มันอาจจะเป็นหนังที่สร้างความรู้สึกสั่นสะเทือนและสัมผัสได้ถึงความสูญเสียอย่างเป็นรูปธรรมมากที่สุดเรื่องหนึ่ง เพราะมันว่าด้วยการเกิดและการตายที่ทิ้งห่างกันในเวลาไม่ถึงนาที ผ่านเรื่องราวของ มาร์ธา (วาเนสซา เคอร์บี้) หญิงสาวที่กำลังคลอดลูกคนแรกของชีวิตในบ้านตัวเองโดยมี ฌอน (ไชอา ลาบัฟ) สามีที่ทำงานเป็นพนักงานขุดเจาะสะพานและ อีวา (มอลลี พาร์เกอร์) นางพยาบาลผดุงครรภ์เฝ้าดูแลอย่างใกล้ชิด
หนังเริ่มต้นอย่างเดือดดาลและหนักมือด้วยการถ่ายฉากลองเทคช่วงเวลาแสนทรหดของมาร์ธาขณะคลอดลูกที่บ้านยาวยี่สิบห้านาทีเต็ม นับตั้งแต่การจับไปยังสีหน้าของเธอเมื่อน้ำคร่ำแตก สัญญาณเตือนต่างๆ ของร่างกายมนุษย์ก่อนให้กำเนิดที่เราแทบไม่เคยเห็นหนังเรื่องไหนถ่ายทำและจับจ้องมันอย่างใกล้ชิดเช่นนี้มาก่อน ทั้งการขับลม การคลื่นไส้ หรือการกระตุก บีบรัดของกล้ามเนื้อบางมัดผ่านการแสดงอันเกือบจะเรียกได้ว่าบ้าพลังของเคอร์บี้ ช่วงเวลาอารมณ์แปรปรวนขึ้นลงตามระดับความเจ็บ เธอสบถ กราดเกรี้ยวตัดสลับกันการหันไปออดอ้อนคนรัก แล้วรวบรวมกำลังทั้งหมดที่มีเบ่งเด็กออกจากท้องซึ่งกล้องฉวยไปรับฉาก ‘หัวเด็ก’ แวบหนึ่ง แล้วจึงไล่ขึ้นมายังเส้นเลือดปูนโปนบนลำคอของมาร์ธาขณะเธอกรีดร้อง เล็บมือจิกเกร็งแน่น กล้ามเนื้อทุกมัดแข็งกระตุก ก่อนที่เด็กจะคลอดออกมาอย่างปลอดภัยและชวนใจหายใจคว่ำ
อีวา นางพยาบาลผดุงครรภ์ส่งเด็กให้เธอไปอุ้ม มาร์ธาจูบหลังมือเด็กหญิง กอดเธอได้เพียงอึดใจเดียว ก็พบว่าลูกสาวในอ้อมกอดจากไปแล้ว
ผู้กำกับ กอร์เนล มุนดรักโซ -ที่เคยสั่นสะเทือนคนดูมาแล้วด้วยเรื่องราวระหว่างพ่อ ลูกและหมาใน White God (2014)– ถ่ายทำฉากคลอดลูกนี้อย่างบ้าพลังสุดขีด เพราะมันไม่เพียงแต่ลากยาวติดต่อกันนานครึ่งชั่วโมง แต่มันยังประกอบสร้างมาจากประสบการณ์ส่วนตัวของเขากับภรรยา กาตา เวเบอร์ (เขียนบทเรื่องนี้) ที่เคยสูญเสียลูกมาก่อน จึงไม่แปลกอันใดที่เราจะรู้สึกถึงพลังและความเจ็บปวดท่วมท้นจากฉากนี้ “เอาเข้าจริงๆ ผมไม่ได้อยากถ่ายทำฉากนี้เป็นฉากแรกของการทำหนังเลยนะ” มุนดรักโซบอก “แต่ถึงอย่างนั้น ก็รู้แน่แท้ทีเดียวว่าไม่อาจทำหนังต่อไปได้โดยไม่ได้ถ่ายฉากนี้ก่อน และจะไม่มีทางทำงานต่อได้เลยหากไม่ได้ผ่านความยากลำบาก ความดิบ หลากอารมณ์ความรู้สึกที่ต้องเผชิญระหว่างถ่ายทำฉากนี้” (เบนยามิน เลิบ ผู้กำกับภาพบอกว่ามุนดรักโซอยากให้ถ่ายทำแบบที่ดูเป็นทางการหรือใช้ภาษาภาพยนตร์น้อยที่สุด เพราะมันเป็นเสมือนการถ่ายทอดความหวาดกลัวอันล้ำลึกที่สุดของมุนดรักโซเอง ด้วยการนี้เลิบเลยต้องหาทางถ่ายทำแบบอื่น “เราหาทางถ่ายแบบไม่ให้ฝีเท้าของเราไปปรากฏในภาพ สิ่งที่ออกมาจะได้ดูไม่เหมือนว่ามีคนอยู่หลังกล้องอีกทีหนึ่ง” เขาบอก และลงเอยด้วยการถ่ายทำด้วยจังหวะ มุมกล้องเทียบเท่าหรือใกล้เคียงกับหนังสารคดี)
และผลลัพธ์ของการถ่ายทำอันแสนทรหด -ซึ่งอาจแลกด้วยการ ‘เปิดแผล’ ของมุนดรักโซกับเวเบอร์เอง- เราจึงได้เห็นฉากลองเทคที่ว่าด้วยกระบวนการคลอดอันเจ็บปวดและยาวนาน กับการได้โอบอุ้มชีวิตใหม่ด้วยเวลาเพียงอึดใจเดียว ก่อนที่โลกจะพรากจากชีวิตนั้นไปตลอดกาล และนี่คือความใจเด็ดของหนังในอันจะเล่าถึงความพังทลายของมนุษย์คนหนึ่งที่เพิ่งให้กำเนิดลูก กล่าวคือมันได้มอบชีวิตให้เด็ก ให้โอกาสแม่ได้กอดลูกตัวเองแล้วพรากสิ่งเหล่านั้นไปหน้าตาเฉย มันจึงเป็นห้วงนาทีอันแสนบ้าคลั่งเจียนตายของตัวละครที่ต้องต่อสู้กับความรู้สึกที่ถาโถมในชั่วเวลาไม่กี่นาที นับจากความเจ็บปวดไปสู่ความปีติสุข สู่ความสับสน สิ้นหวัง และท้ายที่สุด -แหลกสลาย
นี่คือความใจเด็ดของหนังในอันจะเล่าถึงความพังทลายของมนุษย์คนหนึ่งที่เพิ่งให้กำเนิดลูก กล่าวคือมันได้มอบชีวิตให้เด็ก ให้โอกาสแม่ได้กอดลูกตัวเองแล้วพรากสิ่งเหล่านั้นไปหน้าตาเฉย มันจึงเป็นห้วงนาทีอันแสนบ้าคลั่งเจียนตายของตัวละครที่ต้องต่อสู้กับความรู้สึกที่ถาโถมในชั่วเวลาไม่กี่นาที
หนังตัดสลับไปยังเดือนถัดมาที่มาร์ธาต้องกลับไปใช้ชีวิตตามปกติ ท่ามกลางสายตาจับจ้องจากเพื่อนร่วมงานที่รับรู้โศกนาฏกรรมที่เธอต้องเผชิญแต่ก็ไม่กล้าหาญมากพอจะเข้ามาถามไถ่ หรือในทางกลับกันคือความเป็นห่วงเป็นใยที่เกือบจะกลายเป็นความล้ำเส้นของบางคนที่กระชากเธอกลับไปสู่การพูดเรื่องเศร้าเดิมๆ อีกครั้งและอีกครั้ง แต่ที่หนักหนาที่สุดคือการต้องแบกรับ ‘ความสูญเสีย’ ของคนอื่นในครอบครัวตัวเองทั้งสามี, แม่ตัวเอง (เอลเลน บรัสตีน) และสมาชิกในครอบครัวคนอื่นๆ ที่สนับสนุนกึ่งบังคับให้เธอดำเนินคดีกับนางผดุงครรภ์ข้อหาทำคลอดโดยประมาทและเป็นเหตุให้ทารกถึงแก่ชีวิต
ภาวะเช่นนี้เองที่น่าจับตาอย่างมาก กล่าวคือในสายตาของคนอื่นในครอบครัว มาร์ธากลายเป็นผู้พ่ายแพ้ ไม่สู้เพื่อความยุติธรรมให้ลูกสาวที่จากไป ทั้งยังดูจะเฉยชาเสียจนทำเรื่องขอบริจาคร่างกายเด็กให้โรงพยาบาล นำมาสู่การปะทะอันร้าวรานระหว่างเธอกับฌอนที่ดึงดันจะฝังศพเด็กร่วมกันกับคนอื่นๆ ในครอบครัว เธอจึงดูเย็นชาจนเกือบๆ จะเยือกเย็นในการรับมือกับความตายของลูก (ทั้งที่ตัวเธอคือคนที่น้ำนมคัด คือคนที่ร่างกายยังมีฟังก์ชั่นของความเป็นแม่โดยไม่มีลูกแล้ว คือคนที่เฝ้ามองเด็กคนอื่นๆ ด้วยสายตาเจ็บปวดเสมอ) จนไม่อาจทำความเข้าใจได้ นำมาสู่ความร้านรานที่ประสานไม่ได้อีกต่อไประหว่างตัวมาร์ธาและฌอนเอง
มุนดรักโซย้ำเตือนถึงสถานะความสัมพันธ์ของคนทั้งสองเสมอ มาร์ธาทำงานในบริษัทใหญ่โตและหรูหราขณะที่ฌอนใช้เวลาเกือบทั้งวันหมดไปกับการเป็นคนสร้างสะพาน ทั้งแม่ของมาร์ธาเองก็ไม่ชอบหน้าของชายหนุ่ม (จริงๆ อาจจะถึงขั้นเกลียด) จนฉีกหน้าด้วยการซื้อรถครอบครัวให้ หรือคำพูดถากถางสถานะต้อยต่ำของฌอนเองซึ่งฟังดูรุนแรงอย่างยิ่งเมื่อผ่านปากของหญิงชรามีอันจะกินที่เป็นแม่ยาย พร้อมกันนั้น รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ บางอย่างยังปรากฏอยู่ในบทสนทนาของพวกเขาที่เราพบว่า ความสัมพันธ์ระหว่างมาร์ธากับแม่ของเธอนั้นย่ำแย่อย่างมาก (“ฉันไม่ไปโรงพยาบาลหรอก ฉันจะคลอดที่นี่” และ “ถ้าแกทำตามวิธีของแม่แต่แรก แกคงได้อุ้มลูกอยู่ในอ้อมแขนแล้ว”)
ตลอดทั้งเรื่อง สิ่งหนึ่งที่ปรากฏให้เห็นเป็นระยะคือสะพานที่ฌอนกำลังสร้าง และแอปเปิ้ลที่มาร์ธาซื้อหาหรือกินอยู่เป็นประจำ และมันได้กลายเป็นภาพแทนของคนทั้งสองอยู่กลายๆ ท่ามกลางความสิ้นหวังและเจ็บปวด ฌอนเอ่ยปากเล่าถึงสะพานทาโคม่าที่พังครืนลงมาในปี 1940 โดยปราศจากสาเหตุแน่ชัดภายหลังจากเปิดใช้งานเพียงไม่กี่เดือน นักวิทยาศาสตร์พบภายหลังว่ามันเกิดจากการสั่นพ้อง (resonance) เมื่อทุกวัตถุล้วนมีแรงสั่นของตัวเองและมันสั่นโดยพร้อมเพรียงและเข้าจังหวะจนถล่มลงมา เช่นเดียวกันกับชีวิตคู่ของเขาที่ทั้งตัวฌอนและมาร์ธาเองต่างมีแรงสั่นพ้องของตัวเองมานานก่อนหน้านี้ -ทั้งอาจจะฐานะหรือทัศนคติบางอย่างของทั้งคู่- และปมเรื่องการจากไปของลูกกลายเป็นตัวแปรสำคัญที่สั่นคลอนชีวิตพวกเขาจนหวนกลับไปเป็นแบบเดิมไม่ได้
ระหว่างนั้น มาร์ธาพยายามกอบกู้ความสูญเสียของตัวเองด้วยการปลูกเมล็ดแอปเปิ้ล ผลไม้ที่เธอชอบกินเช้าเย็น เราไม่อาจกล่าวได้ว่าเธอใช้การปลูกต้นไม้เพื่อเยียวยาชีวิต เพราะอย่างอื่นนอกเหนือไปจากเมล็ดแอปเปิ้ลที่แช่อยู่ใต้สำลีชุบน้ำรอให้รากหยั่งลงมานั้น ไม่มีสิ่งใดในบ้านอีกแล้วที่ยังดำรงชีวิตอยู่ได้ กล้องจับไปยังไม้ประดับเหี่ยวเฉาตายซาก แห้งแล้งเย็นชาเช่นเดียวกับบ้านทั้งหลัง และยิ่งรุนแรงมากขึ้นไปอีกภายหลังเธอกับฌอนแตกหักกัน
ตลอดเวลาทั้งหมดมานี้ ภาวะอารมณ์ของมาร์ธาง่อนแง่นมากขึ้นทุกทีและเราไม่อาจทราบได้เลยว่าอะไรที่ยังประคองเธอไว้ได้อยู่ หรือทุกสิ่งจะหักพังลงเมื่อไหร่ นำมาสู่ฉากที่แตกหักอันเงียบเชียบเมื่อแม่ชวนคนในครอบครัวมากินเลี้ยงที่บ้านเพื่อกล่อมให้มาร์ธาดำเนินคดีเสียที และเราได้เห็นความเจ็บช้ำของมาร์ธาที่ต้องแบกความเจ็บปวดของตัวเอง ความเจ็บปวดของสามี ของแม่ ของผู้คนรอบตัวโดยที่เธอรู้สึก -และถูกทำให้รู้สึก- ว่าต้องมีส่วนในการรับผิดชอบความเจ็บปวดของพวกเขาด้วยการจัดการขึ้นศาล เดินเรื่องเอานางผดุงครรภ์นั้นเข้าคุกเสีย
คำถามคือ แล้วความเจ็บปวดนั้นสามารถโอนถ่ายไปยังการลงโทษได้หรือไม่ มากไปกว่านั้น ยิ่งเมื่อการลงโทษนั้นอาจไม่ได้เกิดขึ้นโดยถูกที่และถูกวาระ
ความรู้สึกหนึ่งที่ทรงพลังอย่างมากหลังดูหนังจบคือ เราพบว่าในความสูญเสียหลายๆ ครั้งนั้น เราไม่อาจทำใจยอมรับได้ว่ามันเป็นเหตุสุดวิสัยหรือบางทีมันอาจหาที่ลงเพื่อเยียวยาหัวใจตัวเองไม่ได้ เราจึงต้องดิ้นรน ต้องทำทุกวิถีทางเพื่อถ่ายโอนความเจ็บปวดของเราไปยังผู้อื่นในลักษณะของการยัดเยียดและทำโทษ ต้องมีใครสักคนที่มารับผิดชอบความขาดวิ่นพังทลายของเรา ใครก็ได้ที่จะรองรับนี้และทำให้เรารู้สึกว่าเราได้รับการเยียวยาแล้ว แม้จะเล็กน้อยก็ตาม
แต่เราได้รับการเยียวยาจริงๆ หรือ
แท้ที่สุดแล้ว ไม่ว่าจะมาร์ธา ฌอนหรือสมาชิกในครอบครัวคนอื่นๆ ล้วนแล้วแต่ต้องยอมรับกับความสูญเสียนี้ให้ได้ ด้วยการเผชิญหน้ากับมัน และสบตากับข้อเท็จจริงที่ว่า ในที่ทางของความเจ็บปวดนี้ เราไม่อาจยัดเยียดมันให้ใครเพื่อทำให้หัวใจเราหนักอึ้งน้อยลง หากแต่มันอาจทำได้ด้วยการแบ่งปันและโอบรับบาดแผลของตัวเอง ของคนอื่น และช่วยเยียวยากันและกันเช่นนั้นอย่างแช่มช้าต่อไปเท่านั้นเอง
ชม Pieces of a Woman ได้ที่ Netflix