คำว่า “กรุงเทพฯ” ถูกปาใส่หน้าผู้ชมจำนวนครั้งที่ผู้เขียนเองก็นับไม่ถ้วน จึงสรุปได้ไม่ยากนักว่า หนัง “ส้มป่อย” (2564) วางอยู่บนคู่ตรงข้ามของความเป็นกรุงเทพฯ-ต่างจังหวัด โดยใช้ปมในวัยเด็ก และแรงขับดันทางเพศของส้มป่อย (พิจักขณา วงศารัตนศิลป์) นางเอกเป็นตัวเดินเรื่อง
ครอบครัวคนเมืองจะมีวันรวมญาติในวันปี๋ใหม่เมือง (สงกรานต์) และทุกปีคือวันโลกาวินาศของส้มป่อย และลูกหลานคนเมืองไม่น้อย โดยเฉพาะบ้านที่ไม่สามารถประดับความสำเร็จให้เป็นเกียรติยศแก่วงศ์ตระกูล เพราะมากญาติมากความ มากคนมากความ การอวดชีวิตที่ดีของคนในตระกูล หรือการถามไถ่ซอกแซกเรื่องส่วนตัว สำหรับบางคนอาจเป็นเรื่องเล็ก แต่คนไม่น้อยมันเป็นเรื่องน่ารำคาญ ญาติๆ หลายคนได้ดิบได้ดี กลายเป็นคนกรุงฯ ด้วยการแต่งงานออกไปใช้ชีวิตอยู่ในเมืองหลวง ลูกหลานที่กลับมาจึงเป็นคนกรุงเทพฯ ที่ “ขาวโจ๊ะโฟะ” เพราะไม่ต้องตากแดดตัวดำ เพราะใช้ชีวิตอยู่ในห้องแอร์
ส้มป่อยรู้สึกอึดอัดเสมอเมื่อครอบครัวเธอถูกเปรียบเทียบกับคนอื่น แม่เธอที่ดูมีอาชีพไม่แน่นอน นอกจากสุงสิงอยู่กับหวย ไม่ต่างกับพ่อที่หมกมุ่นอยู่กับไก่ชน ชีวิตแบบนี้มันไร้อนาคต และไม่มีความสุขเอาเสียเลย เธอตัดพ้อว่าทำไมแม่เธอถึงไม่ได้ผัวกรุงเทพฯ กรุงเทพฯ ของส้มป่อย จึงเป็นภาพตัวแทนของความเจริญ ความก้าวหน้า โอกาสของชีวิต ขณะเดียวกันก็เป็นภาพสะท้อนของการพัฒนาที่ไม่เท่าเทียม และการรวมศูนย์ทุกอย่างอยู่ที่กรุงเทพฯ ทั้งอำนาจทางการเมือง ทรัพยากรต่างๆ
ส้มป่อย หรืออีส้มเป็นตัวแทนของสาวต่างจังหวัดในหมู่บ้านในภาคเหนือที่อยากจะกลายเป็นคนกรุงฯ เธอไม่ชอบท้องถิ่นที่เธอมีชีวิตอยู่ และเธอพบว่าการจะขยับขยายสถานภาพนั้นได้เร็วที่สุด ไม่ใช่หน้าที่การงาน ไม่ใช่การศึกษา แต่เป็นการแต่งงานหาผัว เสียดายเมื่อจุดเริ่มต้นมันมาแบบนี้ เรื่องทั้งเรื่องจึงหมกมุ่นอยู่กับเส้นทางการจับผู้ชายจนน่ารำคาญเกินไป
หนังเรื่องนี้สำหรับคนเมืองแล้ว อาจจะรู้สึกถึงความตะหงิดๆ ผ่านสำเนียงฝั่งตะวันตก (ช้าๆ เนิบๆ แบบเชียงใหม่ ลำพูน) และฝั่งตะวันออก (รวดเร็ว ห้วนแบบแพร่ ลำปาง น่าน พะเยา) ที่ถูกใช้สลับไปมาระหว่างตัวละคร ทั้งที่อยู่ในพื้นที่เดียวกัน เช่น ส้มป่อย แม่ส้มป่อย เพื่อนส้มป่อยจะใช้สำเนียงตะวันออก ขณะที่ แซ้ป (ธนพล จารุจิตรานนท์) เจ๊แหวว (พัชร์ธีรัตน์ แหลมหลวง) ร้านยาดองจะใช้สำเนียงตะวันตก ทั้งที่หนังเรื่องนี้พยายามสื่อว่ามีโลเกชั่นอยู่ในลำพูน
แต่ที่ชัดมากสำหรับคนทั่วไปก็คือ สำเนียงที่อ่อนหวาน (ในแบบตะวันตก) ถูกสื่อให้เห็นว่าเป็นตัวแทนของภาพสาวล้านนาในอุดมคติของคนกรุงฯ หากนึกไม่ออกลองนึกถึงเพลงสไตล์สุนทรี เวชานนท์ อย่างเพลง “ล่องแม่ปิง” ดังที่ร้องว่า “คนงามๆ ต้องงามคู่ความ เด่น ดี ต้องฮักศักดิ์ศรีของกุลสตรี แม่ย่าแม่หญิง เยือกเย็นสดใส เหมือนน้ำแม่ปิง มั่นคงจริงใจ ฮักใครฮักจริง”
ความเป็นแม่หญิงล้านนาได้ถูกทำให้เป็นสินค้า ผ่านตลาดนางงามที่เริ่มต้นหลังปฏิวัติสยาม 2475 และเฟื่องฟูหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในภาคเหนือการจัดประกวดนางงามมีตั้งแต่ในระดับงานวัด ไปจนถึงการสร้างรางวัลของตัวเองของทุนสิ่งพิมพ์ยักษ์ใหญ่ภาคเหนืออย่างหนังสือพิมพ์คนเมือง การผลิตซ้ำความเป็นผู้หญิงล้านนาดังกล่าว เป็นมรดกที่สืบเนื่องมาจนทุกวันนี้ เพลง “ล่องแม่ปิง” ท่อนที่พูดถึง “สาวเครือฟ้า” ก็ยิ่งทำให้เห็นการตอกย้ำของความเป็นหญิงเหนือในแบบที่ว่ามา
ตรงกันข้ามกับตัวตนของนางเอก แม่ นอกจากจะมีสำเนียงที่ห้วนกระชับแล้วยังใส่อารมณ์เกรี้ยวกราดดุดัน เรียกได้ว่าในการพูดแต่ละประโยค ครึ่งนึงต้องเป็นคำสบถ คำด่า “จ้าดหมา” (ชาติหมา) เป็นคำที่ส้มป่อยน่าจะด่าบ่อยที่สุด การซดเหล้าแกล้มลาบดิบและหลู้ ก็ยิ่งเป็นภาพที่ตรงกันข้ามความเป็นสาวเหนือที่ดีงาม ส้มป่อยจึงมีความเป็นลำยองเวอร์ชั่นล้านนามากกว่า
นั่นเองทำให้ข้าวตอก ตัวละครหญิงที่ถูกใช้เปรียบเทียบกับส้มป่อย หล่อนมีจริตจะก้านอ่อนหวาน พูดช้าๆ เนิบๆ มืออ่อน ตีนอ่อน แต่งชุด “พื้นเมือง” รู้จักผ้านุ่งเครื่องห่ม ความเป็นต้นแบบนี้ ทำให้ส้มป่อยต้องไปเรียนรู้ความเป็น “ผู้หญิงล้านนา” จากข้าวตอก ซึ่งต่อมาข้าวตอกนี่เองจะเป็นคู่แข่งหัวใจของส้มป่อย ข้าวตอกจึงเป็นร่างทรงของสาวเครือฟ้า ขณะที่ส้มป่อยคืออีลำยอง แต่ในอีกด้าน ตัวของส้มป่อยเองอยู่ในสองสถานะ นั่นคือ ตัวตนดั้งเดิมคืออีลำยอง ที่กำลังจะดัดแปลงตัวเองให้เป็นสาวเครือฟ้าเพื่อซื้อหัวใจหนุ่มกรุงเทพฯ ตามที่ส้มป่อยคิด นั่นหมายถึงว่า เธอไม่เป็นตัวของเอง
ส่วนแวน (ธัชทร ทรัพย์อนันต์) หนุ่มกรุงเทพฯ ผู้เป็นยูทูบเบอร์สายท่องเที่ยวที่เข้ามาภาคเหนือที่เป็นเพื่อจะเก็บภาพ “ความเป็นล้านนา” ซึ่งก็คือนิยามล้านนาในอุดมคติคือ วัดวาอารามอันทรงคุณค่า ธรรมชาติของชนบทอันงดงามไม่ว่าจะเป็นทุ่งนาหรือดงดอย เขาคือคนแปลกหน้าที่เข้ามาพร้อมสะพายกล้อง แวนมีภาพความเป็นล้านนาอยู่ในหัวชุดหนึ่ง ขณะเดียวกัน คนท้องถิ่นก็มีภาพความเป็นกรุงเทพฯ ที่มองเข้ามาที่แวนในอีกชุดหนึ่งเช่นกัน ที่น่าแปลกคือ ไม่ค่อยมีคำค่อนแคะ ค่อนขอดถึงความเป็นกรุงเทพฯ ในหนังเรื่องนี้เลย นั่นอาจหมายถึง ยอมรับความเป็นคนนอกผู้สูงส่งกว่าไปแบบไม่ได้ตั้งใจไปด้วย
ตรงกันข้ามกับแวน ก็คือ แซ้ป ร่างทรงจอมปลอมที่ทำมาหากินจากความเชื่อชาวบ้าน แซ้ปเป็นคนที่ไร้ตัวตน หากไม่ได้เป็นร่างทรง ถ้าเขาไม่ดำรงสถานะนั้น ชาวบ้านไม่มีทางจะฟังเขา กลายเป็นว่า แซ้ปเป็นตัวละครที่มีพัฒนาการมากที่สุด จากเดิมที่แกนอยู่ที่นางเอก เพื่อนนางเอก ก็ถูกผลักมาโฟกัสอยู่แวน พื้นที่ของเขา บ้านเขา แม้กระทั่งฉากโรแมนติกในรสลาบดิบ ยังทำกินกันที่บ้านของแซ้ปเลย ความลักลั่นของตัวละครนี้คือ แซ้ปในหนัง เป็นหนุ่มตี๋ขาวที่ไม่อาจเรียกได้เต็มปากว่าเป็นตัวละครที่เป็นภาพตัวแทนของหนุ่มบ้านนอก ต่างจากเวอร์ชั่นแรกที่ปล่อยออกมาก่อนหน้านี้ ซึ่งในหนังเขาได้เปลี่ยนบทบาทมาเล่นเป็นเพื่อนสนิทของแซ้ปไปเสีย เช่นเดียวกับส้มป่อยที่ถูกเปลี่ยนมาเป็นดาราระดับนางเอกช่อง 3
ความเป็นชนบทถูกขับออกมาในภาพของภูเขา ถนนชนบท การเปลี่ยน space จากที่หนึ่งไปที่หนึ่ง เป็น space ชนบทในอุดมคติ ราวกับว่าหมู่บ้านอยู่ในหุบเขาที่อยู่ไกลแสนไกลความเจริญ เช่นเดียวกับซอยเล็กๆ รั้วไม้ไผ่ ศาลเจ้า บ้านไม้สองชั้นใต้ถุนสูง ซุ้มไก่ชน ร้านยาดอง แต่เราไม่พบพวกร้านขายของชำ ปั๊มหลอด ตลาดสด ส่วนชาวบ้านที่เพียงอุปกรณ์ประกอบฉาก แม้แต่ศิลปินชื่อดังที่ถูกบรรจุเข้ามาอย่างครูแอ๊ด (ผู้ใหญ่บ้าน) เหินฟ้า หน้าเลื่อม (พ่อของแซ้ป) ก็ไม่มีบทบาทสำคัญใดๆ เป็นเพียงตัวละครชายขอบที่ไร้เสียง
แต่ในชนบทแห่งนี้ มิได้เป็นชนบทที่เป็นอิสระ บ้านของพ่อหลวง (ผู้ใหญ่บ้าน) เป็นตัวแทนของอำนาจรัฐระดับชาวบ้าน สัญลักษณ์ไมค์และลำโพงแสดงให้เห็นถึงอำนาจการส่งข่าวและควบคุมข่าวสารแบบเก่า และเป็นศูนย์กลางที่เชื่อมต่อผู้คนในหมู่บ้าน
แม้จะไม่เห็นฉากกรุงเทพฯ เลย แต่ตัววัดอันเป็นภาพตัวแทนอารยธรรมอันเก่าแก่ และตึกแถวก็น่าจะเป็นตัวแทนความเป็นเมืองได้ในระดับหนึ่ง เช่นเดียวกับที่พักของแวน ที่เป็นรอยต่อระหว่างความเป็นเมืองและชนบท หญิงสาวที่เคาน์เตอร์บริการ คือ ภาพล้านนาในอุดมคติที่ผู้หญิงต้องดัดแปลงเรือนร่างตัวเองให้อยู่ในภาพที่ควรจะเป็น เช่นเดียวกับที่พักที่ประดับด้วยไม้สักทอง ลายผ้า และอื่นๆ
อย่างที่กล่าวไปแล้ว แซ้ปกลายเป็นตัวแปรสำคัญจากคนน่ารังเกียจ กลายเป็นคนที่อยู่ในสายตา แซ้ปเป็นเบาะรองรับความเจ็บปวดให้กับส้มป่อยจนในที่สุดเธอก็ใจอ่อน
เมื่อแวนเป็นตัวแทนของความเป็นเมือง/ความเป็นกรุงเทพฯ และแซ้ปเป็นตัวแทนของความเป็นบ้านนอก/ต่างจังหวัดแล้ว การที่ส้มป่อยเลือกแวน จะสามารถลบปมในใจของส้มป่อยได้หรือไม่ เพราะการทะเยอทะยานจะแต่งงานกับคนกรุงนั้น มันมาจากการที่เธอการต้องการยกสถานภาพขึ้นให้เท่าเทียมกับญาติพี่น้อง และที่สำคัญการแต่งออกไปกับคนกรุงเทพฯ คือ การหนีออกไปจากชนบทที่เธออยากจะจากไป
หากลงเอยที่ส้มป่อยแต่งงานกับแซ้ป ก็ไม่แน่ว่าทั้งคู่จะอยู่กันได้ยืนนานแค่ไหน แม้ว่าไลฟ์สไตล์ทั้งคู่จะไปด้วยกันได้ แต่ชีวิตที่ไม่ได้อยู่กันด้วยเพียงความรักอย่างเดียวมันจะออกหัวหรือก้อย
ในโครงสร้างการเมืองที่อำนาจกระจุกตัวอยู่ที่กรุงเทพฯ และประเทศที่ถูกผูกขาดทางเศรษฐกิจอยู่ในกลุ่มทุนจำนวนน้อย กับค่าแรงขั้นต่ำที่เตี้ยติดดินไม่พอกับค่าครองชีพ การใช้ชีวิตในชนบทจึงไม่ใช่เรื่องง่ายเลย
หากสมป่อยท้อง ทั้งคู่อาจจะต้องเข้าไปทำงานที่โรงงานนิคมลำพูน หรือเข้าเมืองใหญ่เพื่อหาเงินมาส่งลูกน้อยที่ฝากให้พ่อแม่ส้มป่อยเลี้ยงหลาน ดังเช่นเดียวกับครอบครัวในชนบทจำนวนมากเผชิญหน้าอยู่ ยกเว้นกรณีของเจ๊แหววที่ได้ผัวฝรั่ง เธออาจสามารถอยู่ในหมู่บ้านได้ ตราบใดที่ยังไม่เดือดร้อนเรื่องเงินๆ ทองๆ เพราะผัวยังซัพพอร์ตได้