนได้รับ แต่เมห์ตาก็ยังพยายามให้ผู้หญิงในเรื่อง ‘กล้า’ ที่จะออกมาต่อสู้มากขึ้นทีละนิด ไม่ว่าจะเป็นสาวโรงงานบางส่วนที่ยืนยันจะให้ซอนไบได้หลบซ่อนที่นี่ หรือภรรยาที่ถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพของหัวหน้าหมู่บ้าน (เขาไม่ยอมให้เธอพาลูกสาวไปเรียนหนังสือ) ที่ออกมาช่วยเหลือสาวโรงงานที่กำลังตั้งรับกับความโหดร้ายจากโลกภายนอก ทั้งการลักลอบส่งอาหารให้ หรือแม้แต่ชักชวนผู้หญิงในหมู่บ้านให้ร่วมกันเดินขบวนเรียกร้องชาวบ้านผู้ชายในการออกมาปกป้องผู้หญิง เพราะหากชาวบ้านยอมปล่อยปละให้ผู้มีอำนาจข่มเหงผู้หญิงคนใดคนหนึ่งในหมู่บ้านได้ตามใจชอบ วันหนึ่งก็อาจเป็นแม่, ภรรยา, น้องสาว หรือลูกสาวของพวกเขานี่เองที่ต้องโดนกระทำย่ำยีเป็นรายต่อไป

เพราะหากชาวบ้านยอมปล่อยปละให้ผู้มีอำนาจข่มเหงผู้หญิงคนใดคนหนึ่งในหมู่บ้านได้ตามใจชอบ วันหนึ่งก็อาจเป็นแม่, ภรรยา, น้องสาว หรือลูกสาวของพวกเขานี่เองที่ต้องโดนกระทำย่ำยีเป็นรายต่อไป

กระทั่งในฉากสุดท้ายที่เหล่าหญิงสาว-ผู้เคยทนสยบยอมต่อความเชื่อเก่าๆ ของสังคมมาก่อน-ตัดสินใจใช้ผงพริกในโรงงานสาดใส่หน้าผู้มีอำนาจที่ตามราวีซอนไบ มันจึงเหมือนเป็นการที่พวกเธอลุกขึ้นมาแสดงความไม่พอใจในความอยุติธรรมนั้นโดยไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหมในที่สุด

นอกเหนือจากวีรกรรมอันดุเดือดของตัวละครหญิงในหนังเรื่องนี้ นักแสดงหญิงอย่างสมิตา ปาติล-ผู้รับบทซอนไบ-ก็ยังสามารถถ่ายทอดด้านที่เปราะบาง กล้าหาญ และเปี่ยมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของสตรีเพศแทนผู้หญิงอินเดียทั้งประเทศได้อย่างน่าชื่นชม แถมยังลุกลามไปยังวิถีชีวิตส่วนตัวนอกหนังอีกด้วย เพราะเธอเป็นนักแสดงหญิงเพียงไม่กี่คนในอินเดียยุค 70-80 ที่มี ‘ที่ทาง’ ทั้งในหนังบอลลีวูดและหนังนิวเวฟ (New Wave) หรือหนังทุนต่ำที่เน้นการถ่ายทอดความสมจริงมากกว่า เป็นคนที่ทำลายขนบความเชื่อที่ว่านักแสดงหญิงต้องมีผิวขาวละเอียดและเรือนร่างบอบบางเท่านั้น และเป็นเฟมินิสต์ตัวจริงที่พยายามส่งเสริมสิทธิสตรีในทุกช่องทาง ยกตัวอย่างเช่น การเลือกบทบาทที่แสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็ง ความซับซ้อน และด้านที่เป็นจริงของผู้หญิงในสังคมอินเดีย ทั้งตัวละครหญิงชนชั้นล่างที่ต้องมีชีวิตกระเสือกกระสนใน Manthan (1976, ชยาม เบเนกัล), หญิงสาวที่ตกหลุมรักชายที่แต่งงานแล้วใน Arth (1982, มาเหศ บัตต์) และสาวโรงงานที่ถูกกระทำใน Mirch Masala นอกจากนี้ เธอยังสร้างชื่อเสียงจากการรับงานกระแสหลักในบอลลีวูดจนทำให้ผู้ชมเริ่มหันมาสนใจหนังทุนต่ำที่เธอเล่นอีกด้วย (อนึ่ง เป็นเรื่องน่าใจหายที่เธอเสียชีวิตหลังคลอดบุตรตอนอายุ 31 ปี ก่อนที่หนังเรื่องนี้จะออกฉายเพียงไม่กี่เดือน)

ฉะนั้น เมื่อองค์ประกอบของเรื่องราวทั้งในและนอกจอนี้ถูกประกอบสร้างเข้าด้วยกัน Mirch Masala จึงกลายเป็น ‘หนังผู้หญิง’ ที่ถือเป็น ‘ตำนานหน้าสำคัญ’ ของโลกภาพยนตร์อินเดียไปโดยปริยาย


4

ผู้กำกับอย่างเมห์ตามักใช้หนังของเขาวิพากษ์สังคมอินเดียอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นหนังแจ้งเกิดเรื่องแรกอย่าง Bhavni Bhavai (The Tale of the Life, 1980) ซึ่งเป็นหนังภาษาคุชราต (ที่เราอาจเรียกว่าหนัง ‘ดอลลีวูด’ หรือ ‘กอลลีวูด’ ก็ได้) ที่ตีแผ่ความทุกข์ของคนชนชั้น ‘จัณฑาล’ หรือ ‘ดาลิต’ -อันเป็นพลเมืองชั้นต่ำสุดที่เกิดจากพ่อแม่ต่างวรรณะหรือเป็นคนไร้บ้าน- ผ่านเรื่องเล่าว่าด้วยบุตรผู้ถูกทอดทิ้งของกษัตริย์ที่กลับได้รับความเมตตาจากครอบครัวชนชั้นล่าง ซึ่งเป็นการวิพากษ์ปัญหาที่ยังคงยืดเยื้อมาจนปัจจุบัน หรือ Holi (The Festival of Fire, 1984) หนังภาษาฮินดีที่เล่าถึงวัยรุ่นที่ลุกฮือขึ้นประท้วงมหาวิทยาลัยเพราะมองระบบการศึกษาเป็นเพียง ‘โรงงานผลิตทาส’ — ซึ่งจะเห็นได้ว่าประเด็นที่เขาสนใจมากเป็นพิเศษก็คือ ‘การถูกกดขี่’ หรือก็คือภาวะ ‘อำนาจนิยม’ ที่ส่งผลต่อชีวิต/ผู้คนในอินเดียนั่นเอง

และผลงานหนังยาวลำดับที่ 3 ของเขาอย่าง Mirch Masala ก็ยังคงพูดถึงประเด็นเดียวกัน

เมห์ตาดัดแปลงเรื่องราวมาจากเรื่องสั้นความยาวเพียง 4 หน้าที่ชื่อ Abhu Makarani (1955) ของ ชุนนิลัล มาเดีย นักเขียนแถวหน้าจากหลายทศวรรษก่อนที่เล่าถึงผู้หญิงในยุค 40 ที่ต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจการปกครองของผู้ชาย โดยในต้นฉบับ โรงงานที่หญิงสาววิ่งมาหลบซ่อนก็คือโรงงานใบยาสูบ แต่จากการที่เมห์ตาได้ไปเห็นลานตากพริกในรัฐคุชราต-อันเป็นบ้านเกิดของทั้งเขาและมาเดีย-แล้วรู้สึกประทับใจกับความงดงามที่ได้ประสบพบเจออย่างมาก เขาจึงเปลี่ยนฉากหลังมาเป็นโรงงานผลิตมาซาลาแทน ประกอบกับการที่เขาได้ฟังเรื่องเล่าของหญิงสาวผู้กล้าหาญในยุคก่อนเก่าจากผู้คนของที่นั่น มันจึงกลายสภาพมาเป็นภาพยนตร์คลาสสิกเรื่องนี้ ที่ทั้งตัวหนัง ผู้กำกับ และนักแสดงนำหญิงต่างได้รับรางวัลและคำชมล้นหลามจากทั้งในและนอกประเทศ

และเนื่องด้วยในปี 1987 ที่หนังเรื่องนี้ออกฉาย คือปีที่ 40 ของการครบรอบการได้รับเอกราชของอินเดียพอดิบพอดี ดังนั้น ในแง่หนึ่ง ตัวหนังจึงคล้ายกับเป็นการเฉลิมฉลองอิสรภาพของชาวอินเดีย และตั้งคำถามถึงการถูกกดขี่ในหลากหลายมิติของสังคมนี้ที่ยังคงมีให้เห็นอยู่เนืองๆ ไปด้วยในตัว จากผู้มีอำนาจที่ครอบงำคนใต้ปกครอง, สามีที่ครอบงำภรรยา, พ่อที่ครอบงำลูกสาว ไปจนถึงความเป็นชายที่ครอบงำความเป็นหญิง — ซึ่งในห้วงเวลาดังกล่าว ก็ยังมีหนังอินเดียอีกหลายเรื่องที่พยายามฉายภาพถึง ‘ผู้หญิง’ ในแบบที่เป็นจริงๆ -โดยปฏิเสธการลอกเลียน ‘ความเข้มแข็งแบบผู้ชาย’ หรือให้ผู้หญิงออกมา ‘แก้แค้น’ ผู้ชายเช่นเดียวกับในหนังกระแสหลักอีกหลายเรื่อง- อาทิ Ankur (1974, ชยาม เบเนกัล), Fire (1996, ดีปา เมห์ตา) และ Astitva (2000, มาเหศ มันจเรคาร์) เป็นต้น

และหากพิจารณาจากทศวรรษ 2010 ที่ผ่านมา พลเมืองหญิงก็ต่างพากันถลกส่าหรีก้าวเข้าไปมีบทบาททั้งในแง่สังคม เศรษฐกิจ และการเมืองมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่หนังอินเดียร่วมสมัยหลายเรื่องที่กำกับโดยผู้หญิงเองก็พยายามเล่าถึงผู้หญิงอย่างตรงไปตรงมา-แม้ว่ามันจะขัดแย้งกับ ‘ภาพอุดมคติอันดีงาม’ ที่สังคมกำหนดเอาไว้ก็ตาม โดยโฟกัสไปยังภาพความใกล้ชิด ความปรารถนาทางเพศ และความสามารถในการควบคุมชีวิตของพวกเธอ-ที่เข้มข้นลึกซึ้งแทบไม่ต่างจากผู้ชาย เช่น Lipstick Under My Burkha (2016, อาลันคริตา ชรีวาสตาวา) ที่เล่าเรื่องของผู้หญิงหลากวัย เซ็กซ์ของพวกเธอ และการจิกกัดรากเหง้าความคิดแบบ ‘ชายเป็นใหญ่’ ที่ฝังแน่นในสังคม หรือ Sonata (2017, อาปาร์นา เซน) ที่สำรวจความสัมพันธ์อันซับซ้อนของแก๊งเพื่อนหญิงวัยกลางคนอย่างดุเดือดเลือดพล่าน — ซึ่งถึงแม้ในแง่เนื้อหาจะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ทว่าเมื่อมองในแง่ของระบบ เราก็ยังคงพบว่า หากคนทำหนังเหล่านี้ไม่คอยตบตีกับกองเซ็นเซอร์ (Central Board of Film Certification – CBFC) ในประเทศจนเลือดขึ้นหน้า ตัวหนังก็มักถูกอัปเปหิให้ออกไปฉายในเทศกาลหนังต่างแดนอยู่ดี และหลายครั้งก็เลยเถิดไปจนถึงการที่ทีมงาน/นักแสดงของหนังเหล่านี้ถูกผู้ชมส่งจดหมาย ‘ขู่ฆ่า’ เลยก็มี

นี่จึงนับเป็นเรื่องที่น่าเสียดายและน่าหวาดวิตกไม่น้อย เมื่อผลงานและบุคลากรจากวงการหนัง-โดยเฉพาะโลกกระแสหลัก-ที่น่าจะทรงอิทธิพลต่อความคิดของผู้คนก็ยังไม่สามารถใช้พลังทางการสื่อสารที่มีในการตั้งคำถาม ช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อน หรือเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างที่ควรจะเป็นได้


5

เมื่อการแสวงหาความเท่าเทียมให้กับ ‘เพศที่ถูกทำให้ด้อยกว่า’ ในสังคมชายเป็นใหญ่ คือหนึ่งสิ่งที่ถูกเรียกร้องจากสตรีเพศมาโดยตลอด วัตถุดิบอย่าง ‘พริก’ ที่ถูกเมินเพราะความเชื่อทางศาสนาในสังคมนี้มาเนิ่นนานไม่แพ้กัน จึงถูกหนังอย่าง Mirch Masala นำมาใช้เป็น ‘เครื่องมือเล่าเรื่อง’ เพื่อตั้งคำถามกับสังคมด้วยท่าทีที่ทั้งแสนเศร้าและเกรี้ยวกราด ทั้งในแง่ของเศรษฐกิจ (ในฐานะของอาชีพต่ำต้อยที่ช่วยต่อชีวิตของพวกเธอและครอบครัวขณะที่สามีออกไปทำงานในเมืองที่ห่างไกล) และสังคม (หรือก็คือการต่อสู้คัดง้างกับเพศชายโดยการลุกขึ้นมาสาดพริกใส่ผู้ชายบ้าอำนาจของสาวโรงงาน)

‘พริก’ ได้กลายเป็นอุปมาในการโต้กลับด้วยความโกรธแค้นของคนตัวเล็กๆ ในสังคมที่ประสบทั้งความทุกข์และความหวาดกลัวจากการถูกกดขี่โดยความคิด/ความเชื่อจากผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่า — ทั้งผู้ชายและรัฐที่ปกครองพวกเธออยู่

ผู้หญิง-ไม่ว่าจะมาจากแห่งหนใด-ล้วนต้องการสิทธิเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของตนเทียบเท่ากับผู้ชาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องส่วนตัวอย่างเซ็กซ์หรือเรื่องส่วนรวมอย่างบทบาททางสังคมของสตรี ฉะนั้น หนังขึ้นหิ้งเรื่องนี้จึงเป็นเสมือนหลักไมล์ที่ชี้ให้ผู้ชมอย่างเรา-ไม่ว่าเพศไหน-ได้เล็งเห็นถึงสิทธิที่ ‘ยิ่งใหญ่กว่า’ คำว่า ‘สิทธิสตรี’ — นั่นคือสิทธิของความเป็นมนุษย์ที่คนทุกคนควรได้รับอย่างเสมอภาคกัน โดยปราศจากข้อแม้ทั้งจากเรื่องเพศ ชนชั้น หรืออคติอื่นใด

แต่มันก็คงเหมือนกับความเหลื่อมล้ำทั้งหลายบนโลกใบนี้ ที่หากไม่เจอเข้ากับตัวเอง เราก็คงไม่มีวันรู้ซึ้งถึงการดำรงอยู่ของปัญหานั้นๆ และหากเรายอมอดทนกับความอยุติธรรมซ้ำเล่านี้โดยการอนุญาตให้มันเกิดขึ้นกับ ‘คนอื่น’ โดยไม่เข้าไปขัดขวางหรือแม้แต่ตั้งคำถามกับมัน วันหนึ่งก็อาจเป็น ‘เรา’ หรือ ‘คนรอบข้างของเรา’ นี่เองที่ต้องถูกความอยุติธรรมแบบเดียวกันนี้เข้าแผดเผาจนมอดไหม้ทั้งกายและใจ

มอดไหม้จนไม่เหลือชิ้นดีเหมือนกับ ‘คนอื่น’ ที่เราเคยเพิกเฉยและปล่อยให้ชีวิตของพวกเขาต้องพังทลายไปต่อหน้าต่อตา จากปัญหาที่เราเคยคิดอย่างตื้นเขินว่า ‘คงไม่มีวันเกิดขึ้นกับเรา’ นี่แหละ


ดู Mirch Masala ได้ที่ MUBI

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here