Home Review Show Review Whitney Cummings : Can I Touch It? (2019) นางสาวหุ่นยนต์

Whitney Cummings : Can I Touch It? (2019) นางสาวหุ่นยนต์

Whitney Cummings : Can I Touch It? (2019) นางสาวหุ่นยนต์

ข้อสังเกตที่น่าสนใจประการหนึ่งในขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองของบรรดานักเรียนนักศึกษาช่วงหลายเดือนที่ผ่านมานี้คือ สัดส่วนของผู้ชุมนุมเพศหญิงมีมากกว่าผู้ชุมนุมเพศชายอย่างมีนัยสำคัญ ข้อสังเกตนี้มาพร้อมกับแนวคิดที่ว่า วัยรุ่นหญิงเหล่านี้นี่แหละ คือเหยื่อผู้ได้รับผลกระทบจากการกดขี่อย่างเข้มข้นที่สุดในบ้านนี้เมืองนี้ การพูดคุยเรื่องแนวคิดสตรีนิยม อย่างแพร่หลายทั้งบนเวทีทางการเมืองและในหมู่ประชาชนโซเชียลเนตเวิร์กยิ่งตอกย้ำเรื่องนี้อย่างหนักแน่น

เพื่อเป็นการตอบรับบทสนทนาของสังคมเรื่องสิทธิสตรีดังที่กล่าวถึง เราจะขอหยิบยกโชว์ที่ชื่อว่า Can I Touch It? ของวิทนีย์ คัมมิงส์อันว่าด้วยเรื่องผู้หญิงและหุ่นยนต์ (?) ในปี 2019 มาพูดถึงกันในฐานะการแสดงเดี่ยวไมโครโฟนที่พูดถึงหัวอกลูกผู้หญิงด้วยลีลาสุดแสบคัน และทิ้งปมประเด็นน่าขบคิดเกี่ยวกับขบวนการสิทธิสตรีสมัยใหม่เอาไว้ได้อย่างน่าสนใจ

ก่อนจะพูดถึงตัวโชว์ ย้อมูลหนึ่งที่ควรจะรู้เอาไว้ก็คือ วิทนีย์ คัมมิงส์ คือหนึ่งในผู้สร้างและผู้เขียนบท 2 Broke Girls ซีรีส์ซิทคอมที่ดำเนินเรื่องผ่านสาวเสิร์ฟวัยรุ่นถังแตกที่มีความฝันจะเปิดร้านคัพเค้กในนิวยอร์ก และโชว์ Can I Touch It? นี้ได้พี่ใหญ่ผู้ขึ้นชื่อเรื่องมุกตลกสุดแมนอย่างบิล เบอร์ มานั่งแทนร่วมอำนวยการผลิต 

มุกตลกส่วนใหญของวิทนีย์ คัมมิงส์ในโชว์นี้จะเป็นการตอบคำถามที่ผู้ชายมักจะถามกันบ่อยๆ เมื่อมีการพูดถึงเรื่องสิทธิสตรี หนึ่งในคำถามที่เรามักจะได้ยินกันบ่อยก็คือ หากว่าผู้หญิงเป็นฝ่ายเอาเปรียบเสียเองล่ะ เราจะทำยังไงกับเรื่องพวกนี้

“ตอนนี้เราอยู่ในภาวะที่ทุกคนต้องห้ามตัวเองไม่ให้พูดไม่ดีกับผู้หญิง พอมีใครเริ่มว่าผู้หญิงปุ๊บ ทุกคนมีอันต้องประสาทกินกันไปหมด อันนี้เป็นเรื่องไม่ดีมากๆ เราต้องกลับไปที่จุดที่เราเตือนกันได้ว่าทำแบบนี้มันไม่โอเค 

“มีใครในนี้มีเพื่อนที่คิดว่าตัวเองเป็นเฟมินิสต์ แต่จริงๆ แล้วเป็นคนนิสัยเสียบ้างมั้ยคะ ของแบบนี้มันต้องมีคนคอยเตือนกันบ้างนะ

“ฉันมีเพื่อนคนหนึ่งที่ชอบไปเมาที่เทศกาลดนตรี 5 วันรวด แล้วก็กลับมาบ่นว่า ‘ทำไมไม่เจอผู้ชายดีๆ บ้างเลยวะ’ มันมีเว้ยมึง เขาแค่ไม่ได้ไปอยู่แถวที่ที่มึงไปเท่านั้นเอง ผู้ชายดีๆ ที่ไหนเขาจะยืนดูมึงเมาเละเทะอยู่ในงานเบิร์นนิ่งแมนวะ”

แม้ว่าการเหมารวมจะเป็นเครื่องมือหากินชิ้นสำคัญของนักแสดงตลก แต่คัมมิงส์ก็ก็ยืนยันหนักแน่นว่าสิ่งนี้ทำงานได้ผลดีที่สุดเฉพาะบนเวทีตลกเท่านั้น ในความเป็นจริงการเหมารวมผู้ชายเป็นอย่างนั้น ผู้หญิงเป็นอย่างนี้นั้นไม่สนุกและไม่ขับเคลื่อนการสนทนาไปในทิศทางที่ควรจะเป็น (ในแง่ของการขับเคลื่อนสังคม) จุดที่น่าสังเกต คือการเหมารวมหลายครั้งตั้งอยู่บนข้อเท็จจริงที่สะท้อนความไม่เป็นธรรมบางประการ

“ทุกครั้งที่ฉันได้ยินผู้ชายบ่นเรื่องนักขุดทอง (ผู้หญิงที่เกาะผู้ชายรวยๆ กิน) ฉันก็จะนึกเสมอว่า ผู้ชายได้ออกมาขุดทองกันจริงๆ ตั้งแต่สมัยที่ผู้หญิงไม่ได้รับอนุญาตให้ออกจากบ้านนะ กว่าพวกเราจะทำมาหากินได้เองก็ไม่มีทองเหลือให้ขุดแล้ว พวกนั้นไม่ยอมแบ่งเลย เพราะอย่างนั้นผู้หญิงหลายคนเขาก็เลยเลือกทางนี้ไง

แต่ปัญหานี้มีทางแก้นะ ครั้งหน้าคุณลองเดตกับผู้หญิงที่เขามีงานมีการทำดูดีมั้ยล่ะ พวกนี้มีทองเป็นของตัวเอง พวกคุณก็แค่เลิกอวดรวย เลิกเดตกับเด็กอายุสิบแปดเท่านั้นเอง”

นอกจากบรรดามุกตลกแสบๆ แล้ว สิ่งที่เป็นจุดขาย ของการแสดงครั้งนี้คือการที่หุ่นยนต์เซ็กซ์ขนาดเท่าตัวคนจริงที่ถอดแบบออกมาจากคัมมิงส์ปรากฏตัวออกมาในฐานะแขกรับเชิญ เธอยกย่องว่าเจ้าสิ่งนี้แหละคือนวัตกรรมที่จะมาพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้หญิง แบบเดียวกันกับที่เครื่องล้างจานและเครื่องดูดฝุ่นเคยทำมาแล้ว นั่นคือทำให้ผู้หญิงมีเวลาว่างมากขึ้น และใช้ชีวิตนอกบ้านได้เยอะกว่าเดิม “หวังว่ามันจะเป็นของที่ขายได้ทั่วไปในเร็ววันนะ ฉันตั้งตารอจะได้พูดว่า ที่รักวันนี้เหนื่อยจังเลย เธอไปเอากับอาร์ทูดีทูก่อนได้มั้ย”

ครึ่งชั่วโมงสุดท้ายของโชว์เป็นชุดมุกตลกที่มาพร้อมกับข้อเท็จจริงชวนตะลึง เช่น คนที่สั่งทำส่วนใหญ่ยอมจ่ายเงินเพิ่ม 1,400 เหรียญเพื่อให้หุ่นยนต์มีขนในที่ลับ, หุ่นยนต์ทุกตัวมีหัวนมสูงต่ำไม่เสมอกัน, เจ้าของหุ่นยนต์เซ็กซ์คือชายไม่กี่พวกบนโลกที่รู้ราคาของอายแชโดว์ และผู้หญิงมีส่วนร่วมอย่างมากในการออกแบบหุ่นยนต์เซ็กซ์ ข้อมูลและมุกตลกของคัมมิงส์โคจรอยู่รอบแนวคิดเรื่องความเคารพความแตกต่างในฐานะมนุษย์ซึ่งมักตกหล่นหายไปในบทสนาอันเผ็ดร้อนระหว่างนักสตรีนิยมและผู้โต้แย้ง เธอย้ำอยู่หลายครั้งว่าเธอไม่ได้โกรธ และไม่ได้เกลียดผู้ชาย แต่ความเหลื่อมล้ำอาจถูกมองข้ามไปเมื่อมองจากสายตาของผู้ที่ได้รับสิทธิประโยชน์บางอย่างแค่เพียงเพราะเขาเกิดมามีเพศชาย พวกเขาไม่ได้ทำอะไรผิด แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราต้องมองข้ามมันไปเฉยๆ เพียงเพราะเขาไม่รู้ตัวว่าเผลอทำร้ายความรู้สึกของใครไปบ้าง  

“ฉันทดลองทิ้งหุ่นยนต์ไว้กับแฟนตัวเองหนึ่งสัปดาห์ แรกๆ เขาก็บอกว่าไม่ชอบไอ้หุ่นนี่เลย รับไม่ได้อย่างแรงตรงที่มันคอยจ้องเขาแปลกๆ ตลอดเวลา ยินดีด้วยนะที่รัก คุณเริ่มเข้าใจการเป็นผู้หญิงขึ้นมาบ้างแล้ว

สายตาแบบนี้แหละที่พวกเราโดนมาตลอดชีวิต”

จะว่าตลกมันก็ตลกใช้ได้ เมื่อวัตถุสำหรับร่วมเพศอย่างหุ่นยนต์นี่แหละ ที่สะกิดเตือนไม่ให้เราเผลอมองผู้หญิงเป็นวัตถุทางเพศ


*คุณสามารถรับชม Whitney Cummings: Can I Touch It? ผ่านทางสตรีมมิ่งได้แล้วที่ Netflix 

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here