Home Article FILM CLUB Year List 2021 (Part 3)

FILM CLUB Year List 2021 (Part 3)

0
FILM CLUB Year List 2021 (Part 3)

(รายชื่อรอบแรก) | (รายชื่อรอบสอง)

ในที่สุดปี 2021 ก็ผ่านเราไปอย่างใจหายใจคว่ำ อย่างหืดขึ้นคอ ไม่แพ้ปี 2020 โรงหนังกลับมาเปิดแล้วในช่วงครึ่งปีหลังแต่ยังลูกผีลูกคน กิจการ Streaming ภาพยนตร์เติบโตต่อเนื่องและอาจจะน่ากังขาพอๆ กับน่าชื่นชม ความตายรายวันของผู้คนในประเทศจากโรคระบาด การชุมนุมที่ซบเซาลงทั้งจากโรคและการออกหมายจับรายวันจนถึงวันนี้ 

ผู้คนก็ยังคงดูหนังกันอยู่ ทั้งแบบออกนอกบ้านและไม่ออกนอกบ้าน ทั้งแบบเดิมที่ตั้งใจดูและแบบใหม่ที่ดูไปแชตไป เทศกาลกระจุกตัวในห้วงเวลาสั้นๆ ท้ายปีจนแทบชนกันตายเพราะไม่รู้ว่าอนาคตจะเกิดอะไรขึ้นและเลื่อนจากอดีตมาหลายคำรบแล้ว 

ในปีที่ยากลำบากนี้ FILM CLUB ขออนุญาตรวบรวมหนังแห่งปี 2021 ของหลากหลายผู้คนในแวดวงภาพยนตร์ ทั้งผู้กำกับ นักวิจารณ์ ผู้ชม และทีมงานของ FILM CLUB เองไว้สำหรับเป็นตัวเลือกในมหกรรมวันหยุด ในปี 2022 ที่กำลังมาถึงนี้ โดยไม่จำกัดทั้งหนังโรง หนังสตรีมมิ่ง หนังเทศกาลหรือวิดีโออาร์ต ทีวีซีรีส์ ไปจนถึงภาพยนตร์ตามช่องทางธรรมชาติ ไม่จำกัดปีที่หนังฉาย และรูปแบบการฉาย แต่ละท่านสามารถเลือกหนังได้อย่างเสรีตามประสบการณ์การดูหนังของแต่ละท่านเอง


กฤตภัทธ์ ฐานสันโดษ : แพทย์ นักเขียนประจำ Film Club

แสงมัวบอด (Blinded by the Light) (2011, ชนสรณ์ ชัยกิตติภรณ์)

การพูดถึงขบวนการแรงงานและสหภาพแรงงานดูจะเป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงมากขึ้นอีกครั้งหลังการรัฐประหารในปี ค.ศ. 2014 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการประท้วงต่อต้านการสืบทอดอำนาจรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชาในช่วง ค.ศ. 2020-2021 รวมไปการตีพิมพ์หนังสือรวมเล่มบทความชื่อ Autonomia : ทุนนิยมความรับรู้ แรงงานอวัตถุ และการเมืองของการปฏิวัติ (2018) ของ เก่งกิจ กิติเรียงลาภ ที่บทความ “เราทุกคนคือศิลปิน”: อวัตถุศึกษาว่าด้วยแรงงาน ได้ช่วยชี้ให้เห็นถึงการขูดรีดที่เปลี่ยนไปจากยุคอุตสาหกรรมสู่ยุคดิจิตัลในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 จนถึงต้นศตวรรษที่ 21 การค่อยๆ กลายเป็นแรงงานทางความคิดหรือแรงงานอวัตถุของคนร่วมสมัยจึงกลายเป็นข้อถกเถียงสำคัญที่ช่วยให้เรานึกถึงการจัดตั้งความสัมพันธ์แบบใหม่ขององค์กรแรงงานอวัตถุ ผ่านการต่อสู้เพื่อให้ได้การประกันรายได้พื้นฐานให้แก่การทำงานศิลปะ หรือรายได้พื้นฐานที่ปราศจากเงื่อนไขที่รัฐมีหน้าที่ต้องให้กับภาคแรงงานไม่เป็นทางการด้วย 

ดังนั้นแล้วแรงงานในอุตสหกรรมภาพยนตร์จึงถือเป็นแรงงานอวัตถุรุ่นแรกๆ ซึ่งสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นอวัตถุ โดยคร่าวๆ แล้วภาพยนตร์สั้นที่ผู้เขียนมีโอกาสได้ชมและคิดว่ามีข้อเสนอที่น่าสนใจต่อประเด็นแรงงานอวัตถุในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ได้แก่ People on Sunday (2020) โดย ตุลพบ แสนเจริญ 31 วันหรรษาสารขัณฑ์ (2021) โดย ธนกฤต กฤษณยรรยง จนถึง แสงมัวบอด (2021) โดย ชนสรณ์ ชัยกิตติภรณ์ ซึ่งจะขออนุญาตหยิบยกเพียงแค่ แสงมัวบอด (2021) มาพูดถึง

แสงมัวบอด (2021) เป็นวิดีโอขนาดยาว 22 นาที ที่รับเลือกฉาย International Premiere ใน The Southeast Asian Short Film Competition ที่งาน 32nd Singapore International Film Festival รวมถึงได้ทุนสร้างจากหอภาพยนตร์ โดยมีการจัดแสดงผลงานในรูปแบบวิดีโอจัดวาง (Video Installation) ในวาระโอกาสเฉลิมฉลอง 124 ปี วันกำเนิดภาพยนตร์ในสยาม

หากแต่ว่า แสงมัวบอด (2021) กลับเป็นการเฉลิมฉลองคนธรรมดาสามัญมากเสียกว่าจะเป็นการเชิดชูความศักดิ์สิทธิ์สถาพรของภาพยนตร์ที่แรกเริ่มเดิมทีนำเข้ามาผ่านราชสำนักเพื่อใช้บันทึกพระราชพิธีในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 แต่รัตน์ เปสตันยี กลับเป็นที่พูดถึงในฐานะผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยในช่วงทศวรรษ 1950-1960

นิทรรศการ แสงมัวบอด ถูกจัดวางและฉายด้วยฉากที่คล้ายกับภาพอธิบายทฤษฎีการหักเหของแสงที่ว่า เมื่อแสงเดินทางจากแหล่งที่มีค่าดัชนีหักเหมาก ไปแหล่งที่มีค่าดัชนีหักเหน้อย จะทำให้เกิดมุมหักเหของแสงเบนออกจากเส้นปกติ จอที่ฉายวิดิโอมีองศาที่คล้ายกับมุมหักเห ที่เมื่อผู้ชมนั่งดูจะพบว่าเป็นภาพสองจอปกติ แต่หากมองจากด้านข้างจะพบว่าจอทำมุมแบ่งออกเป็นสองจอ การดูวิดิโอบนจอที่ทำมุมจึงเป็นเสมือนการดูเงามากกว่าที่จะเป็นการดูแสง

การเกิดมุมหักเหของแสงแน่นอนว่าทำให้เกิดเงา เพราะมีการบังรังสีของแสง เงาดูจะเป็นส่วนที่ชนสรณ์ให้ความสนใจ วิดิโอเริ่มด้วยสีขาวของแสงและจบลงด้วยแสงสีขาว หากแต่ชนสรณ์ให้พื้นเกือบทั้งหมดของวิดิโอกับสีดำ สีดำของห้องฉายและสีดำที่หมายถึงบุคคลที่ไม่ถูกฉาย ชนสรณ์มักจะตัดภาพของบุคคลสำคัญออกไปและให้พื้นที่และเวลากับแรงงานในฉากนับตั้งแต่ ทีมงานฝ่ายเทคนิคในกองถ่าย ผู้พายเรือพระที่นั่ง พราหมณ์ผู้ประกอบพระราชพิธี ไปจนถึงนักแสดงและทีมงานในกองถ่ายที่ได้รับผลกระทบทางด้านร่างกายจากการประกอบอาชีพที่ไร้สวัสดิการ การชดเชยความเสียหายจากการทำงาน (ที่เหมาะสม) และความปลอดภัยในที่ทำงาน 

พร้อมๆ กันยังมีเสียงสัมภาษณ์ของบุคคลที่เกี่ยวข้องนับตั้งแต่ผู้ดูแลกองถ่ายที่ทำงานล่วงเวลาจนหมดสติในกอง ไปจนถึงช่างภาพที่ต้องแบกกล้องจนกระดูกสันหลังทรุด และช่วงครึ่งหลังของวิดิโอถูกแบ่งด้วยภาพพรมแดงงานสุพรรณหงส์ที่เหล่าดาราถูกตัดภาพออกเหลือแต่ช่วงตัวกับภาพที่หลอกหลอนตัดสลับกับลานดาราในหอภาพยนตร์ที่ให้พื้นที่กับเหล่าทีมงานในอุตสหกรรมภาพยนตร์ หลังจากนั้นเป็นภาพของจอหนังกางแปลงของทีมงาน “นิรันดร์ ภาพยนตร์” ที่กำลังล้มพังพาบ เหล่าแรงงานกำลังพยายามยื้อยุดไม่ให้จอภาพล้มลงเพราะแรงลม ธุรกิจหนังกางแปลงเช่นเดียวกับธุรกิจอื่นๆ กำลังล่มสลายลงในระบอบเสรีนิยมใหม่เช่นนี้

ชนสรณ์ให้พื้นที่ครึ่งหลังของวิดิโอเป็นคลิปจากกล้องที่ถ่ายชีวิตธรรมดาที่ต้องนั่งจักรยานยนต์รับจ้าง ชีวิตในเมืองหลวงไร้สวัสดิการ รถไฟฟ้าราคาแพง พลุปีใหม่ที่เสมือนกำลังใจจากฟ้าแบบไลฟ์โค้ชในการขายแรงงานให้ทุนข้ามพ้นไปอีกปี บ้านเรือนที่กำลังลุกไหม้ ภาพทำบุญเลี้ยงพระ น้ำเน่าเสีย ชายหาดซัดสาดคลื่นจากกล้องความละเอียดต่ำ ทางเดินแยกปทุมวันที่กลายเป็นพื้นที่ประท้วงของประชาชนวันที่ 16 ตุลาคม ค.ศ. 2020 และเป็นภาพแรงงานวงการภาพยนตร์สูงวัยตัดกับภาพเด็กสาวที่รุ่นหลาน ต้นไม้สีเขียวสูงขึ้นรับแสงแดด ชนสรณ์ฉายภาพสุดท้ายคือเงาเหล่านั้น เงาของต้นไม้ และเงาของละครมือ ก่อนที่แสดงสีขาวจะสว่างขึ้นอีกครั้ง ภาพในช่วงหลังส่วนหนึ่งมาจากคลิปที่ชนสรณ์ให้ทีมงานเบื้องหลังภาพยนตร์ที่ได้รับบาดเจ็บถ่ายวิดิโอเรื่องราวในชีวิตประจำวันแล้วส่งมาให้เขา

การหันกลับไปหาเงา การละเล่นเงา และการฉายภาพยนตร์ ดูจะชวนให้นึกถึงเรื่องเล่าถ้ำของเพลโต ที่เหมือนจะเป็นต้นธารของความคิดโลกสมัยที่ขุดเอาแนวคิดกรีกกลับมาอีกครั้ง “ว่าด้วยพลเมืองที่ถูกล่ามไว้ในถ้ำ พวกเขาเรียนรู้ผ่านแสงและเงาบนผนังถ้ำ พวกเขาเข้าใจไปว่าภาพเหล่านั้นคือความจริง และมีเพียงชนชั้นนำที่มีความปรารถนาจะออกจากถ้ำเพื่อไปรับรู้ความจริงแบบอื่นๆ และพวกเขาจะกลายเป็นผู้มาควบคุมคนในถ้ำ”

การกลับเข้าถ้ำ การหันเข้าหาด้านมืดของลำแสง การเผชิญหน้า และปล่อยให้ร่างกายสัมผัสกับชีวิตของเงา จึงมิใช่การกลับไปหาความโง่เขลา หรือแม้แต่การหยิ่งผยองในอำนาจของสภาวะสมัยใหม่ หากแต่เป็นการเชื่อมโยงกับสิ่งต่างๆ ในแนวระนาบ ที่แสงและเงาอยู่ในโครงข่ายโยงใยเดียวกัน ที่ความมืดและสว่างต่างดำรงอยู่อย่างเท่าเทียม และที่ทุกสิ่งมีศักยภาพของการเป็นองค์ประธานของการเปลี่ยนแปลงและปฏิวัติ


ธีพิสิฐ มหานีรานนท์ : นักเขียน กองบรรณาธิการ Thairath plus

Don’t Call Me (2021, Song Min-kyu with SHINee, South Korea)

ถึง 2021 จะเป็นปีที่มีแต่ความฉิบหาย วุ่นวาย และป่าเถื่อน แต่หนึ่งในสิ่งที่ทำให้ยัง ‘รู้สึกดี’ กับการมีชีวิตอยู่ ก็คือ การได้กลับมา ‘ติ่งเกาหลี’ อีกครั้งในรอบหลายปี 

Don’t Call Me คือเพลงและเอ็มวีที่จูงมือพาฉันให้กลับมายังจุดนี้ได้ เพราะมันคือผลงาน comeback stage ของ SHINee -วงไอดอลน่ารักน่าชังที่เคยมีเพลงแนวเต้นตามได้ในผับเมื่อทศวรรษก่อน- ในรอบหลายปี (เช่นกัน) ซึ่งจู่ๆ การได้ดูได้ฟังสิ่งนี้เมื่อต้นปี ก็ทำให้รู้สึกตื่นเต้นกับความเคป๊อปที่ไปไกลถึงไหนต่อไหน, ความพยายามของศิลปินที่อยากทดลองอะไรใหม่ๆ อยู่เสมอ และความรู้สึกที่ว่าเพลงพวกนี้มันไม่ใช่แค่เพลงเต้นๆ หล่อๆ เฉยๆ โว้ย แต่มันเหนื่อยฉิบหาย กว่าจะเติบโตมา และทำสิ่งนี้ได้ดีขึ้นเรื่อยๆ! (FYI : SHINee เดบิวต์มากว่า 13 ปีแล้ว)

ยิ่งรักขึ้นไปอีก เมื่อพอไปไล่ดูประวัติศาสตร์ของวง (ที่เมื่อก่อนเคยรู้บ้าง ไม่รู้บ้าง) จนค่อยๆ ระลึกชาติได้ว่า วงของห้าหนุ่มนี้ ต้องผ่านความหนักหนาสาหัสมามากมาย ทั้งจากความพยายามฝึกฝนเป็นไอดอลในมิติต่างๆ (แต่ก็ยังคงความเป็นตัวเองของสมาชิกแต่ละคนไว้ได้), ความตีลังกาสร้างสรรค์ผลงานในรูปแบบใหม่ๆ (จนบางทีคนฟังก็ด่า) และความสูญเสีย (จงฮยอน สมาชิกคนหนึ่งในห้า เสียชีวิตไปเมื่อปี 2017) ที่ทำให้ ชยาวอล -ชื่อแฟนคลับวงที่กร่อนคำมาจาก SHINee World- หลายคน ต้องสั่นสะเทือนจนไม่สามารถทำใจตามซัพพอร์ตวงต่อไปได้

ปี 2021 คือปีที่พวกเขากลับมาอีกครั้ง หลังจากทำอัลบั้ม The Story of Light (2018 – ที่มีจำนวนสมาชิกเหลืออยู่เพียงแค่สี่คนเป็นครั้งแรก คือ อนยู, คีย์, มินโฮ และ แทมิน) ด้วยการปล่อยอัลบั้มชุดที่ 7 อย่าง Don’t Call Me ตามด้วยมหกรรมการคัมแบคจากอัลบั้มรีแพคเกจ (เพิ่มเพลง) Atlantis, อีพีอัลบั้มภาษาญี่ปุ่น Superstar และงานโซโล่ของสมาชิก ทั้ง Advice อีพีของแทมิน, Bad Love อีพีของคีย์, Way เพลงคู่ของอนยู (ผู้ที่มีเสียงร้องเป็นเอกลักษณ์จนโด่งดังกลายเป็นไวรัลจากรายการ Sea of Hope) และ Heartbreak ซิงเกิลของมินโฮ

นี่ยังไม่นับรวมถึงคอนเสิร์ตแบบวงและแบบเดี่ยวใน Beyond Live ที่มากันอย่างต่อเนื่อง จนกดจ่ายเงินกันแทบไม่ทัน — ซึ่งความน่าสนใจก็คือ ผลงานทั้งหมดนี้ยิ่งทำให้แฟนๆ ได้เห็นถึงความตั้งใจในการทำงาน และดีเทลความเป็นมนุษย์ในแง่มุมต่างๆ ของพวกเขาแต่ละคนมากขึ้นทีละนิดทีละหน่อย จนเราค่อยๆ เข้าใจมนุษย์ไอดอลเหล่านี้-ที่ดูเหมือนจะแตะต้องได้ยาก แต่กลับมีนิสัยหลายอย่างที่เชื่อมโยงกับเรา-ได้อย่างน่าประทับใจ

สิ่งเหล่านี้ช่วยย้ำเตือนให้ฉันรู้สึกว่าการเป็นติ่งเกาหลีไม่เคยเป็นเรื่องไร้สาระ แต่มันขึ้นอยู่ที่ว่าเราจะ ‘สัมผัส’ มันจากมุมไหนมากกว่า

และการเป็นชยาวอลในปีนี้ มันช่วย save ฉันจากความรู้สึกแย่ๆ ในสังคมไทยรอบข้างทุกวันนี้ เมื่อได้เห็นว่าความรักที่ SHINee มีให้กัน และมีให้แฟนๆ ทั่วโลก มันสามารถส่งต่อให้ติ่งอย่างเรากลับมามีความหวังและมีพลังสู้ชีวิตต่อไปได้เรื่อยๆ

โดยหลายทีก็พกอินเนอร์แบบ ‘อย่าโทรมาจุ้นจ้านกับฉัน’ ให้มากความ (ตามอย่างเพลง Don’t Call Me) เพราะฉัน (กู) จะมูฟออนแล้วโว้ย!!!!!


นภัทร มะลิกุล : นักวิจารณ์ นักเขียนประจำ Film Club

I Care a Lot (2020, J Blakeson, UK/USA)

หนังที่มีดีตรงความจิกกัดเจ็บๆ คันๆ ที่จะทำให้เราตั้งคำถามกับ “ความรวย” ที่แสบมากคือหนังทำให้เราเอาใจช่วยตัวละครที่ทำผิดศีลธรรมแต่กำลังมุ่งหน้าไปสู่ความสำเร็จอย่างสุดโต่ง เป็นการเผยด้านมืดของคนดูมากกว่าตัวละครเสียอีก และการแสดงของโรซามุนด์ ไพค์ กับปีเตอร์ ดิงค์เลจ ก็ไม่ทำให้ผิดหวังเลยจริงๆ เพราะมันร้ายสูสีกันอย่างลงตัว


จิตร โพธิ์แก้ว : cinephile ที่ปรึกษา Film Club

The Japanese Settlers to the Manchuria and Inner Mongolia of Mainland China (2008, Haneda Sumiko, Japan, 120min)

หนึ่งในหนังที่ชอบที่สุดที่ได้ดูในปีนี้คือหนังสารคดีเรื่อง THE JAPANESE SETTLERS TO THE MANCHURIA AND INNER MONGOLIA OF MAINLAND CHINA ที่ตามสัมภาษณ์ชาวญี่ปุ่นหลายคนที่รอดชีวิตจากแมนจูเรียในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองมาได้ หนังเล่าให้ฟังว่า ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 นั้น ประชากรญี่ปุ่นล้นเกาะ คงเพราะยุคนั้นยังไม่มีถุงยางอนามัยและยาคุมกำเนิด แล้วพอในยุคนั้นประชากรญี่ปุ่นล้นเกาะ มันก็เลยเกิดภาวะขาดแคลนอาหาร คนในชนบทอดอยากยากแค้นกันอย่างรุนแรงสุดๆ (นึกถึงละครทีวี “สงครามชีวิตโอชิน”) รัฐบาลญี่ปุ่นก็เลยกระตุ้นให้ชาวบ้านจนๆ ในชนบทอพยพไปอยู่แมนจูเรีย แล้วตัวรัฐบาลแมนจูเรียเองก็ต้องการประชากรญี่ปุ่นมาอยู่กันเยอะๆ ด้วย เพื่อเอาไว้ต้านโซเวียต แต่พอเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง แล้วญี่ปุ่นเริ่มแพ้สงคราม ทหารโซเวียตก็บุกเข้ามาในแมนจูเรียในปี 1945 ชาวบ้านญี่ปุ่นในแมนจูเรียก็เลยอพยพหนีตายกัน และก็เผชิญกับชะตากรรมที่หนักมากๆ โดยเรื่องที่หนักที่สุดคือการที่แม่หลายคนฆ่าลูกตัวเล็กๆ ของตัวเองตาย เพราะลูกๆ ของพวกเธอร้องเสียงดังในระหว่างการเดินทางหลบหนีจากศัตรู ตัวผู้ให้สัมภาษณ์คนนึงเล่าว่า พอโซเวียตบุก เธอกับครอบครัวและชาวญี่ปุ่นคนอื่นๆ ก็เลยต้องอพยพหนีตายกัน เธอแบกเด็ก 2 ขวบมาด้วยคนนึง เป็นลูกของเพื่อนบ้าน แต่ในระหว่างการเดินทางขึ้นเขา เด็กคนนี้กับเด็กอีก 2 คนร้องเสียงดังเพราะความหิว แม่ของเด็กก็เลยตัดสินใจฆ่าลูกๆ ของตัวเองตาย เพื่อที่คนอื่นๆ จะได้รอดชีวิตได้ แล้วมันไม่ได้จบแค่นั้น เพราะการฆ่าเด็กเล็กๆ มันเกิดขึ้นต่อมาเรื่อยๆ ในระหว่างการเดินทางหลบหนี มีแม่บางคนจำใจต้องโยนลูกเล็กๆ ของตัวเองลงบ่อน้ำ (แต่เหมือนเด็กรอดชีวิต ซึ่งผู้ให้สัมภาษณ์ก็ไม่แน่ใจว่ารอดชีวิตได้อย่างไร) แล้วผู้ให้สัมภาษณ์คนนึงก็เล่าว่า แม่ของเธอตัดสินใจฆ่าน้องสาววัย 5 ขวบของเธอด้วย เพราะน้องสาววัย 5 ขวบของเธอร้องว่าอยากกิน sweet potatoes แม่ของเธอก็เลยให้คนเอาลูกของตัวเองไปฆ่า และเธอก็เล่าอีกด้วยว่า พี่ๆ ของเธอไม่เคยให้อภัยแม่ของเธออีกเลยนับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์นั้นเป็นต้นมา

พ่อๆ หลายคนก็ฆ่าลูกของตัวเองในเหตุการณ์นี้ด้วยเหมือนกัน แต่ส่วนใหญ่พ่อๆ ไม่ได้ฆ่าลูกเพราะความจำเป็นในการปกป้องชีวิตของคนอื่นๆ ในระหว่างการเดินทาง แต่พวกเขาฆ่าลูกๆ เพราะเห็นว่าศัตรูกำลังจะบุกมาถึงตัว และพวกเขาคงเห็นว่าการฆ่าเมียและลูกๆ ของตัวเองและฆ่าตัวตายตาม อาจจะมีเกียรติกว่าการถูกศัตรูจับตัวไป แต่สิ่งที่หนักที่สุดก็คือว่า พอพ่อๆ จำนวนมากฆ่าเมียกับลูกๆ ของตัวเองตายกันไปหมดแล้ว แล้วกำลังจะฆ่าตัวตายตามครอบครัวตัวเองไป ปรากฏว่าดันเจอ “ทางหนี” พอดี พวกพ่อๆ ก็เลยหนีมาได้ 

ยังมีเรื่องราวอื่นๆ อีกมากมายในสารคดีเรื่องนี้ ทั้งเรื่องของคนแก่ที่ตัดสินใจไม่หนีตามคนอื่นๆ เพราะกลัวตัวเองจะเป็นภาระในการหลบหนีของคนอื่นๆ, เด็กที่ถูกกระแสน้ำพัดพาหายไปในระหว่างการเดินทางข้ามแม่น้ำ, ชาวญี่ปุ่น 500 คนที่ฆ่าตัวตายหมู่ เพราะกลัวว่าจะถูกทหารโซเวียตจับไป, หญิงญี่ปุ่นที่ตัดสินใจแต่งงานกับชายชาวจีน เพื่อช่วยเหลือลูกๆ 4 คนของตัวเธอเอง, แม่ๆ ที่ตัดสินใจทิ้งลูกเล็กๆ ไว้ข้างทาง แล้วไม่รู้ว่าลูกจะโดนหมาป่าจับไปกินหรือเปล่า, เด็กญี่ปุ่นที่ถูกทิ้งไว้ข้างทาง แล้วได้รับการเลี้ยงดูจากชาวจีนในฐานะลูกบุญธรรม ซึ่งก็มีทั้งเด็กที่ได้พ่อแม่บุญธรรมชาวจีนที่ดี และเด็กที่ได้พ่อแม่บุญธรรมชาวจีนที่เลวร้าย และเรื่องของเด็กญี่ปุ่นที่พอโตมาแล้วก็มีปัญหาอย่างรุนแรงกับพวก Red Guard ในยุคปฏิวัติวัฒนธรรมของจีนจนเกือบจะถูกตัดสินประหารชีวิต ในข้อหาเป็นสปายของญี่ปุ่น แต่โชคดีที่นายกรัฐมนตรีโจว เอินไหลของจีนเข้ามาช่วยชีวิตเธอไว้

อย่างไรก็ดี หนังเรื่องนี้ก็ย้ำตั้งแต่ต้นจนจบเรื่องว่า จุดยืนของหนังเรื่องนี้คือการประณามรัฐบาลญี่ปุ่นและลัทธินิยมทหารของญี่ปุ่นในอดีต คือถึงแม้ว่าหนังเรื่องนี้จะเน้นถ่ายทอดความทุกข์ยากลำเค็ญของชาวญี่ปุ่นในแมนจูเรียเป็นหลัก แต่หนังก็บอกว่าคนผิดคือรัฐบาลญี่ปุ่นและ Japan Militarism และหนังบอกไว้ตั้งแต่ต้นเรื่องว่ารัฐบาลญี่ปุ่นเคยทำเลวกับคนจีนเอาไว้อย่างรุนแรงมาก เพราะฉะนั้นจุดยืนของหนังเรื่องนี้ก็เลยเป็นสิ่งที่เราชื่นชมมากๆ

เรื่องบังเอิญอีกอย่างนึงที่เราอยากจดบันทึกไว้ก็คือว่า ปีนี้เราได้ดูหนังกลุ่ม “ประวัติศาสตร์บาดแผล” ที่เราชอบสุดๆ มากมายหลายเรื่องด้วย หนังเหล่านี้มักจะกลับไปสำรวจเหตุการณ์เลวร้ายที่เกิดขึ้นในอดีต ทั้งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมานานแล้ว (อย่างเช่น PROFIT MOTIVE AND THE WHISPERING WIND) และเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่กี่ปีก่อน (อย่างเช่น แม่นาปอย) โดยหนังกลุ่ม “ประวัติศาสตร์บาดแผล” ที่เราชอบสุดๆ ในปีนี้ก็รวมถึง THE JAPANESE SETTLERS TO THE MANCHURIA AND INNER MONGOLIA OF MAINLAND CHINA ที่เราได้กล่าวถึงไปแล้ว และหนังเรื่องอื่นๆ อย่างเช่น 

1. THE ANABASIS OF MAY AND FUSAKO SHIGENOBU, MASAKO ADACHI, AND 27 YEARS WITHOUT IMAGES (2011, Eric Baudelaire, Lebanon/Japan, documentary)

2. ASIA THE UNMIRACULOUS (2018-2020, Ho Rui An, Singapore)

3. BELGRADE FOREST INCIDENT…AND WHAT HAPPENED TO MR. K? (2020, Jan Ijäs, Finland, about Saudi Arabia, documentary)

4. THE CARDINAL (2020, Nicolae Margineanu, Romania)

5. THE DEAD WEIGHT OF A QUARREL HANGS (1999, Walid Ra’ad, Lebanon)

6. DEAFENING SILENCE: BURMA INSIDE/OUT (2012, Holly Fisher, USA, about Myanmar)

7. THE DEATH OF A HORSE (1992, Saimir Kumbaro, Albania)

8. DRUMS OF RESISTANCE (2016, Mathieu Jouffre, Kosovo, documentary)

9. THE EDGE OF DAYBREAK (2021, Taiki Sakpisit)

10. FIG TREES (2009, John Greyson, Canada, about South Africa, documentary)

11. JOHN LEWIS: GOOD TROUBLE (2020, Dawn Porter, USA, documentary)

12. JUDAS AND THE BLACK MESSIAH (2021, Shaka King, USA)

13. THE LAST RECORD OF ‘DA TORPEDO’ (2020, Nutcha Tantivitayapitak, documentary)

14. LEVEL FIVE (1997, Chris Marker, France, about Japan)

15. MAALBEEK (2020, Ismaël Joffroy Chandoutis, France, about Belgium, documentary)

16. MAE NAPOI (2021, Chaweng Chaiyawan, documentary)

17. NAURU – NOTES FROM A CRETACEOUS WORLD (2010, Nicholas Mangan)

18. THE NIGHTINGALE (2018, Jennifer Kent, Australia)

19. A NIGHT OF KNOWING NOTHING (2021, Payal Kapadia, India)

20. PROFIT MOTIVE AND THE WHISPERING WIND (2007, John Gianvito, USA, documentary)

21. RED’S SCAR (2021, Nutcha Tantivitayapitak, documentary)

22. THE RIFLEMAN (2020, Sierra Pettengill, USA, documentary)

23. RIFT FINFINNEE (2020, Daniel Kötter, Germany/Ethiopia, documentary)

24. THE SAKO TAPES (2019, Machiel van den Heuvel, Netherlands/Indonesia/India, documentary)

25. SEEING IN THE DARK (2021, Taiki Sakpisit)

26. SILENCE (2021, Kick the Machine Documentary Collective)

27. THE SILENT PROTEST: JERUSALEM 1929 (2019, Mahasen Nasser-Eldin, Palestine, documentary)

28. A SKETCH OF MANNERS (ALFRED ROCH’S LAST MASQUERADE) (2013, Jumana Manna, Palestine) 

29. SLUT NATION: ANATOMY OF A PROTEST (2021, Wendy Coburn, Canada, documentary)

30. SONGS OF REPRESSION (2020, Marianne Hougen-Moraga, Estephan Wagner, Denmar, about Chile, documentary)

31. SURFACES (2021, Cristina Motta, Argentina/Colombia, documentary)

32. TASTE OF WILD TOMATO (2021, Lau Kek-huat, Taiwan, documentary)

33. TWILIGHT OF THE GOODTIMES (2010, Charles Mudede, Roxanne Emadi, USA, documentary)

34. YOUR FATHER WAS BORN 100 YEARS OLD, AND SO WAS THE NAKBA (2018, Razan Alsalah, Canada/Palestine)


ธนพัฒน์ วงษ์วิสิทธิ์ : อาจารย์พิเศษสอนภาพยนตร์, นักวิจารณ์ แอดมินเพจ Movies Can Talk

แด่วันสุดท้ายที่เริ่มต้น (2021, วชากร เพิ่มพูล)

ในสถานการณ์โรคโควิด 19 ลงจนประกาศหยุดการถ่ายทำดั่งจราจรลงไฟแดงตลอดสาย หนึ่งในเสียงอันน้อยๆ ที่น่าเห็นใจคือเหล่านักศึกษาทำหนังจบที่ต้องดิ้นรนเข็นจนจบ

“แด่วันสุดท้ายที่เริ่มต้น” เป็นหนังส่งจบมหาลัย (แต่ไม่ได้ฉายเทศกาลหนังจบเพราะเหตุผลส่วนตัว ต่อมามีมิตรสหายส่งหลังไมค์ให้คอมเมนต์อีกที) หนังสั้นขนาดยาวเกือบ 40 นาทีเล่าเรื่องของ เมษ ปลาย และอีฟ นักเรียนสามคนจะไปเล่นคอนเสิร์ตครั้งสุดท้ายเพราะอีฟป่วยเป็นมะเร็ง ในหนังแทบทั้งเรื่องเป็น Road Movie มีหลงกลางป่า ฉากโชว์ดราม่าจนถึงโชว์ร้องเพลง แค่ลองจินตนาการว่าเป็นหนังจบคงจะใหญ่โตไม่น้อย

สิ่งที่เห็นในหนังคือมีช็อตนักแสดงเพียงฉากเปิดเรื่อง (ก่อนเดินทาง) และปิดเรื่อง (ส่งเพื่อนถึงบ้าน) ส่วนตรงกลางทั้งหมดเป็นสีดำโดยเล่นคล้ายละครวิทยุ มีเสียงธรรมชาติอัดจริง เสียงนักแสดง (ซึ่งคนละแคส แถมผู้กำกับเล่นเองอีก) เล่นจริงแทนที่จะอ่านแบบละครวิทยุ ผลลัพธ์ที่ได้น่าอัศจรรย์ใจมาก แทนที่จะรู้สึกเศร้ากับการที่น้องเสียโอกาสการถ่ายทำ น้องตั้งใจและผลักให้พลัง ”ความมืด” ให้เป็นประโยชน์เหมือนคนฟังอยู่ในวงเพื่อน ปลอบโยนตัวละคร (และคนดู) จากปากเพื่อนป่วยโรคมะเร็งว่า ”ทุกอย่างมันจะโอเค” ฉากร้องเพลงของ อีฟ มันทรงพลังมากจนเรากลั้นน้ำตาไม่อยู่จริงๆ

ถึงแม้ “แด่วันสุดท้ายที่เริ่มต้น” จะเป็นหนังไม่สมบูรณ์นักโดยเฉพาะเรื่องเสียงขาดความต่อเนื่องและซีนดูเป็นส่วนๆ แต่พลังใจของน้องที่กัดฟันทำจนสำเร็จจนเราสัมผัสได้อย่างเต็มเปี่ยมและ ”ขอบคุณ” ที่ใช้หัวใจสร้างมาให้คนดูรับชม สุดท้ายกลายเป็นหนึ่งในหนึ่งประสบการณ์ที่ละจากหัวไม่ได้ หวังว่าหนังจะถูกฉายอย่างทางการอีกในเร็ววัน พลังคนทำงานศิลปะจงเจริญ!


บารมี ขวัญเมือง : นักประชาสัมพันธ์ฝ่ายภาพยนตร์ต่างประเทศ M PICTURES, นักวิจารณ์, แอดมินเพจ Movies Can Talk

Pleasure (2021, Ninja Thyberg, Sweden/Netherlands/France)

มันเกือบจะเป็นหนัง exploitation เกรดบีที่ประสบความสำเร็จ แต่เพราะงานนี้ผู้กำกับ Ninja Thyberg กลับสามารถหลบหลุมพรางต่างๆ ให้พ้นเงาของหนังประเภทดังกล่าวได้อย่างแยบยลและกลายเป็นอีกเวอร์ชั่นในชื่อ A Pornstar Is Born ผ่านตัวละครวัยรุ่นสาวที่พยายามตะกายดาวสู่การเป็นที่ 1 ในวงการหนังผู้ใหญ่ ด้วยการนำเสนอทั้งภาพไขว่คว้าจินตนาการเพ้อฝัน ตัดสลับกับความเป็นจริงอย่างน่าเวทนา ซึ่งความคลุมเครือเหล่านี้มันทำให้คนดูหยั่งลึกเข้าไปถึงภายในจิตใจของตัวละครที่เต็มไปด้วยความสับสน ผนวกกับความอ่อนแอและเปราะบาง อีกทั้งมันยังเป็นการสะท้อนอุตสาหกรรมที่พวกเขาอยู่ (นอกจากนางเอกแล้ว นักแสดงทุกคนในเรื่องก็ล้วนเป็นดาราหนังโป๊ตัวจริง) ได้อย่างมีชั้นเชิง เก็บทุกรายละเอียด และไม่อ้อมค้อม โดยเฉพาะการทรีตภาพของดาราหนังโป๊ให้เป็น “มนุษย์” เหมือนกัน ทำให้เข้าใจว่าชีวิตที่เขาต้องมาสร้างความสุขให้เราก็เหน็ดเหนื่อยไม่แพ้วงการอื่นๆ หรือแม้กระทั่งเรื่องชื่อเสียงทั้งหมดที่คนเหล่านี้ยอมทิ้งความเป็นตัวเองและเสียสละจุดสุดยอดเพื่อให้ได้มานั้น มันคุ้มค่าที่สุดแล้วจริงหรือ?


ปฏิพล อัศวมหาพงษ์ : นักแสดงละครเวที นักการละคร 

Orlando (2019, Katie Mitchell, Germany/France/Spain/Sweden)

เป็นบันทึกการแสดงสด ที่บนเวทีคือฉากถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง orlando ที่ดัดแปลงมาจากหนังสือชื่อเดียวกัน ที่มีการถ่ายทำ มีคนบรรยายบท และตัวภาพยนตร์ที่เกิดจากการถ่ายบนเวทีให้ดูพร้อมกัน เป็นประสบการณ์ที่แปลกใหม่ดี ทุกอย่างดูซุกซนกลกิโมโนมากๆ อยากดูอะไรก็ดู จะดูเรื่องดูการแสดงก็ได้ หากเบื่อเรื่องก็สามารถดูความลำบากของนักแสดงในการถกกระโปรงเปลี่ยนชุดหลังกล้องเพื่อเข้าฉากถัดไปแบบไม่ได้พักหายใจหายคอได้ ทั้งทีมงานและนักแสดงวิ่งวุ่นบนเวทีเหมือนกุ้งเต้น จนบางครั้งก็หลงลืมโมเม้นอะไรแบบนี้ แต่พอมันได้เห็นอะไรแบบนี้ก็ชื้นใจดี ประทับใจจนขอจับหน้าอกจับจิต


วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย : ผู้กำกับสารคดี School Town King ผู้ก่อตั้ง Eyedropper Fill

4 KINGS (2021, พุฒิพงษ์ นาคทอง)

ชอบอันดับแรกคือ เราไม่ได้เห็นหน้าหนังที่พูดถึงคนชายขอบมานานมากแล้ว ช่วงที่ดูหนังเรื่องนี้ในโรงทำให้นึกถึงหนังช่วงยุค 90-2000 จำพวก เสียดาย, มือปืน, เฉิ่ม, เสือร้องไห้ ซึ่งเป็นช่วงวัยที่เราเติบโตมาด้วย ดีใจที่มีพื้นที่ให้กับชีวิตและเรื่องราวของคนเหล่านี้ได้ปรากฏอยู่บนจอโรงหนังขนาดใหญ่

ชอบอันดับสองคือ เราได้เห็นองค์ประกอบของยุค 90 ไม่ว่าจะเป็นโปสเตอร์หนังโลกทั้งใบให้นายคนเดียว ในลานจอดรถห้าง, ถุงน้ำหวาน, ตู้โทรศัพท์ หรือเพลงวงร็อคอย่างหินเหล็กไฟ ได้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง ซึ่งเราว่านี่เป็นอีกจุดดึงดูดนึงของหนังที่แทรกช่วงเวลาย้อนวันวานแบบนอสตราเจียให้ได้คิดถึง เราว่าองค์ประกอบเหล่านี้ได้ฮีลใจเรามากๆ เมื่อเทียบกับความโหดร้ายจากสถานการณ์การเมืองและโควิดในโลกปัจจุบัน

ชอบอันดับสาม หนังได้พาเราไปอยู่ใน landscape สถานที่ต่างๆ ที่เด็กวัยรุ่นยุคนั้นอาศัยอยู่ ดาดฟ้าของห้างที่เห็นปล่องแอร์, ชั้นตู้เกมส์, ตรอกซอกซอยในชุมชน, ห้องอาบน้ำในคุกเด็ก หนังได้พาเราไปซอกซอนลัดเลาะไปใน landscape ที่เราไม่เคยเห็น แล้วประกอบออกมาเป็นโลกที่ช่วยให้เราเข้าใจวิถีชีวิตของเด็กอาชีวะมากขึ้น แต่เสียดาย เราอยากเห็นพาร์ตในโรงเรียนมากกว่านี้ อยากรู้ว่าเขาเรียนกันยังไง? มีวิธีรับน้องหรือส่งต่อวัฒนธรรมรักสถาบันกันยังไง? มอบเสื้อรุ่นหรือหัวเข็มขัดกันยังไง? ถ้าหนังมีพาร์ตนี้เสริมอีกหน่อยคิดว่าโลกอาชีวะน่าจะกลมขึ้น 

รวมๆ แล้วเราอยากให้มีหนังที่พูดถึงประเด็นคนชายขอบอีกเยอะๆ เบื่อแล้วหนังเด็กชนชั้นกลางในเมือง ยิ่งปัญหาในตอนนี้ กลุ่มคนเหล่านี้มีอีกมาก เราในฐานะคนทำหนังและคนดูก็อยากให้มีพื้นที่สื่อสารประเด็นเหล่านี้ในระดับแมสได้อีกเยอะๆ เอาใจช่วยทีมงาน, ผู้กำกับ, นายทุน และผู้ผลิตทุกคนสำหรับความกล้าที่มีต่อหนังเรื่องนี้ครับ


อภิโชค จันทรเสน : นักเขียนรับเชิญ Film Club, ผู้กำกับภาพยนตร์สั้น ost

ด้วยรัก…ถึงกุหลาบ

ผมได้ดู ‘ด้วยรักฯ’ เป็นครั้งแรกในงานฉายหนังสั้นที่ได้เข้ารอบประกวดมูลนิธิหนังไทยปีนี้ ก่อนดูก็สนเท่ห์กับเรื่องย่อและกิตติศัพท์หน้าหูที่ได้ยินมาจากคนที่ได้ดูตัวหนังก่อนติดเข้ารอบอยู่แล้ว แต่เมื่อได้ดูจริงๆ บนจอขนาดโรงภาพยนตร์เต็มตาถึงได้รู้ว่า ทั้งหมดของปี 2021 ไม่มีอะไรที่ให้ประสบการณ์ได้เหมือนกับการดูหนังเรื่องนี้เลย

สำหรับใครที่ยังไม่ได้ดู ‘ด้วยรักฯ’ เล่าถึงเรื่องราวของ กุหลาบ น้าสาวคนหนึ่งในครอบครัวคนทำหนังเรื่องนี้ที่เสียชีวิตไปตั้งแต่ก่อนเธอจะเกิดมา ขณะยังมีชีวิตกุหลาบเป็นเด็กหญิงจอมแก่นที่เติบโตขึ้นมาในหมู่บ้านแห่งหนึ่งในภาคอีสาน กุหลาบเป็นเด็กหน้าตาดี เป็นที่รักใคร่ของทุกคน ยิ่งเธอโตเป็นสาวก็ยิ่งเป็นดาวประจำหมู่บ้าน แทบจะเรียกว่าเป็นศูนย์รวมหัวใจของคนทั้งตำบลเลยก็ว่าได้ แต่เคราะห์ร้ายชีวิตอันแสนรุ่งโรจน์ของเธอกลับต้องจบลงด้วยโรคร้ายในวัย 18 แต่เรื่องไม่ได้จบลงแค่นั้น เพราะเมื่อน้องสาวของผู้กำกับเกิดมา ด้วยหน้าตา ท่าทาง การกระทำต่าง คนทั้งครอบครัวล้วนลงความเห็นไปในทางเดียวกันว่าน้องสาวของผู้กำกับ เป็นนางสาวกุหลาบกลับชาติมาเกิดแน่นอน

คือต้องแอบยอมรับว่า เราเข้าไปดูหนังเรื่องนี้ความคาดหวังเรื่องมิติพิศวง Twilight Zone กลับชาติมาเกิดของเรื่อง แต่พอได้ดูจริงๆ ได้ฟังคนทั้งครอบครัวเล่าเรื่องราวชีวิตของนางสาวกุหลาบทุกด้านด้วยความรักและคิดถึง ผ่านภาพถ่ายนับร้อยของกุหลาบที่ครอบครัวถ่ายเก็บไว้ ได้เห็นโลกที่กุหลาบใช้ชีวิต ประเพณีของหมู่บ้าน สีหน้า แววตา ท่าทาง รู้ตัวอีกที เราเหมือนได้รับอภิสิทธิ์ให้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวน้ากุหลาบไปเรียบร้อยแล้วตั้งแต่เมื่อไหร่ก็ไม่รู้ พอตอนท้ายเรื่องได้เห็นรูปถ่ายขาวดำของน้ากุหลาบ เราน้ำตาไหลเลย ในเวลาแค่ 10 กว่านาที เรารักคนคนนี้จนหมดหัวใจไปเสียแล้ว

ไม่ว่าน้องสาวของผู้ทำหนังเรื่องนี้จะเป็นน้ากุหลาบกลับชาติมาเกิดจริงหรือไม่ แต่ผู้เขียนขอบอกว่ารู้สึกเป็นเกียรติที่ได้รู้จักกับมนุษย์คนนี้ น้ากุหลาบ หญิงสาวที่ทำให้โลกใบนี้เป็นโลกที่ดีขึ้น แม้จะเป็นแค่ในเวลาสั้นๆ ก็ตาม


Seam-C : cinephile

2020 (2020, กฤษดา นาคะเกตุ)

เป็นหนังสั้นที่ดูตั้งแต่ต้นปี 2021 แต่ตราตรึงมาจนตอนนี้ ทั้งหมดของมันเป็นเพียงแค่กับจับจ้องผู้คนและสถานที่ในปี 2020 ปีที่ประเทศยังอยู่กับภาวะโรคระบาดรอบใหม่ คือภาพสามัญของผู้คนที่ต้องใช้ชีวิตกันต่อไป มันทั้งเศร้าสร้อยแต่ก็งดงามไปในที มีมวลอารมณ์ล่องลอยอยู่มากมายเต็มไปหมดและที่มันรุนแรงกว่าคือภาพแบบเดียวกันนี้ได้เกิดขึ้นซ้ำอีกในปีถัดมา


อ่านต่อในตอนอื่นๆ : FILM CLUB Year List 2021 (Part 4) | FILM CLUB Year List 2021 (Part 5)

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here