Home Review Film Review Where We Belong : ฉันควบคุมชีวิตตัวเองได้จริงๆ หรือเปล่า

Where We Belong : ฉันควบคุมชีวิตตัวเองได้จริงๆ หรือเปล่า

Where We Belong : ฉันควบคุมชีวิตตัวเองได้จริงๆ หรือเปล่า

เนื่องในโอกาสที่ Where We Belong เพิ่งได้รับรางวัลไปถึง 6 สาขาจากชมรมวิจารณ์บันเทิง ซึ่งรวมถึงรางวัลใหญ่อย่างภาพยนตร์ยอดเยี่ยม วันนี้จึงอยากชวนคุยถึงหนังเรื่องนี้ในฐานะหมุดหมายสำคัญที่ทำให้การค้นหาตัวเองของวัยรุ่นมีความหมาย

หนังเรื่องนี้เล่าถึงชีวิตของ ซู (รับบทโดยเจนนิษฐ์ โอ่ประเสริฐ) เด็กหญิงวัยมัธยมที่อาศัยอยู่ที่จังหวัดจันทบุรี เธอได้ทุนไปศึกษาต่อที่ประเทศฟินแลนด์ ดินแดนที่เธอไม่รู้อะไรเกี่ยวกับมันเลย และเธอก็ไม่ได้บอกครอบครัวอีกด้วย เพื่อนสนิทของซูที่รู้เรื่องนี้คือ เบล (รับบทโดยแพรวา สุธรรมพงษ์) ผู้ซึ่งใจหนึ่งก็ไม่อยากให้ซูไป เพราะรู้สึกว่าเธออาจสูญเสียอะไรไปบางอย่าง ภายใต้ความต้องการของซูที่จะหนีไปให้ไกลจากพื้นที่เล็กๆ ที่ไม่มีอะไรให้เธอค้นหาในต่างจังหวัดนี้ มีเรื่องราวย่อยๆ ที่เธอต้องแบกรับไว้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นแม่ผู้ล่วงลับและทิ้งให้เธอว้าเหว่ พ่อที่อยากให้เธอสืบทอดกิจการ น้องชายที่แชร์ความลับกับเธอบางอย่าง หรือเพื่อนเคยสนิทที่มองหน้ากันไม่ติด สิ่งเหล่านี้ล้วนถักทอกันเป็นธีมเรื่องที่แสดงให้เห็นการตามหาความหมายและตัวตนในชีวิตวัยรุ่น ที่องค์ประกอบต่างๆในชีวิตพร้อมจะฉุดเขาหรือเธอไปทางนั้นทีทางนี้ที โดยที่พวกเขาล้วนต้องดิ้นรนเพื่อที่จะ “เลือก” เส้นทางที่ถูกต้องให้กับตัวเอง

“จำเป็นไหมที่ฉันจะต้องทำตามความคาดหวังของคนอื่น” นี่อาจเป็นคำถามที่ซูถามกับตัวเองหลายต่อหลายครั้ง  ในมุมหนึ่ง ดูเหมือนว่าเธอจะเด็ดเดี่ยวและตัดสินใจเลือกที่จะจากไปด้วยตนเอง แต่สุดท้ายก็ไม่วายถูกฉุดรั้งไว้ด้วยอดีต ถ้าเช่นนั้นแปลว่าเธอมีทางเลือกจริงๆ หรือไม่ คำถามที่ซูถามตนเองนี้ เป็นคำถามเดียวกันกับที่ชาวฝรั่งเศสถามตัวเองหลังผ่านความเลวร้ายของสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งนักปรัชญาชื่อดังอย่าง ฌ็อง ปอล ซาร์ต อาสามาตอบให้ว่า “ทุกคนมีทางเลือก” และไม่เพียงเท่านั้น ยัง “ถูกสาปให้ต้องเลือก” อีกด้วย แนวคิดของซาร์ตคือแนวคิดที่เรียกว่า “อัตถิภาวนิยม (Existentialism)” ซึ่งอยู่บนพื้นฐานความคิดที่ว่ามนุษย์ทุกคนเกิดมาพร้อมเสรีภาพ

“จำเป็นไหมที่ฉันจะต้องทำตามความคาดหวังของคนอื่น” นี่อาจเป็นคำถามที่ซูถามกับตัวเองหลายต่อหลายครั้ง  ในมุมหนึ่ง ดูเหมือนว่าเธอจะเด็ดเดี่ยวและตัดสินใจเลือกที่จะจากไปด้วยตนเอง แต่สุดท้ายก็ไม่วายถูกฉุดรั้งไว้ด้วยอดีต ถ้าเช่นนั้นแปลว่าเธอมีทางเลือกจริงๆหรือไม่ คำถามที่ซูถามตนเองนี้ เป็นคำถามเดียวกันกับที่ชาวฝรั่งเศสถามตัวเองหลังผ่านความเลวร้ายของสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งนักปรัชญาชื่อดังอย่าง ฌ็อง ปอล ซาร์ต อาสามาตอบให้ว่า “ทุกคนมีทางเลือก” และไม่เพียงเท่านั้น ยัง “ถูกสาปให้ต้องเลือก” อีกด้วย แนวคิดของซาร์ตคือแนวคิดที่เรียกว่า “อัตถิภาวนิยม (Existentialism)” ซึ่งอยู่บนพื้นฐานความคิดที่ว่ามนุษย์ทุกคนเกิดมาพร้อมเสรีภาพ

สมมติว่า เราถูกคนเอาปืนจี้แล้วบังคับให้ทำอะไรบางอย่าง แม้กระนั้น เราก็ยังเป็นผู้ “เลือก” อยู่นั่นเองว่าเราจะทำตามที่ถูกบอกหรือไม่ เราอาจจะเลือกไม่ทำและยอมตายเลยก็ได้ หรือแม้กระทั่งเวลาที่เรารู้สึกเศร้าหมอง เราเองก็เป็นคนเลือกว่าเราจะรู้สึกเช่นนั้น ในนิยามของซาร์ตแล้วการบอกว่าตัวเองไม่ได้เลือกถือเป็นการหลอกตัวเองอย่างหนึ่ง และทำให้เราสูญเสียคุณค่าความเป็นมนุษย์ไป ความรันทดอย่างหนึ่งของการเกิดเป็นมนุษย์ก็คือ เราจะต้องรับผิดชอบต่อการเลือกของเราทุกอย่างโดยไม่อาจปฏิเสธได้ นี่เองเป็นที่มาของคำว่า “ถูกสาป (ให้มีเสรีภาพ)”

แล้วคนอย่างซูมีทางเลือกจริงๆหรือเปล่า ถ้านำแนวคิดแบบอัตถิภาวนิยมมาอธิบาย ย่อมบอกได้ว่าเธอมีทางเลือก ซึ่งถ้าเธอเชื่อเช่นนั้น เธอจะไม่มีใครหรืออะไรให้โทษได้เลย 

แนวคิดแบบนี้ดูจะขัดแย้งกับบริบทของวัยรุ่นในสังคมไทยมากอยู่ เพราะในสังคมไทยนั้นเราเคยชินกับอำนาจที่มองไม่เห็นหลากหลายรูปแบบที่ไหลเวียนอยู่ในโครงสร้างทางสังคม และคอยบงการชีวิตของผู้คนจำนวนมาก โดยที่พวกเราระบุไม่ได้ว่าอำนาจนั้นคืออะไร อำนาจนั้นแสดงออกผ่านสัญลักษณ์เรื่องการทรงเจ้าเข้าผีในหนัง การแกว่งไกวของเครื่องเล่นที่พร้อมจะเหวี่ยงซูให้หมุนไปตามนั้นโดยไร้การควบคุม หรือเรื่องเล่าย่อยเกี่ยวกับยายที่ยังยึดติดอยู่กับความรักในอดีตที่เธอเสียดายแต่ไม่อาจแก้ไขอะไรได้ ยิ่งพูดถึงการ “เลือก” ยิ่งแล้วใหญ่ เพราะดูเหมือนวัยรุ่นชาวไทยมีอำนาจในการเลือกที่ค่อนข้างจำกัด ในทางตรงข้าม การเลือกอะไรต่างๆ ด้วยตัวเองดูจะถูกมองว่าเป็นการก้าวร้าวและไม่สยบยอมต่อขนบเสียด้วยซ้ำ

อย่างไรก็ตาม หากมองผ่านมุมมองของซาร์ต แม้การเลือกนั้นจะโดนบงการมากแค่ไหน ก็ยังถือว่าเป็นการเลือกด้วยเสรีภาพทั้งหมดที่มีของเราอยู่นั่นเอง คำถามที่สำคัญต่อมาก็คือ แล้วเราพร้อมแค่ไหนที่จะรับผิดชอบการเลือกของตัวเอง ซูนั้นได้เรียนรู้อยู่อย่างหนึ่งในเรื่องนี้ และทำใจได้ว่าเธอจะยอมรับผลในการเลือกของตัวเอง ซึ่งเป็นก้าวหนึ่งของการโตเป็นผู้ใหญ่ องค์ประกอบดังกล่าวทำให้หนังเรื่องนี้มีธีมของการ Coming of Age ด้วย

อีกประเด็นที่น่าสนใจ อัตถิภาวนิยมยังมีแนวคิดหลักอีกแนวคิดหนึ่ง คือ ความ “ไร้ความหมาย ไร้เหตุผล (Absurd)” ของชีวิต โดยประเด็นนี้ถูกนำมาเปรียบเทียบกับเรื่องเล่าของซิซิฟัส  ซิซิฟัสถูกเทพสาปให้ต้องเข็นก้อนหินขึ้นภูเขาไปเรื่อยๆ และเมื่อเขาเข็นมันขึ้นไปถึงยอดเขา ก้อนหินก็จะตกลงมา ทำให้ซิซิฟัสต้องไปเข็นมันขึ้นมาใหม่อย่างไม่จบสิ้น การกระทำของซิซิฟัสนั้น ‘ไร้ความหมาย’ หาแก่นสารอะไรไม่ได้ ไม่ต่างจากการเลือกสิ่งต่างๆ ในชีวิตมนุษย์ทุกคน เพราะอันที่จริงแล้ว ชีวิตไม่ได้มีความหมายอะไรให้บรรลุ ไม่มีคำอธิบายถึงเหตุผลการกระทำใดๆ เราทุกคนล้วนสุ่มเลือกการกระทำต่างๆเพื่อเติมชีวิตที่ว่างเปล่า กระนั้นซาร์ตก็ยังอธิบายว่า มนุษย์ก็ไม่ควรฆ่าตัวตาย เพราะการทำสิ่งต่างๆที่ไร้ความหมายเหล่านี้จริงๆ แล้วเป็นความสุข! 

อันที่จริงแล้ว ชีวิตไม่ได้มีความหมายอะไรให้บรรลุ ไม่มีคำอธิบายถึงเหตุผลการกระทำใดๆ เราทุกคนล้วนสุ่มเลือกการกระทำต่างๆเพื่อเติมชีวิตที่ว่างเปล่า กระนั้นซาร์ตก็ยังอธิบายว่า มนุษย์ก็ไม่ควรฆ่าตัวตาย เพราะการทำสิ่งต่างๆที่ไร้ความหมายเหล่านี้จริงๆ แล้วเป็นความสุข!

ภาพของชีวิตที่ไร้ความหมายสะท้อนอยู่ในชื่อวงสตราโตสเฟียร์ วงดนตรีของเบลกับซูที่มีความหมายถึงชั้นบรรยากาศที่บางเบา จับต้องไม่ได้ และยังอยู่ในการ ‘รอคอย’ ของซู ไม่ว่าจะเป็นการรอคอยที่จะได้จากไปจากบ้านเกิด หรือรอคอยที่จะได้พบกับสิ่งที่เป็นตัวแทนแม่ของเธออีกครั้ง การคอยของซูนั้นเกิดขึ้นโดยไม่มีจุดหมาย เธอเองก็ตอบไม่ได้เหมือนกันว่าเธอคอยอะไร เพราะแม้กระทั่งฟินแลนด์ ดินแดนที่เธอจะไปเรียนต่อนั้น เธอยังไม่มีกะจิตกะใจจะเรียนรู้เกี่ยวกับมัน เธอเพียงคอยเพื่อที่จะได้ “เคลื่อนไปข้างหน้า” แต่เคลื่อนไปสู่อะไรนั้น ตัวเธอก็ไม่รู้ เหมือนกับที่เธอคิดว่าจะต้องเรียกวงดนตรีมารวมตัวกันอีก หรือต้องไปคืนดีกับอดีตเพื่อนสนิท แต่เธอก็ไม่รู้ว่ามันจะทำให้ตำแหน่งแห่งที่ในตัวตนของเธอมั่นคงขึ้นมาอีกได้อย่างไร 

อันที่จริงตัวตนของวัยรุ่นก็เป็นเช่นนี้ มันสะท้อนอัตถิภาวนิยมได้ชัดเจนยิ่งกว่าผู้ใหญ่ เพราะมันเต็มไปด้วยการกระทำแบบสุ่ม ในขณะที่ผู้ใหญ่ต่างเชื่อว่าการกระทำของตนเองมีเป้าหมายเพื่อตอบสนองอะไรบางอย่างที่ใหญ่กว่านั้น (ซึ่งซาร์ตอาจตอบว่าเป้าประสงค์ที่ใหญ่กว่านั้นไม่มี) 

ในภาพรวม Where We Belong ทำได้ดีในแง่ของการนำเสนอชีวิตที่ไม่มั่นคง รวมทั้งด้านที่เชื่อว่าตัวเองไม่มีทางเลือกของวัยรุ่นไทย และก็ยังนำเสนอวิธีการก้าวข้ามผ่านจุดนั้นมาได้ แม้จะมีแผลถลอกปอกเปิก แต่ชีวิตของวัยรุ่นหมายถึงชีวิตที่มีอะไรให้มองหาต่อไปในภายภาคหน้า และนี่คือความสวยงามของวัยหนุ่มสาว ผู้ที่จะต้อง “เลือก” อีกนับพันครั้ง (หรือมากกว่า) จนกว่าชีวิตจะหาไม่

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here