Home Review Film Review การเมืองเรื่องของหญิงร่าน : ว่าด้วยภาพยนตร์ดัดแปลงของหม่อมน้อย

การเมืองเรื่องของหญิงร่าน : ว่าด้วยภาพยนตร์ดัดแปลงของหม่อมน้อย

0
การเมืองเรื่องของหญิงร่าน : ว่าด้วยภาพยนตร์ดัดแปลงของหม่อมน้อย

ดัดแปลงเพิ่มเติมจากฉบับตีพิมพ์ครั้งแรกใน นิตยสาร ปรากฏ ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 มกราคม – มิถุนายน 2557

หญิงร้ายชายชั่วลักลอบคบชู้จนถูกจับได้แล้วสั่งล่ามโซ่ไว้ด้วยกันตราบชั่วฟ้าดินสลาย คดีไม่คลี่คลายของการที่โจรป่าฆ่านักรบเสียแล้วเอาเมียมันมา บ้างว่าโจรมันเลว แต่บ้างก็ว่าผัวมันเหยาะแหยะ หนักข้อก็ว่าเมียนั่นแหละคบชู้โจรฆ่าผัว และไอ้เด็กจัญไรที่แม่คลอดแล้วตายทิ้งมรดกเลือดนอกอกไว้ให้พ่อคุณหลวงดูต่างหน้า ต่อมาก็ฟาดแม่เลี้ยงเอาเยี่ยงพ่อไม่บังเกิดเกล้าที่คลำไม่มีหางเป็นลุยดะ กงกำกงเกวียนก็เลยเวียนกันไปอยู่เช่นนั้น

กล่าวตามลำดับ เหล่านี้คือตัวละครจาก ‘ชั่วฟ้าดินสลาย’ ของ มาลัย ชูพินิจ, ‘ราโชมอน’ ฉบับแปลๆ แปลงๆ ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช (ที่ดัดแปลงจากบทภาพยนตร์ของ อากิระ คุโรซาว่า ที่ดัดแปลงมากจากเรื่องสั้นสองเรื่องของ ริวโนะสุเกะ อะคุตะงาว่า อีกที) และเรื่องสุดท้าย จาก ‘เรื่องของจัน ดารา’ โดย อุษณา เพลิงธรรม นิยาย/เรื่องสั้นทั้งสามเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในสังคมการอ่านของไทย เป็นหลักหมายสำคัญของการอ่านวรรณกรรมไทยช่วงปลายพุทธศักราชสองพันสี่ร้อยมาจนถึงยุคต้นสองพันห้าร้อย ซึ่งนอกจากเรื่องทั้งหมดจะอยู่ในห้วงร่วมยุคเหลื่อมสมัยกันแล้ว พิศผาดเผินทั้งสามเรื่องไม่เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกันจวบจนกระทั่งในรยะเวลาไม่กี่ปีหลังนี้เองเรื่องทั้งสามถูกนำมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์อย่างต่อเนื่องโดยผู้กำกับคนเดียวกัน นั่นคือหม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล หรือที่รู้จักกันในามหม่อมน้อย ผู้กำกับหนังที่เคยทำหนังอย่าง ‘ช่างมันฉันไม่แคร์’ (ที่แทรกบรรยากาศหลังหกตุลาไว้อย่างน่าตื่นเต้น), ‘ความรักไม่มีชื่อ’ หรือ ‘นางนวล’ และเป็นหม่อมน้อยนี้เองที่ชี้ให้เราเห็นความเกี่ยวพันกันในระดับโครงสร้างของเรื่องทั้งสาม รวมถึงยืมมีดของเรื่องเล่ามาใช้ในการส่งสาส์นต่อสังคมร่วมสมัยอย่างน่าสนใจ

แม้งานทั้งสี่ชิ้นของหม่อมน้อยจะถูกมองว่ารกรุงรังด้วยไวยากรณ์ภาพยนตร์ที่ฟูมฟายเกินพอดี หรือหมกมุ่นอยู่ในจินตนาการพาฝันของเนื้อหนังมังสา หรือแม้แต่ทำลายบทประพันธ์ลงอย่างน่าเสียดาย แต่ไม่ว่าจะมีข้อหาอย่างไร ปฏิเสธไม่ได้ว่า วิธีการตีความบทประพันธ์ใหม่ของหม่อมน้อยนั้นน่าสนใจศึกษาโดยละเอียดอย่างยิ่งดังที่เราจะได้กล่าวต่อไป

ชั่วฟ้าดินสลาย (2010) : เสรีชนบนพันธนาการ

ดัดแปลงจากนิยายขนาดสั้นของครูมาลัย ชูพินิจ ว่าด้วยเรื่องของพะโป้ พ่อเลี้ยงปางไม้ทางภาคเหนือที่เพิ่งรับเอายุพดีเมียใหม่เข้ามาบ้านจากพระนคร ยุพดีเป็นสาวรักอิสระที่ใฝ่ใจกับการอ่านหนังสือตะวันตก เป็นผู้หญิงฉลาดเฉลียวจากในเมืองที่พอมาถึงปางไม้ในป่าทึบก็รู้สึกเปล่าเปลี่ยวในหัวใจ จวบจนเธอได้พบกับส่างหม่อง หลานชายพะโป้ที่ยังหนุ่มแน่น แกว่นกล้า และออกจะทึ่มทื่อในเรื่องของผู้หญิง จากการยั่วล้อค่อยๆ ถลำลึก ในที่สุดทั้งคู่ก็ลักลอบเป็นชู้กัน จวบจนเมื่อพะโป้จับได้ รักมากก็แค้นมาก พะโป้จะยกยุพดีให้ส่างหม่องด้วยข้อแม้เดียวคือ ทั้งคู่ต้องถูกล่ามโซ่ติดกันไว้ อยู่ด้วยกันไปจน ‘ชั่วฟ้าดินสลาย’

ตัวหนังนั้นยึดตามบทประพันธ์อย่างเคร่งครัด ถึงขนาดมี voice over เล่าเรื่องตามต้นฉบับ ด้วยสำนวนตามต้นฉบับ หรือการคัดฉาก บทสนทนา แบบที่ลอกออกมาจากตัวต้นฉบับจนเกือบจะกลายเป็นภาพเคลื่อนไหวของบทประพันธ์ในหลายๆ ฉาก ดังนั้นด้วยโครงเรื่องที่แข็งแกร่ง (เรื่องสั้นของ ครูมาลัย ชูพินิจ ไม่ได้ยาวมาก และเล่าตรงๆ ไม่มีการฟูมฟายเอื้อนเอ่ย เป็นการเล่าที่กระชับมากๆ) การขยายเรื่องออกมาให้เป็นหนังยาวทำให้ต้องเพิ่มเติมที่มาที่ไป อ้อยสร้อยยืดยาวอยู่กับบางฉาก อย่างไรก็ดี ฉากที่ผู้กำกับเลือกเข้ามาเพิ่มในหนังหลายๆ ฉากก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับโครงเรื่องหลัก จนน่าสนใจว่า วัตถุประสงค์ของฉากเหล่านั้นคืออะไร

วิธีการพิสูจน์ข้อสงสัยที่หยาบที่สุดคือ การคัดเอาเฉพาะฉากที่อยู่ ‘นอกบทประพันธ์ ‘มาพิจารณาซึ่งประกอบด้วย

ฉากทหารของคณะราษฏร์บุกจับพระองค์เจ้าปริวัตร กลางงานเลี้ยง ซึ่งไม่ได้กล่าวถึงในบทประพันธ์ ฉากนี้คือกุญแจสำคัญในการควบคุมการตีความตามวิธีของหม่อมน้อยทั้งหมดในเรื่อง เป็นไปได้ไหมว่า วาทกรรมที่หม่อมน้อยกำลังพูดไม่ใช่เรื่องการเมืองเหลืองแดง แต่เป็นวาทกรรม ‘ชิงสุกก่อนห่าม’ของคณะราษฏร์ จุดเริ่มต้นของการท้าทายอำนาจเจ้าในปี 2475 ต่างหาก ฉากการจับเจ้าของทหารคณะราษฏร์อาจเป็นเพียงฉากเล็กๆ เพื่อเอื้อให้ยุพดีพบพะโป้ และพูดเรื่องเบื่อการเมือง แต่ยุพดีฉบับหม่อมน้อยพยายามจะเดินตามยุพดีผู้มีหัวใจอิสระตามต้นฉบับ มากกว่าจะเป็นหญิงร้ายชายชั่ว (แม้การแสดงจะพาไปอีกทางก็ตาม) ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลยืนอยู่ในโครงสร้างความสัมพันธ์ของยุพดี พะโป้ และส่างหม่อง

ก่อนอื่นต้องพูดถึงสิ่งหนึ่งที่สำคัญที่สุดนั่นคือ สายตาของเรื่อง ซึ่งทั้งตัวหนังสือและหนังฉบับนี้เป็นสายตาของพะโป้มากกว่าตัวละครอื่นๆ (แม้จะย้อนซ้อนว่านี่เป็นการเล่าของทิพย์ก็ตาม) สายตาของพะโป้ที่ ‘ลอบมอง’ ‘ทอดมอง’ ‘ลองใจ’หลานรักเล่นชู้กับเมีย เป็นสายตาหลักของหนัง (หลายซีนหนังใช้ภาพแอบมองผ่านสิ่งของบังตา และตัวหนังสือก็มีรูปแบบของการแอบมอง ซึ่งอาจจะมองว่าเป็นการแอบมองของพะโป้หรือทิพย์ก็ได้) แต่การเล่นชู้ของหลานกับอาสะใภ้เปิดโอกาสเชิงศิลธรรมให้คนดูเข้าข้างพะโป้มากกว่าส่างหม่องและยุพดี (จนกระทั่งมาถึงตอนท้าย ความเหี้ยมโหดของพะโป้จึงเปิดเผย) หญิงร้ายชายชั่วได้รับการสั่งสอน แม้จะเลยเถิดไปบ้าง ส่วนที่ดีคือ ดูเหมือนหม่อมน้อยพยายามสร้างฉากร้าวรานในความสัมพันธ์ความเป็นมนุษย์มีเลือดเนื้อให้ตัวละคร (ต้นฉบับเล่าทุกอย่างแบบคร่าวๆ มากๆ) และการเปิดเผยความสัมพันธ์นี้ก็เชื้อเชิญให้ตีความกันได้อย่างสนุกสนาน

นี่คือความสัมพันธ์ในลักษณะที่พะโป้อยู่เหนือทุกคน เขามองเห็นทุกอย่าง แต่เลือกเองที่จะไม่สอดมือยุ่งเกี่ยว แรกทีเดียวเขาอาสาไปหาเมียให้ส่างหม่อง แต่ดันไปได้มาเสียเอง หนังบอกซ้ำๆ ว่าพะโป้เป็นคนเจ้าชู้ เมียๆ ของเขาไม่นานเขาก็เบื่อและโละให้คนงาน แต่แน่นอนว่าไม่ใช่เมียแต่งอย่างยุพดี ถ้าเมียเก็บยกให้คนงาน เมียที่เหมาะเจาะกับหลานรักก็เมียแต่งนี่แหละ พะโป้เป็นฝ่ายเปิดโอกาสให้หลานกับเมียใกล้ชิดกัน หากทั้งหมดคือเกมอำนาจของเขา (เหมือนหมากรุกที่เขาเล่นกับทิพย์ในช่วงท้ายและไล่ทิพย์ไปนอนหลังจากบอกว่า เกมหมากรุกจบแล้ว -ยุพดีตาย) เขาให้ยุพดี จิตวิญญาณเสรีที่ฉลาดแต่ไร้เดียงสา ได้พบกับหลานชายผู้บริสุทธิ์จนแทบจะเถื่อนถ้ำ จนเมื่อทั้งคู่ละเมิดอำนาจของเขาด้วยการได้เสียกัน มันทำให้อำนาจของพะโป้ในการควบคุมความสัมพันธ์ลดลง และเขาต้องกู้หน้าคืน แรกก็ด้วยความละมุนละม่อมอย่างการเชิญคุณหนูพันธ์ทิพย์มา แต่เมื่อไม่ได้ผลแถมยังโดนตอบแทนด้วยคำลวงเรื่องท้อง พะโป้เลยต้องลงมือขั้นเด็ดขาด

กล่าวให้ถูกต้อง ความสัมพันธ์ของยุพดีกับส่างหม่องก็ไม่ได้ต่างจากกล้วยไม้ในป่า (ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ได้มีอยู่ในนิยายต้นฉบับ) ที่สวยงามดีอยู่แล้ว และส่างหม่องไม่ควรเด็ดมันม าควรรอเวลาก่อน แต่ส่างหม่องไม่รอ เหมือนคณะราษฏรไม่รอพระราชทาน ดังนั้น พวกเขาต้องใช้จ่ายค่าตอบแทนด้วยการล่ามโซ่คนดงผู้โง่งมในนามของประชาชนกับจิตวิญญาณเสรีที่เอาแน่ไม่ได้ในนามของประชาธิปไตยไว้ด้วยกัน และเรียนรู้ว่า การมีเสรีภาพโดยไม่เอาพะโป้นั้นเป็นไปไม่ได้ ‘ชั่วฟ้าดินสลาย’ เป็นการประชดประชันที่แสบสันสำหรับพวกปฏิเสธอำนาจเก่าที่ต้องทนทุกข์

กล่าวให้ถูกต้อง ความสัมพันธ์ของยุพดีกับส่างหม่องก็ไม่ได้ต่างจากกล้วยไม้ในป่า (ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ได้มีอยู่ในนิยายต้นฉบับ) ที่สวยงามดีอยู่แล้ว และส่างหม่องไม่ควรเด็ดมันมา ควรรอเวลาก่อน แต่ส่างหม่องไม่รอ เหมือนคณะราษฏรไม่รอพระราชทาน ดังนั้น พวกเขาต้องใช้จ่ายค่าตอบแทนด้วยการล่ามโซ่คนดงผู้โง่งมในนามของประชาชนกับจิตวิญญาณเสรีที่เอาแน่ไม่ได้ในนามของประชาธิปไตยไว้ด้วยกัน และเรียนรู้ว่า การมีเสรีภาพโดยไม่เอาพะโป้นั้นเป็นไปไม่ได้ ‘ชั่วฟ้าดินสลาย’ เป็นการประชดประชันที่แสบสันสำหรับพวกปฏิเสธอำนาจเก่าที่ต้องทนทุกข์

ฉากที่ยุพดีกับส่างหม่องโดนล่ามเข้าด้วยกันนั้น พะโป้อยู่ในตำแหน่งนั่งบัลลังก์ เช่นเดียวกันหลังจากนั้นการเข้าฉากของทั้งสามพะโป้จะนั่งอยู่ด้านบนไม่ต่างจากการเข้าเฝ้า ยุพดีและส่างหม่องหมอบคลานมาเข้าเฝ้า แต่ไม่ได้รับการให้อภัยจาก ‘พ่อเหนือหัว’ ฉากการขอขมาส่างหม่องถึงกับเอากล้วยไม้ (ดอกไม้ต้องห้ามในเรื่อง) ใส่กระทงใบตองมาด้วย แต่ในเมื่อเวลาไม่เหมาะสมมันก็ต้องโดนเตะกระเด็นไป รอจนกระทั่งฉากสุดท้ายนั่นแหละที่พะโป้จะยอมรับกล้วยไม้ของส่างหม่อง ผู้ซึ่งกลับมาสยบแทบเท้าพะโป้อีกครั้งหนึ่ง

หากเราจะแบ่งตัวละคร เราจะยิ่งเห็นลำดับชั้นชัดเจน พะโป้อยู่ตำแหน่งสูงสุด ขณะที่ อีกสองกลุ่มคือ ยุพดีและส่างหม่อง เป็นหนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่ต่อต้านอำนาจของพะโป้ และกลุ่มสุดท้ายคือ ทิพย์และมะขิ่น ตัวละครมะขิ่นนี้น่าสนใจมากๆ เพราะเป็นตัวละครที่ไม่ได้อยู่ในต้นฉบับ แต่ถูกเพิ่มขึ้นมาเพื่อขับเน้นความจงรักภักดีต่อพะโป้โดยแท้ กลุ่มตัวละครวัยสูงกว่าซึ่งเป็น ‘ข้าทาสผู้จงรักภักดี’ สภาพภายในปางไม้ของพะโป้จึงเป็นสภาพจำลองการปกครองในยุคระหว่างการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่น่าสนใจมาก -อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์เช่นนี้กลับจะไม่เห็นชัดนักในตัวนิยาย

อาการชิงสุกก่อนห่าม การท้าทายต่ออำนาจเก่าและจบลงด้วยความชิบหายวายวอด จึงเป็นหัวใจของการเสียดสี สภาวะ’ ชั่วฟ้าดินสลาย’ ในครั้งนี้

อุโมงค์ผาเมือง (2011) : ความจริงคืออาจม

เรื่องมีอยู่ว่า มีการฆาตกรรมเกิดขึ้นในป่า มีนักรบ มีแม่หญิงงามเมียนักรบ แล้วก็มีโจรป่า นักรบนั้นตาย แต่ไม่มีอาวุธในที่นั้น โจรป่าว่าเขาฆ่านักรบ เมียนักรบบอกว่านางฆ่านักรบ นักรบบอกผ่านร่างคนทรงว่าเขาฆ่าตัวตาย คนตัดไม้อยู่ที่ศาล เห็นศพนักรบเป็นคนแรก พระท่านก็อยู่ที่ศาล พระท่านเห็นนักรบและเมียก่อนจะถูกฆ่า พระและคนตัดฟืนจึงได้ฟังคำให้การทั้งหมด แม้ไม่รู้จะเชื่ออย่างไร ทั้งสองคนไปติดฝนอยู่ในอุโมงค์ผาเมือง แล้วแบ่งปันเล่าเรื่องให้ชายหน้าผีฟัง เรื่องคดีฆาตกรรมชวนขนหัวลุก

ดัดแปลงจากบทละครของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช (โดยดัดแปลงอย่างไม่ให้เครดิตจากบทภาพยนตร์ Rashomon ของ Akira Kurosawa ซึ่งดัดแปลงจากเรื่องสั้นสองเรื่องของ Ryonosuke Akutagawa อีกที ทั้งสองเรื่องมีชื่อไทยว่า ในป่าละเมาะ และ ราโชมอน โดยเรื่องหลังนั้นดัดแปลงมาจากนิทานโบราณ) ภาพยนตร์เรื่องนี้ประกาศชัดแจ้งว่า ดัดแปลงมาจากบทละครของม.ร.ว.คึกฤทธิ์เท่านั้น (ซึ่งแน่นอนก่อให้เกิดกระแสติดตามว่าจะหลบสายตาจากคุโรซาว่าได้อย่างไร) ซึ่งสำหรับผู้เขียนนั้นเห็นว่า นี่เป็นเรื่องที่สามารถทำได้ในเชิงกระบวนการ เพราะนี่คือการทำใหม่ ากต้นฉบับที่เป็นของทำซ้ำ การตีความขยายผลนั้นสามารถจำกัดอยู่เพียงแต่ส่วนที่งอกเงยจากต้นฉบับ (ทำซ้ำ) โดยมิพักต้องกังวลกับต้นฉบับของจริงเลยแม้แต่น้อย เนื่องเพราะสำหรับผู้สร้าง ฉบับทำซ้ำนี้คือ ‘ต้นฉบับ’ ของเขา หาใช่ตัวต้นฉบับจริงๆ ไม่ (เฉกเช่นการที่เราสามารถร้องเพลงของสุนทราภรณ์ซ้ำได้โดยไม่ต้องเข้าถึงเพลงเต้นรำของตะวันตกที่เป็นต้นทาง) อย่างไรก็ดี การให้เกียรติ แสดงความเคารพ หรือท่าทีนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งควรมองแยกออกจากตัวกระบวนการ

อย่างไรก็ตาม ในฐานะภาพยนตร์ดัดแปลงจากบทประพันธ์ หม่อมน้อยไม่ได้เลือกวิธีการหยิบบทประพันธ์มาตีความใหม่จากมุมอื่นอย่างที่เป็นที่นิยมกัน หากเลือกใช้วิธีกึ่งๆ ทำซ้ำอย่างเคารพต้นฉบับ ขณะเดียวกันก็ขยายความส่วนปลีกย่อยของบทประพันธ์ออกมา ซึ่งจากส่วนที่ขยายออกขับเน้นให้โดดเด่นนี้เองที่เราอาจจะมองเห็นร่องรอยของการตีความที่น่าสนใจมากอีกครั้ง ทั้งนี้เราอาจจะต้องเริ่มจากต้นฉบับของต้นฉบับเสียก่อน ฉบับของคุโรซาว่านั้นดัดแปลงเอาส่วนที่มืดดำจาก ‘ราโชมอน’ เข้ามาประกอบเข้ากับเนื้อหาของ ‘ในป่าละเมาะ’ ผลลัพธ์ที่ได้คือ การประสานความรู้สึกร่วมของความจริงนั้นมีอยู่ เพียงแต่มนุษย์นั้นโสมมและโหดเหี้ยมจนทำให้ความจริงเป็นแต่เพียงเรื่องชวนหดหู่จิตใจ

ในฐานะภาพยนตร์ดัดแปลงจากบทประพันธ์ หม่อมน้อยไม่ได้เลือกวิธีการหยิบบทประพันธ์มาตีความใหม่จากมุมอื่นอย่างที่เป็นที่นิยมกัน หากเลือกใช้วิธีกึ่งๆ ทำซ้ำอย่างเคารพต้นฉบับ ขณะเดียวกันก็ขยายความส่วนปลีกย่อยของบทประพันธ์ออกมา ซึ่งจากส่วนที่ขยายออก ขับเน้นให้โดดเด่นนี้เองที่เราอาจจะมองเห็นร่องรอยของการตีความที่น่าสนใจมากอีกครั้ง 

ในฉบับของหม่อมคึกฤทธิ์นั้น แทบจะถ่ายทอดเอาเหตุการณ์และบทสนทนามาจากหนังของคุโรซาว่า ผิดก็แต่ว่าหม่อมคึกฤทธิ์ได้ขยายผลในส่วนของเมียซามูไร (ผ่านทางบทสนทนาของแม่เมียซามูไร ซึ่งอันที่จริงตัวละครนี้มีอยู่ในต้นฉบับของอะคุตะงาว่า แต่ไม่ได้กล่าวถึงปูมหลังของลูกสาวดังเช่นที่หม่อมคึกฤทธิ์ทำไว้) การขยายปูมหลังตัวละครจากเมียซามูไรไร้ที่มาในหนังต้นฉบับ ให้เป็นลูกคนใช้ในบ้านที่กลายมาเป็นเมียในฉบับของหม่อมคึกฤทธิ์ ได้สร้างระดับศักดินาของตัวละครขึ้นมาโดยฉับพลัน และสิ่งนี้ถูกสานต่อใน ‘อุโมงค์ผาเมือง’ อย่างน่าตื่นตะลึงยิ่งเมื่อหม่อมน้อยนอกจากจะขยายผลเรื่องเมียซามูไรแล้ว ยังขยายผลเรื่องของพระในอีกทอดหนึ่ง

เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น เราอาจแบ่งตัวละครในหนังเรื่องนี้เป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกคือ ชนชั้นสูงที่ประกอบด้วยนักรบ และพระ (หนังขยายปูมหลังพระอานนท์ในสถานะของลูกชายคนชั้นสูงที่อยากบวชมากกว่ามีชีวิตทางโลก ครั้นเมื่อสึกออกมาก็ได้มองเห็น การ เกิด แก่ เจ็บ ตาย จากทั้งชีวิตของพี่ชายและความตายของแม่จนต้องขอกลับไปบวชใหม่ ก่อนที่จะพบเจอคดีฆาตกรรมที่สั่นสะเทือนตัวพระท่านจนแทบขอลาสิกขาบท) ส่วนกลุ่มที่สองคือ โจรป่า และคนตัดฟืน โดยตัวละคร แม่หญิงคำแก้ว เมียนักรบนั้นเป็นภาพแทนของคนชั้นล่างที่อยากได้อยากมีจนได้เป็นเมียนักรบในที่สุด

เห็นได้ชัดว่า ดูเหมือนความวุ่นวายใดๆ ในหนังก็ล้วนมีเหตุจำเพาะมาจากการกระทำของคนชั้นล่างเสียร่ำไป เจ้าโจรป่าอ้างลมวูบหนึ่งให้ก่อเหตุสะเทือนขวัญ แม่หญิงเมียนักรบหรือก็กระไร ไต่เต้าจากลุูกคนใช้ขึ้นมาเป็นใหญ่เป็นโต ยังมีจิตคิดไม่ซื่อ ลักลอบคบชู้สู่ชาย นำความตายมาตกแก่ผัวตน หรือหนักข้อที่สุดคือชายตัดฟืนที่ดูเหมือนเป็นคนสามัญ ก็ได้มีส่วนร่วมประกอบอาชญากรรมกับเขาอยู่ดัวยซ้ำ

เห็นได้ชัดว่า ดูเหมือนความวุ่นวายใดๆ ในหนังก็ล้วนมีเหตุจำเพาะมาจากการกระทำของคนชั้นล่างเสียร่ำไป เจ้าโจรป่าอ้างลมวูบหนึ่งให้ก่อเหตุสะเทือนขวัญ แม่หญิงเมียนักรบหรือก็กระไร ไต่เต้าจากลูกคนใช้ขึ้นมาเป็นใหญ่เป็นโต ยังมีจิตคิดไม่ซื่อ ลักลอบคบชู้สู่ชาย นำความตายมาตกแก่ผัวตน

ชนชั้นสูงใน ‘อุโมงค์ผาเมือง’ หากจะมีความผิดอยู่บ้างก็ตรงที่พวกเขานั้นอ่อนแอเกินไป เฉกเดียวกับชายนักรบที่ ‘รากแตกรากแตน’ ก่อนไปออกรบ ชายนักรบที่ไม่ยอมจัดการกับเมียไพร่ผยองที่นอกใจ และสุดท้ายต้องมาตายอย่างช่วยเหลืออะไรไม่ได้ คนชั้นสูงในเรื่องนี้เป็นเหยื่อของโจรป่า ‘ลูกชาวนา’ ไม่รู้จักพอ และนางข้าทาสอสรพิษที่สมคบชายชู้ฆ่าผัว ชนชั้นสูงใน ‘อุโมงค์ผาเมือง’ เป็นเหยื่อจากความใจอ่อนเกินไป อ่อนแอเกินไป (หนังขับเน้นอารมณ์ดังกล่าวด้วยการที่ในฉากขึ้นศาลจะมีการตัดภาพไปยังใบหน้าของเจ้าเมืองซึ่งฟังคำให้การด้วยอาการอันต่างกัน ทั้งเหยียดหยามคำให้การของโจรป่า หัวเราะเยาะคำให้การของแม่หญิง และตื้นตันถึงขั้นหลั่งน้ำตาให้แก่คำให้การของนักรบที่เล่าผ่านคนทรง)

อย่างไรก็ดี ในต้นฉบับของหม่อมคึกฤทธิ์นั้น (อาจจะรวมเอาฉบับของคุโรซาว่าเข้าไปด้วย) ได้บอกกับผู้ชมว่า ความจริงนั้นมีอยู่ เพียงแต่กลวิธีการบอกเล่าความจริงส่วนตัวและความฉ้อฉลชั่วช้าของมนุษย์ต่างหากที่ได้พากันบิดเบือนความจริงให้เข้าข้างตัว เพื่อให้ตัวพ้นภัย เพื่อให้ตัวพ้นคำครหา หรือเพื่อให้ตัวได้กลายเป็นวีรบุรุษ (ซึ่งเอาเข้าจริงในต้นฉบับของ ‘ในป่าละเมาะ’ นั้นไม่มีการสรุปความจริงอื่นใดอีกเลย ราวกับว่าความจริงไม่ได้มีอยู่ มีแต่ความจริงของใคร รับใช่้ใครเท่านั้น) ความจริงใน ‘ราโชมอน’ ของหม่อมคึกฤทธิ์คือความจริงที่ว่ามนุษย์นั้นล้วนมืดบอดไปเสียสิ้น (เพียงแต่ชนชั้นล่างอาจจะมืดบอดกว่าในฐานะผู้ก่ออาชญากรรม ไม่ว่าจะเป็นเมียซามูไร หรือชายตัดฟืน) ในขณะที่ฉบับของคุโรซาว่า การไร้ปูมหลังของตัวละครทำให้ระดับชั้นนี้สาบสูญไปอยู่มาก

ความจริงของ ‘อุโมงค์ผาเมือง’ นั้นไม่ใช่สิ่งจำเป็นอีกต่อไป ไม่มีความจริงอันใดเป็นที่ต้องการอีกต่อไป อันที่จริงหนังได้บอกไว้อย่างแนบเนียนในฉากแรกๆ แล้วด้วยซ้ำ (ฉากนี้ไม่ปรากฏมาก่อนในฉบับอื่นๆ) เพราะไม่ว่าเราจะสืบค้นสิ่งใดต่อไป ความจริงก็ไม่สำคัญอีกแล้ว โจรป่าถูกประหารไปตั้งแต่ฉากแรก และที่สำคัญเขาไม่ได้ถูกประหารในฐานะของผู้กระทำความผิดฆ่าข่มขืน เขาถูกประหารในฐานะการสักการะผีบ้านผีเมือง ถูกประหารเพื่อล้างกาลีบ้านกาลีเมือง!

สุดท้ายแล้ว ความจริงในหนังจึงเป็นเพียงเรื่องเล่าสนุกๆ เรื่องหนึ่งมากกว่าจะเป็นการค้นหาสรณะว่าความจริงมีอยู่ ด้วยอาการเช่นนี้เอง มันจึงไม่จำเป็นอีกแล้วที่จะไปค้นหาว่าใครทำอะไรในอดีต เพราะความจริงก็ล้วนแต่รับใช้ตัวผู้พูดทั้งสิ้น ที่ตายก็ตายไปแล้ว เราเลิกแล้วต่อกันแล้วหันมาบูชาพระศาสนาเถิด ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ สาส์นนี้ช่างสอดคล้องไปกันได้เหลือเกินกับวิธีคิดที่เราเลือกจดจำประวัติศาสตร์ของประเทศทั้งในอดีต และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เหตุการณ์ฆาตกรรมอันสลับซับซ้อนกลางเมือง

และหากหนังจะยึดมั่นในความจริงใดเข้าสักอย่างแล้วละก็ ใช่หรือไม่ที่คดีฆาตกรรมอันซับซ้อนสับสนนี้ที่แท้แล้วเป็นเพียงสาธกชิ้นหนึ่ง ใน ‘อุโมงค์ผาเมือง’ ฉบับนี้ คดีฆาตกรรมนักรบไม่ได้ทำหน้าที่เป็นตัวเรื่องหลักที่ส่งสาส์นเกี่ยวกับความจริงหรือแสดงสภาวะทุกข์เศร้าหดหู่ที่มนุษย์มีต่อมนุษย์ด้วยกันเอง (ความฉลาดของคุโรซาว่าและหม่อมคึกฤทธิ์คื อการให้หนึ่งในมนุษย์ผู้สิ้นหวังนั้นถือครองเพศบรรพชิต) อีกต่อไป เพราะคดีฆาตกรรมนักรบในหนังเรื่องนี้กลับทำหน้าที่เป็นเสมือนนิทานสาธกที่พระอานนท์ได้ยกมาเล่าสู่ชายตัดฟืน โดยมีชายหน้าผีทำหน้าที่เป็นผู้คอยแย้งให้เรื่องสนุกสนานมากขึ้น ถึงที่สุดแล้ว ตัวละครที่ถูกเปรียบเปรยประหนึ่งเป็นตัวผู้ชมไม่ใช่ตัวละครทั้งสาม หากเป็นชายตัดฟืน ผู้ซึ่ง ‘เลวพอกัน’ ไปเสียทั้งสิ้น

สุดท้ายแล้ว ความจริงในหนังจึงเป็นเพียงเรื่องเล่าสนุกๆ เรื่องหนึ่งมากกว่าจะเป็นการค้นหาสรณะว่าความจริงมีอยู่ ด้วยอาการเช่นนี้เอง มันจึงไม่จำเป็นอีกแล้วที่จะไปค้นหาว่าใครทำอะไรในอดีต เพราะความจริงก็ล้วนแต่รับใช้ตัวผู้พูดทั้งสิ้น ที่ตายก็ตายไปแล้ว เราเลิกแล้วต่อกันแล้วหันมาบูชาพระศาสนาเถิด ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ สาส์นนี้ช่างสอดคล้องไปกันได้เหลือเกินกับวิธีคิดที่เราเลือกจดจำประวัติศาสตร์ของประเทศทั้งในอดีต และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เหตุการณ์ฆาตกรรมอันสลับซับซ้อนกลางเมือง

การขยายความเบื้องหน้าเบื้องหลังของพระอานนท์ในหนัง (ที่ไม่ได้มีอยู่ในฉบับใดมาก่อน) จึงเป็นหัวใจของ ‘อุโมงค์ผาเมือง’ ถึงที่สุดหนังได้กลายร่างจากต้นฉบับอันหดหู่สิ้นหวังมาเป็นนิทานสาธกซึ่งถวายเป็น ‘พุทธบูชา’ ต่อพระพุทธศาสนา หนังกลายร่างจากหนังที่สะท้อนภาพความจริงอันหลากหลาย ไปสู่ความจริงหนึ่งเดียว นั่นคือความจริงแท้แน่นอนในการหันหน้าเข้าสู่พระพุทธศาสนา ไม่ว่าการเมืองสีใดหรือการเพรียกหาความยุติธรรมใดก็หาได้มีความหมายอีกต่อไปไม่ ในนามของพระศาสนาที่สถาปนาตนเองเป็นความจริงหนึ่งเดียวนี้สามารถจะปิดปากความจริงใดๆ ไปจนหมดสิ้นได้ เป็นความจริงหนึ่งเดียวที่ห้ามถามหรือสงสัย ละวางเสียเถิดประสก

แต่ศาสนาในหนังก็ยังคงเป็นของเฉพาะคนชั้นสูงอีกเช่นกัน ส่วนขยายเพิ่มเติมเรื่องของพระอานนท์นั้น ช่างละมุนละไมละม้ายกับพุทธประวัติของพระพุทธเจ้า (หนำซ้ำยังสะอาดกว่าในแง่ที่ว่าพระอานนท์ไม่ต้องลงมามีภริยาเองให้ต้องละทิ้งภริยาและบุตรไปออกผนวชแต่อย่างใด) กล่าวถึงที่สุด พระอานนท์จึงเป็นตัวแทนของสิ่งที่อยู่สูงส่ง ซึ่งในที่สุดได้ฉายแสงอันสุกสว่างอย่างมลังเมลืองในตอนท้ายของเรื่อง

จากความมืดดำหดหู่ใน ‘ราโชมอน’ ต้นฉบับ ในที่สุดหม่อมน้อยคลี่คลายเรื่องราวฉบับไทยๆ ได้อย่างแนบเนียน โดยกลับหัวพลิกหางจากเรื่องเล่าชวนรันทดท้อให้กลายเป็นนิทานสาธกอันเรื่อเรืองด้วยแสงแห่งธรรม อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้เป็นของสูง เป็นเรื่องที่ชนชั้นสูงบอกกล่าวให้เราฟัง เราในฐานะคนตัดฟืนผู้ซึ่งร่วมประกอบอาชญากรรมควรพึงสังวรตนและเก็บทารกพลัดหลงไปเลี้ยงดู ทำหน้าที่เป็นศาสนิกที่ดีในการเชื่อฟังคำสอนของเรา ซึ่งมีแต่ทางนี้เท่านั้นที่จะพามนุษย์ชั้นล่างให้ออกจากอาจมของความจริงได้ นับได้ว่าหม่อมน้อยได้ช่วยเติมเต็มสิ่งที่หม่อมคึกฤทธิ์ได้ทิ้งร่องรอยไว้ในการดัดแปลง ‘ราโชมอน’ อย่างหมดจดยิ่ง

หนังเต็มไปด้วยการแสดงที่ล้นเกินราวกับทุกตัวละครทุกฉากตอนเป็นละครเวทีที่มีผู้ชมมหาศาล ทุกตัวละครจึงต้องเปล่งเสียง แสดงท่าทาง อารมณ์อย่างรุนแรง แน่นอนว่าในทางหนึ่งมันทำให้หนังประดักประเดิดในความฟูมฟายล้นเกินจะทะลักออกจากจออย่างยิ่ง ในอีกทางหนึ่งมันกลับทำให้หนังถูกจดจำในฐานะหนังที่สไตล์จัดจ้านจนเกือบจะบอกว่าเป็นลักษณะเฉพาะได้ในอนาคต

จัน ดารา (2012) : กามกรีฑาคือสาธก

จากนิยายเชิงสังวาสเรื่องดังของอุษณา เพลิงธรรม หนังเล่าเรื่องจัน เด็กที่เติบโตในคฤหาสน์ของคุณหลวงพ่อที่เกลียดลูกอย่างเขาชนิดเข้าไส้ แม่ของจันมาแต่งกับคุณหลวงด้วยเหตุจำเป็น ตายหลังจากคลอดจัน จันโตมาด้วยการเอาตัวเข้าแลกของน้าวาดน้องสาวของแม่ ได้ใช้ชีวิตในเรือนเล็กส่วนตัวโดยมีไอ้เคน กระทิงทองเป็นทั้งเพื่อนสนิทและคนรับใช้ จันค่อยๆ เรียนรู้โลกามาผ่านทางความมักมากในกามของคุณหลวงที่ร่วมสังวาสกับหญิงสาวในบ้านไปทั่ว ก่อนจะรับเอาคุณบุญเลื่องเมียใหม่เข้ามาในบ้าน คุณบุญเลื่องนี้เองได้สอนให้จันรู้จักเรียนรัก ทำให้จันเติบโตขึ้น ในขณะเดียวกันตัวจันเองก็ค่อยๆ ก้าวล่วงเข้าไปในวิถีชีวิตแบบคุณหลวง และในที่สุดกลายเป็นคุณหลวงน้อยๆ หลังจากถูกเฉดหัวออกจากบ้านกลับไปรู้ความจริงเรื่องแม่และกลับมาอีกครั้งเพื่อล้างแค้นพ่อจอมปลอมของตัวเอง ด้วยการฆ่าปีศาจแล้วกลายเป็นปีศาจไปเสียเอง

ต่างไปจากงานสองชิ้นก่อนหน้าในครานี้ หม่อมน้อยได้ขยายงานของอุษณา เพลิงธรรม เพิ่มเติมเรื่องราวออกไป โดยเฉพาะที่สำคัญการที่หนังถูกตัดแบ่งออกเป็นสองภาคทำให้สองภาคนี้สะท้อนกันและกันเองด้วยการวางคู่ตรงข้ามภาคแรกเป็นจันกับคุณหลวง และครึ่งหลังเป็นจันกับเคน กระทิงทอง (ซึ่งในต้นฉบับนั้นเคนหายตัวไปตั้งแต่ครึ่งแรกของบทประพันธ์) แต่สิ่งที่น่าตกตะลึงที่สุดคือ การที่มันได้แปรรูปจากนิยายยวนอารมณ์ขั้นสูงสุดในตัวบทประพันธ์มาเป็นหนังที่อาจจะเกลื่อนด้วยฉากสังวาส แต่แบนราบไร้อารมณ์เย้ายวนจนถึงขนาดกึ่งกามตายด้าน กล่าวให้ถูกต้องคือ ทำทุกอย่างที่อุษณาเขียน แต่ไม่มีสิ่งที่อุษณาเป็น

สิ่งที่น่าตกตะลึงที่สุดคือ การที่มันได้แปรรูปจากนิยายยวนอารมณ์ขั้นสูงสุดในตัวบทประพันธ์มาเป็นหนังที่อาจจะเกลื่อนด้วยฉากสังวาส แต่แบนราบไร้อารมณ์เย้ายวนจนถึงขนาดกึ่งกามตายด้าน กล่าวให้ถูกต้องคือ ทำทุกอย่างที่อุษณาเขียน แต่ไม่มีสิ่งที่อุษณาเป็น

หากการทำความสะอาดตัวหนังกลับน่าสนใจยิ่งเพราะมันคือการชำระเอาความลามกออกจากตัวจันด้วย ในที่นี้ภาคต้น (ตัดที่จันออกจากบ้านวิสนันท์) จันจึงเป็นเหยื่อของการทำทารุณกรรมของบิดา หนังได้ขัดสีฉวีวรรรณให้จันเป็นสิ่งงดงามท่ามกลางความระยำตำบอนของบ้าน จันทำในสิ่งที่ถูกทำนองคลองธรรมที่สุด ในเรื่องจันคือความเรืองรองดุจดังพระอานนท์ท่ามกลางความโฉดชั่วของคนในถ้ำ

ยิ่งไปกว่านั้น ในขณะที่ปฐมบทของจัน ดาราค่อนข้างเป็นไปตามบทประพันธ์ ครึ่งหลังของหนังกลับเตลิดเปิดเปิงไปจากตัวบทดังที่ได้กล่าวไว้ และยิ่งมันไปไกลเท่าไร มันยิ่งน่าสนใจมากขึ้นเท่านั้น

ถ้าเราจำได้ในขณะที่หนัง Sterile จันให้บริสุทธิ์ผุดผ่องดังพระอานนท์ใน ‘อุโมงค์ผาเมือง’ หรือส่างหม่องในครึ่งแรกของ ‘ชั่วฟ้าดินสลาย’ เราพบว่าตัวละครเคนที่เป็นเหมือนด้านริยำของจัน (ในครึ่งแรกเคนคือผู้ชี้ชวนจันเข้าสู่วงการกามาบันเทิงในบ้านวิสนันท์ หากในครึ่งหลังเคนกลับพบรักและสร้างครอบครัวแสนสุขกับสาวที่พบในวัด -แน่นอนไม่มีอยู่ในบทประพันธ์) กลับถูกล้างจนสะอาดในภาพนี้เพื่อที่จะให้เป็นฝาแฝดกับจัน เป็นคนที่รับเอาความงามของจันมาพยุงตัวละครของจันเอาไว้ การที่เคน (ซึ่งในบทประพันธ์ครึ่งหลังไม่มีอีกต่อไป) รับหน้าที่นี้ เท่ากับเชื่อมคนดูเข้ากับความผุดผ่องของจัน หรือความเป็นจันซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากๆ ว่าจันเป็นใครกันแน่ในเรื่องนี้

จากลูกไม่มีพ่อ หรือมีก็หาไม่เจอในบทประพันธ์ จันถูกชะล้างให้สะอาดด้วยความรักศักดิ์สิทธิ์ เซ็กซ์ในหน้าที่ของพ่อกับแม่เพื่อกู้เกียรติตระกูล (คุณดาราแม่ของจันโดนโจรใจทรามลากไปข่มขืน แต่ที่จริงโจร-พ่อทางสายเลือดของจันทำเพื่อกู้เกียรติของตน ซึ่งไม่มีในบทประพันธ์เช่นเคย) จากจันที่ไม่มีตัวตนในหนังสือ กลายเป็นจันที่เกิดอย่างมีเกียรติ (แม้หนังจะพูดเหมือนหนังสือว่าแม่จันก็โดนลูกน้องไอ้จอมฟอนไป แต่ฉากงดงามในแสงสนธยาก็ตราประทับลงในคนดูเพื่อที่จะทำให้จันนั้นสะอาดเสียทั้งตัว)

จันกลับพิจิตรแบบเจ้า ไม่ใช่ไพร่ ถ้าจำได้ เรื่องทั้งหมดคือความโกลาหลที่ตอกหมุดปักลงตรงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 พร้อมกับฉากอันลือลั่นที่แปลงประวัติศาสตร์ตรงไปตรงมาด้วยการแสดงให้เห็นภาพวันที่คณะราษฏรเดินทางไปจับบรรดาเชื้อพระวงศ์​และพระเจ้าอยู่หัว รวมถึงสำแดงความกักขฬะใส่ประชาชนคนผู้จงรักภักดีอีกด้วย พูดให้ถูกอีก คุณหลวงกลายเป็นภาพแทนของคณะราษฎร ที่คุ้มดีคุ้มร้าย ชั่วช้า เผด็จการ และเจ้าคิดเจ้าแค้น ทำไมน่ะหรือ ก็จันมาถึงพิจิตรพอดิบพอดีกับวันพระราชทานรัฐธรรมนูญ และกลับพระนครหลังในหลวงสละราชสมบัติ จันจึงเป็นตัวแทนของอำมาตย์พลัดถิ่นภายใต้การปกครองอันรวนเรของคณะราษฎร จันไปอยู่พิจิตรอย่างเจ้า (ในต้นฉบับ จันไปอยู่อย่างไพร่ และบทไพร่ก็ได้พ่อเคนเรารับเอาไป แถมยังเพิ่มฉากของแม่ปทุมโสเภณีสาวที่นำจันไปสู่การพบชาติกำเนิดอันบริสุทธิ์อย่างไร้ข้อกังขา ตามด้วยฉากจันเดินลงน้ำ เขาไม่ได้ฆ่าตัวตาย แต่ลงไปชำระล้างในน้ำแทน)

คุณหลวงกลายเป็นภาพแทนของคณะราษฎร ที่คุ้มดีคุ้มร้าย ชั่วช้า เผด็จการ และเจ้าคิดเจ้าแค้น ทำไมน่ะหรือ ก็จันมาถึงพิจิตรพอดิบพอดีกับวันพระราชทานรัฐธรรมนูญ และกลับพระนครหลังในหลวงสละราชสมบัติ จันจึงเป็นตัวแทนของอำมาตย์พลัดถิ่นภายใต้การปกครองอันรวนเรของคณะราษฎร

เคนซับเอาความงามของจันเพื่อให้จันได้เอาคืนพ่อเลี้ยงอย่างแสบสัน หนังลดทอนอาการลมเพลมพัด ความไม่ดิ้นรน (รอโชคลอยลงในมือ) ของจันในหนังสือออกจนหมด กลายเป็นจันแห่งโทสะ กล่าวให้ง่ายเมื่อให้ประชาชนปกครองตนเอง ถ้าคนเท่ากันอย่างไอ้คุณหลวงได้เป็นนายทุนครองที่ (แม่) แลัวไอ้จันกลับไปเอาคืนบ้างเรื่องมันก็วุ่นเช่นนี้แหละ

ถ้อยแถลงอันจงรักภักดีและชาตินิยมของคุณยายต่อแผ่นดินของเรา (ตามบทดั้งเดิมนั้นเป็นคุณตาและหาได้มีถ้อยแถลงต่อหน้าแผ่นดินกว้างไกลในพิจิตรไม่) ได้ช่วยตอกย้ำความเป็นราษฎรผู้จงรักภักดีลงในตัวจันและตระกูลพิจิตรวานิช การสมอ้างจังหวะการสละราชสมบัติของในหลวงไม่ได้บอกว่าจันเป็นตัวแทนของอำมาตย์ แต่จัน (และเคน) คือภาพแทนผลพวงของผู้คนในยุค Post monarchy เมื่อครั้งปี 2478 ต่างหาก ในแง่นี้การสละราชสมบัติก็ถูกขัดสีฉวีวรรณขึ้นมาพอๆ กับการพระราชทานรัฐธรรมนูญ

โลกหลังการสละราชฯ ของในหลวงจึงเป็นแต่เพียงละครของการแต่งงานของจันกับคุณแก้ว (ลูกสาวคุณบุญเลื่อง) การจองเวรที่ล่วงถลำลงสู่หล่มบาป หนังทำลายความงามในความสัมพันธ์ของจันกับคุณบุญเลื่องในหนังสือลงอย่างราบคาบด้วยการให้จันนั้นกราดเกรี้ยวเสียเหลือเกิน คุณบุญเลื่องก็ลดรูปจากหญิงไม่อิ่มรักที่มีจิตใจประเสริฐ ไปสู่หญิงร่านพื้นๆ ที่ไร้ความสำคัญ กล่าวให้ถูกต้องถึงที่สุด คุณบุญเลื่องได้ร่วมสถานะกับยุพดีและแม่หญิงคำแก้วเป็นที่เรียบร้อย

เรื่องก็มันตรงนี้ เมื่อหนังทำให้ความสัมพันธ์ของคุณแก้วกับคุณขจรเรื่อเรืองเป็นความรัก (คุณแก้วเป็นลูกคุณบุญเลื่องที่เกิดแต่คุณหลวง ส่วนคุณขจรเป็นลูกติดของคุณบุญเลื่อง) แทนความใคร่อย่างในต้นฉบับ มันก็เท่ากับว่า คุณแก้วและคุณขจรคือคนที่ถูกทำลายจากระบบการปกครองของพ่อแม่ที่ปกปิดความจริง ยิ่งเมื่อคุณขจรเรืองรองขัดสีฉวีวรรณมากขึ้นด้วยการไปเป็นเสรีไทย คุณขจรก็เลยได้เชื้อของคณะราษฎรด้านดีที่หนีรักในสายเลือดไปสละชีพเพื่อชาติต่างกับคุณขจรที่เป็นเหยื่อของคุณแก้วซึ่งหนีไปจากบ้านด้วยความอับอายและขลาด (ในต้นฉบับนั้น คุณขจรออกจากบ้านไปอย่าพวกกลัวผิดบาป ออกไปใช้ชีวิตนายทหารแสนดีและได้กลายเป็นคนใหญ่คนโตในเวลาต่อมา) สงครามโลกในต้นฉบับดำเนินไปในที่ทางของการนำไปสู่การเปิดเผยความลับของบุญเลื่อง แต่ในคราวนี้ สงครามกับเอาไว้ขัดสีฉวีวรรณคุณขจร เสรีไทยผู้ห้าวหาญและเสียสละ เมื่อโลกในบ้านวิสนันท์ตกต่ำถึงขีดสุด สงครามโลกเป็นจุดจบของบ้านวิสนันท์ เป็นจุดกำเนิดของปรีย์ เด็กพิกลพิการจาการสังวาสร่วมสายเลือดของเสรีไทยอย่างคุณขจรและหญิงร่านลูกคุณหลวง กล่าวให้ง่าย ปรีย์ต้นฉบับที่เป็นเพียงผลของรักร่วมสายเลือดก็ได้มีความเป็นการเมืองขึ้นเมื่อเราทาบทับว่า นี่สิผลผลิตภายในของผู้ยึดอำนาจ

ทีนี้เคนกับจันก็เป็นเพียงผู้เฝ้ามองความวิปริต น่าเสียดายที่หนังลดทอนการกลายเป็นปีศาจโดยไม่ได้ตั้งใจโดยอย่างเป็นกระจกของจันกับคุณหลวง ในหนังจันไม่ได้เป็นคุณหลวงอย่างในหนังสือ แต่จันเป็นเคน เป็นคนที่ไหลไปตามเกมอำนาจและกลับเนื้อกลับตัวในท้ายที่สุด ถ้าจันเป็นคุณหลวงก็หมดกัน คนมันเท่ากันเลวได้เท่าๆ กัน เมื่อเปรียบไปจันไม่ใช่คนเฝ้าศพในถ้ำกับคนตัดฟืนใน ‘อุโมงค์ผาเมือง’ จันกับเคนคือพระอานนท์กับพี่ชายของพระอานนท์ต่างหาก (ไม่ต้องคิดว่าพระอานนท์และจันรับบทโดยมาริโอ้ และพี่ชายของพระอานนท์กับเคน รับบทโดย นิว ชัยพล)

การชำระล้างจันให้สะอาดเอี่ยม (อาจจะเรียกรวมๆ ว่าทำจันให้เป็นหมัน – sterile จัน) จึงทำให้เป็นการเมืองขึ้นมาโดยมีบ้านวิสนันท์เป็นภาพแทนการโกลาหลอย่างไม่รู้จบสิ้น และจันก็เป็นเพียงผู้เล่นตามเกมของท่านยายมากกว่าเป็นคนที่ค่อยๆ เลวจากข้างใน (ฉากหนึ่งเคนถึงกับบอกว่าเขามองเห็นจันคนดีอยู่ในจันคนนี้) การเป็นคนร้ายสวมหน้ากากข่มขืนคุณแก้ว ล้างแค้นคุณหลวง เป็นเพียงหน้ากากไม่ใช่เนื้อแท้ (จริงๆ การขอมีลูกในหนังสือไม่ได้เป็นเรื่องของรุ่นพ่ออย่างโจรจอมกับคุณดารา แต่เป็นเรื่องของจันกับแก้ว ในที่นี้ จันกับปรีย์จึงถือเป็นตัวแทนที่กลับหัวกลับหางกันและกัน) การเอาพลิกหัวกลับหางนอกจากจะทำให้มันสะอาดสวยงามแล้ว ยังเป็นการลดทอนความต่ำช้าของสถาณการณ์เดียวกันและของการมีลูกด้วย ดังนี้ความตายของคุณแก้ว (ในต้นฉบับคุณแก้วไม่ได้ตาย) จึงเป็นการขัดสีฉวีวรรณศีลธรรมมากกว่าปล่อยให้คุณแก้วเป็นสาวทอมอย่างในหนังสือ

กล่าวให้ถึงที่สุด ‘จัน ดารา’ ของหม่อมน้อย จึงทำหน้าที่เช่นเดียวกับ ‘อุโมงค์ผาเมือง’ ในแง่ของการเปลี่ยนเรื่องที่พูดถึงความดำมืดของจิตมนุษย์ให้กลายเป็นนิทานสาธกสอนศีลธรรมได้อย่างน่าตะลึง


การเมืองคือเรื่องรักของหญิงร่าน หนุ่มไร้เดียงสา และ เสือเฒ่า

ดังที่ได้กล่าวแล้ว เราพบได้ไม่ยากนักว่า หนังทั้งสี่เรื่องของหม่อมน้อย วนเวียนอยู่ในโครงสร้างของรักสามเส้า การเอาชนะคะคานของเกมอำนาจระหว่างหญิงร่าน กับชายเฒ่า และคนหนุ่มไร้เดียงสา การข้ามไปมาของโครงเรื่องยังถูกตัดข้ามด้วยการเลือกใช่นักแสดงที่ต่อเนื่องกัน ยุพดีและแม่หญิงคำแก้ว รับบทโดยพลอยเฌอมาลย์, ส่างหม่องและนักรบ รับบทโดยอนันดา เอเวอร์ริ่งแฮม, พระอานนท์และจัน โดยมาริโอ้ เมาเร่อ, พี่ชายของพระอานนท์ กับเคน กระทิงทอง รับบทโดย นิว ชัยพล ไปจนถึงศักราช ฤกษ์ธำรงในบทของทิพย์ (คนเล่าเรื่องใน ‘ชั่วฟ้าดินสลาย’) เจ้าเมือง (คนฟังเรื่องใน ‘อุโมงค์ผาเมือง’) และคุณหลวง ‘อุโมงค์ผาเมือง’ จึงเป็นเหมือนแกนกลางที่เชื่อมหนังอีกสองเรื่องไว้ด้วยกัน

‘หญิงร่าน’ ของหม่อมน้อย มักผูกพ่วงอยู่กับความหัวนอกสมัยใหม่ คนเยี่ยงยุพดีที่อ่านเฮนริค อิบเสน หรือคุณบุญเลื่องที่เป็นสาวนักธุรกิจจากปีนัง ผู้หญิงเหล่านี้เข้ามาล่อลวง ชักจูง ยั่วยวนคนหนุ่มเถื่อนถ้ำไร้เดียงสาให้ตกลงในหลุมหล่มปรารถนาที่จะไปจากผู้ปกครอง การณ์ยิ่งชัดเจนมื่อเรามองดูแม่หญิงคำแก้วในฐานะลูกไพร่ที่อยากได้ดีอาศัยความอ่อนแอไร้เดียงสาของนักรบผู้เป็นสามีในการไต่เต้า ในขณะที่คนหนุ่มไร้เดียงสาอย่างส่างหม่องได้ถูกขัดสีฉวีวรณทีละน้อย จากส่างหม่องไปยังจัน และเคนที่ทำหน้าที่หนุ่มเถื่อนถ้ำที่ถูกยั่วยวนโดยหญิงร่าน แน่นอนทั้งหมดวิ่งวนรอบการตายของนักรบและการเกิดของพระอานนท์ในอุโมงค์ผาเมือง คนหนุ่มค่อยๆ ถูกขัดถูกจากชายหนุ่มอ่อนแอมาสู่การเป็นคนหนุ่มผู้เรืองรองและอยู่เหนือความขัดแย้งทั้งมวล ในอีกทางหนึ่งชนชั้นปกครองผู้ปกครองก็ค่อยๆ ถูกทำให้อ่อนแอ จากพะโป้มาสู่คุณหลวงที่พ่ายแพ้หมดรูป และแน่นอนเจ้าเมืองใน ‘อุโมงค์ผาเมือง’ เป็นเสมือนภาพแทนความหมายที่แท้ หรือหากจะพูดใหม่ พูดในอีกทาง อันที่จริงพะโป้กับส่างหม่องได้ถูกรวบเอาไว้ภายในตัวของพระอานนท์เอง เฉกเช่นที่จันกลายเป็นคุณหลวงอย่างไม่อาจแยกออกจากกัน คนหนุ่มจะกลายเป็นผู้ปกครองในอนาคต พวกเขาคือความหวังในการใช้ธรรมะและความดีงามขจัดความโสมมของหญิงร่าน

ถึงที่สุด ‘ชั่วฟ้าดินสลาย’ คือโครงเรื่องเบื้องต้น ‘อุโมงค์ผาเมือง’ คือการแฉโพยโครงสร้างที่ค้ำจุนโครงเรือง ก่อนที่ ‘จัน ดารา’ จะหยิบสิ่งนั้นมาใช้สอยอย่างเต็มที่

คณะราษฎร ประชาธิปไตย ไพร่และเจ้า

ที่น่าสนใจที่สุด คือทั้ง ‘ชั่วฟ้าดินสลาย’ และ ‘จัน ดารา’ ต่างจงใจอาศัยภาพของคณะราษฎรเพิ่มเข้ามาในตัวเรื่อง คณะราษฎรแทนภาพความสมัยใหม่ที่มาทำลายสิ่งเก่า คณะราษฎรในหนังของหม่อมน้อยทำหน้าที่แบบเดียวกับหญิงร่านในการเข้ามาเปลี่ยนแปลงแล้วส่งผลทางร้ายต่อประชาชนคนตาดำๆ ที่เป็นภาพแทนคนเถื่อนถ้ำ ในขณะที่ชนชั้นปกครองอ่อนกำลังลงเรื่อยๆ วิธีการที่ดีที่สุดในการจัดการกับหญิงร่านคือ การเสริมพลังให้คนมีธรรม ธรรมที่มาจากผู้ปกครอง ดังเช่น พระอานนท์สละสมบัติมาออกบวช หรือคุณขจรที่กลายเป็นเสรีไทยมาช่วยเหลือจันในตอนท้าย

กล่าวให้ง่ายคือ ชนชั้นปกครองแบบพะโป้นั้นกำลังอ่อนล้าลงทุกขณะ สิ่งที่เขาจะทำได้คือส่งต่อให้คนหนุ่มรุ่นต่อไปได้ค้นพบจุดมุ่งหมายของชีวิต แต่ต้องเป็นการเรียนรู้อย่างช้าๆ ผ่านทางเขาเท่านั้น เราเป็นเพียงชายตัดไม้ผู้โง่เขลา เราจะเติบโตได้ด้วยธรรมของพระอานนท์ และด้วยวิธีเช่นนั้นเราจึงจะหาหนทางในการจัดการกับบรรดาหญิงร่านรักหัวสมัยใหม่ ประชาธิปไตยปแบบชิงสุกก่อนห่ามอย่างถูกต้อง และการอยู่ในศีลในธรรมตามแต่คนรุ่นก่อนสอนสั่งนี้เองจะทำให้เราประสบโชคดีมีชัย ดังเช่นที่เคน กระทิงทอง ทิ้งความมักมากในกามคุณแล้วประกอบสัมมาชีพจนสามารถส่งลูกชายไปร่ำเรียนจนได้ทำงานในนาซ่า 

‘ประชาธิปไตยของไพร่ในสายตาเจ้า’ อาจจะเป็นถ้อยคำที่เกินเลยไปสักหน่อย แต่น่าจะอธิบายสาส์นซ่อนเร้นในหนังชุดนี้ได้ไม่เลวนัก

คณะราษฎรในหนังของหม่อมน้อยทำหน้าที่แบบเดียวกับหญิงร่านในการเข้ามาเปลี่ยนแปลงแล้วส่งผลทางร้ายต่อประชาชนคนตาดำๆ ที่เป็นภาพแทนคนเถื่อนถ้ำ ในขณะที่ชนชั้นปกครองอ่อนกำลังลงเรื่อยๆ วิธีการที่ดีที่สุดในการจัดการกับหญิงร่านคือ การเสริมพลังให้คนมีธรรม ธรรมที่มาจากผู้ปกครอง

บทส่งท้าย หญิงร่านปฏิวัติ

แผลเก่า (2014) : เรียมเหลือทนแล้วนั่น!!!! ขวัญของเรียม

สองปีหลังจาก ‘จัน ดารา’ หม่อมน้อยหยิบยกบทประพันธ์เก่ามาตีความใหม่อีกครั้ง โดยครั้งนี้เขาเลือก ‘แผลเก่า’ ของไม้ เมืองเดิม ตำนานรักทุ่งบางกะปิของไอ้ขวัญอีเรียมหนุ่มสาวบ้านนาที่ถูกพ่อแม่ของฝ่ายหญิงกีดกันจนพ่อของเรียมจับเธอส่งไปชุบตัวที่บางกอก พอกลับมาก็นำมาสู่โศกนาฏกรรมของรักข้ามชนชั้นที่งดงามและทรงพลังที่สุดในเรื่องเล่าของวรรณกรรมไทย

อันที่จริง ‘แผลเก่า’ เคยได้รับการดัดแปลงจากบทประพันธ์มาเป็นภาพยนตร์แล้วในปี 1977 โดย เชิด ทรงศรี (และอีกครั้งในชื่อ ‘ขวัญ เรียม’ ปี 2001 โดย สุทธากร สันติธวัช) ดูเหมือนหม่อมน้อยจะเขียนบทครั้งใหม่นี้ขึ้นโดยอ้างอิงทั้งจากนิยายต้นฉบับและภาพยนตร์ฉบับคุณเชิด

นิยายต้นฉบับของไม้ เมืองเดิมนั้นหนาเพียงประมาณ 100 หน้าต้น ความกระชับฉับไวเทียบเท่า ‘ชั่วฟ้าดินสลาย’ ของ มาลัย ชูพินิจ ‘แผลเก่า’ มีฉากหลักเพียงไม่กี่ฉาก เปิดที่ขวัญกับเรียมริมน้ำ ตามด้วยการได้รับแผลเก่าของขวัญในการต่อสู้ ตามด้วยการเอาเรียมไปขัง ไปขาย เรียมกลับจากบางกอกหลังจากไปหลายปี เรียมสับสนเรื่องขวัญจนหนีกลับพระนคร เรียมกลับมาใหม่และเริ่มคิดถึงขวัญ ก่อนจะนำไปสู่ฉากสำคัญของเรื่อง

ในฉบับภาพยนตร์ของคุณเชิดนั้นได้ปรับแปลงบทประพันธ์โดยเพิ่มเติมความขัดแย้งของคนรุ่นพ่อเข้ามา เรื่องเกี่ยวกับการชิงรักหักสวาทแม่รวยแม่ของเรียมไปจนถึงการเปลี่ยนบทช่วงไคลแมกซ์ให้เกิดขึ้นขณะไอ้ขวัญกำลังเตรียมจะบวชเรียน ซึ่งไม่มีในต้นฉบับ และการเปลี่ยนการตายของเรียมให้เป็นเรื่องโรแมนติคd่าเอามีดจากมือไอ้ขวัญมาแทงตัวเอง

ในขณะที่หนังก่อนหน้านี้ทั้งจตุรภาค หม่อมน้อยทำการ ‘ ดัดแปลง’ โดยเพิ่มเติมแต่เพียงเล็กน้อย ขยายความบางฉาก แต่สำหรับ ‘แผลเก่า’ เราอาจบอกได้ว่านี่คือการ ‘เขียนใหม่’ มากกว่าจะดัดแปลง แม้ตัวประเด็นใหญ่ๆ จะรับมาจากหนังคุณเชิดอีกต่อหนึ่ง แต่หม่อมน้อยเพิ่มเติมอีกมาอีกหลายส่วน ดังนี้

ในสี่สิบนาทีแรกของหนัง การเปิดฉากในท้องทุ่ง ขวัญเกี้ยวเรียม ขวัญไปอวดศักดากับไอ้เริญพี่อีเรียม ฉากขวัญกับพ่อและความขัดแย้งของพ่อ ฉากงานวัดไม่ได้มีในนิยาย (แต่เข้าใจว่ามีในหนังคุณเชิด) ต่อมาก็คือบรรดาฉากของเรียมในพระนคร ซึ่งในนิยายเป็นแต่เพียงความคำนึงสั้นๆ ของเรียม กล่าวคือเมื่อเรียมออกจากทุ่งบางกะปิเวลาก็ผ่านไปเลยสามปี ตัดมาบทต่อไปคือเรียมเตรียมกลับบ้านนอก โดยในส่วนนี้หม่อมน้อยเพิ่มตัวละครอย่าง คุณนายทองคำ(เปลว) (ในนิยายชื่อทองคำ) ที่นุ่งกิโมโนกินช็อกโกแลต ตัวละครอีจำปาที่เป็นเมียเก็บของจ้อยและพาขวัญไปตามเรียมในกรุง การที่เรียมได้ไปเมืองนอกสามปี รวมไปถึงฉากท่าเรือปลอมๆ และการที่ขวัญได้เจอเรียม (แม้เพียงชั่วแล่น) ที่ท่าเรือ ไปจนถึงการขยายความคุณสมชายคู่แข่งของไอ้ขวัญ ให้ไปเกี่ยวข้องกับโลกหลัง 2475 ในยุคจอมพลป.เรืองอำนาจ ถึงกับให้คุณสมชายเป็นหนึ่งในแก๊งของจอมพลป.ที่มีลุ้นนายก เลยเถิดไปจนถึงการสร้าง ฉากเซ็กซ์หมู่ (เรียมหนีกลับบ้านนอกหลังจากเจอเซ็กซ์หมู่ของหนุ่มคณะราษฎร) ฉากคุณนายทองคำเปลวมายืนด่าเรียมฉอดๆ แล้วเรียมเถียงกลับ (ซึ่งคือฉากสำคัญที่สุดของหนังในฉบับนี้) หรือการเน้นย้ำยุคสมัยในฉากมาลานำไทย และที่สุดคือ การตายของเรียมที่เป็นการตายตามโดยปราศจากประโยคสำคัญที่สุดจากหนังสือนั่นคือ “ผัวฉันตายแล้ว”

ก่อนจะลงมาพิจารณารายละเอียด มีเรื่องหนึ่งที่ต้องสนใจคือ หากก่อนหน้านี้ งานดัดแปลงบทประพันธ์ของหม่อมน้อยเป็นเรื่องของการเมือง เรื่องของหญิงร่าน กล่าวคือ หนังทั้งสี่เรื่องอยู่ในในคอนเซปต์ ‘ชายเถื่อนถ้ำไร้เดียงสา ผู้ปกครองที่เหี้ยมโหดเด็ดขาด และหญิงร่านที่มาล่อลวงชายไร้เดียงสา นำไปสู่ความพินาศฉิบหายของการไปจากผู้ปกครองเก่า’ ซึ่งตัวโฟกัสของหม่อมตลอดทั้งสี่คือ ตัวละครชาย ความไร้เดียงสา และการถูกล่อลวงโดยเสรีนิยมเอาแต่ใจ (หญิงร่าน)

ตัวละครของเรียมกลับเป็นครั้งแรกที่หม่อมเลื่อนมาโฟกัสตัวละครหญิง ซึ่งตามโครงสร้างเดิมต้องเป็นหญิงร่าน (เรียม) ที่ มาล่อลวงชายไร้เดียงสา (ขวัญ) การเลื่อนขวัญจากตัวนำลงไปเป็นอดีตอันหอมหวาน ทำให้หนังเป็นเรื่องของผู้หญิงที่ได้รับชีวิตใหม่จากผูปกครอง แต่ชีวิตใหม่กลับทำให้เธอเหนียวแน่นในอดีตอันเรืองรองของตัวเอง เห็นความโฉดเขลาของผู้ปกครองเสียเอง

ตัวละครของเรียมกลับเป็นครั้งแรกที่หม่อมเลื่อนมาโฟกัสตัวละครหญิง ซึ่งตามโครงสร้างเดิมต้องเป็นหญิงร่าน (เรียม) ที่ มาล่อลวงชายไร้เดียงสา (ขวัญ) การเลื่อนขวัญจากตัวนำลงไปเป็นอดีตอันหอมหวาน ทำให้หนังเป็นเรื่องของผู้หญิงที่ได้รับชีวิตใหม่จากผูปกครอง แต่ชีวิตใหม่กลับทำให้เธอเหนียวแน่นในอดีตอันเรืองรองของตัวเอง เห็นความโฉดเขลาของผู้ปกครองเสียเอง

หากจะกล่าวให้ง่าย หลังจากหม่อมทำหนังว่าด้วยไพร่โง่โดนทุนนิยม เสรีนิยมหลอกใช้ให้ไปจากเจ้ามาตลอด หม่อมน้อยหันมาทำหนังว่าด้วยคนชั้นกลางที่รักเจ้า แต่การเป็นคนชั้นกลางที่ดีต้องเอาไพร่ด้วย การ ‘ขืนเจ้า เอาไพร่ แต่ได้ประโยชน์จากพวกเจ้า’ คือคู่มือของการเป็นชนชั้นกลางที่ดีที่หม่อมจะเล่า แผลเก่าของการประท้วงชุมนุมล้มตายเผาบ้านเผาเมืองนั้นได้กลายเป็นแผลรักแลแผลชัง แผลใหม่เกิดจากการที่เจ้าจะเอาไปเสียทุกอย่างนั่นเอง


จากหนังเสื้อแดงโง่ นี่คือหนังของการเป่านกหวีดอย่างถูกทำนองคลองธรรม

เราอาจอ่านการวิเคราะห์เรียมที่หลักแหลมร้ายกาจจากการวิเคราะห์ของ อ.ชูศักดิ์ ในนิตยสาร ‘อ่าน’ ฉบับแผลใหม่ ที่อธิบายเรียมในฐานะคนบ้านนอกซึ่งถูกผู้ดีพระนครเอาไป ‘กัดขาว’ ให้เป็นโฉมยง ซึ่งการได้รับชีวิตใหม่ ชื่อใหม่ คือการกลายเป็นชาวบ้านในแบบที่ชาวพระนครอยากให้เรียมเป็น เรียมคือภาพแทนความศิวิไลซ์ที่ผู้ดีพระนครต้องการจะให้ชนบทไทยเป็น และอาการอุกอั่งกระอักกระอ่วนของเรียมในนิยายคือความงดงามของเรื่องทั้งเรื่อง

หากดูราวกับว่าในนิยายไม้ เมืองเดิม ไม่ได้เขียนเรื่องรักเรียกน้ำตาเฉยๆ แต่นี่คือการเฝ้าสังเกตสภาวะการเข้าสู่สมัยใหม่ของไทยที่น่าทึ่ง พระนครในนิยายนั้นห่างไกลและสายตาของหนังฉบับนี้คือสายตาของขวัญที่มองความเปลี่ยนแปลงของเรียม แต่จิตใจของหนังสือกลับคือจิตใจของเรียมที่ไม่ได้ต้องการเป็นเพียงเรียมลูกนายเรือง ใจมันใหญ่กว่าถิ่นกำเนิดเสียแล้ว เรียมชาวพระนครไม่สามารถเข้ากันได้กับท้องไร่ท้องนา แต่ความผูกพันแลกเลือดแต่หนหลังก็รัดหล่อนไว้ตลอดทั้งเรื่อง เรียมตัดใจไม่ขาดเสียด้วยซ้ำว่า ระหว่างนายขวัญกับคุณสมชายเรียมจะเลือกใคร ฉากไคลแมกซ์เป็นไปโดยบังเอิญและจบลงด้วยโศกนาฏกรรมโดยบังเอิญ ความคลุมเครือจนจวบชั่วนาทีสุดท้ายของหนังสือตอกย้ำให้บทพูดแผลรักแผลชังของขวัญเต็มไปด้วยเลือดและน้ำตาในทุกคำ กระทั่งความตายของเรียมในหนังสือยังเป็นไปในสถานะของความบังเอิญมากกว่าความรักอันมั่นคง

การขายความคลุมเครือให้ชัดเจนทั้งโดยหม่อมน้อยและคุณเชิดจึงเป็นการทำลายสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกของเรียมต่ออาการ modernized ของเรียมลง และเมื่อมองจากจุดนี้ เราพบว่าเรียมของไม้กับเรียมของหม่อมเป็นคนละคนกัน ‘แผลเก่า’ ของหม่อมถูกสร้างมาในคนละแบบของ ‘แผลเก่า’ ของไม้

เรียมของหม่อมไม่ได้ถูกกัดขาวจากกรุงเทพฯ แค่ชั้นเดียว แต่ถูกกัดขาวถึงสองชั้นจากหม่อมที่อยู่ในสถานะสูงกว่าคุณนายทองคำเปลวเสียอีก หากเรียมถูก modernized, westernized ในนิยายของไม้ เรียมคือภาพแทนของสังคมใหม่ที่พุ่งไปข้างหน้า แล้วไม่รู้จะเอาอย่างไรกับความล้าหลังป่าเถื่อนของอดีต หม่อมตีความได้เฉียบขาดมากด้วยการเพิ่มอาการไทยฮิสทีเรียของยุคสมัยหลังการ modernized ลงไปผ่านตัวเรียม กล่าวคือการให้เรียมไม่ใช่แค่ได้รับความสุขสบาย แต่ได้เห็นการฉ้อฉลกลกลวงของไอ้พวกเปลี่ยนการปกครอง เรียมไม่ได้แค่ modernized ตัวเอง แต่ post-modernized เรียมกลายเป็นสัตว์ประหลาดที่การ modernized ทำให้เรียมกลับไป fetish อดีตของตัวเอง

สอดรับกับทุ่งนา lomo style ของหนัง เรียมคือคนที่ไปเรียนเมืองนอกแล้วกลับมาบ้าความเป็นไทย (ทื่ไม่มีจริง) กว่าเดิม เรียมคือผลผลิตระดับถึงรากของทองคำเปลว ที่ไม่ใช่แค่เป็นพวกทองคำเปลว (a.k.a. พวกเปลี่ยนการปกครอง) การผลักขั้วตรงข้ามอย่างเจ้าและพวกเปลี่ยนการปกครองเข้าไว้ด้วยการทำให้ศัตรูชัด ซึ่งทำให้มโนคติที่แท้ก็ชัดขึ้นมาด้วย เรียมไม่ได้เป็นเพียงความสับสนของบ้านนอกในเมือง แต่เรียมคือผลผลิตจากการสร้างบ้านนอกปลอมๆ ของผู้ดีปลอมๆ เรียมลบความโหดเหี้ยมของบ้านนอก ความเถื่อนถ้ำของบ้านนอกให้เหลือเพียงอกผายไหล่ผึ่งของขวัญ คำสัญญาของขวัญ ทุ่งนาสีทองของขวัญ อีเรียมของหม่อมเลยสวมงอบ ใส่เสื้อแขนกระบอก ผมยาวสยาย ไปดำนาขูดมะพร้าวราวกับหลุดมาจากโปสการ์ดชาวนาไทยมากกว่าจะเป็นอีหญิงชาวนาหน้าดำ เรียมคือภาพสมบูรณ์พร้อมของสำนึกรักบ้านเกิด การอยู่กินอย่างพอเพียง อย่าให้พวกผู้ดีพระนครมาหาประโยชน์หลอกใช้ แต่เรียมก็ไกลออกจากบ้านนอกของตัวเอง ไม่เสวนากับพวกพ่อพวกพี่เริญ เรียมพยายามจะเอาแม่รวยที่ไม่เห็นเรียมเป็นเรียม กับแม่ทองคำเปลวที่เห็นเรียมเป็นภาพโฉมยง เรียมสร้างสัตว์ประหลาดขึ้นมาตัวหนึ่งที่รับเอาภาพเรียมของรวยกับโฉมยงของทองคำเปลวมาปะติดกันอย่างทื่อๆ ภายใต้วาทกรรมชุดหนึ่ง และนี่คืออีเรียมของเรา อีเรียมของหม่อม อีเรียมผู้ลุกขึ้นมาทำสิ่งที่ถูกต้อง หนีกลับมาหาขวัญแทนที่จะมาบ้านเพราะแม่จะตาย นี่คือเรียมที่ลุกขึ้นเถียงคุณนายทองคำเปลวที่อยากให้เรียมเคารพเหมือนแม่ แต่ไม่ใช่แม่ดิฉันสักหน่อย นี่คือเรียมที่ไม่พูดกูมึง แต่ยังดำนาจับปลาทำกับข้าวได้ เรียมที่หัวสมัยใหม่แต่ก็เคารพรักเจ้าพ่อไทร นี่คือเรียมที่จะไม่พูดว่าผัวฉันตายแล้ว (มันระคายปากเกินไป) แต่ตายตามขวัญด้วยการยึดถือคุณธรรมความรัก

เรียมคือภาพสมบูรณ์พร้อมของสำนึกรักบ้านเกิด การอยู่กินอย่างพอเพียง อย่าให้พวกผู้ดีพระนครมาหาประโยชน์หลอกใช้ แต่เรียมก็ไกลออกจากบ้านนอกของตัวเอง ไม่เสวนากับพวกพ่อพวกพี่เริญ เรียมพยายามจะเอาแม่รวยที่ไม่เห็นเรียมเป็นเรียม กับแม่ทองคำเปลวที่เห็นเรียมเป็นภาพโฉมยง เรียมสร้างสัตว์ประหลาดขึ้นมาตัวหนึ่งที่รับเอาภาพเรียมของรวยกับโฉมยงของทองคำเปลวมาปะติดกันอย่างทื่อๆ ภายใต้วาทกรรมชุดหนึ่ง

เรียมของหม่อมจึงคือภาพฝันอันสมบูรณ์ถึงจุดถะถั่งหลั่งล้น เรียมของหม่อมสอดรับอยู่ในภาพฝันของท้องทุ่งที่หม่อมประดิษฐ์ขึ้น เรียมที่สวมงอบเสื้อแขนกระบอกอย่างไม่ขัดเขินพอๆ กับที่จะสวมชุดสมสมัยเต้นรำได้ไม่เคอะเขิน กล่าวถึงที่สุด เรียมคืออะไร เรียมคือนางเอกหนังไทยที่สมบูรณ์แบบที่เราเห็นและเอาใจช่วยในละครหลังข่าว

เรียมคือพจมาน ของ ก.สุรางคนางค์ (ในเวอร์ชั่นละคร) เรียมคือมัสยา ของพนมเทียน (ในเวอร์ชั่นละคร) เรียมคือภาพพาฝันของคนชนชั้นกลางใหม่จำนวนมาก หญิงบ้านนอกที่พกเอาความซื่อบริสุทธิ์ แบบบ้านนอก ความสามารถเอาตัวรอด ความมีน้ำใจแบบบ้านนอก เอามารวมเข้ากับความสามารถและจริตแบบคนกรุง ในละครเหล่านี้ ฉากหลักมักคือตัวละครนางร้ายแกล้งนางเอกด้วยการหวังจะเห็นเธอทำเปิ่นในงานเลี้ยง แต่ปรากฏว่าเธอพูดได้สามภาษา กินอาหารตะวันตกและเต้นรำเป็น ในขณะเดียวกันก็ยังทำกับข้าวได้ พูดจาสุภาพ อ่อนน้อมถ่อมตน

เรียมได้สร้างสัตว์ประหลาดขึ้นสำเร็จและมันคือภาพพาฝันของคนชั้นกลางทั้งหมด ภาพที่แกว่งไปมาระหว่างบ้านของคุณนายทองคำเปลว (ฝ่ายอักษะ before it was cool นุ่งกิโมโนก่อนจอมพลป.สมยอมญี่ปุ่น) และท้องทุ่งสีทองโลโม่คินโฟล์ค นี่คือเรียมที่เราควรเป็น เรียมที่เราฝันจะเป็น เรียมที่ไม่มีจริง

‘แผลเก่า’ ของหม่อมจึงไม่มีความจำเป็นที่จะใช้สายตาของขวัญผู้แสนซื่อใสไร้เดียงสา รักอย่างซื่อๆ ตายอย่างโง่ๆ อีกต่อไป หรือแม้แต่สายตาพวกเปลี่ยนระบอบอย่างคุณสมชายที่ร้ายกาจและนำมาซึ่งโศกนาฏกรรม สายตาของหนังคือการต่อสู้ นับถือ ยอมรับกันระหว่างเรียมกับทองคำเปลว การยอมรับและขัดขืนและเอาชนะทองคำเปลวคือหัวใจทั้งหมดของ ‘แผลเก่า’ ฉบับนี้ ไม่ใช่ความรักของขวัญเรียมอีกต่อไป

‘แผลเก่า’ ฉบับนี้จึงไม่ใช่แผลของอกที่กลัดหนองพี่หมองดั่งคลองแสนแสบ แต่คือแผลของภาวะ เรียมเหลือทนแล้วนั่น ขวัญของเรียม!

น่าเสียดายที่ภาพยนตร์ดัดแปลงเรื่องต่อมาของหม่อมน้อยอย่าง ‘แม่เบี้ย’ (2015) ไม่ประสบความสำเร็จในแทบทุกมิติ (แม้จะไปกันได้ในแง่ของการโฟกัสตัวละครหญิงร่านอีกเช่นเคย) แต่ไม่ว่าเราจะเห็นด้วยกับสิ่งที่หม่อมน้อยเลือกจะพูดหรือไม่ ถึงที่สุด นี่คือหนังไทยกลุ่มที่น่าสนใจที่สุด กล้าหาญที่สุด ทั้งในแง่ของการกล้าตีความใหม่ ขยายขอบเขตของเรื่องออกไป หรือการพูดในสิ่งที่ตัวเองเชื่อจริงๆ อย่างไม่มิดเม้ม ไม่ว่าสิ่งที่เชื่อนั้นจะเป็นสิ่งที่ค้านกับสายตาผู้อื่นก็ตาม ดังนั้นในสายตาของผู้เขียน หนังชุดนี้คือหนังดัดแปลงจากวรรณกรรมที่ไปไกลที่สุดครั้งหนึ่งเท่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์หนังไทย

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here