Godzilla: King of the Monsters – สมดุลโลกในมือสัตว์ร้าย

(2019, Michael Dougherty)

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา หนังแนวภัยพิบัติจำนวนมากเน้นประเด็นเรื่อง “ธรรมชาติที่คืนสู่สมดุลหลังภัยพิบัติ” ในจำนวนหนังที่ว่านี้ Godzilla: King of the Monsters ก็เป็นหนึ่งในนั้น โดยหนังได้พยายามให้ความชอบธรรมแก่การมีอยู่ของสัตว์ประหลาดยักษ์หลายตัวทั่วโลก ในฐานะ “ผู้คืนความสมดุลสู่โลกธรรมชาติ” และสร้างภาพว่ามนุษย์เป็นต้นเหตุของการล่มสลายของธรรมชาติ จากความพยายามที่จะตั้งต้นเป็น “พระเจ้า” ที่ควบคุมทุกอย่างเสียเอง

Godzilla: King of the Monsters เล่าเรื่อง 5 ปี หลังจากโลกได้ค้นพบว่ามีสัตว์ประหลาดยักษ์อาศัยอยู่ร่วมกับมนุษย์ โดยเล่าผ่านสายตาของ ดร. เอมมา รัสเซล ผู้เชี่ยวชาญเรื่องสัตว์ประหลาด ที่สูญเสียลูกชายไปจากการบุกเมืองของก็อดซิลลา เธอหย่าขาดจากสามีหลังเหตุการณ์นั้น และอาศัยอยู่กับแมดิสัน ลูกสาวที่รู้เรื่องงานของแม่และมีความสนใจในสัตว์ประหลาดยักษ์เช่นเดียวกัน ทั้งสองได้รับแจ้งถึงการตื่นขึ้นของม็อธรา สัตว์ประหลาดคล้ายแมลงที่ “โมนาร์ค” องค์กรวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาสัตว์ประหลาดยักษ์ควบคุมอยู่ และได้เดินทางไปใช้เครื่อง “ออร์กา” เครื่องมือที่จำลองคลื่นเสียงของสัตว์ประหลาด เพื่อปลุกม็อธราขึ้นมา ในขณะเดียวกัน ผู้ก่อการร้ายกลุ่มหนึ่งก็เดินทางมาควบคุมตัวเอ็มมาและแมดิสัน และยึดเครื่องออร์กาไป โดยที่เอ็มมาไม่ได้ขัดขืน เพราะเธอทำงานกับคนกลุ่มนี้ในการปลุกสัตว์ประหลาดยักษ์ขึ้นมาทั่วโลก เพื่อให้พวกมันคืนสมดุลให้แก่โลก

ในอีกทางหนึ่ง ดร. มาร์ค รัสเซล อดีตสามีของเอ็มมาที่เคยร่วมงานกัน ก็ถูกทีมนักวิทยาศาสตร์และทหารตามตัวเพื่อจะแกะรอยก็อดซิลลาที่ไม่ได้ปรากฎตัวขึ้นมากว่า 5 ปี ไปยังแอนตาร์กติกา ที่นั่น พวกเขาได้พบกับการตื่นขึ้นของ “มอนสเตอร์ซีโร” อสูรยุคดึกดำบรรพ์ จากฝีมือการปลุกของเอ็มมาและผู้ก่อการร้าย พวกเขาเกือบเอาชีวิตไม่รอด แต่ก็อดซิลลาก็ปรากฎตัวขึ้นและสู้กับมอนสเตอร์ซีโรจนมันล่าถอยไป หลังจากนั้นพวกเขาก็ต้องแกะรอยเอ็มมาไปที่อื่น เพื่อจะรับมือกับการที่เธอปลุกเหล่าอสูรขึ้นมาอีก

ธีมหนังมีความน่าสนใจในจุดที่ทำให้การปรากฏตัวของ “ผู้ก่อการร้ายเชิงนิเวศน์” หรือ eco-terrorist มีความชอบธรรมอยู่ในที เพราะเราก็อดตั้งคำถามไม่ได้ว่า ถ้าปล่อยให้มนุษย์ครองโลกต่อไป โลกก็คงถึงการล่มสลายจากปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ทวีความร้ายแรงขึ้นทุกปี ในระหว่างที่หนังพยายามทำให้เห็นเหตุผลของคนกลุ่มนี้ หนังก็ได้ปล่อยเนื้อเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตำนานของอสูร ว่าในอดีต มนุษย์อยู่ร่วมกับอสูรเหล่านี้ได้อย่างกลมกลืน และพวกมันมีสถานะไม่ต่างจากเทพเจ้า จุดเปลี่ยนคงเป็นการที่มนุษย์เข้าถึงเทคโนโลยีสมัยใหม่ และทำให้ตัวเองกลายเป็นผู้อยู่สูงสุดของห่วงโซ่อาหารเสียเอง จึงทำให้เหล่าสัตว์ร้ายต่างจำศีล รอวันที่พวกมันจะทวงอำนาจคืนอีกครั้ง

คู่ตรงข้ามที่ชัดเจนในหนัง หนีไม่พ้นคู่ตรงข้ามระหว่าง “ธรรมชาติ” และ “วัฒนธรรม” (nature-culture dualism) อันเป็นวาทกรรมกระแสหลักตั้งแต่ยุคโมเดิร์นเป็นต้นมา ตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 20 แผ่นดินอันเป็นธรรมชาติ ซึ่งมักถูกเปรียบเปรยเข้ากับร่างกายของผู้หญิง (เช่นคำว่า mother nature) ถูกมองว่าเป็นที่ซ่อนเร้นพลังอันควบคุมไม่ได้ เป็นความป่าเถื่อน เป็นโลกที่อยู่นอกหลักเหตุผล และเป็นภัยคุกคามที่ทำอันตรายให้แก่มนุษย์ซึ่งมีความ “ศิวิไลซ์” โลกของมนุษย์นั้นเป็นโลกของวัฒนธรรม เป็นโลกแห่งเหตุผล (อันเป็นแนวคิดที่สืบเนื่องมาจากยุค Enlightenment ในศตวรรษที่ 18) และเป็นโลกที่เราสามารถควบคุมบงการได้โดยใช้อำนาจของเครื่องมือและเทคโนโลยี แต่การมองแบบโมเดิร์นกำลังถูกทำให้เปลี่ยนไปแล้วในยุคนี้ เมื่อคนได้นิยามคำว่า “ธรรมชาติ” ต่างออกไป ในฐานะสิ่งที่ไม่แยกขาดจากตนเอง

คำถามที่ว่า “อะไรคือธรรมชาติ” ยังคงเป็นคำถามที่ไหลเวียนอยู่ในกระแสของนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและผู้ศึกษาเชิงสิ่งแวดล้อม เพราะที่จริง ไม่ใช่เพราะธรรมชาติหรอกหรือที่ทำให้มนุษย์มีชีวิตรอดและสร้างวัฒนธรรมขึ้นมาได้ การนิยามธรรมชาติในยุค post-modern เป็นต้นมามีความซับซ้อนมากกว่าคู่ตรงข้าม เพราะวัฒนธรรมกับธรรมชาติเป็นส่วนต่อขยายซึ่งกันและกัน การพยายามกลับสู่ธรรมชาติ ในแง่หนึ่งมันไม่ได้เป็นการ “กลับไป” แต่เป็นการรื้อฟื้นความสัมพันธ์ที่ทั้งโลกธรรมชาติและวัฒนธรรมพึ่งพากันและกันขึ้นมา เป็นการ “มองให้เห็น” สายใยที่ถูกทำให้เจือจางระหว่างโลกสองแบบนี้

กลับมาพูดถึงหนังกันบ้าง ไวยากรณ์ของสัตว์ประหลาดในหนังเป็นไวยากรณ์ที่แสดงให้เห็นโลกฝ่ายธรรมชาติ ในความหมายของความรุนแรงและควบคุมไม่ได้ สัตว์ประหลาดไม่ได้แสดงท่าทีเหมือนคน อย่างเช่นที่ไวยากรณ์ของสัตว์ในโลกดิสนีย์ทำให้เป็น มันมีแรงขับของตนเองที่มนุษย์พยายามจะทำความเข้าใจ แต่ไม่อาจเข้าใจได้ถ่องแท้ และการดำรงอยู่ของมันทำให้โลกธรรมชาติฟื้นคืนจากรังสีที่มันปล่อยออกมาจากตัว (และอาจจะนับการกำจัดมนุษย์จำนวนหนึ่งไปด้วยหรือไม่? จุดนี้หนังไม่ได้ให้คำตอบ) ในแง่หนึ่ง หนังแสดงให้เห็นถึงความน่าเกรงขามของการที่ธรรมชาติ “เอาคืน” มนุษย์ที่ทำตัวเป็นพระเจ้า เพราะธรรมชาติ (ในรูปของก็อดซิลลาและสัตว์ร้าย) ต่างหากที่เป็นพระเจ้าตัวจริง แต่มนุษย์ต้องพึ่งพิงสัตว์ร้ายในการดำรงอยู่ต่อไปได้ ดังนั้น ขั้วทั้งสองระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติจึงไม่ได้ถูกทำให้แยกขาดจากกันเสียทีเดียว

อย่างไรก็ตาม หนังยังคงมีจุดที่ทำให้สงสัยว่า จะคารวะธรรมชาติในแบบที่มันเป็น หรือจะกลับเข้าควบคุมธรรมชาติกันแน่ โดยจุดนี้แสดงออกผ่านการที่มนุษย์ใช้เครื่องออร์กาในการปลุกสัตว์ร้ายขึ้นมา ซึ่งในแง่หนึ่ง หากเหล่าผู้ก่อการร้ายเป็นสายสุดโต่งจริงๆ พวกเขาคงไม่เลือกทางนี้ แต่เลือกให้พวกมันตื่นขึ้นมาเองมากกว่า เครื่องออร์กาเป็นเสมือนอาวุธของมนุษย์ที่ใช้ควบคุมเหล่าสัตว์ประหลาดอีกที และในแง่นี้ มันแสดงให้เห็นอำนาจของมนุษย์ที่เหนือกว่าสัตว์ร้าย และยังคงทำให้มนุษย์เป็นจ่าฝูงอยู่นั่นเอง

อีกจุดหนึ่งที่แสดงให้เห็นมุมมองแบบมนุษย์เป็นใหญ่คือตอนท้ายของเรื่อง ที่เหล่าสัตว์ร้ายต่างเดินทางมาคารวะก็อดซิลลาในฐานะราชาแห่งมอนสเตอร์ ท่าทางการโค้งคำนับแบบที่หนังแสดงให้เห็น เป็นท่าทางที่เลียนแบบมนุษย์ ซึ่งทำให้หนังไม่พ้นไปจากการมองผ่านนอร์มของมนุษย์ที่ต้องการเข้าควบคุมสัตว์ พูดง่ายๆ คือ “สัตว์ร้ายต้องทำตัวเลียนแบบมนุษย์เท่านั้นจึงจะมีคุณค่า” ฉากดังกล่าวนี้ทำให้ความควบคุมไม่ได้ของสัตว์ร้ายที่ดำเนินมาทั้งเรื่องลดความเข้มข้นลง และทำให้เห็นวิธีคิดของหนังที่ยังคงมีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง

มีคนกล่าวไว้ว่า คนที่ขัดแย้งกันสองคนจะมาคืนดีกันได้เมื่อมีศัตรูร่วม และนี่นำมาสู่จุดที่น่าสนใจที่สุดของหนัง นั่นคือ การสร้าง “สร้างศัตรูฝ่ายที่ 3” ขึ้นมา ในทีแรกมันดูเป็นเหมือนการตีกันระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติเท่านั้น แต่หนังไม่พอแค่นั้น เพราะมันทำให้มีอีกฝ่ายเข้ามาแจมด้วย หลังจากที่เหล่านักวิทยาศาสตร์ตามไปพบการฟื้นคืนชีพของสัตว์ร้ายหลายตัว พวกเขาก็ค้นพบว่า จริงๆ มอนส์เตอร์ซีโรไม่ใช่อสูรดึกดำบรรพ์ที่อยู่ในโลกนี้ แต่มันมาจากนอกโลก! หรือพูดง่ายๆคือเป็นเอเลียน! และมันจะไม่ได้ทำหน้าที่คืนสมดุลให้แก่โลก แต่กลับจะมาทำลายโลกให้พินาศ!

เมื่อมาถึงจุดนี้ มนุษย์กับก็อดซิลลาที่กำลังตีกันอยู่จึงต้องร่วมมือกันเพื่อกำจัดเอเลียน ซึ่งการหักมุมตรงนี้ทำให้ตื่นตาตื่นใจได้ดีพอสมควร และทำให้สมการ “ธรรมชาติคืออะไร” ซับซ้อนขึ้นไปอีก เราจะนับอุกกาบาตที่มาจากนอกโลกเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติหรือไม่? ถ้าไม่ใช่ นิยามของธรรมชาติคืออะไรกันแน่? ซึ่งจะเป็นเรื่องชวนคิดมากหากหนังสำรวจประเด็นนี้ต่อไป แต่ดูเหมือนหนังจะพยายามทำให้เส้นเรื่องมันง่ายเข้าไว้ด้วยการจัดเอเลียนเป็นสิ่งนอกธรรมชาติ และมีขึ้นมาเพื่อให้มนุษย์และธรรมชาติคืนดีกันนั่นเอง


ดู Godzilla: King of the Monsters ได้ที่ Netflix

นภัทร มะลิกุล
จบการศึกษาจากเอกปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ปัจจุบันเป็นนักวิจารณ์หนังและหนังสือให้กับสื่อออนไลน์ และยังเป็น co-founder ของบล็อกคุยเรื่องหนัง afterthescene.com เธอชอบเรียนรู้เรื่องมนุษย์ผ่านสื่อและศิลปะ และมีเป้าหมายอยากเป็นนักเรียนรู้ตลอดชีวิต

LATEST REVIEWS