FILM CLUB Year List 2021 (Part 1)

ในที่สุดปี 2021 ก็ผ่านเราไปอย่างใจหายใจคว่ำ อย่างหืดขึ้นคอ ไม่แพ้ปี 2020 โรงหนังกลับมาเปิดแล้วในช่วงครึ่งปีหลังแต่ยังลูกผีลูกคน กิจการ Streaming ภาพยนตร์เติบโตต่อเนื่องและอาจจะน่ากังขาพอๆ กับน่าชื่นชม ความตายรายวันของผู้คนในประเทศจากโรคระบาด การชุมนุมที่ซบเซาลงทั้งจากโรคและการออกหมายจับรายวันจนถึงวันนี้ 

ผู้คนก็ยังคงดูหนังกันอยู่ ทั้งแบบออกนอกบ้านและไม่ออกนอกบ้าน ทั้งแบบเดิมที่ตั้งใจดูและแบบใหม่ที่ดูไปแชตไป เทศกาลกระจุกตัวในห้วงเวลาสั้นๆ ท้ายปีจนแทบชนกันตายเพราะไม่รู้ว่าอนาคตจะเกิดอะไรขึ้นและเลื่อนจากอดีตมาหลายคำรบแล้ว 

ในปีที่ยากลำบากนี้ FILM CLUB ขออนุญาตรวบรวมหนังแห่งปี 2021 ของหลากหลายผู้คนในแวดวงภาพยนตร์ ทั้งผู้กำกับ นักวิจารณ์ ผู้ชม และทีมงานของ FILM CLUB เองไว้สำหรับเป็นตัวเลือกในมหกรรมวันหยุด ในปี 2022 ที่กำลังมาถึงนี้ โดยไม่จำกัดทั้งหนังโรง หนังสตรีมมิ่ง หนังเทศกาลหรือวิดีโออาร์ต ทีวีซีรีส์ ไปจนถึงภาพยนตร์ตามช่องทางธรรมชาติ ไม่จำกัดปีที่หนังฉาย และรูปแบบการฉาย แต่ละท่านสามารถเลือกหนังได้อย่างเสรีตามประสบการณ์การดูหนังของแต่ละท่านเอง


ณิศวร์ฐิตะ ทองน้อย : นักเขียนประจำ Film Club

Drive My Car (2021, Ryûsuke Hamaguchi, Japan)

เป็นการดัดแปลงงานวรรณกรรมมาเป็นภาพยนตร์ได้น่าตื่นตาตื่นใจอย่างยิ่ง ปกติแล้วงานเขียนมูราคามิมักจะถูกวิจารณ์จากสายเฟมินิสต์ว่ามีความมาโช่ (macho) สูงมาก และนำเสนอภาพที่กดทับความเป็นหญิง แต่ Drive My Car ในเวอร์ชั่นภาพยนตร์ของผู้กำกับฮามากุจิทำในสิ่งที่ต่างออกไป มันคือการรื้อสร้างเรื่องเล่าของผู้ชาย ถ่ายถอนมวลสารความเป็นชายออกไป ถ่ายเลือดใหม่ให้กับเรื่องเล่าที่มีแต่เสียงของผู้ชายซึ่งกลบทับผู้หญิงให้เป็นแค่ฉากหลังจางๆ แล้วขับเน้นเรื่องเล่าและเสียงของผู้หญิงให้เปล่งประกายขึ้นมา

หนังเปิดพื้นที่ให้กับอัตภาวะต่างๆ ได้เข้ามาปะทะสังสรรค์ แลกเปลี่ยน และยักย้ายถ่ายเทสภาวะการดำรงอยู่ไปมาระหว่างกัน ทั้งในพื้นที่ของละครเวทีและนอกละครเวที และผ่านความเลื่อนไหลของสัมพันธบท เมื่อตัวบทต่างๆ ส่งเสียงสนทนาข้ามพื้นที่และเวลาของตัวเอง คาฟุกุกลายเป็น Uncle Vanya โอโตะกลายเป็นเซเฮราซาด (ทั้งเซเฮราซาดในนิทานอาหรับราตรีและเซเฮราซาดในเรื่องสั้นของมูราคามิ) เด็กสาวที่ระลึกชาติได้ว่าตัวเองเคยเกิดเป็นตัวแลมเพรย์ แม่ของมิซากิที่กลายร่างเป็นซาจิ ฯลฯ กาลเวลาในหนังจึงทำหน้าที่คล้ายเวลาแบบปกรณัมที่เวลาไม่ได้เดินเป็นเส้นตรง แต่เลี้ยวลัดเลาะเข้าไปในอัตภาวะต่างๆ ที่ดำรงอยู่ร่วมกัน ตัวละครและตัวบทจึงเป็น พร้อมจะกลายเป็น และ translate ตัวเองผ่านอัตภาวะอื่นๆ ได้ตลอดเวลา

ท่วงทำนองของหนังมีความ poetic สูงมาก สามารถตรึงเราไว้ได้อยู่หมัดตั้งแต่ต้นจนจบตลอด 3 ชั่วโมงของหนัง เป็นประสบการณ์การดูหนังที่อิ่มเอมและปีติ เหมือนถูกชำระล้างด้วยพลังของเรื่องเล่าที่ทั้งโอบกอดและปลอบประโลม


ฉันทนา ทิพย์ประชาติ : ผู้กำกับภาพยนตร์

The Forbiden Strings (2019, Hasan Noori, Iran/Afghanistan/Qatar)

หนังสารคดีอีกเรื่อง สนุกมากๆๆๆๆ เทคนิคแบบหนังฟิคชั่น ลุ้นระทึกตื่นเต้น ปมดราม่า และจุดคลี่คลาย แต่นี่แบบชีวิตคนจริงๆ ไง มันเหลือเชื่อมันเกิดขึ้นแล้วจริงๆ เรื่องราวของวงดนตรี ที่สมาชิกทุกคนต่างลี้ภัยจากอัฟกานิสถานไปอยู่อิหร่าน แล้วพวกเค้าก็เป็นชนชั้นแรงงานในอิหร่าน เฝ้ารอการไปเล่นคอนเสิร์ตที่อัฟกานิสถาน แต่มีการวางระเบิดทริปแรกเลยล่มไป สุดท้ายพวกเค้าก็พาตัวเองไปแสดงจนได้ คนล้นหลาม ความฝันความหวังจุดประกาย พอกลับมาอิหร่าน มันก็ยากที่จะเล่นคอนเสิร์ตได้อีก เพราะแค่ซ้อมวงยังค้องหลบๆ ซ่อนๆ เลย ก็ต้องมีคนหล่นหายไปจากวงเพื่อเติบโตตามฝันตัวเองอีกครั้ง ด้วยการลี้ภัยไปประเทษโลกที่หนึ่ง การแสดงสุดท้ายในหนังที่ร้องเพลงเนื้อหาว่า คนเราเนี่ยเกิดมาไม่ใช่ว่าจะเป็นดั่งนก เราล้วนแต่เป็นดั่งใบไม้ ที่รอวันร่วงลงหล่นบนดินต่างหาก เออ แซดจัด ชีวิต


ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย : กองบก. 101.world 

28 Days Later (2002, Danny Boyle, UK)

ดูหนังโรคระบาดช่วงล็อกดาวน์ แค่เห็นลอนดอนร้างไร้ผู้คน กับทอมมี่ เชลบี้ไม่ใส่สูทก็คุ้มค่าแล้ว


วรุต พรชัยประสาทกุล : Cinephiles

Femmes précaires (2005, Marcel Trillat, France)

หนังสารคดีที่ไม่มีอะไรเลยนอกจากการตามถ่ายชีวิตประจำวันและพูดคุยกับหญิงชนชั้นแรงงานห้าคนสลับไปสลับมาไปเรื่อยๆ ไม่มีอะไรนอกจากการใส่ใจพวกเธอที่ยืนอยู่บนความอัตคัดและโอนเอนตลอดเวลา จำได้ว่าเราดูหนังเรื่องนี้ต่อจากหนังสารคดีเกี่ยวกับการผูกขาดของนายทุนที่ระบบของมันบงการทุกอย่างในเมืองเมืองหนึ่ง และสูบเลือดสูบเนื้อสูบจิตวิญญาณของมนุษย์ตัวเล็กๆ ที่ปราศจากทางเลือกอื่นๆ ภายในนั้น ซึ่งเราประทับใจที่หนังแพรวพราวด้วยวิธีการทางภาพยนตร์ที่ทรงพลัง และเต็มไปด้วยวาทะทางการเมืองที่ปังมากๆ จนแทบจะจดเก็บไว้ได้ประโยคเว้นประโยค แต่พอเราได้มาดูหนังเรื่องนี้เราก็พบกับความจริงบางอย่างที่น่าสนใจมากๆ เกี่ยวกับตัวเราเอง เพราะหนังเรื่องนี้แทบจะมีลักษณะตรงข้ามกัน นั่นคือเราไม่สามารถจดประโยคอะไรที่ออกจากปากของซับเจกต์แต่ละคนในหนังเรื่องนี้ได้เลย ทุกคำพูดของพวกเธอเป็นเพียงสิ่งสามัญที่เราได้ยินอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ต่างก็เป็นประโยคที่เราคุ้นเคยและธรรมดาเกินกว่าที่ใครจะต้องมานั่งจดเก็บไว้ แต่ระหว่างที่เราดูหนังเรื่องนี้เรากลับรู้สึกว่าคำพูดที่ธรรมดาที่สุดในโลกเหล่านี้มันแตะโดนหัวใจของเราบ่อยครั้งมากๆ เรารู้สึกไปกับคำพูดของพวกเธอในแทบทุกฉาก ผ่านการบันทึกและนำเสนอทุกอย่างในแบบบ้านๆ ง่ายๆ ตรงๆ หนังเรื่องนี้กลายเป็นหนึ่งในหนังที่เรารักที่สุดในชีวิตไปแล้ว แม้หนังจะไม่ได้สร้างอะไรใหม่ๆ เป็นหนังและชีวิตที่ทุกคนพร้อมจะลืม แต่นี่อาจเป็นหนังเรื่องแรกก็ได้ที่ทำให้เราเพิ่งจะค้นพบว่าการที่เราจะรักหนังเรื่องใดหรือไม่ ไม่จำเป็นต้องขึ้นอยู่กับทั้งความงามและความฉลาดของมันเลย


Inertiatic Groovfie Viaquez : Cinephile

Ode to Nothing (2018, Dwein Baltazar, Philippines)

คนเหงาและคนตาย 

ลูกสาวรับช่วงต่อพ่อในธุรกิจเกี่ยวกับคนตาย เป็นสัปเหร่อ แต่งหน้าศพ ขายโลงศพ ทั้งบ้านเหลืออยู่กันสองคนบรรยากาศเหงาๆ พ่อลูกไม่ค่อยคุยกัน ธุรกิจก็เงียบเหงาคนไม่ค่อยตายกัน จนกระทั่งการมาถึงของศพหญิงแก่นิรนามคนหนึ่งที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุและถูกคู่กรณีที่ขับรถชนยัดเยียดศพมาให้บ้านนี้จัดการ หลังจากบ้านนี้ก็ไม่เหงาอีกเลย ธุรกิจเดินหน้าได้ดีมาก คนตายกันเยอะ หญิงสาวเชื่อว่าเป็นเพราะโชคจากศพหญิงแก่นิรนามคนนี้ที่นอนนิ่งอยู่ที่ห้องเก็บศพ ในเวลาเดียวกัน บรรยากาศในบ้านก็เริ่มเปลี่ยนแปลงจากหน้ามือเป็นหลังมือ เพราะศพหญิงแก่คนนี้ได้ถูกเอามาแทนที่สมาชิกครอบครัวที่ขาดหายไป หญิงสาวที่ต้องการนอนกอดแม่อีกครั้งก็แอบเอาศพมานอนด้วย บรรยากาศกินข้าวที่เคยเงียบเหงาพ่อลูกไม่คุยกัน ก็ครึกครื้นขึ้นเมื่อเอาศพหญิงแก่มาวางร่วมวงโต๊ะกินข้าวด้วย เสมือนพ่อลูกและแม่กินข้าวไปคุยกันไปมาอย่างออกรสชาติกันไป


ศุภโมกข์ ศิลารักษ์ : คนทำหนัง

4Kings (2021, พุฒิพงษ์ นาคทอง, Thailand)

หลายปีมาแล้วที่หนังเมนสตรีมไทยนั้นถูกนำด้วยสไตล์แลการตลาด​แทนที่จะเป็นคุณภาพของตัวโพรดักดังเช่นสินค้าชนิดอื่นทั่วไป

หนังส่วนใหญ่ในตลาดจึงเป็นเพียงเรื่องประโลมโลกของเหล่าอีลิทและคนชั้นกลางในกรุง​ หากจะมีหนังนอกกระแสอันจริงใจกับการเล่าอยู่บ้างก็ได้โรงและรอบฉายอันแสนจำกัดจำเขี่ยจนยากจะเห็นผลสะท้อนต่อวงกว้างได้​ 

คงมีแต่ไทบ้านเดอะซีรีย์อยู่​เรื่องเดียวเท่านั้นกระมัง​ที่นำพาความอินดี้ไปเขย่าวงการได้ หากหลังจากนั้นแม้แต่หนังที่พยายามทยอยกันมาในมู้ดโทนตลกวัยรุ่นก็ไม่สามารถส่งแรงกระเพื่อมอะไรได้มากนัก​ 

จนกระทั่งเกิดปรากฏการณ์​ 4​kings​ ซึ่งพาหนังไปในโทนจริงจัง​ สี่คิงส์ทั้งเล่าเรื่องและทำหนังในแบบยุค​ ’90​ อันตรงไปตรงมาฉูดฉาดเปี่ยมสีสัน

ไร้จริตจะก้านอาร์ต​อันได้เพิ่งรับความนิยม​จากคนทำหนังไทยราวหลังยุค ​​​2000 ต้นๆ

ไม่รู้​ว่าด้วยความจริงใจในส่วนนี้​ หรือเพราะเรื่องของเด็กช่างชายขอบ​ หรือเพราะความถวิลหาอดีต​ หรือทั้งหมดนั้นมัดรวมกันแทรกสัมผัสเข้าถึงหัวใจคนดูชาวไพร่ภูธร​ พวกเขาต่างยกพวกมาดูมันต่างอ้าแขนรับมัน​เหมือนพวกเขานั้นโหยหาเรื่องเล่าของตัวเองในสื่อกระแสหลักมานานแล้ว

แม้จะยังมีจุดแหว่งโหว่​ แต่​ 4kings​ หนังเรื่องแรกของบริษัทเนรมิตรหนังนั้นนับเป็นหมุดหมายสำคัญ​ให้เกิดความหวังที่จะได้เห็นเรื่องเล่าอันหลากหลากจากคนทำหนังที่อินกับเรื่อง​ และจริงใจกับมัน


พัลลภัทร น้อยธิ : จิตแพทย์ / คนดูหนัง / เขียนวิจารณ์ประปราย

Laabam (2021, S. P. Jananathan, India)

มันไม่ใช่หนังดีมีคุณภาพอะไรนัก การดำเนินเรื่องก็มีจุดไม่สมเหตุสมผลอยู่มาก แต่มันกลับกลายเป็นหนังที่ติดอยู่ในความทรงจำมากที่สุดเรื่องนึงของปีนี้ 

ตัวหนังว่าด้วยความพยายามของผู้นำของชาวไร่ชาวนาคนหนึ่งที่พยายามแก้ไขปัญหาความยากจนด้วยการเชิญชวนให้ชาวบ้านมาทำนารวมและยังกำหนดราคาพืชผลด้วยตัวเองซึ่งแน่นอนว่ามันก็ตามมาด้วยการขัดแย้งกับผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น

ทีเด็ดของหนังอยู่ที่ 15 นาทีสุดท้ายที่ฉายทั้งภาพความรุนแรงโดยรัฐและการโต้กลับของชาวบ้านอย่างถึงเลือดถึงเนื้อสุดๆ สุดจนต้องร้อง “อห!”


‘กัลปพฤกษ์’ : นักวิจารณ์ภาพยนตร์

FLEE (2021, Jonas Poher Rasmussen, Denmark)

หนังลูกผสม animation-สารคดี เล่าชีวิตในอดีตอันขมขื่นของหนุ่มอัฟกานิสถานนาม Amin ผู้รู้ตัวตั้งแต่เด็กว่าเขาเป็น gay และต้องเติบโตมาในสังคมมุสลิมอันเคร่งครัด แต่นั่นก็ไม่น่าเจ็บปวดเท่ากับการที่ครอบครัวของเขาต้องอพยพลี้ภัยทางการเมืองจากประเทศบ้านเกิด พลัดลูกพลัดแม่พลัดพี่พลัดน้องแยกย้ายกระจัดกระจายไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ในหลายๆ ประเทศของทวีปยุโรป และต้องผ่านความยากลำบากและการผจญภัยเสี่ยงอันตรายต่างๆ นานา หลังจากที่ฝ่ายบิดาถูกทางการจับกุมเนื่องจากเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาลอัฟกัน จนกลายเป็นหนัง coming-out ที่เคียงขนานไปกับโศกนาฏกรรมชีวิตอันแสนเศร้า กระทั่งทำให้เพลง disco จังหวะสนุกๆ อย่าง Take on Me (1984) ของวง A-ha เพลง Joyride (1991) ของวง Roxette เพลง Wheel of Fortine (1992) ของวง Ace of Base และเพลง technoฯ สุดล้ำสมัยอย่าง VERIDIS QVO (2001) ของวง Daft Punk กลายเป็นท่วงทำนองที่ลึกๆ แล้วล้วนอวลไปด้วยสุ้มเสียงแห่งความหม่นเศร้า

หนังดีที่ไม่เพียงแต่ควรได้เข้าชิงรางวัลออสการ์ทั้งสาขา สารคดียอดเยี่ยม-animation ยอดเยี่ยม-หนังต่างประเทศยอดเยี่ยม ไปพร้อมๆ กัน แต่ควรจะต้องคว้าครบทุกๆ รางวัลดังที่กล่าวมา งานภาพยนตร์ LGBTQ เพียงไม่กี่เรื่องที่น่าจะสามารถสร้างความสะเทือนใจให้ผู้ชมได้ครบทุกเพศทุกวัยเลยจริงๆ!


วิกานดา พรหมขุนทอง : สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล

Barbara (2012, Christian Petzold, Germany)

ในปีที่มีผู้คนสนใจเรื่องย้ายประเทศเป็นหมื่นแสน เราได้ดู Barbara ที่เล่าเรื่องเยอรมันตะวันออกยุค 80s จากมุมมองของผู้ที่มุ่งมั่นจะไปจากที่นั่น เธอไม่ได้คาดหวังอะไรกับสิ่งแวดล้อมและสถานการณ์รอบตัวแล้ว หนังทำให้รับรู้ได้อย่างดีผ่านบรรยากาศความเกรอะเก่าและอึมครึมของสิ่งต่างๆ ผู้คิดจะย้ายฝั่งถูกจับเปลี่ยนที่ทำงาน เพ่งเล็ง ตรวจค้น ล้วงควักไปทุกอย่าง Barbara มีศักยภาพสูงในอาชีพของเธอ มีคนรักคนช่วยให้ออกไปได้ เธอไม่จำเป็นต้องอยู่ และค่อยๆ เตรียมตัวไปอย่างแยบยล แต่แล้วความสัมพันธ์ใหม่กับเพื่อนร่วมงาน และสถานการณ์ในอาชีพที่เธอสามารถช่วยคนอื่นให้รอดพ้นจากระบบที่เสื่อมทรามได้ทำให้เธอตัดสินใจอีกครั้ง 

ดูจบแล้วก็อยากดูบางฉากซ้ำ และไปตามงาน Christian Petzold ใน Mubi อีกหลายเรื่อง (หอภาพยนตร์ฉายเรื่อง Yella เมื่อเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา) เขาทำหนังผสม genre ที่เล่นกับความทรงจำ/ประวัติศาสตร์อย่างนิ่งลึกมีมนต์ขลัง แต่ก็แทรกแสงอุ่นๆ และแววตาที่อ่อนโยนไว้ ชอบการเลือกใช้โทนสี สถานที่ และจังหวะของหนัง ฉากการตัดสลับจากครัว ชั้นนิยายในห้องนั่งเล่น และสวนหลังบ้านที่เชื่อมต่อกันในขณะที่ Andre ทำ ratatouille ให้ Barbara จากผักที่มีคนให้มาอีกทีช่างธรรมดาแต่ก็งดงามมาก


วิชย อาทมาท

Sloane Square: A Room of One’s Own (1974-1976, Derek Jarman/Guy Ford, UK)

เป็นผลงานชิ้นที่ 42 ในนิทรรศการ Derek Jarman, Dead Souls Whisper (1986-1993) วางอยู่ในตำแหน่งที่เราได้เดินทางพบเห็นผลงานเขามาพอสมควร พอได้เห็นห้องที่เป็นทั้งที่พัก ที่ทำงาน ที่สังสรรค์ เรื่องราวผู้คนข้าวของในภาพกับผลงานต่างๆ ก็เชื่อมโยงกันไปหมดเลยรู้สึกกับมันมากๆ


อ่านต่อในตอนอื่นๆ : FILM CLUB Year List 2021 (Part 2) | FILM CLUB Year List 2021 (Part 3)
FILM CLUB Year List 2021 (Part 4) | FILM CLUB Year List 2021 (Part 5)

filmclub
กอง Film Club

RELATED ARTICLES