Home Review Film Review MIDNIGHT CINEMA 11 – Nope แค่พูดว่าไม่!

MIDNIGHT CINEMA 11 – Nope แค่พูดว่าไม่!

0
MIDNIGHT CINEMA 11 – Nope แค่พูดว่าไม่!

*หมายเหตุ : บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาส่วนสำคัญของภาพยนตร์

โอเจ เป็นหนุ่มเลี้ยงม้า เขากับพ่อประกอบกิจการฟาร์มม้าที่อยู่ไกลออกไปนอกเมืองในเขตทะเลทราย ที่หลัก ๆคือฝึกให้ม้าเชื่องเพื่อเอาไปเข้าฉากหนังฮอลลีวู้ด กิจการไปได้ไม่สวยนัก น้องสาวของเขาก็เห็นการช่วยพ่อและพี่ชายในการสื่อสารกับกองถ่ายเป็นเพียงงานอดิเรก เช้านั้นพ่อกำลังฝึกม้า เขาเองก็เพิ่งเสร็จจากการเทียมม้ากับเครื่องเดิน อยู่ดี ๆ เสียงรอบข้างก็หยุดนิ่ง สรรพสิ่งหยุดเคลื่อนไหว และมีอะไรต่อมิอะไรหล่นลงมาจากฟ้า กุญแจ เหรียญ ข้าวของเล็ก ๆ น้อย ๆ และจู่ ๆ พ่อบนหลังม้าก็แน่นิ่งไป

หลังจากพ่อตายได้หกเดือน เขาเริ่มทยอยขายม้าไป งานกองถ่ายเพิ่งติดต่อเข้ามา เขาต้องให้น้องสาวไปเจรจากับคนเพราะเขาถนัดคุยกับม้ามากกว่า แต่ก็มีเรื่องจนได้เมื่อม้าเกิดตื่นสถานที่ ถึงที่สุดเขาต้องเอาม้าไปขายให้ จูป จูปิเตอร์ อดีตดาราเด็กเอเชียที่เคยมีชื่อเสียงในยุค 1990 ตอนนี้จูปและครอบครัวเปิดสวนสนุกอยู่ไม่ไกลจากฟาร์มของเขา สวนสนุกบรรยากาศแบบหนังคาวบอยให้คนมาเที่ยวถ่ายรูปเล่น จูปช่วยซื้อม้าของเขาไว้และยินดีถ้าเขาจะซื้อคืน ที่จริงจูปอยากได้ฟาร์มด้วยเพื่อจะขยายอาณาเขตของตน เอ็ม น้องสาวของเขาตามเข้าไปคุยกับจูป และจูปอวดเรื่องของการเคยแสดงในรายการทีวี Gordy’s Home ละครตลกที่มีตัวเอกเป็นลิงชิมแปนซีสุดฉลาดในบ้านมนุษย์ ซีซั่นแรกฮิตระเบิด แต่ซีซั่นสองกลายเป็นโศกนาฏกรรม เพราะเจ้ากอร์ดี้เกิดคลั่งขึ้นมากลางรายการและอาละวาดจนมีคนเจ็บตาย จูปเป็นคนที่รอด อาจจะเพราะเขาเป็นคนเดียวที่เคยชนกำปั้นกับกอร์ดี้ อย่างน้อยเขาก็เชื่ออย่างนั้น

บนฟ้ามีเรื่องประหลาด เมื่อม้าในคอกเริ่มอยู่ไม่สุข และโอเจมองเห็นอะไรบนฟ้าที่อาจจะเป็นจานบินลึกลับ ทุกครั้งที่ปรากฏตัวไฟจะตก โอเจและเอ็มไปซื้อกล้องวงจรปิดมาติดตั้งรอบบ้าน ให้กล้องชี้ขึ้นฟ้า แองเจิ้ล ช่างเทคนิคที่มาติดกล้องคิดว่ามีอะไรแหม่ง ๆ แน่ ๆ และมันก็เกิดขึ้นจริงเสียด้วย มีบางอย่างอยู่บนฟ้า และไม่ใช่เรื่องดี

ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องที่สามของ จอร์แดน พีล (Jordan Peele) ยังคงเป็นหนังสยองขวัญแปลกประหลาด หนังของเขาเหมือนหลุดมาจากนิตยสารหรือเว็บไซต์เรื่องลึกลับ เรื่องประหลาด หนังสือแบบแปลก โลกทิพย์ Creepy Pasta หรือบางเรื่องจาก The Ghost Radio  Get Out ว่าด้วยการถูกเข้าสิงร่างกายด้วยวิญญาณคนอื่น Us เล่าเรื่องดอปเปิลแกงเกอร์จากโลกใต้ดิน และ Nope ว่าด้วยยูเอฟโอ เริ่มต้นจากเรื่องพิสดารเหนือธรรมชาติเหล่านั้น ซ่อนนัยยะทางการเมืองเข้มข้นของสังคมอเมริกัน เราจะดูหนังของเขาในฐานะหนังสยองขวัญเพียว ๆ ก็ได้ หรือหนังที่เป็นภาพแทนทางการเมืองก็ได้เช่นกัน

หาก Nope ดูเหมือนจะเข้มข้นขึ้นไปอีกเมื่อเทียบกับหนังสองเรื่องก่อนหน้า เขานวดทั้งเรื่องราวประหลาดพิสดาร ขยายมันออกไปให้เกินความคาดหวัง ขณะเดียวกันก็ขยับขยายประเด็นออกไปมากกว่าเดิม 

เราอาจมองหนังในฐานะภาพยนตร์ที่เชิดชูความเป็นหนัง/ความเป็นคนดำได้อย่างน่าสนใจ เมื่อหนังเปิดฉากด้วยภาพของทัศนียภาพลึกลับของสิ่งที่เป็นอุโมงค์ ช่อง ถ้ำ (ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาใช้มาตลอด ทั้งตัว The Sunken Place ใน Get Out และอุโมงค์ใต้ดินใน Us) ตำแหน่งของภาพที่ทำให้นึกถึงการสะกดจิตใน Get Out แต่แทนที่สายตาของเราจะถอยออก(ร่วงลง) กลับขยับเข้าใกล้ และสิ่งที่เราเข้าใกล้ ไม่ใช่ใบหน้าของแม่ยายแบบใน Get Out แต่เป็นภาพคนดำขี่ม้า ภาพเคลื่อนไหวที่เป็นต้นกำเนิดของภาพยนตร์อีกทอดหนึ่ง

The Horse in Motion (1877) ของ เอ็ดเวิร์ด มายบริดจ์ (Edweard Muybridge) น่าจะเป็นภาพยนตร์ในยุคก่อนภาพยนตร์ มันคือการเอาการ์ดภาพถ่ายคนดำขี่ม้ามาเรียงต่อกันและหมุนวนมันในความเร็วที่กำหนด ด้วยกลไกของภาพติดตาภาพนิ่งก็เคลื่อนไหว และนี่คือต้นธารของภาพยนตร์ในเวลาต่อมา 

หนังตั้งคำถามว่าคนจำมายบริดจ์ได้ แต่มีใครจำชายคนดำขี่ม้าได้บ้าง “ไม่!” ไม่คือคำตอบ ไม่คือชื่อหนัง ไม่คือไม่ถูกจำ ไม่มีตัวตนไม่มีความหมาย  แม้มุกนี้จะถูกเล่นเพื่อล้อโอเจในฐานะของชายผิวดำขี่ม้าที่ไม่ถูกจำ เป็นแค่ส่วนต่อขยายของม้า ไม่จึงแปลได้ว่าไม่ใช่มนุษย์ด้วย เป็นเพียงวัตถุที่ขี่ม้า แต่พวกเขาก็ไม่ได้อยากไม่ถูกจำแบบเทียดของเขา ที่คือชายผิวดำคนนั้น เพราะที่พวกเขาอยากเป็นคือ ‘เอ็ดเวิร์ด มายบริดจ์ ผิวดำ’ และเขาจะเป็นได้ในฐานะของคนแรกที่ถ่ายติดยูเอฟโอจริงๆ 


หนังตั้งคำถามว่าคนจำเอ็ดเวิร์ด มายบริดจ์ได้ แต่มีใครจำชายคนดำขี่ม้าได้บ้าง “ไม่!” ไม่คือคำตอบ ไม่คือชื่อหนัง ไม่คือไม่ถูกจำ ไม่มีตัวตนไม่มีความหมาย  แม้มุกนี้จะถูกเล่นเพื่อล้อโอเจในฐานะของชายผิวดำขี่ม้าที่ไม่ถูกจำ เป็นแค่ส่วนต่อขยายของม้า ไม่จึงแปลได้ว่าไม่ใช่มนุษย์ด้วย เป็นเพียงวัตถุที่ขี่ม้า

SAY NOPE TO CINEMA

ภาพยนตร์จึงเป็นเส้นทางสู่ความสำเร็จในโลกทุนนิยม ภาพยนตร์มีความลักลั่นเพราะตัวมันออกแบบมาให้เป็นประดิษฐกรรมความบันเทิงเพื่อมวลชน มันขับเคลื่อนด้วยทุนและโลกของทุนนิยมทั้งการผลิต การจัดจำหน่าย โรงหนัง ภาพยนตร์จึงเป็น money machine สำหรับการบริโภค แต่ตัวมันเองก็สูบเอาคุณค่าของศิลปะเข้ามาไว้ในตัวด้วย ในขณะที่มันอาจทำตัวหัวสูงเรียกร้องการเสพแบบศิลปะที่ต้องจมตัวเองในข้อกำหนดเฉพาะของความมืดและเงียบของโรงภาพยนตร์ที่เป็นศาสนสถาน ตัวมันก็เรียกร้องผู้ชมจำนวนมาก ให้เข้าและออกจากโรงให้มากที่สุด เพื่อให้มันทำกำไรได้ไปพร้อมกัน

การเข้ามาของ แอนท์เลอร์ ตากล้องภาพยนตร์ทีคลั่งไคล้การถ่ายหนัง โดยเฉพาะการถ่ายทำสัตว์ จึงเป็นการพยายามยกระดับตัวเองจากคลิปยูเอฟโอโง่ ๆ โดยกล้องวงจรปิด ให้ไปเป็น ‘โอปราห์ชอต’ หรือชอตที่จะสวยงามยิ่งใหญ่แบบที่เอาไปออกรายการทอล์กโชว์ของโอปราห์ วินฟรีย์ได้ ยิ่งเมื่อหนังโยนข้อกำหนดว่าอะไรที่เป็นไฟฟ้าจะไม่สามารถใช้ได้เมื่อยูเอฟโอมา ยิ่งทำให้มันต้องกลับไปสู่ความเป็นภาพยนตร์แบบดั้งเดิม แบบยากลำบาก แบบที่ถูกพัฒนาผ่านประวัติศาสตร์ที่เปลี่ยนการ์ดภาพของมายบริดจ์ไปสู่การใช้ฟิล์มเฉพาะกล้องเฉพาะ ถ่ายแบบเฉพาะ ซึ่งถูกทำลายคุณค่าลงด้วยภาพยนตร์ในยุคดิจิทัล การถ่ายยูเอฟโอจึงไม่ใช่แค่ภาพเพื่อการค้า แต่ยังบรรจุคุณค่าของความเป็นภาพยนตร์ที่สั่งสมกันมา ความพิเศษและยากลำบากของการถ่ายทำ ความพิเศษเฉพาะที่มีแต่ภาพยนตร์ (ภาพเคลื่อนไหว) เท่านั้นจะทำได้ 

และนั่นอธิบายความบ้าคลั่งต่อการถ่ายทำสัตว์ของแอนท์เลอร์ที่แม้ต้องตายเพื่อให้ได้ชอตที่งดงามก็ไม่เป็นไร แม้จะเป็นเพียงการถ่ายเพื่อหาเงิน แต่แอนท์เลอร์ผู้เชื่อในพลังของภาพยนตร์ก็ทุ่มหมดหน้าตัก เพราะภาพยนตร์ ไม่ใช่ ‘เรียลลิตี้’ แต่เป็น ‘ดอคูเมนท์’ เป็นการบันทึกสิ่งที่สำคัญในประวัติศาสตร์ บันทึกสิ่งที่อาจจะมีให้เห็นเพียงครั้งเดียว ไปจนถึงบันทึกสิ่งที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาหรือมองไม่ได้ การมองผ่านภาพยนตร์เป็นการมองที่ปลอดภัย แม้แต่สิ่งที่มองไม่ได้ เราก็ได้เห็น มันจึงเป็นการฟาดฟันของทุนกับศิลปะ ที่ทั้งน่าเศร้า น่าขัน และน่าตื่นเต้น 

SAY NOPE TO MEDUSA

การณ์กลายเป็นว่า นี่ไม่ใช่ยูเอฟโอ แต่เป็นสัตว์! สัตว์ที่กินเนื้อเป็นอาหาร และเหยื่อของมันก็คือชาวบ้านชาวเมือง มันซ่อนตัวหลังก้อนเมฆ และสูบกินผู้คน ในเวลานี้เองโอเจค่อย ๆ เรียนรู้มันเหมือนที่เขาเรียนรู้เรื่องม้า และเขาพบว่า เขาจะรอด ถ้าเขาไม่มองมันตรง ๆ

การมองไม่ได้ มีนัยยะที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ในแง่หนึ่งภาพยนตร์ทำหน้าที่มองสิ่งที่เรามองเห็นไม่ได้ ดินแดนโพ้นไกลที่เดินทางไปไม่ถึง สัตว์ใต้ทะเลลึก อวกาศแสนไกล หรือแม้แต่ภายในร่างกายของเราเอง สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่เรามองไม่เห็นด้วยตาเนื้อ แต่เราสามารถใช้กล้องจ้องมองแทน และเราสงบปลอดภัยผ่านการชมมันในห้องมืด ภาพยนตร์ถ่ายทำสิ่งที่เรามองเห็นได้และมองเห็นไม่ได้ ภาพยนตร์จึงมีอำนาจในการครอบครองความรู้ ขณะเดียวกันก็ปิดตาเราจากการมองสิ่งที่ภาพยนตร์ไม่อยากให้เห็นด้วยการกำหนดการมองเห็นของเราด้วย ถ้าพวกเขาคิดว่าภาพยนตร์กอบกู้โลกได้ด้วยการบันทึกภาพสัตว์ประหลาดบนฟ้า มันก็เป็นเพราะพวกเขามองภาพยนตร์ได้ แต่มองสัตว์นั้นไม่ได้ ถ้ามองพวกเขาจะตาย ภาพยนตร์เลยยิ่งใหญ่กว่าการเป็นแค่สตาฟฟ์ฝึกม้า ภาพยนตร์กลายเป็นสายตาแทนสายตา เป็นกระจกสะท้อนเงา เป็นประสบการณ์มือสองที่อาจสำคัญกว่ามือหนึ่ง


การมองไม่ได้ มีนัยยะที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ในแง่หนึ่งภาพยนตร์ทำหน้าที่มองสิ่งที่เรามองเห็นไม่ได้ ดินแดนโพ้นไกลที่เดินทางไปไม่ถึง สัตว์ใต้ทะเลลึก อวกาศแสนไกล หรือแม้แต่ภายในร่างกายของเราเอง สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่เรามองไม่เห็นด้วยตาเนื้อ แต่เราสามารถใช้กล้องจ้องมองแทน และเราสงบปลอดภัยผ่านการชมมันในห้องมืด ภาพยนตร์ถ่ายทำสิ่งที่เรามองเห็นได้และมองเห็นไม่ได้ ภาพยนตร์จึงมีอำนาจในการครอบครองความรู้


แต่การมองไม่ได้ยังชวนให้ประหวัดไปถึงปกรณัมแห่งกอร์กอน การมองไม่ได้ทำให้นึกถึงเมดูซ่า นางปีศาจที่มีหัวเป็นงู และใครก็ตามที่จ้องตานางจักต้องตายกลายเป็นหิน เมดูซ่าถูกนำมาใช้เป็นสัญญะสำคัญในการพูดถึงผู้หญิง ในบทความชิ้นสำคัญของ Helene Cisoux นักเขียน นักวิชาการและนักสตรีนิยมชาวฝรั่งเศสชื่อ เสียงหัวเราะของเมดูซ่า (The Laugh of Medusa) ซึ่งเขียนขึ้นในปี 1976 บทความที่เป็นเสมือนการท้าทายต่อแนวคิดจิตวิเคราะห์แบบชายเป็นใหญ่ของฟรอยด์และลากองนี้ ได้เปรียบเทียบผู้หญิงเข้ากับเมดูซ่า นางปีศาจในตำนานที่มีเส้นผมเป็นงู และหากใครสบตานางจะกลายเป็นหิน (ซึ่งก็นั่นเท่ากับไม่มีใครเห็นเธอจริง ๆ และเธอกลายเป็นสัญลักษณ์ของความตาย ผู้หญิงคือสิ่งอันตราย ผู้หญิงคือความลึกลับและความตาย) เมดูซ่าเป็นตัวแทนของผู้หญิงที่ถูกปลดปล่อยจากความเป็นชาย จากประวัติศาสตร์แนวคิดบูชาลึงค์ทำให้ผู้หญิงเป็นสิ่งลึกลับดำมืด เป็นสิ่งที่ต้องหลบซ่อน เป็นเพียงขั้วตรงข้ามที่ทำให้ความเป็นชายมีความหมาย Cisoux เขียนถึงเมดูซ่าสั้นๆ ว่า*1

‘ที่คุณต้องทำคือจ้องเมดูซ่าตรงหน้าเพื่อที่จะมองเห็นเธอ และเธอจะยังไม่ตาย เธอช่างสวยงาม และเธอกำลังหัวเราะ’*2

นอกจากความเหมือนของการไม่อาจมอง สัตว์ประหลาดนี้ยังมีลักษณะแบบเพศหญิง โดยเฉพาะช่องเปิดของมันที่เป็นเหมือนทั้งปากและถ้ำ/อุโมงค์ที่เป็นสัญญะของสิ่งที่คุกคามและสั่นคลอนความเป็นคนดำชนชั้นกลางในหนังของพีลเอง (sunken place ใน Get Out และ อุโมงค์ใน Us จึงเป็นเป็นพี่น้องท้องเดียวกับรูเปิดของสัตว์ประหลาดบนฟ้า) เราอาจบอกว่านี่คือโยนีลอยฟ้า และเมื่อมันสยายปีกขยายตัวออก มันก็มีรยางค์ยืดยาวคล้ายกับผมของเมดูซ่า เมดูซ่าที่เป็นตัวแทนของความเป็นหญิงในสังคมชายเป็นใหญ่ อุปลักษณ์สตรีนิยมนี้ไม่ได้กินความหมายแค่สตรี เพราะในกาลต่อมา Feminism ได้โอบรับเอาสิ่งที่ท้าทายต่อกรอบคิดชายเป็นใหญ่แบบเดิม ทั้งเควียร์และชนกลุ่มน้อยผู้ถูกกดขี่มาเป็นส่วนหนึ่งด้วย เจ้าสัตว์ลึกลับนี้ในทางหนึ่งจึงเป็นภาพของสิ่งที่ไม่มีใครรู้จัก อันตราย และน่ากลัวซึ่งหากคิดในนามของโลกแบบเดิม มันต้องถูกพิชิต ถูกตัดหัวเหมือนกับเมดูซ่า

SAY NOPE TO CHTHULU

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่โอเจคิดเกี่ยวกับสัตว์นี้ไม่ใช่การพิชิต ไม่ไช่การฆ่า  แต่คือการ ‘หาข้อตกลง’ (Make Agreement) กับสัตว์ร้ายนี้ เขาเป็นคนเลี้ยงม้า ชีวิตวุ่นอยู่กับการฝึกม้าให้เชื่อง แต่สัตว์ร้าย (ที่ได้ชื่อว่าจีน แจคเกต ตามชื่อของม้าที่พ่อควรให้น้องสาวขี่ แต่กลับเอาไปเข้ากล้อง ม้าที่ควรเป็นสัตว์ของเด็กสาวกลายที่เป็นสัตว์รับใช้ทุน เป็นส่วนหนึ่งของภาพยนตร์ที่เป็นเพียงการรับใช้ทุน) ไม่สามารถทำให้เชื่องได้ เพราะนี่คือเมดูซ่า คือสัตว์ที่สามารถกินผู้ฝึกได้  

สัตว์ที่ฝึกไม่ได้ และเมดูซ่า ก็พาเรากลับไปหาแนวคิดอันลือลั่นของ ดอนนา ฮาราเวย์ (Donna Haraway) นักปรัชญาคนสำคัญที่สำรวจความเป็นไปได้ของมนุษย์และความสัมพันธ์ของมนุษย์กับสัตว์และสิ่งแวดล้อม ฮาราเวย์เสนอแนวคิด Chthulucene*3 ที่เป็นการย้อนทางแนวคิดที่ต่อยอดจากแนวคิดการแบ่งยุคสมัยของโลก จากลักษณะทางธรณีวิทยาที่แผ่ลามออกไปสู่แนวคิดอื่น ๆ ที่ว่าด้วย Anthropocene คือความคิดที่ว่าหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม อัตราเร่งความเปลี่ยนแปลงของโลกทั้งใบเปลี่ยนจากภัยพิบัติใหญ่ ๆ มาเป็นน้ำมือของมนุษย์ เพราะเราอยู่ในโลกยุคที่มีมนุษย์เป็นศูนย์กลางและสามารถเปลี่นแปลงสภาพทางภูมิศาสตร์ ดินฟ้าอากาศจากการเติบโตของอุตสาหกรรม บริโภคนิยม และทุนนิยม

Chthulucene มาจากทางตรงกันข้าม ฮาราเวย์เสนอแนวคิดนี้จากการกลับไปอ่านวรรณกรรมและค้นความสัมพันธ์ของมนุษย์กับโลกโดยเคลื่อนย้ายศูนย์กลางจากมนุษย์มาเป็นสิ่งอื่น ซึ่งเธอให้ชื่อว่า Chthulu มาจาก Cthulu สัตว์ประหลาดมีหนวดเหมือนปลาหมึกใน The Call of Cthulu ของ เอช. พี. เลิฟคราฟท์ (โดยเธอเติมตัว h ลงไปอีกตัวเพื่อเน้นย้ำความต่างต้นฉบับ) สัตว์ประหลาดหนวดปลาหมึกเป็นอุปมาของเธอต่อบางสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่า เช่น เทพเจ้า พระแม่ธรณี หรือคือโลกนั่นเอง สิ่งประหลาดที่ในโลกที่มนุษย์เป็นศูนย์กลาง มนุษย์ต้องพิชิต ทำลายล้างและครอบครอง แบบเดียวกันกับที่ทีมขุดเจาะน้ำบาดาลใน Leio แย้ยักษ์ ต้องฆ่าแย้ยักษ์ทิ้งโดยไม่ต้องใช้การใคร่ครวญเพียงเพราะการดำรงอยู่ของมันก็เป็นภัยคุกคามมากเพียงพอแล้ว สำหรับฮาราเวย์ กับสิ่งประหลาดที่ยิ่งใหญ่มีความเป็นแม่ ที่ไม่ใช่แม่ที่แสนดี แต่เป็นทั้งแม่ที่ดีและแม่ที่ขี้โมโหอารมณ์ร้าย ไม่ใช่แค่มอบธรรมชาติหรือแหล่งน้ำ แต่สามารถมอบภัยธรรมชาติหรือทำลายมนุษย์ได้ด้วยนี้นั้น สิ่งที่มนุษย์พึงทำไม่ใช่พิชิต แต่คืออยู่ร่วม หรือ ‘make kinship’ สร้างความเป็นเครือญาติกับมัน แบบเดียวกับการมีสายสัมพันธ์ที่ทับซ้อนในแนวระนาบที่พัวพันกันไปมาจนไม่อาจหาจุดตั้งต้นได้ของหนวดปลาหมึก ซึ่งเป็นฟอร์มเดียวกันกับผมบนหัวของเมดูซ่า (ตรงกันข้ามกับสายสัมพันธ์ที่แข็งเกร็งและแบ่งชนชั้นชัดเจน แบบสายการบังคับบัญชาของมนุษย์) และเป็นฟอร์มเดียวกันกับการสยายจิ๋มอากาศของสัตว์ประหลาดในหนังเรื่องนี้ (ที่ว่ากันว่าพีลได้ไอเดียการออกแบบมาจาก Evengelion)

มันจึงน่าสนใจที่หนังมีการ make kinship สองแบบ แบบแรกคือจูป ชายที่เชื่อว่าตัวเองเคย make kinship กับกอร์ดี้และทำให้ตัวเองรอดจากการอาละวาด และแน่นอนเขาพยายามจะ ‘ขาย’ การ make kinship นี้ด้วยการขายมัน แต่สัตว์ประหลาดไม่ต่อรองด้วย ในขณะที่โอเจดูเหมือนต้องการ make kinship กับมันในอีกแบบหนึ่ง เขาอาจจะเริ่มอยากฝึกมัน เรียนรู้มัน และเมื่อรู้ว่าฝึกไม่ได้ เขาก็พอใจที่จะเรียนรู้กันและกันเพื่ออยู่ร่วม ไม่ใช่เอาชนะ 


มันจึงน่าสนใจที่หนังมีการ make kinship สองแบบ แบบแรกคือจูป ชายที่เชื่อว่าตัวเองเคย make kinship กับกอร์ดี้และทำให้ตัวเองรอดจากการอาละวาด และแน่นอนเขาพยายามจะ ‘ขาย’ การ make kinship นี้ด้วยการขายมัน แต่สัตว์ประหลาดไม่ต่อรองด้วย ในขณะที่โอเจดูเหมือนต้องการ make kinship กับมันในอีกแบบหนึ่ง เขาอาจจะเริ่มอยากฝึกมัน เรียนรู้มัน และเมื่อรู้ว่าฝึกไม่ได้ เขาก็พอใจที่จะเรียนรู้กันและกันเพื่ออยู่ร่วม ไม่ใช่เอาชนะ


WHAT IS THE REBEL?, A  MAN WHO SAYS NOPE

กระนั้นก็ตาม นี่ไม่ใช่หนังที่ว่าด้วยการพยายามอยู่ร่วมกับความแปลกปลอมที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งอย่างที่กล่าวไป มันอาจแทนที่ได้ด้วยความเป็นหญิง (ในโลกของผู้ชาย) ความเป็นเควียร์ (ในโลกของรักต่างเพศ) ความเป็นคนดำ(ในโลกของคนขาว) สัตว์ประหลาดต่างดาวที่มีพลังมากพอจะกลืนกินมนุษย์ล่องลอยอยู่เหนือหัวเรา ไม่รู้จะกลืนกินเราไปวันไหน ช่างขัดแย้งกับโลกเสรี ดูจะเป็นภัยมากกว่าเพื่อน ดูมีเหตุผลที่ต้องกำจัดมากกว่าอยู่ร่วม เพราะเราไม่สามารถให้อะไรอยู่เหนือมนุษย์ได้ (แม้แต่โลกและภัยธรรมชาติ) 

หากในขณะเดียวกัน โลกทุนนิยมก็มีช่องทางทำกินจากสิ่งประหลาดนี้ จากความเป็นสตรี เป็นเควียร์ เป็นคนดำ ทุนนิยมสามารถเปลี่ยนทุกอย่างเป็นสินค้า จูปจึงสามารถขายตั๋วชวนคนมาดูสัตว์ประหลาดตัวใหม่ที่ร้ายกาจกว่ากอร์ดี้ ในขณะที่โอเจและเอ็มและแองเจิ้ล สามสหาย ไม่ได้ต้องการเป็นเพื่อน เรียนรู้อะไรจากสิ่งประหลาดบนฟ้า พวกเขาต้องการคลิปเอาไปขาย ขอก่อนพวกสำนักข่าวจะมาถึง ขอเป็นมายบริดจ์คนต่อไป ทุกคนจึงพูดว่าไม่! ใส่ ‘สิ่งที่อธิบายไม่ได้บนฟากฟ้า’ ในแบบของตัวเอง 

อัลแบต์ กามู (Albert Camus) เป็นคนกล่าวประโยคสำคัญ ‘การปฏิวัติคืออะไร? มันคือใครสักคนลุกขึ้นมาพูดว่าไม่’*4 ไม่เอาอีกแล้ว ไม่ทนอีกแล้ว ขอปฏิเสธโครงสร้างดั้งเดิมที่กดทับ ใน Planet of the Apes (2001, ทิม เบอร์ตัน) ฉบับรีเมคที่ว่าด้วยลิงฉลาดที่ลุกขึ้นมาปฏิวัติมนุษย์ ประโยคสำคัญที่ลิงซีซาร์พูดขึ้นเพื่อก่อการปฏิวัติคือคำว่า ไม่! แต่ลิงกอร์ดี้ไม่ใช่ซีซาร์ การพูดว่าไม่ของกอร์ดี้จึงเป็นเพียงลิงอาละวาดที่ต้องถูกยิงทิ้ง ขณะเดียวกัน การพูดว่าไม่ของตัวละครในเรื่อง ซึ่ง ‘ไม่’ ไม่ใช่คนดำที่ถูกกดขี่อีกแล้ว ตัวละครคนดำของพีลเป็นคนดำชนชั้นกลางที่ร่ำรวย ไปกันได้ดีกับสังคมเสรีนิยมใหม่และทุน พูดให้ง่าย ๆ คือเป็นคนดำที่ถูก ‘ฝึก’ แล้ว ‘ฝึกได้’ แล้ว สิ่งที่คกุคามพวกเขาจึงคือความเป็นคนดำที่มีจิตวิญญาณของคนขาว (ใน Get Out) คนดำที่ยากจน (Us) และความเป็น ‘คนดำที่ไม่สามารถถูกฝึกได้’ ในหนังเรื่องนี้ 

แต่พวกเขาไม่ใช่นักปฏิวัติ ไม่ใช่นักคิดปรัชญา พวกเขาไม่พูดว่า “ไม่” เพื่อต้านระบอบเดิม หรือพูดว่า “ไม่” เพื่อชี้ให้เห็นความสัมพันธ์แบบใหม่ของโลกกับมนุษย์ พวกเขาพูดว่า “ไม่” แบบไม่รู้ ไม่แคร์ ไม่เอาน่า! พวกเขาถูกเปรียบเปรยเป็นสัตว์มาตลอด เป็นเพียงส่วนต่อขยายของม้าในหนังของมายบริดจ์และในกองถ่าย ไปจนถึงการที่หนังทั้งเรื่องแบ่งบทจากชื่อม้าในฟาร์ม ยกเว้นเพียงบทแรกที่พูดว่าไม่ พวกเขาพูดว่าไม่ ไม่ปฏิวัติ ไม่สร้างเครือญาติ เพราะทุกอย่างอยู่ในสิ่งที่ใหญ่กว่าคือทุนนิยม พวกเขาแค่ต้องการขายมันและร่ำรวย เป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างและร่ำรวย สร้างเครือญาติกับสิ่งประหลาดและร่ำรวย 

ความเป็นผู้หญิง เป็นเควียร์ และเป็นคนดำ จึงเป็นสินค้าที่ขายได้ เป็นคลิปวิดีโอและภาพถ่าย ไม่มีอีกแล้วการพิชิต แม้ท้ายที่สุด การพิชิตมันจะเกิดขึ้นโดยน้ำมือของผู้หญิง/เควียร์คนเดียวในเรื่องนั่นคือเอ็ม ที่เป็นทั้งผู้หญิง คนดำ และอาจเป็นเลสเบี้ยน หากมันเป็นไปเพื่อการล่อสัตว์มาถ่ายรูป และหนำซ้ำ สิ่งที่ทำร้ายจีน แจคเกตได้จริง ๆ คือหุ่นยางพลาสติกที่เป็นตัวการทำลายโลกนี้ แบบเดียวกับมนุษย์โยนขยะพลาสติกลงทะเล แต่ทั้งหมดไม่ได้เป็นไปเพื่อคุณค่าไม่ว่าจะจากฟากฝั่งใด มันเป็นไปเพื่อให้ทุนได้ขับเคลื่อน ทุนกลายเป็นขอบฟ้าของทางออกที่เราเห็นได้แค่นั้น จนแม้แต่การมาถึงของสัตว์ต่างดาวหรืออะไรก็ไม่อาจเปลี่ยนแปลงขอบฟ้าของทุนนิยมนี้ไปได้อีกแล้ว


*1 https://filmclubthailand.com/film-review/a-question-of-silence/

*2 https://www.jstor.org/stable/3173239

*3 https://www.youtube.com/watch?v=XzgT1vXNf8c

*4 https://en.wikipedia.org/wiki/The_Rebel_(book)

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here