Home Review Film Review The Half of It จดหมาย(แอบ)สารภาพรัก

The Half of It จดหมาย(แอบ)สารภาพรัก

The Half of It จดหมาย(แอบ)สารภาพรัก

เพียงไม่กี่วันก่อนจะปล่อยฉายทั่วโลกใน Netflix ภาพยนตร์เรื่อง The Half of It ก็ชนะรางวัล Best Narrative Feature จาก Tribeca Film Festival ทำให้มันเป็นหนังอีกเรื่องที่เด่นขึ้นมาท่ามกลางมหาสมุทรคอนเทนต์มากมายในสตรีมมิ่งเซอร์วิสช่วงนี้

      โดยภายใต้หน้าหนังเรียบเชียบคล้ายจะตามสูตรของมัน หนังแนวก้าวพ้นวัย (coming-of-age) เรื่องนี้กลับมีความโดดเด่นน่าสนใจอยู่หลายประการที่ควรค่าแก่การพูดถึง ตั้งแต่การเล่าเรื่องความรักวัยรุ่นเอเชียนอเมริกันที่เป็นเควียร์ ไปจนถึงการอ้างอิงถึงศิลปะและวรรณคดีที่อัดแน่นมาเต็มเรื่อง

* เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์

      หนังเล่าเรื่องของเอลลี่ ชู เด็กสาวหัวดีเชื้อสายจีนที่อาศัยอยู่กับพ่อผู้ทำงานเป็นนายสถานีรถไฟในเมืองเล็กๆ ไกลปืนเที่ยงชื่อสควอเฮมิช ชีวิตของเธอเรียบง่ายจนเกือบจะเรียกได้ว่าเงียบเหงา ปฏิสัมพันธ์ที่พอจะมีกับคนในโรงเรียนถ้าไม่ใช่รับจ้างเขียนรายงานให้เพื่อนร่วมชั้น ก็มีแค่กับคุณครูที่รู้ทันแต่ปล่อยให้เธอทำธุรกิจลับๆ นี้ต่อไปเพราะไม่อยากอ่านงานเขียนที่ไม่ได้เรื่อง จนวันหนึ่ง หนุ่มนักกีฬาท่าทางเด๋อด๋าอย่าง พอล มันสกี้ มาวานจ้างให้เธอช่วยเขียนจดหมายสารภาพรักให้หญิงในดวงใจของเขาอย่างแอสเทอร์ …ซึ่งทั้งหมดนี้คงไม่ใช่ปัญหาใหญ่ถ้าเอลลี่ไม่ได้กำลังมีใจให้แอสเทอร์อยู่เหมือนกัน!

      The Half of It เป็นผลงานกำกับของคนทำหนังอเมริกันเชื้อสายจีนอย่าง อลิซ วู (Alice Wu) ที่หลังเปิดตัวด้วย Saving Face ในปี 2004 -ว่าด้วยตัวละครหญิงรักหญิงชาวเอเชียนอเมริกันกับแรงกดดันที่เธอต้องเผชิญจากวงสังคมคนจีนในมหานครนิวยอร์ก- ก็เว้นช่วงยาวถึง 16 ปีกว่าจะเข็นผลงานลำดับ 2 เรื่องนี้ออกมาได้ โดยวูหยิบโครงเรื่องจากบทละครฝรั่งเศสอายุร้อยกว่าปีอย่าง Cyrano de Bergerac (1897) มาใส่เรื่องราวก้าวพ้นวัยและความรักของเลสเบี้ยนเข้าไป เจือด้วยความแปลกแยกของการเป็นชาวจีนพลัดถิ่นในเมืองที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นคนขาวเคร่งศาสนา

      หนังให้เอลลี่สวมรองเท้าเดียวกับซีราโนที่ต้องเขียนจดหมายจีบผู้หญิงที่ตนรักให้กับผู้ชายอีกคน โดยการทำภารกิจพร่ำคำรักผ่านข้อความในนามของผู้อื่นนี่เองที่ทั้งคู่ได้แถลงความในใจของตัวเองออกไปด้วย แต่สิ่งที่ The Half of It เพิ่มเติมเข้ามา (นอกจากมีแชทกันผ่านไอโฟน) ก็เห็นจะเป็นการขับเน้นตัวละครผู้เป็นวัตถุแห่งความหลงใหลอย่างแอสเทอร์ให้มีมิติตื้นลึกหนาบางขึ้นมา รวมทั้งยังสำรวจความสัมพันธ์ระหว่างตัวเอลลี่กับเพื่อนผู้ร่วมชะตาอย่างพอลด้วย

      ในขณะที่นิยามของความรักค่อยๆ ได้รับการขัดเกลาจากการโต้ตอบจดหมายระหว่างเอลลี่กับแอสเทอร์ ผ่านความชื่นชอบที่พวกเธอมีร่วมกันในนิยาย The Remains of the Day (1989) ของคาซุโอ อิชิกุโร และหนัง Wings of Desire ของวิม เวนเดอร์ส (1987) หนุ่มนักกีฬาที่ไม่ประสาเรื่องศิลปะหรือวรรณคดีอย่างพอลจึงต้องเข้าคอร์สศิลปะวัฒนธรรมแบบเร่งรัดจากเอลลี่ (เพื่อไม่ให้แอสเทอร์จับผิดได้เมื่อนัดเดตกัน) ทำให้ทั้งคู่ได้สานสัมพันธ์ของพวกเขาเองไปด้วยในตัว หนังจึงแสดงให้เห็นความซับซ้อนของความสัมพันธ์อีกแบบที่เราไม่ค่อยได้เห็นบ่อยนักผ่านภาพยนตร์ ซึ่งก็คือมิตรภาพ (และความรัก?) ระหว่างผู้หญิงเกย์กับชายสเตรท

      เราจะเห็นได้ว่าหนังจมตัวเองอยู่ในหมุดอ้างอิงทางศิลปะมากมาย โดยเป็นทั้งการคารวะที่ตัววูมีต่อภาพยนตร์/วรรณกรรมเหล่านี้ และเป็นทั้งเครื่องมือที่วูเอามาใช้เป็นประโยชน์ต่อการเล่าเรื่อง เช่น การเกริ่นถึงแนวคิดเรื่องคู่แท้ของเพลโตเพื่อนำเสนอภาพความสัมพันธ์ในปัจจุบันที่ซับซ้อนยุ่งเหยิงกว่าแค่การหา ‘อีกครึ่งหนึ่งที่หายไป’ ของเรามาก หรือการใช้ประโยค “ฉันไม่ได้อยากถูกเทอดทูน ฉันอยากถูกรัก” ของแคทเธอรีน เฮปเบิร์นในหนัง The Philadelphia Story (1940) เพื่อแสดงความรู้สึกนึกคิดของแอสเทอร์ สาวสวยผู้เป็นที่ปรารถนาของทุกคนแต่เจ้าตัวกลับยังคงโหยหาความรักที่แท้จริง ไปจนถึงการอ้างอิงถึงบทละคร No Exit (1944) ของฌอง-ปอล ซาตร์ -เล่าถึงตัวละครสามตัวที่ติดอยู่ในนรกด้วยกันชั่วกัลป์อันเป็นที่มาของประโยคดัง “นรกคือคนอื่น”- ซึ่งสะท้อนภาวะติดแหง็กที่ตัวละครในหนังต้องเผชิญอยู่ในเมืองเล็กๆ อย่างสควอเฮมิช รวมทั้งความรู้สึกแปลกแยกโดดเดี่ยวที่พวกเขาแบกรับต่างกันออกไป

ตัวอย่าง Saving Face (2004)

      หากมองย้อนกลับไปที่ Saving Face วูได้วางตัวละครไว้ในบริบทเมืองใหญ่อย่างมหานครนิวยอร์กซึ่งเต็มไปด้วยความเป็นไปได้ไม่รู้จบ แต่อนาคตและความฝันของผู้หญิงในชุมชนจีน-อเมริกันกลับถูกจำกัดให้อยู่ในกรอบธรรมเนียมอันดีงาม ตัวละครต่างมีภาระต่อสู้ที่หนักหนาไม่ว่าจะเป็นตัวลูกสาวที่ชอบผู้หญิงด้วยกัน หรือตัวแม่ที่อยู่ๆ ก็ท้องโดยไม่มีพ่อ แต่ใน The Half of It วูกลับหัวกลับหางเงื่อนไขทางสังคมเสียใหม่ให้กลายเป็นเมืองเงียบเหงาที่แรงกดดันทางสังคมแบบจีนๆ แผ่ขยายมาไม่ถึง ภาระที่ตัวละครแบกรับจึงต่างออกไป (แม้ที่ทางของเควียร์ก็ยังมีอยู่อย่างจำกัดจำเขี่ยอยู่ดี) สำหรับเอลลี่ มันกลายเป็นความเปลี่ยวดายของการเป็นคนนอกในเมืองที่ไม่มีใครหน้าตาหรือสีผิวเหมือนเธอ เป็นภาระทางอารมณ์ที่สืบทอดมาจากคนรุ่นพ่อผู้แบกฝันข้ามน้ำข้ามทะเลมาแต่กลับต้องหยุดชะงักอยู่แค่ในเมืองเล็กๆ เพราะพูดภาษาอังกฤษไม่คล่อง แม้เอลลี่จะเป็นนักเรียนหัวกะทิที่ดูเหมือนจะมีอนาคตไกล แต่ความฝันที่พังพาบของพ่อ การจากไปของแม่ และการไม่รู้ตำแหน่งแห่งหนของตนบนโลกกลับตรึงเธอไว้อยู่ที่เมืองแห่งนี้ ทำได้เพียงเฝ้ามองดูขบวนรถไฟเดินทางผ่านมาแล้วผ่านไปในทุกวี่วัน

ฉากที่ตัวละครป่าวประกาศความรักของตนออกมาในสถานการณ์ที่ชวนอึดอัดใจ มันล้วนเป็นสิ่งที่พวกเขาจำเป็นต้องทำ ไม่ใช่แค่เพื่อเอาชนะหัวใจของอีกฝ่าย แต่เป็นการก้าวข้ามกรอบเกณฑ์บางอย่างที่ตนยึดถือ

      ในขณะที่เรื่องราวที่วูสนใจถ่ายทอดนั้นยังบอกเล่าผ่านตัวละครเชื้อสายเอเชียกับความรักของเลสเบี้ยน แต่ใจความสำคัญจริงๆ ในหนังของวูคือเรื่องสากลของการหยัดยืนเพื่อความรัก ว่าความรักที่ไร้ซึ่งความกล้าหาญที่จะป่าวประกาศมันออกมานั้นช่างสูญเปล่าและไม่อาจทำให้เราเติบโตขึ้นมาได้ หนังทั้ง 2 เรื่องของวูจึงมีฉากที่ตัวละครป่าวประกาศความรักของตนออกมาในสถานการณ์ที่ชวนอึดอัดใจ (เรื่องหนึ่งคือในอีเวนต์ธรรมเนียมจีน อีกเรื่องคือในโบสถ์คริสต์) แต่มันล้วนเป็นสิ่งที่พวกเขาจำเป็นต้องทำ ไม่ใช่แค่เพื่อเอาชนะหัวใจของอีกฝ่าย แต่เป็นการก้าวข้ามกรอบเกณฑ์บางอย่างที่ตนยึดถือ -ไม่ว่าจะเป็นความคิดที่ว่าผู้หญิงที่ดีควรทำอย่างไร การแสดงออกถึงความรักนั้นทำได้แค่ไหน หรือทางเลือกใดๆ ก็ตามที่ ‘ปลอดภัย’ มากกว่าสิ่งที่ต้องการทำจริงๆ- เพื่อที่จะยืนยันความรู้สึกซึ่งลุกโพลงอยู่ในใจของพวกเขาโดยไม่มัวพะวงถึงผลที่ตามมา เพื่อที่พวกเขาจะได้เติบโตและก้าวเดินต่อไปกับชีวิตได้

      ใน Cyrano de Bergerac ซีราโนไม่เคยเอ่ยปากบอกความจริงต่อร็อกซานน์-หญิงสาวที่เขารัก-เลยจนกระทั่งนาทีสุดท้ายของชีวิต เพราะแม้มีวาทศิลป์เป็นเลิศเพียงไรแต่ก็เชื่อฝังใจว่าจมูกอันใหญ่โตแสนอัปลักษณ์ของตนเป็นสิ่งที่ทำให้ตนไม่ควรค่าพอที่จะถูกรัก โศกนาฏกรรมของซีราโนจึงถูกเขียนใหม่ กลายเป็นอนาคตที่เอลลี่หาญกล้าพอที่จะเลือกทางเดินให้กับตัวเอง เธอกล้าบอกความจริงต่อหญิงสาวที่เธอรัก และกล้าขึ้นขบวนรถไฟคันนั้นออกจากเมืองที่รั้งเธอมาทั้งชีวิต ดูเหมือนว่าคำถามที่เธอถามกับแอสเทอร์ในโบสถ์ว่า “นี่คือฝีแปรงที่แน่ที่สุดเท่าที่เธอทำได้แล้วจริงๆ เหรอ” จะเป็นคำถามที่เธอถามตัวเองด้วยเช่นกัน การไม่กล้าลองลงฝีแปรงเลือกสิ่งที่หัวใจปรารถนาจริงๆ นั้นอาจทำให้เราปลอดภัยอยู่ในรั้วรอบขอบชิดที่คุ้นชิน แต่ราคาค่างวดที่อาจต้องจ่ายคือยอมให้คำถามนั้นหลอกหลอนเราไปชั่วชีวิต

      แม้ในแง่ของงานคราฟต์หนังและกลวิธีการเล่าเรื่องแล้ว The Half of It จะยังติดอยู่ในขนบของหนังก้าวพ้นวัยทั่วไป แต่ตัวหนังกลับเต็มไปด้วยประเด็นที่จริงจัง รายละเอียดลึกซึ้งกินใจ และความเข้าอกเข้าใจในตัวละครอย่างเปี่ยมล้น นั่นยิ่งทำให้น่าเสียดายที่หนังยังอาศัยพลังในการเล่าเรื่องจากแหล่งอื่นอยู่มาก (ทั้งจากฟอร์มของหนังวัยรุ่น และจากการอ้างอิงถึงศิลปะอย่างมากมายในหนังที่หลายครั้งก็โจ่งแจ้งเสียเหลือเกิน) ชวนให้กังขาว่าหนังอาจไปได้ไกลอีกเพียงไรหากวูกล้าลงฝีแปรงที่ ‘แน่’ กว่านี้ในแบบที่เรารู้ว่าเธอทำได้

      อย่างไรก็ดี The Half of It ก็เป็นหมุดหมายอันดีของการถ่ายทอดเรื่องราวตัวละครหญิงรักหญิงและเอเชียนอเมริกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่หาได้ไม่มาก-และยิ่งน้อยลงเข้าไปอีกสำหรับกรณีที่ทั้งสองประเภทดังกล่าวมาซ้อนทับกัน-ในภาพยนตร์กระแสหลัก แต่เหนือสิ่งอื่นใด สิ่งที่แน่นอนคือหนังได้พาชื่อของ อลิซ วู ให้กลายเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ชวนให้เราตั้งตารอผลงานชิ้นต่อไปของเธอในอนาคต (ที่หวังว่าจะไม่ใช่อนาคตอันไกลเกินไปนัก)

ดู The Half of It ได้ใน Netflix

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here