1.
ความทรงจำของข้าพเจ้าหมุนย้อนกลับไปในปี 2017 ในนาทีที่ข้าพเจ้าเหยียบย่างเข้าไปในทำเนียบมาลากันยัง (Malacañang Palace) ด้วยภารกิจบางประการ นาทีนั้นเหมือนโลกหมุนกลับไปในยุคแปดศูนย์ ในวันที่โลกยังคุกรุ่นไปด้วยไฟสงครามระหว่างค่ายเสรีนิยมและค่ายสังคมนิยม ในวันที่ยังไม่มีใครในโลกรู้จักอินเทอร์เน็ตนอกจากกระทรวงกลาโหมของสหรัฐอเมริกา ในวันที่เฟรดดี้ เมอร์คิวรี่ยังโลดแล่นอยู่บนเวทีคอนเสิร์ตในฐานะร็อคสตาร์เบอร์ต้น ทำเนียบมาลากันยังให้ความรู้สึกแบบนั้นอย่างเข้มข้น
ถ้าจะพูดให้ถูกต้องกว่านั้นคือ, ในสายตาของคนนอก, เหมือนโลกทั้งใบยังติดอยู่ในทศวรรษที่ 80 สำหรับประเทศฟิลิปปินส์
มันเป็นทั้งความเศร้าและเสน่ห์เย้ายวนอย่างประหลาด
2.
ในปี 2012 ข้าพเจ้ายืนมองแสงสีทองฉาบทามะนิลาเบย์จากระเบียงของอาคารศูนย์วัฒนธรรมแห่งฟิลิปปินส์ (Cultural Center of the Philippines) ในขณะที่รอเวลาฉายของหนังเรื่องถัดไปในเทศกาลภาพยนตร์ Cinemalaya
ในห้วงขณะนั้น ข้าพเจ้าตระหนักว่าตนเองตกหลุมรักเมืองนี้และประเทศนี้ ข้าพเจ้าตกหลุมรักอ่าวที่พระอาทิตย์ตกเป็นสีทอง ข้าพเจ้าตกหลุมรักเมืองต้องสาปที่วันเวลาไม่ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหว ข้าพเจ้าตกหลุมรักเมืองที่เข็มนาฬิกาหยุดเดินตั้งแต่ภรรยาของอดีตจอมเผด็จการตัดสินใจโปรยหว่านภาษีและเงินกู้ราวหกสิบสามล้านเปโซไปกับกลุ่มอาคารสนับสนุนศิลปวัฒนธรรมริมอ่าว ข้าพเจ้าตกหลุมรักประเทศที่ผู้คนไม่เคยหยุดรื่นเริงร้องรำ แม้จะรู้ดีว่ามันเป็นไปเพื่อซุกซ่อนความเจ็บปวดข้นแค้นในชีวิตประจำวันเหมือนแสงสีทองฉาบทาอ่าวมะนิลาที่เต็มไปด้วยซากศพที่ลอยออกไปและถูกซัดกลับเข้ามาในช่วงสงครามยาเสพติด
3.
ตำนานรักสิบเอ็ดวันของเฟอร์ดินานด์และอิเมลดา มาร์กอส กลายเป็นเรื่องเล่าที่หญิงชราภาคภูมิใจ หญิงชราที่มีพื้นเพมาจากตระกูลการเมืองในเลย์เตและกำพร้าแม่ในวัยเพียงแปดปี การขาดแม่ในวัยเด็กกลายเป็นสิ่งที่อิเมลดา มาร์กอสย้ำเสมอว่าทำให้เธอมีปมและมองหาสิ่งชดเชยมาตลอดชีวิต เป็นโชคร้ายของประชาชนชาวฟิลิปปินส์ที่การชดเชยปมของเธอคือการผลาญงบประมาณแผ่นดินไปกับความหรูหราฟุ่มเฟือยอย่างล้นเกิน
The Kingmaker บอกเล่าความรุ่งโรจน์ ความตกต่ำ และความพยายามกลับเข้าสู่แวดวงอำนาจอีกครั้งของตระกูลมาร์กอสผ่านสายตาของ อิเมลดา มาร์กอส อดีตสตรีหมายเลขหนึ่งที่อยู่เคียงข้างจอมเผด็จการ เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส มาตั้งแต่มาร์กอสเป็นสมาชิกสภาคองเกรส ก่อนจะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 1965
ในช่วงแรกของการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ภายใต้การสนับสนุนของสหรัฐอเมริกาและหน่วยข่าวกรองกลาง (Central Intelligence Agency – CIA) เพลิดเพลินกับการใช้งบประมาณอุดหนุนช่วงสงครามเย็นในการลงทุนกับโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ทั่วประเทศ เช่นถนน, เขื่อน, และสะพาน ในรูปแบบเดียวกับที่สหรัฐอเมริกาสนับสนุนให้ สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ลงทุนกับโครงสร้างพื้นฐานในประเทศไทยเพื่อต้านภัยคอมมิวนิสต์ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานส่งให้ความนิยมในตัวมาร์กอสพุ่งทะยานในหมู่ประชาชน แม้ว่าเงินเฟ้อจะกลายเป็นปัญหาหลักที่ทำให้เศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ซึ่งเคยมีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองในเอเชียรองจากญี่ปุ่นเริ่มปักหัวลงในแนวดิ่ง
ในขณะเดียวกัน อิเมลดา มาร์กอส อดีตสาวงามจากเวทีประกวดมะนิลาก็เริ่มปรับตัวเข้ากับชีวิตเฉิดฉายในฐานะสตรีหมายเลขหนึ่ง เธอเชื่อว่าประเทศที่ประกอบด้วยเกาะกว่าเจ็ดพันแห่งนี้เป็นทรัพย์สมบัติส่วนตัวของเธอ และประชาชนทั้งหลายก็เป็นลูกหลานที่เธอต้องดูแลในฐานะแม่ของแผ่นดิน เธอใช้เงินงบประมาณแผ่นดินเนรมิตสิ่งที่เธอต้องการ ไม่ว่าจะเป็นตึกสูงในนิวยอร์ค รองเท้าหลายพันคู่ งานศิลปะราคาแพง สะพานแห่งความรัก San Juanico ที่เชื่อมระหว่างจังหวัดซามาร์และเลย์เต้ หรือสัตว์ป่าจากแอฟริกา เพื่อทำให้ประเทศฟิลิปปินส์กลายเป็นสวรรค์อย่างที่เธออยากเห็น
เมื่อมูอัมมาร์ กัดดาฟี อดีตผู้นำเผด็จการลิเบียมาเยือนฟิลิปปินส์ในปี 1976 อิเมลดา มาร์กอสสั่งให้มีการก่อสร้างมัสยิดสีทองในย่านเกียโป กลางเมืองมะนิลา เพื่อต้อนรับกัดดาฟี ด้วยงบประมาณสิบสองล้านเปโซ
4.
ในขณะที่การใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินอย่างบ้าคลั่งของตระกูลมาร์กอสดำเนินไป ความตกต่ำทางเศรษฐกิจและความอดอยากยากจนก็ผลักให้ผู้คนเข้าร่วมกับฝ่ายต่อต้านรัฐที่นำโดยพรรคคอมมิวนิสต์ฟิลิปปินส์ (Communist Party of the Philippines – CPP), แนวร่วมประชาธิปไตยแห่งชาติ (National Democratic Front) และกองทัพประชาชนใหม่ (New People’s Army) ที่จัดตั้งขึ้นมาในปี 1968, 1973 และ 1969 ตามลำดับ คนหนุ่มสาวเดินทางออกจากเมือง โบกมือลารั้วมหาวิทยาลัยออกไปจับปืนและวาดฝันถึงการปฏิวัติร่วมกับสหายชาวนาชาวไร่ตามทฤษฎีป่าล้อมเมืองของเหมาเจ๋อตุง มาร์กอสและซีไอเอรับมือกับความโกรธเกรี้ยวของประชาชนด้วยการประกาศกฎอัยการศึกในปี 1972
ภายใต้การบังคับใช้กฎอัยการศึก ผู้คนกว่าสามพันถูกสังหารนอกกระบวนการยุติธรรม กว่าสามหมื่นถูกซ้อมทรมานและล่วงละเมิดทางเพศ รวมถึงเอ็ตต้า โรซาเลส อดีตสมาชิกสภาคองเกรสและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, พีท ลาคาบา นักหนังสือพิมพ์และกวี, เมย์ โรดริเกซ นักกิจกรรมที่ปรากฏอยู่ในสารคดี และกว่าเจ็ดหมื่นที่ถูกคุมขัง และหนึ่งในผู้ถูกคุมขังคืออดีตวุฒิสมาชิก นินอย อาคิโน
นินอย อาคิโน ถูกปล่อยตัวชั่วคราวเพื่อเข้ารับการผ่าตัดหัวใจและพำนักอยู่ที่สหรัฐอเมริการาวสามปี ก่อนจะตัดสินใจกลับมาฟิลิปปินส์ในปี 1983 และก่อนที่ใครจะทันรู้ตัว อาคิโนถูกสังหารทันทีที่เท้าแตะพื้นสนามบิน, ซึ่งทุกวันนี้ถูกเรียกขานด้วยชื่อของเขาเพื่อเป็นเกียรติแก่อดีตวุฒิสมาชิกผู้ยอมสละชีพเพื่อต่อสู้กับเผด็จการ
ด้วยข้อจำกัดของการเล่าเรื่องอาจทำให้ผู้ชมบางส่วนตีความการต่อสู้ทางการเมืองในฟิลิปปินส์หดแคบเป็นเพียงการต่อสู้ระหว่างสองตระกูลเจ้าพ่อท้องถิ่นอย่างอาคิโนและมาร์กอส แต่แท้จริงแล้ว สามัญชนคนธรรมดาที่อาจจะไม่ได้มีชื่อและใบหน้าเป็นที่จดจำต่างหากที่อยู่ในฉากการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงฟิลิปปินส์ให้หลุดออกจากเงื้อมเงาของเผด็จการ แน่นอนว่าชัยชนะนั้นมีราคาต้องจ่าย ผู้คนมากมายหลายหมื่นหลายแสนคนยังต้องรับมือกับความสูญเสียและบาดแผลในอดีตที่เกิดขึ้นภายใต้ระบอบเผด็จการ
แท้จริงแล้ว สามัญชนคนธรรมดาที่อาจจะไม่ได้มีชื่อและใบหน้าเป็นที่จดจำต่างหากที่อยู่ในฉากการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงฟิลิปปินส์ให้หลุดออกจากเงื้อมเงาของเผด็จการ
ฟางเส้นสุดท้ายขาดลงเมื่อ เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส พยายามโกงผลการเลือกตั้งในปี 1986 ดอกผลของการจัดตั้งขบวนการใต้ดินต่อต้านเผด็จการผลิบานออกมาอย่างน่าตื้นตันใจ เมื่อประชาชนสองล้านคนออกมารวมตัวกันบนถนน Edsa ซึ่งเป็นถนนเส้นหลักกลางเมืองมะนิลาในเดือนกุมภาพันธ์ ประชาชนสองล้านคนออกมาแสดงเจตจำนงว่าพวกเขาไม่ต้องการใช้ชีวิตอยู่อย่างอดอยากและไร้ศักดิ์ศรีภายใต้ความหวาดกลัวอีกต่อไป
สหรัฐอเมริกาและซีไอเอหันหลังให้มาร์กอสและมองว่าแนวทางใช้ความรุนแรงโหดเหี้ยมของมาร์กอสมีแต่จะทำให้พรรคคอมมิวนิสต์ฟิลิปปินส์และกองทัพประชาชนใหม่เข้มแข็งขึ้น ตระกูลมาร์กอสอพยพไปอยู่ฮาวายก่อนที่ เฟอร์ดินานด์ มาร์กอสจะเสียชีวิตลงปี 1989 การฟื้นฟูประเทศจากความเสียหายต่างๆ เริ่มขึ้นหลังจากตระกูลมาร์กอสพ้นไปจากอำนาจ ประมาณกันว่าตระกูลมาร์กอสได้ยักยอกทรัพย์สินราวห้าพันถึงหนึ่งหมื่นล้านดอลลาร์ไปจากประเทศฟิลิปปินส์ตลอดเวลากว่ายี่สิบปีที่เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส เป็นผู้นำสูงสุดของประเทศ คอรี อาคิโน ภรรยาหม้ายของอดีตวุฒิสมาชิก นินอย อาคิโน ได้รับเลือกตั้งขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ที่ประกันสิทธิเสรีภาพซึ่งแลกมาด้วยเลือดเนื้อของประชาชน
แต่การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยนั้นเป็นกระบวนการ เป็นภารกิจที่ทอดยาวออกไปตามยุคสมัย และไม่มีวันจบสิ้น พรรคเสรีนิยมของตระกูลอาคิโนอาจจะประสบความสำเร็จในการรับรองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน แต่สิ่งที่เคยเป็นคำมั่นสัญญาในการปฏิวัติโค่นล้มเผด็จการคือการกระจายความมั่งคั่งของตระกูลชนชั้นนำเจ้าที่ดินไปสู่ผู้คนกว่าร้อยล้านในประเทศนั้นไม่เคยเกิดขึ้น แม้กระทั่งในสมัยของ นอยนอย อาคิโน ลูกชายของคอรีและนินอยที่ก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีเหมือนแม่
แต่การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยนั้นเป็นกระบวนการ เป็นภารกิจที่ทอดยาวออกไปตามยุคสมัย และไม่มีวันจบสิ้น พรรคเสรีนิยมของตระกูลอาคิโนอาจจะประสบความสำเร็จในการรับรองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน แต่สิ่งที่เคยเป็นคำมั่นสัญญาในการปฏิวัติโค่นล้มเผด็จการคือการกระจายความมั่งคั่งของตระกูลชนชั้นนำเจ้าที่ดินไปสู่ผู้คนกว่าร้อยล้านในประเทศนั้นไม่เคยเกิดขึ้น
ตระกูลมาร์กอสและพันธมิตรทางการเมืองของพวกเขา โรดริโก ดูแตร์เต อดีตนายกเทศมนตรีจากเมืองดาเวา มองเห็นจุดอ่อนนี้และหยิบฉวยมาใช้ในเกมส์การเมืองเพื่อนำมาร์กอสกลับมาสู่อำนาจ
ด้วยลักษณะการเมืองแบบเจ้าพ่อท้องถิ่นทำให้ตระกูลมาร์กอสยังได้รับความนิยมอยู่ในภาคเหนือของเกาะลูซอน ซึ่งเป็นบ้านเกิดของเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ศพของจอมเผด็จการถูกนำกลับเข้ามาประเทศหลังการ ‘กลับบ้าน’ ของตระกูลมาร์กอสในปี 1991 แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้ฝังในสุสานวีรบุรุษแห่งชาติหรือ Libingan ng mga Bayani อิเมลดาเฝ้ารออย่างอดทนจนพันธมิตรทางการเมืองของพวกเขา ดูแตร์เต ประสบความสำเร็จอย่างถล่มทลายในการเลือกตั้งปี 2016 ด้วยจุดขายที่แข็งกร้าวอย่างนโยบายสงครามยาเสพติด
บองบอง มาร์กอส ลูกชายคนเดียวของเฟอร์ดินานด์และอิเมลดาลงสมัครรับเลือกตั้งในตำแหน่งรองประธานาธิบดีเพื่อปูทางไปสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีในอนาคต แต่เขากลับพ่ายแพ้ให้กับ เลนี โรเบรโด ผู้สมัครจากพรรคเสรีนิยมของนินอย อาคิโน แผนการเถลิงอำนาจของตระกูลมาร์กอสที่มีอิเมลดาชักใยอยู่เบื้องหลังยังต้องรอคอยออกไปจนกว่าศาลสูงจะชี้ขาดคำอุทธรณ์ของบองบอง หรือจนกว่าจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีอีกครั้งในปี 2022
แต่ความฝันประการหนึ่งของอิเมลดาได้กลายเป็นจริง คือการนำร่างของ เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ลงฝังในสุสาน Libingan ng mga Bayani เคียงข้างกับเหล่าวีรบุรุษแห่งชาติและอดีตประธานาธิบดีคนอื่นๆ
5.
ความพยายามเขียนประวัติศาสตร์ขึ้นใหม่ทำให้ตระกูลมาร์กอสอยู่ห่างจากการกลับคืนสู่อำนาจเพียงไม่กี่ก้าว อิเมลดา มาร์กอส ก็มีเรื่องเล่าเป็นของเธอเองในฐานะแม่ของแผ่นดินผู้ต้องการดลบันดาลให้ฟิลิปปินส์กลายเป็นสวรรค์บนดินอีกครั้ง เส้นเรื่องของเธอที่บดบังข้อเท็จจริงทำให้ผู้กำกับ ลอเรน กรีนฟิลด์ ตัดสินใจใช้เทคนิค Cinéma vérité ในการเปิดเปลือยหรือค้นหาความจริงในเส้นเรื่องที่อิเมลดา มาร์กอส สร้างไว้ เช่นการจับภาพอิริยาบถของเธอในขณะเผลอหรือพูดคุยกับคนรับใช้ หรือฉากที่คนรับใช้ต้องเข้ามาเก็บกวาดกระจกที่แตกเกลื่อนหลังอิเมลดากวาดมือไปโดนกรอบรูปบนโต๊ะ
เหมือนกับสัตว์ป่าที่ถูกขนส่งมาจากแอฟริกา เหมือนกับชาวบ้านที่ถูกไล่รื้อเพื่อเปิดทางให้ซาฟารีบนเกาะกาลาวิท อิเมลดาดูจะไม่ได้ใส่ใจเท่าใดนักว่าหนทางกลับคืนสู่อำนาจของตระกูลมาร์กอสจะต้องแลกด้วยชีวิตและเลือดเนื้อของประชาชนกี่หมื่นกี่แสนคน
เหมือนกับสัตว์ป่าที่ถูกขนส่งมาจากแอฟริกา เหมือนกับชาวบ้านที่ถูกไล่รื้อเพื่อเปิดทางให้ซาฟารีบนเกาะกาลาวิท อิเมลดาดูจะไม่ได้ใส่ใจเท่าใดนักว่าหนทางกลับคืนสู่อำนาจของตระกูลมาร์กอสจะต้องแลกด้วยชีวิตและเลือดเนื้อของประชาชนกี่หมื่นกี่แสนคน
สี่ปีหลังจากขึ้นครองตำแหน่งประธานาธิบดี ประมาณกันว่า โรดริโก ดูแตร์เต สังหารประชาชนนอกกระบวนการยุติธรรมไปแล้วราวสามหมื่นคนในสงครามยาเสพติด ทั้งหมดเป็นคนจนเมือง หลายคนถูกตำรวจบุกเข้าไปสังหารในบ้านต่อหน้าต่อตาครอบครัว
นักการเมืองพรรคฝ่ายค้าน องค์กรสิทธิมนุษยชน นักข่าวนักหนังสือพิมพ์ และนักกิจกรรมที่วิพากษ์วิจารณ์ดูแตร์เตถูกฟ้องคดีและจับตามอง นักการเมืองท้องถิ่นบางคนถูกลอบสังหารอย่างอุกอาจและไม่สามารถจับตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ บัญชีเฟซบุ๊กปลอมหลายหมื่นบัญชีออกปฏิบัติการ ‘โทรลล์’ ป่วนฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตยและให้ข้อมูลบิดเบือนประวัติศาสตร์ในช่วงเผด็จการเรืองอำนาจ ในขณะที่การเลือกตั้งประธานาธิบดีกำลังจะเกิดขึ้นในปี 2022
ในช่วงก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ปี 2016 โรดริโก ดูแตร์เต ได้รับความนิยมอย่างมากด้วยการเสนอนโยบายปราบปรามการทุจริตและยาเสพติดด้วยวิธีการรุนแรงเด็ดขาด ความสัมพันธ์ระหว่างตระกูลมาร์กอสและดูแตร์เตเริ่มเป็นที่ปรากฏแม้จะยังไม่ชัดเจน หากผู้กำกับ ลาฟ ดิอาซ ได้เคยถามคำถามสั้นๆ ในภาพยนตร์ความยาวแปดชั่วโมง Hele sa Hiwagang Hapis ของเขาที่ออกฉายในเดือนมีนาคมปี 2016 สองเดือนก่อนการเลือกตั้งว่า “Ano ang kalayaang Pilipino?” (อะไรคือเสรีภาพของชาวฟิลิปปินส์)
6.
อีกครั้งในปี 2012 ข้าพเจ้ามีโอกาสเดินเข้าไปในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่จังหวัดบาตาน เศษซากจากอดีตอีกชิ้นที่ เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ใช้เงินไปกว่าสองพันล้านเหรียญสหรัฐทั้งในการก่อสร้าง โรงไฟฟ้านิวเคลียร์นี้ไม่เคยได้เปิดใช้งาน โดยเฉพาะหลังเกิดเหตุการณ์เชอร์โนบิลขึ้นในปี 1986
ในซากโรงงานติดมหาสมุทรสีฟ้าจัดนั้นมืดหม่นและเงียบงัน เฟอร์นิเจอร์เก่าโทรมตกยุค ใบระเบียนเขียนด้วยมือถูกวางทิ้งเกลื่อนกลาด เตาปฏิกรณ์ขนาดยักษ์ถูกทิ้งร้าง คนงานเฝ้าสถานที่ก็มีหน้าที่เพียงแต่เฝ้าดูมันเสื่อมทรุดลงไป
ฟิลิปปินส์อาจจะเป็นประเทศต้องสาป อาจจะเป็นวิญญาณกว่าสามพันดวงของผู้คนที่เสียชีวิตไปในช่วงสิบเอ็ดปีของการบังคับใช้กฎอัยการศึก อาจจะเป็นวิญญาณของคนงานเกือบสองร้อยชีวิตที่ถูกกลบฝังอยู่ใต้หมู่อาคารศิลปวัฒนธรรมริมอ่าว หรืออาจจะเป็นวิญญาณของคนหนุ่มสาวและชาวบ้านนับร้อยนับพันที่สูญเสียไปในการต่อสู้ระหว่างกองทัพประชาชนใหม่และกองทัพรัฐบาล ที่คอยที่วนเวียนสาปแช่งฉุดรั้งประเทศนี้เอาไว้
มันเป็นทั้งความเศร้าและเสน่ห์เย้ายวนอย่างประหลาด