จาก Junior ถึง Raw : ลอกคราบ ชิมเลือด แล่เนื้อ Julia Ducournau

(Julia Ducournau)

David Ehrlich แห่ง indiewire อธิบายตัวตนของหนังปาล์มทองคำเรื่องล่าสุดอย่าง Titane (2021) ได้ยั่วยวนเสียเหลือเกิน เมื่อครึ่งแรกของหนังปั่นหัวหนัก จนเขาพูดไม่ถูกว่านี่คือหนังเล่าประเด็นครอบครัวนอกสายเลือด (found family) ที่ฟัคอัพที่สุดเท่าที่โลกนี้เคยสร้างมา หรือหนังฆาตกรต่อเนื่อง (ผู้มีเซ็กซ์กับรถยนต์) ที่อ่อนหวานที่สุดของโลกภาพยนตร์กันแน่ บทสรุปคำอธิบายยิ่งกระตุ้นชวนสงสัย เมื่อเขาบอกว่าหนังแสดงตัวชัดเจนในครึ่งหลังว่าเป็นทั้งสองสิ่งนั้น และคงไม่อาจเป็นข้อหนึ่งข้อใดได้ หากปราศจากการดำรงอยู่ของอีกตัวตนที่แลดูขัดแย้งเสียดทานกัน

ก่อนจะได้ไปเริงรถทดลองขับด้วยตัวเองในอนาคตอันใกล้ (เมื่อโรงหนังเปิดแล้วมีคนซื้อมาฉาย หรือรอไม่ไหวจนต้องมุด VPN) แล้วประเมินชั่งน้ำหนักว่าเห็นด้วยกับเจ้าพ่อคลิปเคาท์ดาวน์หนังแห่งปีหรือพี่ Peter Bradshaw แห่ง The Guardian (แกว่าหนังตั้งท่าแรงแต่เด๋อและฝืดฝืน) เราขออาศัยจังหวะนี้ย้อนไปทำความรู้จัก Julia Ducournau ผู้กำกับหญิงฝรั่งเศสวัยใกล้ 38 จากครอบครัวแพทย์ ที่เพิ่งสร้างประวัติศาสตร์ในระดับเดียวกับ Jane Campion (ปาล์มทองคำปี 1993 จาก The Piano) หลังยืนหยัดหนักแน่นในแนวทาง body horror จนกระทั่งชื่อ David Cronenberg (Crash) กับ Shinya Tsukamoto (Tetsuo, the Iron Man) ถูกอ้างอิงเปรียบเทียบในข้อเขียนถึงหนังของเธออยู่เสมอ

ตัวอย่างหนัง Titane (2021)

อีกข้อที่ขอบันทึกไว้ก่อนเข้าเรื่องก็คือ กระทั่งบรรดาผลงานข้างเคียงของ Ducournau ก็เดินตามรอยแนวทาง body หรือ horror แทบทั้งสิ้น ตั้งแต่หนังฉายทีวีเรื่อง Mange (2012, Virgile Bramly เขียนบท-กำกับร่วม) ซึ่งเล่าชีวิตทนายสาวสวยผู้ผ่านประสบการณ์โรคบูลิเมียที่เตรียมคิดบัญชีแค้นพวกบูลลี่สมัยเรียน ไปจนถึง Servant (2019-ปัจจุบัน, Tony Basgallop ครีเอเตอร์) ออริจินัลซีรี่ส์ Apple TV+ อำนวยการสร้างโดย M. Night Shyamalan ที่ผัวเมียต้องรับมือพลังลึกลับที่แทรกซึมเข้าบ้าน หลังจ้างพี่เลี้ยงเด็กมาช่วยเลี้ยงตุ๊กตาทารกเสมือนจริงที่ใช้บำบัดสภาพจิตหลังลูกตาย ซึ่งเธอกำกับสองตอนแรกในซีซั่นสอง

ในบทความนี้จะกล่าวถึงผลงานกำกับแบบเต็มตัวทั้งสองเรื่อง (ก่อน Titane) ซึ่งแสดงตัวตนในแนวทาง body horror อย่างเข้มข้นชัดเจน คือหนังสั้นเรื่อง Junior (2011) ที่แจ้งเกิดในสาย Critics’ Week เมืองคานส์และ Raw (2016) หนังมนุษย์กินคนที่สถาปนาตำแหน่งคนทำหนังดาวรุ่งระดับโลกให้เธอ

Junior (2011)

Junior เลือกใช้สุนทรียะของภาพยนตร์ตระกูล body horror เพื่อเปรียบแทนความเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย รวมถึงความรู้สึกแปลกแยกต่อร่างกายตนเองของเด็กหญิงที่กำลังเติบโตเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น ด้วยน้ำเสียงและวิธีการของ Ducournau ประสบการณ์แปลกแยกที่ว่าซึ่งเกิดขึ้นกับผู้หญิงจำนวนมากในโลกแห่งความเป็นจริง ถือเป็นเรื่องสยองขวัญพอๆ กับหนังกำพร้าที่แขนหลุดลอกเป็นแผ่นหนืด หรือตื่นเช้ามาเจอตัวเองนอนจมกองเมือกเหนียวอยู่บนเตียง – ราวกับว่าร่างกายกำลังลอกคราบ ต้องคอยปิดซ่อนให้พ้นสายตาคน

Justine ที่ชอบให้คนอื่นเรียกว่า “จูเนียร์” คือเด็กหญิงที่กำลังลอกคราบคนนั้น

เรื่องย่อทางการของหนังเขียนระบุชัดว่าจูเนียร์เป็นทอมบอย แม้ตัวละครที่เราเห็นอาจไม่ได้ตรงนิยามขนาดนั้น เชื่อได้ว่าหนังตั้งใจใช้คำอธิบายนี้กับตัวละครเพื่อขับเน้นแรงเสียดทานระหว่างความเป็นเด็กหญิงกับผู้หญิง (หรือวัยรุ่นหญิง) ในช่วง puberty ให้เห็นเด่นชัด เพราะในขณะที่จูเนียร์สู้รบกับร่างกายของตัวเอง ภาวะภายในของเธอก็ค่อยๆ เปลี่ยนจากเด็กแว่นหน้ามันหัวยุ่งใส่เหล็กดัดฟัน ใส่เสื้อทีละ 4-5 ชั้นไปโรงเรียนเพื่อปกปิดรูปร่าง เรอเสียงดังตอนครูเรียกไปทำโจทย์เลขหน้าชั้น และมีกลุ่มเพื่อนสนิทเป็นแก๊งชายล้วนปากหมา ไปสู่ตัวตนใหม่

body horror ในน้ำเสียงของ Ducournau นั้นเชื่อมโยงใกล้ชิดกับประสบการณ์ความรู้สึกอย่างมนุษย์ –ต่างจากความสยองขวัญผ่านเนื้อตัวร่างกายในผลงาน body horror ทั้งของเหล่าปรมาจารย์กับหนังที่เพิ่งสร้างภายใต้บรรยากาศข้อถกเถียงของช่วง 1-2 ทศวรรษหลัง ซึ่งมักถูกอ่านหรือตีความในแนวทางหลังมนุษย์ (posthuman) เมื่อร่างบิดเบี้ยวพาไปสู่ข้อถกเถียงเรื่องความเป็นคน– เพราะร่างกายที่ “แตกเนื้อสาว” ไม่ได้เปลี่ยนเด็กหญิงจากมนุษย์เป็นตัวประหลาด แต่ลอกคราบจูเนียร์ให้จัสตินเปลี่ยนผ่านจากเด็กหญิงสู่วัยรุ่นหญิง ค้นพบเพื่อนร่วมประสบการณ์ใหม่ ตัวตนหรือนิยามใหม่ในเชิงอัตลักษณ์ และกระทั่งภราดรภาพ (solidarity) ที่เธอเพิ่งได้เริ่มเรียนรู้

Junior (2011)

จูเนียร์ที่ผ่านประสบการณ์เรื่องตัวตนแบบวัยเด็กคงมองว่าตัวเองใกล้เคียงความเป็นชายมากกว่า (ให้คนเรียกจูเนียร์เพราะฟังดู “แมน” กว่าชื่อจริง) มีพี่สาวคนสวยที่ดูไม่สนิทกันนัก ตอนแก๊งเพื่อนแซวพี่ก็ไม่เคยรู้สึกอะไร แถมยังไม่กินเส้นกับพวกสาวเฟียซ mean girls ที่แสดงออกแต่งตัวมีร่างกายแบบวัยรุ่นไปแล้ว – ความเป็นหญิงค่อยๆ กลายเป็นตัวตนใหม่ เมื่อร่างกายที่เปลี่ยนแปลงทำให้รู้ว่าพวกผู้หญิงที่เธอเหม็นหน้าก็เคยผ่านหรือกำลังผ่านประสบการณ์ลอกคราบ จับมือกับพี่สาวสั่งสอนเอาคืนไอ้เพื่อนปากเปราะในแก๊ง และกับเจ้าหนุ่มเพื่อนบ้านคนสนิทก็ได้ขยับความสัมพันธ์จากแบบเด็กชายเด็กหญิงเป็น “ผู้ชาย-ผู้หญิง” ในขั้นแรกเริ่ม

ถึงฉากจบแสนหวานหนังรักวัยรุ่นจะดูเข้าสูตรลูกเป็ดขี้เหร่แบบซื่อๆ (บางคนอาจถึงขั้นเห็นว่าเข้าข่ายเปลี่ยนทอมให้เป็นเธอ) แต่ร่องรอยความกำกวมเลื่อนไหลเรื่องตัวตนหรืออัตลักษณ์ชายหญิงก็ปรากฏชัด ทั้งผ่านชื่อตัวละครและความเข้าใจที่เธอมีต่อชื่อเหล่านั้น คำว่า junior ซึ่งฟังดูแมนในโลกที่นิยมใช้เรียกหรือต่อท้ายชื่อผู้ชาย (ที่เด็กหรืออ่อนวัยกว่า) แต่จริงๆ แล้วตัวคำถือว่าเป็นกลางทางเพศ ในขณะที่ Justine ก็เป็นชื่อผู้ชายได้ถ้าตัด e ตัวท้ายที่เปลี่ยนคำให้เป็นเพศหญิงตามระบบไวยากรณ์ของภาษาฝรั่งเศส (Titane พุ่งชนความกำกวมนี้อย่างจงใจ เมื่อหนังให้นางเอกปลอมตัวเป็นชายแล้วสร้างตัวตนใหม่อย่างพิสดาร)

Raw (2016)

ทั้งหมดนี้ยิ่งชัดเจนเมื่อ Ducournau ใช้ Raw ขุดลึกสำรวจความเหลื่อมซ้อนของจัสตินอย่างหมดเปลือก ทั้งการเรียนรู้ประกอบสร้างอัตลักษณ์ใหม่ รวมถึงพลังงานกับพลวัตในระบบความสัมพันธ์ระหว่างผู้หญิงที่เผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงระดับร่างกายและจิตวิญญาณกับผู้คนบนโลกทั้งใบและตัวเธอเอง

ต่อให้ไม่ใช่คนเดียวกับจูเนียร์ (ข้อความพ่นสีบนกำแพงช่วงต้นเรื่องของ Raw เขียนตัวใหญ่กระแทกตาว่า Junior is dead.) จัสตินก็ยังคงมีพี่สาวที่ดูห่างเหินขาดการติดต่อ แล้วได้เริ่มต้นทำความรู้จักกันใหม่ภายใต้เงื่อนไขของสิ่งแวดล้อมและสังคมใหม่ พร้อมๆ กับที่ต้องรับมือสภาวะสยองขวัญบนเนื้อตัวร่างกาย แต่เมื่อเธอกับคนดูเริ่มเห็นว่าความเปลี่ยนแปลงคราวนี้กัดกินลึกถึงระดับความรู้สึกนึกคิด แทนที่ตัวตนใหม่ซึ่งร่วมอัตลักษณ์และประสบการณ์กับพี่สาวจะก่อเกิดเพียงภราดรภาพกับความรู้สึกเชื่อมโยงเหมือนครั้งลอกคราบเมื่อวัยเยาว์ใน Junior สองพี่น้องกลับต้องต่อสู้กับโลกทั้งใบและฟาดฟันกันเอง

จัสตินเติบโตมาในครอบครัวมังสวิรัติ ตัวเธออาจไม่ได้ซีเรียสเรื่องกฎเกณฑ์หรือความเสี่ยงเกี่ยวกับเนื้อสัตว์เท่าแม่ (ในร้านอาหารตอนต้นเรื่อง พนักงานตักมันบดติดมีทบอลใส่จาน ลูกไม่เห็นเป็นเรื่องใหญ่ส่วนแม่ลุกไปโวยวาย) แต่ก็ไม่เคยอึดอัดหรือมีปัญหากับแนวทางของที่บ้าน เชื่อสนิทใจว่าการเป็นมังสวิรัตินั้นถูกต้องเพราะสอดคล้องกับแนวคิดเรื่องสิทธิสัตว์ และตอนนี้กำลังจะเป็นเฟรชชี่ปีหนึ่งคณะสัตวแพทย์

หลังเริ่มเข้าพิธีกรรมรับน้องแบบถึงเลือดถึงเนื้อ ได้เห็นตัวตนใหม่ของอเล็กเซีย (พี่สาว) ที่แทบกลายเป็นคนละคนอย่างสิ้นเชิง เห็นภาพหลักฐานว่าพ่อแม่ก็เป็นศิษย์เก่าคณะนี้ สถานการณ์ก็ผลักให้จัสตินได้สัมผัสรสชาติที่ไม่เคยกินเมื่ออยู่กับพ่อแม่ ถูกกระตุ้นด้วยชิ้นส่วนของสัตว์เล็ก (ร่างกายเกิดผื่นแพ้แดงตกสะเก็ดรุนแรง) กลิ่นคาวเลือดสัตว์ รสชาติเลือดคน เริ่มแอบขโมยเนื้อในโรงอาหาร แอบกินเนื้อดิบในตู้เย็น แล้วค่อยตระหนักรู้อย่างยิ่งใหญ่ว่าเนื้อคนต่างหากที่ร่างกายเธอกำลังโหยหาเรียกร้อง

สิ่งที่ลับให้ Raw เป็นหนังที่แหลมคมอย่างยิ่งคือชั้นเชิงของ Ducournau – ตั้งแต่สายตาที่กล้องเลือกจับจ้องร่างกายมนุษย์อย่างใกล้ชิดเย็นชาเหมือนเวลาหมอพูดถึงความตายหรือเลือดเนื้ออย่างเปิดเผย (สมกับเป็นลูกหมอผิวหนังและหมอสูติ) เพื่อให้คนดูรู้สึกความเจ็บปวดแปลกแยก ไปจนถึงบทภาพยนตร์ที่เขียนให้เส้นทางสู่ตัวตนของจัสตินเต็มไปด้วยแรงเสียดทาน และขวากหนามอุปสรรคที่คอยกรีดแทงเนื้อตัวเธอตลอดเรื่อง ล้วนสะท้อนความโกลาหลที่มนุษย์ผิดแปลกต้องประสบพบเจอ เมื่อสถานการณ์หรือความกลัวกดดันให้ต้องพยายามมองหาตำแหน่งแห่งที่ในสังคม ซึ่งเต็มไปด้วยการนิยามความถูกต้องปกติที่เมื่อเปลี่ยนบริบทแล้วขัดแย้งแตกต่างกันสุดขั้ว หรือเหลื่อมซ้อนเบลอเส้นจนตัดสินไม่ได้

กระทั่งภายใต้เงื่อนไขอย่างมนุษย์ปกติก็ยังเหลื่อมซ้อน บทพูดตอนหนึ่งของอเล็กเซียอธิบายความรู้สึกในอดีตที่เธอคิดว่าตัวเองเป็นเด็กประหลาดในครอบครัว ตรงข้ามกับน้องสาวที่เป็นลูกรักของพ่อแม่ แต่ทุกคุณสมบัติ “เด็กดี” ของจัสติน (กินมังสวิรัติ เชื่อฟัง ไม่แต่งหน้า ไม่แต่งตัว) พลิกเป็นเรื่องประหลาดทันทีในมหาวิทยาลัย ส่วนตัวตนใหม่ของอเล็กเซียกลืนเข้าหาสังคมใหม่ได้ค่อนข้างสนิท (เธอพยายามปรับลุคน้องสาวให้ “เป็นตัวเอง” ตามครรลองของโลกที่สังกัดอยู่ ตั้งแต่เลือกเดรสใส่ไปปาร์ตี้ถึงบิกินีแว็กซ์) ก่อนจัสตินจะรู้ความจริงว่าทั้งหมดเป็นสิ่งที่ถูกสร้างเพื่อปกปิดสิ่งที่แฝงซ่อนอยู่ภายในตัวทั้งสอง – อัตลักษณ์ที่ทำให้พวกเธอเป็นตัวประหลาด

ถึงเนื้อเรื่องทั้งหมดจะมีลักษณะของเทพนิยายที่ตัดขาดโลกจริงอย่างสมบูรณ์ เส้นทางการเรียนรู้ค้นพบตัวตนของเควียร์ในโลกร่วมสมัย (เควียร์ที่กินความกว้างกว่าเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศ / โลกร่วมสมัยที่มีทวิตเตอร์ ทัมเบลอร์ อินสตาแกรมแล้ว) หลายต่อหลายครั้งก็ไม่ต่างกับจัสตินที่พบว่าตัวเองกลายเป็นปีศาจ ต่อให้ไม่ใช่ปีศาจเดียวดายก็ต้องสู้กับปีศาจด้วยกันเอง เพราะในโลกที่คลื่นกระแสนิยมการเมืองอัตลักษณ์ (identity politics) กับความถูกต้องทางการเมือง (political correctness) ถูกแปรรูปเป็นศีลธรรมสมัยใหม่ กลุ่มชนที่ขยันเขียนภาพปีศาจให้มนุษยชาติกลัวไม่ได้จำกัดแค่พวกชายเป็นใหญ่หรือรักต่างเพศอีกต่อไป

หลักฐานสนับสนุนข้อสังเกตนี้คือการดำรงอยู่ของอาเดรียน รูมเมทเกย์เชื้อสายอาหรับของจัสติน วัตถุแห่งความปรารถนาของสองพี่น้องที่เร่งปฏิกิริยาให้ความเหลื่อมซ้อนเบลอเส้นทั้งหมดยิ่งหนักหน่วง หนังจัดวางความกระหายเนื้อมนุษย์ในย่านความถี่เดียวกับแรงดึงดูดทางเพศ (จนไม่แน่ใจว่าในหัวสองพี่น้องอยากกินเขาหรืออยากกินเลือดกินเนื้อเขา) เมื่อเซ็กซ์ของอาเดรียนครั้งที่กระตุ้นจัสตินคือการดูดกินแท่งเนื้อ ส่วนเซ็กซ์ครั้งแรกของเธอเดือดดาลประหนึ่งสัตว์ร้ายกระหายเลือด – และเมื่อความสัมพันธ์ระหว่างเขากับปีศาจทั้งสองไปถึงจุดสุดยอด ทุกอย่างก็ยิ่งซับซ้อนเมื่อตัวละครที่ out and proud เรื่องอัตลักษณ์ตัวตนมากที่สุดในหนัง กำลังเริ่มหวั่นเกรงว่าตัวเองอาจถูกมองเป็นปีศาจ

โลกที่ Ducournau จำลองให้เป็นเสมือนภาพแทน “โลกปกติ” (ที่จัสติน อเล็กเซีย และเควียร์ในโลกร่วมสมัยต่างพยายามหาวิธีเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่ง) จึงดำเนินกลไกไปด้วยวิธีคิดผิดเพี้ยน รุนแรงป่าเถื่อน อำนาจนิยม และธำรงความถูกต้องของผู้คุมกฎผ่านพิธีกรรม คณะสัตวแพทย์มหาวิทยาลัยนิรนามในฝรั่งเศสรับน้องใหม่ได้เลวทรามพอๆ กับระบบโซตัสที่พบเห็นในประเทศโลกที่สามแถวนี้ ทั้งยกพวกไปทำลายข้าวของในหอพักนักศึกษาใหม่ บังคับปีหนึ่งให้เข้าแถวคลานสี่ขาอย่างสัตว์ นับรุ่นด้วยการสาดเลือดสัตว์ใส่รุ่นน้องวันถ่ายรูปรวม บังคับกินเครื่องในสัตว์ กำหนดเครื่องแต่งกายประจำวัน เวลาเดินให้มองพื้นห้ามสบตารุ่นพี่ และปาร์ตี้ที่กดดันทุกคนให้เข้าร่วมแล้วแสดงออกทางเพศแบบล้นเกิน

Raw (2016)

อาจพูดได้ว่าตัวตนของจัสตินที่เปลี่ยนพลิกขั้วจากมังสวิรัติสู่มนุษย์กินคน (ซึ่งโลกร่วมสมัยนับว่าเถื่อนถ้ำดึกดำบรรพ์) ท้าทายเส้นความถูกต้องปกติที่ว่ามาทั้งหมด ตอนที่ร่างกายเธอยังไม่ถูกกระตุ้นให้อยากเนื้อ จัสตินที่ปฏิเสธเนื้อสัตว์แสดงจุดยืนปกป้องสิทธิสัตว์กับเพื่อนปีหนึ่งในโรงอาหาร ยืนยันว่าสัตว์มีความคิดความรู้สึก ลิงตัวเมียถ้าถูกข่มขืนก็คงเจ็บปวดทรมานใจไม่ต่างจากมนุษย์ พูดไม่ทันขาดคำ แก๊งผู้หญิงโต๊ะข้างๆ รีบสวนว่าคิดแบบนั้นผู้หญิงก็แค่เท่าๆ กับลิงตัวหนึ่งงั้นสิ ฟังดูถูกต้องและเป็นมนุษย์อย่างยิ่ง ในบริบทของ “โลกปกติ” ที่มีพันธกิจเกี่ยวข้องกับชีวิตสัตว์ แต่ใช้อวัยวะภายในกับเลือดสัตว์เป็นเครื่องประกอบพิธีกรรม และกดขี่บังคับมนุษย์เป็นฝูงสัตว์เพื่อแสดงอำนาจ

จากตัวประหลาดไม่กินเนื้อสัตว์สู่ปีศาจกินคน เราควรอ่านสถานะตัวตนใหม่ของจัสตินอย่างไร – เธอสูญเสียความเป็นมนุษย์แล้วกลายเป็นสัตว์เต็มตัวในสภาพแวดล้อมที่กดดันกระตุ้นจนเผยธาตุแท้ หรือกลายเป็นมนุษย์ผู้ถือครองตัวตนที่ถูกตีตราว่าปีศาจ ทว่าสันดานดิบกลับสอดคล้องกระทั่งพาความเชื่อเรื่องสิทธิสัตว์จากตัวตนเก่าไปถึงจุดสูงสุด เพราะตัวเองหาได้ปรารถนาเนื้อสัตว์ใดนอกจากเนื้อมนุษย์

คงไม่มีคำตอบตายตัว เพราะขนาดพ่อแม่มังสวิรัติใช้เวลากว่ายี่สิบปีก็ยังค้นไม่พบ บทสรุปจาก “โลกปกติ” ของสองพี่น้องลงเอยคนละทาง หากยังต้องแตกสลายด้วยแรงกดดันและไม่อาจเป็นส่วนหนึ่งของโลกนั้นเหมือนกัน

ชญานิน เตียงพิทยากร
เขียนเกี่ยวกับภาพยนตร์ที่ Starpics, Bioscope (อดีต), The Momentum, a day, Film Club และแหล่งอื่นตามแต่จังหวะโอกาส / รางวัลชมเชยกองทุนหม่อมหลวงบุญเหลือฯ ประจำปี 2018 และ 2020 / สภาพ: ไล่ดูหนังใกล้หมดอายุใน Netflix และ MUBI

LATEST REVIEWS