Home Review Film Review แอน : Will We Belong?

แอน : Will We Belong?

0
แอน : Will We Belong?

*หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้เปิดเผยเนื้อหาส่วนสำคัญของภาพยนตร​์

ในตอนท้ายเรื่องของ Where We Belong หลังจากที่ซูสูญเสียทุกความใฝ่ฝันที่จะออกไปให้พ้นจากเมืองเล็ก ๆ ที่เงียบเหงานี้ ไปให้พ้นจากมรดกร้านก๋วยเตี๋ยวของพ่อและชีวิตที่เธอแทบไม่ได้เป็นเจ้าของ คืนนั้นหลังจากแน่แก่ใจว่าการไปจากเมืองคงไม่ได้เป็นไปอย่างที่เธอหวัง เธอมาที่บ้านของเบลล์เพื่อนสาวคนสนิทคล้ายมาเพื่อลา จากนั้นเธอก็เดินหายไปในความมืดที่สวนหลังบ้าน ป่าที่มืดสนิทในเมืองที่เธอไม่ได้เป็นส่วนหนึ่ง โดยไม่รู้ตัวบางทีเธออาจตื่นขึ้นในห้องกรุวอลล์เปเปอร์ลายดอกไม้ ห้องปิดสนิทเหมือนห้องในโรงแรม หน้าต่างเป็นกระจกหม่นมัว มองไม่เห็นทัศนียภาพใด ๆ ในห้องมีหนังสือไบเบิล มีรูปที่ปลายเตียง รูปลายเส้นคล้ายใบหน้าทุกข์ทรมานของหญิงสาวหลายคนที่รวมกันเข้าเป็นภาพกวางตัวหนึ่ง และตอนนี้เธอชื่อแอน เหมือนกับเด็กสาวรุ่นราวคราวเดียวกันในห้องข้าง ๆ ที่ทุกคนก็ชื่อแอนเหมือนกัน แอนที่เป็นพหูพจน์ เป็นมวลไร้ใบหน้าเพราะใบหน้าของแอนเปลี่ยนไปทุกสองนาที 

เหล่าแอนพหูพจน์ในห้องปิดจะถูกฉีดยาให้สงบ ได้พบกับคุณหมอที่จะเข้ามาสะกดจิต ระหว่างนั้นพวกเธอจะเผชิญภาพฝันลึกลับที่เกี่ยวกับการเดินทางท่องเที่ยว การขับรถในเวลากลางคืน ท้องทะเล หมวกที่ปลิวลงน้ำ และชายคนหนึ่งที่ยืนหันหลังให้

เหล่าแอนพหูพจน์ไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นกับตัวเอง บางคนไม่กล้าออกไปไหน บางแอนพยายามชักชวนให้แอนอีกคนหนี บางแอนไปได้ใกล้ บางแอนไปได้ไกล ในแต่ละคืนเมื่อถึงเวลาสถานที่นั้นจะเปิดเพลงเป็นไปไม่ได้ของดิอิมพอสซิเบิ้ล เสียงเพลงเก่าแก่หลอนหลอก ปีศาจปรากฏ พวกเธอจะโดนไล่ล่าโดยเวติโก ปีศาจหัวกวาง ที่มาเพื่อฆ่า ไม่ว่าจะอยู่ในห้องหรือหลบหนีออกไป ปีศาจหัวกวางก็จะตามฆ่าเหล่าแอน ทุกคืนจบลงด้วยความตาย 

มันคือลูปที่ปรากฏซ้ำ แอนเอกพจน์คนที่หนึ่งตายลง อาจกลายเป็นแอนเอกพจน์คนที่สองและจะตายเพื่อกลายเป็นแอนเอกพจน์คนที่สามในวันต่อมา แอนค้นพบว่า ‘ถ้าเราทำไม่เหมือนเดิม ผลลัพธ์ก็จะไม่เหมือนเดิม’ น่าขันที่ไม่ว่าแอนจะพยายามกี่ครั้งก็ตามแต่ เวติโกก็จะตามมาฆ่าแอน เพื่อที่จะตื่นมาในห้องและโดนสะกดจิตโดยหมอคนเดิม แอนค้นพบแอนอีกมากมายที่พูดเหมือนที่แอนพูด และเป็นแอนแทนที่ในวงจรของการทำไม่เหมือนเดิมของแอนที่ผลลัพธ์สุดท้ายก็เหมือนเดิมไปเสียอย่างนั้น

หนังจึงคือการพยายามครั้งแล้วครั้งเล่าของแอนในการหลบหนี ทั้งจากที่นี่ และจากเวติโก เมื่อหนีไม่ได้ก็ต้องสู้ แม้จะไม่รู้ว่าจะชนะหรือแพ้ก็ตาม 

นับจาก สยิว (2003) มาจนถึงตอนนี้ เราอาจบอกได้เต็มปากว่า คงเดช จาตุรันต์รัศมี คือหนึ่งในคนทำหนังที่คมคายที่สุดในการบันทึกประวัติศาสตร์การเมืองไทยผ่านหนังที่ดูเหมือนไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับการเมือง หนังของเขามักเล่าเรื่องตัวละครที่แปลกแยกผิดมาตรฐานของสังคมและชะตากรรมพิลึกพิลั่นที่พวกเขาและเธอต้องเผชิญ ซึ่งสามารถตีความย้อนกลับไปยังสภาพของบ้านเมืองในแต่ละช่วงที่ห่มคลุมอยู่ เราไม่อาจปฏิเสธชั้นของการเมืองบาง ๆ ที่ห่มคลุมอยู่ในหนังของคงเดชมาตลอด หนักบ้างเบาบ้าง จนอาจกล่าวได้ว่าไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ หนังของเขาสามารถใช้อธิบายประวัติศาสตร์การเมืองร่วมสมัยของสังคมไทยได้ตามลำดับเวลาใต้โครงสร้างของหนังรัก หนังเดินทาง หรือหนังวัยรุ่น

ฉิ่ม (2005) คว้าจับห้วงยามปลายยุคทักษิณที่ความดีความงามความจริงถูกท้าทายตรวจสอบ ทำลายล้างโลกอันสงบสุขแบบเดิมๆ ของ นายสมบัติ ดีพร้อม แท็กซี่คนซื่อที่มีชีวิตแต่ในโลกเฉพาะที่เขาสร้างขึ้นมาเอง, กอด (2008) อธิบายยุคสมัยหลังการรัฐประหารครั้งแรกของไอ้ขวานสามแขนที่เดินทางไปในโลกดิสโทเปียของถนนหลวงในประเทศนี้, แต่เพียงผู้เดียว (2011) พูดประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้างของช่างกุญแจกับเด็กร้านหนังสือที่แอบเข้าไปใช้ความทรงจำในห้องของผู้อื่นและพบว่าความทรงจำของตัวเองต่างหากที่ถูกขโมย ความทรงจำอันเลอะเลือนและถูกสร้างขึ้นใหม่ในขวบปีที่ประเทศแตกออกเป็นสองด้วยชุดของประวัติศาสตร์ที่ไม่เหมือนกัน ก่อนที่ทุกอย่างจะระเบิดออกใน ตั้งวง (2013) ภาพบันทึกความสับสนของเด็กวัยรุ่นสี่คนตลอดช่วงการชุมนุมใหญ่และการสลายการชุมนุมที่เหี้ยมโหด ที่ถึงกับมีฉากที่หนึ่งในสี่ร่วมอยู่ในคืนนั้นกลางแยกดินแดงหลายปีต่อมา Snap (2015) คว้าจับบรรยากาศแปดปีหลังรัฐประหารที่ทุกอย่างถูกแช่แข็งเชื่องช้า ผ่านความสัมพันธ์ของคู่รักเก่าที่กลับมาพบกันในงานแต่งงานของเพื่อน ในขณะที่ Where We Belong (2019) เล่าเรื่องเด็กสาวสองคนที่โตมาพร้อมกับภาระบนหลังไหล่และความพยายามไปเสียจากที่นี่ดูจะเป็นความหวังเดียวของพวกเธอ ที่โดยไม่ได้ตั้งใจหนังกลายเป็นสัญญาณแรก ๆ ของความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย เพราะหลังจากหนังออกฉายไม่นานหลังการเลือกตั้งในปี 2019 ที่คนรุ่นใหม่เลือกทางเลือกใหม่อย่างพรรคอนาคตใหม่กันล้นหลาม ตามด้วยการยุบพรรคที่เป็นเหมือนชนวนต่อการประท้วงใหญ่ในปี 2020 โดยช่วยไม่ได้ แอน (2022) จึงได้กลายเป็นหนังที่พูดถึงสภาพจิตใจของวัยรุ่นหลังการประท้วงใหญ่ในปี 2020 ที่กล่าวตามจริงว่าไม่ได้รับชัยชนะ แม้ว่าในท้ายที่สุดเพดานสังคมจะขยับสูงขึ้นจนพอหายใจได้เต็มปอดขึ้นอีกนิดก็ตาม

ในบทสัมภาษณ์หนึ่งคงเดชเล่าว่า ไอเดียของหนังได้มาจากการสัมภาษณ์เด็กผู้หญิงจำนวนมากระหว่างที่เขารีเสิร์ชบทในหนัง Where We Belong บรรดาเด็กสาวเล่าเรื่องความอึดอัดคับข้องในโลกของพวกเธอ โลกที่โลกจริงและโลกเสมือนไหลซึมเข้าหากัน เขาและ ราสิเกต์ สุขกาล โปรดักชันดีไซเนอร์คนสำคัญของวงการภาพยนตร์อิสระไทย จึงร่วมมือกันในการค้นลึกเข้าไปในจิตใจเด็กสาว ผ่านทางบทและการสร้าง ‘โลกเฉพาะ’ ในจิตใจของพวกเธอขึ้นมา

หนังทั้งเรื่องจึงเป็น ‘โลกในจิตใจ’ ของแอน แอนที่ไม่มีใบหน้า หนังให้เราเห็นใบหน้า ‘ภายนอก’ ของแอนเป็นจำนวนมากในโลกภายในของแอน แต่หนังไม่ให้เราเห็นใบหน้า ‘ที่แท้จริง’ ของแอน -The Faces of Anne- ตามชื่อหนัง ที่ไม่ได้เติม S แสดงความเป็นพหูพจน์ที่แอนน์ แต่เติมที่ใบหน้า บอกเป็นนัยถึงความเป็นหลากใบหน้าของคนคนเดียว เอกพจน์ที่มีใบหน้ามากมายจนในที่สุดกลายเป็นไร้ใบหน้า 

มันอาจจะเป็นเรื่องคลิเชอีกเรื่องหนึ่งที่เราจะพูดเรื่องตัวตนในโลกเสมือน โลกอินเทอร์เน็ต โซเชียลมีเดีย จะดูดกลืนตัวตนของเราในโลกจริง เพราะความวิตกกังวลเหล่านี้ถูกนำเสนอในหนังสยองขวัญระทึกขวัญกันมานานตั้งแต่แรกมีอินเทอร์เน็ต ตัวละครถูกปลอมภาพ เปลี่ยนชื่อลบตัวตนจากฝีมือของแฮ็กเกอร์ ไปจนถึงเด็กหนุ่มสาวที่ถูกทำลายตัวตนผ่านการถูกกลั่นแกล้งออนไลน์ 

แต่ความกังวลของยุคสมัย 2020 นั้นต่างออกไปจากปลายทศวรรษที่ 1990 อย่างยิ่ง เพราะเด็กวัยรุ่นในปัจจุบันที่เกิดหลังปี 2000 ไม่ได้เกิดมาในโลกที่แยกขาดระหว่างโลกในและนอกอินเทอร์เน็ต อินเทอร์เน็ตเป็นสิ่งแวดล้อมที่พวกเขาเกิดมาในมัน การสร้างและดำรงคงอยู่ของตัวตนของคนรุ่นปัจจุบันไม่ได้มีปัจจัยจากเพียงแค่การเลี้ยงดู กลุ่มเพื่อน หรือสื่อที่พวกเขารับมาอีกแล้ว โลกในอินเทอร์เน็ต โรงแรมที่กักขังแอนเป็นจำนวนมาก เป็นโลกจริงที่จริงกว่าห้องนอนของตนและชีวิตร่วมกับพ่อแม่หรือโรงเรียนเสียด้วยซ้ำ วัยรุ่นก่อร้างสร้างตัวตนโดยไม่ได้เพียงแค่ถูกหล่อหลอม กำหนด หรือควบคุมโดยแค่พ่อแม่ ครู หรือกลุ่มเพื่อน แต่คนที่สอดส่อง สร้างแรงปรารถนา วิพากษ์วิจารณ์ตัวตนของพวกเขาคือคนไม่รู้จักทั้งโลกในพื้นที่โลกเสมือน

สำหรับหลายคนพวกเขาอาจรู้วิธีที่จะรับมือสิ่งนี้ แยกขาดจากมัน หรือไม่ก็หลอมรวมโลกในโซเชียลมีเดียเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของตนโดยสมบูรณ์ แต่มีเด็กวัยรุ่นอีกจำนวนมากที่ไม่สามารถรับมือวิกฤตการณ์ของตัวตนได้ ความหมกมุ่นกับตัวเองของเด็กวัยรุ่นในปี 2020 จึงไม่ได้มีแค่ตัวเอง หากในแง่หนึ่งจึงเป็นความหมกมุ่นอันเป็นสาธารณะด้วย เพราะแม้พวกเขาอยู่ในห้องนอนที่ปิดล็อกในบ้าน แต่มันก็ดูเหมือนพวกเขาเติบโตในห้องที่มีกระจกใสให้ผู้คนสอดส่องตลอดเวลา แรงกดจากโลกที่คืบคลานเข้ามาถึงตัวส่งผลต่อการก่อร่างบุคลิกภาพและความใฝ่ฝันของพวกเขาชนิดที่คนรุ่นก่อนอาจไม่เคยประสบและไม่มีทางจะเอาไปเปรียบเทียบกันได้ และสำหรับพวกเขา เพื่อให้ได้รับการยอมรับหรือถูกเชิดชูก็เท่ากับต้องยินยอมให้ถูกสอดส่องด้วย แอนจึงอยู่ในห้องปิดที่ประตูปิดล็อกหรือเปิดตามใจ หมอจะเข้ามาให้กำลังใจตอนไหนก็ได้ มาย้ำซ้ำ ๆ ให้แอนค้นหาตัวตนที่แท้จริงราวกับนั่นคือภารกิจที่เธอได้รับมอบหมาย ในขณะเดียวกันเวติโกจะบุกเข้ามาฆ่าเธอตอนไหนก็ได้เช่นกัน

การสร้างและดำรงคงอยู่ของตัวตนของคนรุ่นปัจจุบันไม่ได้มีปัจจัยจากเพียงแค่การเลี้ยงดู กลุ่มเพื่อน หรือสื่อที่พวกเขารับมาอีกแล้ว โลกในอินเทอร์เน็ต โรงแรมที่กักขังแอนเป็นจำนวนมาก เป็นโลกจริงที่จริงกว่าห้องนอนของตนและชีวิตร่วมกับพ่อแม่หรือโรงเรียนเสียด้วยซ้ำ วัยรุ่นก่อร้างสร้างตัวตนโดยไม่ได้เพียงแค่ถูกหล่อหลอม กำหนด หรือควบคุมโดยแค่พ่อแม่ ครู หรือกลุ่มเพื่อน แต่คนที่สอดส่อง สร้างแรงปรารถนา วิพากษ์วิจารณ์ตัวตนของพวกเขาคือคนไม่รู้จักทั้งโลกในพื้นที่โลกเสมือน


มันจึงน่าสนใจอย่างยิ่งที่แอนหลายใบหน้านั้นสามารถแบ่งได้เป็นสองระดับ อาจจะเรียกว่าแอนเทียร์หนึ่งและแอนเทียร์สอง โดยแอนเทียร์หนึ่งใช้นักแสดงหญิงที่มีชื่อเสียงสูงกว่าแอนเทียร์สอง และตัวแอนจะสลับใบหน้าไปมาระหว่างแอนเทียร์หนึ่งและเทียร์สอง ก่อนที่หนังจะเฉลยว่า แอนเทียร์หนึ่งซึ่งไม่ใช่ ‘ใคร ๆ ก็คือแอน’ เพราะทุกคนรู้ดีว่านี่คือ มินนี่ ปันปัน อิงค์วรันธร หรือวี วีโอเลต พวกเธอมาจากไอจีของคนที่แอนอยากเป็น ใบหน้ามหาชนจึงเป็นภาพแทน ‘ใบหน้าในฝัน’ ใบหน้าที่สมบูรณ์พร้อม  ขณะที่แอนเทียร์สอง บรรดาแอนนักแสดงหญิงจากแวดวงหนังอิสระ ซึ่งโดยมากคือแอนในห้อง แอนที่ไม่ได้ออกไปข้างนอก แอนที่เจ็บปวดและโดนสะกดจิตซ้ำไปซ้ำมา หนังเฉลยอย่างเกือบจะทื่อมะลื่อว่าหลาย ๆ แอนอาจคือแอน ‘แอคหลุม’ แอนที่ปลอมแปลงตัวเองเป็นคนอื่น แอนเทียร์หนึ่งเป็นภาพฝันที่ต้องการเปิดเผยให้ผู้คนมาสอดส่อง หากปิดลับตัวตนที่แท้จริงเอาไว้  ขณะที่แอนเทียร์สองกลายเป็นแอนที่ปิดลับ เพื่อเปิดเผยความดำมืด ความโกรธเกรี้ยว ความทุกข์ ความปวดร้าวในจิตใจ 

และหากใบหน้าของแอนคือ ทัศนียภาพหรือพื้นที่ทางการต่อสู้ของแอน สถานที่เกิดเรื่องก็เป็นทัศนียภาพที่สำคัญเช่นกัน การที่หนังสร้าง ‘ทัศนียภาพทางใจ’ ให้เป็นอะไรที่อยู่ตรงกลางระหว่างโรงพยาบาล/โรงแรม ไปจนถึงภาพกว้างที่บอกว่านี่คือเรือสำราญลอยเท้งเต้งกลางทะเลนั้น ก็เข้ากันดีกับสภาวะภายในของแอนที่อยู่ในพื้นที่ที่หนีไม่ได้ ออกจากห้องก็มาเจอตึก ดาดฟ้าตึกทำให้รู้ว่าเป็นเรือ และเรือลอยกลางมหาสมุทร ทัศนียภาพตัดขาดจากทุกความมั่นคง

แต่ยังไม่พอ หนังยังทำให้แอนเป็นเพียง ‘ตัวละคร’ ของกองถ่ายที่ถ่ายทำแอนอยู่ แอนทุกแอนจึงเป็น ‘ชีวิตการแสดง’ ที่ไม่ได้หมายถึงการเป็นนักแสดง แต่คือการรับบททุกบทในชีวิต แม้แต่แอนในจิตใจของแอนก็เป็นเพียงสิ่งที่แอนต้องแสดง แบบที่เราต้องแสดงเพื่อปฏิสัมพันธ์กับโลก ในฐานะ ลูก คนไข้ เกมเมอร์ เพื่อน อินฟลูเอนเซอร์ คนรัก และในฐานะตัวเอง ในแง่นี้ ‘พื้นที่’ ในแอนจึงแชร์ไอเดียวร่วมกับ ‘พื้นที่’ ใน แต่เพียงผู้เดียว พื้นที่ที่เป็นของคนอื่นและถูกลักลอบเข้าไปใช้ ไปจนถึง ‘ผี’ ที่หนังตั้งคำถามว่าถ้าผียึดติอยู่กับพื้นที่ ถ้าพื้นที่นั้นเปลี่ยนแปลงไป ผีจะหายไปด้วยหรือไม่ อาคารของแอนเป็นเพียงพื้นที่ที่ไม่มีจริงพอ ๆ กับมีจริง ผู้อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อมมอบความหมายให้พื้นที่และดึงคืนไปได้ด้วย พื้นที่ของเรา ประเทศของเราจึงเป็นของเราพอ ๆ กับไม่เป็นของเรา เป็นเจ้าของพอ ๆ กับเป็นผู้เช่า แบบที่อ.ธเนศ วงศ์ยานนนาวาเคยพูดไว้

‘พื้นที่ที่เราได้เป็นตัวเองจริง ๆ’ จึงดูจะเป็นพื้นที่ที่ไม่มีอยู่จริงมากกว่าพื้นที่ใดในโลก ในฉากเดียวของหนังที่พาแอนและผู้ชมออกนอกอาคาร คือการที่แอนคนที่หลบหนีออกไปได้ ตื่นจากความฝันอยู่ในทัศนียภาพงดงามริมทะเลกับหนุ่มรุ่นพี่ (แต่หากมองไกล ๆ เราจะเห็นเรือสำราญอยู่ที่เส้นขอบฟ้า) แอนที่เมื่ออยู่กับแม่ก็เป็นแอนที่เจ็บปวดเก็บกดไม่แพ้แอนในห้อง เมื่ออยู่กับหมอก็อาจจะต่อต้านท้าทายหมอขึ้นมานิดหน่อย แอนบอกว่าการอยู่กับรุ่นพี่เป็นช่วงเวลาเดียวที่แอนได้เป็นตัวเอง แล้วรุ่นพี่ก็ถามกลับว่า แล้วปกติไม่เป็นตัวเองหรือ หรือพื้นที่ของการเป็นตัวเองอย่างแท้จริงเป็นเพืยงพื้นที่ในจินตนาการที่เป็นข้ออ้างต่อพื้นที่ในชีวิตที่ไม่อาจควบคุม เพื่อหลบหนีจากความจริงว่า ‘no-where we belong’ ที่ตรงนั้นไม่ใช่ที่ของฉัน บ้าน คลินิก โรงเรียน ไม่ใช่ที่ของฉัน แต่ฉันไม่แน่ใจว่าที่ไหนที่ใช่ ตอนนี้ใช้ริมทะเลกับเธอไปพลาง ๆ ก่อน ก่อนที่แอนจะกลับมายังที่ของแอน ที่ที่มีแต่ตัวเองมากจนล้นเกิน

พื้นที่ที่ได้เป็น ‘ตัวเอง’ กลายเป็นเป้าหมายเท่า ๆ กับเป็นคำสั่ง เมื่อหมอพยายามบอกแอนว่า “คุณต้องหาตัวเองให้เจอ” ใบหน้าจะได้หยุดเปลี่ยนจะได้เป็นตัวเอง หรือจะได้เป็น ‘ตัวจริง’ เป็นผู้รอดชีวิตจากการถูกเวติโกฆ่า ในฉากหนึ่งแอนและแอนค้นพบห้องของแอน ห้องที่เต็มไปด้วยเด็กสาวท่องบทสนทนารอเวลาจะถูกเลือกไปเป็นแอน การกลายเป็นตัวจริงด้วยเป็นตัวเองด้วย ในทางหนึ่งเสียดสีวัฒธรรมป๊อปไอดอล ซึ่งจริง ๆ ไอเดียเริ่มแรกของหนังก็มาจากการร่วมงานกับวงป๊อปไอดอลนี้ ที่ทุกคนมีโอกาสเท่ากันบนเวที เต้นไปพร้อมกันในท่าทางเดียวกัน แต่มีคนเดียวที่จะถูกเลือกเป็นเซ็นเตอร์ มีกล้องจ้องจับ เต้นเหมือนกันอย่างไม่เหมือนกัน 

การเป็นตัวจริงในฉากนี้ ทำให้นึกถึงฉากหนึ่งใน Resident Evil สักภาค เมื่อตัวละครหลักของ Milla Jovovich บุกเข้าไปในรังของ Umbrella สำเร็จ และเธอพบว่ามีตัวเธอ-ในชุดแบบเดียวกับเธอ-อยู่อีกเป็นร้อยเป็นพันในสต็อกของโรงงาน ตัวเธอเหล่านั้นเป็น clone ของเธอที่เป็น ‘ตัวจริง’ หรือที่จริงแล้วเธอต่างหากที่เป็น ‘clone’ ในโลกที่ทุกคนแสวงหาความเป็นตัวจริง เป็นตัวแท้ แต่ไม่มีตัวจริงเหลืออยู่อีกแล้ว ตัวจริงที่เป็นตัวเองจึงเป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง เพราะแม้แต่การแสวงหาทางออกผ่านทางการ ‘ทำไม่เหมือนเดิม ผลลัพธ์จะไม่เหมือนเดิม’ ก็เป็นเพียงบทที่ทุกคนท่องจำ ไม่ใช่การตระหนักรู้จากภายใน 

เช่นเดียวกับหนังเรื่องอื่น ๆ ของคงเดช เราอาจมองหนังผ่านบริบททางการเมืองได้อยู่ไม่น้อย ผ่านทางองค์ประกอบบาง ๆ เช่น การปล่อยให้ตัวละครฟังข่าวเกี่ยวกับการประท้วงของคณะนักเรียนเลวที่ประกอบขึ้นจากบรรดานักเรียนชั้นมัธยม ซึ่งมีเป้าหมายการประท้วงกระทรวงศึกษาธิการในประเด็นการจัดการการศึกษาที่บ้าแต่ระเบียบและพิธีการ การประท้วงของนักเรียนเลวเป็นส่วนหนึ่งของม็อบใหญ่ที่เรียกร้องประชาธิปไตยและเสรีภาพในการพูดมาตลอดช่วงปี 2020 แอนในโลกจริงนั่งฟังข่าวนี้พลางเล่นมือถือ แอนอาจเป็นหนึ่งในขบวนนักเรียนเลว การประท้วงโบว์ขาวหรืออะไรก็ตามแต่ หนังก็อาจพูดถึงแรงกดทางการเมืองที่ระเบิดออก เมื่อบรรดาแอนที่ถูกกักขัง ถูกสะกดจิต ถูกทำให้เหมือนกัน ลุกขึ้นมาต่อสู้กับเวติโก เพราะถ้าเราทำเหมือนเดิม ผลลัพธ์ก็จะเหมือนเดิม แต่ถ้าเราทำไม่เหมือนเดิม ผลลัพธ์จะไม่เหมือนเดิม

ในแง่ดี ความตายซ้ำ ๆ ของแอนหมายเลขหนึ่ง สอง และสาม ก็เป็นเหมือนกับบรรดาเด็กที่ถูกลักพาตัวมาฆ่าในหนังเรื่อง  Blackphone (2022) ซึ่งว่าด้วยเด็กชายคนหนึ่งโดนฆาตกรโรคจิตลักพาตัวมาขังไว้ในห้อง กลางดึกคืนนั้นเด็กชายได้รับโทรศัพท์ลึกลับจากโทรศัพท์บ้านที่ไม่ได้ต่อสายไว้ในห้อง มันเป็นเสียงจากเหยื่อคนก่อน ๆ ที่โดนลักพามา เสียงนั้นเล่าถึงวิธีที่พวกเขาต่อสู้พ่ายแพ้และตาย เด็กชายฟังและเรียนรู้จากผีของผู้มาก่อนเพื่อหาทางหนีออกไปจากห้อง คนหนุ่มสาวเรียนรู้จากผู้ล้มเหลวก่อนหน้า ต่อสู้ ล้มเหลวให้ดีขึ้น เพื่อจะสู้ใหม่ ล้มเหลวให้ดีกว่าเดิมจนกว่าจะสำเร็จ แอนเรียนรู้จากแอนว่าทำไม่เหมือนเดิม ผลลัพธ์จะต่างไป วิธีต่อสู้กับเวติโกส่วนหนึ่งก็ประกอบขึ้นจากการถูกมันฆ่าซ้ำ ๆ จนกระทั่งแอนคนหนึ่งพบว่าเวติโกไม่ใช่ผีปีศาจ แต่เวติโกก็ ‘เป็นคนเหมือนกัน’

อย่างไรก็ตาม หนังไม่ได้เลือกที่จะเป็นหนังการเมืองที่บันทึกการต่อสู้ของเด็กวัยรุ่นกับผู้ปกครอง (แม้ฉากแอน…โทนีที่กลายเป็นพ่อที่อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของความล่มสลายทางใจของแอน จะมีนัยยะทางการเมืองที่ตลกมาก) หากหนังเลือกให้คู่ต่อสู้ของแอนคือแอน เมื่อเวติโกไม่ใช่แค่คนเหมือนกัน แต่เป็นแอนเหมือนกันต่างหาก เวติโกฆ่าแอนคนอื่นเพื่อให้ตัวเองเป็นแอนที่รอด เป็น ‘ตัวจริง’ และเป็น ‘ตัวเอง’ การต่อสู้ของแอนจึงถูกทอนความเป็นการเมืองลงไปจนเหลือแค่การต่อสู้กับตัวเอง ฉากอันแสนประหลาดของการกลับมาปะทะของแอนคนสุดท้ายที่ไม่อยากเป็นแอนตัวจริงและไม่อยากเป็นแอนอีกแล้ว กับแอนในฐานะของเวติโก กลายเป็นการปะทะกันของสภาวะ depressive สุดขั้ว กับ maniac สุดขั้ว และนำไปสู่บทสรุปรวบรัดที่ลดทอนความหมายอื่น ๆ ไปให้จำกัดเป็นเพียงหนังของจิตที่แตกยับของเด็กวัยรุ่นและทอนความเป็นไปได้ของมันลงไปอย่างน่าเสียดาย

ถึงที่สุดมันจึงกลายเป็นว่า แอนนั้นเป็นนักต่อสู้ และเธอต่อสู้กับตัวเองเพื่อที่จะเป็นตัวของตัวเองโดยที่เธอก็ไม่รู้เหมือนกันว่าอะไรคือตัวเอง ถ้าใบหน้าของเธอหยุดเปลี่ยน มันจะหยุดที่ใบหน้าที่แท้จริงหรือใบหน้าที่มีแต่กระดูกหัวกวางของเวติโก ปัญหาของแอนที่อาจจะเป็นปัญหาของหนังในการพูดถึงสปิริตของวัยรุ่นร่วมสมัยไปด้วยคือ แอนอาจจะเป็นนักต่อสู้ แต่แอนไม่ใช่นักต่อต้าน 

ศัตรูของแอนอาจไม่ใช่เวติโก และไม่ใช่แอน บางทีศัตรูของแอนอาจคือหมอและพยาบาล คนที่กำหนดให้แอนต้องเป็นแอน คนที่รื้อฟื้นเอาประสบการณ์ของแอนขึ้นมา แอนบอกว่าหมอก็เป็นสิ่งที่แอนสร้างขึ้น แต่หมอไม่ได้มาจากแอน หมออาจจะเป็นแอนอีกคนหนึ่งในความหมายหนึ่ง แต่หมอมาจากโลกข้างนอกของแอน  หมออาจคือผลลัพธ์ของพ่อแม่ ครู  สังคม แรงกดที่แอนเข้าใจว่าเป็นผู้ช่วย แอนสร้างหมอขึ้นมาเพื่อให้เป็นผู้ควบคุมที่แท้ หมอคือคนที่ในที่สุดแอนยอมตามจนต้องทำลายตัวตนของตัวเองครั้งแล้วครั้งเล่า การที่หนังไม่ให้แอนต่อต้านหมอ ทำให้แอนกลายเป็นเพียงภาพร่างของการแตกสลายของเด็กสาว ที่มองจากสายตาห่วงใยอาลัยของผู้เป็นพ่อ เป็นหมอ และเป็นผู้ชม ยิ่งเมื่อหนังเลือกใส่ภาพโฮมวิดีโอของคงเดชเองที่เขาถ่ายครอบครัวเอาไว้ มาเป็นภาพความทรงจำไม่ปะติดปะต่อ มันยิ่งทำให้หนังไม่ได้พูดเรื่องของเด็กสาวร่วมสมัย แต่พูดแทนเด็กสาวเหล่านั้นจากสายตาของคนอีกวัยหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม นี่เป็นหนังที่ทะเยอทะยานมาก ๆ ทั้งในการคิดไอเดียตั้งต้น วิธีการ และเทคนิคต่าง ๆ หนังละเอียดลออในการเล่า และพาหนังไทยอออกจากวังวนเดิมไปสู่สิ่งใหม่ที่คาดเดาได้ยาก ไม่ว่าหนังจะพาเรื่องเล่าของมันไปได้ไกลแค่ไหน หรือประสบความสำเร็จหรือไม่ มันก็เป็นหนังไทยที่น่าตื่นเต้นที่สุดเรื่องหนึ่งในรอบหลายปี 

หาก Where We Belong ตั้งคำถามว่า ที่ตรงไหนจะเป็นที่ที่เป็นของเรา The Faces of Anne ก็ตั้งคำถามใหม่ว่า ในที่แห่งนั้น ไม่ว่าคือที่ไหน เราจะได้เป็นส่วนหนึ่งของมันจริงไหม แม้แต่ในใจของเราที่กลายเป็นเรือสำราญร้างกลางมหาสมุทร เราจะ Belong กับตัวเราหรือไม่? หรือให้ใหญ่กว่านั้นคือเราจำเป็นต้อง Belong กับสิ่งใดด้วยอย่างนั้นหรือ? 

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here