บุ๊ค-ธนายุทธ ณ อยุธยา และ นนท์-นนทวัฒน์ โตมา เป็นแร็ปเปอร์ ถิ่นฐานของเขาอยู่ในสลัมคลองเตย ชุมชนแออัดที่แน่นด้วยหนึ่งหมื่นครัวเรือนในพื้นที่ไม่กี่ไร่ พวกเขากระเบียดกระเสียนนอนในบ้านหลังเล็กแคบที่ไม่รู้เลยว่าวันดีคืนดีรัฐบาลจะสั่งคนมาไล่ทุบทำลาย (ในนามของการปรับปรุง) เมื่อไหร่ เช้าวันใหม่หมายถึงการไปโรงเรียนเพื่อทำพิธีตอนเช้าและท่องค่านิยมสิบสองประการ ผลาญเวลาในหนึ่งวันหมดไปกับเนื้อหาการเรียนที่ไม่เข้าใจและไม่ได้อยากรู้ โลกทั้งใบกีดกันพวกเขาจนเหลือพื้นที่ไม่กี่แห่งที่คนทั้งสองจะวาดลวดลายได้ หนึ่งในนั้นคือการร้องเพลงแร็ปเพื่อระบายความอัดอั้น ความเจ็บแค้นที่ไม่เคยถูกรัฐเหลียวแลหรือแยแส
‘School Town King แร็ปทะลุฝ้า ราชาไม่หยุดฝัน’ คือหนังสารคดีเรื่องล่าสุดของ วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย ตามติดชีวิตของเด็กหนุ่มสองคนในสลัมคลองเตยซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นชุมชนแออัดมากที่สุดในไทย และท่ามกลางฉากหน้าที่ว่าด้วยการแร็ปและการต่อสู้ของเด็กหนุ่ม สารคดีมันยังพาคนดูไปสำรวจความเหลื่อมล้ำในสังคม ระบบการศึกษาที่ดับฝันมนุษย์ เลาะเรื่อยไปจนถึงอาชญากรรมที่เกิดขึ้นในชุมชนแห่งนั้น หนังมันจึงฉีกตัวออกจากการเป็นหนังสูตรสำเร็จประเภทที่ว่า คนขาดโอกาสกัดฟันสู้ชีวิตไล่ตามความฝันจนประสบความสำเร็จ เพราะข้อเท็จจริงคือ ทั้งบุ๊คและนนท์ยังต้องดิ้นรนต่อสู้ ต้องถูกท้าทายและต้องจมอยู่ในโลกที่แล้งไร้ใบเดิมของพวกเขา
อย่างไรก็ดี โดยตัวมันเองนั้น เพลงแร็ปถือกำเนิดขึ้นมาในฐานะของการต่อต้าน การขบถ และการไม่จำยอมต่อสังคม มันจึงเหมาะสมและท่วมท้นไปด้วยอารมณ์อย่างยิ่งเมื่อคนที่แต่งและเปล่งเสียงเพลงนี้ออกมาคือคนที่ถูกรัฐและสังคมพิจารณาว่าเป็นคนนอกมาโดยตลอดอย่างบุ๊คกับนนท์ พวกเขาห่างไกลจากนิยามเด็กดีที่รัฐมอบให้ ไม่ได้ตั้งใจเรียนและไม่ปรารถนาจะถูกคุมขังอยู่ในระบบ กล้องติดตามคนทั้งสองที่ใช้ชีวิตอยู่ในโรงเรียนรัฐบาลแห่งหนึ่ง ต้องยืนเข้าแถวพนมมือทุกเช้าเพื่อทำพิธีหน้าเสาธง ท่องค่านิยมสิบสองประการที่ถูกกำหนดมาไว้ให้แล้วว่าต้องท่อง มีคุณครูยืนถือไม้เรียวตวาดใส่หน้าเด็กที่ล้วนแล้วแต่สวมเสื้อผ้าเหมือนกัน ไว้ผมทรงเดียวกัน และในนักเรียนหญิงก็ผูกโบว์เหมือนกัน ทุกอย่างเป็นระบบเหมือนโยนเด็กเข้าโรงงานอัดกระป๋อง นำมาสู่ฉากอันชวนปวดหัวใจเมื่อบุ๊ค -ซึ่งเพิ่งเสร็จจากการแร็ปอันเดือดดาลเมื่อคืนก่อน- ต้องตื่นขึ้นมาแต่เช้าแล้วไปตัดผมตามที่โรงเรียนกำหนด
เพลงแร็ปถือกำเนิดขึ้นมาในฐานะของการต่อต้าน การขบถ และการไม่จำยอมต่อสังคม มันจึงเหมาะสมและท่วมท้นไปด้วยอารมณ์อย่างยิ่งเมื่อคนที่แต่งและเปล่งเสียงเพลงนี้ออกมาคือคนที่ถูกรัฐและสังคมพิจารณาว่าเป็นคนนอกมาโดยตลอดอย่างบุ๊คกับนนท์ พวกเขาห่างไกลจากนิยามเด็กดีที่รัฐมอบให้ ไม่ได้ตั้งใจเรียนและไม่ปรารถนาจะถูกคุมขังอยู่ในระบบ
ทั้งนี้ คีย์เวิร์ดสำคัญที่ได้ปรากฏในหนังบ่อยๆ ทั้งจากตัวซับเจ็กต์และจากผู้คนที่รายรอบเองคือ ‘ความฝัน’ อันที่จริงหากว่าเป็นหนังเรื่องอื่น ในธีมแบบอื่น เราก็คงไม่สะดุดใจอะไรกับมันมากนัก แต่เมื่อมันหล่นออกมาจากปากคนที่ขาดแคลนแทบจะทุกองค์ประกอบในชีวิต คำนี้จึงทั้งทรงพลังและชวนเศร้าไปพร้อมๆ กัน “เราต้องไล่ตามหาฝันสิ” บุ๊คพูดแบบนั้นทั้งในชีวิตจริงและในเนื้อเพลงของเขา ตัวบุ๊คเองได้อิทธิพลการแร็ปมาจากศิลปินอเมริกันอย่าง ทูพัค, Eminem และไม่แปลกเลยที่เขาจะเสพเอาแนวคิดการตามหาความฝันอันเป็นวิธีคิดแบบอเมริกันจัดๆ มาผลักดันตัวเอง
คตินิยมแบบอเมริกันดรีมส์ มันคือการไขว่คว้าหาโอกาสเพื่อจะทำตามเป้าหมายใหญ่ของชีวิตให้สำเร็จผ่านการทุ่มเทและทำงานอย่างหนัก ซึ่งทั้งหมดนี้นั้นต้องวางอยู่บนความเท่าเทียมทางโอกาส ซึ่งน่าเศร้าที่ประเทศไทยไม่เคยมีโอกาสเช่นนั้น การจะพูดว่าฉันมีความฝันในประเทศแล้งไร้แห่งนี้คือคุณอาจต้องมีต้นทุนหรือแต้มต่อในชีวิตมากกว่าคนอื่นอยู่สักหน่อย ใครก็ตามที่ไม่ต้องตื่นเช้ามาพบว่าบ้านกำลังถูกรื้อ เงินไม่มีพอจ่ายค่าน้ำค่าไฟ การออกไล่ตามความฝันอาจจะง่ายสักหน่อย คุณอยากจะเป็นอะไรคุณก็เป็นได้ทั้งนั้นเพราะการไล่ตามความฝันเป็นเรื่องของคนที่มีพรีวิลเลจ
หนังเล่นประเด็นกับคำว่าความฝันเยอะมาก ความฝันกลายเป็นสิ่งมีค่าเรืองรองเมื่อออกจากจากบุ๊ค แต่มันจะกลายเป็นความ “เพ้อเจ้อ ไร้สาระ” เมื่อมองจากสายตาของคนเป็นพ่อ หนังอุทิศเวลาหลายสิบนาทีในการเฝ้าจับจ้องและสัมภาษณ์พ่อของบุ๊คซึ่งมีท่าทีต่อต้านการทำเพลงแร็ปของลูกชายมาโดยตลอด ผ่านการพร่ำบอกว่าเขาเข้าใจความคิดของวัยรุ่นเพราะเขาก็เคยเป็นวัยรุ่นมาก่อน แต่เขาล้มเหลวและเจ็บจากการออกนอกแถว -เช่นเดียวกับพ่อเขาในยุคก่อนหน้านั้น- รัฐโบยตีเขาจนเข้ามาอยู่ในระบบระเบียบอีกครั้งซึ่งมันไม่ได้ทำให้เขาภูมิใจเลย แรงกดดันทั้งหมดจึงถาโถมไปอยู่ที่ลูกชายซึ่งเขามองว่า “ก็เหมือนผมสมัยอายุเท่านั้น” และเขาวาดหวังว่าบุ๊คจะเรียนหนังสือให้จบเพื่อเรียนต่อในระดับปริญญาตรี จบออกมามีงานมั่นคง (ที่แน่นอนว่าเขาไม่นับการร้องเพลงแร็ปเป็นอาชีพที่มั่นคงแต่อย่างใด)
เด็กทุกคนในเรื่องจึงพูดถึงความฝันของตัวเองด้วยท่าทีเจียมเนื้อเจียมตัว ด้วยท่าทีปราศจากความทะเยอทะยาน และหากมองจากสายตาคนที่มีต้นทุนชีวิตดีกว่าเขา การเรียนจบปริญญาตรีอาจดูเป็นเรื่องเล็กน้อยและอาจไม่ถูกนับเป็น ‘ความฝัน’ ของคนที่มีพรีวิลเลจใดๆ ในชีวิตเลยก็ได้ แต่มันชวนตั้งคำถามว่าแล้วประเทศแบบไหนกันที่ฆ่าฝันเด็กเสียจนเด็กไม่อาจคิดการณ์ใหญ่ไปกว่าการเรียนให้จบได้ ประเทศแบบไหนกันที่เป้าหมายชีวิตรูปแบบหนึ่ง กลายมาเป็นหมุดหมายความสำเร็จก้อนใหญ่ของคนบางคน และเป็นแค่เส้นทางที่รอให้เดินผ่านของคนอีกคนเท่านั้น เพดานการฝันของเด็กไทยจึงต่ำมากๆ เรียนให้จบปริญญาตรีได้ก็ดีแล้ว ไม่ต้องเรียนปริญญาโทก็ได้ และไม่ได้หวังว่าจะได้ทำงานที่อยากหรือฝันใฝ่ใดๆ เลย
มันชวนตั้งคำถามว่าแล้วประเทศแบบไหนกันที่ฆ่าฝันเด็กเสียจนเด็กไม่อาจคิดการณ์ใหญ่ไปกว่าการเรียนให้จบได้ ประเทศแบบไหนกันที่เป้าหมายชีวิตรูปแบบหนึ่ง กลายมาเป็นหมุดหมายความสำเร็จก้อนใหญ่ของคนบางคน และเป็นแค่เส้นทางที่รอให้เดินผ่านของคนอีกคนเท่านั้น เพดานการฝันของเด็กไทยจึงต่ำมากๆ เรียนให้จบปริญญาตรีได้ก็ดีแล้ว ไม่ต้องเรียนปริญญาโทก็ได้ และไม่ได้หวังว่าจะได้ทำงานที่อยากหรือฝันใฝ่ใดๆ เลย
อย่างไรก็ตาม อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจมากๆ คือการที่บุ๊คเดินเรื่องไปขอลาออกที่โรงเรียน แต่โรงเรียนกลับไม่อนุมัติให้เขาลาออกในทันที ด้านหนึ่งมันจึงว่าด้วยตัวระบบที่คิดแทนปัจเจกว่า การลาออกของเด็กนั้นหมายถึงการลาออกเพื่อไปศึกษาต่อที่อื่น ไม่ใช่เพราะลาออกเพื่อ ‘ลาออก’ จริงๆ อย่างที่บุ๊คปรารถนา ความฝันในการจะสลัดโซ่ตรวนทางการศึกษาออกเป็นด่านแรกของเขาจึงจอดสนิทตั้งแต่เมื่อโรงเรียนยังไม่ออกเอกสารให้เพราะต้องเฝ้าดูว่าเขายังเหลือวิชาไหนบ้างที่ติดค้างอยู่
ดูแล้วเจ็บใจเหลือเกิน -ทั้งในฐานะผู้ใหญ่ที่ผ่านการโบยตีจากโรงเรียน จากรัฐ หรือกระทั่งจากครอบครัวจนยอมจำนนแล้วในที่สุด- หรือแม้แต่ในฐานะคนดูที่เอาใจช่วยทุกคนให้หลุดพ้นจากการล่ามตรวนนี้ ประเทศที่หาคนมาพร่ำบอกค่านิยม (ที่ก็ไปรับมาจากตะวันตกอีกที) ใส่หัวเราเสมอว่าให้ทำตามความฝันเพราะจะทำให้ชีวิตมีคุณค่า แต่ก็ทุบตี สั่งสอนในนามของความหวังดี ความเป็นผู้ใหญ่จนฝันนั้นตายซากไปเอง ฟุตเตจในหนังรายล้อมไปด้วยคนของรัฐทั้งตัวบุคคลหรือแม้แต่มาในนามของคำสั่งสอน รูปภาพ หรือป้ายขนาดยักษ์ราวกับจะย้ำเตือนว่าคนเหล่านี้จับจ้องคุณอยู่เสมอ และเรายิ่งโกรธเมื่อพบว่า ในอีกไม่กี่เดือนต่อมาภายหลังการถ่ายทำ ตัวบุ๊คถูกควบคุมตัวและถูกพิจารณาว่าเป็น ‘อีกฝั่ง’ ของรัฐเมื่อเขาขึ้นร้องเพลงแร็ปในงานเยาวชนปลดแอก นำมาสู่คดีความที่ยืดเยื้อและยาวนาน
อย่างไรก็ดี สำหรับงานของวรรจธนภูมิ เราชอบการที่ตัวตนของเขามักจะหายไปหลังกล้องอยู่บ่อยๆ ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม ในหนังก่อนหน้านี้ของเขาอย่าง ‘นิรันดร์ราตรี Phantom of Illumination’ (2017) ก็มีฉากอันชวนประดักประเดิดโผล่ขึ้นมาคล้ายว่าซับเจ็กต์ลืมไปแล้วโดยสิ้นเชิงว่ามีกล้องจับอยู่ และใน School Town King เองก็เช่นกัน แม้ไม่ได้ชัดเจนหรือรุนแรงเท่าในหนังเรื่องก่อน แต่ก็นับเป็นโมเมนต์ที่น่าสนใจซึ่งปรากฏขึ้นในหนัง