Home Article FILM CLUB Year List 2021 (Part 4)

FILM CLUB Year List 2021 (Part 4)

0
FILM CLUB Year List 2021 (Part 4)

(รายชื่อรอบแรก) | (รายชื่อรอบสอง) | (รายชื่อรอบสาม)

ในที่สุดปี 2021 ก็ผ่านเราไปอย่างใจหายใจคว่ำ อย่างหืดขึ้นคอ ไม่แพ้ปี 2020 โรงหนังกลับมาเปิดแล้วในช่วงครึ่งปีหลังแต่ยังลูกผีลูกคน กิจการ Streaming ภาพยนตร์เติบโตต่อเนื่องและอาจจะน่ากังขาพอๆ กับน่าชื่นชม ความตายรายวันของผู้คนในประเทศจากโรคระบาด การชุมนุมที่ซบเซาลงทั้งจากโรคและการออกหมายจับรายวันจนถึงวันนี้ 

ผู้คนก็ยังคงดูหนังกันอยู่ ทั้งแบบออกนอกบ้านและไม่ออกนอกบ้าน ทั้งแบบเดิมที่ตั้งใจดูและแบบใหม่ที่ดูไปแชตไป เทศกาลกระจุกตัวในห้วงเวลาสั้นๆ ท้ายปีจนแทบชนกันตายเพราะไม่รู้ว่าอนาคตจะเกิดอะไรขึ้นและเลื่อนจากอดีตมาหลายคำรบแล้ว 

ในปีที่ยากลำบากนี้ FILM CLUB ขออนุญาตรวบรวมหนังแห่งปี 2021 ของหลากหลายผู้คนในแวดวงภาพยนตร์ ทั้งผู้กำกับ นักวิจารณ์ ผู้ชม และทีมงานของ FILM CLUB เองไว้สำหรับเป็นตัวเลือกในมหกรรมวันหยุด ในปี 2022 ที่กำลังมาถึงนี้ โดยไม่จำกัดทั้งหนังโรง หนังสตรีมมิ่ง หนังเทศกาลหรือวิดีโออาร์ต ทีวีซีรีส์ ไปจนถึงภาพยนตร์ตามช่องทางธรรมชาติ ไม่จำกัดปีที่หนังฉาย และรูปแบบการฉาย แต่ละท่านสามารถเลือกหนังได้อย่างเสรีตามประสบการณ์การดูหนังของแต่ละท่านเอง


บดินทร์ เทพรัตน์ : นักวิจารณ์ภาพยนตร์ และผู้ก่อตั้งกลุ่มฉายหนังปันยามูฟวี่คลับ

Taste of Cherry (1997, Abbas Kiarostami, Iran)

ในช่วงที่ผ่านมามีหนังที่พูดถึงความตายและคุณค่าของชีวิตออกมาหลายเรื่อง แต่เรื่องที่ผมมองว่าถ่ายทอดประเด็นนี้ได้อย่างน่าสนใจ ลึกซึ้ง คมคายมากที่สุด ได้แก่หนังเก่าอย่าง Taste of Cherry (รับชมได้ทาง mubi) ซึ่งผมเพิ่งดูซ้ำอีกครั้งและชอบมากกว่าตอนดูครั้งแรกเมื่อ 20 ปีก่อนหลายเท่า

หนังเล่าเรื่องราวของ ‘บาดี’ ชายวัยกลางคนที่ต้องการกินยานอนหลับฆ่าตัวตายแล้วถูกกลบฝังไว้ในหลุมข้างต้นไม้บนยอดเขา เขาขับรถวนเวียนไปมานอกเขตเมืองเตหะรานเพื่อติดต่อจ้างวานคนแปลกหน้าให้ช่วยเอาดินฝังกลบศพของเขา แต่มักถูกปฏิเสธกลับมาเนื่องจากมันเป็นภารกิจที่สร้างความกระอักกระอ่วนให้ผู้ถูกว่าจ้างและถูกมองว่าเป็นเรื่องผิดบาปทั้งทางด้านศาสนา กฎหมาย และความเชื่อในสังคม 

Taste of Cherry ปรากฏลายเซ็นของผู้กำกับเคียรอสตามีซึ่งได้ชื่อว่าเป็นกวีของภาพยนตร์อย่างชัดเจน ทั้งความเรียบนิ่ง เน้นความสมจริง พล็อตเรื่องเบาบาง ไม่มีดนตรีประกอบ หลีกเลี่ยงการใช้เทคนิคทางภาพยนตร์เร้าอารมณ์หวือหวา โดยหนังเรื่องนี้ดำเนินเรื่องในรถเป็นส่วนใหญ่และขับเคลื่อนด้วยบทสนทนาเกือบทั้งเรื่อง นอกจากนั้นหนังยังหลีกเลี่ยงที่จะใส่ภูมิหลังหรือแรงจูงใจของตัวเอกว่าทำไมเขาถึงอยากฆ่าตัวตาย โดยปล่อยให้ผู้ชมตีความหรือจินตนาการเอง จึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้ชมหลายคนจะรู้สึกเข้าไม่ถึงตัวละครและเหมือนถูกผลักออกไปจากหนัง (รวมถึงผมในตอนที่ดูหนังเรื่องนี้ครั้งแรกด้วย) แต่พอได้ดูหนังเรื่องนี้อีกครั้ง กลับรู้สึกชอบที่หนังไม่ชักจูงผู้ชมจนเกิดเหตุ และเปิดโอกาสให้ผู้ชมตีความได้เต็มที่

หนังแสดงให้เห็นถึงแง่มุมหลากหลาย ทั้งจาก ‘ฝั่งที่ไม่เห็นด้วยกับการฆ่าตัวตาย’ ซึ่งมาจากความเห็นของเหล่าผู้คนที่บาดีว่าจ้างซึ่งหลากต่างวัยหลายความเชื่อ โดยมีตัวละครหนึ่งเล่าถึงประสบการณ์ตรงซึ่งเขาเคยคิดฆ่าตัวตาย แต่พอได้ชิมรสหอมหวานของเชอร์รี่ก็ทำให้ได้รับรู้ถึงความสวยงามของชีวิตและทำให้เขาอยากมีชีวิตอยู่ แต่ในอีกมุมหนังก็แสดงให้เห็นแง่มุมของ ‘คนที่อยากฆ่าตัวตาย’ ซึ่งไม่ได้ถูกนำเสนอแบบ stereotype แต่เป็นการมองแบบไม่ตัดสินและเปิดโอกาสให้ผู้ชมตีความได้หลากหลาย 

กล่าวโดยสรุปคือ Taste of Cherry ไม่ได้มีทีท่าสั่งสอน, ให้กำลังใจแบบตรงๆ, หรือให้คำตอบสำเร็จรูป (เหมือนหนังที่พูดถึงการฆ่าตัวตายเรื่องอื่นๆ) แต่ Taste of Cherry เป็นยาขมที่ทำให้เรากล้ามองสิ่งที่เป็นประเด็นต้องห้ามแบบตรงๆ แล้วนำไปสู่การใคร่ครวญพิจารณาที่ต่อเนื่องยาวนาน


https://www.youtube.com/watch?v=TBSkJpH97HU

ธีรพันธ์ ​เงาจีนานันต์ : ผู้กำกับภาพยนตร์สารคดี ‘ไกลบ้าน’

Midnight Mass (2021, Mike Flanagan, USA)

ส่วนตัวติดตามผลงานของ Mike Flanagan แล้วก็รู้สึกว่าเป็นงานที่เล่าเรื่องผีสาง ความกลัวอะไรตรงทาง สะกิดหัวใจมากๆ คืองานของเขามันพูดถึงมนุษย์เยอะมากๆ

พยายามเริ่มดูเรื่องนี้แบบไม่รู้อะไรเลย แล้วก็ปล่อยให้ตัวเรื่องพาเราไปตามทางที่อยากให้ไป ซึ่งตลอดการดูก็ตื่นตะลึงกับความเก่งฉกาจในการเล่าเรื่องและผูกประเด็น ไม่รู้พูดแล้วจะดูเวอร์ไปไหม แต่รู้สึกแบบนั้นจริงๆ

คือมันว่าด้วยความโง่เขลาในความเชื่อ ศรัทธา ความหวังดี ที่อาจนำพาชีวิตและสังคมไปสู่ความชิบหาย ปีศาจภายใต้คำอ้างของความดี และความเลื่อนไหลในการตีความศาสนาและความเชื่อ

และไม่ใช่แค่ประเด็นที่รู้สึกว่ามันเก่ง การเล่าเรื่อง เล่าความเป็นมนุษย์ ความรู้สึกต่างๆ ก็เก่งมากๆด้วย มันมีทั้งความน่ารังเกียจและงดงามมากๆ ปะปนกันไปในตัวละครที่ถูกเล่าออกมา ช่วงท้ายๆ ของซีซั่นดูรวดเดียวจนจบเลย

จำได้ว่าดูจบตอนเช้าพอดี ความรู้สึกตอนนั้นคือมันเศร้าและว่างเปล่าตกค้างอยู่ในใจนานพอสมควร


วรรษชล ศิริจันทนันท์ : นักเขียนประจำ Film Club

The Hand of God (2021, Paolo Sorrentino, Italy) 

ช่วงที่ได้ดูเรื่องนี้เป็นช่วงที่ความทรงจำสองอย่างในชีวิตถูกกวนขึ้นมาจากก้นแก้วที่ของเหลวเป็นกาแฟสีดำสนิทจนหากไม่กวนขึ้นมาหรือทำมันหกด้วยอุบัติเหตุบางอย่างก็คงไม่มีวันเห็น นั่นคือความทรงจำเกี่ยวกับชีวิตช่วงสั้นๆ ที่อิตาลี และความทรงจำถึงครั้งแรกที่รู้สึกอย่างชัดเจนแจ่มแจ้งว่าอยากทำอะไรต่อไปในชีวิตข้างหน้า—ฟาบิเอ็ตโตเป็นอย่างเรา และเราก็เป็นอย่างฟาบิเอ็ตโต เพียงแต่ชีวิตไม่ได้เล่นตลกกับเราแบบที่มันเล่นตลกกับเขา และในความเป็นเด็ก เราจับจ้องความงดงามของสถานที่และผู้คนได้ไม่แม่นยำเท่าเขาแม้สักนิด 

สำหรับเราแล้ว เมืองที่เราอยู่นั้นออกจะแห้งแล้งและแบนราบ ทุกคนและทุกอย่างดูเหมือนกันไปหมด มันจึงเป็นการยากที่จะหยิบจับอะไรมาตั้งไว้เป็นอนุสรณ์สถานแห่งความทรงจำ แต่นาโปลีไม่ใช่เมืองประเภทนั้น มันมีชีวิตอยู่ข้างใน มันมีความดิบเถื่อนที่แม้จะมองผ่านสายตานักท่องเที่ยวก็ยังน่าค้นหาและเข้าไปหาคำตอบบางอย่าง มันมีแสงอาทิตย์จ้า เงาระยับของน้ำทะเล และสีสีนของตึกเตี้ยๆ ที่เรียงตัวยาวต่อกันไปจนมองจากท่าเรือกลับไปแล้วดูเหมือนขบวนรถไฟที่ไม่มีตู้สุดท้าย และชาวนาโปลิตันก็กำลังเดินทางไปหาความฝันของตนด้วยรถไฟขบวนนั้น 

เปาโล ซอร์เรนติโน ทำให้เราผู้เคยเห็นนาโปลีเพียงสามวัน รู้สึกเหมือนได้กลับไปอยู่ที่นั่นนานสามปี เราได้ทำความรู้จักครอบครัวของฟาบิเอ็ตโตที่มีทั้งพ่อ แม่ พี่ชาย พี่สาว และบรรดาญาติสนิทมิตรสหายสุดป่วง โดยมี ‘ดิเอโก มาราโดนา’ เชื่อมร้อยพวกเขาเอาไว้ ซอร์เรนติโนถักทอชิ้นส่วนความทรงจำในช่วงวัยรุ่นของตัวเองเข้าไว้ด้วยกันอย่างเรียบง่ายแต่ก็เก่งกาจ ตัวละครที่แม้จะเขียนขึ้นจากผู้คนในชีวิตจริงถูกปรับเติมเสริมแต่งจนเราหลงรักและละสายตาไม่ได้ ซอร์เรนติโนทำให้เราอิ่มเอมกับความสัมพันธ์ทั้งรักทั้งชังของพวกเขา เพราะในชีวิตเรา อาจมีสัดส่วนของความชังอยู่มากกว่า 

และในระหว่างที่เส้นเรื่องหลักของหนังดำเนินไป มันก็ถูกปะชุนด้วยห้วงบันทึกความทรงจำของซอร์เรนติโนเกี่ยวกับภาพยนตร์ ที่แม้จะไม่สนทนากันเองมากพอจะเป็นเส้นเรื่องของตัวเอง แต่รอยปะชุนนั้นก็ปรากฏอยู่ตลอดสองชั่วโมงกว่าของหนัง บางทีก็เป็นเฟลลินี บางทีก็เป็นคาปูอาโน บางทีก็เป็นม้วนวิดีโอ Once Upon a Time in America ที่ไม่ถูกเปิดดูเสียที ฟาบิเอ็ตโตกล่าวกับน้าสาวตอนไปเยี่ยมเธอที่สถานบำบัดว่า เขาอยากเป็นผู้กำกับ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่คนดูได้รับข้อมูลนั้น และน่าจะเป็นครั้งแรกเช่นกันที่ฟาบิเอตโตได้พูดมันกับคนที่เขาไว้ใจ สำหรับเรา นั่นเองที่เป็น magic moment ของหนัง มันเงียบงันและเรียบง่าย แต่ก็จับใจเกินกว่าจะลอยผ่าน มันชวนให้เรานึกถึงครั้งแรกๆ ที่เราบอกเล่าความฝันให้คนที่เราไว้ใจได้ฟัง สายตาและใบหน้าของน้าสาวทำให้นึกถึงเรื่องของเรา ทุกอย่างเริ่มต้นขึ้นในวินาทีแบบนั้นเอง


ปริชาติ หาญตนศิริกุล : นักเขียนรับเชิญ Film Club 

4Kings (2021, พุฒิพงษ์ นาคทอง)

ยอมรับว่าครั้งแรกที่เห็นตัวอย่างหนังเรื่องนี้เราไม่สนใจ ยังไม่มีความคิดอยากดูเท่าไหร่ 

แต่พอเห็นเพื่อนๆ บนไทม์ไลน์เฟซบุ๊กเขียนรีวิวกับกระแสนักวิจารณ์ที่พูดถึงหนังเรื่องนี้บ่อยๆ ในทางบวก ทำให้เราคิดว่า เออ ลองไปดูหนังเด็กอาชีวะก็ได้วะ ซึ่งพอดูจบเรากลับประทับใจหนังเรื่องนี้ค่อนข้างมาก เพราะมันพาไปสำรวจโลกอีกด้านหนึ่งที่ไม่ค่อยมีพื้นที่สื่อในสังคมไทย โดยส่วนตัวเรามองว่าโลกของนักเรียนอาชีวะมันเป็นพื้นที่ห่างไกลจากคนแบบเรามาก เพราะเราเป็นชะนีชนชั้นกลางที่เติบโตมากับหนังรอมคอม GTH ไม่ก็หนังวัยรุ่นฝรั่ง นอกจากข่าวนักเรียนอาชีวะตีกัน เราแทบไม่รู้จักโลกอะไรของนักเรียนอาชีวะเลย

เหตุที่เราถึงเลือกให้ 4Kings ให้เป็นภาพยนตร์แห่งปี เพราะสิ่งที่ปรากฏใน 4Kings มันสะท้อนว่าสังคมไทย ‘บ้าสถาบัน’ ถึงเพียงไหน สถาบันที่อยู่ใน 4Kings หลักๆ เลยคือสถาบันการศึกษา สถาบันครอบครัว ตามด้วยสถาบันทางกฎหมาย ในส่วนที่ปรากฎในหนังสถาบันกฎหมาย คือผู้บังคับใช้กฎหมาย-ตำรวจ และทัณฑสถานคือบ้านเมตตา

สำหรับสถาบันการศึกษา ซึ่งเป็นปมสำคัญของหนังและดูเหมือนว่าจะเป็นสิ่งเดียวที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของบรรดาตัวละครหลัก 

ฉากหนึ่งในบ้านเมตตาตัวละครต่างสถาบันต่างตั้งคำถามกันว่า ‘ทำไมถึงตัดสินใจเลือกเรียนที่นี่’ ถ้าคำถามนี้ถูกพูดขึ้นในหนังวัยรุ่นนักเรียนคอซอง ฉากนี้ (ส่วนมาก) ก็คงต้องออกมาในโทนภาพการมีความหวัง แต่พอมันมาปรากฏในหนังเรื่องนี้ เราไม่สามารถพูดได้เลยว่าตัวละครมีความหวัง เพราะในความเป็นจริงพวกเขาเป็นเพียงเด็กที่ไม่มีที่ไป ไม่มีความฝันชัดเจนในระบบการศึกษา เมื่อตัวละครแต่ละคนต่างไม่รู้ว่าจะตอบอย่างไร พวกเขาทำได้แต่ ‘มองโลกในแง่ดี’ หาข้อดีว่าพวกเขาเรียนรู้อะไรบ้างจากการศึกษาอยู่ในรั้วสถาบันอาชีวะ

ส่วนสถาบันครอบครัว ถ้าเราสังเกตดีๆ ตัวละครแทบทุกคนที่ถูกตราหน้าเป็นเด็กเหลือขอ เป็น ‘ปัญหาสังคม’ ส่วนมากก็มาจากบ้านที่อยู่กันแบบปิตาธิปไตยเป็นหลักทั้งสิ้น บ้านที่น่าสงสารที่สุดสำหรับเราคือบ้านของอุ๊ แม้ว่าอุ๊จะเป็นแค่สาวพาณิชย์และมีพ่อเป็นตำรวจ แต่อุ๊เป็นผู้หญิงที่น่าสงสารมาก อุ๊ไม่สามารถเป็นเจ้าของชีวิตตัวเองได้ ไม่มีสิทธิแม้กระทั่งตัดสินใจอะไรในร่างกายตัวเองด้วยซ้ำ ราวกับว่าพ่อเนี่ยเป็นเจ้าของชีวิตอุ๊มากกว่าตัวอุ๊เองเสียอีก 

ตามท้องเรื่องของ 4Kings ชีวิตตัวละครนักเรียนอาชีวะนั้นเต็มไปด้วยความรุนแรง พวกเขาไม่ใช่แค่เป็นกลุ่มที่แก้ปัญหาด้วยการใช้กำลัง แต่พร้อมกันนั้นพวกเขาก็ถูกตอกกลับและ ‘สั่งสอน’ ด้วยความรุนแรงในนามของกฎหมายและความชอบธรรม ภาพยนตร์นำเราไปสู่การถ่ายทอดชีวิตคนในบ้านเมตตา ตลอดมาหากนับตามช่วงพ.ศ.ตามท้องเรื่องหรือปัจจุบัน สังคมไทยต่างมีความเชื่อว่าไม้เรียวนี่แหละสร้างคน ตัวละครหลักต่างสถาบันเข้าไปในคุกเยาวชนเพื่อรับการทำโทษ พวกเขาเป็นแค่นักเรียนที่ถูกเปลี่ยนสถานที่ทำโทษและรูปแบบการโบยตี จากโรงเรียนไปเป็นคุกเยาวชน จากครูและผู้ปกครองไปเป็นผู้คุมนักโทษ แต่การโบยตีในบ้านเมตตานั้นไม่ได้ช่วยเปลี่ยนแปลงอะไรให้คนเหล่านั้นเป็นมนุษย์ที่ดีขึ้น สำหรับโลกแห่งความเป็นจริง คุกมีไว้สำหรับเดนคนเท่านั้น ไม่ใช่สถานที่ที่ช่วยบำบัดความเป็นมนุษย์ที่ดี นี่คือบทบาทสถาบันกฎหมายที่สะท้อนอยู่ใน 4Kings

ไม่รู้ว่าเป็นความบังเอิญหรือตั้งใจ แต่ถ้าเราหันมามองด้านสถาบันการเมืองของไทย ในช่วงเวลาปัจจุบันที่หนังเรื่องนี้เข้าฉาย บทบาทอาชีวะที่มีต่อปรากฏการณ์การเมืองในช่วง 2 ปีที่ผ่านมานี้ สถาบันอาชีวะถูกนำกลับมาใช้ในฐานะกลุ่มตัวแทนทางการเมือง ทั้ง กลุ่มอาชีวะปกป้องสถาบันฯ ส่วนในฟากฝั่งประชาธิปไตยก็มี การ์ดอาชีวะ เช่นกัน การที่ภาพยนตร์ 4 Kings ฉายในเวลานี้มันยิ่งเป็นตัวสะท้อนว่าสังคมให้ความสำคัญและปฏิบัติต่อประชากรชายขอบเช่นนี้อย่างไร


พุทธพงษ์ เจียมรัตตัญญู : นักวิชาการอิสระ โปรแกรมเมอร์หอภาพยนตร์

พญาโศกพิโยคค่ำ (2021, ไทกิ ศักดิ์พิสิษฐ์)

ด้วยความที่ทำงานในสถานที่ที่มีโรงหนัง จึงไม่ได้มีอารมณ์คิดถึงโรงหนังมากเท่าไรนัก จนกระทั่งได้ดู “พญาโศกพิโยคค่ำ” ซึ่งได้ทำหน้าที่ปลุกศักยภาพด้านต่างๆ ของโรงภาพยนตร์ ที่มักถูกปล่อยให้หลับใหลมากกว่าที่จะได้รับโอกาสให้เผยตัวออกมา แม้บรรยากาศของหนังจะสะกดให้ตกอยู่ในภวังค์ ในความฝัน แต่ก็ระหว่างทางที่ชม ก็รู้สึกเหมือนถูกกระตุ้นให้รับรู้ได้ถึงพลังแห่งการมีอยู่ของโรงหนังแทบจะตลอดเวลา 

ในปีที่โรงหนังยังคงเป็นสถานที่แรกๆ ที่ถูกปิดและตกอยู่ในอันดับท้ายๆ ที่ถูกเปิด จึงอยากจะเลือก “พญาโศกพิโยคค่ำ” ให้เป็นหนังแห่งปีในแง่นี้ แม้จริงๆ แล้วภาพยนตร์เรื่องนี้จะมีอีกหลายแง่มุมที่สร้างความประทับใจโดยส่วนตัวก็ตาม


มโนธรรม เทียมเทียบรัตน์ : นักวิจารณ์ภาพยนตร์ นักเขียนประจำ Film Club

Danse Macabre/มรณสติ (2021, ธัญสก พันสิทธิวรกุล/พัศรวินทน์ กุลสมบูรณ์)

สร้างความปั่นป่วนได้หลากหลายแง่มุมดีแท้ ทั้งขณะดูหรือแม้แต่ให้รำลึกนึกถึง อย่างเช่น การจะให้ content บางอย่าง, เรื่องบางเรื่องสมควรจะได้รับการอ้างถึงหรือเปล่า (ขณะที่ในหนังก็กล้าพอที่จะใส่เข้ามาแบบไร้การประนีประนอม) ไม่ว่าในส่วนของฟุตภาพที่ใส่เข้ามา, ชื่อคนบางคน, เหตุการณ์สำคัญ ที่ทำให้รู้ว่าเรื่องบางเรื่อง ประเด็นบางประเด็นค่อนข้างมีข้อจำกัดเพดานของการถ่ายทอดว่าพูดได้แค่ไหน หลายๆ เหตุการณ์ได้ถูกนำมาใช้เป็นมาตรวัดระดับของความกล้า 

ช่วงที่กำลังทำการคัดเลือกก็ลังเลอยู่หลายนานว่าสมควรจะนับเรื่องนี้เข้าอันดับจะดีมั้ย ตราบใดที่ประเด็นเนื้อหาในเรื่องเข้าข่ายล่อแหลม ตัวหนังทั้งเรื่องเองก็ถูกทำขึ้นภายใต้ภาวะที่ทั้งกดดันและโกรธขึ้ง 

จริงๆ เรื่องนี้ เจ้าของงาน เขาทำออกมาสองแบบเป็น feature film ความยาวตามมาตรฐานคือ 89 นาที (ใช้ชื่อ ‘มรณะสติ’ Danse Macabre สำหรับฉายโรง แต่สู้ไม่ฉายดีกั่ว) กับเป็นแบบหนังสั้น (ใช้ชื่อ Dance of Death อันนี้ซอยออกถึงสองในสาม สิริรวมแล้วหายไปร่วมๆ ชั่วโมงกว่า) ซึ่งแลกกับการเปิดฉายในรูปแบบสาธารณะไปแล้วแน่ๆ ก็สองรอบ แต่ต่อให้เทียบกับเนื้อหาส่วนที่หายไป ส่วนที่ยังเหลืออยู่ก็ยังเข้าขั้นหนักหน่วง ฟุตบางช่วงดูน่ากลัวถึงขั้นที่ว่า ‘ร่างทรง’ อาจกลายเป็นหนังจิบลิเอาง่ายๆ (อย่างพาร์ตเหตุการณ์ 6 ตุลา กับกรณีสลายการชุมนุมของกลุ่มนปช.ที่กระทำการโดยรัฐล้วนๆ และเป็นเรื่องของคนธรรมดา อย่างกลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งเป็นฟุตที่ถ่ายตามหน้ารพ.ในคืนที่เกิดเหตุ) ซึ่งรอด จนกระทั่งมีให้เห็นในฉบับสั้นบางทีคนทำอาจต้องการพิสูจน์อะไรบางอย่างซึ่งเป็นเรื่องวิสัยโลกอย่างความตาย ก็ยังมีข้อจำกัดในตัว คนบางชนชั้นพูดได้, นำเสนอได้ (คดีฆาตกรรมน้องแก้มบนรถไฟ) พอไกลกว่านั้น + สูงขึ้นกว่านั้น กลายเป็นของต้องห้าม ซึ่งอะไรที่ไม่เห็นกันในฉบับสั้น เวอร์ชันยาวมีให้ดู แบบต่อให้เดาก็ไม่มีใครเดาผิด


https://youtu.be/mgY7V-nB3VI

ชลนที พิมพ์นาม : นักเขียนประจำ Film Club

[ MV ] KIRINJI – 時間がない (Jikanga Nai) (2018)
Dir: Eisuke Shirota

เพลงนี้อยู่ใน “Ai wo Arudake, Subete” อัลบั้มที่ 8 ของวง KIRINJI เพลงนี้แต่งโดย Takaki Horigome นักร้องนำและหนึ่งในผู้ก่อตั้งวง เอาเข้าจริงคือฟังมาหลายปีโดยไม่ได้ใส่ใจความหมายหรือเคยดู MV มาก่อน จนได้มาเห็น MV ในปีนี้เลยอยากรู้ความหมายเพลง ก็พบว่าเนื้อหามันช่างสิ้นหวังตรงข้ามกับเพลงแบบสิ้นเชิง เพราะว่าด้วยชายหนุ่มที่รู้ตัวอีกทีก็เข้าวัยกลางคนแบบไม่รู้ตัว และยังไม่ได้ทันได้เห็นโลกกว้างหรือทำตามความฝันเลย (ฮือ)

ส่วน MV มันเป็นการตีความที่ตรงไปตรงมาจากเพลงมากๆ โดยใช้ภาพลักษณ์ของ “มนุษย์เงินเดือน” อันแสนจำเจน่าเบื่อ ที่กำลังเต้นรำบนฟลอร์อย่างชำนาญลื่นไหลเพียงลำพัง เหมือนเป็นการดิ้นรนที่จะมีความสุขตามสังขารที่ร่วงโรยไปเรื่อยๆ 

ก็หวังว่าทุกคนจะยังค้นหาความสุขในชีวิตได้…ในภาวะอันน่าอึดอัดเช่นนี้


ฐิติคมน์ ญาณสมบัติ : cinephile

James Acaster: Cold Lasagne Hate Myself 1999 (2020, Daniel Lucchesi, UK)

โชว์สแตนด์อัพคอมเมดีความยาวสองชั่วโมงเศษ น่าจะเป็นครั้งแรกๆ ที่เจมส์ เอแคสเตอร์ขึ้นเวทีเล่าเรื่องชีวิตตัวเองจริงๆ จังๆ ไม่ใช่มหกรรมเล่าเรื่องแต่ง เล่าเป็นตุเป็นตะ เล่าไปเรื่อย เล่าจนเป็นมินิซีรีส์อย่างในโชว์ชุด Repertoire (ดูได้ใน Netflix) แต่เป็นการเปิดเปลือยตัวตน เล่าเรื่องที่ตัวเองกลายเป็นมีมในโลกอินเทอร์เน็ต การเลิกรากับคนรัก การแยกทางกับเอเจนต์ การบำบัดรักษาสุขภาพจิต ไปจนถึงการเมืองเรื่อง Brexit

เซนส์ตลกของเอแคสเตอร์ยังคงเฉียบขาด เขียนโชว์มีโครงสร้างแข็งแรง จังหวะมุกตลกเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ลูกล่อลูกชนแพรวพราว ช่างกัดช่างแซะ ดูแล้วสนุกกับการยั่วล้อและใช้ประโยชน์จากปฏิกิริยาของผู้ชมมากๆ รู้สึกว่าการจัดวางความสัมพันธ์ระหว่างตัวเอแคสเตอร์กับผู้ชมก็น่าสนใจดี เหมือนเอาความสัมพันธ์ระหว่างนักแสดงตลกสายไม่สนสี่สนแปด (หรือที่เอแคสเตอร์เรียกว่า edgy comedian) กับผู้ชมมากลับหัวกลับหางเสียใหม่

ในปีที่หดหู่ซึมเซา การได้หัวเราะต่อเนื่องสักสองชั่วโมงก็ถือเป็นประสบการณ์ที่ไม่เลวเลย

ดูได้ที่นี่


ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล : อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประธานกรรมการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย 

My Dear Exes (2021, Kazuhito Nakae/Chihiro Ikeda/Yusuke Taki)

ชื่อญี่ปุ่น Omameda Towako To San-nin No Moto Otto (โอมาเมะดะ โทวาโกะกับผ.เก่าสามคน)

ละครเล่าช่วงชีวิตยากๆ ผ่านเรื่องตลกหน้าตายของชีวิตประจำวันของโทวาโกะ ประธานบริษัทที่จริงๆ แล้วอยากเป็นสถาปนิกเฉยๆ ผ่านการแต่งงานมาสามครั้ง มีลูกสาวหนึ่ง มีเพื่อนสนิทที่ค้นหาความหมายของชีวิตจนถึงอายุสี่สิบอีกหนึ่ง และบิดาที่เป็นนักการเมืองอีกหนึ่ง 

เรื่องดำเนินไปเรื่อยๆ กับความพัวพันกับผ.เก่าสามคนที่มีทั้งเยื่อใย ความลับที่เพิ่งค้นพบ สลับไปเล่าถึงกิ๊กปัจจุบันของผ.เก่าทั้งหลาย และชีวิตรักของเพื่อนสนิท ทั้งหมดนี่มันมีเชื้อที่จะเป็นเรื่องดราม่าได้ง่ายๆ แต่มันก็ไม่ได้สร้างความกดดันอะไรให้เราที่เป็นคนดูเลย ทั้งที่หลายจังหวะต้องหยุดดูเพื่อจะทบทวนสิ่งที่ตัวละครพูดออกมา

ไม่รู้จะอธิบายยังไงว่ารู้สึกยังไงกับละครเรื่องนี้ แต่มันเต็มไปด้วยชีวิตชีวาทั้งที่เป็นชีวิตธรรมดา มันมีความเป็นมนุษย์ในขณะที่เล่าเรื่องเหมือนละครเวทีที่ขายขำขายความเวียร์ด ผ่านบทสนทนาที่บรรจงเลือกสรรมาให้จิ้มใจคนดู แบบไม่ปราณีทั้งด้วยเนื้อหาและด้วยโวหาร

ความกังวลความวิตกในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตของโทวาโกะ ตั้งแต่หินในรองเท้า มุ้งลวดหลุด น้ำไม่อุ่น แผลในปาก มันทำให้เรารู้สึกใกล้ชิดกับตัวละครมาก รวมไปถึงวิธีการที่ตัวละครแสดงออกต่อกันนั้นมันมีทั้งเก็บงำอย่างน่ารำคาญไปจนถึงตรงไปตรงมาจนใจเจ็บ ทั้งที่ตัวละครแต่ละตัวมันเป็นมนุษย์สุดโต่งแต่เราก็รู้สึกคุ้นเคยกับความแปลกประหลาดนั้น

สิ่งที่ช่วยบรรเทาความเวียร์ดในละครเรื่องนี้คือเพลงและภาพ โดยเฉพาะเพลงที่ใช้วงออเคสตร้าแต่งดนตรีประกอบมาทั้งเรื่อง แถมเพลงปิดเรื่องมีความแตกต่างไปนิดๆ หน่อยๆ ในแต่ละตอน เป็นกิมมิคเล็กๆ ที่ไม่ต้องมีก็ได้ แต่พอมีแล้วดีมาก และเรายินดีมากที่เรื่องและการแสดงมันก็คราฟท์พอๆ กับโปรดักชั่น

ตอนดูก็ค่อยๆ ดูไปทีละหน่อย ละเลียดไปเรื่อยๆ และรู้สึกได้ว่าคงจะได้ดูซ้ำอีกหลายรอบแน่ๆ


นิพันธ์ โอฬารนิเวศน์ : ศิลปิน

Otto (2012, Cao Guimarães, Brazil)

คืนหนึ่งในฤดูร้อนปลายปี 2010 Cao Guimarães นั่งดูหนัง Drifter (2007) ของเขาเองอยู่กับผู้ชมที่มีเพียงคนเดียวในโรงหนัง Cine Casablanca ใน Montevideo เธอนั่งอยู่นั่งแถวถัดไปข้างหลัง พวกเขาเพียงบังเอิญนั่งดูหนังในโรงหนังที่ว่างเปล่าเงียบงันนี้พร้อมกัน ในช่วงเวลาสำคัญของหนัง หญิงสาวลุกออกไปและเขาคิดว่าเธอคงไม่กลับมาแล้ว แต่ไม่ใช่ เธอกลับมาและยังกลับมานั่งเก้าอี้ตัวเดิม และเพราะเขาคิดว่าเธอพลาดฉากที่ดีที่สุดของหนังเรื่องนี้ไป หลังหนังฉายเขาจึงบอกเธอว่าควรดูหนังนี่อีกรอบ

พวกเขาออกจากโรงหนังพร้อมกันในคํ่านั้นและใช้ชีวิตด้วยกันจนปรากฏเป็นหนังให้คนดูได้มีส่วนร่วมเฝ้ามองห้วงเวลา 9 เดือนของการอุ้มท้องของหญิงสาวในหนังที่มีความยาว 71 นาที หนังที่การเฝ้ามองเป็นทั้ง process และเป้าหมาย

ไม่เคยดูหนังหรือรู้จักเขามาก่อน พอลองค้นๆ จึงเห็นชื่อ Cao Guimarães ปรากฏร่วมกับศิลปินชาวบราซิลอีกคนในงานบางชิ้นที่เรารู้จักและเคยดูในอินเทอร์เน็ต พบว่าเขาเป็นอีกคนที่ทำงานข้ามไปมาระหว่างหนังที่ฉายในเทศกาลฟิล์มกับงานวิดีโออาร์ตในเบียนนาเลหรือในคอลเลคชั่นของมิวเซียมสำคัญหลายแห่งอย่าง Tate หรือ Moma

Otto น่าจะเป็นหนังส่วนตัวมากที่สุดเรื่องหนึ่ง Cao Guimarães พูดไว้ในบางบทสัมภาษณ์ว่ามันเป็นงานที่เขาทำเพื่อลูกที่กำลังจะเกิดในตอนนั้น ใครดูก็จะพบว่าการจ้องมองในหนังทั้งหมดนั้นโอบล้อมวนเวียนอยู่กับเสี้ยวส่วน มุมบางมุม มุมเต็มมุมของใบหน้า วงมือ อิริยาบถของหญิงสาว เมียของเขา เราเห็นเธอออกกำลังกาย หัวเราะ ฮำเพลง ทำอาหาร หรืออ่านหนังสือที่เธอมักจะขีดเส้นใต้ใจความสำคัญที่ติดใจเอาไว้ มันคือ portrait ของเธอ ความเปล่งปลั่งของหญิงสาวกับความเป็นแม่และการมาถึงของเด็กชายอีกคน ลูกของพวกเขา

Otto ไม่ใช่หนังที่อัดแน่นด้วยเรื่องเล่า ไม่ใช่ทั้งสโลว์ซีเนมาหรือสารคดีแบบนั้น มันคือซีเควนซ์ของแอคชั่นเล็กๆ น้อยๆ อยู่ในเส้นทางที่เจ้าของงานเคยพูดไว้ในบทสัมภาษณ์บางที่หรือเห็นได้ในหนังหรืองานของเขา ความสนใจที่เขามีต่อ “… micro ordinary events in the day by day life…” เขาบอกว่าการเคลื่อนไหวเล็กๆ น้อยๆ ใน event เหล่านี้มีลักษณะ expressive ล้นเปี่ยม เล่าเรื่องบางอย่างได้และยังเปิดโอกาสให้ผู้คนครุ่นคิดต่อ ขึ้นอยู่กับว่าจะคว้าจับชั่วขณะที่ว่าหรือให้สุ้มให้เสียงกับมันอย่างไร มันยังดึงผัสสะเรื่องเวลาให้กลับมาสัมพันธ์กับเวลาในชีวิตจริงๆ เพราะเวลาอีกแบบใน perception ของเรานั้นถูกจัดการไปจนห่างจากจุดเริ่มต้นมากแล้วด้วยความเคยชินต่อวิธีการเล่าเรื่องและตัดต่อตามขนบของหนังเมนสตรีม

ตอนที่ดูครั้งแรกเราชอบล่ะ ไม่ใช่เพียงเพราะภาพมันสวยหรือเสียงดนตรีประกอบที่ทำงานกับภาพ แต่ในแง่ที่เราเห็นร่องรอยความรักที่มีต่อคนคนหนึ่งเต็มไปหมด

ที่เลือกพูดถึงเพราะหนังมันเยียวยาเราได้จากภาวะจิตตกในช่วงโควิด

ชื่อหนัง Otto คือชื่อของลูกชายของพวกเขา

ถ้าให้พูดสั้นๆ นี่คืองานที่ Cao Guimarães เฝ้าจ้องมองเมียและลูกในท้องที่กำลังเกิด

และเราอยากพูดอีกทีว่า นี่คือหนังรัก


อ่านต่อในตอนอื่นๆ : FILM CLUB Year List 2021 (Part 5)

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here