เมื่อถึงที่สุดแล้ว ความพยายามช่วยโรงสกาลาให้รอดจากการถูกทุบคือสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ สุดท้ายก็คงไม่มีอะไรดีไปกว่าการย้อนกลับไปหา content ที่เคยอยู่ในนั้น ว่าครั้งหนึ่งเคยเป็นเหมือนสื่อกลางให้ที่ตรงนั้นเกิดความทรงจำร่วมกับคนทุกรุ่น ซึ่งก็คือประดาหนังที่เคยผ่านจอฉายของโรงในละแวกนี้
อันที่จริงหนัง La Boum (1980, โคล้ด ปีโนโต) ก็ไม่เคยฉายสกาลา แต่ไปเข้าโรงสยาม ซึ่งกว่าจะได้ฉายจริงก็ล่วงเข้าปีพ.ศ. 2525 (ค.ศ. 1982) โดยในช่วงเดียวกันที่ฝรั่งเศสเขาดูภาคสองไปเรียบร้อยแล้ว มิใช่ว่าเพราะหนังถูกดอง แแต่เกิดจากขั้นตอนการเจรจาซื้อขายระหว่างเอเพ็กซ์ ค่ายหนังนำเข้า กับทางค่ายเจ้าของลิขสิทธิ์อย่าง Gaumont กว่าจะได้เข้าโรงจริงๆ ก็ในราวเดือนตุลาคมซึ่งตรงกับฤดูปิดภาคกลางปี แต่ถึงกระนั้น นั่นก็ยังมิใช่การมาฉายครั้งแรกของหนัง La Boum อยู่ดี
จุดเริ่มต้นคงต้องย้อนกลับไปก่อนหน้านั้นราวปี 1981 ตัวหนังเคยมาเข้าร่วมเทศกาลหนังฝรั่งเศสที่ Alliance Française สมัยยังเป็นที่ทำการเดิม ณ ถนนสาธรใต้ (ในเวลาที่ชื่อถนนนี้ยังสะกดด้วยตัวธ-ธง) แล้วรอบหนึ่งก็มีคุณสุชาติ วุฒิวิชัย (ครีเอทีฟ + นักวางแผนโฆษณาประจำค่ายเอเพ็กซ์ที่ชาวเรารู้จักเป็นอย่างดี) ไปร่วมชมแล้วเกิดถูกใจจึงนำไปรายงานผู้บริหารเครือขณะนั้น (วิวัฒน์ ตันสัจจา) นำมาซึ่งเกิดการเจรจาทำสัญญาซื้อขาย + เปิดแอลซีนำเข้า จนกระทั่งตัวหนังได้เดินทางมาฉายโรงในที่สุด
ครั้งแรกที่หนังเรื่องนี้ได้เปิดตัวต่อสังคมและผู้คนผ่านไปผ่านมานั้น หนังใช้ชื่อทับศัพท์เป็นคำภาษาฝรั่งเศสว่า La Boum (ขณะที่ตลาดอเมริกาใช้ The Party กันแบบดุ่ยๆ) โดยตัวกระตุ้นต่อมความอยากดูมิใช่หน้าแม็กกาซีนหรืออันดับหนังทำเงินที่ไหน ทว่าเป็นคัทเอาท์ไม้อัดเยื้องแนวบันไดเลื่อนของโรงลิโด ซึ่งลำพังรูปที่เป็นใบหน้านักแสดงก็คงไม่เท่าไหร่ (ยามนั้นตัวหนังยังไม่เข้า ดารายังไม่เป็นที่รู้จัก) แต่ส่วนที่สะกดสายตา (ทว่ารอดพ้นเรดาร์การเฝ้าระวังมาได้อย่างเฉียดฉิว) กลายเป็นส่วนริมๆ ของอาร์ตเวิร์คที่เป็นภาพวัยรุ่นชายหญิงอายุราว 13-14 กอดกันกลมเป็นคู่ๆ แค่นี้แม้หนังยังไม่เป็นที่รู้จัก แต่ก็มั่นใจพอแล้วว่าหนังเข้าเมื่อไหร่ เสร็จแน่
‘La Boum’ จึงเป็นคำนามที่มิใช่ตัวบุคคล แต่ชื่อไทยเมื่อคราวมาฉายโรง (‘ลาบูมที่รัก’) ก็ส่อเจตนาว่าตั้งใจกะขายนางเอก โซฟี มาร์โซ (Sophie Marceau) อย่างชัดเจน ทั้งที่จริงๆ แล้วนางเอกก็มิได้ชื่ออะไรบุ๋มๆ เลยแม้แต่น้อย ตัวหนังเล่าเรื่องวัยรุ่นผู้อยากทำพิธีกรรมชนเผ่าชาวทุนนิยมที่เปิดบ้านตัวเองจัดตี้เพื่อให้เพื่อนวัยเดียวกันได้มาจับคู่ เพราะการมาเที่ยว ‘บูม’ หนึ่งครั้งก็มักนำไปสู่อะไรอย่างอื่นได้อีกมากมาย ถ้าลากเส้นตรงต่อจุดเข้าด้วยกันมันก็เหมือนวิถีชีวิตวัยรุ่นชนชั้นกลางฝรั่งเศส ในช่วงปลายทศวรรษ70 ต่อเนื่องยุค 80 นั่นเอง
ตามปกติ ประเพณี ‘บูม’ มักปักหมุดกันที่คืนวันเสาร์ อาจละม้ายกับฝั่งอเมริกันที่มี Saturday Night Fever (1977, John Badham) โดยเฉพาะตรงมีเรื่องของการเต้นรำเข้ามาเป็นตัวดึงดูด แต่สองวัฒนธรรมนี้ต่างกันในแง่สาระสำคัญเล็กน้อยนั่นคือ จุดนัดพบของฝั่งมะกันมักเน้นสถานประกอบการ ตามเธคที่เปิดให้บริการอยู่เป็นปกติอันเป็นเรื่องของธุรกิจแหล่งแฮงก์เอาท์ แต่สำหรับขนบของทางฝรั่งเศสจะหันไปจัดตามบ้านอยู่อาศัยหรืออพาร์ทเมนท์แทน (คาดว่าเพื่อเลี่ยงข้อจำกัดเรื่องอายุคนใช้บริการ) นอกจากนั้น ขณะที่เด็กหรือคนหนุ่มสาวฝั่งอเมริกันมีความใฝฝันอยากเป็นแชมป์เต้นรำประจำเธค ส่วนหนึ่งของวัยรุ่นฝรั่งเศสกลับมีความมุ่งหวังว่า วันหนึ่งคงได้มีโอกาสเปิดบ้านรองรับเพื่อนฝูงและมิตรสหายให้เข้ามาเที่ยวดื่มแล้วก็หาประสบการณ์ (อย่างน้อยๆ ก็ขอ ‘ครั้งแรก’) กันที่บ้านของตนเอง
ในอีกด้านหนึ่งของการเปิดบ้านจัด ‘บูม’ ยังมีเรื่องของการท้าทายอำนาจของพ่อแม่เข้ามาเจือปน นั่นคือ กว่าบ้านวัยรุ่นคนไหนจะลุกขึ้นมาเป็นเจ้าภาพกับเขาได้ ขั้นแรกควรต้องหาโอกาสเวลาที่พ่อแม่ไม่อยู่ (ไม่ว่าจะด้วยการเดินทาง ซึ่งยิ่งไกลยิ่งดี, ออกไปสังสันทน์นอกบ้าน หรือแม้แต่ขอความร่วมมือ ‘ล็อคดาวน์ตัวเอง’ ด้วยการกักตัวให้อยู่แค่ในห้องและห้ามออกมาเพ่นพ่านปะปนกับวัยรุ่นและลูกๆ) สาระสำคัญของการจัดบูมในแต่ละที่จึงเป็นเรื่องของ ‘เขตปลอดผู้ใหญ่’ แค่นี้ก็พูดได้เต็มปากเต็มคำแล้วว่าเด็กสามารถยึดครองพื้นที่ที่ตัวเองเป็นเจ้าของได้สำเร็จซะที และแน่นอนว่าคนที่จะเปิดบ้านจัดบูม เชิญเพื่อนฝูงมาดิ้นมาดื่มกันในบ้านตัวเองได้ก็ต้องมีฐานะอยู่ในระดับหนึ่ง
ส่วนเรื่องที่ว่าผลพวงของการจัดบูมจะนำไปสู่อะไรนั้น หลังตัวงานผ่านพ้นไปแล้วคาดว่ามีจำนวนไม่น้อยจับคู่คบกัน เพราะโดยฟังก์ชันของตัวพิธีกรรมเอง ก็หวังจะให้เด็กได้ลองซ้อมประสบการณ์ก่อนถึงวัยที่จะต้องมีความรับผิดชอบตามประสาผู้ใหญ่ เมื่อถึงเวลาอันควรก็จะต้องแยกบ้านพ้นไปจากพ่อแม่เข้าสักวัน
ถ้ามองด้วยหัวใจวัยรุ่น งานบูมมีขึ้นก็เพื่อจะให้ตนเองได้มีเซ็กส์ ถ้าไม่ใช่กับเพื่อน ก็ขอไปตกเอาตามคนที่เจอในงานก็ได้ การได้มีผัวทิพย์เมียทิพย์จากงาน’บูม’ กลายเป็นภาพในมายาคติสำหรับวัยรุ่น (ซึ่งถ้าบรรลุเป้าหมายได้จริง ก็แยกบ้านไปมีครอบครัวเป็นของตัวเอง)
ผกก. ปีโนโตค่อนข้างเชื่อว่า พิธีกรรม ‘บูม’ คงไม่จบแค่คนในวัยรุ่นเพียงกลุ่มเดียว แม้จุดมุ่งหมายที่ทำให้ใครต่อใครกลัวว่าเด็กจะเตลิด แต่แท้ที่จริง สถาบันครอบครัวในสังคมทุนนิยมก็พร้อมจะพังได้เท่าๆ กับความสัมพันธ์ชั่วคราวของวัยรุ่น และคนทุกวัยก็มีโอกาสเป็นต้นเหตุของภาวะบ้านแตกได้ทุกเวลา เริ่มจากพ่อของวิค (โซฟี มาร์โซ) ที่แอบไปมีกิ๊กนอกบ้าน เป็นสาวใหญ่ชื่อแวเนสซา (โดมินิก ลาวานงต์) ส่วนแม่ของวิคก็ใช่ว่าจะทำหน้าที่คอยพะยุงเสาหลักเอาไว้ได้ตลอดเวลา เมื่อเธอยอมเผลอใจไปกับเอริก (แบร์นาด์ จีโรโด)ครูสอนภาษาเยอรมันในโรงเรียนของลูก บ้านครอบครัวนางเอกจึงพร้อมจะสลายไปเป็นบ้านเล็กบ้านน้อยได้อีกสองถึงสามหลัง ถ้าต่างคนต่างพร้อมใจกันแยกตัวเองไปมี ‘ครอบครัวใหม่’ กับคนที่แอบคบเงียบๆ อยู่เบื้องหลัง
แม้ว่าหน้าหนังเรื่องนี้ดูเหมือนจะเป็นหนังวัยรุ่น แต่ถ้าเราก้าวข้ามพวกใบปิดหรือหน้าแบ๊วๆ ใสๆ ของมาร์โซไป La Boum ก็ไม่ต่างอะไรกับหนังแนว bedroom farce ที่ตัวละครในเรื่องพร้อมจะเอนเอียงเข้าหาแรงขับตามธรรมชาติตลอดเวลา จนกลายเป็นว่าตัวละครกลุ่มที่ใครๆ ชอบเข้าใจว่าง่ายต่อการชักจูงอย่างพวกวัยรุ่น+แก๊งลูกๆ กลับเป็นกลุ่มที่ดูสะอาดที่สุด และการจัดตี้ ‘บูม’ ที่สังคมมองว่าจะเป็นการชักจูงหรือมอมเมาเด็กนั้น กลับใสซื่อกว่าสังคมและไลฟ์สไตล์ทุนนิยมของคนวัยผู้ใหญ่ (ซึ่งกลายเป็น ‘บูม’ ที่ไม่มีใครมองเห็นทั้งๆ ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด) นอกจากนั้น งานบูมที่เด็กๆ จัดยังกลับกลายเป็นตัวช่วยกระชับสัมพันธ์ให้พ่อกับแม่ได้กลับมาใกล้ชิดกันอีกครั้ง (นี่นับเฉพาะคู่ของฟรองซัวส์กับฟรองซวส พ่อแม่ของวิค) ขณะที่หน้าตัวงานจริงก็แทบเปลี่ยนไปเป็นงานชุมนุมผู้ปกครองโดยไม่ตั้งใจ เมื่อทุกบ้านแห่กันมารับลูกหลานของตัวทันทีที่ถึงกำหนดกลับ
ในหนัง เรายังเห็นภาวะ disruption media บางตัวซึ่งปัจจุบันตายไปแล้วเรียบร้อย นั่นคือ ‘ตู้โทรศัพท์หยอดเหรียญ’ (ที่ต้องมีเยลโลว์เพจเจสประจำอยู่) ที่เล่นกับหัวใจและสร้างความกดดันแก่คนต่อคิวรอพอๆ กับการเข้าแถวหน้าห้องน้ำสาธารณะ กับ ‘โทรศัพท์บ้าน’ ที่เป็นความหวังของวัยรุ่น แต่เป็นความกระอักกระอ่วนของคนวัยผู้ใหญ่ที่มักพบว่าสายปลายทางไม่ว่างตลอดทั้งวันเพียงเพราะบ้านนั้นมีลูกอยู่ในวัยรุ่น (แต่แม้นี่จะเป็นยุคที่เริ่มดูห่างไกลจากทุกวันนี้ ในหนังก็มีบางอย่างที่จบอายุขัยตัวเองไปก่อนแล้วเรียบร้อย นั่นคือไม่มีใครในเรื่องเขียนจดหมาย-ใส่ซอง-ปิดแสตมป์-ส่งทางไปรษณีย์ถึงกันอีกต่อไป)
ญาติคนเดียวที่วิคไว้ใจได้มากที่สุดก็คือ ปูเปต์หรือคุณทวด (เดนีส เกรย์) ซึ่งเป็นคนเดียวที่ลอยตัวอยู่เหนือเงื่อนไข ไม่มีเรื่องบนเตียงรักๆ ใคร่ๆ กับใครเขา ผิดกับพ่อของวิคที่ไปก่อคดีกับแวเนสซาแล้วทิ้งร่องรอยการลักกินขโมยกินจนเจอภาวะใหญ่โตเกินคาดเมื่อเมียมาขอแยกบ้าน โครงเรื่องของปีโนโต (ซึ่งมี แดเนียล ทอมป์สัน ร่วมสร้างไดอะล็อก) มีความเป็นออร์แกนิกคือพร้อมที่จะบานปลายได้ทุกเวลา จนก้าวข้ามความเป็นหนังวัยรุ่นเธอกับฉันมาเป็นเรื่องของคนวัยผู้ใหญ่ กลายเป็นซับเซ็ทหนึ่งของเรื่องสมการรักคาวหวานที่มีด้วยกันสามคู่ ตามตัวละครหลักซึ่งก็คือสมาชิกในครอบครัว
แรกเริ่มเรื่องที่ดูเหมือนเน้นเฉพาะฝั่งวัยรุ่น ครั้นหนังเปิดตัวละครใหม่อย่างแวเนสซาเข้ามาเส้นเรื่องก็บานปลายแตกแขนงออกไปหลายเส้น มีการจับเอาตัวละครฝั่งลูกมาชนฝั่งพ่อแม่ จนยากที่จะแยกออกว่า เวลาเกิดวิกฤตขึ้นมาใครคือตัวต้นเหตุ โดยเฉพาะหลังจากพ่อของวิคตัดสินใจแยกบ้านหลังเกิดเรื่องแวเนสซา แล้วให้วิคอยู่กับแม่ซะ ทีนี้พอวิคหายจากบ้านทำไง แม่ก็ต้องบากหน้าโทรไปเช็คบ้านพ่อ ซึ่งช่วงนี้เป็นส่วนที่น่าสนใจมากช่วงหนึ่งคือพ่อได้โอกาสไถ่ถอนบาปที่ทำไว้กับครอบครัวด้วยการออกโรงตามหาลูกสาวด้วยตัวเอง เริ่มกันที่ลงทุนโทรไปเช็คบ้านเพเนโลป (ชีลา โอคอนเนอร์) เพื่อนซี้ของวิค จึงได้รู้ว่าวิคอยู่ลานสเกต และที่วิคเที่ยวลานสเกตก็เพียงเพราะแค่ต้องการจับพิรุธเจ้าหนุ่มมัททีเออ (อเล็กซองดร์ สเตอร์ลิง) ว่าแอบหนีมาควงกับสาวคนไหน พอเห็นพ่อบุกเข้ามาถึงลาน วิคก็หลอกใช้พ่อให้เป็นประโยชน์ ซึ่งแทนที่จะเป็นหนทางแก้ปัญหากลับมีแต่จะยุ่งหนักขึ้นไปอีก เพราะแผนจัดฉากของวิคส่งผลต่อไปอีกยาวไกล
วิธีเล่าเรื่องของปีโนโตที่เหมือนแยกลำน้ำออกเป็นสามสาย ทั้งที่เดิมมีอยู่แค่สายเดียว คือวิคกับมัททีเออ พออีกเดี๋ยวก็มีสายของฟรองซัวส์กับแวเนสซาเข้ามาแจม ขณะที่อีกข้างคือสายของฟรองซวส (แม่) กับเอริก (ครูเยอรมัน) ซึ่งก็อยู่ในระยะ progressive พอกัน แต่เขาก็เลือกที่จะเคลียร์สายของฟรองซวสกับครูก่อน ด้วยการให้ฝ่ายชายรับบทเรียนกลับไป
สังเกตได้ว่าเมื่อตัวละครรู้ว่าตัวเองมีชนักเมื่อไหร่ บทหนังมักเปิดโอกาสให้ไถ่โทษคู่กันกับการให้อภัยตามประสาลูกผู้ชาย เมื่อปมค้างคาใจระหว่างมัททีเออกับฟรองซัวส์ยังไม่ได้รับการสะสาง มัททีเออเองก็จ้องจะเปิดศึกกับหนุ่มใหญ่ในทันทีที่โผล่มายื้อยุดฉุดกระชากวิคที่หน้าประตูโรงเรียน ประเด็นก็คือในเวลานั้น ไม่มีใครในฝั่งตัวละครชายรู้ว่าอีกฝ่ายคือใคร มัททีเออไม่รู้ว่าฟรองซัวส์คือพ่อวิค เช่นเดียวกับพ่อของวิคก็ไม่รู้ว่าเอริกคือครูในโรงเรียน และเรื่องขมึงทึงหนักขึ้นอีก เมื่อแม่วิครู้ตัวว่าตนเองกำลังจะมีข่าวดี แต่ส่วนที่น่าจะดีกว่าก็คือวิคเตรียมจะเป็นเจ้าภาพเปิดบ้านจัด ‘บูม’ กับเขาอีกคนแล้ว
La Boum เวอร์ชั่นที่เคยฉายบ้านเรา ส่วนมากจะได้ดูกันในฉบับพากย์อังกฤษทับ ซึ่งก็น่าจะเป็นยุคท้ายๆ แล้วที่ค่ายจัดจำหน่ายเมืองนอกใช้นโยบายจัดโซนนิ่งกับประเทศที่มิใช่กลุ่ม francophone ด้วยการทำพากย์ก่อนทุกเรื่อง ซึ่งพอมาเป็นเสียงอังกฤษนั้น นอกจากสำเนียงจะฟังดูแปลกๆ วิธีเรียกชื่อตัวละครก็ยังโดนบิดเพื่อให้เข้ากับเสียงพากย์ อย่างตัวละครหนุ่มตาปรือที่ในเรื่องชื่อมัททีเออ เสียงพากย์เวลานั้นก็จะเรียก ‘แมททิวๆๆ’ ทุกคำ หรืออย่างบทคุณทวดผู้รู้ใจวัยมันส์ซึ่งในหนังเรียกว่าปูเปต์ เวอร์ชันพากย์ก็เปลี่ยนเป็น ‘ป็อปอายๆๆ’ ไป แต่พอมาถึงยุคนี้แล้ว โลกและวิธีคิดของผู้จัดจำหน่ายเปลี่ยนไป การได้ดู La Boum กันอีกครั้งก็น่าจะเป็นการ set zero เหมือนกับยังไม่เคยมีการฉายมาก่อน จนเดี๋ยวนี้ไม่มีใครรู้ว่าเวอร์ชั่นที่พากย์ทับไปอยู่เสียที่ไหน
La Boum ฉายอยู่ที่ Doc Club & Pub. ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติม ที่นี่