Home Article FILM CLUB Year List 2021 (Part 5)

FILM CLUB Year List 2021 (Part 5)

0
FILM CLUB Year List 2021 (Part 5)

(รายชื่อรอบแรก) | (รายชื่อรอบสอง) | (รายชื่อรอบสาม)(รายชื่อรอบสี่)

ในที่สุดปี 2021 ก็ผ่านเราไปอย่างใจหายใจคว่ำ อย่างหืดขึ้นคอ ไม่แพ้ปี 2020 โรงหนังกลับมาเปิดแล้วในช่วงครึ่งปีหลังแต่ยังลูกผีลูกคน กิจการ Streaming ภาพยนตร์เติบโตต่อเนื่องและอาจจะน่ากังขาพอๆ กับน่าชื่นชม ความตายรายวันของผู้คนในประเทศจากโรคระบาด การชุมนุมที่ซบเซาลงทั้งจากโรคและการออกหมายจับรายวันจนถึงวันนี้ 

ผู้คนก็ยังคงดูหนังกันอยู่ ทั้งแบบออกนอกบ้านและไม่ออกนอกบ้าน ทั้งแบบเดิมที่ตั้งใจดูและแบบใหม่ที่ดูไปแชตไป เทศกาลกระจุกตัวในห้วงเวลาสั้นๆ ท้ายปีจนแทบชนกันตายเพราะไม่รู้ว่าอนาคตจะเกิดอะไรขึ้นและเลื่อนจากอดีตมาหลายคำรบแล้ว 

ในปีที่ยากลำบากนี้ FILM CLUB ขออนุญาตรวบรวมหนังแห่งปี 2021 ของหลากหลายผู้คนในแวดวงภาพยนตร์ ทั้งผู้กำกับ นักวิจารณ์ ผู้ชม และทีมงานของ FILM CLUB เองไว้สำหรับเป็นตัวเลือกในมหกรรมวันหยุด ในปี 2022 ที่กำลังมาถึงนี้ โดยไม่จำกัดทั้งหนังโรง หนังสตรีมมิ่ง หนังเทศกาลหรือวิดีโออาร์ต ทีวีซีรีส์ ไปจนถึงภาพยนตร์ตามช่องทางธรรมชาติ ไม่จำกัดปีที่หนังฉาย และรูปแบบการฉาย แต่ละท่านสามารถเลือกหนังได้อย่างเสรีตามประสบการณ์การดูหนังของแต่ละท่านเอง


Filmsick : กองบรรณาธิการ Film Club

ดาววิกาล (2020, เหมือนดาว กมลธรรม)

หนังว่าด้วยสาวคาราโอเกะวัยปลายของสาวใหญ่ กับความสัมพันธ์ที่เธอมีกับหนุ่มใหญ่ตัดหญ้าอาศัยในสวนที่มาชอบเธอ มารับมาส่งเธอทุกวันและชวนให้เธอเลิกเป็นสาวบาร์ไปอยู่กับเขา จนมาวันหนึ่งเธอตระหนักถึงการพ้นสมัยของตัวเอง แต่การเปลี่ยนตัวเองมันไม่ได้ง่ายเลย และทัศนคติที่เธอมีต่อชีวิตกับเขามันต่างกันมาก

ชอบทุกอย่าง ชอบไปหมด ชอบบาร์คาราโอเกะ ชอบหมูกะทะ ชอบบ้านของหนุ่มตัดหญ้า ชอบซาเล้ง ชอบมอเตอร์ไซค์ ชอบไมโครเวฟ เป็นหนังแบบที่อยากดูมานาน อยากดูเรื่องรักเหล่านี้ ชีวิตและจิตใจของผู้คนเหล่านี้ในฐานะที่เป็นมนุษย์ไม่ใช่ตัวละครสอนศีลธรรม รู้สึกงดงามเทียบเท่ากับตอนดู หน่าฮ่าน ของ ฉันทนา ทิพย์ประชาติ

ไม่แน่ใจว่าการแสดงแบบประดักประเดิดของนักแสดงจะดีหรือร้ายต่อตัวหนัง มันทำให้นึกถึงการแสดงแบบในสัตว์ประหลาดของอภิชาติพงศ์ แต่ในกรณีนั้นมันมีการล้อไปกับโลกนอกโลกของหนัง คือแสดงให้รู้ว่าแสดงเพื่อล้อกับความประดักประเดิดของการแสดง แต่พอหนังเล่นกับความ realistic เราก็ไม่แน่ใจว่าความประดักประเดิดแบบนี้จะหนุนส่งหรือทอนพลัง อันที่จริง มันชวนให้นึกถึงหนัของ บุญส่ง นาคภู่ แต่ดูเหมือนบุญส่งมีวิธีหยิบใช้นักแสดงไม่อาชีพของเขาอย่างน่าสนใจมากๆๆ

ไม่แน่ใจด้วยว่าตอนจบของหนังจะไปในทิศทางของการบอกว่าคนเราสามารถเป็นตัวของตัวเองได้เท่าที่ตัวเองต้องการ แต่การรวบรัดฉากร้านชำ ตัดกับฉากบาร์ก็อาจจะถูกชี้นำไปในทางลงโทษหรือ misogynist ได้ เราคิด (เอาเอง) ว่าหนังเป็นแบบแรก เราเลยคิดว่าหนังควรให้เวลากับช่วงท้ายอีกหน่อย จริงๆ เราถึงขั้นรู้สึกด้วยซ้ำว่ามันสามารถเป็นหนังที่พูดว่าความฝันของคนคนหนึ่งสามารถไปงอกงามได้จริงในอีกคน แล้วคนที่ละทิ้งความฝันไปก็ไม่ได้ผิดอะไรที่ไม่ยอมจำนนต่อขนบของความฝันคับแคบเท่าที่ฝันได้นั้น



กฤตนัย ธีรธรรมธาดา : แพทย์ นักเขียนประจำ Film Club 

Mr. Robot (2015-2019, Sam Esmail, USA)

ปกติปีที่ผ่านมาๆ เรามักจะเลือกหนังที่เราชอบแห่งปีมากกว่า เพราะเราไม่ค่อยได้ดูซีรีส์เท่าไหร่ แล้วรู้สึกว่าตัวเองชอบซีรีส์ยาก รวมถึงรู้สึกว่ายากมากแหละที่จะหาซีรีส์ในดวงใจมาแทน Breaking Bad ได้ แต่เห็น screenshot และ quote ของ Mr. Robot มานานละ พอเข้า Netflix ปีนี้ก็เลยนั่งดู แล้วก็พบว่ามันแซง Breaking Bad ไปเป็นซีรีส์อันดับหนึ่งในดวงใจของเราไปแล้วเรียบร้อย

Mr. Robot (4 seasons) พูดถึงนักโปรแกรมเมอร์หนุ่ม Elliot ที่เป็นโรควิตกกังวล (นำแสดงโดย Rami Malek) ผู้ซึ่งผันตัวไปเป็นแฮกเกอร์ที่ทำงานจัดการกับเหล่าคนร้ายในเวลากลางคืน เอาจริงตอนแรกที่อ่านเรื่องย่อก็ไม่เข้าใจว่ามันจะสนุกได้ยังไง แต่คือนั่งดูไปเรื่อยๆ ถึงได้พบว่าจริงๆ แล้วนอกจากความเวอร์ของซีรีส์ที่เล่าลือว่ากันว่ามีทีมดีไซน์คอมพิวเตอร์โค้ดรวมถึงวิธีการแฮกแบบต่างๆ ให้สมจริงโดยเฉพาะ มันยังเป็นซีรีส์ที่มีความครบในหลายมิติมากๆ ไม่ว่าจะเป็นการพูดถึงความเดียวดายในโลกยุคสมัยใหม่ การดิ้นรนของผู้คนในโลกของทุนนิยม การโค่นล้มทุนนิยมสามานย์ ภาวะทางจิตเวช ความหลากหลายทางเพศสภาพ การเหยียดสีผิว ความน่ากลัวของการใช้ชีวิตในระบบดิจิทัล ลามไปถึงการแซะการเมืองแห่งยุคสมัยไม่ว่าจะในสเกลเล็กๆ อย่างในที่ทำงาน สเกลใหญ่ขึ้นอย่างเช่นประเทศตัวเอง (ฉากตัดต่อให้โอบาม่าและทรัมป์พูดให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในบทยังทำเอาขนลุกอยู่) รวมถึงการแซะพี่ใหญ่อย่างจีนว่าเป็นผู้กุมอำนาจมืดอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์สำคัญต่างๆ ผ่านการเล่าผ่านมุมมองของคนธรรมดา (?) ที่มีปัญหาชีวิตส่วนตัวมากมาย แต่พยายามตั้งใจจะเปลี่ยนโลกรอบตัวที่มีแต่นายทุนที่คอยรีดไถผลประโยชน์เรา

นอกจากประเด็นทุกรูปแบบที่ใส่เข้ามาได้อย่างลงตัว มันยังมีความเจ๋งในแง่ที่หลายตอนก็มี narrative ของการเล่าและ mood ที่แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะทำธีมเลียนแบบซิทคอมเก่าๆ, ทำเป็นตอนที่เน้นการจารกรรมแทบจะเป็นหนัง heist ได้เลย, ทำ apocalyptic drama ให้ดู dystopia ได้หม่นมากๆ, ถ่ายแบบ long take ทั้ง episode, รวมถึงมีตอนที่ทำเป็นละครเวที 5 act ทั้งหมดนี้ ทำได้ถึง และเวิร์คมากทุกรอบจนน่าตกใจ (รวมถึง song choice ที่ใช้เป็น soundtrack แต่ละตอนก็นับได้ว่าเจ๋งเอามากๆ)

เอาจริงๆ เรายังนึกออกถึงตอนที่ทุกคนประท้วงที่ The King’s Speech ชนะ The Social Network ในออสการ์ปีนั้น แล้วมีคนบอกว่า The King’s Speech อาจจะเป็นหนังที่ดี แต่ The Social Network เป็นหนังที่ define และเป็นตราประทับแห่งยุคสมัยของเรามากกว่า มานั่งตกตะกอนหลังดู Mr.Robot จบ เราก็รู้สึกแบบเดียวกัน นี่แหละ คือซีรีส์ที่ define ทั้งหลักวิธีคิด ความเป็นปัจเจกที่กำลังดำเนินชีวิตอยู่ในช่วงชีวิตแห่งโลกทุนนิยม และความโสมมของยุคสมัยที่เราใช้ชีวิตอยู่ได้ตรงจนน่าขนลุกโดยแท้


© Diversion, Damned Films, Sluizer Film Productions, M_GO Films, Mit Out Sound Films

สัณห์ชัย โชติรสเศรณี : รองผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ฯ

เวลา (Anatomy of Time) (2021, จักรวาล นิลธำรงค์)

เวลา หรือ Anatomy of Time ผลงานเรื่องล่าสุดของ จักรวาล นิลธำรงค์ ที่ได้รับเลือกให้ฉายในเทศกาลหนังเวนิซ เล่าเรื่องราวของหญิงสาวในวัยชราที่ต้องดูแลสามีอดีตนายพลใหญ่ที่นอนติดเตียง ตัดสลับกับ เหตุการณ์อดีตที่เธอยังสาวสะพรั่งที่มีหนุ่มๆ มาติดพัน ความสัมพันธ์ของเธอกับนายทหารเสธ (นายพลในวัยเยาว์) และชายหนุ่มคนรักคนแรกของเธอ

Anatomy of Time พาคนดูไปชำแหละ “เวลา” ในรูปแบบภาพยนตร์ศิลปะ (ที่ต้องอาศัยการคิดต่อ ตีความ ถกเถียง) 

เราได้เห็นความโหดร้ายของเวลา ในการพรากความสวยงาม หอมหวานของวัยเยาว์ ผ่านการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย และแน่นอนการไปถึงปลายทางของชีวิตทุกคน และเช่นกันเวลาก็ก่อให้เกิดวัฏจักรแห่งชีวิตที่วนเวียนเกิด แก่ เจ็บ ตาย 

นอกจากนี้ “เวลา” ยังเป็นตัวทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคม เศรษฐกิจ การเมือง คนที่เคยมีอำนาจบารมีมากๆ เวลาผ่านไป พวกเขาก็เป็นเพียงคนชรา หรือบางคนอาจจะเผชิญโรคภัยไร้ประสิทธิภาพ ไม่ต่างจากคนบ้า 

“เวลา” ในหนังยังเจ้าเล่ห์ เพราะ มันไม่ได้เรียงลำดับตาม “กาลเวลา” แต่มันกับสลับไปมา จนถึงที่สุดแล้ว เราอาจจะไม่แน่ใจด้วยซ้ำ่ว่าเหตุการณ์ที่เราเห็นอยู่ข้างหน้านั้นมันเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ก่อนหน้า หรือข้างหลัง ฉากนั้นอย่างไร หรือมันเป็นเพียงความคิดฝัน หรือ สิ่งที่เกิดขึ้นอดีต หรือ ห้วงคำนึงของตัวละคร เราก็ไม่รู้

อีกหนึ่งสิ่งที่ไม่พูดไม่ได้เลยคือ นักแสดงอย่าง เทวีรัตน์ ลีลานุช โดดเด่นอย่างมากกกก ในบทนางเอกในวัยชรา (เธอคือผู้รับบทแม่ของมณีจันทร์ ในทวิภพ ฉบับสุรพงษ์ พินิจค้า และเป็นนางแบบดังในอดีต) ด้วยจังหวะการแสดง การพูด และรูปร่าง ของเทวีรัตน์ ดูไปดีกับหนังเรื่องนี้ คิดว่า คนที่ได้ดูหนังเรื่องนี้ทุกคน จะต้องเซอร์ไพรส์กับเธอคนนี้แน่นอน


ชญานิน เตียงพิทยากร : นักวิจารณ์

I Was at Home, But… (2019, Angela Schanelec, Germany/Serbia)

หนังเล่าเรื่องคนหมดแรงในโลกที่เหมือนถูกลดทอนจนเหลือแต่ลมหนาว แต่ทั้งที่ลดทอนจนเนื้อเรื่องแห้งผากขนาดนั้น พลังของความรู้สึกสั่นคลอนไม่มั่นคงก็ยังรุนแรง พลังของการไม่เล่าถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหว (และเมื่อหวังว่าเรื่องย่อทางการจะช่วยแอบเฉลยคำตอบ เราก็พบว่าเว็บหนึ่งเขียนอย่าง อีกเว็บเขียนอีกอย่าง และทั้งคู่อยู่ในหนังอย่างเบาบาง) เหลือไว้แค่อาฟเตอร์ช็อคครั้งแล้วครั้งเล่า แรงกระทบอื่นที่ไม่เกี่ยวกับแผ่นดินไหวนั้นครั้งแล้วครั้งเล่า แล้วเชื้อเชิญให้เราทำหน้าที่เครื่องตรวจจับแรงสั่นสะเทือน–แรงสั่นที่อาจมองเห็นหรือวัดค่าได้แค่ในหนังที่นิ่งและน้อยเท่านี้

Angela Schanelec เขียนตัวละครในเรื่องอย่างแก้วแตกที่กำลังพยายามกอบเก็บซ่อมแซมตัวเอง แต่ไม่ได้ให้เห็นแค่แก้วใบนั้น หรือร่องรอยที่ทิ้งไว้บนพื้นหลังถูกทำให้ตกแตก เศษแก้วชิ้นสำคัญอาจกลับมาต่อติดแล้วโดยที่เราไม่ทันรู้ตัว สายตาของหนังละเอียดและท้าทายในระดับที่ให้เรามองเส้นสายขอบคมของรอยแตก มองเห็นรอยร้าวที่กะเทาะเกิดใหม่ตรงหน้า (หรือลับหลัง) มองเห็นเศษบิ่นที่กระเด็นไปจมฝุ่นอยู่ใต้เครื่องเรือนชิ้นอื่น (และบางทีอาจเป็นเศษบิ่นของแก้วใบอื่นในบ้านเดียวกัน) บางทีก็พาไปมองอย่างอื่นทั่วบ้านที่แก้วเคยตั้งอยู่ก่อนตกแตก แต่บางอย่างก็ไม่ได้เกี่ยวหรือไม่รู้ว่าเกี่ยวกับแก้วอย่างไร

การเล่าข้ามด้วยน้ำหนักมือที่แม่นยำอย่างมหัศจรรย์ ค่อยๆ ดึงให้เราร่วมรู้สึก ค่อยๆ เปิดตาให้เราเริ่มมองเห็นการทำงานของ but… อันซับซ้อนสับสน ภายใต้เปลือกนอกของตัวละครซึ่งกำลังพยายามอย่างยิ่งที่จะกลับสู่สภาวะ at home

[HONORABLE MENTION]
in alphabetical order

– All the Dead Ones (2020, Caetano Gotardo & Marco Dutra, Brazil/France)
– Brokeback Mountain (2005, Ang Lee, US/Canada)
– The Death of Mr. Lazarescu (2005, Cristi Puiu, Romania)
– The Edge of Daybreak | พญาโศกพิโยคค่ำ (2021, ไทกิ ศักดิ์พิสิษฐ์)
– episode 3-4 ของ I Promised You the Moon (2021, ทศพร เหรียญทอง) series
– First Cow (2019, Kelly Reichardt, US)
– Fifth Cinema (2018, Nguyễn Trinh Thi, Vietnam) mid-length
– Future Lasts Forever (2011, Özcan Alper, Turkey/Germany/France)
– Germany Year Zero (1948, Roberto Rossellini, Italy/France/Germany)
– Good News, Comrades! (2021, Lars Karl Becker, Germany) short
– Her Socialist Smile (2020, John Gianvito, US)
– The Piano Teacher (2001, Michael Haneke, France/Austria/Germany)
– The Power of the Dog (2021, Jane Campion, UK/Canada/Australia/New Zealand)
– A Question of Silence (1982, Marleen Gorris, Netherlands)
– Repentance (1984, Tenghiz Abuladze, Georgia)
– Subarnarekha | The Golden Thread (1965, Ritwik Ghatak, India)
– Something Useful (2017, Pelin Esmer, Turkey/France/Germany/Netherlands)
– The Trouble with Being Born (2020, Sandra Wollner, Austria/Germany)
– Woman in the Dunes (1964, Hiroshi Teshigahara, Japan)
– Yuni (2021, Kamila Andini, Indonesia/France/Singapore/Australia)


มิสเตอร์อเมริกัน

kobayashi-san chi no maid dragon (Tatsuya Ishihara ,Yasuhiro Takemoto) (2021) (สองซีซั่น รวม 25 ตอนจบ)

ปีนี้เลือกยากมากว่าจะเอาเรื่องไหนดี เพราะ มีเรื่องที่น่าประทับใจและชอบหลายเรื่อง อาทิ Zombieland Saga Revenge ภาคต่อของซอมบี้ไอดอลที่สนุกเหมือนเคย, Super Cub อนิเมะโฆษณามอเตอร์ไซด์ที่สนุกอย่างน่าเหลือเชื่อจนอยากมีรถกับเขาบ้าง หรือกระทั่ง Violet Evergarden Movie ที่เป็นอนิเมชั่นที่บอกว่า ญี่ปุ่นไปไกลกว่าอนิเมะ Pixar หรือ Disney แล้ว แต่สุดท้ายก็มาจบที่แอนิเมชันแนวตลกครอบครัวแฟนตาซีจากค่ายเกียวอนิเรื่องนี้แทน

ปีก่อน Zombieland Saga แทบจะเป็นงานกราบเท้าจอร์จ เอ โรเมโร่ และ บรรดาหนังเกรด Z ในตำนานทั้งหลาย แต่ Kobayashi-san chi no maid dragon คือ งานโอสุ ในยุคเรย์วะ ที่ดำเนินเรื่องราวของโคบายาชิ สาวบ้านนอกหน้าตางั้นๆ แถมออกจะเหมือนผู้ชายที่มาทำงานในบริษัทคอมพิวเตอร์ที่โตเกียว และ ต้องผ่านความกดดัน การเหยียดเพศ และ ความเหงาของชีวิต ตัวเธอมีความสุขแค่การได้นั่งกินเบียร์เมาไปวันๆ ไม่มีจุดหมาย ไม่มีความฝัน จนวันหนึ่งเธอที่เมาเอ๋หลังโดนเจ้านายด่าก็ไปช่วยชีวิตมังกรสาวโทรุที่ถูกดาบเสียบมาจากมิติไว้ ด้วยความที่มังกรมีกฏว่า ต้องทดแทนบุญคุณคนช่วยชีวิต โคบายาชิที่เมาก็พูดไปว่า อยากได้เมดเว้ย อยากได้เมดมาดูแลตัวเองมั้ง ทำให้วันต่อมา เธอได้พบว่า มังกรโทรุกลายเป็นเมดมาดูแลเธอจริงๆ

ความวุ่นวายของเมดมังกรกับโคบายาชิเริ่มขึ้นพร้อมกับการพาตัวละครมากมาย มังกรหลากแบบมายังโลกนี้ ทำให้ชีวิตของเธอไม่ได้เหงาอย่างที่เป็น

โคบายาชิซังเป็นงานที่เรียกด้านกลับของโอสุ ตรงที่มันเล่าถึงนิยามครอบครัวในยุคใหม่ มันไม่จำเป็นต้องเป็นชายหญิงหรือเพศเดิมอีกต่อไป ตัวละครในเรื่องมีเพศสภาพที่เลื่อนไหล เพราะ มันถามว่า ครอบครัวคืออะไร ความสุขคืออะไร ผ่านโคบายาชิที่ตอนแรกรังเกียจรังงอนกับความวุ่นวายนี้แต่กลับกลายเป็นว่า เธอค่อย ๆ ปรับตัวให้เข้ากับมังกรที่เข้ามาในชีวิต จากสาวที่ไม่มีความเป็นแม่ หรือ พ่อ กลับทำงานเพื่อจะไปดูคันนะ มังกรน้อยวัยประถมเล่นกีฬาสีทั้งที่ไม่เคยทำ (และวันหยุดของพนักงานเดินสำคัญมากๆ) เธอกลับยอมทำ เช่นเดียวกับมังกรอย่าง โทรุ คันนะ และ ตัวอื่นๆ ก็ได้เรียนรู้ความเป็นมนุษย์ ความรัก ความสุข และ การเป็นครอบครัวไปพร้อมกัน แม้ว่า อายุของมนุษย์จะสั้นกว่ามังกร แต่นั้นไม่ใช่ปัญหาเลย

แบบที่โทรุ เมดมังกรบอกว่า อายุเป็นพันๆ ปีของเธอไร้ความหมายจนกระทั่งได้เจอกับโคบายาชิและใช้ชีวิตด้วยกัน ณ เวลานี้

เหมือนบอกเราว่า ชีวิตนิรันดร์สู้ช่วงเวลาที่มีความสุขนี้ไม่ได้เลย แม้จะสั้นแค่ไหน

มันก็งดงามและเปี่ยมด้วยความหมาย

โคบายาชิเมดดราก้อนจึงเป็นงานคอมเมดี้ครอบครัวที่เรียกว่า เป็นการเกิดใหม่อีกครั้งของค่าย เกียวโตอนิเมชั่น (เกียวอนิ) ภายหลังเหตุการณ์วางเพลิงในปี 2019 และนำไปสู่การสูญเสียครั้งสำคัญเนื่องจากผู้กำกับ Yasuhiro Takemoto คนกำกับซีซั่นแรกเสียชีวิตในเหตุการณ์นี้ด้วย แต่ถึงจะเหตุการณ์นี้เกียวอนิก็ยังคงมุ่งมั่นและสร้างผลงานใหม่ๆ ออกมาโดยเริ่มจากเรื่องนี้ (และไปพีคกับ Violet evergarden Movie)

ที่บอกว่า ไม่ว่าจะเจ็บปวดเพียงใด ถ้ามีกันและกัน ต้องผ่านไปได้

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here