การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกปี 1996 จัดขึ้นที่เมืองแอตแลนต้า รัฐจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา มีการจัดคอนเสิร์ตเฉลิมฉลอง ณ สวนเซนเทเนียล ปาร์ค ในคืนวันที่ 27 กรกฎาคม ขณะที่ผู้คนมหาศาลกำลังสนุกสนานกับคอนเสิร์ตอยู่นั้น ริชาร์ด จวูลล์ (Richard Jewell) การ์ดรักษาความปลอดภัย พบกระเป๋าเป้ปริศนาใบหนึ่งถูกวางทิ้งไว้ใกล้ๆ ลานคอนเสิร์ต ด้วยสัญชาตญาณจากทักษะที่ได้เรียนรู้มา เขาสงสัยว่ามันอาจจะเป็นระเบิด จึงรีบแจ้งให้หน่วยเก็บกู้ระเบิดเข้ามาตรวจสอบทันที
ระหว่างที่ริชาร์ดกำลังวิ่งวุ่นกับการแจ้งหน่วยเก็บกู้ระเบิดอยู่นั้น ในช่วงเวลาเดียวกันก็มีสายโทรศัพท์ปริศนาโทรเข้าไปแจ้งตำรวจว่ามีระเบิดที่งานคอนเสิร์ต เมื่อหน่วยเก็บกู้ระเบิดมาตรวจสอบก็เป็นไปตามคาด กระเป๋าใบนั้นบรรจุระเบิดไว้จริงๆ ริชาร์ดและการ์ดรักษาความปลอดภัยอีกหลายคนจึงรีบช่วยกันผู้คนให้ห่างจากรัศมีของระเบิด ทว่าต่อมาอีกไม่นานก็เกิดระเบิดขึ้น ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บนับร้อยคน
ริชาร์ดรอดตายมาได้ และถูกสื่อมวลชนยกย่องให้เป็น “ฮีโร่” จากการเป็นผู้แจ้งเบาะแสระเบิด เขากลายเป็นคนดังในชั่วข้ามคืน มีผู้คนแห่แหนห้อมล้อมมากมาย เนื้อหอมถึงขั้นมีสำนักพิมพ์ติดต่อเข้ามาเพื่อจะตีพิมพ์เรื่องราวชีวิตของเขา
แต่แล้วภาพฝันอันหอมหวานก็พังทลายลงในชั่วข้ามคืนเช่นกัน เมื่ออีกไม่กี่วันต่อมา FBI ได้รับแจ้งเกี่ยวกับประวัติอันน่าสงสัยของริชาร์ดจากที่ทำงานเก่าว่า เขามักมีพฤติกรรมแปลกๆ ล้นเกินหลายอย่างแบบคนที่มีปมใฝ่ฝันอยากเป็นตำรวจแต่ไม่ได้เป็น เป็นต้นว่าเคยทำงานเป็น รปภ. แต่มักทำรุนแรงเกินหน้าที่ ผดุงความถูกต้องอย่างเถรตรงไม่ลดราวาศอกประหนึ่งว่าตัวเองเป็นตำรวจ และถึงขั้นเคยถูกจับเพราะแต่งตัวเลียนแบบตำรวจด้วย
หลังจากนั้นเหตุการณ์ก็พลิกกลับตาลปัตร ริชาร์ดกลายเป็นผู้ต้องสงสัยว่าอาจจะเป็นมือวางระเบิดเสียเอง ด้วยแรงจูงใจว่าอยากเห็นตัวเองเป็นฮีโร่ เมื่อข้อมูลนี้หลุดลอดไปถึงหูสื่อมวลชนที่กำลังหิวข่าวพอดี ริชาร์ดก็ตกเป็นจำเลยของสังคมในทันที ด้วยพลังของการขุดคุ้ยและโจมตีในระดับที่ทำให้ชีวิตของผู้ชายคนหนึ่งแทบจะพังพินาศลง
Richard Jewell (2019) สร้างจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในปี 1996 จากฝีมือการกำกับของ คลินต์ อีสท์วู้ด (Clint Eastwood) ยอดนักแสดงและผู้กำกับลายครามวัย 90 ผู้เคยฝากผลงานระดับขึ้นหิ้งไว้หลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น The Bridges of Madison County (1995) Mystic River (2003) Gran Torino (2008) ฯลฯ
ก่อนจะไปถึงเหตุการณ์ระเบิดในปี 1996 อันเป็นจุดศูนย์กลางของเรื่อง หนังพาเราย้อนกลับไปสำรวจเส้นทางชีวิตของริชาร์ดตั้งแต่ปี 1986 เมื่อครั้งที่เขายังทำงานเป็นเสมียนในสำนักงานทนายความแห่งหนึ่ง และได้รู้จักกับ วัตสัน ไบรอัน (Watson Bryant) ทนายความฝีมือดี ซึ่งสนิทสนมและถูกชะตากับริชาร์ดมานับแต่นั้น ผู้ซึ่งในอีกสิบปีต่อมาจะได้เป็นทนายความต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่ไปกับริชาร์ด
ริชาร์ดเป็นชายหนุ่มอ้วนฉุ ซื่อๆ เซ่อๆ อ่อนต่อโลกจนเกือบจะไม่ทันคน มีความเป็นโอตาคุและหลงใหลใฝ่ฝันในอาชีพตำรวจอย่างแรงกล้า พยายามฝึกฝนทักษะทุกอย่างด้วยตัวเองตั้งแต่การยิงปืน ทักษะการรับมือกับเหตุด่วนเหตุร้าย (นั่นทำให้เขาเห็นถึงความผิดสังเกตของกระเป๋าปริศนาที่บรรจุระเบิด) ท่องจำข้อกฎหมายและหลักปฏิบัติต่างๆ ของตำรวจได้ขึ้นใจ ถึงขั้นสะสมปืนและอาวุธยุทธภัณฑ์ต่างๆ ไว้เต็มบ้าน พยายามทำงานทุกอย่างที่ใกล้เคียงกับความเป็นตำรวจ ไม่ว่าจะเป็นเสมียนในสำนักงานทนายความ เจ้าหน้าที่ รปภ. ในวิทยาลัย (ซึ่งถูกไล่ออกเพราะทำเกินกว่าเหตุ) จนกระทั่งจะมารับงานชั่วคราวเป็นการ์ดรักษาความปลอดภัยในงานคอนเสิร์ตดังกล่าว
หนังฉายภาพไปที่ตัวตนของริชาร์ดและความสัมพันธ์ระหว่างเขากับแม่ ความชื่นชมและความภาคภูมิใจในตัวลูกชายเพียงคนเดียวจนเกือบจะล้นเกินของผู้เป็นแม่ การเลี้ยงลูกแบบไข่ในหินที่ทำให้ริชาร์ดกลายเป็นชายหนุ่มที่โตแต่ตัว แต่ไม่เข้าใจความซับซ้อนของโลก ความคิดและทัศนคติที่หล่อหลอมให้เขาเป็นคนเถรตรง ยึดมั่นในความถูกต้อง พร้อมจะช่วยเหลือและปกป้องผู้คน ก็ทำให้ริชาร์ดกึ่งๆ จะหลุดเข้าไปอยู่ในโลกแห่งจินตนาการที่เห็นตัวเองเป็นฮีโร่ มองเห็นตัวเองเป็น “คนดี” ที่กำลังไล่บี้ “คนเลว” เพื่อปกป้องโลก หรือถ้าจะเรียกด้วยคำศัพท์ยอดฮิต ก็อาจพูดได้ว่าริชาร์ดมีพฤติกรรมแบบพวก “จูนิเบียว” หรือ “เบียว” นั่นเอง
พฤติกรรมดังกล่าวของริชาร์ดกลายเป็นวัตถุดิบชั้นดีสำหรับหน่วยงาน FBI ที่กำลังถูกกดดันอย่างหนักในการควานหาตัวมือวางระเบิด นั่นเพราะมันสามารถเข้ากันได้พอดิบพอดีกับ “ทฤษฎีสมคบคิด” ว่าด้วยมือระเบิดที่จงใจสร้างสถานการณ์เพื่อให้ตัวเองเป็นฮีโร่ (ประกอบกับเคยมีคดีลักษณะนี้ที่เกิดขึ้นจริงแล้วในอดีต) FBI จึงเริ่มจับตาสืบสวนและหาทางวางกับดักต่างๆ เพื่อล่อให้ริชาร์ดเผยพิรุธออกมา
ในท่ามกลางโยงใยของทฤษฎีสมคบคิดที่สร้างขึ้น หนังทิ้งข้อสังเกตสำคัญไว้ให้เราอย่างน้อย 3 ประการคือ ประการแรก เราจะได้รับรู้ตั้งแต่ต้นว่าริชาร์ดไม่ได้ “หิวแสง” อย่างที่ FBI และสื่อมวลชนพยายามจะปั้นเรื่อง เพราะในช่วงหลังเกิดระเบิดใหม่ๆ ที่มีนักข่าวรุมล้อมริชาร์ดและพยายามตั้งคำถามในเชิงชี้นำให้เขาเอาดีเข้าตัวแต่เพียงคนเดียว แต่ริชาร์ดบ่ายเบี่ยงไปตั้งแต่ครั้งแรกแล้วว่าเขาไม่ได้เป็นคนเดียวที่เป็นฮีโร่ของเหตุการณ์นี้ และยกความดีความชอบให้กับเจ้าหน้าที่อีกหลายคนที่เข้ามาช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ
ประการที่สอง ผู้ชมอย่างเราที่ได้เห็นพื้นเพภูมิหลังชีวิตของเขามาแล้ว ย่อมมองเห็นว่าชายหนุ่มอ้วนๆ ซื่อๆ คนนี้แทบจะไม่รู้จักโลกของเล่ห์เหลี่ยมกลโกงอะไรเลย เขามองโลกอย่างเถรตรงเหมือนไม้บรรทัด แทบจะไม่รู้วิธีโกหกเพื่อเอาตัวรอดด้วยซ้ำ เขาอาจมีพฤติกรรม “เบียวๆ” แบบมองเห็นตัวเองเป็นฮีโร่ในโลกจินตนาการก็จริง แต่ไม่ได้มีความคิดซับซ้อนและเหลี่ยมจัดพอจะสร้างสถานการณ์เพื่อเรียกร้องความสนใจให้ตัวเองได้ เขาเพียงทำตามความเชื่อของตัวเองที่ว่า “แค่อยู่ถูกที่ ถูกเวลา และทำสิ่งที่ถูกต้อง” เท่านั้น
เขามองโลกอย่างเถรตรงเหมือนไม้บรรทัด แทบจะไม่รู้วิธีโกหกเพื่อเอาตัวรอดด้วยซ้ำ เขาอาจมีพฤติกรรม “เบียวๆ” แบบมองเห็นตัวเองเป็นฮีโร่ในโลกจินตนาการก็จริง แต่ไม่ได้มีความคิดซับซ้อนและเหลี่ยมจัดพอจะสร้างสถานการณ์เพื่อเรียกร้องความสนใจให้ตัวเองได้
ประการที่สาม คือข้อเท็จจริงที่ว่า FBI ไม่มี “หลักฐาน” อะไรที่จะเอาผิดริชาร์ดได้ นอกเสียจากทฤษฎีสมคบคิดดังกล่าวและข้อสันนิษฐานลอยๆ เท่านั้น การสืบสวนจึงไม่ใช่การสืบสวน แต่คือการหาทางไล่ต้อนให้ริชาร์ดเข้ามาติดกับดักที่วางเอาไว้ ทั้งการใช้เล่ห์เพทุบายในการสอบปากคำ การหลอกให้เซ็นเอกสาร การตรวจค้นบ้านและยึดอาวุธปืนที่เป็นของสะสมของริชาร์ดไป แม้กระทั่งการปั้นน้ำเป็นตัวว่าเขาเป็นเกย์และมีคู่เกย์เป็นพวกหัวรุนแรงช่วยกันวางระเบิด
ด้วยความศรัทธาในอาชีพตำรวจอย่างแรงกล้า และความไร้เดียงสาไม่ทันคน กลายเป็นจุดอ่อนที่ FBI เล็งเห็นตั้งแต่ต้นและใช้มันทิ่มแทงริชาร์ดอย่างไร้ปรานี ริชาร์ดอาจถูกจับเข้าตะแลงแกงไปแล้วหากไม่ได้รับความช่วยเหลือจากทนายความวัตสัน ไบรอัน เขาสอนให้ริชาร์ดรู้จักรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ เมื่อถูกตรวจค้นบ้านและถูกสอบปากคำ สอนให้รู้จักระวังคำพูดที่จะส่งผลเสียต่อรูปคดี หนังมีฉากชวนลุ้นระทึกอยู่หลายฉากเมื่อริชาร์ดไม่อาจสงบปากสงบคำตามที่วัตสันบอก จนเกือบจะเผลอพูดในสิ่งที่ FBI วางกับดักเอาไว้ เป็นฉากที่ทั้งชวนให้รู้สึกขบขัน หงุดหงิด และสะเทือนใจกับความไร้เดียงสาของริชาร์ดไปพร้อมกัน
อีกฉากหนึ่งที่สะท้อนประเด็นสำคัญของเรื่องได้ดีคือ ฉากที่ริชาร์ดถูก FBI สอบปากคำว่าเขาเคยอ่านตำราของพวกอนาธิปไตยหรือเคยคบหากับเพื่อนที่เป็นพวก “นอกกฎหมาย” หรือ “ต่อต้านรัฐ” หรือไม่ เพราะในมุมมองของรัฐมักจะมีสมมติฐานว่าคนที่ก่อการร้ายเช่นนี้ (ใช่! ถึงตรงนี้ริชาร์ดถูกกล่าวหาถึงขั้นเป็นผู้ก่อการร้ายแล้ว!) มักจะมีแรงจูงใจจากการเป็นพวกต่อต้านรัฐ ความตลกร้ายของฉากนี้จึงอยู่ตรงที่ว่านอกจากริชาร์ดจะไม่ใกล้เคียงกับการเป็นพวกต่อต้านรัฐแล้ว กลับเป็นเขาเองที่รู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของกลไกรัฐเสมอมา ดังที่เขามักจะพูดกับเจ้าหน้าที่ว่า “ผมเองก็เป็นผู้รักษากฎหมาย”
ริชาร์ดคือตัวแทนของคนที่ศรัทธาในระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมอย่างแรงกล้า แต่กลับตกเป็นเหยื่อความฉ้อฉลของมันเสียเอง เขาพยายามจะพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเองด้วยการให้ความร่วมมือกับ FBI ทุกอย่าง อดทนยอมรับชะตากรรม แก้ต่างให้ความอยุติธรรมทุกอย่างที่คนเหล่านั้นกระทำต่อตนเอง ส่วนหนึ่งเพราะเขามองว่าตัวเองก็เป็น “พวกเดียวกัน” กับคนเหล่านั้น (แม้เขาจะรู้สึกอยู่ลึกๆ ว่าคนเหล่านั้นมองเห็นเขาเป็นแค่ตัวตลกก็ตาม) จนกระทั่งมีฉากหนึ่งที่ผู้เป็นแม่ต้องระเบิดอารมณ์เพื่อเตือนสติว่า เมื่อไหร่ลูกจะเลิกแก้ต่างให้พวกเขาเสียที
ริชาร์ดคือตัวแทนของคนที่ศรัทธาในระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมอย่างแรงกล้า แต่กลับตกเป็นเหยื่อความฉ้อฉลของมันเสียเอง
เรื่องราวที่เกิดขึ้นกลายเป็นบทเรียนราคาแพงสำหรับริชาร์ด ที่ทำให้เขา “ตาสว่าง” มองเห็นด้านมืดและแง่มุมฉ้อฉลของระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมมากขึ้น นอกจากเขาจะไม่ได้เป็น “ส่วนหนึ่ง” ของมันแล้ว เขายังเป็น “สิ่งแปลกปลอม” สำหรับมันอีกด้วย บทเรียนดังกล่าวตกผลึกในการให้ปากคำครั้งสำคัญในตอนท้ายเรื่องว่า หากคนแบบเขาถูกดำเนินคดี ต่อไปก็จะไม่มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยคนไหนกล้าทำสิ่งที่ถูกต้องเช่นนั้นอีก เพราะกลัวว่าจะต้องลงเอยแบบริชาร์ด จวูลล์