Home Review Film Review บุพเพสันนิวาส 2 = ทวิภพ-1 พิศวาส ราชาชาตินิยม การกล่อมประสาทด้วยมุมมองชนชั้นนำ

บุพเพสันนิวาส 2 = ทวิภพ-1 พิศวาส ราชาชาตินิยม การกล่อมประสาทด้วยมุมมองชนชั้นนำ

บุพเพสันนิวาส 2 = ทวิภพ-1 พิศวาส ราชาชาตินิยม การกล่อมประสาทด้วยมุมมองชนชั้นนำ

บทความชิ้นนี้เปิดเผยเนื้อหาส่วนสำคัญของภาพยนตร์

หากทวิภพจะใช้ “ฝรั่งเศส” เป็นศัตรูเพื่อกระตุ้นความรู้สึกเกลียดร่วม บุพเพสันนิวาส 2 ก็ใช้ “อังกฤษ” เป็นชาติศัตรูนั่นเอง ตัวร้ายในหน้ากากที่เปิดเผยท้ายเรื่องคือ “สายลับวิลาศ” ที่อยู่ในชุดทหารสยาม ที่แต่งองค์ทรงเครื่องและพูดสยามได้อย่างแคล่วคล่อง

อันที่จริง ในสมัยของรัชกาลที่ 3 เป็นยุคทองของการค้าเรือสำเภากับจีน ความเฟื่องฟูของสังคมทำให้สังคมแบบไพร่เดิมค่อยๆ ผ่อนคลายกฎเกณฑ์การเข้าเดือนออกเดือน เพื่อจะขยับขยายให้ไพร่เข้ามาอยู่ในตลาดการค้ามากขึ้น หน้าตาสยามมีความเป็นจีนทั้งด้วยพระราชนิยม และชุมชนจีนที่ขยายตัวขึ้นมาก โดยเฉพาะความมั่งคั่งของชนชั้นนำในระดับกษัตริย์และขุนนางก็อู้ฟู่จากการค้าขายผูกขาด อันนี้อยู่ใน “ปากไก่และใบเรือฯ” ของนิธิ เอียวศรีวงศ์ แสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมสำคัญของต้นรัตนโกสินทร์

วรรณกรรมแบบกลอนตลาด แพร่หลาย ผลงานของสุนทรภู่ เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง การผจญภัยของสุนทรภู่ในนิราศต่างๆ ก็เพริศแพร้ว

ในอีกด้าน สมัยรัชกาลที่ 3 เปิดยุคเปิดศึกกับเพื่อนบ้านอย่างหัวเมืองมลายูและทางฝั่งตะวันออก ในยุคนี้การทำสงครามที่เรียกว่าอันนาม-สยามยุทธก็นำไปสู่การขุดคลองแสนแสบ เพื่อเปิดเส้นทางเชื่อมกับตะวันออก เกิดความเปลี่ยนแปลงกับพระนครขนานใหญ่ แรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ โดยเฉพาะมลายูที่เป็นเชลยที่ถูกกวาดต้อนก็ถูกนำไปอยู่ที่ไกลปืนเที่ยงอย่างย่านมีนบุรี และเป็นแรงงานขุดคลองแสนแสบ

วัตถุดิบทางประวัติศาสตร์ในยุคนี้จึงมีมากมายพะเรอเกวียน แต่สำหรับผู้สร้างบุพเพฯ แล้วกลับหยิบเอาประเด็นศัตรูของชาติเข้ามาใช้เสียอย่างนั้น

โคว้ทของรัชกาลที่ 3 ที่เคยถูกบันทึกไว้ว่า “การศึกสงครามข้างญวนข้างพม่าก็เห็นจะไม่มีแล้ว จะมีอยู่ก็แต่ข้างพวกฝรั่ง ให้ระวังให้ดี อย่าให้เสียทีแก่เขาได้ การงานสิ่งใดของเขาที่คิด ควรจะเรียนเอาไว้ก็ให้เอาอย่างเขา แต่อย่าให้นับถือเลื่อมใสไปทีเดียว” เมื่ออ่านคู่กับหนังเรื่องนี้แล้วอาจตีความได้ว่า นี่คือจุดเริ่มต้นของภัยความมั่นคงจากตะวันตกในยุครัตนโกสินทร์ ในอีกด้านหนึ่งก็อาจกล่าวได้ว่า ภัยจากฝรั่งยังไม่ใช่เรื่องร้ายแรงขนาดที่ต้องเอามาเป็นจุดสำคัญของเรื่องเลย

ดังนั้น การที่ขุนสมบัติบดี (ภพ) (โป๊บ ธนวรรธน์) คุยเมธัส (พาริส อินทรโกมาลย์สุต) ตนนี่แหละที่จะปกป้องไม่ให้สยามเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ มันจึงฟังน่าจั๊กกะจี๊ เพราะนี่คือ พล็อตเดียวกับการที่การะเกตุพยายามจะปกป้องอยุธยาจากการยึดอำนาจของฟอลคอนและฝรั่งเศส และแบบเดียวกับมณีจันทร์พยายามจะสู้กับฝรั่งเศส

การเลือกเส้นเรื่องนี้ทำให้มันไปแตะกับความขัดแย้งทางการเมืองกับเวียดนาม หรืออันนัม พร้อมทั้งกัมพูชาไปด้วย หวังว่าคงไม่มีดราม่าจากชาวเวียดนามและกัมพูชา แต่เราต้องเข้าใจด้วยว่าในสงครามนี้ เวียดนามและกัมพูชาถูกสยามส่งกองทัพเข้าไปรุกรานด้วย

จนเวลาต่อมา กรุงเทพฯ ไม่สามารถสู้กับจักรวรรดิบริเตนใหญ่ได้ จึงถูกพรากดินแดนในอาณัติอย่างในแถบมลายู หัวเมืองฉาน-ไทใหญ่ แต่นั่นก็ไม่อาจเรียกได้เต็มปากว่า “เสียดินแดน” หรอก เพราะล้วนคือ รัฐอิสระที่พวกเขาปกครองตัวเองมานานแล้ว

ตัวละครที่น่าจะมีศักยภาพมากๆ พอที่จะพาขุนสมบัติบดี และเกสร (เบลล่า ราณี) ไปพ้นจากราชาชาตินิยมกล่อมประสาทก็คือ สุนทรภู่ และสังฆราชปาเลอกัวซ์ ทั้งคู่เป็นตัวแทนของยุคสมัยใหม่และโลกใหม่ ทั้งด้านวรรณกรรมบันเทิง และความรู้แบบตะวันตก โดยเฉพาะการรอนแรมไปยังดินแดนต่างๆ นอกกรุงเทพฯ ของสุนทรภู่ การเล่นกับเส้นทางสัญจรทางน้ำ พบผู้คน และเล่นเรื่องอิทธิปาฏิหาริย์ที่ล้อกับเรื่องพระอภัยมณีได้ด้วย 

จากที่สังเกตจะพบว่า ตัวละครแทบทั้งหมดเดินด้วยชนชั้นปกครอง และชาวต่างชาติ ที่ไม่ใช่ จะมีก็เพียง “อีปี่” ที่รับบทเป็นพี่เลี้ยง “รองมือรองตีน” เกสร แบบเดียวกับคนใช้ในละครไทย ที่แม้จะสนิทสนมเพียงใด ก็มีเส้นแบ่งที่ชัดเจนระหว่างเจ้านายกับบ่าวไพร่ ถ้าจำไม่ผิด คนสยามแทบทั้งเรื่องล้วนสวมเสื้อ ดูมีอารยธรรมขึ้นมาทันที ต่างจากที่เราเห็นในหนังที่พยายามสร้างความสมจริงอย่างนางนาก คนเหล่านี้จึงกลายเป็นเพียงเบี้ย เป็นเพียงตัวประกอบเล็กๆ ที่ไม่มีเสียงใดๆ 

ขณะที่ตัวละครที่มีบรรดาศักดิ์สูงสุด ก็คือ เสด็จในกรมที่ไม่ออกชื่อว่าใคร ที่เหมือนจะมีเอี่ยวกับการค้าอาวุธและการกบฏ แต่สุดท้ายพยายามจะคลี่คลายให้เห็นว่า เสด็จในกรมไม่เกี่ยว (ซึ่งเสด็จก็หน้าตาเป็นลูกจีนมากกว่าจะเป็นชนชั้นนำสยาม-มอญ) ปัญหามันเกิดจาก “สายลับอังกฤษ” เบื้องหลังหน้ากากไม้นั่นเอง ปัญหาจึงมาจาก “คนนอก” แทบจะล้วนๆ ชาวสยามไม่ใช่ปัญหาอะไรเลย

เกสร เป็นภาพตัวแทนของผู้หญิงที่มีลักษณะแปลกแยก ตั้งแต่การไว้ผมยาว และใฝ่การเรียนรู้ พูดภาษาอังกฤษได้ คล้ายดังเป็นมณีจันทร์ในร่างของคนยุครัชกาลที่ 3 ในทางกลับกัน ขุนสมบัติบดีที่สังกัดกรมคลังก็มีความทันสมัยมีความรู้ทางการช่าง แต่กลับเป็นคนที่ติดอยู่กับอดีตอย่างเช่นคำติดปากว่า “ออเจ้า” แล้วยังไม่รู้ภาษาอังกฤษอีกด้วย ทั้งที่ตัวเองสังกัดกับกรมพระคลังที่ต้องรู้โลกกว้าง

ความรักของทั้งคู่ มีปมปัญหามาจากการที่พระเอกได้พร่ำเพ้อถึงแต่ผู้หญิงที่พบในฝัน (ซึ่งก็คือ การะเกตุในชาติที่แล้ว) ส่วนนางเอกในชาตินี้ไม่อินกับสิ่งที่เรียกว่า บุพเพสันนิวาส จนท้ายเรื่องที่นางเอกหมดสติ ทำให้เธอหวนย้อนไปถึงอดีตชาติกับตัวเอง แต่ทั้งคู่ไม่ได้เข้าใจกันเพราะความรักของคนสองคน แต่เป็นการผนึกกำลังเพื่อต่อสู้ “เพื่อชาติ” ไม่ให้สยามตกเป็นเมืองขึ้นของวิลาศ

ส่วนเมธัส ที่ว่ากันว่ามีเชื้อสายมาจากหันแตร หรือฮันเตอร์ซึ่งเป็น “คนอังกฤษ” อันเป็นชนชาติศัตรู ที่ติดอยู่กับอดีต ส่วนตัวตนที่อยู่ในปี 2565 ก็ได้ถูกลบออกไปหลังจากที่ย้อนเวลามาแล้ว ราวกับว่า เมธัสผู้เป็นลูกครึ่งนี่เองที่เป็นมลทินทางประวัติศาสตร์

แต่นั่นแหละ เราจะอะไรมากกับแบรนด์ “บุพเพสันนิวาส” ที่เป็นแฟนตาซีทางประวัติศาสตร์ หรือเป็นยากล่อมประสาทราชาชาตินิยม ที่เว้นกษัตริย์ไว้ในฐานที่เข้าใจ

แม้ว่าตอนท้ายของเรื่อง จะมีคำพูดคูลๆ ที่พูดว่า การบันทึกของแต่ละคนก็มีมุมมองที่ต่างกัน แต่ภายใต้จักรวาลแบบบุพเพสันนิวาส คงไม่แคล้วที่จะอยู่ในเส้นแดนของความจริงที่ยอมให้ไปถึงได้แคบๆ อย่างที่เราเห็นมาแล้วทั้งในละครและหนังเรื่องนี้

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here