ปลายปี 2552 แรกฉายหนังเรื่องนี้ ประเทศไทยได้กลับไปสู่การเมืองแบบแบ่งขั้วอย่างรุนแรงอีกครั้ง หลังจากสงบลงไปหลังความพ่ายแพ้ของพคท. กลางทศวรรษ 2520
การชุมนุมของเสื้อแดงเดือนเมษา 52 ที่ถูกเรียกว่า สงกรานต์เลือด ไม่ใช่จุดสิ้นสุด เพราะเรารู้ว่าปี 53 การขับไล่รัฐบาลอภิสิทธิ์จะทวีความรุนแรงมากขึ้น แต่ก็จบลงด้วยการล้อมปราบบริเวณแยกราชประสงค์
หนังพยายามสอดแทรกเรื่องความรัก การเมือง และการเติบโตของผู้หญิงคนหนึ่งผ่านปฏิทินในเดือนตุลา โดยมีลักษณะการเล่าซ้อนเล่าไปกับนิยายเรื่อง “สงครามชีวิต” ของศรีบูรพา บทหนังจงใจจะล้อตัวละครพระ-นาง ที่มีรักไม่สมหวัง กับ อุดมคติของชีวิตไปด้วยกัน
ระวี (โป๊บ ธนวรรธน์)-แสงจันทร์ (ก้อย รัชวิน) ก็คือ ระพินทร์-เพลิน นั่นเอง จุดเริ่มต้นการพบกันของระวีและแสงจันทร์เกิดจากการที่แสงจันทร์ถูกระวีขับรถชน เธอจึงใช้โอกาสนั้นขอติดรถเพื่อไปดูสถานที่ที่ มิตร ชัยบัญชา ตก ฮ.ตาย ขณะถ่ายทำหนังเรื่องสุดท้ายของเขา พวกเขาเจอกันในค่ำคืนของวันที่ 8 ตุลาคม 2513 ทั้งคู่ไปจบลงที่การค้างคืนที่บังกะโลแสนมุก ริมทะเลพร้อมกับความผูกพันของทั้งสองที่ก่อตัวภายในข้ามคืน
แสงจันทร์เป็นแรงงานรับจ้างเย็บผ้าอยู่แถบภูเขาทอง หนังไม่ได้เล่าถึงพื้นเพของเธอมากนัก แต่เราอาจประเมินได้ว่า เครือข่ายของเธอนั้นไม่ได้กว้างขวางอะไร การเป็นช่างเย็บผ้าไป มีชีวิตบันเทิงจากละครวิทยุ และหนัง อาจเป็นช่องทางหนึ่งที่ทำให้เธอได้โบยบินไปไกลจากความเป็นจริงมากที่สุดแล้ว การไม่รู้หนังสือ อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ทำให้เธอติดอยู่ในกรงขังของอิสรภาพและความมั่นใจ ความตายของมิตร ชัยบัญชา กลายเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของการสูญสลายไปของวัยรุ่นสายลมแสงแดดของเธอไปอย่างที่เธอไม่รู้ตัว
หลังจากที่เธอได้รู้จักกับระวี นักศึกษาที่กำลังจะไปเรียนโทต่อยังต่างประเทศ แสงจันทร์ก็เริ่มเปลี่ยนแปลงตัวเองไปทีละน้อย ทีละน้อย
แสงจันทร์ ได้รับการ educate จากระวีโดยที่ระวีไม่รู้เลยว่า แสงจันทร์อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ แต่ระวีก็อ่าน “สงครามชีวิต” ให้แสงจันทร์ฟังไปค่อนเล่ม และก่อนจะจากกัน เขาได้เอานิยายให้ไว้กับแสงจันทร์ จากนั้นมา แสงจันทร์พยายามจะเปลี่ยนตัวเองเป็น “เพลิน” ตัวเอกในสงครามชีวิตที่เธอยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตอนจบเป็นอย่างไร
ความไม่รู้หนังสือของแสงจันทร์เป็นจุดสำคัญของเรื่อง เพราะจดหมายน้อยที่ระวีฝากไว้ แสงจันทร์อ่านมันไม่ออก ทำให้การนัดหมายต่างๆ นั้นคลาดเคลื่อนไปหมด แสงจันทร์หลังจากกลับเข้ากรุงเทพฯ ก็พยายามจะเดินทางมาที่ทะเลบางแสนอีก
แต่เธอก็ไม่พบเจอเขา แม้เขาจะสัญญาว่าอีก 2 ปีให้มาเจอกัน แสงจันทร์ที่มุ่งมั่นจะเปลี่ยนตัวเองเป็นเพลินได้เริ่มชีวิตใหม่ด้วยการเรียนหนังสือภาคค่ำ และที่นั้นเองทำให้เธอพบกับ สมชาย (บอย พิษณุ) หนุ่มจีนที่พยายามเปลี่ยนตัวเองเป็นคนไทย ที่ต่อมาจะเข้ามามีบทบาทกับชีวิตแสงจันทร์อย่างที่เธอเองก็คาดไม่ถึง
สมชายเป็นคนชายขอบของสังคมไทยในยุคนั้น ลิ้นของเขาที่ติดสำเนียงภาษาแม่ เป็นการประจาน “ความเป็นเจ๊ก” ของเขาในสายตาคนกรุงฯ (ที่จริงแล้วคนเมืองหลวงจำนวนมากก็มีเลือดเจ๊ก เพียงแต่ว่าสามารถดัดแปลงตัวเองให้เป็นไทยได้แนบเนียนกว่า) เจ๊ก ไม่ใช่อัตลักษณ์ที่น่าภาคภูมิใจอะไร เพราะยังถูกใช้เป็นสิ่งที่แสดงการเหยียดชาติพันธุ์ของผู้คนในประเทศ
มีผู้เสนอว่าในทศวรรษ 2490-2510 ความเป็นจีนถูกมองในเชิงลบ ไม่ว่าจะเป็นความเป็นคอมมิวนิสต์ อาชญากรสกปรก หรือผู้ไร้วัฒนธรรม การเปลี่ยนตัวเองให้เป็นไทยก็เพื่อหาทางหลุดพ้นจากข้อครหาเหล่านี้ หรือแม้แต่สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ลูกจีนที่พ่อแม่อพยพมาจากแผ่นดินใหญ่ เขายังเล่าว่าสมัยสฤษดิ์-ถนอม “ลูกเจ๊ก” ถือเป็นปมด้อยอย่างหนึ่ง
การที่เขาเลือกเป็นสมชาย มากกว่าเฮียลิ้ม เพื่อยืนหยัดในอัตลักษณ์ใหม่ไม่ใช่เพียงหลีกเลี่ยงการโจมตีและดูถูก แต่มันยังเป็นการสร้างโอกาสในชีวิตที่เขาจะสร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาอีกด้วย สมชายมั่งคั่งขึ้นเรื่อยๆ นับจากวันที่เจอแสงจันทร์ เขาเป็นเพียงคนจีนที่เข้ามาเรียนภาคค่ำ เขาเริ่มมีรถมอเตอร์ไซค์ จนกระทั่งเป็นเจ้าของตึกแถว เราไม่รู้ว่าเบื้องหลังของสมชายเป็นกิจการอะไร ค้าขายกับใคร มีเส้นสายกับพวกข้าราชการหรือนักการเมืองยังไงหรือไม่
เทียบกันระหว่างระวี กับ สมชายแล้ว ระวีเป็นคนที่ห่างไกลยิ่งนัก ทั้งระยะทางและความเป็นปัญญาชนที่ดูสูงส่ง
ขณะสมชายต่างไป สมชายมีความเป็นพ่อค้าและผู้ประกอบการในตัว รู้จักเอาอกเอาใจ หาโอกาสชีวิตให้กับแสงจันทร์ แม้ตัวเธอเองไม่ได้มีใจให้ สมชายถึงกับพาเธอไปเรียนตัดเสื้อกับ “คุณนาย” เปลี่ยนเธอจากแรงงานเย็บผ้าทักษะต่ำเป็นแรงงานที่มีสกิลมากขึ้น
แต่แสงจันทร์ก็ยังคงเดินทางไปยังบังกะโลที่เดิมในวันที่ 8 ตุลา อยู่บ่อยๆ สมชายที่เป็นห่วงจึงได้แอบตามไป การไม่พบเจอระวีทำให้เขานึกว่า ระวีไม่มีตัวตนอยู่จริง ในที่สุดก็พยายามโน้มน้าวให้แสงจันทร์แต่งงานด้วยกับเขา หลังจากที่เขามีตึกเป็นของตัวเอง
มีฉากหนึ่งที่ระวีร่วมเดินขบวนประท้วงรัฐบาล ขบวนเคลื่อนผ่านตึกแถวของสมชาย ในวันที่สมชายพาแสงจันทร์ไปเซอร์ไพรส์นั่นเอง ต้องเข้าใจเสียก่อนว่าขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตย มิได้มีเพียงนักศึกษา แต่ยังรวมอาจารย์มหาวิทยาลัย กรรมกร ชาวนา ชาวไร่ รวมไปถึงการสร้างแนวร่วมกับพรรคการเมืองที่เข้าไปทำงานในรัฐสภา นอกจากนั้นความเคลื่อนไหวที่แหลมคมขึ้นหลัง 14 ตุลาคม 2516 พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยจะเข้ามามีบทบาทมากยิ่งขึ้น
ตัวละครอย่างระวี ทำให้นึกถึงบทบาทของอาจารย์มหาวิทยาลัย-นักวิชาการที่เข้ามาร่วมกันเป็นปากเป็นเสียงให้ชาวบ้านในภาพยนตร์ทองปาน ระวีจึงเป็นตัวแทนของผู้ทรงความรู้ การไปเรียนนอกย่อมแสดงให้เห็นถึงการคว้าโอกาสที่สูงมากในขณะนั้น แม้ว่าระวีจะเป็นเด็กกำพร้ามาตั้งแต่อายุน้อย ทศวรรษ 2510 เป็นช่วงที่มีการส่งคนไปเรียนต่อเมืองนอกไม่น้อย โดยเฉพาะทุนจากสหรัฐอเมริกาที่สนับสนุนการศึกษาในฐานะ soft power ในรูปแบบหนึ่ง แต่ที่ตลกร้ายคือ คนที่มีโอกาสได้ไปศึกษาต่อไม่น้อยมีบทบาทวิพากษ์ความเป็นจักรวรรดินิยมของสหรัฐอเมริกา ระวีก็น่าจะเป็นหนึ่งในนั้น
แสงจันทร์แทบจะไม่เหลือทางเลือก และในที่สุดเธอก็ตกลง เพราะเธอเองนั้นไร้ที่พึ่ง เนื่องจากไปหาญกล้าถามหา “ค่าจ้าง” จากคุณนายที่เธอทำงานด้วย ทั้งที่ได้กินฟรีอยู่ฟรีแล้ว สำหรับคุณนายเรื่องนี้ถือว่ามากไป การเรียกร้องของเธอที่เป็นการเรียกร้องสิทธิแรงงานขั้นพื้นฐานที่ยุคนั้นเริ่มมีการตื่นตัวกันมากขึ้น กลายเป็นสวิทช์ที่เปลี่ยนชีวิตเธอไปด้วย และผลักให้เธอไปสู่เงื้อมมือของสมชาย ที่อาจเป็นตัวแทนของนายทุนอีกรูปแบบ
สมชายพยายามเปลี่ยนเธออีกครั้ง ด้วยการปลุกให้เธอตื่นว่า เธอไม่ใช่ “เพลิน” หรือกล่าวได้ว่า สมชายลากแสงจันทร์ให้เธอกลับมาสู่โลกความเป็นจริงนั่นเอง ครานั้น สมชายตามเธอไปที่บังกะโลนั้นเมื่อ 8 ตุลาคม 2516
แม้แต่งงานแล้ว แสงจันทร์ก็ไม่เลิกที่จะเดินทางไปบังกะโลแห่งนั้น ในที่สุดความพยายามของเธอก็สำเร็จ ทั้งสองพบกันในวันที่ 8 ตุลาคม 2517 แต่นั่นก็เป็นเวลาที่สายเกินไปเสียแล้ว เธอพยายามปิดบังว่าแต่งงาน แต่ระวีเองก็น่าจะรับรู้ได้ พวกเขากลับมาเจอกันอีกครั้งในปี 2518 ในวันเดิม คราวนี้ระวีได้สร้างโรงเรียนให้เด็กๆ แถวนั้น และได้มอบเครื่องพิมพ์ดีดให้กับแสงจันทร์ หนังพยายามทำให้เห็นว่า แม้ใจจะเตลิดไปกับระวีแค่ไหน แต่เธอก็ไม่ยินยอมเผลอกายให้กับเขา และนั่นก็ทำให้เธอเกลียดตัวเองมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม การที่ระวีมอบเครื่องพิมพ์ดีดให้ก็ทำให้เธอได้พัฒนาสกิลการเขียนเพิ่มขึ้น ความมั่นใจนี้ทำให้ในที่สุดแสงจันทร์ก็ตัดสินใจตีจากสมชายไปมีชีวิตเป็นของตัวเอง เราไม่รู้เลยว่าเส้นทางอาชีพของเธอเป็นยังไงอยู่อย่างไร หรือสมชายได้มอบเงินก้อนไว้ให้เธอประทังชีวิตหรือไม่ แต่เราไม่เห็นภาพเธอเป็นแรงงานราคาถูกในตลาดแรงงานอีกต่อไป เราเห็นว่าเธอหมกมุ่นอยู่กับเครื่องพิมพ์ดีดและงานเขียนตรงหน้า
ส่วนระวี หลังจากกลับจากนอกก็มีบทบาทเข้าร่วมการชุมนุมและถูกจับ ทำให้เขาและเธอคลาดกันอีกนาน ระหว่างนั้น แสงจันทร์ก็เริ่มพิมพ์งานสะสม แสงจันทร์กลับไปที่บังกะโลเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2519 หวังจะเอางานที่เธอพิมพ์ไว้มาให้ระวีอ่าน แต่สิ่งที่แสงจันทร์พบกลับเป็นสมชายที่พยายามขอคืนดี โชคร้ายที่ว่า ฉากนั้นน่าจะจบลงด้วยการข่มขืน
ที่ทั้งสองไม่เจอกัน ก็เนื่องจากว่า ช่วงนั้นคือ จุดเปลี่ยนสำคัญของสังคมไทย นั่นคือ เหตุการณ์เมื่อเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ที่นักศึกษาและประชาชนถูกล้อมปราบในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระวีตัดสินใจเข้าร่วมกับพคท. นี่เป็นครั้งที่ 2 ที่เขาได้ก้าวเดินออกไปจากสังคมไทย ครั้งแรกคือไปเรียนต่อปริญญาโท แต่ครั้งนี้ เขาได้จากแสงจันทร์ชั่วนิรันดร์ เส้นทางของระวีคล้ายกับอาจารย์บางคนที่เลือกหนทางนี้ แต่เหตุผลของเขาจะอยู่ที่การโค่นล้มอำนาจรัฐ ล้างแค้น หรือต้องการที่หลบซ่อนตนให้ปลอดภัย ก็ไม่รู้แน่ได้
เมื่อระวีออกจากป่าและกลับมาที่บังกะโล เขาพบต้นฉบับที่ตกหล่นอยู่ ที่ตลกร้ายก็คือ บังกะโลแห่งนั้น สมชายได้มาซื้อต่อจากเจ้าของเดิม ระวีพยายามเข้าไปในกรุงเทพฯ เพื่อหาแสงจันทร์ แต่ก็คลาดกัน เขากลับมายังบังกะโล และใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น อย่างไรก็ตามระวีอายุสั้นเกินไป เนื่องจากมีอาการไข้มาเลเรียที่ติดมาจากสมัยเข้าป่า จนเขาต้องทิ้งชีวิตไว้ที่บังกะโลนั้น ก่อนลาโลกเขาพบกับสมชาย อ้อนวอนให้เขาได้อยู่ที่นั่นและฝากฝังเรื่องบางเรื่องไว้
แสงจันทร์ ที่กลายเป็นนักเขียนอาชีพเดินทางมายังบังกะโลเมื่อทราบว่า มีคนเอาต้นฉบับที่เธอเคยเขียนไว้ส่งไปยังบรรณาธิการหนังสือที่เธอทำงานด้วย แต่ปรากฏว่า คนที่เธอพบกลับเป็นสมชาย ซึ่งเขาก็ได้เล่าว่า ระวีจากไปอย่างไร
นอกจากความตายของระวี จะเป็นอุปลักษณ์ของความพ่ายแพ้ของคอมมิวนิสต์แล้ว การที่สมชายสามารถถือครองกรรมสิทธิ์บังกะโลอันเป็นพื้นที่แห่งความทรงจำของระวีกับแสงจันทร์ก็ยิ่งทำให้เห็นถึงว่า ในที่สุดแล้ว ทุนนิยมคือผู้ชนะ แม้ว่าแสงจันทร์จะเปลี่ยนตัวเองเป็นคนที่มีการศึกษา อ่านออกเขียนได้ เป็นนักเขียน แต่เขาและเธอก็ไม่อาจหนีพ้นเงื้อมมือของทุนนิยมที่คุมขังความทรงจำอันแสนหวานของเขาและเธอไปได้
October Sonata มีให้รับชมทางออนไลน์ที่ Netflix และในช่องทางข้างล่างนี้ครับ