Home Review Film Review สันติ – วีณา

สันติ – วีณา

สันติ – วีณา

* บทความชิ้นนี้เปิดเผยเนื้อหาส่วนสำคัญของภาพยนตร์

สันติ-วีณา ภาพยนตร์ไทยที่สร้างโดย รัตน์ เปสตันยี ออกฉายในปี พ.ศ. 2497 ที่เคยถูกเล่าขานกันว่าเป็นภาพยนตร์ไทยดีที่สุดเรื่องหนึ่งและหายสาบสูญไปอย่างน่าเสียดาย เพราะไม่มีฟิล์มเนกาทีฟหลงเหลืออยู่ในประเทศไทย จนกระทั่งหอภาพยนตร์ได้ดำเนินโครงการตามหาชิ้นส่วนที่ตกหล่นอยู่ที่ประเทศอังกฤษ รัสเซียและจีน ประกอบร่างของภาพยนตร์นี้ขึ้นอีกครั้ง และได้ถูกฉายในสาย Cannes Classic ของเทศกาลภาพยนตร์คานส์ ครั้งที่ 69 ประจำปี พ.ศ. 2559 ในช่วงที่ไวรัสโควิด 19 ระบาดกระจายไปทั่ว ทางหอภาพยนตร์ได้นำลงให้รับชมได้ทางเว็ปไซต์ยูทูบ ด้วยภาพความละเอียด 720p

สันติ-วีณา เล่าเรื่องชะตากรรมของ สันติ (พูนพันธ์ รังควร) ชายหนุ่มเมืองเพชรบุรี ผู้ตาบอดตั้งแต่วัยเด็กหลังจากที่เขาประสบอุบัติเหตุถูกหินภูเขาหล่นทับ โชคร้ายเพราะนอกจากเขาจะสูญเสียทัศนวิสัย เขายังสูญเสียแม่บังเกิดเกล้าไปด้วย ทำให้แต่นั้นมาเขาต้องอาศัยอยู่กับพ่อและรู้สึกว่าตนเองเป็นภาระและตัวถ่วงชีวิตของพ่อเสมอมา

วีณา (เรวดี ศิริวิไล) เป็นหญิงสาวที่อยู่บ้านใกล้เคียงกับสันติ ทั้งคู่รักใคร่ชอบพอกัน วีณาเป็นผู้ปกป้องสันติ ชายที่ถูกทำให้หมดสิ้นอำนาจของเพศชายด้วยถูกทำให้ตาบอด เช่นเดียวเก่ง และทหารที่หลับใหลสิ้นฤทธิ์ใน Cemetery of Splendor (2016) อาการตาบอดของเพศชายจึงเป็นสภาวะที่เป็นขั้วตรงข้ามของสังคมชายเป็นใหญ่ แบบในสังคมแทบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่แต่เดิมเป็นการสืบสายเลือดโดยผ่านผู้หญิง (matrilineality)

การทำลายล้างการสืบสายเลือดผ่านผู้หญิงเห็นได้จากาการกระทำของระบบอาณานิคมตะวันตกที่นับสายเลือดผ่านชายเป็นหลัก สังคมที่ฝ่ายชายถือตนว่ามีอารยะและเจริญก้าวหน้า การนับสายเลือดทางพ่อไม่มีความชัดเจนเพราะบอกไม่ได้ว่าน้ำเชื้อเป็นของใคร แต่ลูกที่ออกมาจากหญิงใดย่อมเป็นลูกของเธอ การนับสายเลือดทางฝ่ายหญิงจึงไม่สนใจระบบระเบียบเพราะเธอสามารถร่วมเพศกับใครก็ได้ไม่ต้องสนใจว่าใครจะเป็นพ่อ สังคมฝ่ายชายกลับต้องการเพศหญิงที่บริสุทธิ์เพื่อให้รู้แน่ชัดว่าลูกที่เกิดมาเป็นของฝ่ายชายที่ถือตนเป็นเจ้าของหญิงคนนั้น

อาณานิคมอังกฤษได้ทำให้ศาสนาคริสต์เข้ามามีอิทธิพล การแต่งงานต้องมีอารยะ ผู้หญิงต้องกลายเป็นนางบำเรอ ระบบนับสายเลือดแบบเดิมคือความล้าหลัง ไปจนถึงการนำวิถีชีวิตแบบครอบครัวเดี่ยว (nuclear family) เข้ามาที่ผู้ชายเป็นใหญ่และผัวเดียวเมียเดียว (monogamy) ระบบอาณานิคมอังกฤษมีส่วนสำคัญในการทำลายระบบสายเลือดแม่ในอินเดียใต้เพราะมองว่าการร่วมเพศที่มั่วไม่รู้ว่าใครเป็นพ่อเด็กเช่นนี้เป็นสิ่งสกปรก แต่ในบางรัฐก็ยังคงไว้ซึ่งระบบเดิม เช่นในรัฐ Tamil Nadu ที่เพศหญิงมีสิทธิครอบครองทรัพย์สิน ที่ดิน และการเรียนหนังสือ หรือรัฐเกรละ (Kerela) ที่มีเผ่านายา ระบบการแต่งงานนับสายเลือดผู้หญิงที่สามารถหนีตามกันได้ เลิกกันก็ได้ง่ายๆ ไม่ผูกพันธ์เรื่องหนี้สิน รวมไปถึงภรรยาสามารถมีสามีได้ถึงสองคน

สังคมชาวนาดั้งเดิมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เดิมก็ให้ความสำคัญกับสายเลือดเพศหญิงพอๆ กับเพศชาย (bilateral) การแต่งงานของชนชั้นต่ำสยามคือการย้ายเข้าไปเป็นแรงงานของครอบครัวฝ่ายหญิง (matrilocal) กฎหมายแบบเจ้าอาณานิคมเห็นว่าการนับสายเลือดฝ่ายชายด้วยการมีนามสกุล ถือตนว่ามีความเจริญมากกว่าได้เข้ามาทำลายสังคมชาวนา จากเดิมผู้หญิงมีความเป็นอิสระ ผู้หญิงต้องกลายเป็นแม่และเมียที่ดี อุทิศตนให้สามี ต้องทำอาหารอร่อยมีเสน่ห์ปลายจวัก

การต่อต้านสังคมนับสายเลือดทางแม่พบได้นอกเหนือไปจากอาณานิคมตะวันตกก็ยังมีในสังคมจีนฮั่น (Han Chinese) ซึ่งนับสายเลือดทางพ่อและรังเกียจสังคมนา (Na) ที่เป็นชนกลุ่มน้อยในมณฑลยูนนานซึ่งเป็นสังคมที่ไม่ต้องการให้ฝ่ายชายมากำกับดูแล ผู้หญิงจะเลี้ยงดูลูกเอง เพศชายมีหน้าที่ผสมพันธุ์และไม่ได้มีสิทธิมาครอบครองเพศหญิงว่าเป็นของฉัน เหมือน “วีณาของไกร” ทั้งสองฝ่ายสามารถไปร่วมเพศกับคนอื่นได้อีก จีนฮั่นพยายามล้มล้างวัฒนธรรมนาแต่ก็ไม่สำเร็จ

ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่นเดียวกับอินเดียใต้ ศาสนาคริสต์ได้เข้ามามีความสำคัญในการทำลายวัฒนธรรมผู้หญิงหลายผัว และกำหนดว่าการแต่งงานหลายผัวไม่มีความศักดิ์สิทธิ์ที่จะกระทำต่อพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งแต่เดิมผู้หญิงเป็นผู้ครอบครองทรัพย์สินและความอิสระทางเพศ มีเครือข่ายของครอบครัวตนเองที่ยิ่งใหญ่และสำคัญกว่าสมาชิกใหม่ไม่ว่าจะเป็นเมียหรือผัว อำนาจของการนับสายเลือดฝ่ายชายดำเนินไปพร้อมกับการสร้างการศึกษาภาคบังคับของรัฐประชาชาติที่ทำให้การแต่งงานเป็นเรื่องพันธสัญญากับพระเจ้าองค์ใหม่คือนั่นคือรัฐประชาชาติ

การแต่งงานระหว่างวีณาและไกร จึงไม่ต่างอะไรจากสันติบวชพระ เพราะต่างฝ่ายต่างให้คำมั่นสัญญากับสิ่งอื่นนอกจากตนเองและคนรัก วีณาผู้สาบานว่าจะอยู่กับไกรเป็นแม่และเมียที่ดี พร้อมกันก็สัญญาว่าจะเป็นสตรีที่ดีของชาติดังธงชาติไทยที่เอามาปักที่รั้วทางเข้าพิธีวิวาห์วีณาและไกร ส่วนสันติก็ทำตามที่หลวงตาสั่งไว้และดำรงตนในศาสนจักรของพระพุทธเจ้า สำนึกของการเคารพสยบยอมอยู่ภายใต้กลไกของอำนาจรัฐหรือสิ่งที่เรียกได้ว่าหลุดลอยออกจากสังคมเช่นนี้พบได้ในสังคมที่มีรัฐปกครอง (society with state)

การแต่งงานระหว่างวีณาและไกร จึงไม่ต่างอะไรจากสันติบวชพระ เพราะต่างฝ่ายต่างให้คำมั่นสัญญากับสิ่งอื่นนอกจากตนเองและคนรัก วีณาผู้สาบานว่าจะอยู่กับไกรเป็นแม่และเมียที่ดี พร้อมกันก็สัญญาว่าจะเป็นสตรีที่ดีของชาติดังธงชาติไทยที่เอามาปักที่รั้วทางเข้าพิธีวิวาห์วีณาและไกร ส่วนสันติก็ทำตามที่หลวงตาสั่งไว้และดำรงตนในศาสนจักรของพระพุทธเจ้า สำนึกของการเคารพสยบยอมอยู่ภายใต้กลไกของอำนาจรัฐหรือสิ่งที่เรียกได้ว่าหลุดลอยออกจากสังคมเช่นนี้พบได้ในสังคมที่มีรัฐปกครอง (society with state)

นั่นเพราะว่าอำนาจของสถาบันครอบครัวแบบผัวเดียวเมียเดียวและชายเป็นใหญ่ ก็มิได้ต่างอะไรไปจากศาสนาเอกเทวนิยมที่มีศาสดาเป็นจุดมุ่งหมายปลายทางของชีวิต ในทัศนะของ Pierre Clastres แล้ว รัฐทุกรัฐมีเจตจำนงของการรวมศูนย์อำนาจสร้างความเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็นเสรีประชาธิปไตยหรือรัฐกษัตริย์ และแน่นอนว่ารัฐไทยมีความพยายามในการขยับขยายปกครองสังคมผ่านการสร้างแผนที่และการสำรวจหมู่บ้าน ธงชาติไทยที่เราเห็นในหมู่บ้านของสันติวีณาจึงเป็นหลักฐานของการมาถึงของอำนาจรัฐ

รัฐไทยสมัยใหม่ได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงสังคมดั้งเดิมแบบชนเผ่าแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีการเคลื่อนย้ายไปมาและไม่หยุดนิ่ง การเคลื่อนที่นี่เองที่เป็นกลไกในการปฏิเสธอำนาจรัฐที่ต้องการฉายแสงลงไปให้ “มองเห็น” ผู้คนที่กำลังเคลื่อนไหว เช่นเดียวกับการมองเห็นก็ต้องอาศัยแสง การเห็นได้และรับรู้จึงเป็นการตอบข้อสงสัยใครรู้ พลังของสภาวะสมัยใหม่ (modernity) จึงเปรียบเสมือนการฉายแสงลงไปในความมืดมิดเพื่อตอบความสงสัยของมนุษย์และเพื่อความเจริญก้าวหน้า (progress)

สังคมดั้งเดิม (primitive society) จึงถูกมองโดยรัฐว่าเป็นสังคมที่ล้าหลังป่าเถื่อนและมืดบอด รัฐสร้างความชอบธรรมเข้าไปจัดการควบคุมให้พวกเขาอยู่นิ่งด้วยศาสนา จากเดิมที่นับถือวิญญาณและบรรพบุรุษก็ให้มานับถือศาสนาเอกเทวนิยม จากเดิมทำไร่เลื่อนลอยก็ให้ตั้งรกรากเป็นหมู่บ้าน เมื่อเข้าสู่ศตวรรษที่ 19 ก็เกิดกรอบความคิดว่าประชากรภายใต้รัฐต้องมีความสุขซึ่งเข้าถึงได้ด้วยเทคโนโลยีการแพทย์และการศึกษา การเรียนหนังสือของเด็กในหมู่บ้านจึงเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของรัฐ สันติที่ตาบอดและวีณาที่เป็นช้างเท้าหน้าให้กับผัวจึงเปรียบประหนึ่งการย้อนกลับไปสังคมดั้งเดิม วีณาที่พาสันติไปเรียนแต่สุดท้ายเขาก็มีความสุขกับการเป่าขลุ่ยให้เพื่อนเริงระบำมากกว่านั่งเรียนในห้องเรียนของคนตาสว่าง (enlightenment) ที่ทำให้เขารู้สึกเป็นคนนอก แถมยังถูกกลั่นแกล้งโดยไกรผู้ถือคติชายเป็นใหญ่

ความตายของแม่สันติเพราะหินหล่นทับจึงเหมือนการตายของสังคมที่สืบทอดเชื้อสายทางแม่ สันติตาบอดหลังจากนั้นก็คือมรดกของสังคมดั้งเดิมที่ชายไม่ได้มีอำนาจมากกว่าไปกว่าผู้หญิงหากแต่ต้องให้ผู้หญิงจูงนำทาง ความเป็นขบถของทั้งคู่จึงหลุดพ้นกฎเกณฑ์ของรัฐ ความสัมพันธ์นอกสมรสเป็นสิ่งที่ยอมรับได้สำหรับเขาทั้งคู่ การหลีกหนีสังคมมีรัฐมุ่งหน้าเข้าป่าจึงไม่ได้ต่างอะไรจากคู่รักท้าทายระบบยุติธรรมใน Bonnie and Clyde (1967) และ Badlands (1973)

สุดท้ายพวกเขาจะต้องพรากจากกัน วีณาต้องไปแต่งงานกับไกร สันติโศกเศร้าเสียใจ เขาทุบขลุ่ยซึ่งอุปมาคล้ายกับองคชาติ ขลุ่ยที่เป็นทดแทนของความเป็นเพศชายนอกเสียจากดวงตาที่มืดบอด ขลุ่ยที่ยั่วยวนวีณา แม้ว่าขลุ่ยตัวเดิมของเขาจะถูกไกรทุบทิ้งซึ่งอาจหมายถึงการทำลายอำนาจเพศชายของสันติ เพราะไกรหมั่นไส้ที่วีณาชอบสันติ วีณาหาขลุ่ยตัวใหม่มาให้และขลุ่ยตัวนั้นเองที่เขาทุบในวัดเขาน้อย ก่อนจะตัดสินใจตายตามแม่ของเขาไป การฆ่าตัวตายของเขาจึงถือเป็นขบถในโลกสังคมชายเป็นใหญ่ที่เขามีควาเป็นชายน้อยกว่าทนอยู่ไม่ไหว

แต่หลังจากที่เขาได้รับพรวิเศษทำให้ตากลับมามองเห็นอีกครั้ง พร้อมกับหลวงตามรณภาพเหมือนกับแม่ของเขา ทำให้เขาได้มรดกที่รับมาจากพระคืออาการตาสว่าง (enlightenment) สิ่งนี้เองที่เรียกในยุคภูมิธรรมหรือยุคแสงสว่างทางปัญญา ซึ่งใช้กรอบคิดของ Rationality ในคริสตศตวรรษที่ 17-18 อันเป็นจุดกำเนิดของสภาวะสมัยใหม่ การสถาปนารัฐประชาชาติ ระบบราชการซึ่งเป็นกลไกขับเคลื่อนระบอบประชาธิปไตย และการแยกศาสนาออกจากการเมือง (secularization)

แต่หลังจากที่เขาได้รับพรวิเศษทำให้ตากลับมามองเห็นอีกครั้ง พร้อมกับหลวงตามรณภาพเหมือนกับแม่ของเขา ทำให้เขาได้มรดกที่รับมาจากพระคืออาการตาสว่าง (enlightenment) สิ่งนี้เองที่เรียกในยุคภูมิธรรมหรือยุคแสงสว่างทางปัญญา ซึ่งใช้กรอบคิดของ Rationality ในคริสตศตวรรษที่ 17-18 อันเป็นจุดกำเนิดของสภาวะสมัยใหม่ การสถาปนารัฐประชาชาติ ระบบราชการซึ่งเป็นกลไกขับเคลื่อนระบอบประชาธิปไตย และการแยกศาสนาออกจากการเมือง (secularization)

แต่อาการตาสว่างของสันติกลับตรงกันข้าม เขามุ่งหน้าสู่ศาสนา เขายอมรับกฎระเบียบกติกา ยึดมั่นในหลักผัวเดียวเมียเดียวแบบชายเป็นใหญ่ หรือพูดอีกแบบคือเขายอมรับหลักการของเจ้าอาณานิคมที่ปกครองสังคมดั้งเดิม เขายอมรับการสมรสของวีณาและไกร แม้ว่าวีณาจะเข้ามาพูดกับเขาว่ายังรักสันติ เธอกำลังพยายามจะมีสัมพันธ์นอกสมรส แต่สันติก็น้อมรับในความศักดิ์สิทธิ์เพราะถือว่าเธอได้สัญญากับสามีไว้แล้วว่าจะจงรักภักดี เช่นเดียวกับเขาที่จะถวายชีวิตนี้ให้กับองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

หลังจากสันติตาสว่างจึงเป็นว่าเขายึดหลักของการมีเหตุมีผล แต่ไม่ได้ตัดขาดจากอาณาจักรของพระเจ้า ในทางตรงกันข้าม ทั้งสันติและวีณาต่างก็ร่วมพันธสัญญา (covenant) กับพระพุทธเจ้ากันคนละแบบ สันติบวชและเลือกจะตัดขาดจากเรื่องทางโลกและอารณ์ทางเพศ ส่วนวีณาก็ศรัทธายึดมั่นในสามีและพระพุทธเจ้า เหนือสิ่งอื่นใดทั้งคู่ก็ยังยึดมั่นในอำนาจของรัฐประชาชาติ รัฐและพระพุทธเจ้าต่างเป็นสิ่งที่มีเจตจำนงของตนเอง สายสัมพันธ์ถูกหล่อเลี้ยงด้วยอำนาจที่ยิ่งใหญ่และต่างฝ่ายต่างอยู่ รัฐอยู่เหนือหัวและมีอำนาจบงการเราตามอำเภอใจ เช่นเดียวกับพระพุทธเจ้าที่สามารถเสกให้หินหล่นมาทับใครตายก็ได้ แถมยังให้สันติตาสว่างหายจากโรคได้ เขาทำได้เพียงอ้อนวอนร้องขอให้พระพุทธเจ้าบันดาลพรให้ พระพุทธเจ้าจึงเป็นสิ่งที่เหนือมนุษย์จะเอื้อมถึงแต่มนุษย์ก็อยากจะเป็นดั่งพระพุทธเจ้า

สังคมดั้งเดิมไม่มีใครผูกขาดการติดต่อกับโลกแห่งจิตวิญญาณ ดังเช่นพระที่เป็นเสมือนที่พึ่งของชาวพุทธประหนึ่งว่าพระเป็นผู้เชื่อมต่อตนกับพระพุทธเจ้าหรือโลกหลังความตาย ต่างจากหมอผีในสังคมชนเผ่าที่ไม่ได้เป็นศูนย์กลาง (centralized) ของการเชื่อมต่อกับสิ่งเหนือธรรมชาติ หมอผีทำหน้าที่ในเรื่องการรักษาโรคมากกว่า และคนในเผ่ายังสามารถติดต่อกับวิญญาณได้เอง ไม่ต้องมีใครมาเป็นตัวกลางนอกจากนี้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ผีบรรพบุรุษ เทพเจ้า หรือตัวแทนกลุ่ม สิ่งเหล่านี้เป็นองคาพายพเดียวกันกับมนุษย์ไม่ได้แยกขาดออกจากกัน ไม่ได้เป็นส่วนเกินของกันและกัน มีความเป็น “เรา” มากกว่าเป็น “ฉัน” นั่นเพราะระบบคิดแบบปัจเจกเป็นผลผลิตของรัฐ

ผู้คนภายใต้รัฐประชาชาติก็มีสิ่งย้อนแย้งเสมอ ความเป็น “เรา” ระหว่างสันติและวีณา จึงไม่อาจถูกแยกได้ ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องของคู่รักที่อยู่เหนือพ้นสำนึกของ Rationality แบบยุคภูมิธรรม เป็นเรื่องของเครื่องหมายยัติภังค์ที่คั่นระหว่างสันติและวีณา สายตาที่วีณามองพระสันติในระหว่างตักบาตร ไม่อาจใช่สายตาของฆราวาสที่มองพระสงฆ์ หากแต่เป็นสายตาของคนที่รักกันโดยไม่ต้องมีเหตุผลมารองรับ เช่นเดียวกับพระสันติที่เดินบิณฑบาตรห่างจากขบวนพระพรรษาสูงกว่า ราวกับว่าเขาเคลือบแคลงใจ และไม่รู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับคณะผู้ถวายจิตวิญญาณให้พระพุทธเจ้า ความรักหนุ่มสาวที่ตัดไม่ขาดของทั้งคู่จึงตัดข้ามขนบสถาบันสมรสและผ้าเหลือง นั่นหมายความว่าสำนึกของชุมชนดั้งเดิมที่พร้อมขบถและขัดขืนอำนาจรัฐไม่วันหายไปไหน หนุ่มสาวเอย


อ้างอิง :
– ทวีศักดิ์ เผือกสม. ธนภาษ เดชพาวุฒิกุล. บทนําเสนอ, สภาวะความเป็นสมัยใหมอันแตกกระจาย: การค้นหาประวัติศาสตร์สังคมวัฒนธรรมปาตานี
– เก่งกิจ กิติเรียงลาภ. สงครามไม่ใช่สภาวะธรรมชาติ: สังคมไร้รัฐในความคิดของ PIERRE CLASTRES. 2018
– ธเนศ วงศ์ยานนาวา. On Monotheism ว่าด้วยเอกเทวนิยม เส้นทางของพระผู้เป็นเจ้าของจริง. 2019
– ธเนศ วงศ์ยานนาวา. ครอบครัวจินตกรรม. Illuminations Editions. 2018


ชม “สันติ-วีณา” ได้ที่ Youtube