Bo Burnham: Inside ความเบื่อหน่ายคืออาชญากรรม

(2021, Bo Burnham)

เมื่อพิจารณาจากจำนวนและรูปแบบที่เปลี่ยนไปของโชว์ตลกสแตนด์อัพในปี 2020 แล้ว เราอาจพูดได้ว่าช่วงกลางปีที่แล้วจนถึงต้นปีนี้เป็นช่วงวัดใจครั้งยิ่งใหญ่ของเหล่านักแสดงตลกในสหรัฐอเมริกา หลายคนเลือกที่จะใช้โอกาสนี้หยุดพักการแสดงเพื่อพัฒนาบท หลายคนสร้างพื้นที่ใหม่ขึ้นมาเพื่อป้อนเนื้อหาใหม่ๆ เข้ามาในกระแส ขณะเดียวกัน นักแสดงตลกอีกไม่น้อยเลือกจะใช้โอกาสนี้เพื่อทดลองที่ทางและวิธีใหม่ๆ ในการจัดโชว์ 

ถือเป็นเรื่องที่ท้าทายไม่น้อย เมื่อส่วนประกอบสำคัญในโชว์อย่างผู้ชม ซึ่งมักรับบทเป็นผู้สนองตอบต่อมุกตลกถูกตัดออกไปจากสมการ ขณะที่ตลกฐานะดีอย่างเควิน ฮาร์ต เลือกเปิดการแสดงที่บ้าน โดยมีแขกที่ถูกคัดมาแล้วเป็นผู้ชม (พร้อมเฟซชิลด์ และผ้าปิดปากเต็มอัตรา) ตลกขวัญใจมหาชนอย่างวีร์ ดาส และตลกหน้าใหม่ ทุนน้อยก็เลือกเปิดการแสดงผ่าน Video Conference ตลกบางคนก็เลือกที่จะตัดผู้ชมหน้าเวที (หรือหน้าจอไลฟ์) เช่าโรงละครถ่ายเป็นบันทึกการแสดงแบบไร้ปฏิกิริยาไปเลย

ส่วนคนอย่างโบ เบิร์นแฮม ไม่สนอะไรสักอย่าง

ก่อนพูดถึง Inside ผมจำเป็นต้องแนะนำให้คุณรู้จักกับโบ เบิร์นแฮมเสียก่อน

โรเบิร์ต “โบ” พิคเคอริง เบิร์นแฮมเป็นนักแต่งเพลง ผู้กำกับภาพยนตร์ (เขากำกับเรื่อง Eight Grade) นักแสดงตลก และก่อนที่เขาจะเป็นทุกอย่างทั้งหมดนี้ เขาเป็น ยูทูบเบอร์ มาก่อน เบิร์นแฮมสร้างชื่อจากการโพสต์วิดีโอดนตรีที่มีเนื้อหาแสบคันพูดถึงเรื่องครอบครัว สภาพสังคม และชีวิตประจำวันในช่วงปี 2006 (ซึ่งขณะนั้นเขาอายุได้ 16 ปี) และเข้าสู่วงการตลกในปี 2008 เบิร์นแฮมได้รับการจดจำว่าเป็นนักแสดงที่เขียนมุกตลกได้โหดร้ายไร้ปรานี และมีฟอร์มการแสดงที่ออกจะแหวกขนบการแสดงตลกสแตนด์อัพ 

โชว์พิเศษ Make Happy ของเขาในปี 2016 ได้รับการกล่าวขวัญว่าเป็นการแสดงที่แหกขนบตลกเดี่ยวไมโครโฟนที่สุด รูปแบบของมันคล้ายกับการเอาการแสดงละครเวที สเกตช์โชว์ (ละครตลกสั้น ๆ) การแสดงดนตรีสด และตลกสแตนด์อัพมายำรวมกัน เสียงตอบรับของนักวิจารณ์แตกออกเป็นสองฝั่ง ฝั่งหนึ่งชื่นชมว่ามันคือการทำลายโครงสร้างอย่างกล้าหาญที่สุดและประสบความสำเร็จในการรักษาอารมณ์ขันร้ายกาจเอาไว้ด้วย อีกฝั่งกล่าวว่ามันคือการอวดอุตริเกินจำเป็น หลายช่วงในการแสดงเป็นเพียงการเอามุกเก่าๆ มาพูดในน้ำเสียงใหม่ให้น่าสนใจขึ้นเท่านั้น แต่สิ่งที่ทั้งสองฝ่ายเป็นตรงกันคือ มันช่างเป็นตัวแทนบุคลิกของมนุษย์ยุค “ยูทูบ” ที่แจ่มชัดเหลือเกิน ทั้งในแง่ของความยุกยิกสมาธิสั้นและวิธีในการสร้างสรรค์เนื้อหา

Inside คืองานถัดจาก Make Happy มาราวห้าปี

คราวนี้เบิร์นแฮมไม่มีทั้งคนดู ไม่มีทั้งเวที และไม่มีทั้งกรอบเวลาการแสดงหนึ่งชั่วโมง เขาใช้เวลาหนึ่งปีเต็มขณะอยู่ในช่วงล็อกดาวน์เพื่อกักกันโรค ทั้งกระบวนการเขียนบทและถ่ายทำโชว์นี้เพื่อป้อนให้ Netflix และผลลัพธ์ที่ได้ก็ชวนตื่นตะลึงไม่น้อย

เบิร์นแฮมปรากฏตัวต่อหน้ากล้องเพื่อทักทายคนดูในสภาพผมยาวประบ่า หนวดเครารุงรังแปลกตา ต่างจากที่เราเคยเห็นเขาในช่วงปกติ เบื้องหลังของเขาคือห้องพักที่เต็มไปด้วยอุปกรณ์ในการถ่ายทำวางกองระเกะระกะ เขาบอกว่ากรอบเวลาที่ตั้งไว้คือหกเดือน จากนั้นจึงเริ่มทำการแสดง โครงสร้างของ Inside ถูกแบ่งออกจากกันเป็นส่วนอย่างง่ายๆ ประกอบไปด้วยภาพเบื้องหลังการถ่ายทำ การแสดงประกอบเพลง การแสดงสั้นๆ รวมไปถึงการแคสต์เกม (แบบปลอม ๆ) ทั้งหมดนี้แยกจากกันโดยสิ้นเชิง

ส่วนเป้าหมายสำหรับกระทำการเสียดสีก็ไม่ใช่ใคร มันคือโลกอินเทอร์เน็ต เพื่อนในยามกักตัวของใครหลายคน เขาเปิดการแสดงด้วยเพลงที่ชื่อ Content ที่กล่าวถึงกิจวัตรอันวนเวียนซ้ำไปมาของตัวเอง ตื่นในตอนเช้า เขียนมุกตลกอย่างเดียวดาย หลับไปในยามดึก วนเวียนอยู่แบบนี้เพื่อสร้างเนื้อหาป้อนใส่โลกออนไลน์ ก่อนจะตั้งคำถามว่า ในเมื่อโลกเป็นแบบนี้แล้วใครจะยังขำออกอยู่อีก มุกตลกยังจำเป็นอยู่หรือไม่ ในเมื่อมันไม่ช่วยอะไรเลย นอกจากเป็นแหล่งหากินของคนขาวผู้มีอันจะกินอย่างเขาในเพลงต่อมาที่ชื่อว่า Comedy ก่อนจะสรุปได้ว่า งานนี้คือสิ่งที่พระเจ้ามอบหมายให้เขาทำ เพราะมันหาเงินเลี้ยงเขาให้ได้อิ่มท้อง แก้เบื่อ แถมยังบรรเทาอาการหิวแสงได้ด้วย

เราสามารถพบเจอเหยื่อล้อเลียนของเบิร์นแฮมได้ไม่ยาก ทั้งพ่อแม่ผู้ไม่ประสาในโลกออนไลน์ วิดีโอเกมสตรีมเมอร์ รายการสำหรับเด็กที่มีเนื้อหาน่าหนักใจ เด็กฝึกงานที่ไม่ได้รับค่าจ้าง การแชทเสียวช่วงกักตัว ผู้บริหารเว็บแอมะซอน ชาวเน็ตและวิกฤตวัยสามสิบของตัวเอง แต่เหยื่อที่น่าสนใจและดูเป็นหน้าเป็นตาของโชว์นี้สำหรับผมคือ ผู้หญิงอเมริกันในเพลง White Women’s Instagram ทั้งช่วงการแสดงนี้คือมิวสิกวิดีโอเพลงที่มีเนื้อหาหยิกหยอกโพสต์ไร้สาระที่เปี่ยมไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนในอินสตาแกรม มันไม่ได้จำกัดเป้าหมายแค่ผู้หญิงคนขาว แต่อาจจะลุกลามมาถึงอินสตาแกรมของเซเลบบ้านเราที่โอบรับเอาอิทธิพลแบบนี้เข้ามาด้วย ภาพทั้งหมดในมิวสิกวิดีโอคือภาพที่เบิร์นแฮมบรรจงถ่ายโดยที่ลอกแบบภาพไร้สาระในอินสตาแกรมมาแบบไม่มีผิดเพี้ยน และที่สำคัญคือมันสวยเป็นบ้า นี่คือสิ่งที่บ่งชี้ว่าเขาเข้าอกเข้าใจทั้งการออกแบบโปรดักชั่นและจริตของชาวเน็ตอย่างแท้จริง 

โชว์ส่วนที่เข้มข้นมาก และเป็นที่กล่าวขวัญที่สุดคือ ช่วงที่เบิร์นแฮมเล่นเพลง Welcome to The Internet มันกล่าวถึงพฤติกรรมการกระโดดไปกระโดดมาของนักท่องอินเทอร์เน็ตที่หันไปหาสิ่งเร้าที่ประโคมเข้ามาอย่างไม่หยุดยั้ง ทั้งแบบธรรมดาไม่มีพิษไม่มีภัยไปจนถึงแบบที่ต้องตั้งคำถามกับความมั่นคงทางจิตใจ เขาสกัดแก่นของพฤติกรรมเช่นนี้เอาไว้ที่ท่อนฮุกของเพลงที่ว่า “การวางเฉยคือโศกนาฏกรรม และความเบื่อหน่ายคืออาชญากรรม” (Apathy is a tragedy and boredom is a crime) ไม่ว่าจะโดยตระหนักได้หรือโดยไม่รู้ตัว ชาวเน็ตไม่อาจทนทั้งสองสิ่งนี้ได้เลย โดยเฉพาะเมื่อต้องอยู่ในพื้นที่จำกัด ไม่อาจออกไปไหนมาไหนได้สะดวกในยามกักตัว ความรู้สึกเช่นนี้ยิ่งสำแดงฤทธิ์

สิ่งหนึ่งที่ปรากฏออกมาได้ชัดเจนที่สุดใน Inside โดยที่เบิร์นแฮมไม่ต้องเอ่ยถึงมันตรงๆ เลยแม้แต่น้อยก็คือ ความทุกข์ทรมานของนักสร้างสรรค์ที่ไม่อาจใช้ชีวิตได้ตามปกติ มันถูกสะท้อนออกมาตามหนวดเครา ผมเผ้า เสื้อผ้าปอนๆ ของเขาและบรรดาฟุตเทจภาพการจัดแจงห้องรกๆ ที่เขาทำการแสดง บางครั้งเบิร์นแฮมปรากฏตัวต่อหน้ากล้องในสภาพสุดโทรมโดยสวมแค่บ็อกเซอร์ตัวเดียว ยิ่งเวลาในโชว์ผ่านไปเรื่อย เราก็จะยิ่งได้เห็นความอ่อนล้าปรากฏออกมามากยิ่งขึ้นจนน่าสงสัยว่า ภาวะภายใน ที่ถูกเอามาตั้งเป็นชื่อโชว์นี้อาจไม่ใช่ภายในของใครอื่น แต่เป็นของของตลกผู้นี้นี่เอง เป็นภายในคงไม่บิดเบี้ยวและเจ็บปวดขนาดนี้ หากว่านี้คือการแสดงที่มีผู้ชม มีเวที และมีกรอบเวลาการแสดงตามปกติ แน่นอนว่าไม่มีใครบังคับให้เบิร์นแฮมทำ นอกจากสิ่งที่อาจจะตายลงไปหากเขาไม่ไม่รับมันไว้เป็นความท้าทายในชีวิตการแสดงตลกสแตนด์อัพ

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ผลการท้าทายครั้งนี้ช่างน่าทึ่ง เราได้เห็นทักษะการแสดงอันยอดเยี่ยม และพลังในการสร้างสรรค์อย่างเหลือเชื่อของเบิร์นแฮมใน Inside ที่ก้าวข้ามข้อจำกัดเดิมๆ ของตลกสแตนด์อัพไปได้ (ด้วยชุดทักษะที่น่าจะเป็นแบบเดียวกับที่ยูทูบเบอร์ หรือดาวติ๊กต็อกมีกัน) บวกกับลูกบ้าส่วนตัวที่ใช้ทั้งในการเขียนบท การถ่ายทำ และซ้อมด้วยตัวคนเดียว สิ่งเหล่านี้ย้ำชัดแล้วว่าเขาเป็น คนของยุคนี้ อย่างแท้จริง แม้ว่ารสชาติของมันจะออกมาแปลกและแปร่งผิดกับโชว์ตลกที่เราคุ้นเคย และอาจแลกมาด้วยความเจ็บปวดของใครสักคนหนึ่งก็ตาม

หากจะถามว่ามันคุ้มค่ากันไหม

ก็คงต้องตอบว่ามันช่างห่างไกลกับการเป็นอาชญากรรมยิ่งนัก

อินเทอร์เน็ตก็เป็นแบบนี้


ดู Bo Burnham: Inside ได้ที่ Netflix

สิทธิชัย เปลี่ยนทองดี
นักทำงานอดิเรก, เล่นบอร์ดเกม, ดูตลกแสตนด์อัพ, จัดพอดแคสต์บำบัด และดื่มเบียร์คนเดียว

LATEST REVIEWS